"รันนิ่ง เบลด" : ส่งเสริมนักกีฬาหรือลดทอนคุณค่าการแข่งขัน?
จริงหรือไม่ ที่การใช้ขาเทียมในการแข่งขันกรีฑา นอกจากจะทำให้นักกีฬาเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องตัวมากขึ้นแล้ว ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่นักกีฬา โดยเฉพาะในเรื่องของความเร็ว?
เป็นความจริงที่การใช้ขาเทียมเช่นนี้ทำให้นักกีฬามีความสะดวกและคล่องตัวมากขึ้น แต่บางครั้งก็อาจจะดีเกินไปจนทำให้หลายคนมองข้ามความสามารถของตัวนักกีฬาไป ?
อุปกรณ์ที่ตกเป็นประเด็นสำหรับการถกเถียงที่สำคัญที่สุดได้แก่ เทคโนโลยีขาเทียมสำหรับนักกีฬาประเภทลู่และลาน ที่ชื่อว่า "The Flex-Foot" หรือมีชื่อเล่นว่า "Running Blade" เพราะมีลักษณะเหมือนใบมีด และถูกนำมาใช้บ่อยครั้งในการแข่งขันพาราลิมปิก
อุปกรณ์ดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัทหลายเจ้าและมีการนำมาใช้กันอย่างจริงจัง ถึงขนาดที่ในหมู่บ้านนักกีฬาในโตเกียวมีศูนย์ซ่อมบำรุงขาเทียม เพื่อคอยดูแล ปรับปรุง ให้อุปกรณ์มีความพร้อมอยู่ตลอดเวลา
การนำอุปกรณ์ดังกล่าวมาใช้ในการแข่งขันนำไปสู่คำถามที่น่าสนใจว่า แท้จริงแล้วการใช้ขาเทียมประเภทนี้ ทำให้การแข่งขันยุติธรรมหรือไม่ ? ชัยชนะที่นักกีฬาได้รับเป็นผลผลิตของความมุมานะหรือความล้ำสมัยทางเทคโนโลยีกันแน่ ?
Main Stand ขอชวนมาหาคำตอบไปด้วยกัน
Work It, Make It, Do It, Makes Us
ว่ากันว่าขาเทียมชนิดนี้คือนวัตกรรมแห่งอนาคต ด้วยความที่สร้างมาจากคาร์บอนไฟเบอร์ ประกอบกับลักษณะการออกแบบที่มีลักษณะโค้ง ทำให้ผู้สวมใส่สามารถเคลื่อนตัวได้อย่างคล่องแคล่ว ว่องไว โดยประวัติความเป็นมาของ รันนิ่ง เบลด นั้นสามารถย้อนกลับไปดูได้ตั้งแต่ทศวรรษ 1970s
รันนิ่ง เบลด ถูกคิดค้นขึ้นโดย วาน ฟิลลิปส์ (Van Phillips) นักประดิษฐ์ผู้พิการชาวอเมริกัน ที่ประสบอุบัติเหตุจากการเล่นสกีน้ำ เขาเสียขาไปจากการโดนเรือยนต์ชน และต้องเฉือนขาซ้ายของเขาออกตั้งแต่เข่าลงไปในปี 1976 ด้วยวัยเพียง 21 ปีเท่านั้น
วาน ยังคงโหยหาชีวิตแบบสปอร์ตไลฟ์สไตล์ เขาตัดสินใจเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนกายอุปกรณ์ ที่เป็นสาขาวิชาแยกย่อยในมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น ในเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ เขาเลือกที่จะไม่ออกแบบอวัยวะเทียมแบบจำลองโครงสร้างขามนุษย์ ในทางกลับกัน เขาเลือกที่จะรื้อดีไซน์ขาเทียมใหม่ทั้งหมด เพราะเขามองว่าขาเทียมที่มีอยู่ ณ ตอนนั้น ทั้งใส่ไม่สบายและมีความเทอะทะ วานจึงอยากได้อะไรที่คล่องตัวมากกว่านั้น
ลักษณะของขาเทียมที่เขาสร้างขึ้นมีลักษณะคล้ายกับใบมีดที่โค้งงอและสามารถสปริงตัวได้ โดยได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างขาเทียมชนิดนี้มาจากการสังเกตพฤติกรรมสัตว์ อย่างเสือชีตาร์และจิงโจ้ อีกทั้งยังศึกษากลไกการทำงานส่วนขาของนักกีฬากระโดดน้ำและนักกีฬากระโดดค้ำถ่ออย่างละเอียด เพื่อดูว่าการดีดตัวโดยใช้ขาของผู้คนเหล่านี้ทำงานอย่างไร
หลังจบการศึกษาที่โรงเรียนกายอุปกรณ์ ในปี 1981 วานประกอบอาชีพเป็นวิศวกรออกแบบอยู่ที่สถาบันวิศวกรรมชีวเวช ในมหาวิทยาลัยยูทาห์ งานทั่วไปของวานตอนนั้นคือการดูแลเรื่องของวัสดุที่ใช้กับขาเทียม ไม่ว่าจะเป็นข้อต่อ วัสดุพื้นผิวที่ใช้ ระหว่างนั้นเขาก็ยังคงสร้างขาใบมีดของเขาเป็นงานอดิเรกไปด้วย
งานประดิษฐ์ของวานยังคงถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องในส่วนของวัสดุ วานเลือกใช้คาร์บอนไฟเบอร์เพราะมีน้ำหนักเบา เขาได้รับคำแนะนำและการช่วยเหลือจากเพื่อนที่ชื่อ เดล อบลิดสคอฟ (Dale Ablidskov) ที่เป็นวิศวกรในสาขาการบินและอวกาศ
"ในคืนที่ผมพบกับเดล ผมก็เริ่มร่างแบบขึ้นมาทันที ระยะเวลาผ่านไปประมาณ 2-3 สัปดาห์ ก็ได้ลองสร้างขาใหม่ขึ้นตามคำแนะนำของเดล และติดเข้าไปที่ขาของตัวเอง เพื่อทดสอบโดยการลองวิ่งไปตามโถงทางเดินไปที่ห้องทำงานของเขา"
"ตอนนั้นผมรู้สึกเป็นอิสระอย่างแท้จริง"
ดังที่กล่าวมาก่อนหน้า ขาเทียมของวานได้แรงบันดาลใจมากจากการเคลื่อนไหวของเสือชีตาร์เป็นหลัก ที่เวลาวิ่ง ขาของเสือจะสร้างรูปขึ้นมาเหมือนอักษรตัว C และส่วนล่างมีลักษณะคล้ายอักษรตัว L เพราะวานออกแบบมาให้มีลักษณะเหมือนกับส้นเท้าของคนที่รองรับน้ำหนัก ขาเทียมของวานจึงถูกออกแบบให้สปริงตัวได้ ผู้ใส่จะสามารถเดินหรือกระโดดได้ ทำให้มีความรู้สึกใกล้เคียงกับการใช้งานขาจริง
หลังจากที่ทำงานไปได้ประมาณ 3 ปี วานก็ออกจากงานประจำในปี 1984 แล้วหอบงานประดิษฐ์ของตัวเองออกมาสร้างบริษัท โดยใช้ชื่อว่า "เฟล็กซ์ ฟุต" (Flex-Foot) และสิ่งประดิษฐ์ชนิดนี้ก็เปลี่ยนโฉมหน้าวงการอวัยวะเทียมได้อย่างยิ่งใหญ่
แต่ในเวลานั้น วานยังไม่รู้ว่า งานประดิษฐ์ของเขาจะไปไกลถึงการแข่งขันพาราลิมปิก
Harder, Better, Faster, Stronger
"งานประดิษฐ์ของ วาน ฟิลลิปส์ ได้เปลี่ยนโฉมหน้าวงการอวัยวะเทียมไปตลอดกาล มันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่มาก"
แพดดี้ รอสบาช ประธานและผู้บริหารของ Amputee Coalition of America องค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้พิการในสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวถึงผลงานของวาน
งานประดิษฐ์ของวานได้เข้าไปมีส่วนช่วยเหลือผู้พิการจำนวนมาก โดยเฉพาะกับคนที่ยังโหยหาสปอร์ตไลฟ์สไตล์แบบเขา เฟล็กซ์ ฟุต ถูกนำไปใช้งานกับกีฬาหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ปีนเขา สกี และที่โด่งดังที่สุดคือการวิ่ง
ในเวลาต่อมา วานได้ขายลิขสิทธิ์เฟล็กซ์ ฟุตของเขาให้แก่บริษัท ออสเซอ (Ossur) บริษัทผู้ดูแลสุขภาพและพัฒนาอวัยวะเทียมจากประเทศไอซ์แลนด์ ในปี 2000 จากการเสนอขอเข้าซื้อโดยบริษัทเพื่อนำไปพัฒนาต่อ ส่วนตัวเขาก็ยังคงใช้เวลาว่างในการพัฒนาขาเทียมรูปแบบต่าง ๆ ต่อไป และพยายามที่จะทำให้ขาเทียมใช้เล่นกีฬาได้หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการโต้คลื่นหรือดำน้ำแบบตื้น
หลังจากออสเซอรับขาเทียมของวานไปดูแลต่อ พวกเขาได้เปลี่ยนชื่อมันเป็น "เดอะ ชีตาห์" (The Cheetah) และมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเพื่อการวิ่งและการกระโดดเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ออสเซอก็ไม่ได้เป็นผู้ผลิตที่ผูกขาดการพัฒนาขาเทียมประเภทนี้เพียงเจ้าเดียว นอกจากออสเซอแล้วยังมี ออตโตบอค (Ottobock) บริษัทพัฒนาอวัยวะเทียมจากสหรัฐอเมริกา และ ไซบอร์ก (XiBorg) บริษัทอวัยวะเทียมจากญี่ปุ่น เป็นอีกสองผู้เล่น
รันนิ่ง เบลด ได้กลายเป็นเทคโนโลยีที่มีการพูดถึงอย่างมากจากการแข่งขันพาราลิมปิกที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อปี 2012 นักวิ่งที่มีชื่อเสียงจากการใส่ขาเทียมประเภทนี้ลงแข่งได้แก่ ริชาร์ด ไวท์เฮด (Richard Whitehead) นักวิ่งทีมชาติสหราชอาณาจักร ผู้พิการที่สูญเสียขาทั้งสองข้างไป เขาคือเจ้าของรางวัลเหรียญทองจากการแข่งขันลอนดอนพาราลิมปิก 2012 และริโอ พาราลิมปิก 2016 ประเภท 200 เมตร และเหรียญเงินจากประเภท 100 เมตร
ริชาร์ด มองว่าอุปกรณ์ดังกล่าวช่วยให้เขาเข้าใกล้ความสำเร็จไปอีกขั้น เพราะอย่างน้อยเขาก็สามารถออกวิ่งได้อีกครั้ง
"ประโยชน์ของขาเทียมใบมีดแบบนี้เหรอ ? ผมว่ามันช่วยสร้างพื้นที่ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จให้กับผม ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่นักกีฬาทุกคนต้องการ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนพิการหรือไม่"
นอกจากริชาร์ดแล้ว ยังมี เจสสิก้า ฮีมส์ (Jessica Heims) นักกีฬาหญิงประเภทลู่และลานทีมชาติสหรัฐอเมริกาที่ใส่รันนิ่ง เบลด เช่นกัน หลังจากที่เธอต้องเสียขาขวาไปตั้งแต่อายุ 1 ขวบ เพราะความผิดปกติทางร่างกาย ส่งผลให้เธอต้องตัดขาข้างที่เล็กกว่าออก รันนิ่ง เบลด ได้กลายเป็นอุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวกให้เธออย่างมหาศาล เพราะเธอแทบไม่ต้องออกแรงเลยด้วยซ้ำ
"ฉันรู้สึกว่าตัวเองกำลังสปรินต์อยู่ ซึ่งจริง ๆ แล้วฉันเพียงแค่วิ่งเหยาะ ๆ เท่านั้น มันรู้สึกต่างออกไป เพราะขามันมีความหนามากขึ้น"
"วันแรกที่ได้ลองใส่ ฉันรู้สึกว่าฉันสามารถวิ่งได้ตลอดไปแบบไม่มีวันหยุดเลย"
แต่ชื่อที่ดูจะสร้างการพูดถึงในตัวของ รันนิ่ง เบลด มากที่สุด คงหนีไม่พ้น ออสการ์ พิสโทเรียส (Oscar Pistorius) ที่ปัจจุบันถูกจำคุกจากคดีใช้ปืนยิง รีวา สตีนแคมป์ นักแสดงและนางแบบ แฟนสาวของตัวเองในห้องน้ำ โดยอ้างความเข้าใจผิด คิดว่าแฟนสาวเป็นคนที่บุกรุกเข้ามาในบ้านของตน (ซึ่งเราคงมีโอกาสได้พูดถึงเรื่องนี้ในภายหลัง)
เพราะก่อนที่ ออสการ์ จะโด่งดังในฐานะฆาตกร เขาเคยเป็นอดีตฮีโร่ประจำทีมชาติแอฟริกาใต้ และถูกจดจำในฐานะนักวิ่งพิการที่เร็วที่สุดในโลก ด้วยความเร็วระดับเหรียญทอง ที่สะสมมาตั้งแต่การแข่งขันพาราลิมปิก ปี 2004 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ จากการวิ่งประเภท 200 เมตร มาถึงปี 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ทั้งประเภท 100 เมตร, 200 เมตร, 400 เมตร และปี 2012 ประเทศอังกฤษ ครั้งสุดท้ายก่อนที่จะเข้าคุกไป ออสการ์ยังคงได้เหรียญทองและเหรียญเงินกลับบ้านไปอย่างง่ายดาย
ความสำเร็จของเขา ทำให้การใช้เทคโนโลยี รันนิ่ง เบลด เป็นที่ถูกพูดถึงในวงกว้าง และได้รับชื่อเล่นจากสื่อว่า "เบลด รันเนอร์"
สิ่งที่ทำให้ชื่อของออสการถูกพูดถึงอย่างมาก คือความพยายามของเขาที่จะกระโดดเข้าไปแข่งขันร่วมกับนักวิ่งปกติในการแข่งโอลิมปิก ด้วยการใช้อวัยวะเทียม เขาเชื่อว่าเขาสามารถทัดเทียมความสามารถกับนักกีฬาปกติได้และเพื่อยกระดับการแข่งขันพาราลิมปิกขึ้นไปอีกขั้น
"ด้วยบุคลิกของออสการ์และความสามารถทางการกีฬาของเขาที่อยากจะเข้าไปลุยกับนักกีฬาโอลิมปิก ทำให้เขาเป็นที่รู้จัก เขาเป็นอีกหนึ่งคนที่อยากสนับสนุนพาราลิมปิกให้ดีขึ้นกว่านี้"
ผู้บรรยายพาราลิมปิกชาวอังกฤษ ที่เฝ้าสังเกตออสการ์มาตั้งแต่ปี 2004 กล่าวถึงความตั้งใจของ เบลด รันเนอร์ ชาวแอฟริกาใต้ ซึ่งที่สุดแล้ว เจ้าตัวก็สามารถเข้าไปแข่งขันในโอลิมปิกได้จริง ๆ ในปี 2012
และความสามารถของ เบลด รันเนอร์ สุดฉาวคนนี้เอง ที่ทำให้เกิดข้อถกเถียงว่าเป็นเรื่องที่สมควรแล้วหรือไม่ที่จะมีการอนุญาตให้ใช้ รันนิ่ง เบลด ในการแข่งขันพาราลิมปิก เพราะมันดูจะไม่ค่อยยุติธรรมสำหรับนักวิ่งธรรมดาเท่าไรนัก
ส่งเสริมหรือลดทอน?
หลังจากที่ความนิยมของการใช้ รันนิ่ง เบลด จะเพิ่มขึ้นในการแข่งขันพาราลิมปิกตั้งแต่ปี 2012 เมื่อการแข่งขันจบลงได้เกิดการถกเถียงกันว่า มีความเหมาะสมแล้วหรือที่จะใช้ขาเทียมประเภทนี้ในการแข่งขัน ? คนที่ไม่เห็นด้วยมักจะมองว่าการใช้ขาเทียมประเภทนี้เป็นการพึ่งพาเทคโนโลยีอย่างสบายเกินไป และไม่ยุติธรรมสำหรับนักกีฬาวิ่งที่ใช้ขาจริง
แม้การใช้ รันนิ่ง เบลด จะช่วยทำให้นักกีฬาวิ่งได้คล่องตัวขึ้นก็จริง เพราะมีน้ำหนักที่เบากว่าขาเทียมแบบอื่น ๆ แต่มันไม่ได้มีส่วนช่วยในการเพิ่มความเร็วแต่อย่างใด กล่าวคือ ความเร็วที่ได้จากการวิ่ง ก็มาจากตัวนักกีฬาเองอยู่ดี ผ่านการทำงานของกล้ามเนื้อส่วนอื่น อาทิ แรงที่ถูกส่งมาจากสะโพก เป็นต้น
เรื่องนี้มีทั้งด้านดีและด้านไม่ดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เดวิด มอร์เกนรอธ (David Morgenroth) ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาเวชศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ได้ออกมาแสดงความเห็น โดยอธิบายถึงหลักการทำงานของ รันนิ่ง เบลด เอาไว้ว่า การทำงานของขาเหล่านี้ มีประโยชน์แม้กระทั่งในเรื่องการเผาผลาญ เวลาขาเหล่านี้ถูกดันออกจากพื้น กล้ามเนื้อส่วนอื่นอาจจะไม่ต้องทำงานหนักเท่ากับนักวิ่งปกติ นอกจากนี้ขาเทียมพวกนี้ยังถูกออกแบบมาเพื่อให้เหมาะกับสภาพร่างกายของนักวิ่งแต่ละคน ทั้งความแข็ง ขนาดและรูปร่างของใบมีด
ในขณะเดียวกันการใช้ขาแบบนี้ก็เหมือนดาบสองคม เพราะการที่อุปกรณ์ถูกปรับแต่งมาแล้ว เวลาเร่งความเร็ว สปีดก็อาจจะไม่ได้ดีเท่ากับนักวิ่งปกติ เหมือนอุปกรณ์ถูกตั้งค่าไว้แบบหนึ่ง แต่ถ้าสมรรถภาพร่างกายของนักกีฬาไปไกลกว่าค่าที่ถูกตั้งไว้ อุปกรณ์ก็จะไม่ได้ช่วยส่งเสริมตามกันไป
นอกจากนี้ จุดประสงค์หลักของการพัฒนา รันนิ่ง เบลด นั้นมีไว้เพื่อการคืนค่าการทำงานของร่างกายให้เทียบเท่าคนปกติเป็นหลัก ไม่ใช่การเพิ่มประสิทธิภาพอย่างที่หลายคนเข้าใจ ผลการศึกษาทางวิชาการที่ถูกอ้างถึงในเว็บไซต์ AZO Materials การใช้ รันนิ่ง เบลด จะช่วยสะสมพลังงานของนักวิ่งไว้ได้ 90% ในขณะที่อวัยวะจริงจะเก็บสะสมได้ถึง 250%
จึงอาจกล่าวได้ว่า แม้จะเป็นอวัยวะเทียมที่ดูล้ำสมัย แต่ก็ยังไม่สามารถทำงานเทียบเท่าอวัยวะจริงได้อยู่ดี ดูตัวอย่างจากโอลิมปิก 2012 ของ ออสการ์ พิสโตเรียส ก็น่าจะเห็นภาพ เมื่อเขาทำผลงานได้ดีที่สุดเพียงเข้ารอบรองชนะเลิศเท่านั้น ไม่ได้ไปลุ้นเหรียญรางวัลเลยด้วยซ้ำ
ก่อนประเด็นเรื่องความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีจะหมดไป อีกคำถามสำคัญที่ถูกตั้งขึ้นโดย เจสัน มาซานอฟ นักจิตวิทยาการกีฬา ความว่า
"ผลการแข่งขันที่ได้จากนักกีฬา เป็นผลที่ได้จากตัวนักกีฬาเองหรือจากเทคโนโลยี?"
หากมองอย่างเป็นกลางที่สุด ก็ย่อมเข้าใจได้ว่าที่เจสันไม่เห็นด้วยเป็นเพราะความสามารถสุดเทพของ รันนิ่ง เบลด ที่เราได้ทราบก่อนหน้า แต่เรื่องนี้ไปไกลกว่านั้น
การใช้เทคโนโลยีดังกล่าวยังมีความเหลื่อมกันในเรื่องของงบประมาณในการลงทุนของแต่ละประเทศ ประเทศที่ร่ำรวยย่อมสามารถสนับสนุนนักกีฬาพาราลิมปิกของประเทศตัวเองได้ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยกว่า ซึ่ง เคลลี่ คาร์ตไรท์ (Kelly Cartwright) นักวิ่งและนักกระโดดไกลพาราลิมปิก จากประเทศออสเตรเลียที่สวม รันนิ่ง เบลด ก็เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว เมื่อถูกถามถึงขาที่เธอใส่
"ฉันคิดถึงเรื่องนี้บ่อยมาก โดยเฉพาะกับเรื่องค่าใช้จ่าย"
"มันมีราคาที่แพงมาก ซึ่งจริง ๆ มันก็อาจจะไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น เราอาจจะใช้ขาอะไรก็ได้ที่ทำให้เราวิ่งได้ก็พอ"
ปัจจุบัน การใช้อุปกรณ์ดังกล่าวยังคงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย นักวิ่งกว่า 90% สวมใส่ รันนิ่ง เบลด ทั้งในระหว่างการแข่งขันและการฝึกซ้อม โดยอุปกรณ์ของแต่ละคนก็จะมีความแตกต่างกันออกไป ทั้งในเรื่องของขนาด ความยาว หรือวัสดุที่ใช้
เป็นการยากหากจะต้องตัดสินว่าการใช้อุปกรณ์เหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมหรือไม่ ส่วนที่เหลือเป็นหน้าที่ของแต่ละบุคคลว่าจะมองเรื่องดังกล่าวจากมุมไหนหรือจากหลักฐานการศึกษาประเภทใด ที่สำคัญคือ เราต้องอย่าลืมว่าการแข่งขันพาราลิมปิก เป็นการแข่งขันสำหรับผู้พิการ
ไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องนำการแข่งพาราลิมปิกไปเทียบกับโอลิมปิก นำประสิทธิภาพของนักกีฬาผู้พิการมาเทียบกับนักกีฬาที่ร่างกายสมบูรณ์ เพราะถ้าจะมองว่าการใช้อุปกรณ์ช่วยเป็นเรื่องที่ไม่แฟร์ การนำการแข่งขันทั้งสองประเภทมาเปรียบเทียบกัน ก็อาจจะยิ่งไม่แฟร์กว่าอีกหรือไม่ ?
อัลบั้มภาพ 12 ภาพ