สวดมนต์ช่วยได้ ? : ทีมฟุตบอลในอังกฤษ จัดการปัญหาน้ำท่วมอย่างไร ?
น้ำท่วม หนึ่งในภัยธรรมชาติที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ บนดาวเคราะห์สีครามที่ปกคลุมด้วยน้ำบนพื้นผิวไปมากกว่า 71% แห่งนี้
เมื่อคราพายุเข้า เกิดฝนตกลงมาอย่างหนักหรือต่อเนื่องเป็นเวลานาน ก็ไม่แปลกที่จะเกิดน้ำท่วมขึ้นมาได้ และการสวดมนต์เพียงอย่างเดียว คงไม่ได้ช่วยให้น้ำอยู่ดี ๆ ก็หายไป แล้วบรรดาทีมฟุตบอลน้อยใหญ่แห่งเกาะอังกฤษ เขามีวิธีรีบมือกับเหตุน้ำท่วมอย่างไร ให้เกิดผลกระทบต่อการแข่งขันลีกกับฟุตบอลถ้วยน้อยที่สุด
มาลองถอดบทเรียนน่ารู้ จากหนึ่งในลีกที่ก้าวข้ามขีดจำกัดจากลักษณะทางภูมิประเทศ และโลกที่ไม่เอื้ออำนวยได้สำเร็จกันได้ในบทความนี้
ท่วมจนมีคู่มือ
หากคุณเคยเล่นเกม Football Manager แล้วได้มีโอกาสเลือกคุมทีมในลีกระดับล่าง ก็อาจเคยถูกเลื่อนโปรแกรมแข่งขันออกไปจากกำหนดเดิม เนื่องจากเกิดน้ำท่วมขังในสนามกันมาบ้างแล้ว
เรื่องสองเรื่องนี้อาจดูไม่เกี่ยวข้องกัน แต่ในความเป็นจริง สโมสรขนาดเล็กในหลายประเทศรวมถึงอังกฤษด้วยนั้น ต่างต้องเคยประสบกับปัญหาน้ำท่วมสนามมาแล้ว ไม่ว่าจะเกิดจากฝนตกหนักจนระบายออกไม่ทัน หรือพื้นที่สนามตั้งอยู่ในที่ลุ่ม และมีโอกาสโดนน้ำท่วมเป็นปกติอยู่แล้วก็ตาม
แต่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไร การโดนน้ำท่วมแบบนี้ ย่อมส่งผลให้เกิดความเสียหายกับสโมสรต่าง ๆ อยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเรื่องของสภาพสนาม ห้องแต่งตัว อุปกรณ์ต่าง ๆ ไปจนถึงตารางแข่งขัน ที่อาจต้องสับเปลี่ยนกันให้วุ่นวาย โดยเฉพาะกับทีมในระดับล่าง ซึ่งเต็มไปด้วยโปรแกรมเตะจนแทบไม่มีเวลาได้หยุดพักกันอยู่แล้ว การได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมก็อาจส่งผลร้ายแรงได้พอสมควรเลย
นั่นจึงทำให้ในปี 2014 สมาคมฟุตบอลอังกฤษ หรือ FA ได้ร่วมมือกับ Sport England และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากภาครัฐ ในการจัดทำคู่มือให้กับสโมสรฟุตบอลต่าง ๆ สามารถวางแผนเตรียมตัวและลดผลกระทบที่เกิดจากเหตุน้ำท่วม
คู่มือดังกล่าวได้เริ่มโดยให้แต่ละทีมวางแผนตั้งแต่เนิ่น ๆ ว่าสนามของตนจะมีโอกาสเสี่ยงจะโดนน้ำท่วมหรือไม่ โดยมีการประสานข้อมูลกับทาง Environment Agency ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานของรัฐบาลอังกฤษ ที่ถูกก่อตั้งในปี 1995 มาเพื่อคอยดูแลและรับมือกับน้ำท่วมโดยเฉพาะ
นอกจากประสานและเตรียมพร้อมด้านข้อมูลแล้ว คู่มือดังกล่าวก็ได้แนะนำให้ทีมที่มีความเสี่ยง คอยจัดการลอกท่อและเคลียร์สิ่งอุดตันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันและช่วยลดโอกาสในการเกิดน้ำท่วมที่รุนแรงลงได้ โดยหากเป็นไปได้ Sport England ยังได้แนะนำว่า แต่ละทีมที่มีความเสี่ยง ควรมีประกันภัยในด้านน้ำท่วมเอาไว้ เพราะนอกจากจะได้เงินประกันเมื่อเกิดภัยมาแล้ว ก็จะได้รับคำแนะนำที่อาจช่วยป้องกันน้ำท่วมในแต่ละครั้งเพิ่มขึ้นด้วย
อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือ คู่มือดังกล่าวยังได้รวบรวมสิ่งที่ควรทำเพื่อลดความเสียหายระหว่างน้ำท่วมสนามให้น้อยที่สุด ตั้งแต่การทำให้สนามพร้อมรับมือกับมวลน้ำจำนวนมากอย่างรวดเร็ว เช่น ซีลปิดพื้นที่ที่เกิดรอยรั่ว เปิดทางให้น้ำสามารถไหลผ่านออกจากสนามไปอย่างรวดเร็ว ไปจนถึงการย้ายอุปกรณ์ที่สำคัญให้สูงจากพื้นที่ที่อาจโดนน้ำท่วมได้
หลังจากมวลน้ำได้ผ่านพ้นไป ก็ยังมีขั้นตอนให้แต่ละทีมได้นำไปใช้เพื่อฟื้นฟูสภาพสนามให้พร้อมกับมาแข่งขันได้อีกครั้ง โดยเฉพาะการปรับสภาพสนามให้พร้อมลงเล่นหลังจากจมอยู่ใต้น้ำและถูกปนเปื้อนเป็นระยะเวลานาน ทาง Sport England แนะนำให้มีการตรวจหาสารพิษ โลหะหนัก และเกลือ ที่อาจอยู่ในบริเวณพื้นสนาม จนกลายเป็นอันตรายต่อตัวของนักฟุตบอลและทีมงานได้
นั่นคือการรับมือในกรณีที่มีน้ำท่วมเข้ามาในสนามฟุตบอลแล้ว แต่บรรดาทีมใหญ่ ๆ เช่นในระดับพรีเมียร์ลีกแบบนี้ เขารับมือกับมวลน้ำรอการระบายได้อย่างไร ที่ทำให้เราแทบไม่เคยเห็นภาพของน้ำ หรือแม้แต่หิมะปกคลุมพื้นสนามฟุตบอลของสโมสรเหล่านี้เลย
แก้ได้ ไม่ต้องสวดมนต์
ภายใต้ผืนหญ้าสวยงามที่เราเห็นกันนี้ เรามักเห็นสปริงเกอร์ปล่อยน้ำที่โผล่ขึ้นมาจากใต้ดิน ในช่วงเวลาก่อนเริ่มเกมหรือระหว่างพักครึ่งกัน ซึ่งนั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสิ่งที่สโมสรต่าง ๆ ซ่อนเอาไว้เบื้องล่างของพื้นสนามพวกเขา
นอกจากระบบทำความร้อนจากใต้ดินที่ช่วยละลายหิมะในช่วงฤดูหนาวแล้ว สโมสรในพรีเมียร์ลีกยังได้วางแนวท่อไว้เบื้องล่างผืนหญ้า เพื่อช่วยให้น้ำที่ซึมผ่านชั้นดินและทรายลงมานั้น สามารถไหลออกจากสนามได้อย่างรวดเร็ว จนทำให้ฟุตบอลระดับพรีเมียร์ลีกยังคงทำการแข่งขันต่อไปได้ แม้จะเกิดพายุฝนหรือหิมะรุนแรงสักเพียงไหนก็ตาม
ทั้งนี้ หากมีเหตุการณ์ที่จำเป็นจริง ๆ เช่น แมตช์ระหว่าง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เปิดบ้านพบกับ ฟูแล่ม เมื่อปี 2012 ที่ เอติฮัด สเตเดียม ได้เกิดพายุหิมะตกลงมาอย่างหนักจนกลายเป็นสีขาวโพลนบริเวณหลังประตู ซึ่งไม่มีระบบละลายหิมะติดตั้งไว้อยู่ใต้ผืนหญ้า และต้องมีการเลื่อนเวลาเตะครึ่งหลังออกไป เพื่อให้เจ้าหน้าที่ใช้พลั่วมาย้ายหิมะออกจากพื้นสนาม ช่วยในการระบายน้ำและเคลียร์พื้นที่แข่งขันให้พร้อมเล่นได้อย่างทันท่วงที
อย่างไรก็ตาม แม้ในปัจจุบันการระบายน้ำจะดำเนินไปได้อย่างราบรื่น แต่อีกปัจจัยที่แม้แต่สโมสรในพรีเมียร์ลีกก็ไม่อาจหลีกหนีได้พ้น ก็คงเป็นเรื่อง Climate Change หรือภาวะโลกรวน ที่เราก็ได้เห็นผลลัพธ์กันอยู่ในปัจจุบัน
มีรายงานว่า สแตมฟอร์ด บริดจ์ ของ เชลซี, เซนต์ แมรี่ ของ เซาธ์แฮมป์ตัน, แคร์โรว์ โร้ด ของ นอริช ซิตี้ เป็นส่วนหนึ่งใน 23 สนามจากฟุตบอลลีกอาชีพของอังกฤษ ที่จะเกิดน้ำท่วมสนามฉับพลัน หรือจมอยู่ใต้น้ำอย่างถาวรในปี 2050 หรืออีกเพียง 29 ปีต่อจากนี้เท่านั้น
ผลกระทบของภาวะ Climate Change ก็เริ่มเป็นที่สัมผัสได้แล้วในปีนี้ โดยที่กรุงลอนดอน เมืองหลวงของอังกฤษเอง ได้เผชิญกับเหตุการณ์น้ำท่วม ต่อด้วยอากาศร้อนอย่างรุนแรง และน้ำท่วมอีกครั้ง ในระยะเวลาที่ห่างกันไม่ถึง 2 อาทิตย์ ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่บรรยากาศโลก ควบคู่ไปกับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่สูงขึ้นจนเข้าใกล้สู่จุดที่กู่ไม่กลับแล้ว ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ เริ่มหาทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เช่น การแข่งขันรถ F1 ได้ประกาศแผนลดการปล่อยคาร์บอนให้เหลือ 0 ควบคู่ไปกับการใช้เชื้อเพลิงที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมภายในปี 2030 เช่นเดียวกับ FIFA ที่เข้าร่วมกับ UN ในการลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้ภายในปี 2050 เช่นกัน
Climate Change เป็นสิ่งที่เริ่มต้นขึ้นมาแล้ว เราไม่อาจปฏิเสธว่ามันไม่มีอยู่จริงได้อีกต่อไป ทั้งจากอากาศที่แปรปรวน อุณหภูมิที่สูงขึ้น และปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งการปิดหูปิดตามองว่าไม่ใช่ตัวเราเองที่จะต้องรับผิดชอบหรือแก้ไขปัญหา ด้วยการสวดมนต์อยู่เฉย ๆ และภาวนาว่าโลกใบนี้จะแก้ปัญหาของมันไปได้เอง ก็คงเป็นความคิดที่เห็นแก่ตัวอยู่พอสมควร
หวังว่าสักวัน เราคงไม่ต้องคิดค้นการแข่งขันฟุตบอลน้ำ เพื่อมาเตะกันในโลกใบที่ Dystopian ล่มสลายลงไปเสียก่อนนะ...