นายก็เป็นฮีโร่ได้นะ : ไฮสปีด พาราฮีโร่ กันดีน ฮีโรบนวีลแชร์ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้นักกีฬาพาราลิมปิก

นายก็เป็นฮีโร่ได้นะ : ไฮสปีด พาราฮีโร่ กันดีน ฮีโรบนวีลแชร์ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้นักกีฬาพาราลิมปิก

นายก็เป็นฮีโร่ได้นะ : ไฮสปีด พาราฮีโร่ กันดีน ฮีโรบนวีลแชร์ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้นักกีฬาพาราลิมปิก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โทคุซัตสึ (Tokusatsu) หรือที่บ้านเรามักเรียกกันว่า "หนังแนวแปลงร่าง" ถือเป็นสิ่งที่อยู่คู่วงการโทรทัศน์ญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน รวมทั้งมีแฟนติดตามอย่างเหนียวแน่น

แน่นอนว่าแต่ละเรื่องทางผู้ผลิตก็ขยันออกภาคใหม่มาเป็นประจำทุกปี ที่มักจะมาพร้อมกับไอเดียและความแปลกใหม่ ที่แม้ว่าอาจจะมีทั้งปังและพังสลับกันไป แต่ก็ยังสร้างสีสันอยู่ไม่ขาด  

อย่างไรก็ดี ในปี 2021 ซึ่งเป็นปีที่มีการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิก กลับมีความพิเศษกว่าที่ผ่านมา เมื่อฮีโร่ในปีนี้มาพร้อมกับวีลแชร์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของซีรีส์โทคุซัตสึ 

"ไฮสปีด พาราฮีโร่ กันดีน" คือชื่อของเรื่องนี้ และนี่คือเรื่องราวของพวกเขา

ซีรีส์โทคุซัตสึ  

แม้ว่าหนังโทคุซัตสึจะถูกเรียกว่า หนังแนวแปลงร่าง แต่ต้นกำเนิดของซีรีส์ประเภทนี้กลับไม่ใช่ภาพยนตร์ที่มีการแปลงร่าง แต่เป็นหนังสัตว์ประหลาดระดับตำนานอย่าง ก็อตซิลล่า (Gojira) ที่ออกฉายในปี 1954 


Photo : wikipedia.org

เนื่องจากอันที่จริงคำว่า โทุซัตสึ (特殊撮影) มีความหมายว่าการถ่ายทำด้วยเทคนิคพิเศษ ซึ่งก็อตซิลล่า ก็ถือเป็นเรื่องแรกของญี่ปุ่นที่ถ่ายทำด้วยวิธีนี้ จากฝีมือของช่างเทคนิคพิเศษที่ชื่อว่า เอจิ สึบุรายะ และผู้กำกับ อิชิโร ฮอนดะ รวมถึง โทโมยูกิ ทานากะ ที่รั้งตำแหน่งโปรดิวเซอร์ 

โดยเทคนิคพิเศษในยุคนั้น แม้ว่าอาจจะไม่ก้าวหน้าเหมือนในปัจจุบันแต่ก็ล้วนน่าทึ่ง ทั้งการนำยางรถยนต์มาหลอมเป็นชุดก็อตซิลล่าให้นักแสดงสวมใส่ หรือฉากจำลองขนาดเล็กให้สัตว์ประหลาดมาพังถล่ม รวมไปถึงติดเอฟเฟคระเบิดเพื่อเพิ่มความสมจริง 

และมันก็ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย ผู้คนต่างตบเท้ากันเข้าไปดูกันอย่างคึกคัก และออกมาพร้อมกับเสียงวิจารณ์ในแง่บวก ที่ทำให้มันทำรายได้ไปถึง 180 ล้านเยน จากต้นทุน 100 ล้านเยน

ความสำเร็จของ ก็อตซิลลา ไม่เพียงแต่ทำรายได้ให้ผู้สร้างเท่านั้น แต่มันยังเป็นตัวจุดประกายที่ทำให้มีภาพยนตร์แนวโทคุซัตสึ ถือกำเนิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ 1960s-1970s 


Photo : mydramalist.com

ไม่ว่าจะเป็น "อุลตร้าแมน" ที่นอกจากจะเป็นผู้บุกเบิกซีรีส์โทคุซัตสึทางหน้าจอโทรทัศน์ (ฉายปี 1966) ยังเป็นผู้วางมาตรฐาน "หนังแนวแปลงร่าง" ด้วยแนวเรื่องฮีโร่ที่มาช่วยโลกจากการระรานของเหล่าร้าย หรือ ไอ้มดแดง (Masked Rider) ฮีโรสวมหน้ากากที่มาพร้อมกับรถสุดเท่ (ฉายปี 1971) รวมถึงขบวนการ 5 สี (Super Sentai) ที่ทำให้เด็ก ๆ ต่างแย่งกันเป็นตัวสีแดง (เริ่มฉายปี 1975) 

หลังจากนั้น ซีรีส์โทคุซัตสึ ก็อยู่คู่กับวงการโทรทัศน์ญี่ปุ่นมาตลอด แม้จะมีช่วงซบเซาไปบ้างในทศวรรษที่ 1990s แต่หลังจากปี 2000 มันก็กลับมาได้อย่างยิ่งใหญ่ ด้วยเนื้อเรื่องที่เข้มข้นสมจริง และกลายเป็นวาระที่ต้องออกภาคใหม่เป็นประจำทุกปี 

อย่างไรก็ดี ในปี 2021 กลับเหนือไปกว่านั้น

ฮีโร่บนวีลแชร์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในจุดเด่นของซีรีส์โทคุซัตสึ คือความคิดสร้างสรรค์และความแปลกใหม่ ที่ทำให้ผู้ชมได้ลุ้นว่าจะได้เจอกับอะไรในซีรีส์ที่ติดตามอยู่ ไม่ว่าจะเป็นชุดหรือหุ่นยนต์ของกลุ่มตัวเอกในขบวนการ 5 สี ไปจนถึงอุปกรณ์แปลงร่างของไรเดอร์

แต่สำหรับปี 2021 พิเศษกว่าที่เคยเป็นมา เพราะหนึ่งในละครโทคุซัตสึของปีนี้คือฮีโร่นั่งวีลแชร์ที่มีชื่อว่า "โจโซะคุ พาราฮีโร่ กันดีน" (Chousoku Parahero Gandine) หรือ High Speed Parahero Gandine ในภาษาอังกฤษ ที่ออกฉายทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติญี่ปุ่น หรือ NHK 


Photo : sea.ign.com

กันดีน เป็นเรื่องราวของ ไดชิ โมริมิยะ เด็กหนุ่มวัย 17 ปีที่ขาเดินไม่ได้เนื่องมาจากอุบัติเหตุในวัยเด็ก แต่เขาก็ไม่ได้ยอมแพ้ และมีความฝันที่จะเป็นนักกรีฑาคนพิการระดับท็อป ในประเภทวีลแชร์เรซซิ่ง 1,500 เมตร คลาส T54 จึงพยายามฝึกฝนตัวเองมาตลอดเพื่อไปให้ถึงจุดนั้น 

อย่างไรก็ดี วันหนึ่งขณะฝึกซ้อมเขาบังเอิญได้เจอมนุษย์ต่างดาวรูปหล่อที่ชื่อว่า "กู" และหลังจากนั้นก็มีสัตว์ประหลาดที่ชื่อว่า ลาเกิร์ต (Lagert) ปรากฏตัวขึ้น และเข้าโจมตีโรงงานในเมือง 

กู จึงได้มอบพลังพิเศษซึ่งเป็นนวัตกรรมจากดาว Alert ให้กับ โมริมิยะ และทำให้เขาใช้พลังแห่งความมุ่งมั่นแปลงร่างเป็น "กันดีน" ฮีโร่นั่งวีลแชร์สุดเท่ ที่มาพร้อมกับอุปกรณ์อย่าง Hyper Wheel ซึ่งมีสองโหมดคือโหมดโจมตีและโหมดความเร็ว เพื่อต่อสู้กับผู้รุกรานจากต่างดาว

กันดีน ถือเป็นโทคุซัตสึ เรื่องแรกที่นำเสนอในธีมของ พาราสปอร์ต หรือ กีฬาคนพิการ แต่ความโดดเด่นของเรื่องนี้ ไม่ใช่แนวเรื่องที่แปลกใหม่เท่านั้น แต่ยังมีเป้าหมายเพื่อให้กำลังใจแก่นักกีฬาในการแข่งขันพาราลิมปิก 2020 ตลอดจนผู้พิการในสังคม  


Photo : sea.ign.com

"ผมคิดว่ามันเป็นละครที่คนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็ก ๆ ไปจนถึงผู้ใหญ่ สามารถสนุกไปกับมันได้" โซ โอคุโนะ ผู้รับบทไดชิ (ซึ่งนักแสดงตัวจริงไม่ได้พิการแต่อย่างใด) กล่าวกับ NHK

"คนที่ชอบเทคนิคพิเศษก็จะสนุกกับส่วนเรื่องราว ส่วนคนที่ชอบความดราม่าก็จะโดนใจกับเรื่องกีฬาคนพิการ

นอกจากนี้ โทคุซัตสึ เรื่องนี้ยังมีความตั้งใจในการสร้างความเข้าใจในความแตกต่างทางเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ ดังจะเห็นจากการวางให้ตัวร้ายมีเป้าหมายสำคัญคือการกำจัดทุกเผ่าพันธุ์ที่ไม่ใช่เผ่าเดียวกับตน 

"ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่คนสามารถสนุกได้จากมุมมองที่ต่างไปจากเดิมเล็กน้อย ผมหวังว่าคนจะสนุกกับมัน ไม่ว่ากับคนที่เคยดูซีรีส์แนวนี้หรือไม่ก็ตาม" อดีตนักแสดงจากเรื่อง Kamen Rider Zi-O กล่าวต่อ 


Photo : tokusatsumalaysiaofficial

กันดีน ประสบความสำเร็จอย่างงดงามตั้งแต่ตอนแรกที่ออกฉาย ด้วยเสียงตอบรับในแง่บวกจากผู้ชมในญี่ปุ่น จนทำให้แฮชแท็ก #ガンディーン (#Gandine) ขึ้นไปรั้งอันดับ 4 ของโลก ในช่วงเวลานั้น 

ขณะเดียวกันชื่อของ High Speed Parahero Gandine ยังถูกพูดถึงไปทั่วโลก ในระหว่างการแข่งขันโอลิมปิก โดยเฉพาะร่างของกันดีน ที่ได้รับเสียงชื่นชมในโลกโซเชียล ที่ส่วนใหญ่มองไปในทิศทางเดียวกันว่า "เท่มาก" 

แต่ กันดีน ไม่ใช่เรื่องเดียวสำหรับพาราลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ 

สื่อยุคใหม่ 

ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการใช้การ์ตูนเป็นสื่อ ดังจะเห็นได้จากตัวการ์ตูนที่ปรากฏอยู่ในหลากหลายพื้นที่ ที่มีตั้งแต่ใบปลิวโฆษณา ป้ายประกาศของทางการ ไปจนถึงแบบเรียนในสถานศึกษา 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ มังงะ และอนิเมะ จึงไม่ใช่แค่ความบันเทิงสำหรับเด็กเท่านั้น แต่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่มีผู้ชมและผู้อ่านทุกเพศทุกวัย ซึ่งหลายครั้งมันก็ทำหน้าที่เป็นสื่อให้ความรู้หรือเพื่อให้ตระหนักถึงบางสิ่ง


Photo : animeclick.it

เช่นกันสำหรับ พาราลิมปิก 2020 ที่ป๊อบคัลเจอร์ เข้ามามีบทบาทในการสร้างการรับรู้ถึงผู้พิการ เพื่อช่วยสร้างความเข้าใจในเรื่องของคนกลุ่มนี้ ที่นอกจากจะมีกันดีนแล้ว ยังมีอนิเมะ และมังงะอีกมากมายที่ทำหน้าที่นี้ 

ยกตัวอย่างเช่น ซีรีส์ Ani x Para: Anata No Hero Wa Dare Desu Ka ? อนิเมะสั้นความยาว 5 นาทีของ NHK ที่บอกเล่าเรื่องราวของกีฬาคนพิการ ซึ่งหลายเรื่องยังได้จับมือกับนักเขียนการ์ตูนชื่อดังผลิตผลงานออกมาได้อย่างน่าสนใจ 

ไม่ว่าจะเป็น Anime x Football 5-a-side ที่ได้อาจารย์ โยอิจิ ทาคาฮาชิ ผู้เขียนเรื่อง กัปตันสึบาสะ มาเป็นผู้กำกับอนิเมะ ที่ว่าด้วยเรื่องราวของกีฬาฟุตบอลของผู้พิการทางสายตา หรือ Anime x Para Badminton อนิเมะที่เป็นเรื่องของพาราแบดมินตัน ที่ได้อาจารย์ โคจิ เซโอะ คนเขียนเรื่องบ้านของเสียงหัวใจ (Kimi no iru Machi) มารับผิดชอบ


Photo : nhk.or.jp

เช่นเดียวกับ อาจารย์ เท็ตสึยะ จิบะ ผู้วาดการ์ตูนเรื่อง โจ สิงห์สังเวียน ที่มีส่วนร่วมในการออกแบบตัวละครในตอนที่เกี่ยวกับรักบี้วีลแชร์ ในชื่อ Anime x Wheelchair Rugby หรือตอน Anime x Para Cycling ที่มีตัวละครจากเรื่อง โอตาคุปั่นสะท้านโลก มาถ่ายทอดเรื่องราวของพาราไซคลิ่ง

นอกจากอนิเมะสั้นข้างต้นแล้ว NHK ยังได้สร้างอนิเมะที่มีชื่อว่า Breakers ที่ว่าด้วยเรื่องราวของเด็กพิการ ที่ได้รับความช่วยเหลือจาก เรน นาริตะ นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะ ที่ใช้เทคโนโลยีล้ำยุค ช่วยให้เหล่าเด็ก ๆ ทำผลงานได้ดีขึ้นในกีฬาชนิดต่าง ๆ   


Photo : animeheaven.ru

"ด้วยการนำเสนอเสน่ห์ของกีฬาคนพิการในรูปแบบที่เข้าถึงได้ เราหวังว่าผู้คนมากมายจะให้ความสนใจในโตเกียว พาราลิมปิก 2020 ครั้งนี้มากขึ้น" ส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์ของ NHK 

"เราหวังว่าจะผลิตผลงานที่สอดคล้องกับกีฬาชนิดต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ความน่าสนใจในกีฬาคนพิการและทำให้ผู้คนสนใจการแข่งขันพาราลิมปิก" 

แน่นอนว่ามังงะ ก็ไม่น้อยหน้า เมื่อมันมีส่วนสำคัญในการให้ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจ ก่อนการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ จะเริ่มขึ้น โดยเฉพาะ ชูเอฉะ เจ้าของนิตยสารการ์ตูนชื่อดัง Weekly Shonen Jump ที่ผลิตนิตยสารการ์ตูนฉบับพิเศษที่ชื่อว่า Tokyo 2020 Paralympic Jump ขึ้นมา 

ใน Paralympic Jump ประกอบไปด้วยมังงะที่มีจุดศูนย์กลางของเรื่องเกี่ยวกับผู้พิการ ซึ่งได้นักเขียนการ์ตูนชื่อดังมารังสรรค์เรื่องราว อาทิ โยอิจิ ทาคาฮาชิ ที่มาวาดเรื่อง Bravo Blind Soccer ซึ่งเป็นเรื่องของนักฟุตบอลผู้พิการทางสายตา หรือ อาจารย์ เท็ตสึยะ ซารุวาตาริ ผู้เขียน Tough ใครว่าข้าไม่เก่ง ที่มาถ่ายทอดเรื่องราวของนักยูโดตาบอดในเรื่อง Tough Bangai-Hen Yawara No Shou 


Photo : books.shueisha.co.jp

นอกจากมังงะแล้ว ใน Paralympic Jump ยังมีบทสัมภาษณ์ของนักกีฬาพิการตัวจริง รวมไปถึงการถ่ายภาพสไตล์กราเวียร์ (ชุดว่ายน้ำ) ของผู้พิการ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ นิตยสารเล่มนี้คือหนึ่งในแรงบันดาลใจให้ ทาคาชิ นิชิมุระ ผู้อำนวยการ NHK Enterprises ใช้ในการให้กำเนิด High Speed Parahero Gandine 

"ในตอนแรกมันเป็นโปรเจ็คต์ละครเกี่ยวกับเด็กหนุ่มบนวีลแชร์ที่กลายเป็นฮีโร่ ที่นำเสนอโดย Arata FG เมื่อหลายปีก่อน ในตอนนั้นผมรู้สึกว่ามันน่าสนใจ แต่เหมือนขาดอะไรไปบางอย่าง" นิชิมุระ กล่าวกับ My Navi News 

"หลังจากนั้น ผมได้เจอกับ (มังงะ) พาราลิมปิกจัมป์ ก็เลยได้แรงบันดาลใจว่าควรเพิ่มกีฬาคนพิการเข้าไป ก็เลยเปลี่ยนเรื่องเป็น เด็กหนุ่มที่ตั้งเป้าเป็นนักกีฬาระดับสูงในกีฬาคนพิการ"

นายก็เป็นฮีโร่ได้นะ

ไม่เพียงแต่อนิเมะ ที่ตั้งใจจะถ่ายทอดเรื่องราวของนักกีฬาพิการโดยตรงเท่านั้น ในช่วงก่อนพาราลิมปิกจะเปิดฉากขึ้น ยังมีอนิเมะที่พูดถึงผู้พิการทั่วไปในสังคม เพื่อสร้างความตระหนักต่อคนกลุ่มนี้ 


Photo : imdb.com

หนึ่งในนั้นคือ Josee to Tora to Sakana-tachi ที่ออกฉายในช่วงคริสต์มาสปี 2020 ซึ่งเป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ของ ซูซุคาวะ สึเนโอะ เด็กปี 4 ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในโอซากา และ โจซี เด็กสาวผู้มีฝันแม้ร่างกายจะไม่เอื้ออำนวย โดยทั้งสองได้รู้จักกันจากการที่ยายของโจซีพาเธอออกมาเดินเล่น 

อนิเมะดังกล่าวมาพร้อมกับแนวเรื่องแบบสบาย ๆ ที่ทำให้เข้าถึงผู้ชมได้ไม่ยาก ขณะเดียวกันก็ถ่ายทอดมุมมองของผู้พิการในสังคมได้อย่างน่าสนใจ และทำให้เห็นว่าพวกเขาสามารถเดินทางไปไหนต่อไหนได้อย่างไม่ยาก และสะท้อนให้เห็นว่า ญี่ปุ่นคือสังคมที่ออกแบบมาเพื่อทุกคนอย่างแท้จริง 

นี่คือความตั้งใจที่จะสร้างความเท่าเทียมทางสังคมของพวกเขา ด้วยการทำให้คนเข้าใจและมองเห็นคนกลุ่มนี้ ด้วยการใช้วัฒนธรรมร่วมสมัยอย่างอนิเมะ มังงะ หรือโทคุซัตสึ เป็นสื่อในการบอกเล่าเรื่องราว 

ขณะเดียวกันมันยังเป็นกำลังใจที่ดีสำหรับผู้พิการ ในความมุ่งมั่นของทั้งภาครัฐและเอกชน ที่พยายามทำให้เห็นว่า พวกเขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติเหมือนคนทั่วไป


Photo : tokusatsumalaysiaofficial

และที่สำคัญคือ การทำให้คนทั่วไปมองว่าไม่ว่าใครก็เป็นตัวเอกได้ เหมือนอย่าง "กันดีน" เพียงแค่มีความมุ่งมั่นและความพยายาม   

ราวกับพวกเขาจะบอกว่า "นายเองก็เป็นฮีโร่ได้นะ" กับทุกคนในสังคม 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook