จ่ายพันล้าน งานต้องเดิน : "เชลซี เวย์" เปลี่ยนโค้ชบ่อยแต่ประสบความสำเร็จได้อย่างไร?

จ่ายพันล้าน งานต้องเดิน : "เชลซี เวย์" เปลี่ยนโค้ชบ่อยแต่ประสบความสำเร็จได้อย่างไร?

จ่ายพันล้าน งานต้องเดิน : "เชลซี เวย์" เปลี่ยนโค้ชบ่อยแต่ประสบความสำเร็จได้อย่างไร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ไม่เสียอย่าซ่อม" คือวลีที่เราได้ยินตลอดมาในโลกฟุตบอล ... อะไรที่ดีอยู่แล้ว อย่าเสี่ยงไปเปลี่ยนมันจะดีกว่า นั่นคือสิ่งที่ใครก็รู้ดีและเห็นด้วยอย่างที่สุด

ในทางเดียวกัน มีประโยคที่ตรงข้ามกับสิ่งนี้คือ "อะไรที่ใช้ไม่ได้ ... ทำไมต้องทน ?" ว่าด้วยเรื่องการอดทนที่มีขีดจำกัดแสนสั้น และพร้อมจะเปลี่ยนทันทีเมื่อเห็นสิ่งที่ไม่ชอบมาพากล

บางคนบอกว่าการไร้ความอดทนคือหนทางสู่หายนะ ... แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่แบบนั้นสำหรับ เชลซี เพราะนับตั้งแต่ขายทีมให้กับ โรมัน อบราโมวิช พวกเขาเปลี่ยนโค้ชมากจนนิ้วมือนับไม่พอ บางคนทำงานไม่ถึง 1 ปี ก็โดนไล่ออก หมดค่าชดเชยสัญญามาไม่ต่ำกว่า 170 ล้านปอนด์ แต่พวกเขาก็ยืนยันว่าจะทำแบบนี้ต่อไป

 

เพราะ เชลซี คือสโมสรในอังกฤษที่ได้โทรฟี่มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา แม้ความอดทนจะต่ำ แต่ความสำเร็จกลับสูงสวนทาง มันเป็นเพราะอะไร ทำไมแนวคิดที่ไม่เน้นความต่อเนื่องกลับผลิดอกออกผลได้ขนาดนี้ ? 

ติดตามได้ที่ Main Stand

ตั้งเป้าหมายให้ชัด ... อย่าออกนอกเส้นทาง

โรมัน อบราโมวิช นักธุรกิจชาวรัสเซีย ผู้สร้างความมั่งคั่งจากอุตสาหกรรมโลหะและพลังงาน เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรเชลซี ในปี 2003 และเรื่องราวต่อจากนั้นคือตำนาน ... พวกเขากลายเป็น 1 ในสโมสรที่ประสบควาสำเร็จที่สุดในประเทศ กวาดถ้วยรางวัลทุกอย่างที่สโมสรเข้าร่วมการแข่งขัน สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเป็นเพราะแนวทางที่ชัดเจนตั้งแต่วันแรก 

ในตอนที่ โรมัน อบราโมวิช เข้ามาซื้อทีม หลายคนมองว่าเชลซีจะกลายเป็นของเล่นคนรวย เอาไว้สนองความต้องการของเจ้าของและจะสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองด้วยการเจียดเงินเพียงเล็กน้อยจากทรัพย์สินทั้งหมดของเขา แต่เปล่าเลย โรมันมาที่ลอนดอนเพราะเป้าหมายเดียว นั่นคือการทำให้เชลซีเป็นทีม "หมายเลข 1" ของประเทศ หรืออาจจะของโลกเลยด้วยซ้ำ

"ความทะเยอทะยานคือสิ่งเดียวที่ทำให้ผมมาที่นี่ สโมสรอยู่ที่นี่มาก่อนผม และจะอยู่ที่นี่หลังจากที่ผมจากไป ดังนั้นงานของผมคือทำให้แน่ใจว่าเราจะประสบความสำเร็จเท่าที่เราจะทำได้ เช่นเดียวกับการสร้างเพื่ออนาคต" โรมัน อบราโมวิช กล่าวกับ Forbes 

มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยกับการเข้ามาวาดฝันใหญ่โตในยุคที่ฟุตบอลอังกฤษยังถูกครอบครองด้วยความยิ่งใหญ่ของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และ อาร์เซน่อล ในมือของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน และ อาร์แซน เวนเกอร์ 2 ทีมที่ผลัดกันเป็นแชมป์ตลอดในช่วงปลายยุค 1990s ต่อต้นยุค 2000s 

การจะแทรกขึ้นมาเหนือ 2 ทีมนี้ได้ เริ่มจากการมองที่จุดแข็งของแมนฯ ยูไนเต็ด และ อาร์เซน่อล ซึ่ง โรมัน อบราโมวิช พบสิ่งหนึ่งที่ 2 สโมสรนี้แตกต่างจากทีมอื่น ๆ ในพรีเมียร์ลีก สิ่งแรกที่เขามองเห็น คือการมีนักเตะที่มีคุณภาพ ทดแทนกันได้สำหรับการแข่งขันระยะยาว และอย่างที่สอง คือสิ่งที่เราจะมาพูดถึงกันในครั้งนี้นั่นคือ "ผู้จัดการทีม" ที่เก่งทั้งศาสตร์และศิลป์ เพราะทั้ง เฟอร์กี้ และ เวนเกอร์ ต่างได้รับการยอมรับว่าเป็นโค้ชที่ทรงอิทธิพลต่อการพลิกหน้าประวัติศาสตร์ของทั้ง 2 สโมสร

หาก เชลซี จะยิ่งใหญ่ได้ พวกเขาจะต้องมีนักเตะที่เก่งกาจ และมีโค้ชที่มีกึ๋นมากพอที่จะท้าทายความยิ่งใหญ่ของ เฟอร์กี้ และ เวนเกอร์ ให้ได้ ... กัปตันเรือที่ดีจะพาเรือไปถึงจุดหมายปลายทางที่ตั้งไว้ และมหกรรมการใช้โค้ชแบบสิ้นเปลืองของเชลซีก็เริ่มต้นขึ้น เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะทนใช้งานคนที่ไม่ใช่ และพาสโมสรไปผิดจากที่ทิศทางที่ตั้งไว้ "ทำทีมเป็นเบอร์ 1 ไม่ได้ ก็ออกไป" ฟังดูใจร้าย แต่นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเชลซีเสมอมา

 

การปลดโค้ชครั้งแรกมีเหยื่อคนแรกคือ เคลาดิโอ รานิเอรี่ ในฤดูกาล 2003-04 คือตัวอย่างที่สะท้อนปรัชญาของโรมันอย่างแท้จริง รานิเอรี่อยู่มาก่อนที่จะมีการเปลี่ยนเจ้าของสโมสร แต่โรมันก็มอบเงินจำนวนมากให้เขาซื้อนักเตะใหม่แบบที่วงการฟุตบอลอังกฤษไม่เคยเจอ ทั้ง โจ โคล, ฮวน เวรอน, เฮอร์นัน เครสโป, อาเดรียน มูตู ... และอื่น ๆ อีกเยอะ เพื่อให้ทีมยกระดับจากทีมกลางตารางขึ้นมาเป็นทีมหัวตารางให้ได้ 

ผลงานของรานิเอรี่ไม่ได้แย่เลย มันดีที่สุดในรอบหลายปีเลยด้วยซํ้า เชลซีจบที่อันดับ 2 ของฤดูกาลนั้น และเข้าถึงรอบรองชนะเลิศ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ... หากเขาได้คุมทีมต่ออีกสักปี ได้เงินสนับสนุนอีกสักก้อน ได้ทำความรู้จักกับนักเตะในทีมให้มากกว่านี้ ไม่แน่ว่าความสำเร็จอาจมาถึงเร็วกว่าที่คิด 

แต่นี่คือโรมัน และโรมันไม่ได้มาที่นี่เพื่อเป็นที่ 2 เขาไล่รานิเอรี่ออกจากตำแหน่งหลังฤดูกาลจบ และเดิมพันยุคสมัยใหม่กับกุนซือหนุ่มอย่าง โชเซ่ มูรินโญ่ ที่นำ เอฟซี ปอร์โต้ เป็นแชมป์ยุโรปในซีซั่นดังกล่าว ... ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็ว และสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างที่ใครหลายคนตั้งตัวไม่ทัน มูรินโญ่พาทีมเข้าท้าทายเฟอร์กี้และเวนเกอร์อย่างไม่เกรงกลัว ขณะที่คาแร็กเตอร์ของเขาก็สร้างจุดขายได้ด้วยฝีปากที่ร้อนแรง วาทะศิลป์ที่เฉียบคม 

อย่างที่เรารู้กัน ... ปีเดียวเท่านั้น มูรินโญ่พาทีมเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีกที่โรมันรอคอย เขากลายเป็นกุนซือที่มีสถิติคุมทีมข่ม เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน และกลายเป็นคู่กัดที่ อาร์เซน เวนเกอร์ ไม่เคยพบเจอมาก่อน

 

ไม่ใช่ครั้งเดียวที่เกิดเหตุการณ์คล้าย ๆ แบบนี้ คำว่า "เกือบดี" ยังไม่ดีพอสำหรับ เชลซี กุนซือที่ทำทีมไม่ถึงเป้าก็ต้องออกไปโดยไม่มีคำว่าเสียดายเงินค่าชดเชย เพราะสิ่งที่รออยู่ข้างหน้ามีมูลค่ามากกว่าเงินค่ายกเลิกสัญญากับโค้ชที่ไม่ตรงสเปคเยอะ 

อาทิ การจ่ายค่าฉีกสัญญา อังเดร วิลลาส โบอาส ไปถึง 13 ล้านปอนด์มาจาก เอฟซี ปอร์โต้ หลังกุนซือชาวโปรตุกีสคว้าแชมป์ ยูโรปา ลีก ฤดูกาล 2010-11 แต่เมื่อทีมลงสนามฤดูกาล 2011-12 แบบสุดแกว่งและมีปัญหาในห้องแต่งตัว เขาควักเงินชดเชยปลดโบอาสออกทันทีแบบไม่รีรอ ก่อนแต่งตั้ง โรแบร์โต้ ดิ มัตเตโอ เข้ามาคุมทีมขัดตาทัพ และเชลซีก็กลายเป็นแชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ในอีกไม่กี่เดือนหลังจากนั้น 

ต่อเนื่องกันทันที ดิ มัตเตโอ ได้สัญญาฉบับใหม่ แต่ฤดูกาล 2012-13 กลับมีผลงานลุ่ม ๆ ดอน ๆ เมื่อถึงช่วงกลางฤดูกาล ดิ มัตเตโอก็โดนปลดออกจากตำแหน่ง และตั้ง ราฟาเอล เบนิเตซ เข้ามาคุมทีมแทน ... ผลสุดท้ายคือ พวกเขาจบฤดูกาลด้วยการเป็นแชมป์ ยูโรปา ลีก... 

 

หรือล่าสุด แฟรงค์ แลมพาร์ด ได้รับโปรเจ็กต์สร้างทีมยุคใหม่ในปี 2019 และจบฤดูกาลแรกโดยไม่มีแชมป์ติดมือ ก่อนได้งบเสริมทัพมหาศาลในฤดูกาล 2020-21 ที่ผ่านมา ทว่าผลงานยิ่งเล่นยิ่งแย่ โรมัน อบราโมวิช ก็กล้าปลดเขาแม้มีความสัมพันธ์ระดับสนิทชิดเชื้อมาเกิน 10 ปี... 

ไม่มีข้อยกเว้นใด ๆ ทั้งนั้น โธมัส ทูเคิล เข้ามาคุมทีมแทน และเชลซีก็ได้แชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก กับแชมป์ ยูฟ่า ซูเปอร์ คัพ ภายในเวลาไม่ถึง 1 ปี 

เรื่องมันง่าย ๆ แบบนั้น ความใจดีไม่มีผลในทีมเชลซียุคโรมัน ... เศรษฐีคนนี้ไม่ได้มีแค่ความใจร้อน รีบปลด รีบตัดสินใจ แต่สิ่งที่ดีงามหลังการจ่ายเงินค่าชดเชยคือ เชลซี ได้โทรฟี่ในบั้นปลายอยู่เสมอ

อย่างที่เขาบอกไว้ในข้างต้น เงินไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ความทะเยอทะยานต่างหาก ที่ทำให้เขาไม่เคยไว้หน้าใครทั้งนั้น

เลือกคนให้ตรงกับงาน 

สิ่งที่ยากกว่าการปลดคืออะไร ? ... คำตอบคือการแต่งตั้งโค้ชคนใหม่ เพราะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าโค้ชคนไหนจะทำทีมออกมาประสบความสำเร็จได้ ของแบบนี้ต้องใช้เซนส์ในการตัดสินใจ การฟังแนวทางของโค้ชคนนั้น ๆ และเข้าถึงความคิดความอ่านของลูกจ้างคนต่อไปว่า "ดีจริงแล้วหรือยัง"

ขั้นตอนการคัดเลือกโค้ชของเชลซี ไม่มีอะไรมากไปกว่าพวกเขาต้องการคนที่ดีที่สุด คนที่ดีที่สุดในทีนี้ไม่ได้หมายถึงโคตรโค้ชสมองเพชร แต่หมายถึงโค้ชที่เหมาะกับสถานการณ์และเป้าหมายของทีมจากการประเมินความเป็นไปได้ 

เราจะพบว่า เชลซี ไม่ได้ตั้งแต่โค้ชดัง ๆ เสมอไป ไม่อย่างนั้นเราคงไม่ได้เห็น โรแบร์โต้ ดิ มัตเตโอ พาทีมชูถ้วยบิ๊กเอียร์, ราฟา เบนิเตซ โค้ชที่แฟนเชลซีเกลียดตั้งแต่พบเจอเพราะเคยมีการสัมภาษณ์เชิงเหยียดหยามสมัย ราฟา เป็นโค้ชของ ลิเวอร์พูล, กุส ฮิดดิ้งก์ กุนซือที่ว่ากันว่าอาจตกยุคไปแล้วสำหรับฟุตบอลยุคใหม่ หรือแม้กระทั่ง แฟรงค์ แลมพาร์ด ที่เข้ามาคุมทีมหลังจากมีประสบการณ์การเป็นโค้ชเพียง 1 ปี 

ชื่อเสียงของโค้ชที่กล่าวมาในข้างต้น อาจจะเทียบชั้นกับตอนที่แต่งตั้งกุนซือดัง ๆ ดีกรีแชมเปี้ยน อย่าง โชเซ่ มูรินโญ่, หลุยส์ เฟลิเป้ สโคลารี่ หรือ คาร์โล อันเชล็อตติ ไม่ได้ แต่ภารกิจของโค้ชทั้ง 2 หมวดหมู่นั้นแตกต่างกัน 

ดิ มัตเตโอ, ราฟา และ ฮิดดิ้งก์ เข้ามาคุมทีมกลางทางในแบบที่ทีมแทบหมดลุ้นแชมป์ไปแล้ว ดังนั้นหน้าที่ของพวกเขาคือการกอบกู้ทำให้ทีมไม่เละไปกว่านี้ และทำในสิ่งที่ทีมใหญ่ ๆ ควรทำให้ได้ นั่นคือการจบฤดูกาลด้วยการมีโทรฟี่ติดไม้ติดติดมือสักใบ ดิ มัตเตโอ ได้แชมป์ แชมเปี้ยนส์ ลีก, ราฟา ได้แชมป์ ยูโรปา ลีก และ ฮิดดิ้งก์ ได้แชมป์ เอฟเอ คัพ ... คุณจะคาดหวังอะไรได้มากไปกว่านี้อีกสำหรับการทำงานในระยะสัญญาแค่ไม่กี่เดือน ?  

และหากคุณจะบอกว่า แล้วโค้ชอย่างแลมพาร์ดล่ะ ทำไมโรมันจึงทนมาได้ตั้ง 1 ปีครึ่ง โดยที่ทีมไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไรเลย ? คำตอบของคำถามนี้คือ แลมพาร์ดมีโจทย์ที่แตกต่างออกไปจากคนอื่น ๆ ที่กล่าวมาทั้งหมด (นับเฉพาะฤดูกาล 2019-20 ที่เขาคุมทีมเต็มซีซั่น) 

ตอนนั้น โรมัน อบราโมวิช เจอผลพวงจากปัญหาทางการเมือง ทำให้เขาไม่สามารถเดินทางเข้าอังกฤษได้เนื่องจากถูกปฏิเสธการต่อวีซ่า โดยสันนิษฐานว่า สาเหตุมาจากกรณีพิพาทระหว่าง อังกฤษ และ รัสเซีย ซึ่งคาดกันว่าเหตุผลก็เพราะ โรมันมีความสนิทชิดเชื้อกับ วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำของรัสเซียเป็นอย่างมาก 

ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีความชัดเจนเลย เนื่องจากมีข่าวว่า โรมัน มีความคิดที่จะขายหุ้นทั้งหมดของสโมสร หลังจากประสบปัญหาเรื่องวีซ่า จนทำให้สโมสรเหมือนกับถูกแช่แข็งไปในสถานการณ์นั้น 1 ปีเต็ม ๆ นอกจากนี้สโมสรยังโดนแบนห้ามซื้อนักเตะเข้ามาในทีม 1 ซีซั่น เนื่องจากคดีซื้อนักเตะต่างชาติอายุไม่เกิน 18 ปีอีก 

สิ่งที่สะท้อนออกมาคือ เชลซี ไม่ได้ซื้อตัวนักเตะใหม่เลยนอกจากการซื้อขาด มาเตโอ โควาซิช จาก เรอัล มาดริด หลังยืมตัวมา 1 ซีซั่น นอกจากนี้พวกเขายังขายสตาร์เบอร์ 1 ของทีมอย่าง เอเด็น อาซาร์ ให้กับ เรอัล มาดริด อีกด้วย

ชัดเจนว่าหน้าที่ของ แลมพาร์ด คือการเข้ามาทำทีมเพื่อรอให้ทุกอย่างกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ หากทำได้ดีก็ดีไป หากทำได้แย่ก็โดนปลด ง่าย ๆ แบบนั้น ซึ่งจะบอกว่าแลมพาร์ดล้มเหลว ก็คงพูดได้ไม่เต็มปาก เชลซีได้นักเตะที่กลายเป็นกำลังหลักในชุดปัจจุบันและอนาคตก็เพราะแลมพาร์ด เขาปั้นดาวรุ่งอย่าง เมสัน เมาท์, คัลลัม ฮัดสัน โอดอย, รีซ เจมส์ และ บิลลี่ กิลมอร์ ให้สามารถเล่นให้กับทีมชุดใหญ่ของเชลซี 

เด็ก ๆ เยาวชนที่สโมสรปั้นขึ้นมาเอง คือสิ่งที่เชลซีมองข้ามมาหลายยุคหลายสมัยนับตั้งแต่ยุค 2000s แม้การโดนแบนในตลาดซื้อขาย รวมถึงสถานการณ์ของทีมที่ไม่แน่อน อาจจะทำให้ทีมจบฤดูกาลแบบมือเปล่าในแบบที่ไม่คุ้นเคย แต่พวกเขาก็ได้ทรัพยากรสำหรับการใช้งานระยะยาว ซึ่งปลายทางก็คือ 2 แชมป์ล่าสุดอย่าง แชมเปี้ยนส์ ลีก และ ซูเปอร์ คัพ ที่ โทมัส ทูเคิล ใช้นักเตะเหล่านี้ต่อยอดมาทั้งสิ้น 

อยากได้แชมป์ให้จ้างโค้ชเก่ง, อยากกอบกู้ทีมให้ใช้โค้ชที่มีประสบการณ์, อยากสร้างเยาวชนให้ใช้คนที่คลุกคลีและรู้จักขนบประเพณีของสโมสร ... 

ยอมล้มเหลวจากสิ่งหนึ่ง เพื่อไปประสบความสำเร็จกับอีกสิ่งหนึ่ง นี่คือการ "Put the right man on the right job" (วางคนที่ใช่ ในงานที่พวกเขาถนัด)

แล้วใครกันล่ะที่เลือกพวกเขามา ? ไม่ต้องสงสัยเลย โรมัน อบราโมวิช มีส่วนกับทุกการตัดสินใจของสโมสรแน่นอนอยู่แล้ว เขาควรได้รับเครดิตนั้น

โปรดอย่าซ่า ให้รู้ว่าใครใหญ่ 

ความสำเร็จคือสิ่งเดียวที่ โรมัน อบราโมวิช ต้องการมาเสมอ โค้ชหลายคนนำสิ่งนั้นมาให้เขาได้ ... โทรฟี่เป็นเหมือนตัวประกันที่ทำให้โค้ชของเชลซีหลาย ๆ คนได้งานทำในระยะยาวกว่าคนอื่น ๆ แต่ก็อย่าชะล่าใจไป เพราะอะไรก็ไม่แน่นอน 

มันเป็นธรรมดาของคนทำงาน ทุกคนมีสไตล์และมีวิธีการของตัวเอง ... โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ทำงานเก่ง ๆ นั้น นอกจากผลงานอันยอดเยี่ยมที่คุณจะได้จากเขาแล้ว สิ่งหนึ่งที่จะตามมาไม่แพ้กันคืออีโก้ หรือ "ความมั่นใจในตัวเอง" ที่สูงส่งมาก ๆ อัจฉริยะหลายคนเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองทำและยอมหักไม่ยอมงอ เป็นแบบนี้ในแทบทุกวงการไม่เว้นแม้แต่เฮ้ดโค้ชของทีมฟุตบอล

โค้ชของ เชลซี ในยุคของ โรมัน อบราโมวิช นั้นมีคนเก่ง ๆ ที่โลกยอมรับว่าอยู่ในระดับแถวหน้าเกรด A มากมาย

โชเซ่ มูรินโญ่ อาจจะยังหนุ่มในตอนเข้ามารอบแรก แต่ก็สร้างแนวทางของแชมเปี้ยนให้กับสโมสร และยังสร้างอิมแพกต์ให้สโมสรอื่น ๆ ทั้งลีกได้รู้ว่า "เกมรับสำคัญยังไง"

คาร์โล อันเชล็อตติ รักษาความเก่งกาจของตัวเองด้วยการพาทีมเป็นแชมป์ลีกในฤดูกาล 2009-10 ด้วยการเป็นทีมแรกที่ยิงประตูได้มากกว่า 100 ประตูในซีซั่นนั้น ตบท้ายด้วยแชมป์ เอฟเอ คัพ อีก 1 ถ้วย 

อันโตนิโอ คอนเต้ เข้ามาสร้างฟุตบอลในแบบของตัวเองด้วยระบบกองหลัง 3 ตัวที่ทีมในอังกฤษไม่ค่อยจะใช้กัน และพาทีมเชลซีจบฤดูกาลด้วยแชมป์พรีเมียร์ลีกแบบเข้าป้ายม้วนเดียวจบ ต่อด้วยแชมป์ เอฟเอ คัพ ในฤดูกาล 2017-18 อีก 1 โทรฟี่  

ทั้ง 3 คนจบเหมือนกันคือ "โดนไล่ออก" ทั้งหมด ทำไมเป็นเช่นนั้นล่ะ ? ในเมื่อคุณอยากเห็นแชมป์ พวกเขาก็ทำให้ดูแล้วว่าสามารถดำเนินงานตามเป้าหมายที่ตั้งไว้สำเร็จมาตลอด ทำไมพวกเขาถึงไม่ได้ทำงานต่อ ? 

สาเหตุสำคัญที่ทำให้กุนซือ 3 เทพที่มีแต่ทีมอื่นต้องการตัวโดนเชลซีไล่ออกนั้นง่ายนิดเดียว เพราะเมื่อถึงวันหนึ่ง เฮดโค้ชมีทิศทางการทำทีมไม่ตรงกับนโยบายของสโมสร หรือแม้กระทั่งเริ่มเกิดปัญหา "งัดข้อกับเบื้องบน" ... โรมัน อบราโมวิช มีทางเลือกเดียวให้กับโค้ชเหล่านี้ นั่นคือการเก็บข้าวของแล้วย้ายออกไป

โชเซ่ มูรินโญ่ เป็นกุนซือหัวแข็งที่ไม่เคยยอมใคร เขาออกจากทีมครั้งแรกในปี 2008 หลังจากเขามีปัญหากับอบราโมวิชเกี่ยวกับผลงานที่ตกลงไป โดยสื่ออย่าง Independent ขยายความว่า โรมันไม่ชอบที่มูรินโญ่ไม่ยอมรับผิดว่าผลงานที่แย่นั้นเกิดจากการทำงานของตัวเอง สุดท้ายพวกเขาก็ลงนาม "แยกกันด้วยดี" บนหน้าสื่อ แต่ตามหลักแล้ว นั่นคือการไล่ออกนั่นแหละ เพราะเชลซีต้องจ่ายเงินค่าชดเชยให้กับมูรินโญ่อีก 18 ล้านปอนด์ 

ส่วนหนที่ 2 นั้น ก็มีปัญหาเรื่องอีโก้ของมูรินโญ่อีกครั้ง บวกด้วยเรื่องการวิจารณ์ทีมแพทย์ของสโมสร กับเคส "หมอเอวา" (ดร.เอวา คาเนโร่ อดีตแพทย์ประจำทีม) ที่ทำให้เกิดข่าวลือว่านักเตะ "เล่นไล่โค้ช" จนสุดท้ายมูรินโญ่ก็โดนไล่ออกจากตำแหน่งระหว่างฤดูกาล 2015-16 ขณะที่ทีมร่วงไปอยู่ครึ่งล่างของตาราง

ขณะที่กรณีของอันเชล็อตติอาจจะไม่รุนแรงเท่า แต่ก็เกิดการงัดข้อกับบอร์ดบริหารที่ส่งผลให้เขาโดนไล่ออกเช่นกัน ในฤดูกาล 2010-11 อันเชล็อตติแสดงความไม่พอใจที่บอร์ดบริหารซื้อ เฟร์นานโด ตอร์เรส มาจาก ลิเวอร์พูล ด้วยราคาถึง 50 ล้านปอนด์ ในตลาดนักเตะเดือนมกราคม โดยที่เขาไมได้อยากได้ตัวนักเตะเลย และการมาของตอร์เรสทำให้เขาต้องจำใจส่งลงเล่น ความระหองระแหงนี้นำมาสู่การไล่ออก แม้บั้นปลาย อันเช่จะไม่ได้ว่าร้ายบอร์ดบริหารในเรื่องนี้ 

แต่ที่ร้อนแรงที่สุด คือกรณีของ อันโตนิโอ คอนเต้ ที่หลังจากพาทีมคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกได้สำเร็จในปี 2016-17 ก็โดนไล่ออกหลังจบฤดูกาล 2017-18 ที่คว้าแชมป์เอฟเอคัพมาได้ ด้วยสาเหตุที่เขาไม่พอใจกับการเสริมทัพนักเตะที่ไม่ได้ตามตำแหน่งที่ต้องการ ตัวของคอนเต้นั้นเป็นคนยอมหักไม่ยอมงออยู่แล้ว เขามุ่งเป้าให้สโมสรปลดบอร์ดบริหาร 2 คนอย่าง ไมเคิล เอเมนาโล่ (อดีต ผอ. ฝ่ายเทคนิค) และ มาริน่า กรานอฟสกาย่า (ซีอีโอของสโมสร) 

แม้จะเป็นการลือ แต่ก็มีเค้าลางความเป็นจริง โดยเฉพาะหลังเกมแพ้ วัตฟอร์ด 1-4 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2018 คอนเต้ก็กล่าวแบบไม่กลัวใครว่า พรุ่งนี้ก็เป็นแค่วันนึง ตนอาจจะเป็นผู้จัดการทีมเชลซีอยู่เหมือนเดิม หรือไม่ใช่ก็ได้ ไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด และคืนนี้ตนจะนอนหลับฝันดีอย่างแน่นอน ผมคุมทีมอย่างสุดความสามารถแล้ว แต่คนที่ตัดสินใจเรื่องตำแหน่งผู้จัดการทีมคือสโมสร และชีวิตต้องดำเนินต่อไป

ซึ่งสุดท้ายก็อย่างที่รู้กัน โดยเฉพาะในรายของ มารินา ที่เป็นคนทำงานหนักภายใต้ยุคสมัยของ โรมัน อบราโมวิช ที่เป็นเจ้าของทีมมากว่า 12 ปี แถมเป็นคนรัสเซียบ้านเดียวกัน ผู้ชนะคือ คอนเต้ ที่ถูกไล่ออกแล้วได้รับค่าชดเชยก้อนใหญ่ ... ปิดตำนานหลัง 3 ตัวแบบอิตาเลี่ยนไปอย่างรวดเร็วกว่าที่ใคร ๆ คาดคิด 

ทุกสิ่งที่กล่าวมาสะท้อนให้เห็นถึงความจริงอะไรหลายอย่างสำหรับเชลซี ในยุคที่มีเจ้าของเป็น โรมัน อบราโมวิช สโมสรแห่งนี้ ชัดเจนในแนวทางมาเสมอ พวกเขารู้ว่ากำลังทำอะไรและต้องการอะไร สุดท้ายไม่มีโค้ชคนไหนใหญ่เกินกว่าสโมสร เมื่อถึงวันแตกหัก ก็แยกทางโดยไม่เสียดายความสัมพันธ์ใด ๆ ทั้งสิ้น

นี่ไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบครอบครัวในที่ทำงาน และในความเป็นจริง เราต่างรู้ว่าองค์กรที่ทำงานกันแบบครอบครัวนั้นไม่มีจริง ทุกอย่างขับเคลื่อนไปด้วยผลงานและความสำเร็จที่สามารถจับต้องได้ และเชลซีเป็นเช่นนั้นมาเสมอ พวกเขาอาจจะไม่ชนะทุกซีซั่น แต่ทุกการพ่ายแพ้ต้องสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลง...  

"ทุกอย่างต้องมีความเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้แน่ใจว่า เราจะก้าวไปถึงความทะเยอทะยานระยะยาวที่เราหวังได้ ซึ่งตรงนี้เราชัดเจนมาก"

“สุดท้ายแล้ว ... ผมคิดว่าถ้วยรางวัลจะบ่งบอกทุกอย่างด้วยตัวมันเอง" สั้น ๆ แต่คลาสสิก นี่คือสิ่งที่ โรมัน อบราโมวิช กล่าวตอนที่ทีมคว้าแชมป์ระดับเมเจอร์ใบล่าสุดของสโมสรเมื่อเดือน มิถุนายน ปีที่แล้ว 

นั่นเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไม เชลซี ถึงใช้โค้ชมากมายเหลือเกินตั้งแต่ปี 2003 จนถึงทุกวันนี้  

อัลบั้มภาพ 19 ภาพ

อัลบั้มภาพ 19 ภาพ ของ จ่ายพันล้าน งานต้องเดิน : "เชลซี เวย์" เปลี่ยนโค้ชบ่อยแต่ประสบความสำเร็จได้อย่างไร?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook