แค่ไหนถึงไม่ไหว : ทำไมโอลิมปิก 2020 ถึงได้ร้อนจนนักกีฬาต้องออกมาโวย?

แค่ไหนถึงไม่ไหว : ทำไมโอลิมปิก 2020 ถึงได้ร้อนจนนักกีฬาต้องออกมาโวย?

แค่ไหนถึงไม่ไหว : ทำไมโอลิมปิก 2020 ถึงได้ร้อนจนนักกีฬาต้องออกมาโวย?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปิดฉากลงไปแล้ว กับโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ปกติ จากทั้งเรื่องไวรัส COVID-19 และสภาพอากาศที่ร้อนสุดขั้วของเมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่น

เราอาจเคยเห็นนักกีฬาออกมาทักท้วง หรือเกิดเป็นลมล้มพับลงไประหว่างการแข่งขันมาแล้ว แต่สภาพอากาศในโตเกียวครั้งนี้ มันมีความรุนแรงขนาดนั้นเลยหรือ ?

มาค้นหาคำตอบเรื่องความร้อน และสาเหตุดังกล่าวได้กับ Main Stand

ผู้ได้รับผลกระทบ

ดานิอิล เมดเวเดฟ นักเทนนิสมือวางอันดับ 2 ของโลก ต้องเผชิญกับอากาศที่ร้อนจนถึงขั้นต้องเรียกนักกายภาพมาดูอาการ ระหว่างกำลังแข่งขันกับ ฟาบิโอ ฟอญินี จากอิตาลี ที่เจ้าตัวสามารถเอาชนะไปได้ในที่สุด 2-1 เซต ในการแข่งขันรอบที่ 3 (ก่อนจะตกรอบ 8 คนสุดท้ายในเวลาต่อมา)

"ผมรู้สึกเหมือนกระบังลมอุดตัน หายใจไม่สะดวก แล้วในเซตที่ 2 ผมก็มีแต่ความมืดในดวงตา ผมไม่รู้จะทำอย่างไรให้รู้สึกดีขึ้น ผมก้มตัวลง แต่ยังคงหายใจไม่ออก และพร้อมที่จะล้มลงบนสนาม"

เมดเวเดฟ ยังได้กล่าวกับผู้ตัดสินที่เข้ามาถามอาการของเขาว่า "ผมเป็นนักสู้ ผมจะเล่นจนจบการแข่งขัน แต่ผมสามารถตายได้ ถ้าผมตาย ITF (สหพันธ์เทนนิสนานาชาติ ผู้ควบคุมการแข่งขันเทนนิสในโอลิมปิก) จะรับผิดชอบหรือไม่" 

และไม่ใช่แค่ เมดเวเดฟ ที่ต้องเผชิญกับปัญหาดังกล่าว เปาลา บาโดซา นักเทนนิสหญิงจากสเปน ก็ต้องถอนตัวออกจากการแข่งขัน หลังเผชิญกับอาการฮีทสโตรกอย่างรุนแรง และยังมี สเวตลานา กอมโบเอวา (Svetlana Gombeova) นักยิงธนูจากรัสเซีย ที่เกิดเป็นลมจากแดดที่ร้อนเกินไปในสนาม หรือทางด้านของ คริสเตียน บลัมเมนเฟลท์ เจ้าของเหรียญทองไตรกีฬาชาย ที่ร่วงลงไปกองกับพื้นทันที เมื่อเจ้าตัวก้าวข้ามเส้นชัยไปได้แล้ว

 


Photo : www.dailystar.co.uk

จากจุดนี้ ยังมีหลายคนที่ตัดสินใจปรับตัวให้เข้ากับอุณหภูมิที่แสนโหดร้ายนี้ เช่น โจ บริกเดน-โจนส์ นักพายเรือแคนูจากออสเตรเลีย ที่ตัดสินใจฝึกออกกำลังกายในห้องจำลองความร้อน กับการเข้าไปนั่งแช่ในฮอตสปา เพื่อปรับให้ร่างกายคุ้นชินกับความร้อนของกรุงโตเกียว

บริกเดน-โจนส์ เปิดเผยประสบการณ์ที่เธอได้เผชิญว่า "ไม่กี่วันแรกที่ฉันเดินทางมาถึง ฉันรู้สึกว่าร่างกายนั้นชุ่มไปด้วยเหงื่อเมื่อเดินทางออกไปข้างนอกอาคาร และเมื่อต้องใส่หน้ากากแล้ว มันทำให้ฉันแทบจะหายใจไม่ออกเลย"

บ้างก็ตัดสินใจที่จะลดอุณหภูมิร่างกายตัวเองลง เช่น ในสนามเทนนิส มีการต่อท่อแอร์เพื่อช่วยให้ความเย็นกับนักกีฬา หรือกับนักกีฬารักบี้ของออสเตรเลีย ที่ตัดสินใจลงไปแช่ในถังน้ำแข็งหลังการฝึกซ้อม ทั้งเพื่อช่วยในการฟื้นฟูกล้ามเนื้อ พร้อมกับปรับตัวให้เข้ากับอากาศที่สุดขั้วเช่นนี้

 

แต่ทำไมโอลิมปิกที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ถึงมีอุณหภูมิที่ร้อนถึงขั้นทำให้นักกีฬาเป็นลม หรือรู้สึกหายใจไม่ออกกันได้ล่ะ ?

ร้อนแค่ไหนถึงไม่ไหว

มีรายงานจากสหพันธ์เพื่อความยั่งยืนของกีฬาแห่งสหราชอาณาจักร ที่ระบุว่าการลงแข่งขันในโตเกียวครั้งนี้ มีสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตรกับร่างกายมนุษย์เลย เนื่องจากภาวะโลกรวน หรือ Climate Change ที่ส่งผลให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นแทบทุกปี

อุณหภูมิเฉลี่ยในโตเกียวนั้น เพิ่มขึ้นมามากถึง 2.81 องศาเซลเซียส นับตั้งแต่ปี 1900 ซึ่งนั่นสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึง 3 เท่าด้วยกัน โดยในระหว่างการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ มีอุณหภูมิขึ้นไปแตะจุดสูงสุดที่ 34 องศาเซลเซียส เทียบเท่ากับโอลิมปิกปี 2004 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ซึ่งถือว่าเป็นการแข่งขันที่ร้อนที่สุด นับตั้งแต่ปี 1964 ที่โตเกียวก็รับผิดชอบเป็นเจ้าภาพเช่นกัน

 

สิ่งที่แตกต่างระหว่างโอลิมปิกเมื่อ 57 ปีที่แล้วกับหนนี้ คือช่วงเวลาจัดการแข่งขัน ซึ่งในปี 1964 พวกเขาเลื่อนไปจัดในเดือนตุลาคม เพื่อเลี่ยงช่วงเวลาที่ร้อนสุดของปี นั่นคือระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม อันตรงกับกำหนดจัดของปีนี้

แต่อุณหภูมิอย่างเดียวก็ไม่ใช่ปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการแข่งขันของนักกีฬาเหล่านี้ เพราะพวกเขาต้องเผชิญกับความชื้นที่สูงมากกว่าง 70-80% ซึ่งเมื่อรวมเข้ากับอากาศที่ร้อนอยู่แล้ว ทำให้ประสิทธิภาพในการระบายความร้อนในร่างกายของเรานั้น ลดลงไปได้มากถึง 10% เลยทีเดียว

นั่นเพราะในอากาศที่ร้อนและชื้น เหงื่อในร่างกายจะถูกขับออกมาในปริมาณมาก แต่มันไม่ได้ระเหยออกไปจากร่างกายของเราได้เลย ซึ่งการระเหยของเหงื่อ จะช่วยในการดูดความร้อนออกไปด้วย เมื่อเหงื่อไม่สามารถระเหยออกไปได้ ก็กลายเป็นว่าประสิทธิภาพในการแข่งขันรายการกลางแจ้งของหลายคนนั้นลดลง พร้อมกับเพิ่มความเสี่ยงที่ร่างกายจะสูญเสียน้ำเข้าไปอีกด้วย

ทั้งนี้ มีการวัดค่าโดยใช้อุปกรณ์ที่ชื่อ WBGT หรือ Wet Bulb Globe Temperature เพื่อประเมินความเสี่ยงจากอุณหภูมิและสภาพแวดล้อมกลางแจ้ง โดยนำเอาปัจจัยความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิและความชื้นในอากาศ มาคำนวณด้วยสูตร WBGT = 0.1Tdb + 0.7Twb + 0.2Tg

 

โดยปกติแล้ว ค่าที่ได้จาก WBGT นั้นควรจะไม่มากกว่า 28 องศาเซลเซียส ทว่าในโอลิมปิกที่โตเกียว อุปกรณ์ดังกล่าวสามารถอ่านค่าได้สูงถึง 30-31 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว ซึ่งนั่นไม่ใช่ผลดีต่อตัวนักกีฬาอย่างแน่นอน

ทีนี้ อีกสิ่งที่ทำให้สถานการณ์ดังกล่าวแย่ลงไปอีก คือการที่โตเกียวนั้นตั้งอยู่บนพื้นที่ "เกาะความร้อน" นั่นเอง

เกาะความร้อนคืออะไร

เมื่อเมืองได้รับการพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างตึกรามบ้านช่อง ตัดถนนเส้นใหม่ผ่านจุดสำคัญต่าง ๆ ทั้งหมดนี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้โตเกียวกลายเป็นเกาะขนาดย่อมไปเลย

อาจจะมองไม่เห็นภาพจากตรงนี้ แต่เมื่อดูจากภาพถ่ายอินฟาเรดจากกล้องบนดาวเทียม Landsat-8 เราจะเห็นได้เลยว่า โตเกียวแทบจะลุกเป็นไฟ ในขณะที่พื้นที่โดยรอบนั้นยังค่อนข้างร่มเย็นอยู่ ซึ่งนี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนอย่างยิ่งของปรากฎการณ์เกาะความร้อน หรือ Urban Heat Island นั่นเอง

 


Photo : earthobservatory.nasa.gov

เมื่อมีถนนที่ดูดซับความร้อน บ้านเรือนที่ปล่อยความร้อนออกมาผ่านการใช้เครื่องปรับอากาศ หรือตึกสูงใหญ่ที่สร้างจากวัสดุที่กักเก็บความร้อนได้เป็นอย่างดี จึงเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดอุณหภูมิสูงในโตเกียว จนมีผลกระทบกับบรรดานักกีฬาอย่างที่เห็นข้างต้นนี้

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ต้องมีการปรับย้ายรายการแข่งวิ่งมาราธอน และเดินเร็ว 20, 50 กิโลเมตร ขึ้นเหนือไปที่เมืองซัปโปโร เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเรื่องของอากาศที่ร้อนจนเกินไป แม้ว่ากันตามตรงก็ไม่ถึงกับช่วยได้มากนัก เพราะอุณหภูมิที่นั่นก็ปริ่ม ๆ จะ 30 องศาเซลเซียสเช่นกัน

ปรากฎการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวเลย เพราะในกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทย ก็เป็นหนึ่งในสถานที่ที่เผชิญกับเกาะความร้อนเหมือนกัน โดยพบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีในกรุงเทพฯ นั้น สูงกว่าบริเวณโดยรอบถึง 0.8 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว จากปัจจัยของสภาพอากาศ และการเติบโตของเมือง ไม่ต่างจากที่โตเกียวเลย

สำหรับโอลิมปิก 2020 ที่ได้ปิดฉากลงไปแล้ว ก็คงเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่ค่อนข้างชัดเจน เกี่ยวกับภาวะโลกรวนที่เรากำลังเผชิญกันอยู่ในขณะนี้ เพราะนอกจากโอลิมปิกฤดูหนาวจะได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นแล้ว ด้านของโอลิมปิกฤดูร้อนก็เริ่มร้อนเกินกว่าจะแข่งขันกันได้แล้วเช่นกัน

เพราะในตอนนี้ โลกของเรายังคงเป็นที่แห่งเดียวในจักรวาล ที่สามารถจัดการแข่งขันโอลิมปิกได้ และยังไม่มีโลกใบอื่นให้มนุษย์เราย้ายหนีไปไหน ในกรณีที่เราทำให้ดาวเคราะห์สีครามดวงนี้พังลง … อย่างน้อยก็ไม่เกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้แน่นอน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook