นักกีฬา “วีลแชร์เรซซิ่ง” สามารถทำความเร็วได้สูงสุดเท่าไหร่
วีลแชร์เรซซิ่ง เป็นชนิดกีฬาที่สร้างความสำเร็จให้กับทัพนักกีฬาพาราลิมปิกไทยในทุก ๆ ครั้ง ปัจจุบันนักกีฬาไทยคว้าเหรียญทองพาราลิมปิกเกมส์ ในกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2000 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 12 เหรียญทอง แล้วจนถึงขณะนี้
อุปกรณ์ที่ใช้ในการแข่งขันของนักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่ง คือรถเข็นที่ใช้ในการเคลื่อนไหวไปข้างหน้าสำหรับทำความเร็ว เพื่อเข้าเส้นชัย ลักษณะของรถวีลแชร์สำหรับการแข่งขันมีล้อหลักสองล้อ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 13.5 ถึง 15 นิ้วครึ่ง (33 -40 เซนติเมตร) มีความชันล้อประมาณ 12 องศา เพื่อเป็นปัจจัยในการทรงตัวของรถ มีล้อด้านหน้าเพื่อช่วยสร้างสมดุลให้กับนักกีฬาและป้องกันการล้มหรืออุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น วิธีการควบคุมรถคือ นักกีฬาจะปั่นกงล้อไปด้วยพละกำลังแขน พร้อมทั้งควบคุมทิศทางขณะเข้าโค้งด้วยวิธีบังคับทิศทางที่ล้อหรือที่แฮนด์ในบางรุ่น
ปัจจุบันการจัดประเภทของการแข่งขันวีลแชร์เรซซิ่งในพาราลิมปิกเกมส์ แบ่งเป็น 4 ประเภทตามลักษณะความสมบูรณ์ของร่างกาย โดยประเภท T51 และ T52 เป็นคลาสสำหรับนักกีฬาที่สามารถควบคุมกำลังแขนส่วนบนอย่างจำกัด, T53 สำหรับนักกีฬาที่ไม่สามารถใช้ช่วงท้องในการออกแรงได้อย่างสมบูรณ์ และคลาส T54 สำหรับนักกีฬาที่สภาพร่างกายปกติตั้งแต่ช่วงเอวขึ้นไป
เทคโนโลยีของวีลแชร์เรซซิ่ง มีการพัฒนาขึ้นจากสมัยก่อน โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ช่วยให้นักกีฬาสามารถทำความเร็วได้มากขึ้น ปัจจุบันรถที่ใช้แข่งขัน วีลแชร์เรซซิ่ง มีน้ำหนักเพียง 8-10 กิโลกรัมเท่านั้น
ดังนั้นหลักการทำความเร็วจึงคล้ายกับการปั่นจักรยาน ที่จำเป็นต้องใช้แรงสำหรับการออกตัว และเมื่อความเร็วเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนคงที่ นักกีฬาก็จะผ่อนความเร็วลง ดังนั้นการออกตัวในประเภทวีลแชร์ระยะสั้น จึงมีความสำคัญมากกว่าการแข่งขันในระยะกลางหรือระยะไกล เนื่องจากในระยะสั้น 100 เมตร หรือ 200 เมตร จะต้องใช้แรงในการหมุนล้อมากกว่า
นักคณิตศาสตร์ มีการเทียบความเร็วเฉลี่ยของการแข่งขันวีลแชร์เรซซิ่ง บันทึกแต่ละครั้งจะพบว่า ความเร็วของวีลแชร์จะลดลงเมื่อระยะทางไกลยิ่งขึ้น แต่หากเทียบสำหรับระยะทางไม่เกิน 10,000 เมตร ความเร็วเฉลี่ยที่นักกีฬาสามารถทำได้ จะอยู่ที่ 7-9 เมตรต่อวินาที หรือประมาณ 25.2 - 32.4 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากคิดคำนวณจากการพล็อตกราฟ จะได้กราฟในลักษณะ ลอการิทึ่ม (Logarithm) โดยอัตราความเร็วจะคิดคำนวณได้ตามสูตรนี้คือ
- ความเร็วเฉลี่ย = (17.29) คูณ [(ระยะทาง) ยกกำลัง -0.109] สำหรับนักกีฬาชาย
- ความเร็วเฉลี่ย = (15.729) คูณ [(ระยะทาง) ยกกำลัง -0.111] สำหรับนักกีฬาหญิง
แต่ถ้าหากตัดเรื่องแรงที่ต้องใช้จากการออกสตาร์ตหรือแรงต้าน, ความเร่งและความหน่วงภายนอกออกไป และคำนวณเฉพาะช่วงเวลาที่วีลแชร์สามารถทำความเร็วอยู่ในระดับที่ทรงตัว จะพบว่าระยะทางที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น 400 เมตร, 800 เมตร, 5,000 เมตร หรือมากกว่านั้นจะแทบไม่มีผลทำให้ความเร็วลดลง โดยสูตรการคำนวณจะเป็นดังนี้
-ความเร็วเฉลี่ย = (8.9901) คูณ [(ระยะทาง) ยกกำลัง -0.005] หรือประมาณ 31.32 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สำหรับประเภทชาย
-ความเร็วเฉลี่ย = (8.6963) คูณ [(ระยะทาง) ยกกำลัง -0.021] หรือประมาณ 30.51 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สำหรับประเภทหญิง
อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยประกอบกับความแข็งแกร่งของนักกีฬา ทำให้การปั่นวีลแชร์ของนักกีฬาในปัจจุบัน ทำความเร็วได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีงานวิจัยที่ระบุว่า นักกีฬาจะสามารถปั่นวีลแชร์ได้เร็วถึง 10 เมตรต่อวินาที หรือประมาณ 36 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ขณะที่ความเร็วเฉลี่ยของนักกีฬาวีลแชร์เจ้าของเหรียญทองพาราลิมปิกเกมส์อย่าง พงศกร แปยอ ที่สามารถทำลายสถิติโลกด้วยเวลา 46.61 วินาที ในระยะ 400 เมตรได้นั้น หากเทียบความเร็วเฉลี่ยในการปั่นวีลแชร์ระหว่างการแข่งขันจะอยู่ที่ 30.20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
หากเทียบกับบรรดากีฬาความเร็วที่มีการแข่งขันในโอลิมปิกและพาราลิมปิก ความเร็วเฉลี่ยของนักกีฬาระดับแชมป์โอลิมปิก / พาราลิมปิก ในการแข่งขันที่น่าสนใจจะเป็นดังนี้
-ฮาร์รี ลาฟเรเซ่น (แชมป์จักรยานสปรินท์โอลิมปิก 2020) = 92.521 กิโลเมตร / ชั่วโมง
**การคำนวณความเร็วเฉลี่ยไม่ได้เริ่มจากการออกสตาร์ตที่ความเร็วต้น 0 กิโลเมตร / ชั่วโมง **
-ยูเซน โบลท์ (เจ้าของสถิติโลก วิ่ง 100 เมตรชาย) 37.54 กิโลเมตร / ชั่วโมง
-พงศกร แปยอ (วีลแชร์เรซซิ่ง 400 เมตรชาย) 30.20 กิโลเมตร / ชั่วโมง
-โจชัว เชปเตไก (แชมป์โอลิมปิกวิ่ง 5,000 เมตร) 23.11 กิโลเมตร / ชั่วโมง
-สเตฟานอส เอ็นตัสกอส (แชมป์เรือกรรเชียงโอลิมปิก ชาวกรีซ) 17.96 กิโลเมตร / ชั่วโมง