เจสสิกา ลอง : จากเด็กกำพร้าในไซบีเรีย สู่เจ้าของ 13 เหรียญทองพาราลิมปิกเกมส์

เจสสิกา ลอง : จากเด็กกำพร้าในไซบีเรีย สู่เจ้าของ 13 เหรียญทองพาราลิมปิกเกมส์

เจสสิกา ลอง : จากเด็กกำพร้าในไซบีเรีย สู่เจ้าของ 13 เหรียญทองพาราลิมปิกเกมส์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ไม่มีใครอธิบายกับฉันได้เลย ว่าทำไมฉันถึงเกิดมาโดยไม่มีขา ทำไมฉันถึงถูกเก็บมาเลี้ยง และทำไมวันเกิดของฉัน ถึงไปตรงกับวันอธิกสุรทินได้ !"

เจสสิกา ลอง อาจเป็นที่รู้จักในฐานะเจ้าของ 23 เหรียญรางวัลจากพาราลิมปิกเกมส์ แต่เรื่องราวก่อนที่เธอจะเดินทางมาถึงจุดนี้นั้น เต็มไปด้วยสิ่งต่าง ๆ มากมาย มีทั้งขึ้นและลงปะปนกันไปบนเส้นทางนี้

มาทำความรู้จักกับเรื่องราวของเงือกสาววัย 29 ปี ที่อยู่คู่สระว่ายน้ำพาราลิมปิกมานานกว่าครึ่งชีวิตของเธอได้กับ Main Stand ที่นี่

เด็กกำพร้าในไซบีเรีย

เรื่องราวของ เจสสิกา ลอง นั้น ต้องเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปไกลกว่า 9,000 กิโลเมตร ในดินแดนไซบีเรียอันแสนหนาวเหน็บ ที่หนูน้อย ทาเทียนา โอเลโกฟน่า คิริลโลว่า ได้กำเนิดขึ้นมา ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 1992


Photo : www.facebook.com/JessicaLongOfficial

แม้โอกาสเกิดในวันอธิกสุรทิน ที่ 4 ปีมีครั้ง จะถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากแล้ว แต่ คิริลโลว่า ยังต้องเผชิญกับการมีร่างกายที่ผิดปกติมาตั้งแต่กำเนิด นั่นคือขาทั้งสองของเธอนั้น ไม่มีกระดูกน่องอยู่ภายในร่างกาย ซึ่งเป็นอาการที่ทำให้แม่ตามสายเลือดของเธอ ที่มีอายุได้เพียง 16 ปี ณ ขณะนั้น ตัดสินใจพาเจ้าหนูรายนี้ไปอยู่ในการเลี้ยงดูของสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า

ด้วยวัย 13 เดือน คิริลโลว่า ได้เริ่มชีวิตใหม่กับครอบครัวของ เบธ และ สตีฟ ลอง ด้วยการเดินทางข้ามฟากมาสู่ บัลติมอร์ รัฐแมรี่แลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ด้วยสภาพตั้งแต่แรกเกิดของเธอ ก็ทำให้จุดเริ่มต้นในดินแดนแห่งเสรีของ คิริลโลว่า ในชื่อใหม่ว่า เจสสิกา ลอง ไม่ค่อยราบรื่นสักเท่าไหร่

 

เจสสิกา ต้องเข้ารับการผ่าตัดมากถึง 25 ครั้ง เพื่อตัดขาของเธอออก และเริ่มฝึกใช้ขาเทียมในการเคลื่อนที่แทน

แม้จะเตรียมใจสำหรับการผ่าตัดมาแล้ว แต่ เบธ ลอง คุณแม่บุญธรรมของเธอ ก็ยังพบว่าโลกแห่งความจริงนั้น มันยากลำบากกว่าที่คิดไว้เป็นอย่างยิ่ง "ขาของเธอยังเล็กมาก และยิ่งเมื่อเธอมาอยู่กับเราแล้ว ฉันรักในทุกส่วนที่เธอเป็น ดังนั้นการสูญเสียบางส่วนในร่างกายเธอไป จึงเป็นความรู้สึกที่ยากลำบากไม่น้อยเลย"

หนูน้อย เจสสิกา เองก็พบว่าวัยเด็กของเธอนั้นมันแสนยากลำบากและน่ากลัวเสียเหลือเกิน เธอได้ให้สัมภาษณ์กับทาง SwimSwam ไว้ว่า "ไม่มีใครอธิบายกับฉันได้เลย ว่าทำไมฉันถึงเกิดมาโดยไม่มีขา ทำไมฉันถึงถูกเก็บมาเลี้ยง และทำไมวันเกิดของฉัน ถึงไปตรงกับวันอธิกสุรทินได้ !"

"ความโกรธคือความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นประจำกับตัวฉัน แต่แล้วฉันก็ดันชอบมันเข้า และได้นำมันมาเป็นแรงผลักดันชั้นดี"


Photo : www.facebook.com/JessicaLongOfficial

 

หลังจากสิ้นสุดช่วงเวลาแห่งการวนเวียนเข้าออกโรงหมอ เจสสิกา ก็ได้เริ่มต้นการฟื้นฟูร่างกายของเธอ ซึ่งรวมถึงการได้ลองเล่นกีฬาชนิดต่าง ๆ ทั้งยิมนาสติก สเก็ตน้ำแข็ง ปีนเขา แทรมโพลีน แต่สิ่งที่เธอชื่นชอบนั้น คือการได้ว่ายน้ำในสระหลังบ้านของเธอ

"ฉันชอบว่ายน้ำ เพราะจริง ๆ แล้วฉันเป็นเด็กที่โกรธง่ายมาก ซึ่งนี่คือจุดที่ฉันสามารถปลดปล่อยความโกรธและความผิดหวังได้ พร้อมกับเป็นช่วงเวลาที่ฉันรู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถและเป็นอิสระจากทุกสิ่งทุกอย่าง"

"เมื่อฉันอยู่ในสระว่ายน้ำ ฉันไม่เคยคิดถึงขาของฉันเลย"

พาราลิมปิกในวัย 12 ปี

จากเด็กที่ว่ายน้ำในสระหลังบ้าน เจสสิกา ค้นพบว่าตัวเองมีความสามารถเพียงพอที่จะลงแข่งขัน จนเริ่มลงแข่งว่ายน้ำครั้งแรกเมื่อมีอายุได้ 10 ปี

 

และเมื่อความโกรธของเธอ ได้ถูกนำมาเติมเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ขับเคลื่อน ผลงานในสระว่ายน้ำของ เจสสิกา จึงค่อย ๆ ไต่เต้าขึ้นมาจนได้เป็นนักว่ายน้ำพิการยอดเยี่ยมประจำรัฐแมรี่แลนด์ ในปี 2003 ก่อนจะติดทีมพาราลิมปิกของสหรัฐอเมริกา ไปร่วมแข่งขันที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ด้วยอายุเพียงแค่ 12 ปีเท่านั้น


Photo : www.swimmingworldmagazine.com

แม้จะเป็นนักกีฬาพาราลิมปิกที่อายุน้อยที่สุดของสหรัฐฯ แต่จากทั้ง 4 รายการที่เธอได้ลงแข่งขัน เจสสิกา สามารถกวาดไปได้ถึง 3 เหรียญทอง ในประเภทฟรีสไตล์ 100, 400, และ 4x100 เมตร ก่อนจะจบด้วยอันดับ 5 ในประเภทฟรีสไตล์ 50 เมตร

จากจุดนี้ เธอได้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการคว้าเหรียญรางวัลไปได้มากถึง 13 เหรียญทอง 6 เหรียญเงิน กับอีก 4 เหรียญทองแดง ในการแข่งขันพาราลิมปิกระหว่างปี 2004-2016 รวมทั้งยังได้อยู่ในเส้นทางลุ้นชิงเหรียญรางวัล กับการแข่งขันพาราลิมปิก ที่โตเกียว ในปี 2020 นี้ด้วยเช่นกัน

 

แต่ก็ไม่ใช่ว่าเส้นทางนักกีฬาของเธอจะโรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป เพราะก่อนหน้าที่จะลงแข่งในพาราลิมปิก ที่ริโอ เมื่อปี 2016 เจสสิกา ได้พบกับภาวะ Burnout ทั้งกับร่างกายและจิตใจ ส่งผลให้ทำผลงานได้ต่ำกว่ามาตรฐาน ด้วยการเก็บได้แค่ 1 เหรียญทอง 3 เหรียญเงิน กับ 2 เหรียญทองแดงเท่านั้น

"ฉันรู้สึกว่าจิตใจของฉันมันปวดร้าวเกินแบกรับ จนทำให้ฉันกินไม่เป็นปกติ แถมยังมีอาการบาดเจ็บบริเวณหัวไหล่ ที่ทำให้น้ำหนักของฉันลดลงไปได้ถึง 9 กิโลกรัม ซึ่งนั่นไม่ใช่ฉันเลย"

"มันง่ายที่จะบอกว่า เหรียญทองไม่ได้เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เมื่อคุณคุ้นชินกับผลงานในระดับหนึ่ง แล้วอยู่ดี ๆ คุณกลับทำไม่ได้เอง ก็ย่อมเป็นปกติที่จะมีความรู้สึกว่าคุณไม่มีค่าพอ"


Photo : www.paralympic.org

นั่นจึงทำให้เธอแตะเบรกสักพัก โดยการลดตารางฝึกซ้อม เพื่อที่จะได้เติมเต็มเชื้อไฟที่ขาดหายไป และกลับมามุ่งมั่นซ้อมได้อย่างมีความสุข ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อม เพื่อต่อเติมความยิ่งใหญ่ในสระที่มหกรรมพาราลิมปิกเกมส์ อีกครั้ง

 

แต่เรื่องราวของเธอนั้น ไม่ได้มีแค่ผลงานในสนามเพียงอย่างเดียว เพราะเมื่อย้อนไปหลังจบพาราลิมปิก ปี 2012 เจสสิกา ก็ได้มีโอกาสกลับไปพบกับบุคคลกลุ่มหนึ่ง ที่เธอไม่แม้แต่จะมีโอกาสจำความได้ว่าพวกเขาคือใคร ...

เจอกับพ่อแม่ของเธออีกครั้ง

ย้อนไปในปี 2013 เจสสิกา ได้บินข้ามทวีปไปยังประเทศรัสเซีย เพื่อกลับไปพบปะพ่อและแม่แท้ ๆ ของเธอเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 21 ปีด้วยกัน

"เมื่อได้พบกับครอบครัว ฉันอยากให้พวกเขารู้ว่าฉันไม่เคยโกรธเขา และไม่เคยเสียใจที่พวกเขาส่งฉันไปยังสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า"


Photo : siberiantimes.com

ด้านของ นาตาเลีย และ โอเล็ก วาลตีเชฟ ผู้ให้กำเนิดที่แท้จริงของ เจสสิกา ก็ไม่เคยทราบเลยว่าชะตาชีวิตของหนูน้อยคนนี้ จะเดินทางไปไกลจนถึงการเป็นเจ้าของเหรียญรางวัลเป็นกอบเป็นกำ ในการแข่งขันพาราลิมปิกมาแล้ว

เจสสิกา ให้สัมภาษณ์เมื่อมองย้อนกลับไปถึงสถานการณ์ในตอนนั้น "ฉันคิดว่านั่นคือสิ่งที่กล้าหาญมาก (การส่งเธอเข้าสถานเด็กกำพร้า) ขณะมีอายุได้เพียง 16 ปี และรับรู้ว่าเด็กคนนี้มีความพิการ พวกเขาทราบดีว่าไม่อาจเลี้ยงดูฉันเป็นอย่างดีได้ ซึ่งสิ่งที่ฉันอยากบอกกับพวกเขา ก็คือฉันรักพวกเขามาก ๆ โดยเฉพาะกับแม่ของฉัน เธอเป็นผู้ให้ชีวิตกับฉันเลย"

เรื่องราวของเธอได้ถูกพูดถึงเป็นวงกว้างอีกครั้ง เมื่อ โตโยต้า ได้นำชีวิตของเธอ มาถ่ายทอดในโฆษณาความยาว 60 วินาที ระหว่างช่วงพักครึ่งของการแข่งขัน ซูเปอร์โบวล์  2021 ที่ได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจและจุดผลักดันให้กับใครอีกหลายคนที่รับชมโฆษณาตัวนี้

"สิ่งเดียวที่พิการในชีวิต คือความคิดในแง่ลบ" คือคำกล่าวที่เธอได้ฝากเอาไว้ เมื่อนึกย้อนถึงเส้นทางที่เธอได้เผชิญมา นับตั้งแต่แรกเกิดในไซบีเรีย เติบโตขึ้นมาพร้อมกับความยากลำบากในการใช้ชีวิต ก่อนที่จะค้นพบตัวเองในสระว่ายน้ำ และก้าวขึ้นมาเป็นผู้คว้าเหรียญรางวัลในพาราลิมปิกเกมส์ มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ตลอดกาลไปแล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook