แสงนั้นสำคัญไฉน ? : ความสำคัญของไฟในสนามแข่งขันที่หลายคนอาจมองข้าม
“มันจ้าซะเหลือเกิน! แหม่ แสงไฟมันแทงเข้าไปในตา! ขืนส่องนาน ๆ ตาจะบอด แต่ถ้าผมไม่พลาดนี่น่าจะเป็นหลอดซีนอน อื้อหืม มันกินเข้าไปในดวงตา”
ถึงประโยคดังกล่าวจะเป็นคำพูดของ “ค่อม ชวนชื่น” หรือชื่อจริง อาคม ปรีดากุล ตลกชื่อดังผู้ล่วงลับของเมืองไทย จากภาพยนตร์เรื่อง “น้ำ ผีนองสยองขวัญ” แต่นักกีฬาก็คงพูดแบบเดียวกันหากไม่ได้รับการดูแลสายตาอย่างถูกต้องในสนามการแข่งขัน
เคยสังเกตกันไหมว่า ไม่ว่าจะเป็นสนามฟุตบอลขนาดใหญ่ สเตเดียมการแข่งขันระดับกลาง หรือแม้กระทั่งห้องขนาดเล็กในร่มตามยิมออกกำลังกายต่าง ๆ ทุกที่จะมีการจัดไฟให้เหมาะสมอยู่ตลอด และแสงไฟในแต่ละพื้นที่ก็จะมีความแตกต่างกันออกไป บางที่เป็นไฟคูลไวท์สีขาว บางที่เป็นไฟวอร์มไวท์สีส้ม หรือบางที่ก็เป็นไฟสีสุดแสบเหมือนอยู่ในคลับเลยทีเดียว
แสงแบบไหนในสนามกีฬาคือแสงที่ดี ? นอกจากเรื่องการใช้งานแล้ว แสงไฟมีผลต่อการออกกำลังกายหรือไม่ ?
Main Stand ขออาสาเล่าให้ฟัง แต่ขอแนะนำว่าไม่ต้องเพิ่มแสงสว่างจากหน้าจอมากจนเกินไป เดี๋ยวจะแสบตาเสียก่อน
ไฟท่วมสนาม
เรื่องที่หลายคนอาจจะมองข้ามไปหรือไม่เคยสังเกตมาก่อน คือความสำคัญของการจัดไฟในสนามกีฬาในแต่ละที่ ไม่ว่าจะเป็นที่กลางแจ้งหรือที่ร่ม ประโยชน์อันดับหนึ่งของไฟในสนามกีฬาคือ มีไว้เพื่อให้ผู้ชมได้มองเห็นชัดและให้นักกีฬาสามารถแข่งขันในช่วงเย็นถึงตอนกลางคืนได้
แปลกแต่จริง ที่แม้กระทั่งเรื่องของการจัดไฟในสนามกีฬาก็มีประวัติศาสตร์ในตัวเอง ประเภทของไฟที่นิยมใช้ในสนามกีฬากลางแจ้งเหล่านี้ เรียกว่า “ฟลัดไลท์” (Floodlight) หรือถ้าแปลเป็นไทยแบบตรง ๆ จะได้ความหมายงง ๆ ว่า “ไฟน้ำท่วม”
สาเหตุที่ไฟชนิดดังกล่าวถูกเรียกว่า ฟลัดไลท์ เพราะคำว่า Flood ในภาษาอังกฤษ สามารถแปลความหมายออกมาได้ว่า “ท่วม” คำว่า ฟลัดไลท์ จึงหมายถึงการสาดแสงเข้าไปให้ท่วมในบริเวณรอบ ๆ ให้เกิดความสว่างนั่นเอง กีฬาชนิดแรกที่เริ่มมีการใช้ฟลัดไลท์ในสนามคือ กีฬาโปโล ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ในปี 1878 เริ่มต้นขึ้นที่ย่านฟูแล่ม กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในการแข่งขันระหว่างสโมสรเรเนลัก โปโล กับสโมสรเฮอร์ลิงแฮม เพื่อให้ผู้ชมสามารถรับชมการแข่งขันยามเย็นได้ดีขึ้น
นอกจากสนามกีฬาโปโล ทางฝั่งสนามฟุตบอลก็นำไฟประเภทดังกล่าวมาติดในสนามเช่นกัน มีการนำฟลัดไลท์ไปติดที่สนามกีฬา บรามอล เลน รังเหย้าของทีม เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ในปีเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดความยากลำบากต่อการรับชมการแข่งขัน เพราะในฤดูหนาวจะมืดเร็วเป็นพิเศษ
ความนิยมของฟลัดไลท์ถูกส่งต่อไปเรื่อย ๆ จนถึงยุคที่มีโทรทัศน์ ในช่วงทศวรรษ 1950s ประโยชน์ฟลัดไลท์นอกจากจะทำให้คนที่อยู่ในสนามรับชมได้สะดวกมากขึ้นแล้ว ยังทำให้ผู้ชมที่กำลังรับชมการถ่ายทอดสดจากทางบ้านเห็นชัดไปด้วย ฟลัดไลท์จึงกลายเป็นมาตรฐานที่ทุกสนามการแข่งขันจำเป็นต้องมี เพื่อความสุนทรีย์ในการรับชมกีฬายามเย็น
ฟลัดไลท์ในช่วงแรกจะถูกผลิตขึ้นจากหลอดไฟประเภท HID หรือชื่อเต็มคือ High Intensity Discharge ซึ่งเป็นหลอดไฟที่มีความเข้มข้นสูง ต่างจากหลอดไฟทั่วไปที่เราพบเห็นได้ในห้อง หลอดไฟประเภทดังกล่าวจะประกอบไปด้วยแก๊สเฉื่อยที่ไม่มีปฏิกิริยาทางเคมี ใช้พลังงานเยอะ สะสมความร้อนจำนวนมากได้ง่าย และมีผลต่อการสร้างก๊าซเรือนกระจกในอากาศ กล่าวอย่างง่ายที่สุดคือ “สิ้นเปลือง” นั่นเอง
เป็นความจริงที่ฟลัดไลท์ให้ความสว่างแบบเต็มที่ แต่ปัจจุบันฟลัดไลท์ที่นิยมใช้กันส่วนมากจะเป็นหลอดไฟ LED ความต่างที่ชัดเจนระหว่าง HID กับ LED คือ LED เป็นหลอดไฟที่ประหยัดพลังงานกว่า เจ้าของสนามกีฬาไม่ต้องการเพิ่มค่าใช้จ่ายสำหรับค่าไฟเข้าไปอีก เพราะเดิมทีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งฟลัดไลท์ในสนามก็มีจำนวนไม่น้อยอยู่แล้ว อ้างอิงจากคู่มือการสร้างสนามกีฬาฟุตบอลของสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ ยูฟ่า ราคาเฉลี่ยในการติดตั้งฟลัดไลท์ของสนามกีฬาจะอยู่ที่ 830,000 ยูโร หรือราว 32 ล้านบาท
ไฟ LED เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในสนามกีฬาหลายแห่ง อาทิ แยงกีส์ สเตเดียม สนามกีฬาเบสบอลของทีม นิวยอร์ก แยงกีส์ ในศึก MLB ที่เพิ่งเปลี่ยนมาใช้ฟลัดไลท์แบบ LED ในปี 2015 และได้ชื่อว่าเป็นสนามกีฬาแห่งที่สองที่ทำแบบนี้ ต่อจากที่สนามกีฬา ทีโมบาย พาร์ก ในเมืองซีแอตเทิล ของทีม ซีแอตเทิล มาริเนอร์ส ในศึก MLB เช่นกัน
การอัพเกรดครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด เพราะนอกจากที่ไฟจะสว่างขึ้นแล้ว เมื่อนำไปเทียบกับระบบเก่าที่เป็น HID พบว่ามีความสว่างมากกว่าถึง 50 เปอร์เซ็นต์ (จากการสำรวจการใช้พลังงานในสนามกีฬาโดยผู้ตรวจสอบของลีก MLB ในปี 2016)
ถ้าพูดกันตามตรง แค่มีไฟใช้ในตอนกลางคืนก็ถือว่าเยี่ยมแล้ว ยิ่งสว่างยิ่งดี แต่ถ้าเป็นไปได้ การจัดไฟเลียนแสงธรรมชาติอาจจะดียิ่งกว่า และในพื้นที่ที่มีขนาดเล็กก็พอจะทำได้อยู่บ้าง ไม่เหมือนกับสนามกีฬาขนาดใหญ่
สว่างแค่ไหนถึงเหมาะสม ?
ในขณะที่สนามกีฬากลางแจ้งจำเป็นต้องใช้ฟลัดไลท์เพื่อให้ความสว่างแบบเต็มสูบ ในทางกลับกัน สถานที่ออกกำลังกายแบบปิดอย่างโรงยิม อาจมีตัวเลือกที่มากกว่า ส่วนมากจะนิยมจัดไฟเพื่อให้ได้แสงที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด เพราะด้วยพื้นที่อันจำกัด นักกีฬาหรือผู้ชมอาจได้รับผลกระทบจากแสงสีขาวมากจนเกินไป
สามารถดูตัวอย่างได้จากโรงยิมของมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในกรุงปักกิ่ง ที่เคยใช้เป็นสนามในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เมื่อปี 2008 สถานที่ออกกำลังกายแบบปิดเช่นนี้ ไม่จำเป็นต้องใช้ฟลัดไลท์ที่ใหญ่โตเหมือนกับสนามกีฬากลางแจ้ง แต่จะใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า “โซลาร์ทูบ” (Solar Tube) แทน มีลักษณะเหมือนท่อที่ถูกวางไว้บนหลังคา นำแสงด้วยการหักเห
เว่ยมิน จวาง สถาปนิกแห่งมหาวิทยาลัยชิงหวา ผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบระบบแสงไฟของโรงยิมแห่งนี้ได้แสดงความเห็นไว้ว่า
“หากนำสิ่งนี้มาเทียบกันกับระบบจัดไฟแบบธรรมดา โซลาร์ทูบได้เปรียบกว่าในเรื่องของความล้ำสมัยและขอบเขตการใช้งานที่เยอะกว่ามาก สิ่งนี้ยังช่วยลดการใช้พลังงานเกินความคาดหมาย และช่วยในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของเราไปในตัว”
ด้วยความที่โซลาร์ทูบมีฟังก์ชันการใช้งานหลักที่ต้องพึ่งพาแสงอาทิตย์ ทำให้ผู้เข้าชมสามารถรับชมกีฬาได้อย่างสบายตา เหมือนกับดูการแข่งขันกลางแจ้งแต่อยู่ในที่ร่ม เพราะเป็นแสงที่ได้รับจากธรรมชาติโดยตรงที่ให้ความรู้สึกโปร่งมากกว่า
ถึงจะฟังดูดี แต่โซลาร์ทูบก็เป็นเพียงตัวเลือกหนึ่งเท่านั้น เพราะบางที่ในโรงยิมขนาดเล็กก็ยังนิยมใช้ไฟขาวแบบ LED อยู่ เนื่องจากความต้องการของนักกีฬาที่มาใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกันนั้นต่างกันออกไป โรงยิมบางแห่งเลือกที่จะติดไฟไว้หลายแบบสำหรับนักกีฬาหลาย ๆ กลุ่ม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือโรงยิมในเมืองซิลเคบอร์ก ประเทศเดนมาร์ก ที่มีการติดตั้งไฟที่สามารถปรับแต่งความสว่างเองได้ตามชอบ จัดสรรโดยบริษัทไฟฟ้าชื่อดังของเดนมาร์ก เฮนนิ่ง มอร์เทนเซ่น ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบการติดตั้งไฟในโรงยิมของเมืองนี้ เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานที่หลากหลายได้มากที่สุดตามจุดประสงค์ของโรงยิม
“พวกเขาอยากได้ไฟหลาย ๆ แบบ สำหรับผู้ใช้หลาย ๆ กลุ่ม อย่างถ้าตอนที่มีคนมาทำความสะอาด เขาก็จะกรอกรหัสแบบนึงเพื่อเปิดไฟแบบซอฟต์ ถ้าเป็นเด็กนักเรียนมาใช้ ก็จะกดรหัสอีกแบบเพื่อเพิ่มแสงสว่างที่มากกว่า หรือถ้าเป็นนักกีฬาที่มาเช่าแบบเหมา ก็จะมีรหัสที่เอาไว้เปิดไฟ LED ให้สว่างสุด ๆ ไปเลย”
เคิร์ต เฮดการ์ด พนักงานจากบริษัทไฟดังกล่าว พูดถึงระบบไฟที่พวกเขาติดตั้งให้แก่ยิมในพื้นที่
ไม่ว่าจะเป็นแสงแบบไหน จะมาจากธรรมชาติหรือมาจากหลอดไฟ การศึกษาทางวิทยาศาสตร์อาจบอกเราได้ว่าทำไมแสงถึงเกี่ยวข้องกับการออกกำลังกาย
มีแสงแล้วดีกว่าจริงหรือไม่ ?
แสงอาจช่วยให้เราสามารถออกกำลังกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะจากการศึกษาของแพทย์หญิง ดอกเตอร์ ฟิลลิส ซี แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์นในชิคาโก้ รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องการนอนและวงจรการหลับของมนุษย์ เสนอว่าการออกกำลังกายในขณะที่มีแสงจ้าจะช่วยทำให้เราตื่นตัวกว่า จากการอ้างอิงถึงงานวิจัยของเธอในบทความจากเว็บไซต์ furthermore โดย แคสซี่ ชอร์ตสลีฟ
“ถ้ามีแสงมาก คุณก็อาจจะวิ่งได้เร็วขึ้น แสงที่จ้ากว่าอาจจะช่วยให้คุณตื่นตัว รู้สึกมีพลัง และแรงจูงใจที่มากกว่า”
ไม่ใช่แค่แสงจ้าเท่านั้นที่มีผลต่อการเล่นกีฬา ลองนึกภาพว่าถ้าเราสามารถตื่นตัวได้ในขณะที่วิ่งตอนมีแสงมาก ในทางกลับกันเราก็สามารถผ่อนคลายได้ในที่ที่มีแสงน้อย ที่เหมาะกับการเล่นกีฬาที่เน้นการทำสมาธิแบบโยคะ
นอกจากนี้แสงที่ดีก็อาจจะช่วยสร้างบรรกาศในการออกกำลังกายให้สนุกขึ้น อย่างแสงไฟนีออนในห้องออกกำลังกายตามฟิตเนส ก็มีผลทำให้คนที่ออกกำลังกายรู้สึกตื่นตัวได้
นีล ไพเออร์ ที่ปรึกษา ผู้จัดการ และนักออกแบบฟิตเนส เคยให้สัมภาษณ์กับ Athletic Business เกี่ยวกับผลกระทบของไฟในห้องออกกำลังกาย เขาบอกว่าถ้าอยากออกแบบห้องออกกำลังกายใหม่ บางทีก็ไม่ต้องเปลี่ยนอะไรเลย แค่เปลี่ยนการจัดไฟอย่างเดียวก็เพียงพอแล้ว
“คุณสามารถออกแบบห้องออกกำลังกายใหม่ เพื่อดึงอารมณ์ร่วมของผู้เข้าร่วมได้อย่างง่ายดาย โดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนอะไรเลยนอกจากไฟ”
“มันสามารถช่วยกระตุ้นคุณหรือว่าทำให้คุณเฉื่อยชาได้ทั้งสิ้น มันมีผลมากกระทบอย่างมาก”
ตามคำแนะนำของนีล เขาบอกว่าแสงแบบธรรมชาตินั้นมีผลต่อการออกกำลังกาย ในแง่ของการทำให้รู้สึกตื่นตัว ยิ่งตื่นตัวก็ยิ่งรู้สึกมีพลัง นอกเหนือไปกว่านั้น ถ้าข้ามไปใช้ไฟมีสีฉูดฉาดไปเลยก็ยิ่งเหมือนได้พลังเพิ่มมากขึ้นไปอีก
“ถ้าคุณอยู่ในห้องขนาดใหญ่และคุณกำลังออกกำลังกายแบบที่มีความเข้มข้นสูงในเวลาสั้น ๆ อย่างเต้นแอโรบิกหรือบูตแคมป์ การใช้แสงที่มีความสดใส อย่างสีส้ม สีเหลือง มันจะทำให้คุณตื่นตัวมากขึ้น ทำให้คุณรู้สึกมีพลัง”
อย่างไรก็ตาม ก็มีนักวิจัยคนอื่นที่ออกมาแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ สิ่งที่ดอกเตอร์ฟิลลิสหรือนีลพูดอาจจะจริงในบางส่วน แต่เพื่อไม่ให้เป็นการเข้าใจผิด ดอกเตอร์ วอลเตอร์ อาร์ ทอมป์สัน ผู้เชี่ยวชาญในสาขาเวชศาสตร์การกีฬาแห่งมหาวิทยาลัยจอร์เจีย ได้กล่าวต่อเรื่องนี้ไว้ว่า
“จากการบันทึกข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เรายังไม่มีข้อสรุปจนถึงทุกวันนี้ ว่าการออกกำลังกายแบบไหนดีกว่ากัน ระหว่างในที่ที่มีแสงกับที่มืด”
สิ่งที่ดอกเตอร์ฟิลลิสบอกได้ คือ แสงสามารถทำปฏิกิริยากับสมองให้รู้สึกตื่นตัวได้ เพราะโดยทั่วไป คนส่วนมากจะรู้สึกแอกทีฟในยามเช้า คุ้นชินว่าเป็นการเริ่มต้นวันใหม่ที่สดใสและเมื่อตะวันตกดินก็เป็นเวลาพักผ่อน แต่ถึงการออกกำลังกายตอนมีแสงจะช่วยให้สมองตื่นตัวมากขึ้น นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะช่วยให้กล้ามเนื้อมีความแข็งแรงขึ้นแต่อย่างใด เพราะบางคนก็ชอบออกกำลังกายในตอนเช้ามืดมากกว่าตอนสายหรือแม้กระทั่งการจ็อกกิ้งในตอนกลางคืนที่มีแค่ไฟถนน
หากกล่าวโดยสรุป การออกกำลังกายที่ดีอาจจะมีแสงหรือไม่มีก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าใครสะดวกแบบไหน เวลาไหน เพราะไฟมีหน้าที่ให้ความสว่าง ไม่ได้ทำให้ร่างกายแข็งแรง เป็นตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับบรรยากาศและสภาพแวดล้อมเป็นหลัก
หากคุณเคยลองออกกำลังกายกับแสงธรรมชาติมาบ้างแล้ว หรือออกกำลังกายในที่ที่มีแสงสังเคราะห์เยอะ ๆ อย่างในสนามฟุตบอล บางทีถ้าเราลองซื้อไฟปาร์ตี้มาติดในห้อง เปิดเพลงฟัง แล้วทำบอดี้เวท ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจไม่แพ้กัน