เกี่ยวกันอย่างเหลือเชื่อ : จีนนำเทคโนโลยีสำรวจอวกาศมาใช้ฝึกนักกีฬาโอลิมปิกได้อย่างไร ?

เกี่ยวกันอย่างเหลือเชื่อ : จีนนำเทคโนโลยีสำรวจอวกาศมาใช้ฝึกนักกีฬาโอลิมปิกได้อย่างไร ?

เกี่ยวกันอย่างเหลือเชื่อ : จีนนำเทคโนโลยีสำรวจอวกาศมาใช้ฝึกนักกีฬาโอลิมปิกได้อย่างไร ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในการแข่งขันกีฬา พรสวรรค์กับพรแสวง รวมทั้งการฝึกซ้อมอย่างเข้มข้นและถูกทาง ก็สามารถนำพาให้ผู้เข้าแข่งขันรายนั้น ๆ ก้าวไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้

แต่โลกที่ขับเคลื่อนไปด้วยเทคโนโลยีอย่างทุกวันนี้ ก็ทำให้ทุกอย่างถูกพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ซึ่งมักถูกสะท้อนให้เห็นระหว่างการแข่งขันโอลิมปิก ที่สถิติโลกทั้งหลาย ต่างได้ถูกทำลายลงไปครั้งแล้วครั้งเล่า

เช่นกันกับโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว เมื่อหน่วยงานอวกาศของจีน ได้นำเทคโนโลยีที่ใช้ในการส่งยานออกไปสำรวจจักรวาล มาช่วยพัฒนาศักยภาพของนักกีฬาเหล่านี้ จนก้าวขึ้นไปคว้าเหรียญทองที่ต้องการได้สำเร็จ

 

เรื่องราวเบื้องหลังความสำเร็จดังกล่าวนั้นเป็นอย่างไร ติดตามหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand ได้ในบทความนี้

อวกาศและกีฬา

วิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์การกีฬา ได้ก้าวเข้ามามีส่วนสำคัญในการแข่งขันมหกรรมกีฬาระดับโลก ที่เหรียญทองไม่ได้เป็นเพียงแค่ความสำเร็จส่วนบุคคล แต่เป็นการส่งสัญญาณถึงศักยภาพของชาตินั้น ๆ ที่มีอีกด้วย

เช่นกันกับประเทศจีน แม้ว่าพวกเขาจะเพิ่งเริ่มคว้าเหรียญทองแรกได้ในโอลิมปิกปี 1984 ที่เมืองลอสแอนเจลิส แต่ก็สามารถกวาดเหรียญทองไปได้มากถึง 275 เหรียญ รั้งอันดับ 5 ในตารางเจ้าเหรียญทองตลอดกาล โดยเป็นการคว้าเหรียญรางวัลจากการเข้าร่วมแข่งขันเพียงแค่ 10 ครั้งหลังสุดเท่านั้นเอง

 

ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่จีนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจด้านกีฬา พวกเขาก็ได้ค่อย ๆ ไต่เต้าในด้านการสำรวจอวกาศไปด้วยเช่นกัน หลังจากการออกตัวที่ไม่ค่อยสวยหรูนัก จากความพยายามตามรอย สปุตนิก 1 ดาวเทียมดวงแรกของโลกของโซเวียต ด้วย โปรเจค 581 หรือโครงการ ฉู๋กวง-1 (曙光一号) ที่จะส่งมนุษย์เดินทางขึ้นสู่อวกาศจากฐานปล่อยในแผ่นดินใหญ่ เพื่อป้องกันการจารกรรมข้อมูลโดยสายลับต่างประเทศ แต่โครงการดังกล่าวกลับต้องถูกยกเลิกไปในปี 1972 ทว่าเวลาต่อมา จีนก็สามารถก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจด้านการสำรวจอวกาศจนได้

ทำให้ในปี 2003 หยาง หลี่เว่ย ได้กลายเป็นมนุษย์อวกาศคนแรกของจีน ตามด้วยการส่งสถานีอวกาศ เทียนกง 1 ต่อด้วยยานสำรวจดวงจันทร์ชุดแรกของประเทศ ในโครงการ ฉางเอ๋อ มาจนถึงการส่งยาน เทียนเวิ่น-1 ไปลงจอดบนดาวอังคารได้สำเร็จในความพยายามครั้งแรก จีนได้เติบโตขึ้นมารวดเร็วและมั่นคง จนกลายเป็นหนึ่งในชาติที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ สำหรับเรื่องของการสำรวจอวกาศเลย


Photo : arstechnica.com

เทคโนโลยีอวกาศ ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพียงเพื่อการเดินทางไปนอกโลกแต่เพียงอย่างเดียว เพราะบ่อยครั้งเลยที่ในชีวิตประจำวันของเรานั้น ถูกรายล้อมไปด้วยนวัตกรรมที่เป็นผลพลอยได้ จากการส่งของออกไปสู่ดินแดนแสนไกลเช่นนี้

หากย้อนไปในโอลิมปิกที่ปักกิ่ง ปี 2008 Speedo ได้เปิดตัวชุดว่ายน้ำ LZR Racer ที่ได้ถูกร่วมพัฒนาโดย NASA (หน่วยงานอวกาศแห่งสหรัฐอเมริกา ที่มักถูกนำไปใช้โฆษณาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อยู่บ่อยครั้ง) เป็นชุดที่ช่วยลดแรงต้านใต้น้ำได้มากจนนักว่ายน้ำเหล่านี้ สามารถทำเวลาได้เร็วกว่าเดิมถึง 1.9-2.2% ซึ่งกลายเป็นที่ถกเถียงถึง "การโด๊ปโดยเทคโนโลยี" จนถึงกับต้องมีการออกกฎมาอุดช่องโหว่ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในโอลิมปิกที่โตเกียวครั้งนี้ เทคโนโลยีอวกาศก็ได้เข้ามามีส่วนช่วยเช่นกัน แม้จะไม่ใช่ในรูปแบบของชุดการแข่งขันเหมือนที่ปักกิ่ง แต่ก็มาในรูปของการฝึกซ้อม ซึ่งพากันเดินทางไปเทรนกันถึงอุโมงค์ลม ที่ใช้ในการทดสอบหลักพลศาสตร์ของยานอวกาศเลยทีเดียว

เก็บทุกรายละเอียด

ในระหว่างการว่ายน้ำ ร่างกายของนักกีฬาเหล่านี้จะต้องเผชิญกับแรงต้านของน้ำ ที่กระทำสวนทางกับทิศที่พวกเขากำลังว่ายสวนไป ซึ่งพวกเขาต้องพยายามลดแรงต้านดังกล่าวให้เหลือน้อยที่สุด ทั้งจากชุดที่สวมใส่ ไปจนถึงท่าทางระหว่างออกตัว การวางสโตรก ไปจนถึงจังหวะกลับตัว และนานาเทคนิคระหว่างอยู่ในสระ


Photo : CASC

 

นั่นจึงทำให้หน่วยงานอวกาศของจีนอย่างทาง CASC ได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือ ด้วยการเชิญนักว่ายน้ำทีมชาติของพวกเขา เข้ามาลองพัฒนาท่าระหว่างว่ายน้ำ ในอุโมงค์ลมที่ใช้ในการทดสอบมิสไซล์

CASC ได้ใช้ระบบนำทางเฉื่อย ซึ่งมักถูกติดตั้งอยู่ในยานอวกาศ หรือจรวดมิสไซล์ มาใช้ในการเก็บข้อมูลต่าง ๆ ของนักว่ายน้ำ ไม่ว่าจะเป็น ความเร็วเชิงมุม ความเร่ง ความถี่ในการวางสโตรก ระยะของแต่ละช่วงสโตรก ความถี่ในการหายใจ และอีกหลาย ๆ ค่า ที่จะถูกนำมาปรับปรุงระหว่างการฝึกซ้อมของนักกีฬาแต่ละคน เพื่อให้สามารถรีดเวลาส่วนเกินออกไป และทำผลงานได้ดีที่สุดในโอลิมปิกครั้งนี้


Photo : CASC

ด้วยผลงาน 3 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน กับอีก 1 เหรียญทองแดง ซึ่งเป็นการพลิกตัวเลขจากครั้งโอลิมปิกที่ริโอ ปี 2016 ซึ่งทำได้ 1 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน กับ 3 เหรียญทองแดง ก็เป็นสัญญาณว่าพวกเขากำลังมาถูกทางแล้ว แม้จะไร้เงาของ ซุน หยาง เจ้าของ 1 เหรียญทองกับ 1 เหรียญเงินเมื่อปี 2016 ที่ถูกแบนจากคดีใช้สารกระตุ้นก็ตาม



Photo : CASC

 

นอกจากกีฬาว่ายน้ำแล้ว อุโมงค์ลมดังกล่าวยังได้ถูกนำมาช่วยนักกีฬาเรือพายในการฝึกซ้อมด้วยเช่นกัน โดยได้มีการพัฒนาท่าทางที่เหมาะสม เพื่อช่วยลดแรงต้านอากาศที่กระทำต่อตัวของนักพายเรือ แบบเดียวกับที่จรวดและมิสไซล์ต่าง ๆ ถูกนำมาทดสอบ เพื่อช่วยลดแรงต้านในการทะยานขึ้นสู่นอกโลก จนนำมาสู่เหรียญทองและสถิติโลกใหม่ ในประเภทเรือกรรเชียง 4 ฝีพายหญิง ซึ่งถือเป็นเหรียญทองแรกในรอบ 13 ปีของจีนในชนิดกีฬานี้ รวมทั้งเหรียญทองแดงแรกสำหรับนักเรือพายชาย ในประเภทเรือกรรเชียงฝีพายคู่ด้วยเช่นกัน

ความสำเร็จนอกสนาม

นอกจากความสำเร็จในสนามแล้ว CASC ยังได้ประกาศความสำเร็จไปไกลถึงนอกโลกด้วยเช่นกัน ทั้งจากการใช้ระบบดาวเทียมของประเทศตนเอง ในการถ่ายทอดสดโอลิมปิก 2020 ด้วยความคมชัดระดับ 4K กลับสู่แผ่นดินใหญ่ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก รวมทั้งส่งสัญญาณสดขึ้นไปให้ 3 นักบินอวกาศ ที่กำลังประจำการอยู่บนสถานีอวกาศเทียนกง ให้สามารถรับชมเพื่อนร่วมชาติลงทำการแข่งขันได้แบบเรียลไทม์ด้วยเช่นกัน


Photo : spaceth.co

ทั้งนี้ เหลือเวลาอีกไม่ถึงครึ่งปี ก่อนที่โอลิมปิกฤดูหนาวในกรุงปักกิ่ง จะเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการในต้นปี 2022 ซึ่งแม้ว่ากีฬาในฤดูหนาวอาจไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับซีกของโอลิมปิกฤดูร้อนมากนัก แต่กับการเล่นใหญ่ระดับดวงดาวนั้น พวกเขาก็คงไม่ยอมแพ้ให้ทางรัสเซีย ที่นำคบเพลิงไปวิ่งบนสถานีอวกาศ เมื่อครั้งเป็นเจ้าภาพที่เมืองโซชิ ปี 2014 อย่างง่ายดาย

 

นั่นคือบนยานเทียนเวิ่น 1 ลำที่ลงจอดอยู่บนดาวอังคารในตอนนี้ นอกจากจะมีการนำธงชาติจีนขึ้นไปด้วยแล้ว CASC ยังได้แนบน้อง ปิง ตุนตุน (冰墩墩) กับน้อง เซวีย หลงหลง (雪容融) สองมาสคอตประจำการแข่งขันโอลิมปิก และพาราลิมปิกฤดูหนาว 2022 ติดขึ้นไปด้วย แน่นอนว่านั่นเป็นการเปิดตัวน้องมาสคอตโอลิมปิกที่ไกลจากโลกที่สุด อย่างไม่มีข้อสงสัยใด ๆ ไปโดยปริยาย


Photo : www.hugesight.com


Photo : www.yjcf360.com

การออกสำรวจอวกาศนั้น อาจดูเป็นสิ่งที่ไกลตัวเรา ทั้งสูตรคำนวณที่ซับซ้อน หรือศัพท์เชิงเทคนิคอันยากที่จะทำความเข้าใจ แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ในนั้น คือผลพลอยได้ขององค์ความรู้และเทคโนโลยี ซึ่งต่างถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาชีวิตประจำวัน เช่น เลนส์กันรอย เสื้อกันไฟ เซ็นเซอร์ในกล้องมือถือ และอีกหลายอย่างที่กระจัดกระจายอยู่รอบตัวเรา

เพราะเมื่อมีทรัพยากรที่เพรียบพร้อม ควบคู่ไปกับการสนับสนุนและบูรณาการอย่างเหมาะสมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็เป็นเหมือนการส่งให้นักกีฬาจีนก้าวขาข้างหนึ่งไปสู่แท่นรับรางวัลแล้ว เหลือเพียงแค่แรงผลักจากตัวพวกเขาเอง ที่จะส่งให้ตัวเองขึ้นไปสู่เป้าหมายตามที่ปรารถนาไว้ได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook