4 ปีผ่านไป : เจาะประเด็นทำไมทีมชาติไทยนำระบบ "ผู้จัดการทีมคนนอก" กลับมาใช้อีกครั้ง?

4 ปีผ่านไป : เจาะประเด็นทำไมทีมชาติไทยนำระบบ "ผู้จัดการทีมคนนอก" กลับมาใช้อีกครั้ง?

4 ปีผ่านไป : เจาะประเด็นทำไมทีมชาติไทยนำระบบ "ผู้จัดการทีมคนนอก" กลับมาใช้อีกครั้ง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นับตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ 2017 จวบจนถึงสิงหาคม 2021 เป็นช่วงเวลายาวนานถึง 54 เดือนที่ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ในยุคของ พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ประกาศยกเลิกตำแหน่ง "ผู้จัดการทีมชาติไทย" ทุกชุด ยกเว้นฟุตบอลหญิง

"นายกสมยศ" ให้เหตุผลในครั้งนั้นว่า เพราะไม่ต้องให้ผู้คนยึดติดภาพลักษณ์เดิม ๆ ว่า คนนอกที่มารับบทบาท "ผู้จัดการทีมช้างศึก" จะต้องเป็นกระเป๋าสตางค์แก่ทีม เพราะสมาคมฯ ตั้งใจว่าจะเป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่าย และใช้คนใน ทำหน้าที่ประสานงานด้วยตัวเอง

ทว่า 4 ปีที่ผ่านมาหลังปราศจาก "ผู้จัดการทีมคนนอก" ผลงานของทัพช้างศึก กลับไปได้ไม่ไกลกว่าที่หลายคนคาดหวังไว้ จนสุดท้าย สมาคมฯ จึงตัดสินใจตั้ง "มาดามแป้ง" นวลพรรณ ล่ำซำ อดีตผู้จัดการทีมฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย ให้เข้ามาทำหน้าที่ "ผู้จัดการทีมฟุตบอลชายทีมชาติไทยชุดใหญ่ และรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี"

เกิดอะไรขึ้นกับวงการลูกหนังไทยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ? และเหตุใดสมาคมฯ ถึงยอมกลับลำหันมาใช้ระบบผู้จัดการทีมอีกครั้งในสถานการณ์เช่นนี้ ?

อลงกต เดือนคล้อย นักเขียนประจำ Main Stand จะมาเจาะประเด็นให้ทุกท่านได้อ่านกัน

ผู้จัดการทีมแบบไทยเป็นอย่างไร ?

โอลิเวอร์ เบียร์โฮฟฟ์ อดีตผู้จัดการทีมชาติเยอรมัน (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการทีมชาติและอคาเดมี หลังมีการปรับโครงสร้างในสหพันธ์ฟุตบอลเยอรมัน หรือ เดเอฟเบ ซึ่งยกเลิกตำแหน่งผู้จัดการทีมไปเมื่อปี 2018) น่าจะฉายภาพของ ผู้จัดการทีมชาติแบบไทยไทย ได้ชัดเจนเคสหนึ่ง…   

เบียร์โฮฟฟ์ แยกบทบาทหน้าที่กับ โยอาคิม เลิฟ อดีตเฮดโค้ชทีมชาติ รวมถึงในปัจจุบันกับ ฮานซี่ ฟลิค อย่างชัดเจน โดยความรับผิดชอบของอดีตศูนย์หน้าจอมโขกรายนี้ เน้นไปที่การดูแลทีม การติดต่อประสานงานกับสโมสรต่าง ๆ และองค์กรฟุตบอลนานาชาติ

 

เขายังมีบทบาทในการดูแลภาพลักษณ์ของทีมชาติ และรับมือกับสื่อเป็นด่านแรก ในประเด็นต่าง ๆ จนกลายเป็น กระบอกเสียงของทีมชาติเยอรมันไปกลาย ๆ ส่วนเรื่องในสนามเขาแทบไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะนั่นเป็นหน้าที่ของ "บุนเดสเทรนเนอร์" คนเดียวเต็ม ๆ

ขณะที่ในเมืองไทย รูปแบบของผู้จัดการทีมชาติ มีมาอย่างยาวนานแล้ว ตามโมเดลของฟุตบอลอังกฤษ ที่หลาย ๆ อย่างถูกถอดแบบนำมาใช้ในบ้านเรา 

เพียงแต่ส่วนใหญ่ ผู้จัดการทีมชาติไทย ล้วนแล้วแต่จะเป็นบุคคลนอกแวดวงลูกหนังที่ได้เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็น นักการเมือง, ข้าราชการ หรือนักธุรกิจ

 

แต่ที่เห็นภาพชัดและประสบความสำเร็จอย่างสูง ก็คงหนีไม่พ้น ทีมชาติไทย ยุค "ดรีมทีม" ซึ่งมี วนัสธนา (หรือที่แฟนบอลคุ้นกันในชื่อ ธวัชชัย) สัจจกุล นักการเมืองชื่อดัง เข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้จัดการทีม และได้รับเครดิตมากพอสมควรจากความสำเร็จของดรีมทีมชุดนั้น

"บิ๊กหอย" ได้กล่าวในงานมุทิตาจิตของตัวเองว่า ความจริงแล้วตนเองมีหน้าที่หลักเป็นแค่เพียงคนออกเงิน จ่ายค่าใช้จ่ายในการดูแลทีม และอาศัยบารมีด้านการเมืองในการอำนวยความสะดวกให้แก่ทีม 

ส่วนหน้าที่หลัก ๆ ในการบริหารจัดการทีมเป็นของ "บิ๊กกร๊อง" วิรัช ชาญพานิชย์ ที่ดูแลและอยู่กับทีม รวมถึง ชัชชัย พหลแพทย์ ที่ดูแลเรื่องการฝึกสอน รวมถึงการวางแผนการแข่งขันมากกว่า

จะเห็นได้ว่า ผู้จัดการทีมชาติไทยที่รับงานต่อจาก วิรัช ชาญพานิชย์ ล้วนแล้วแต่เป็นคนที่มีพาวเวอร์ด้านใดด้านหนึ่ง ถ้าไม่ใช่นักการเมือง ก็ต้องมาจากภาคธุรกิจ ไม่ก็เป็นข้าราชการทหาร หรือตำรวจระดับสูง

จนทำให้ภาพจำของ ผู้จัดการทีมชาติไทย กลายเป็นคนที่มีหน้าที่การงานดี ฐานะร่ำรวย ไม่ก็ต้องเป็นผู้มีบารมีทางด้านกีฬา การเมือง สังคมมากในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะกับทีมชาติไทยชุดใหญ่

 

อาทิ เกษม จริยวัฒน์วงศ์, กิตติรัตน์ ณ ระนอง, ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย, อนุชา นาคาศัย, ขจร เจียรวนนท์, วรพจน์ ยศะทัตต์ ล้วนอยู่ในคุณสมบัติที่ว่ามาข้างต้น 

รวมถึงฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย ในอดีตที่เคยมี "มาดามมล" นฤมล ศิริวัฒน์ และ "มาดามแป้ง" นวลพรรณ ล่ำซำ ทำหน้าที่ดังกล่าว ก็เป็นผู้หญิงที่มีพาวเวอร์ทางสังคมมากพอสมควร โดยปัจจุบันถูกส่งต่อมายัง "มาดามเจี๊ยบ" ศิริมา พานิชชีวะ นักธุรกิจหญิง และผู้บริหารสโมสรฟุตบอล สมุทรปราการ ซิตี้

การเปลี่ยนแปลง

หากย้อนกลับไปสัก 15-25 ปีก่อน ต้องยอมรับว่า "ผู้จัดการทีม" เป็นตำแหน่งที่ค่อนข้างจำเป็นต่อวงการฟุตบอลไทยมากพอสมควร 

เพราะในยุคนั้น โครงสร้างวงการลูกหนังบ้านเราไม่ได้เป็นลีกเต็มอาชีพแบบเต็มตัว ค่าเหนื่อยของผู้เล่นไม่สูงมาก เพราะเป็นลีกกึ่งอาชีพ จึงสามารถเรียกเก็บตัวนักฟุตบอลเข้าแคมป์ทีมชาติได้เป็นระยะเวลานานหลายสัปดาห์ หลายเดือน

 

ดังนั้นสมาคมฟุตบอลฯ สมัยก่อน จึงต้องอาศัย "ผู้จัดการทีม" ที่มีเงินและคอนเน็กชัน มาช่วยประสาน เจรจา เพื่ออำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ 

ยกตัวอย่างนักเตะสมัยก่อน ที่เล่นฟุตบอลไปด้วยและทำงานประจำไปด้วย อาทิ รับราชการ, เป็นลูกจ้างบริษัทเอกชน หรือ ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ ซึ่งคนที่สามารถเข้าไปพูดคุย เจรจา และขอเอาตัวนักเตะเหล่านี้มาร่วมงานกับทีมชาติไทยได้ ก็ย่อมต้องมีสายสัมพันธ์และบารมีไม่น้อยในการทำเช่นนั้น

รวมถึงต้องเป็นคนเงินถึงในระดับหนึ่ง เพราะในอดีต "ผู้จัดการทีม" จะเป็นคนที่คอยอัดฉีดเงิน เพื่อบำรุงขวัญกำลังใจนักเตะ ที่ต้องจากครอบครัวและสโมสรต้นสังกัดมาเก็บตัวฝึกซ้อมและลงเล่นให้ทีมชาติ ในยุคสมัยที่ ส.บอลฯ ยังไม่ได้มีเงินรายได้ ด้านสิทธิประโยชน์และสปอนเซอร์เข้ามามากนัก 

อย่างไรก็ดี ในช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา ฟุตบอลไทยถูกพัฒนาจนเข้าสู่การเป็นลีกอาชีพอย่างเต็มระบบ 

 

มีสโมสรเกิดขึ้นใหม่มากมาย มีการทำให้นักกีฬามีสัญญาจ้างที่ชัดเจน พร้อมทั้งรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย โดยไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาเงินอัดฉีดหรือการเลี้ยงดูปูเสื่อจาก ผู้จัดการทีมชาติ อีกต่อไป

แต่ปัญหาเกิดขึ้นตรงที่ สโมสร ที่เป็นนายจ้างนักกีฬา ก็ไม่อยากปล่อยนักเตะออกมาเก็บตัวกับทีมชาตินาน ๆ เหมือนสมัยก่อน  

ขณะที่ ทีมชาติ ก็ต้องการเรียกนักกีฬาไปเก็บตัวเหมือนในอดีต จึงจำเป็นจะต้องมีคนกลาง อย่าง "ผู้จัดการทีม" มาช่วยประสานระหว่าง สมาคมฯ, ทีมสตาฟโค้ช กับสโมสรที่เป็นต้นสังกัดนักเตะ และหาจุดร่วมกันที่ทั้งสองฝ่ายโอเค

ทุกอย่างดำเนินมาเป็นปกติ กระทั่ง สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ในยุค พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบผู้จัดการทีม 
เริ่มจากการออกนโยบายที่ "ผู้จัดการทีม" หลังจากนี้ไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายอีกต่อไป เพราะสมาคมฯ จะเป็นผู้ออกเงินรับผิดชอบภารกิจของทีมชาติทั้งหมด ซึ่งจริง ๆ แล้วก็เป็นเรื่องดีและเป็นไปตามหลักสากล

นายกฯ สมยศ ร่วมงานกับผู้จัดการทีมคนนอกไปได้แค่เพียงปีกว่า ๆ ก็ตัดสินใจยกเลิกระบบดังกล่าว ด้วยเหตุผลหลัก ๆ 2 ข้อ 
ข้อหนึ่ง ไม่ต้องการให้เกิดการแทรกแซงจากบุคคลภายนอก และข้อสอง ต้องการสร้างและพัฒนาบุคลากรของสมาคมฯ ให้ทำหน้าที่เป็นคนดูแล ประสานงาน กับทีมชาติทุกชุด โดยไม่ต้องพึ่งคนนอกอีกต่อไป

ไร้คนกลาง

ในช่วงแรกเริ่มของการเปลี่ยนแปลงยกเลิกระบบผู้จัดการทีมคนนอก กระแสค่อนข้างเป็นไปในเชิงบวก เพราะหลายคนมองว่า การไม่มีบุคลากรนอกสมาคมฯ เข้ามาเป็น "ผู้จัดการทีม" น่าจะทำให้ "เฮดโค้ช" และฝ่ายเทคนิคทำงานได้สะดวก ปราศจากการล้วงลูก ดูมีความเป็นความเป็นสากลมากขึ้น 

ทว่าผลงานของทีมชาติไทย ก็ยังไม่ดีขึ้นแทบทุกชุด จนเกิดการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าผู้ฝึกสอนหลายครั้ง ทั้งชุดเล็กและชุดใหญ่ อาทิ มิโลวาน ราเยวัช, วรวุฒิ ศรีมะฆะ, อเล็กซานเดร กาม่า และล่าสุด อากิระ นิชิโนะ ที่ถูกคำสั่งปลดระหว่างกำลังอยู่ในการกักตัวเข้าประเทศไทย 

เหตุและผลเป็นเช่นนั้น นอกจากเรื่องผลงานที่ไม่น่าประทับใจ จนต้องมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว การไม่มีผู้จัดการทีมคนนอก ยังทำให้อำนาจการตัดสินใจถูกควบรวมไปอยู่ที่ สมาคมฯ เพียงผู้เดียว เป็นคำสั่งแบบแนวดิ่งไม่ใช่แนวนอน เพราะไม่มีคนภายนอกที่มีพาวเวอร์มาคานอำนาจ หรือมานำเสนอมุมมองอื่น ๆ 

เพราะทีมงานสตาฟโค้ช, ฝ่ายเทคนิคก็ถือเป็นลูกจ้างสมาคมฯ ส่วนคนที่ถูกเลือกไปทำหน้าที่ประสานงานดูแลทีม ก็เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของสมาคมฯ อีกเช่นกัน
เมื่ออำนาจถูกควบรวมไปอยู่ส่วนกลาง การตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะในสถานการณ์เฉพาะหน้า จึงต้องฟังเสียงจากทางผู้บริหารสมาคมฯ เป็นหลัก ไม่สามารถทำอะไรได้พลการแบบแต่ก่อน 

ถึงตรง เรานี้ไม่ได้หมายความว่า ผู้ประสานจากฝั่งสมาคมฯ ทำหน้าที่บกพร่อง พวกเขาทำหน้าที่ในส่วนของตัวเองได้ดีแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าบุคลากรภายในองค์กรของสมาคมฯ ก็ยังไม่ได้มีอำนาจ หรือคอนเน็กชันในการเดินเรื่องส่วนๆ อื่น

ต่อให้ บุคลากรจากสมาคมฯ ท่านนั้นจะได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เสมือนผู้จัดการทีมชาติในอดีต แต่พาวเวอร์นั้น เมื่อเทียบกับระบบผู้จัดการทีมแบบเดิม ก็ต้องยอมรับตามตรงว่ายังต่างกัน

เพราะอย่างที่ทุกคนเห็นกันว่า พอไม่มีผู้จัดการทีมคนนอกมาช่วยงาน การติดต่อประสานงาน เจรจาขอความร่วมมือเกี่ยวกับทีมชาติไทย จึงเป็นไปในลักษณะระหว่างองค์กรกับองค์กรทันที 

ไม่เหมือนกับตอนที่มีผู้จัดการทีมคนนอกที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนคนกลางที่คอยพูดคุย เจรจา ขอความร่วมมือกับสโมสรต่าง ๆ ได้ เนื่องจากเขาไม่ใช่พนักงานของสมาคมฯ มีความเป็นเอกเทศ และมีอิทธิพลด้านสังคมทางใดทางหนึ่ง

รวมไปถึง ผู้จัดการคนนอกเหล่านี้ ยังมีวุฒิภาวะในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นในระหว่างการเก็บตัวฝึกซ้อม ไปจนถึงช่วงแข่งขันได้อย่างทันท่วงที ไม่ต้องรอคำสั่ง หรือปรึกษากับเจ้านายเบื้องบนก่อน

ผู้เขียนได้มีโอกาสไปตามติด ทีมชาติไทย ชุดเหรียญทองซีเกมส์ 2017 ทีมชุดสุดท้ายของฟุตบอลไทย ที่มีระบบผู้จัดการทีม รวมถึงเคยได้พูดคุยกับ "มาดามเดียร์" วทันยา วงษ์โอภาสี อดีตผู้จัดการทีมชุดดังกล่าว หลังเสร็จสิ้นภารกิจ ซึ่งก็เธอได้เปิดเผยหลาย ๆ เรื่อง ที่คนวงนอกอาจจะยังไม่รู้

เธอยกตัวอย่างในการแข่งขันทัวร์นาเมนต์อุ่นเครื่องที่ประเทศเวียดนาม คราวนั้น เจ้าภาพไม่ได้จัดโรงแรมที่ดีให้กับนักกีฬาไทย ตามที่เคยมีการประชุมทีม ซึ่งสถานที่พักนั้นเป็นเพียงห้องพักระดับ 3 ดาว ที่แคบและไม่สะอาด แถมยังแบ่งให้นักกีฬาไทย พักแยกออกจากกัน 2 ตึก

ด้วยความที่เธอมีตำแหน่งเป็น ผู้จัดการทีม จึงมีอำนาจในการตัดสินใจตอนนั้นด้วยตัวเอง ว่าจะพักหรือเปลี่ยนสถานที่ ก่อนที่สุดท้ายเธอจะควักทุนส่วนตัวเปลี่ยนแปลงที่พักให้นักเตะได้นอนในโรงแรมที่ดีกว่า พร้อมแจ้งไปยังฝ่ายจัดฯ จนผู้จัดของเวียดนาม ต้องออกมาแสดงความขอโทษต่อทีมชาติไทย


Photo : facebook.com/changsuek

รวมถึงประสบการณ์ในการแข่งขันซีเกมส์ ที่ต้องไปหาเช่าสนามซ้อมเอง เนื่องจากสนามที่เจ้าภาพมาเลเซีย จัดไว้ให้ไม่ได้มาตรฐานและสุ่มเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บของนักเตะ เรื่องอาหารการกินที่ต้องจัดการเอง เพราะอาหารของโรงแรมที่จัดไว้ไม่ได้โภชนาการครบถ้วน จนในซีเกมส์ครั้งนั้น นักกีฬาหลายประเภท ประสบอาการตะคริวขึ้น เพราะร่างกายขาดสารอาหาร

อีกทั้งกฎของโรงแรมที่ไม่อนุญาตให้นำอาหารจากข้างนอกเข้ามารับประทานทาน ก็ต้องใช้ตำแหน่งผู้จัดการทีมฟุตบอล ไปเจรจากับผู้บริหารโรงแรม จนสุดท้ายทีมฟุตบอลชุดนั้น สามารถกินอาหารได้ในเวลาที่กำหนดภายในห้องประชุมทีม ที่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของโรงแรมที่พักคอยดูแลอย่างเข้มงวด

หรืออย่างในช่วงที่ ขจร เจียรวนนท์ ทำหน้าที่ผู้จัดการทีมชาติไทยชุดใหญ่ เขาก็ได้เข้ามาเติมเต็มด้วยการนำนักโภชนาการและพ่อครัว มาดูแลเรื่องอาหารการกินโดยเฉพาะ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เหนือบ่ากว่าแรง เพราะเขาก็เป็นผู้บริหารธุรกิจหนึ่งในเครือซีพี ที่มีคอนเน็กชันและพื้นฐานความเข้าใจด้านนี้อยู่แล้ว

แต่พอไม่มีคนกลางมาคานอำนาจ หรือช่วยดูแลเติมเต็มในส่วนอื่น ๆ ก็เห็นได้ชัดว่า ทีมชาติไทยเริ่มประสบปัญหาในการเรียกผู้เล่นเข้ามาเก็บตัวฝึกซ้อม หรือการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้ายามที่มีปัญหา จึงไม่สามารถทำได้ด้วยคนที่อยู่หน้างานเสมอไป

บอลไทยยุคผู้จัดการแป้ง

แน่นอนว่าตลอด 4 ปีที่ทดลองยกเลิกระบบผู้จัดการทีมคนนอก ทางสมาคมฯ เองก็คงพอมองเห็นข้อดีข้อเสียของการไม่มีคนกลางมาคั่น 

เพราะระหว่างทางนั้น สมาคมฯ ก็เคยมีการแต่งตั้งบุคคลภายนอกมาทำหน้าที่ "ผู้อำนวยการทีมชาติไทย" ซึ่งเป็นบทบาทที่คล้าย ๆ กับ "ผู้จัดการทีม" เพียงแต่อาจไม่ได้ออกหน้าออกตามากเหมือนในอดีตที่ ผู้จัดการทีม มีพื้นที่สื่อและทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของทีมไปด้วยในตัว

รวมถึงปัญหาคลาสสิก อย่างการเรียกผู้เล่นเข้ามาเก็บตัวฟิตซ้อมในแคมป์ ก็ดูจะไม่ราบรื่นเหมือนสมัยที่บอลไทยบูมใหม่ ๆ จุดนี้จะโทษสโมสรเองก็คงไม่ได้ เพราะพวกเขาเป็นคนที่ลงทุนกับนักเตะและจ่ายค่าจ้างในเม็ดเงินที่สูง

ดังนั้นถ้ามองในมุมของสโมสรอาชีพ พวกเขาก็มีสิทธิ์ที่จะรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง ในการจะเลือกส่งหรือปล่อยนักบอลของตัวเองไปเล่นทีมชาติ โดยเฉพาะกับทัวร์นาเมนต์ที่ไม่ใช่แมตช์ฟีฟ่า เดย์ หรือการแข่งขันนั้นที่ทับซ้อนกันกับโปรแกรมบอลลีก บอลถ้วย  

เรื่องนี้ส่งผลต่อการทำงานของโค้ช อย่างในกรณีล่าสุด อากิระ นิชิโนะ ที่เพิ่งแยกทางกับทีมชาติไทย เปิดใจยอมรับว่า ที่ผ่านมา เขามีปัญหาในเรื่องของการเรียกผู้เล่นมาใช้งาน และพบเจออุปสรรคในระหว่างช่วงที่เรียกนักบอลเข้าแคมป์ จนทำงานได้ไม่เต็มที่อย่างที่เขาคิดไว้ 

ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า ในวัฒนธรรมสังคมการทำงานแบบบ้านเรา มันยังมีเรื่องความเกรงอกเกรงใจกันอยู่

ดังนั้นการตัดสินใจกลับลำหันมาใช้ระบบผู้จัดการทีมคนนอกในรอบนี้ของ สมาคมฯ จึงมีนัยว่า สมาคมมองเห็นแล้วว่า ผู้จัดการทีมคนนอก คือสิ่งที่จำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ โควิด-19 ส่งผลกระทบด้านการเงินต่อองค์กรกีฬาทั่วโลก ไหนจะเรื่องมูลค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ที่ชุลมุนวุ่นวายกันมาสักพักใหญ่ ๆ 

สมาคมฯ จึงตัดสินใจทาบทาม "มาดามแป้ง" นวลพรรณ ล่ำซำ นักธุรกิจหญิง ผู้เคยทำหน้าที่ ผู้จัดการทีมฟุตบอลหญิงทีมชาติไทยมายาวนานนับสิบปี มารับบทผู้จัดการทีมชาติไทยชุดใหญ่และชุด U-23 โดยให้อำนาจในการเลือก "เฮดโค้ชคนใหม่" ได้อีกด้วย 

ซึ่งเป็นอำนาจที่เพิ่มเติมขึ้นมามากกว่า ตอนช่วงปีที่ สมาคมฯ ยุคบิ๊กอ๊อด ใช้ระบบผู้จัดการทีมคนนอก ในตอนนั้นมีการบอกชัดเจนว่า ผู้จัดการทีม จะไม่มีสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ฝึกสอนหรืองานด้านเทคนิค เพราะเป็นส่วนที่สมาคมฯ รับผิดชอบ

เหตุผลที่สมาคมฯ เลือกมาดามแป้ง นอกเหนือจากเรื่องประสบการณ์ที่เคยทำตำแหน่งนี้มาแล้ว เธอยังมีความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน ทั้ง พลังด้านการเงินที่หลายคนคุ้นเคยกับกิตติศัพท์ ความใจถึง ใจใหญ่ ในตอนที่เธอดำรงตำแหน่งผู้จัดการทีมฟุตบอลหญิง

รวมถึงคอนเน็กชันที่สามารถเข้ากับทุกขั้ว เพราะเธอเป็นผู้จัดการทีมคนเดียวจากยุคของ วรวีร์ มะกูดี ที่ไม่ถูกปลดออกจากตำแหน่ง เมื่อขั้วในสมาคมฯ เปลี่ยนมาเป็น พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง แถมยังดำรงต่อไปยาว ๆ แม้สมาคมฯ มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายยกเลิกผู้จัดการทีมคนนอกไปแล้วก็ตามที 

นวลพรรณ ได้อยู่ในตำแหน่งจนถึงวันที่เธอตัดสินใจลาออก และก้าวลงจากบทบาทผู้จัดการทีมฟุตบอลหญิงทีมชาติไทยด้วยตัวเอง ไม่ใช่ถูกปลดแต่อย่างใด 

ดังนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่า สมาคมฯ เชื่อมั่นในตัวของนายหญิงคนนี้มากสำหรับบทบาทนี้ ถึงได้กลับมารื้อฟื้นระบบผู้จัดการทีมคนนอก และมอบอำนาจในการตัดสินใจเลือกทีมงานโค้ชแก่เธออีกด้วย เพื่อให้การทำงานระหว่างโค้ช สมาคม และสโมสร เป็นไปอย่างราบรื่นไม่ติดขัด

สังคม วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมต่าง ๆ ยังเป็นองค์ประกอบที่หลอมให้แต่ละชาติ มีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไป 

เราคงไม่สามารถบอกได้ว่า โมเดลผู้จัดการทีมชาติ แบบไหนถึงจะเหมาะกับ ทีมชาติไทย มากที่สุด เพราะด้วยบรรยากาศ ความเป็นอยู่ของฟุตบอลแต่ละชาติ ย่อมมีความแตกต่างกัน
มันคงเป็นเรื่องยากหากจะบอกว่า ผู้จัดการทีมชาติที่ไม่ได้มาจากคนนอก จะเป็นสูตรสำเร็จสำหรับฟุตบอลไทยยุคใหม่ที่มีการผลัดเปลี่ยนยุคสมัย

เช่นกันหากจะบอกว่า ถ้าเรากลับไปมี ผู้จัดการทีมคนนอก แบบเดิม ๆ จะช่วยทำให้ผลงานดีขึ้น ก็อาจจะเป็นเรื่องเกินไปสักนิด เพราะผู้จัดการทีม ก็เป็นเพียงแค่ตำแหน่งหนึ่งเท่านั้น ที่มีบทบาทหน้าที่ในการดูแล สนับสนุนทีมให้ดีขึ้น… 

แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดของฟุตบอล ที่จะเนรมิตทุกอย่างในสนามได้ขนาดนั้น ตราบใดที่ฟุตบอลยังเล่นกันข้างละ 11 คนเท่ากัน และผู้จัดการก็ไม่ได้ลงไปเตะในสนามด้วยตัวเองเป็นคนที่ 12 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook