ยูโดพาราลิมปิกฉบับแดร์เดวิล : ผู้พิการทางสายตากับศิลปะการป้องกันตัว
ลองทบทวนกันก่อนว่าบรรดาตัวละครที่พิการทางสายตาจากกระแสป๊อปคัลเจอร์มีใครบ้าง ?
เชอร์รุท อิมเว (แสดงโดย ดอนนี่ เยน) จาก Rogue One : A Star Wars Story, อาร์ย่า สตาร์ค (แสดงโดย เมซี่ วิลเลี่ยมส์) จาก Game of Thrones ซีซั่น 5, อีไล (แสดงโดย เดนเซล วอร์ชิงตัน) จาก The Book of Eli และที่โด่งดังที่สุด คือ แมตต์ เมอร์ด็อค หรือ แดร์เดวิล (แสดงโดย ชาร์ลี ค็อกซ์ ในเวอร์ชั่นทีวีซีรี่ส์ และ เบน แอฟเฟล็ก ในฉบับภาพยนตร์) จาก Daredevil
ตัวละครเหล่านี้นอกจากจะมีปัจจัยร่วมที่เป็นผู้พิการทางสายตาเหมือนกันแล้ว พวกเขายังเป็นนักสู้ตัวยงที่ดูจะไม่ค่อยมีปัญหากับเรื่องชกต่อยแม้ว่าตัวเองจะมองไม่เห็นก็ตาม เพราะบางทีสายตาไม่เกี่ยวก็ใส่เดี่ยวได้หมดเหมือนกัน
แต่เคยสงสัยกันไหมว่าผู้พิการทางสายตาเขาต่อสู้กันอย่างไร ? เพราะรู้หรือไม่ว่า เรื่องการใช้กำลังของผู้พิการทางสายตานั้นสามารถพบได้ในชีวิตจริงผ่านกีฬาที่ชื่อว่า ยูโด พาราลิมปิก กีฬาศิลปะการป้องกันตัวที่มีกฎเฉพาะว่าผู้เข้าแข่งขันต้องเป็นผู้พิการทางสายตาเท่านั้น
อาจจะไม่ได้รุนแรงหรือเกินจริงไปเหมือนในหนัง แต่เรื่องของการฝึกฝนการใช้ประสาทสัมผัสและไหวพริบของนักกีฬายูโด พาราลิมปิก อาจช่วยให้เราเข้าใจกลไกร่างกายของผู้พิการทางสายตามากขึ้นก็เป็นได้
Main Stand ชวนมาค้นหาคำตอบไปด้วยกัน
Man Without Fear
ถึงจะเป็นแค่ตัวละครสมมุติ แต่จากรายชื่อทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น แมตต์ เมอร์ด็อค หรือ แดร์เดวิล ซูเปอร์ฮีโร่จากมาร์เวล คอมิกส์ ก็ดูมีแนวโน้มใกล้เคียงความเป็นมนุษย์มากที่สุด หากอ้างอิงจากเวอร์ชั่นที่ถูกดัดแปลงเป็นทีวีซี่รีส์ที่ออกฉายทางช่อง Netflix
Photo : marvel.com
ก่อนที่จะกลายมาเป็นแดร์เดวิล แมตต์ เมอร์ด็อค ในวัยเด็ก ประสบอุบัติเหตุจากการเข้าไปช่วยเหลือคนแก่ก่อนที่จะโดนรถที่บรรทุกสารกัมมันตรังสีชน ส่งผลให้เขาต้องเป็นคนรับเคราะห์แทน สารกัมมันตรังสีรั่วโดนตาของแมตต์ ส่งผลให้เขาตาบอดมานับแต่นั้น อย่างไรก็ตาม ผลจากสารกัมมันตรังสี ได้ช่วยให้เขาได้รับพลังบางอย่างกลับมา นั่นคือการขยายประสาทการรับรู้รอบด้านให้เฉียบคมกว่าเดิม เสมือนมีเรดาร์อยู่รอบตัว ที่แม้จะมองไม่เห็น แต่เขาก็สามารถรับรู้ได้ว่าใครทำอะไรรอบตัวเขาบ้าง
แมตต์ เติบโตมาในครอบครัวที่มีแต่พ่อ ผู้ประกอบอาชีพเป็นนักมวยและตามสเต็ปของเรื่องราวแบบ "เส้นทางฮีโร่" พ่อของแมตต์ถูกฆาตกรรมโดยกลุ่มแก๊งนักเลง เนื่องจากพ่อของเขาไม่ยอมล้มมวยในการชกครั้งหนึ่ง เหตุการณ์นั้นส่งผลให้แมตต์ตัดสินใจเป็นซูเปอร์ฮีโร่เมื่อเติบโตขึ้น โดยใช้ชื่อว่า "แดร์เดวิล" ดูแลพื้นที่ เฮลส์ คิตเชน แห่งมหานครนิวยอร์กในตอนกลางคืน ส่วนกลางวันเป็นทนายความผู้พิการทางสายตาฝีมือฉกาจโดยใช้ชื่อจริงของเจ้าตัว
แดร์เดวิล ถือกำเนิดขึ้นในปี 1964 จากการสร้างสรรค์ของ สแตน ลี (Stan Lee) บิดาแห่งวงการคอมิกส์ผู้ล่วงลับและ บิล เอเวอร์เร็ต (Bill Everett) นักวาดการ์ตูนฝีมือดีแห่งสำนักมาร์เวลคอมิกส์อีกหนึ่งคน พวกเขาได้ให้กำเนิดซูเปอร์ฮีโร่ผู้พิการทางสายตาคนแรกของโลกขึ้นมา และมักจะถูกจดจำในชื่อ "บุรุษผู้ไร้ความกลัว" (Man Without Fear) โดยพวกเขาไม่ได้ตั้งใจที่จะให้แดร์เดวิลเป็นตัวแทนของผู้พิการทางสายตาในตอนแรกด้วยซ้ำ แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับมานั้นไปไกลเกินกว่าที่พวกเขาคาดหวังไว้มาก
Photo : marvel.com
สแตน ลี เคยออกมาพูดถึงความกังวลของเขาที่มีต่อตัวละครดังกล่าวในปี 2018 ว่าจะไปทำให้คอมมูนิตี้ของผู้พิการทางสายตานั้นดูไม่ดีหรือไม่ ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต
"สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมเป็นกังวลมากเกี่ยวกับแดร์เดวิล คือ ผมสงสัยว่าคนตาบอดจะรู้สึกเคืองต่อเรื่องนี้หรือไม่ เพราะว่าพวกเราสร้างตัวละครนี้ออกมาให้เวอร์เกินจริงไปมากเกี่ยวกับสิ่งที่คนตาบอดสามารถทำได้ เกินไปจนพวกเขาอาจจะคิดว่าเราทำให้พวกเขาดูตลก"
อย่างไรก็ดี สแตน ลี ก็ได้รู้ว่าจริง ๆ แล้วพวกเขาคิดเห็นกันอย่างไร หลังจากที่ได้รับกระแสตอบรับอย่างดีจากแฟน ๆ ที่เป็นผู้พิการทางสายตา
"ผมรู้สึกเป็นปลื้มมากเลย หลังจากที่มีการตีพิมพ์หนังสือการ์ตูนออกไป เราเริ่มได้รับจดหมายจากมูลนิธิคนตาบอด อย่าง Lighthouse for the Blind ที่นิวยอร์ก ในจดหมายบอกว่า 'เราได้อ่านเรื่องราวพวกนี้ให้คนตาบอดฟัง และพวกเขาก็รู้สึกดีใจที่มีซูเปอร์ฮีโร่ที่เป็นมองไม่เห็นเหมือนกับพวกเขา' พอได้ยินแบบนี้ล่ะไอ้หนุ่มเอ๊ย ผมรู้สึกปลื้มเป็นบ้า"
Photo : DaredevilMovie
แดร์เดวิล เคยถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์มาแล้วครั้งหนึ่งในปี 2003 มีชื่อไทยว่า "มนุษย์อหังการ" นำแสดงโดย เบน เอฟเฟล็ก ภายใต้การสร้างของสตูดิโอ 20th Century Fox แต่ภาพยนตร์ดังกล่าวไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไรนัก เรตติ้งความนิยมอยู่ในระดับกลาง ๆ ค่อนไปทางแย่ แต่แล้วแดร์เดวิลก็ถูกชุบชีวิตใหม่ขึ้นมาอีกครั้งในรูปแบบของทีวีซีรี่ส์ในปี 2015 ที่ถูกผลิตลงฉายทาง Netflix โดยเฉพาะ เมื่อลิขสิทธิ์กลับไปอยู่กับมาร์เวล เวอร์ชั่นนี้นำแสดงโดย ชาร์ลี ค็อกซ์ และได้รับกระแสตอบรับดีอย่างมหาศาล จนถูกผลิตออกมาด้วยกันถึง 3 ซีซั่น
ปัจจัยหลักที่ทำให้แดร์เดวิลเวอร์ชั่นปี 2015 ประสบความสำเร็จก็คือ วิธีการดำเนินเรื่อง ตัวละคร และ "ความเรียล" ของความรุนแรง ที่เจ็บกันไปถึงอวัยวะภายใน และการนำเสนอภาพลักษณ์ของผู้พิการทางสายตาที่ค่อนข้างถูกต้อง จนส่งผลให้ ชาร์ลี ค็อกซ์ พระเอกของเรื่อง ได้รับการยกย่องจากมูลนิธิคนตาบอดอเมริกันในปี 2017
ภาพของคนตาบอดตอนต่อสู้นั้นเป็นยังไง ลองดูซีรี่ส์แดร์เดวิลเป็นตัวอย่าง
ประสาทสัมผัสแบบเรดาร์ ?
แดร์เดวิลเวอร์ชั่นปี 2015 บอกอะไรกับเราบ้างเกี่ยวกับเรื่องการต่อสู้และประสาทสัมผัสของคนตาบอด
แดร์เดวิล เป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่ไม่ได้มีพลังร่างกายเหนือมนุษย์ เขาบินไม่ได้ ไม่มีพลังจิต มีเพียงประสาทสัมผัสอันดีเลิศกับร่างกายที่กำยำจากการออกกำลังกาย มีโครงสร้างเหมาะแก่การเป็นนักกายกรรม เขาเคลื่อนไหวร่างกายไปบนตึกผ่านการใช้อุปกรณ์อย่างเชือกหรือท่อนกระบอง และมักจะใช้เสียง เป็นตัวนำทางในการเคลื่อนไหวในแต่ละครั้ง
Photo : themarvelousmadames
แปลกแต่จริงที่มีคนทำการศึกษาเรื่องนี้ไว้อย่างจริงจัง มีการอธิบายไว้ในหนังสือเรื่อง "See What I'm Saying: The Extraordinary Powers of Our Five Senses" ในปี 2010 ของนักจิตวิทยา ด็อกเตอร์ ลอว์เรนซ์ โรเซนบวม ที่กล่าวไว้ว่า บางครั้งประสาทการรับรู้ของเราถูกนำด้วยเสียงมากกว่าภาพ มนุษย์ถูกนำทางด้วยเสียงในทางอ้อมและในบางครั้งเราก็ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ ด็อกเตอร์ลอว์เรนซ์ยกตัวอย่างจากการรีบเร่งออกไปทำงานตอนเช้า ที่เป็นกิจวัตรของผู้คนในทุก ๆ วัน
"ดวงตาและสติสัมปชัญญะส่วนมากของคุณมักจะถูกครอบงำด้วยสิ่งอื่นจนทำให้วอกแวกได้เสมอ บางครั้งการเดินทางของคุณจึงมักจะถูกนำด้วยเสียงเป็นหลัก และทุก ๆ ครั้งที่คุณพยายามหลีกเลี่ยงการทำอะไรที่เสียงดังในแต่ละวัน เป็นเพราะคุณสามารถรับรู้ได้ว่ามันจะส่งเสียงอย่างไรจากความจำของคุณเอง"
กล่าวคือ เราจะจดจำเสียงของสิ่งของในชีวิตประจำวันของเราได้ อย่างเช่น เสียงปิดประตู เสียงเลื่อนเก้าอี้ เสียงการกระทบกันของเครื่องใช้ในบ้าน ที่บางครั้งเรายังไม่ทันได้ทำอะไร เราก็ได้ยินเสียงนำมาก่อนแล้ว เพราะเราจำได้ เป็นต้น
ประสาทสัมผัสของมนุษย์มีความคล้ายคลึงกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อาทิ ค้างคาวหรือโลมา ที่อาศัยเสียงสะท้อนในการนำทางให้แก่ตนเอง แต่ของมนุษย์จะแตกต่างกัน โดยเราไม่จำเป็นต้องอาศัยเสียงในการเคลื่อนที่ทั้งหมด เพราะเราสามารถใช้สายตาในการช่วยได้ เว้นแต่กรณีสำหรับผู้พิการทางสายตา
เรื่องการใช้เสียงเสมือนเป็นตัวเปิดประสาทสัมผัสของผู้พิการทางสายตาไปไกลกว่านั้น เมื่อมีคนที่สามารถพัฒนาทักษะของประสาทสัมผัสโดยการใช้เสียงจากปาก อย่าง แดเนียล คิช (Daniel Kish) ผู้พิการทางสายตาตั้งแต่อายุประมาณ 1 ขวบ ชาวอเมริกัน ประธานของ "World Access for the Blind" องค์กรณ์ไม่แสวงผลกำไรสำหรับผู้พิการทางสายตา แดเนียล สามารถฝึกทักษะการใช้คลื่นเสียงโซนาร์ที่มาจากการกระดกลิ้นของตนเองได้
Photo : everwideningcircles
เมื่อเขากระดกลิ้น คลื่นเสียงจะไปกระทบกับวัตถุแล้วสะท้อนกลับมาที่ตัวเขา การทำแบบนี้จะทำให้แดเนียลสามารถรับรู้ถึงสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวขณะนั้นได้ ถึงขนาดที่เขาสามารถปั่นจักรยานบนถนนได้เลยด้วยซ้ำ
ว่ากันว่าประสาทสัมผัสของผู้พิการทางสายตานั้นไวกว่าคนทั่วไป เพราะพวกเขาเป็นคนที่ไวต่อการสัมผัสมากกว่า จากการศึกษาและตีพิมพ์ลงในวารสารประสาทวิทยาของนักวิจัยในมหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ ประเทศแคนาดา ในปี 2010
ทางมหาวิทยาลัยได้จัดกลุ่มผู้เข้าร่วมทดสอบประสาทสัมผัสขึ้น โดยมีผู้พิการทางสายตาจำนวน 57 คน และคนที่มีสายตาปกติจำนวน 89 คน วิธีการทดสอบคือให้ผู้เข้าร่วมนำนิ้วไปวางบนหมุดขนาดเล็ก เพื่อวัดผลความแม่นยำ ผลการทดลองออกมากลับกลายเป็นว่า 22 คนจากผู้พิการทางสายตา สามารถนำนิ้วไปวางบนหมุดได้ทันทีอย่างไม่พลาด จนผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจกว่าคนที่มีสายตาปกติ
ใจความสำคัญหลักของการทดลองนี้ คือการสังเกตความไวของการสัมผัส ที่สามารถฝึกฝนได้จากการฝึกการใช้ร่างกายในการสัมผัสอยู่เสมอ แดเนียล โกลด์ริช (Daniel Goldrich) หัวหน้าทีมนักวิจัยที่ได้ทำการทดสอบครั้งนี้เปิดเผยกับนิตยสาร Science Daily ในเวลาต่อมาว่า
"การศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่า สมองมีวิธีเรียนรู้ที่จะปรับตัวอย่างไรหากถูกลดทอนประสิทธิภาพในการมองเห็นลง คำตอบคือมันจะไปเพิ่มความไวต่อการสัมผัสแทน"
งานวิจัยดังกล่าวยังได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย ถือเป็นการศึกษาที่มีคุณค่า ด็อกเตอร์ ริชาร์ด เฮลด์ แห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและการพัฒนาสายตา ได้ยกย่องงานวิจัยชิ้นนี้ว่าอาจจะทำให้เราเข้าใจปฏิกิริยาของร่างกายจากการใช้ประสาทสัมผัสมากขึ้นก็เป็นได้
กล่าวโดยสรุป คือ การขาดความสามารถในการมองเห็น จะไม่ได้เข้าไปเพิ่มประสิทธิภาพประสาทสัมผัสของร่างกายให้ดีขึ้นแบบทันทีแต่อย่างใด ผู้พิการทางสายตาไม่ได้มีเรดาร์เซนส์แบบแดร์เดวิลที่เราเห็นในซีรีส์ แต่เป็นการฝึกการสัมผัสอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นกับวัตถุต่าง ๆ หรือการอ่านหนังสืออักษรเบรลล์ ก็สามารถเพิ่มความแม่นยำที่มาจากความคุ้นเคยได้ เหมือนกับการหมั่นฝึกฝนการใช้ร่างกายนั่นเอง
แต่ถ้าเป็นกรณีของนักกีฬาผู้พิการทางสายตา สิ่งที่ต้องหมั่นฝึกฝนไม่ใช่แค่เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ต้องใช้เพื่อการแข่งขันด้วยจะต่างไปอย่างไร ?
ความเร็วเป็นต่อ ไหวพริบดีเป็นต่อกว่า
การแข่งขันยูโดพาราลิมปิก ถูกจัดขึ้นครั้งแรกในปี 1988 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ สำหรับผู้ชายและสำหรับผู้หญิงในปี 2004 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ผู้เข้าแข่งขันทุกคนจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน นั่นคือการเป็นผู้พิการทางสายตา ที่มีทั้งคนที่ไม่สามารถมองเห็นได้เลย (Blind) และมองเห็นแบบเลือนราง (Partially Sighted) แบ่งเป็นคลาส บี 1 ที่ไม่เห็นเลย, บี 2 ไม่เห็นแต่ค่อนไปทางเห็นเลือน และ บี 3 คือสามารถเห็นได้แบบเลือนราง
ยูโด เป็นกีฬาประเภทศิลปะการป้องกันตัวที่ถือกำเนิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 คำว่า "ยูโด" มีความหมายคือ "วิถีอ่อนโยน" เป็นกีฬาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของพลังกาย พลังใจ การให้ความเคารพต่อกัน เน้นไปที่การเคลื่อนไหวที่แม่นยำ วิธีการชนะคือ จะต้องจับนักกีฬาฝ่ายตรงข้ามทุ่มลงกับพื้นในลักษณะจับหน้าคว่ำลง แล้วล็อกไว้ บนเสื่อขนาด 10x10 เมตร การแข่งขันจะจำแนกนักกีฬาผ่านความต่างของน้ำหนักตัว
การแข่งขันยูโดพาราลิมปิกจึงต้องอาศัยทั้งความเร็วและพละกำลังมหาศาลในการเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบกว่า ใครที่ถึงตัวก่อนและมีกำลังมากกว่า ก็มีโอกาสที่จะจับทุ่มได้ก่อน การทำคะแนนสูงสุดของยูโดจะเรียกว่า "อิปโป้ง" การจะได้อิปโป้งจะพิจารณาจาก 4 ปัจจัย คือ 1.ความสามารถในการควบคุมฝ่ายตรงข้าม 2.การจับฝ่ายตรงข้ามให้หลังตกลงบนเสื่อได้ 3.ความแรง และ 4.ความเร็ว
เดิมทีเงื่อนไขเดิมก็มีความท้าทายอยู่ในระดับหนึ่ง แต่สำหรับนักกีฬายูโดพาราลิมปิกที่พิการทางสายตา สิ่งที่พวกเขาจะต้องมีด้วยคือไหวพริบที่ดี ที่ได้จากการสัมผัสร่างกายคู่ต่อสู้
นักกีฬายูโดพาราลิมปิกหญิงทีมชาติสหรัฐอเมริกา คริสเตลล่า การ์เซีย (Christella Garcia) เปิดเผยความรู้สึกกับ AFP หลังการแข่งขันยูโดพาราลิมปิกที่ ริโอ เดอ จาเนโร เมื่อปี 2016
"คุณจับไปที่ร่างกายของฝ่ายตรงข้ามและสัมผัสถึงการเคลื่อนไหวของเขา มันอยู่ที่ว่าใครอยากได้ชัยชนะมากกว่ากัน"
Photo : paralympic
นอกจากนี้ ยังมี นาโอมิ โซอาโซ (Naomi Soazo) นักกีฬายูโดพาราลิมปิกหญิงทีมชาติเวเนซุเอลา เจ้าของเหรียญทองยูโดพาราลิมปิกปี 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน และเหรียญทองแดงจากพาราลิมปิก ริโอ 2016 ที่กล่าวถึงเรื่องนี้เช่นเดียวกันว่า การเคลื่อนไหวมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะทำให้พวกเขาจับจังหวะของฝ่ายตรงข้ามได้
"เมื่อคุณจับพวกเขา คุณจะรู้สึกถึงการเคลื่อนไหว หลังจากนั้นคุณก็จะเริ่มรู้โดยสัญชาตญาณว่าพวกเขาจะไปทางไหนต่อ"
เรื่องความแข็งแรงของร่างกายจะไม่ค่อยมีความแตกต่างกันมากนักกับยูโดแบบปกติ แต่เทคนิคและวิธีการที่ใช้ฝึกนักกีฬายูโดพาราลิมปิกที่สำคัญที่สุดจะขึ้นอยู่กับ "เสียง" เพราะการที่นักกีฬาไม่สามารถมองเห็นได้หรือมองเห็นได้น้อยจะต้องอาศัยเสียงในการบอกทิศทางเป็นหลัก การฝึกแต่ละครั้งโค้ชจึงจำเป็นจะต้องอธิบายเทคนิคอย่างละเอียด ทุ่มแบบไหน จับด้านในหรือด้านนอก ขาซ้ายหรือขาขวา เป็นต้น
และในการฝึกบางครั้ง โค้ชมักจะให้นักกีฬาเปล่งเสียงออกมา เพื่อให้รับรู้ตำแหน่งที่ตนเองยืนอยู่ เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขายังอยู่บนเสื่อ เพราะนักกีฬาแต่ละคนมีการรับรู้ต่อพื้นที่ต่างกันออกไป
เอ็ดดี้ ลิดดี้ โค้ชยูโดพาราลิมปิก อดีตนักกีฬายูโดโอลิมปิกทีมชาติสหรัฐอเมริกา ได้อธิบายถึงการฝึกเอาไว้ว่า
"ผมเคยคุ้นเคยกับการฝึกแบบปกติ การฝึกแบบนี้ทำให้ผมได้เรียนรู้ว่าเราต้องจับร่างกายของเขาอย่างไร วางท่าอย่างไร และที่เหลือก็ให้พวกเขาฝึกซ้ำ ๆ วนไปเรื่อย ๆ"
นักกีฬายูโดพาราลิมปิกทีมชาติสหรัฐอเมริกาลูกศิษย์ของเขา ดาร์ตานยอน คร็อกเก็ต (Dartanyon Crockett) ที่เคยเข้าแข่งขันใน ริโอ เดอ จาเนโร พาราลิมปิกเมื่อปี 2016 และชนะเหรียญทองแดง เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับสำนักข่าว AFP ว่า
"การแข่งขันยูโดสำหรับผู้พิการทางสายตา ก็เหมือนกับการเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่น่ากลัวและไม่น่าสบายใจ"
"แต่นั่นก็หมายถึงการออกจากคอมฟอร์ตโซนของตัวเองเหมือนกัน"
เป็นที่ชัดเจนว่าผู้พิการทางสายตาต้องอาศัยประสาทสัมผัสรอบด้าน เมื่อถูกจำกัดการมองเห็น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะมีศักยภาพที่ด้อยกว่านักกีฬาทั่วไป
สิ่งที่ได้จากแดร์เดวิลไม่ใช่เทคนิคการต่อสู้กับเหล่าวายร้ายในยามค่ำคืนหรือการเคลื่อนไหวอย่างผาดโผนไปตามตึก หากแต่เป็นความเข้าใจในผู้พิการทางสายตาที่มากขึ้น ที่หลายคนก็อาจจะไม่เคยรู้มาก่อนเลยก็เป็นได้
"ฉันไม่ได้มองว่าการพิการทางสายตานั้นทำให้ฉันด้อยกว่าคนอื่น สิ่งนี้มันก็เป็นอีกแค่หนึ่งในคุณลักษณะของฉันเท่านั้น ฉันเป็นผู้หญิง ฉันมีผมสีดำ ฉันชอบคัพเค้ก"
"และฉันตาบอด"
คริสเตลล่า การ์เซีย กล่าวอย่างภาคภูมิใจ
การแข่งขันยูโดพาราลิมปิก ที่โตเกียวพาราลิมปิก 2020 จะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 27-29 สิงหาคม 2020 ที่สนามยูโดนิปปอนบูโดคัง กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น สำหรับทีมชาติไทย มีผู้เข้าแข่งขัน 1 คน ได้แก่ "อ๋อม" เมทินี วงษ์ชมภู นักกีฬาประเภทคลาส บี 1 รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 52 กิโลกกรัม ภายใต้การดูแลของ "โค้ชโต้ง" ภาคภูมิ เทียนทอง
อ๋อม เคยได้รางวัลรองแชมป์ระดับภูมิภาคเอเชีย 2 สมัย ในปี 2018 และ 2019 และขณะนี้กำลังเก็บตัวฝึกซ้อมอย่างหนัก ร่วมเป็นกำลังใจให้เธอสำหรับการแข่งขันได้ในเร็ว ๆ นี้