อ้างอิงจาก NBA : จัดกีฬาแบบ Bubble ใช้งบประมาณเท่าไหร่ ใช้กับอะไรบ้าง ?

อ้างอิงจาก NBA : จัดกีฬาแบบ Bubble ใช้งบประมาณเท่าไหร่ ใช้กับอะไรบ้าง ?

อ้างอิงจาก NBA : จัดกีฬาแบบ Bubble ใช้งบประมาณเท่าไหร่ ใช้กับอะไรบ้าง ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นับตั้งแต่โลกของเราเผชิญหน้ากับวิกฤตโควิด-19 วงการกีฬาจำเป็นต้องปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อช่วยเหลือให้ธุรกิจมูลค่ามหาศาลดำเนินต่อไปได้ 

หนึ่งในวิธีการที่เข้ามาช่วยเหลือและพยุงให้การแข่งขันกีฬาหลายกีฬาสามารถทำการแข่งขันจนจบลงด้วยดี ตลอดขวบปีที่ผ่านมา คือวิธีการจัดกีฬาแบบ Bubble หรือการแข่งขันกีฬาภายใต้สภาพแวดล้อมปิด เพื่อสร้างความปลอดภัยทางชีวภาพ ภายใต้กฎการกักตัวที่เข้มงวด และโปรโตคอลความปลอดภัยขั้นสูงสุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แก่นักกีฬารวมถึงผู้เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน

ลีกกีฬาที่นำวิธีการแบบ Bubble มาใช้ และประสบความสำเร็จจนกลายเป็นต้นแบบแก่ผู้จัดกีฬาทั่วโลก คือการแข่งขันบาสเกตบอล NBA ฤดูกาล 2019-20 ที่ใช้จัดใน 8 เกมสุดท้ายของฤดูกาลปกติ รวมถึงเกมเพลย์ออฟ และนัดชิงชนะเลิศ ในพื้นที่ปิดซึ่งเรียกว่า NBA Bubble ที่เมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา

Main Stand หยิบความสำเร็จของ NBA Bubble 2020 มาเป็นตัวอย่างเพื่อแสดงให้เห็นว่า การจัดภายใต้สิ่งแวดล้อมปิดในแต่ละครั้ง ต้องเสียค่าใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง และผลตอบแทนหลังจากทุ่มเงินมหาศาลเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้า คุ้มค่าหรือไม่กับเม็ดเงินที่หว่านลงไปในการสร้าง Bubble

ทุ่มงบมหาศาล เพื่อการแข่งขันที่ดีที่สุด

ย้อนกลับไปยังเดือนมีนาคม ปี 2020 เมื่อ NBA ประกาศยุติลีกชั่วคราว มีการคาดการณ์จากเว็บไซต์การเงินชื่อดังอย่าง Forbes ว่า NBA จะขาดทุนถึง 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 5 หมื่นล้านบาท หากไม่จัดการแข่งขันต่อจนจบ นำมาสู่มติเอกฉันท์ 29-1 เสียง ที่จะดำเนินการแข่งขันต่อภายใต้การจัดแบบ Bubble

แน่นอนว่า การจัดเกมกีฬาใน Bubble คือการแข่งแบบปิด และจะไม่มีผู้ชมเข้าสู่การแข่งขัน ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงไม่น้อยสำหรับ NBA เพราะ 40 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ในแต่ละฤดูกาล มาจากค่าตั๋วเข้าชมการแข่งขัน และการใช้จ่ายในแมตช์เดย์ ซึ่งทั้งหมดกลายเป็น 0 เมื่อเลือกจัดการแข่งขันใน Bubble

แต่เพื่อสร้างการแข่งขันที่ดีที่สุด NBA ประกาศทุ่มเงินขั้นต่ำ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 5 พันล้านบาท เพื่อเป็นงบประมาณสร้าง NBA Bubble โดยงบประมาณส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นค่าเช่าสถานที่จัดเกมการแข่งขันและที่พักนักกีฬา ซึ่ง NBA เลือกใช้ วอลต์ ดิสนีย์ เวิลด์ รีสอร์ต ที่มีพร้อมทั้งสนามกีฬาและโรงแรมหรูไว้รองรับซูเปอร์สตาร์บาสเกตบอล

NBA เช่า 3 สนามแข่งขันใน ESPN Wide World of Sports Complex ซึ่งตั้งอยู่ในเขต วอลต์ ดิสนีย์ เวิลด์ รีสอร์ต ได้แก่ แอดเวนต์เฮลท์ อารีนา, เอชพี ฟิลด์ เฮาส์ และ วีซ่า แอธเลติก เซ็นเตอร์ ส่วนที่พักนักกีฬา NBA เช่า 3 รีสอร์ตที่ตั้งอยู่ในเขตดิสนีย์ โดยสองรีสอร์ต ได้แก่ Disney's Grand Floridian Resort & Spa และ Disney's Yacht Club Resort ที่เป็นรีสอร์ตแบบ Deluxe ส่วน Disney's Coronado Springs Resort ซึ่งเป็นรีสอร์ตระดับกลาง ใช้รับรองนักกีฬาบางส่วนและสตาฟทั้งหมด

 

การเช่าสนามแข่งขันและที่พักแบบเหมาลำเช่นนี้ ช่วยให้ NBA สามารถคำนวณงบประมาณเป็นเงินก้อนใหญ่ได้ทีเดียว นั่นคือ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้จะเป็นเงินมหาศาล โดยเฉพาะในแง่ของการใช้จ่ายไม่ต่ำกว่าวันละ 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน แต่เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดแก่ผู้ชมทางบ้าน และนักกีฬาที่กักตัวในพื้นที่จำกัด การสร้าง Bubble ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งในการแข่งขันและชีวิตประจำวันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

งบอาจสูงเกิดคาด แต่ผลตอบแทนต้องคุ้มค่า

ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อการแข่งขันบาสเกตบอล NBA ฤดูกาล 2019-20 สิ้นสุดลง มีรายงานออกมาว่า NBA ใช้จ่ายเงินจากการสร้าง NBA Bubble 2020 ไปทั้งหมด 190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มจากการประเมินเบื้องต้นถึง 40 ล้าน นั่นเป็นเพราะมีค่าใช้จ่ายอีกหลายด้านในการจัด Bubble แต่ละครั้ง

นอกจากค่าเช่าสนามแข่งขันและค่าเช่าที่พัก ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายหลักของงบประมาณ NBA ยังต้องรับผิดชอบค่าอาหาร, ค่าตรวจเชื้อโควิด-19 รายวัน, ค่าสนับสนุนการรักษาพยาบาล, ค่ารักษาความปลอดภัย, ค่าขนส่งสาธารณะภายใน และค่าอุปกรณ์เพื่อความบันเทิง

หากไม่นับค่าตรวจเชื้อโควิด-19 ซึ่งต้องทำตามโปรโตคอลความปลอดภัยอยู่แล้ว NBA ใช้จ่ายไปกับการอำนวยความสะดวกแก่นักกีฬา (ซึ่งพร้อมจะส่งเสียงต่อต้านลีกตลอดเวลา) เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีที่สุดสำหรับการจัด Bubble โดยลีกเสียเงินไปกับการสร้าง เลาจ์สำหรับนักกีฬา ที่มีโทรทัศน์จำนวนมาก, ตู้เกมอาร์เคด, เกม NBA2K และโต๊ะปิงปอง

 

NBA ยังว่าจ้างเจ้าหน้าที่มาเข้าเวรตลอด 24 ชั่วโมง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักกีฬาแบบ VIP ซึ่งรวมถึงการว่าจ้างบุคคลภายนอกมาสร้างความบันเทิงพื้นฐานแก่นักกีฬา เช่น ดีเจ หรือ คนฉายหนัง ทั้งนี้ นักกีฬายังสามารถออกไปพายเรือ, ตกปลา, เล่นโบว์ลิ่ง หรือตีกอล์ฟตามอัธยาศัย

สำหรับค่าอาหารที่นักบาสเกตบอลหลายคนบ่นออกสื่อ แท้จริงแล้ว NBA เปิดโอกาสให้แต่ละทีมสามารถออกแบบเมนูอาหารตามต้องการ โดยพ่อครัวของ วอลต์ ดิสนีย์ เวิลด์ รีสอร์ต จะเป็นคนจัดหาให้ ยิ่งไปกว่านั้น อาหารทั้งสามมื้อในแต่ละวันจะถูกปรุงสดใหม่ และจะเพิ่มเป็น 4 มื้อ ในวันที่มีการแข่งขัน

ส่วนของการสนับสนุนค่ารักษาพยาบาล NBA เข้ามาช่วยเหลือด้วยการจัดหาคอร์สโยคะและสมาธิ เพื่อรักษาสุขภาพจิตของนักกีฬา ซึ่งรวมไปถึงการประกอบพิธีทางศาสนาแบบออนไลน์ เพื่อช่วยให้จิตใจของนักกีฬาสงบมากขึ้น ระหว่างถูกกักตัวในพื้นที่จำกัดของ NBA Bubble

งบประมาณที่พุ่งสูงเกินกว่าที่คาดในการดำเนินงาน NBA Bubble 2020 จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะพวกเขาให้ความสำคัญกับสิ่งที่เกิดขึ้นนอกสนามมากพอ ๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นในสนาม เพราะท้ายที่สุดแล้ว การจัด Bubble ก็ไม่ต่างจากการบริหารรัฐขนาดเล็ก ที่ประชาชน (ในที่นี่คือนักกีฬาและสตาฟ) ต้องมีความสุขขณะถูกกักตัว

NBA จึงไม่เพียงได้เงินจำนวน 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากยกเลิกลีกกลับคืนมา แต่ยังสร้างแม่แบบในการจัดแข่งขันเกมกีฬาภายใต้ Bubble ที่ครอบคลุมทุกแง่มุม และใช้เงินทุกดอลลาร์อย่างคุ้มค่าที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook