ลุ้นกันปีต่อปี : ทำไมสโมสรเจลีกจึงผลงานไม่คงเส้นคงวาและแทบไม่ผูกขาดแชมป์ ?
นับตั้งแต่นักเตะไทยหลายคนไปค้าแข้งใน เจลีก ทำให้คนไทยหลายคนหันมาติดตามฟุตบอลญี่ปุ่นกันมากขึ้น และสิ่งที่เราได้เห็นมาตลอดระยะหลังคือ “ทำไมเจลีกจึงมีการแข่งขันที่เข้มข้นและคาดเดาไม่ได้เลยในแต่ละสัปดาห์”
ว่ากันว่านี่คือลีกที่แข่งกันแบบปีต่อปี ลุ้นกันนัดต่อนัด ไม่มีการผูกขาดและก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของลีกอย่างชัดเจน … ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ?
ติดตามได้ที่ Main Stand
เริ่มอย่างมีระดับ ค่อย ๆ นับทีละก้าว
การจะเริ่มทำสิ่งใดให้มีผลตอบแทนออกมาสดใสงดงามนั้นจำเป็นอย่างมากที่จะต้องค่อย ๆ วางแผน และคิดค้นแต่ละขั้นตอนออกมาให้ดีและตอบโจทย์กับสิ่งที่ตัวเองมีที่สุด
วงการฟุตบอลญี่ปุ่น มีหลายช่วงเวลาที่ต้องเผชิญกับความยากลำบาก เพราะฟุตบอลไม่ใช่กีฬายอดนิยมอันดับหนึ่งเหมือนกับในหลาย ๆ ประเทศ คนญี่ปุ่นนิยมกีฬาเบสบอลเป็นหลัก
Photo : www.jfa.jp
ช่วงที่ญี่ปุ่นเริ่มเล่นฟุตบอลกันในปี 1920 นั้นได้รับความนิยมน้อยมาก มันกลายเป็นกีฬาเฉพาะกลุ่มที่มีคนเล่นอยู่เพียงหยิบมือ จนกระทั่งการพัฒนาที่แท้จริงได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ ญี่ปุ่น กำลังจะได้เป็นเจ้าภาพในการแข่งขันโอลิมปิก 1964
ครั้งนั้น เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น (JFA) บินข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึงประเทศเยอรมนี เพื่อศึกษาและเก็บข้อมูลในการสร้างระบบพัฒนานักฟุตบอลที่ญี่ปุ่น และที่สำคัญพวกเขายังได้เชิญ เด็ตมาร์ คราเมอร์ โค้ชชาวเยอรมัน เข้ามาเป็นที่ปรึกษาฝ่ายเทคนิคของสมาคมอีกด้วย
คราเมอร์ ไม่เพียงเข้ามาช่วยฝึกสอนนักเตะเท่านั้น เขายังมีส่วนสำคัญในการวางรากฐานในการพัฒนาวงการฟุตบอลญี่ปุ่น เขาเสนอให้ JFA ก่อตั้งระบบอบรมโค้ชและพัฒนาคุณภาพผู้ตัดสินให้ดีขึ้น รวมไปถึงเป็นคนริเริ่มให้คนญี่ปุ่นเปลี่ยนจากการเล่นสนามดินมาเป็นสนามหญ้า เนื่องจากก่อนหน้านั้น สภาพแวดล้อมในการเล่นฟุตบอลของนักฟุตบอลญี่ปุ่นอยู่ในขั้นย่ำแย่ ถึงขนาดไม่มีแม้แต่สนามหญ้าให้ทีมชาติได้ฝึกซ้อม
แต่ที่สำคัญที่สุดคือ คราเมอร์ คือคนที่เสนอให้ JFA ก่อตั้งลีกอาชีพด้วย สิ่งที่ตามมาคือผลงานในระดับชาติดีขึ้น ญี่ปุ่น กลายเป็นชาติแรกในเอเชียที่ได้เหรียญรางวัลในโอลิมปิก(เหรียญทองแดง) ในปี 1968 แต่หลังจากหมดยุค "ฟุตบอลบูม" เกมระดับลีกของประเทศก็มีปัญหาขึ้นมา
Photo : twitter.com/FootballArchive
เนื่องจากหลายทีมเป็นทีมที่สร้างโดยบริษัทห้างร้าน ภายใต้ชื่อ เจแปน ซอคเกอร์ ลีก (Japan Soccer League) หรือ JSL ไม่ได้เป็นลีกฟุตบอลอาชีพ นักเตะส่วนใหญ่ยังคงเป็นพนักงานขององค์กรต่าง ๆ ที่เป็นเจ้าของทีม ดังนั้นการพัฒนาที่แท้จริงและก้าวกระโดดจึงไม่ยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้นจึงต้องมีการปรับโครงสร้างเพื่อให้ลีกฟุตบอลของญี่ปุ่นกลายเป็นลีกอาชีพขึ้นมาให้ได้
ทุกอย่างเริ่มขึ้นในปี 1992 ด้วยการสร้าง เจลีก ขึ้นมา โดยทุกทีมที่เคยบริหารภายใต้ชื่อองค์กรจะต้องปรับตัว พวกเขาต้องแยกออกมาเป็นอิสระจากบริษัทต่าง ๆ และใช้ระบบท้องถิ่นเข้ามาแทนที่ โดยให้ความสำคัญกับชุมชน สร้างความผูกพัน และสร้างฐานแฟนบอลแบบที่รักกันด้วยใจตั้งแต่จุดเริ่มต้น
นอกจากนี้ยังมีกฎยิบย่อยอีกเยอะมากเพื่อให้ทุกทีมมีความเป็นมืออาชีพ ไม่ว่าจะเป็นการบังคับให้สนามแข่งของแต่ละทีมต้องจุคนดูได้ไม่น้อยกว่า 15,000 คน, มีทีมเยาวชนตั้งแต่รุ่นอายุ 15 ปีขึ้นไปเป็นของตัวเอง, ผู้ที่ทำงานในตำแหน่งโค้ชจะต้องผ่านการอบรมและมีใบอนุญาตที่ถูกต้อง นี่คือส่วนหนึ่งเท่านั้นในการสร้างฟุตบอล เจลีก ให้ยั่งยืนโดยแผนงานนี้มีการวางเป้าหมายไว้นานถึง 100 ปีเลยทีเดียว
และเป้าที่วางไว้ ไม่ใช่แค่การทำให้ลีกแข็งแกร่ง มีการแข่งขันสูงขึ้นและมีคุณภาพเท่านั้น เพราะปลายทางคือพวกเขาจะสร้างสุดยอดนักเตะท้องถิ่น เพื่อกลายเป็นขุมกำลังที่แข็งแกร่งสำหรับทีมชาติ และมีเป้าหมายคือการเป็นแชมป์โลก
ทว่าการวางแผนที่ดีมีคุณภาพ หากดำเนินงานไปตามขั้นตอนเราก็จะได้เห็นผลกระทบในแง่บวกแบบจับต้องได้ และตอนนี้ เจลีก กำลังแสดงให้โลกเห็นอยู่ ณ เวลานี้ว่า นี่คือลีกฟุตบอลที่ยากต่อการคาดเดาที่สุด เพราะทุก ๆ ทีมต่างลงเล่นด้วยคุณภาพที่ใกล้เคียงกันมาก มีการแข่งขันแบบพลิกล็อก ทีมบ๊วยชนะทีมหัวตารางให้เห็นแทบทุกสัปดาห์ ... ทำไมถึงเป็นแบบนั้น ? และนี่คือเรื่องราวระหว่างทางก่อนที่ ญี่ปุ่น จะหวังไปถึงเเชมป์โลกในปี 2050 ตามแผนงานที่พวกเขาได้วางไว้
เพราะปลายทางสำคัญที่สุด
อย่างที่ได้กล่าวเอาไว้ในข้างต้น แผนพัฒนา 100 ปี เกิดขึ้นก็เพื่อการสร้างลีกให้เเข็งแกร่งไปตามสเต็ปทีละขั้น ๆ และหากทำสำเร็จ ญี่ปุ่น ที่อาจจะเริ่มสร้างฟุตบอลช้ากว่าชาติในยุโรปก็จะสามารถสร้างวัฒนธรรมฟุตบอลขึ้นมาได้ เฉกเช่นฟุตบอลอังกฤษ ที่ฟุตบอลกลายเป็นเหมือนลมหายใจของคนที่นั่น และเป็นอุตสาหรกรรมที่ทำเงินได้มากมายและยั่งยืนอีกด้วย
การสร้างทีมขึ้นในเวลาไล่ ๆ กัน และเติบโตมากับระบบและแผนงานเดียวกัน ทำให้คุณภาพของสโมสรในเจลีกไม่ได้หนีกันมากมายนัก และหากคุณอยากจะเห็นภาพชัด ๆ ว่าทำไมฟุตบอลเจลีกจึงเป็นลีกที่คาดเดายากทั้งผลการแข่งขัน และอันดับในตาราง ก็ขอให้เทียบกับฟุตบอลลีกของไทย คุณจะพบคำตอบได้ชัดเจน
ในขณะที่ฟุตบอลไทยนั้นความแข็งแกร่งส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับเจ้าของสโมสรว่ากล้าทุ่มมากแค่ไหน รายได้ส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากเชิงพาณิชย์แต่เกิดจากการลงทุนของผู้บริหาร เราจึงได้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจนมาก ทั้งการเสริมทัพและขุมกำลังนักเตะแต่ละทีม ทีมใหญ่ ๆ มีการตลาดที่ฮือฮาเพราะทุ่มเงินมหาศาลอยู่ตลอด ขณะที่ทีมเล็ก ๆ ก็มักจะมีข่าวคราวเรื่องค่าจ้างนักเตะ หรือเรื่องวงในแนว ๆ นี้ออกมาให้เห็นบ่อย ๆ จนมันทำให้เกิดการผูกขาดและมีทีมเก่งอยู่แค่ไม่กี่ทีม ขณะที่ทีมที่เล็กกว่าที่ผู้บริหารทุ่มเงินน้อยกว่าก็แทบจะไม่มีทางลืมตาอ้าปากได้เลย
ขณะที่ เจลีก นั้นอยู่กันอย่างเป็นระบบมาก ทุกสโมสรต่างมีรายได้ส่วนใหญ่มากกว่าครึ่งมาจากเหล่าสปอนเซอร์ของทีม และค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดก็จะได้รับทีมละ 200 ล้านเยน หรือราว ๆ 61 ล้านบาท ซึ่งนั่นทำให้แต่ละทีมจะมีตัวเลขรายรับที่แน่นอน และพวกเขาจะใช้จ่ายกันตามตัวเลขที่เหมาะสม
"สโมสรในญี่ปุ่นในระดับเจลีกจะมีงบประมาณอยู่ที่ 30-50 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เงินที่พวกเขาหาได้ส่วนใหญ่มาจากการขายตั๋วเข้าชมและเหล่าสปอนเซอร์ของทีม ซึ่งส่วนมากจะเป็นผู้สนับสนุนระดับท้องถิ่น เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นภาพรายได้แต่ละทีมชัดคือ พวกเขามีงบประมาณระดับสูสีกับทีมในบุนเดสลีกา 2 เยอรมัน"
ส่วนรายได้จากการขายนักเตะนั้น สโมสรในเจลีกมีรายได้ในส่วนนี้ค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับสโมสรอื่น ๆ ในโลก เนื่องจากพวกเขามักจะส่งออกนักเตะหรือขายนักเตะในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป นั่นจึงทำให้เราได้เห็นนักฟุตบอลฝีเท้าดีในเจลีกไปค้าแข้งกับทีมในยุโรปอยู่บ่อยครั้ง
"เจลีกมีกฎควบคุมการเงินของตัวเอง ซึ่งอาจจะเปรียบเทียบได้กับกฎ FFP ของยูฟ่า ดังนั้นทุกสโมสรจะไม่สามารถจ่ายเงินเกินรายได้ที่ได้รับ วิธีที่สโมสรจะหาเงินมาใช้พัฒนาทีมได้มากขึ้นสังเกตได้ง่าย ๆ เพราะหลาย ๆ สโมสรมักจะมีแนวคิดขยายสนามเหย้าเพื่อเพิ่มรายได้ของพวกเขานั่นเอง" Pedro Iriondo บรรณาธิการของเว็บไซต์ฟุตบอล futbolfinanzas.com ที่ทำงานร่วมกับ jsoccer.com ของญี่ปุ่น เล่าถึงสิ่งที่เขารู้หลังติดตามลีกญี่ปุ่นมาตั้งแต่ยุค 90s
เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับความเข้มข้นและการคาดเดายากของลีกอย่างแน่นอน ประการเเรกคือทีมในเจลีกมีนโยบายการสร้างทีมที่เหมือนกัน มีที่มาของรายได้คล้าย ๆ กัน และปลายทางของพวกเขาในเวลานี้ คือการส่งออกนักเตะท้องถิ่นไปเล่นในยุโรป ในราคาที่สมเหตุสมผล ในช่วงเวลาที่นักเตะคนนั้น ๆ พร้อมจะออกไปเจอกับระดับของเกมที่สูงยิ่งกว่าที่เจลีกเป็น
สโมสรจะได้เงินจากการขายนักเตะให้กับสโมสรในยุโรป ทำให้ทีมสามารถเก็บเงินทุนก้อนนั้นไว้ใช้เสริมทัพต่อไปได้ในตลาดครั้งต่อ ๆ ไป ขณะที่เรื่องนี้ก็จะส่งผลถึงทีมชาติด้วย เพราะนักเตะหลายคนได้ออกไปพัฒนาตัวเองในต่างแดนตั้งแต่อายุยังน้อย
การขายสตาร์ ถือเป็นหนึ่งในประเด็นที่ฟุตบอลญี่ปุ่นเกิดความสูสีในการแข่งขัน เพราะคุณภาพของทีมจะตกลงไปทันทีเมื่อนักเตะคนเก่ง ๆ ย้ายออก สิ่งที่พอจะทำให้การสมองไหลเพื่อส่วนรวมนี้ทุเลาลงได้ คือการสร้างทีมโดยการเน้นที่ระบบมากกว่าตัวบุคคล ซึ่งหากใครที่ได้ติดตามฟุตบอลญี่ปุ่นในช่วง 5-6 ปีหลังสุด ก็น่าจะเห็นภาพชัดว่าฟุตบอล เจลีก นั้นเน้นกันที่ความฟิต การเพรสซิ่งที่วิ่งเข้าหาคู่แข่งตั้งแต่แดนบน (ฝั่งของคู่ต่อสู้) และเน้นการเข้าทำแบบเท้าสู่เท้า มากกว่าการฝากความหวังไว้ที่นักเตะคนใดคนหนึ่งให้ใช้ความสามารถส่วนตัวทะลุแนวรับคู่แข่ง
จริงอยู่ที่ ณ เวลานี้ สโมสร คาวาซากิ ฟรอนตาเล่ จะเป็นสโมสรที่กวาดแชมป์ได้ถึง 3 สมัยจากการลงเล่น 4 ปีหลังสุด แต่สิ่งที่เราเห็นได้คือ ในตารางคะแนนตลอด 10 ปีให้หลัง มีถึง 13 สโมสรที่เคยก้าวขึ้นมาติดในอันดับท็อป 3 ของลีก (กัมบะ โอซากา,อูราวะ เรดส์, คาชิมา แอนท์เลอร์ส, คาวาซากิ ฟรอนตาเล่, นาโกยา แกรมปัส, เซเรโซ โอซากา, คาชิวา เรย์โซล, ซานเฟรซเซ่ ฮิโรชิมา, เวกัลตะ เซนได, โยโกฮามา เอฟ มารินอส และ เอฟซี โตเกียว)
ยังไม่จบแค่นั้นเหล่าทีมในเจลีกที่เคยก้าวมาติดท็อป 3 ใน 10 ปีหลังสุด ยังเคยเป็นทีมที่ตกชั้นมาแล้ว เช่น เซเรโซ โอซากา, เวกัลตะ เซนได หรือแม้กระทั่ง คาวาซากิ ฟรอนตาเล่ ยอดทีมแห่งยุคก็เคยตกชั้นมาเเล้วในช่วงยุค 2000s นี่คือหลักฐานของความเข้มข้นของลีก ที่คาดเดาอันดับในตารางและผลการแข่งขันได้ยากในทุก ๆ ปี
หากเทียบในช่วงเวลาเดียวกัน เจลีก มีความหลากหลายของทีมท็อป 3 ของลีก มากกว่าลีกยุโรปอื่น ๆ เกือบ 2 เท่า เพราะ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ก็มีเพียงแค่ 7 ทีม, ลา ลีกา สเปน มี 5 ทีม, เซเรีย อา 6 ทีม ขณะที่ บุนเดสลีกา เยอรมันนั้นมากกว่าลีกอื่น ๆ ด้วยจำนวน 8 ทีม
มีโอกาสไหมที่จะมีทีมไหนขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ
เยอรมัน มี บาเยิร์น มิวนิค, อิตาลี มี ยูเวนตุส, ฝรั่งเศส มี เปแอสเช และ สเปน มีทีมอย่าง เรอัล มาดริด และ บาร์เซโลน่า นี่คือรายชื่อทีมที่เคยสร้างช่วงเวลายิ่งใหญ่และเป็นมหาอำนาจในลีกของตัวเองและสามารถผูกขาดเเชมป์ได้หลายสมัยติดต่อกัน และต่อให้พลาด อีกไม่กี่ปีพวกเขาก็ทุ่มเงินและทวงแชมป์คืนได้สำเร็จ คำถามคือเเล้วลีกญี่ปุ่นจะมีหรือไม่ ?
คำตอบเรื่องนี้คงต้องบอกว่ามันขึ้นอยู่กับทัศนคติและมุมองของผู้บริหารทีมของสโมสรในเจลีกว่าพวกเขาจะก้าวข้ามวิธีทำทีมเก่า ๆ และเข้าสู่โลกแห่งความยิ่งใหญ่แบบผูกขาดหรือไม่ ... คำตอบคือยากมาก
อย่างที่ได้กล่าวเอาไว้ในข้างต้น สโมสรแต่ละสโมสรต่างก็มีบัญชีรายรับรายจ่ายที่จัดเจน รายได้หลักมาจากสปอนเซอร์ท้องถิ่นและค่าตั๋วเข้าชมเกมในสนาม ดังนั้นลืมไปได้เลยหากจะมีสโมสรใดในเจลีกทุ่มซื้อนักเตะต่างชาติเหมือนที่ลีกจีนหรือลีกต่าง ๆ ในแถบตะวันออกกลางทำ
นอกจากนี้พวกเขายังมีนโยบายที่แม้ไม่ได้เป็นลายลักษณ์อักษรแต่ก็เข้าใจตรงกันว่า ต่อให้นักเตะท้องถิ่นที่สร้างขึ้นมาเก่งขนาดไหน แต่วันหนึ่งเมื่อถึงเวลาที่นักเตะได้ข้อเสนอที่ดีกว่าจากลีกที่เเข็งแกร่งกว่า พวกเขาก็จะปล่อยนักเตะด้วยความยินดี ยกตัวอย่างเช่น วิสเซล โกเบ ที่เพิ่งปล่อยดาวซัลโวของสโมสร 2 ปีซ้อนอย่าง เคียวโกะ ฟุรุฮาชิ ให้กับ กลาสโกว์ เซลติก เช่นเดียวกับ คาวาซากิ ฟรอนตาเล่ ที่ปล่อยปีกดาวรุ่งอนาคตไกลอย่าง คาโอรุ มิโตะมะ ให้กับ ไบรท์ตัน ไปในตลาดซื้อขายครั้งนี้
"เจลีก ไม่สามารถแข่งขันเรื่องเงินกับสโมสรในทวีปเอเชียอย่าง จีน ได้เลย สิ่งที่จะทำให้สโมสรจากญี่ปุ่นก้าวหน้าในระดับทวีปได้คือ พวกเขาจะต้องรักษานักเตะท้องถิ่นที่มีพรสวรรค์เอาไว้กับทีม และดึงตัวนักเตะต่างประเทศในระดับที่ดีที่สุดเข้ามาเพิ่ม"
"นักเตะท้องถิ่นของพวกเขาเก่งและมีคุณภาพอยู่เเล้ว แต่นักเตะต่างชาติคือคุณภาพที่สามารถชี้ขาดผลการแข่งขันได้" เดยัน ดัมยาโนวิช หนึ่งในนักเตะยุโรปที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในการค้าแข้งในเอเชีย กล่าว
เมื่อเรื่องเงินถูกจำกัด และการกักเก็บนักเตะท้องถิ่นที่มีฝีมือไม่สามารถทำได้ มันจึงเป็นเหตุให้การผูกขาดแชมป์และสร้างความนิยมในลีกแต่เพียงผู้เดียวเป็นไปได้ยาก
นอกจากนี้แฟนบอลของแต่ละทีมก็ยังไม่ได้เรียกร้องอะไรมากไปกว่านี้ พวกเขายังคงมีความสุขที่ได้เห็นทีมรักลงเล่นในลีกสูงสุดของประเทศ ไล่ล่าแชมป์และมีการเเข่งขันที่เข้มข้น แม้ที่สุดเเล้วเมื่อถึงในระดับทวีปทีมจากญี่ปุ่นจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จในฟุตบอล เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก ก็ตาม นั่นไม่สำคัญสำหรับแฟนบอลเท่าไรนัก
"ฟุตบอลของญี่ปุ่นไมได้แข็งแกร่งในระดับทวีปเท่าที่ควร จริงอยู่ที่พวกเขาสามารถสู้ได้ทุกทีมในทวีป แต่พวกเขาไม่ได้โฟกัสไปที่ตรงนี้มากนัก ลีกที่นี่ต่างกับยุโรปพอสมควร แฟนบอลญี่ปุ่นชอบการแข่งขันระดับท้องถิ่นมากกว่าระดับ เอเอฟซี เพราะพวกเขาต้องเดินทางไกลและเจอกับทีมที่มีคุณภาพเป็นรองและไม่ได้มีชื่อเสียงอะไรมากนัก ความนิยมตรงนี้จึงน้อยมาก ๆ" Pedro Iriondo กล่าวถึงเรื่องนี้ต่อและอธิบายว่า ลีกญี่ปุ่นจะยังคงเข้มข้นเฉพาะในการเเข่งขันในลีกต่อไปและยากที่จะมีมหาอำนาจแบบกินรวบเหมือนกับลีกอื่น ๆ ในยุโรป
เมื่อเกมระดับทวีปไม่ใช่เป้าหมายหลักก็ไม่จำเป็นต้องทุ่มซื้อนักเตะต่างชาติที่เปลี่ยนแปลงผลการแข่งขันได้ ดังนั้นพวกเขาจึงสู้กันด้วยไพ่ที่มีอยู่ในมือต่อไป ... และไม่รู้ว่าเมื่อไหร่แนวคิดนี้จะเปลี่ยนแปลง
"สิ่งที่ญี่ปุ่นใช้บริหารองค์กรและเป็นแนวทางของฟุตบอลของพวกเขา คือความมีวินัยและการทำงานหนัก ซึ่งการทำงานแบบนี้จะพาคุณไปได้ไกลแน่นอน เพียงแต่ว่าหลังจากนั้นคุณจะต้องพึ่งในสิ่งที่เรียกว่านวัตกรรม(สิ่งที่ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งอาจเป็นเทคโนโลยี แนวความคิด ฯลฯ) ซึ่งตรงนี้ยังเป็นเรื่องที่หายากในฟุตบอลญี่ปุ่นอยู่" อัฟชิน ก็อตบิ เฮ้ดโค้ชชาว อิหร่าน ที่เคยคุมสโมสรในญี่ปุ่นอย่าง ชิมิสึ เอสพัลส์ กล่าว
นี่คือเบื้องหลังความเข้มข้นและการคาดเดาไม่ได้ของฟุตบอลเจลีก นี่เป็นการแข่งขันที่วัดกันแบบปีต่อปี นัดต่อนัด ของแต่ละสโมสร หากพวกเขาหาแนวทางและปรัชญาของตัวเองเจอ และพวกเขาก็มีลุ้นเรื่อย ๆ เหมือนกับที่ คาวาซากิ ฟรอนตาเล่ เป็น ซึ่งนี่คือวิธีที่ทำให้สโมสรญี่ปุ่นใกล้เคียงการเป็นแชมป์ได้มากที่สุด ส่วนเรื่องการจองแชมป์ในระยะยาว ยิ่งใหญ่เป็นสิบ ๆ ปีคงเกิดขึ้นได้ยากตามวัฏจักรที่ได้กล่าวไปข้างต้น และนี่คือแนวคิดแบบเจลีกสไตล์
การเปลี่ยนเเปลงแนวคิดดังกล่าวจะมาถึงตอนไหนไม่มีใครรู้ได้ ไม่แน่อาจจะต้องรอหลังจากญี่ปุ่นได้เป็นแชมป์โลกก่อนตามแผนงานแรกที่ตั้งไว้ และหากชาติประสบความสำเร็จแล้ว ไม่แน่ว่าพวกเขาอาจจะมีแผนผลักดันมาตรฐานของเจลีกในอนาคตให้กลายเป็นลีกระดับทวีป หรือระดับโลกก็เป็นได้…