เปิดผลงานโค้ชชาวต่างชาติคุมทีมชาติไทยลุย AFF SUZUKI CUP ตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน
ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในนาม เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ ที่จัดมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1996 เปรียบเสมือนฟุตบอลโลกของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ต่างตั้งตารอคอยในทุก ๆ 2 ปี เพื่อให้ได้ชมศึกแห่งศักดิ์ศรีของชาติ ที่ว่ากันว่ามียอดผู้ชมทั้งในและนอกสนามมากกว่าฟุตบอลโลกเสียอีก
สำหรับทีมชาติไทย ที่เป็นเจ้าของแชมป์รายการนี้มากสุดที่ 5 สมัย เพิ่งแยกทางกับ อากิระ นิชิโนะ ไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้เข้าสู่โหมดโยนหินถามทางกับการเลือกเฮดโค้ชเข้ามาคุมทีมกันอยู่พักใหญ่ แต่อย่างไรก็ดี "มาดามแป้ง" นวลพรรณ ล่ำซำ ผู้จัดการทีมชาติไทยคนปัจจุบันได้ประกาศแต่งตั้ง มาโน่ อเล็กซานเดร โพลกิ้ง เข้ามาเป็นเฮดโค้ชคนใหม่เพื่อทำทีมลุยศึก เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ ครั้งนี้เป็นที่แน่นอนแล้ว
การเข้ามาคุมทีมชาติไทยของ มาโน่ โพลกิ้ง ได้สร้างคำถามกับแฟนบอลชาวไทยในวงกว้างถึงผลงานในอดีตที่ผ่านมาของเขาว่า เหมาะสมแล้วหรือที่จะคุมทีม "ช้างศึก" เพื่อเรียกศรัทธากลับมา และด้วยกระแสของแฟนบอลที่แตกออกเป็นสองฝ่าย ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนพร้อมให้กำลังใจ และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย สืบเนื่องจากผลงานการคุมทีมของ มาโน่ ก่อนหน้านี้ ไม่เคยมีถ้วยแชมป์
แชมป์อาเซียน 5 สมัยของของทีมชาติไทย มีเพียง ปีเตอร์ วิธ เป็นโค้ชต่างชาติคนเดียวเท่านั้นที่พาทีมชาติไทยคว้าแชมป์ฟุตบอลแห่งชาติอาเซียนได้ถึง 2 ครั้ง (2000, 2002) ส่วนอีก 3 สมัยเกิดขึ้นโดยฝีมือคนไทย (ธวัชชัย สัจจกุล 1996 กับ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง 2014, 2016) และถ้าพูดกันตามผลงานแล้ว โค้ชชาวต่างชาติเหมือนจะไม่ถูกโฉลกกับฟุตบอลรายการนี้สักเท่าไหร่
Main Stand จะขอพาไปชมโค้ชทีมชาติไทยชาวต่างชาติที่คุมทีมลุยศึก เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ ตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงปัจจุบันว่ามีใครบ้าง และผลงานของพวกเขาเป็นอย่างไร ติดตามได้ที่นี่...
ปีเตอร์ วิธ (แชมป์ 2 สมัย 2000 และ 2002)
กุนซือชาวอังกฤษที่คุมทีมชาติไทยในยุคไร้เทียมทาน นำโดย เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง, ดุสิต เฉลิมแสน, วรวุฒิ ศรีมะฆะ และ ตะวัน ศรีปาน เขาพาทีมชาติไทยประสบความสำเร็จมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอันดับ 4 เอเชียนเกมส์ 1998, ฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนเอเชียรอบ 10 ทีมสุดท้าย และแชมป์ฟุตบอลแห่งชาติอาเซียนที่ในตอนนั้นใช้ชื่อว่า ไทเกอร์ คัพ อีก 2 สมัย
การแข่งขันในปี 2000 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งจัดการแข่งขันในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดสงขลา ปีเตอร์ วิธ พาทีมชาติไทยชนะ 5 นัดรวด ยิงได้ 15 ประตูและเสียเพียง 3 ลูกเท่านั้น โดยในรอบชิงฯ ไทย เปิดบ้านชนะ อินโดนีเซีย ไป 4-1
และการแข่งขันในปี 2002 ที่ประเทศอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพร่วมกับสิงคโปร์ ปีเตอร์ วิธ กับนักเตะชุดดรีมทีมก็ยังทำผลงานได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยแข่งไป 5 นัด ชนะ 2 เสมอ 2 แพ้ 1 ซึ่งไฮไลท์สำคัญอยู่ที่รอบชิงชนะเลิศพบกับเจ้าภาพ อินโดนีเซีย ที่ในนัดนั้นมีผู้เข้าชมมากกว่า 100,000 คนเต็มความจุสนาม เกโรล่า บุง การ์โน (หรือที่คนไทยคุ้นเคยในชื่อ เสนายัน) แต่ทีมชาติไทยก็ดวลเป้าชนะจุดโทษไปได้ 4-2 จากการเสมอกันในเวลาปกติ 2-2
แม้ว่านี่จะเป็นช่วงเวลาแสนหอมหวานของฟุตบอลทีมชาติไทย แต่หลังจาก ปีเตอร์ วิธ ก็ไม่มีโค้ชชาวต่างชาติคนใดคุมทีมชาติไทยได้แชมป์รายการนี้อีกเลย
ซิกกี้ เฮลด์ (ตกรอบแรกปี 2004)
สุดยอดปรมจารย์โค้ชชาวเยอรมัน ที่มีชื่อเสียงอย่างมากสมัยเป็นนักเตะให้กับ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ รวมถึงเคยคุมทีมชั้นนำอย่าง ชาลเก้ 04, กาลาตาซาราย, ทีมชาติไอซ์แลนด์ และกัมบะ โอซากา แต่เขาก็ดันมาตกม้าตายกับทีมชาติไทย
เฮลด์ เข้ามารับงานโค้ชทีมชาติไทยหลังจาก ปีเตอร์ วิธ กุนซือคนก่อนหน้าที่ย้ายไปคุมทีมชาติอินโดนีเซีย โดยสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยที่ได้โหวตเยอรมันให้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2006 ทำให้ ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ ตำนานนักเตะทีมชาติเยอรมัน ส่ง เฮลด์ มาคุมทีมชาติไทยเพื่อเป็นการตอบแทน
แต่อย่างไรก็ดี เฮลด์ กลับถูกบังคับจากสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยให้สร้างทีมชาติชุดใหม่ขึ้นมา โดยมีชื่อเรียกว่าชุด "ยังบลัด" นำโดย สินทวีชัย หทัยรัตนกุล, ศรายุทธ ชัยคำดี และซารีฟ สายนุ้ย พร้อมกับนักเตะแกนหลักที่อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 21 ปี ซึ่งเตรียมที่จะไปทำศึกฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน ณ ประเทศมาเลเซีย
แต่ด้วยความไม่พร้อมในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกนักเตะด้วยตัวเองไม่ได้ รวมถึงการบริหารของ วิมล กาญจนะ ผู้จัดการทีมชาติไทยในยุคนั้น ทำให้ "ช้างศึก" ชุดยังบลัดต้องกระเด็นตกรอบแรก อาเซียน คัพ เป็นครั้งแรกด้วยผลงาน ชนะ 2 เสมอ 1 แพ้ 1 แม้ว่าจะยิงคู่แข่งได้มากถึง 13 ประตูและเสียแค่ 4 แต่คะแนนก็ไม่พอที่จะผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศ ด้วยการมีเพียง 7 คะแนน ตามหลังมาเลเซียชาติเจ้าภาพที่มี 9 คะแนน
จากผลงานตกรอบแรก ส่งผลให้ ซิกกี้ เฮลด์ ต้องออกจากการเป็นโค้ชทีมชาติไทยทั้ง ๆ ที่เข้ามาคุมทีมได้เพียง 5 เดือน และเขาก็วางมือจากงานโค้ชไปอย่างถาวร
ปีเตอร์ รีด (รองแชมป์ปี 2008 แพ้เวียดนามสกอร์รวม 2-3)
ยอดกุนซือชาวอังกฤษที่พกดีกรีเคยคุมทีมอย่าง แมนเชสเตอร์ ซิตี้, ซันเดอร์แลนด์, ลีดส์ ยูไนเต็ด และ โคเวนทรี ซิตี้ บินลัดฟ้ามาคุมทีมชาติไทยพร้อมกับเป้าหมายที่ได้รับมอบจากนายวรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ณ เวลานั้น ให้พาทีมชาติไทยไปเล่นฟุตบอลโลก 2014 ให้ได้
แต่อย่างไรก็ดี ทัวร์นาเมนต์ เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ ซึ่งเป็นทัวร์นาเมนต์ที่สองของเขากับทีมชาติไทย กลับได้รับคำชมอย่างล้นหลามด้วยสไตล์การเล่นที่เป็นรูปเป็นร่าง ช่วยให้หัวใจแฟนบอลชุ่มชื่น แต่จุดเปลี่ยนได้เดินทางมาถึงในรอบชิงชนะเลิศกับ เวียดนาม คู่แข่งที่เคยเจอกันมาก่อนในรอบแบ่งกลุ่มที่ไทยชนะไป 2-0
เกมนัดชิงฯ รอบแรกเล่นที่ราชมังคลากีฬาสถาน เป็นทาง เวียดนาม ที่บุกมาช็อกทีมชาติไทยด้วยสกอร์ 1-2 และในนัดที่ 2 ณ สนามหมีดิ่ญ กรุงฮานอย ทีมชาติไทยได้ประตุแห่งความหวัง 1-0 จากลูกยิงของ ธีรศิลป์ แดงดา ในนาทีที่ 21 แต่แล้วในวินาทีสุดท้ายของเกม เล คอง วินห์ ตำนานกองหน้าทีมชาติเวียดนามก็โขกเต็ม ๆ หัวตุงตาข่าย ส่งให้ทัพ "ดาวทอง" คว้าแชมป์ฟุตบอลอาเซียนสมัยแรกได้สำเร็จ
ด้วยผลงานที่ตกม้าตายในรอบชิงฯ รีด จึงเดินทางกลับอังกฤษทันที และเข้ารับงานเป็นผู้ช่วยโค้ชให้กับ สโต๊ค ซิตี้ ก่อนประกาศลาออกจากตำแหน่งเฮดโค้ชทีมชาติไทยอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายนปี 2009
ไบรอัน ร็อบสัน (ตกรอบแรก 2010)
เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจาก ปีเตอร์ รีด ลาออกไป สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยนำโดยนายวรวีร์ มะกูดี ได้ประกาศแต่งตั้ง ไบรอัน ร็อบสัน ยอดกัปตันทีมในตำนานของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่พกดีกรีเคยคุมทีม มิดเดิ้ลสโบรช์, เวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน และเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด มาก่อนหน้า
แต่ด้วยสไตล์การคุมทีมที่อยู่บ้านในอังกฤษมากกว่าอยู่ในสนามบอลของประเทศไทย ทำให้ ร็อบสัน มีเวลาเตรียมตัวในการคุมทีมค่อนข้างน้อยกว่าปกติ อีกทั้งยังขาดการสนับสนุนที่ดีจากสมาคมฟุตบอลฯ ทำให้ 3 รายการที่ ร็อบสัน คุมทีมชาติไทยประกอบไปด้วย เอเชียน คัพ รอบคัดเลือก, เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ และ เอเชียน เกมส์ 2010 เป็นไปอย่างกะทันหัน ตะกุกตะกัก ไม่ว่าจะเป็นการเรียกนักเตะฝึกซ้อมหรือการเตรียมทีมก่อนแข่ง
โดยเฉพาะรายการ ซูซูกิ คัพ ที่ร็อบสันมีเวลาเตรียมทีมชาติไทยเดินทางไปแข่งที่ อินโดนีเซีย ราว ๆ สัปดาห์กว่า ๆ เท่านั้น ทำให้ผลงานในรอบแบ่งกลุ่มก็ตามอย่างที่คนไทยได้เห็น ได้แก่ เสมอลาว 2-2, เสมอมาเลเซีย 0-0 และแพ้เจ้าภาพ อินโดนีเซีย 1-2 โดยเกมดังกล่าว ภาณุพงศ์ วงศ์ษา ทำแฮนด์บอลในกรอบเขตโทษถึง 2 ครั้ง จนถูกใบแดง
หลังจากนั้น ร็อบสัน ได้เดินทางกลับอังกฤษก่อนประกาศลาออกจากตำแหน่งในเดือนมิถุนายนปี 2011 ด้วยปัญหาด้านสุขภาพ
วินฟรีด เชเฟอร์ (รองแชมป์ปี 2012 แพ้ สิงคโปร์ สกอร์รวม 2-3)
ไม่กี่วันหลังจากแยกทางกับ ไบรอัน ร็อบสัน ... วรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ได้ประกาศแต่งตั้ง วินฟรีด เชเฟอร์ กุนซือชาวเยอรมัน ที่เคยนำทีมชาติแคเมอรูนไปฟุตบอลโลก 2002 เข้ามาคุมทีมทันทีด้วยสัญญา 3 ปี โดยมีเป้าหมายพาทีมชาติไทยไปลุยฟุตบอลโลกปี 2014 ให้ได้
แม้ว่าเขาจะมีผลงานคุมทีมชาติไทยในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนเอเชียที่น่าพอใจในโค้งแรก แต่ผลงานอันย่ำแย่ใน เอเชียน คัพ ปี 2015 รอบคัดเลือก และทำได้แค่เพียงรองแชมป์ ซูซูกิ คัพ 2012 ก็ทำให้เขาต้องแยกทางกับทีมชาติไทยในปี 2013
ในรายการ ซูซูกิ คัพ 2012 เชเฟอร์ คุมทีมลุยรอบแบ่งกลุ่มที่ไทยเป็นเจ้าภาพในกลุ่ม A โดยพาทีมชนะ 3 นัดรวด ยิงได้ 9 ประตูและเสียเพียงแค่ 2 ประตู ผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศไปพบกับมาเลเซีย
ซึ่งในรอบรองฯ นั้น เชเฟอร์ ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม ด้วยการบุกไปเสมอมาก่อน 1-1 และกลับมาเล่นในบ้านชนะ 2-0 ผ่านเข้ารอบชิงฯ พบกับ สิงคโปร์ ที่อยู่ในช่วงพีคของวงการฟุตบอล และในเกมแรกของรอบชิงฯ สิงคโปร์ ก็อัดไทยแบบไม่ไว้หน้า 3-1 ก่อนที่นัดต่อมาที่สนามศุภชลาศัย ไทย จะทำได้แค่ชนะ 1-0 แพ้ไปด้วยสกอร์รวม 2-3 ทำได้เพียงแค่รองแชมป์เท่านั้น
มิโลวาน ราเยวัช (ตกรอบรองชนะเลิศ ด้วยกฎประตูทีมเยือนต่อมาเลเซีย 2-2 ปี 2018)
หลังจากฟุตบอลไทยเข้าสู่จุดสูงสุดในยุคของ "ซิโก้" เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ก็ได้เข้าสู่ยุคผลัดใบที่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยได้เลือกกุนซือชาวเซอร์เบียรายนี้เข้ามาคุมทีม เนื่องด้วยประสบการณ์เคยคุมทีมชาติกานาไปลุยฟุตบอลโลก 2010 แถมเกือบสร้างประวัติศาสตร์นำทีมจากแอฟริกาทีมนี้เข้ารอบรองชนะเลิศฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายครั้งแรก โดยเป้าหมายของ ราเยวัช คือต้องการเข้ามาปรับปรุงระบบเกมรับของทีมชาติไทยให้เหนียวแน่นขึ้น
แม้ว่าจะพาทีมชาติไทยได้แชมป์ คิงส์ คัพ 2017 และ รองแชมป์ในปี 2018 แต่ในรายการ ซูซูกิ คัพ 2018 ที่ทีมชาติไทยต้องกลับไปป้องกันแชมป์ 2 สมัยในปี 2014 และ 2016 ราเยวัชต้องเจอบททดสอบที่หนักหน่วง
ในรอบแบ่งกลุ่ม ราเยวัช ทำผลงานได้น่าพอใจด้วยการชนะ 3 เสมอ 4 ไร้พ่าย แต่อย่างไรก็ตาม การผ่านเข้าสู่รอบน็อกเอาต์ไปพบกับมาเลเซีย ราเยวัช ก็ทำให้สิ่งที่ไม่น่าเชื่อเกิดขึ้น
ในนัดแรก ราเยวัช บุกไปเยือนด้วยแทคติกตั้งรับแล้วสวนกลับจนเสมอ 0-0 ท่ามกลางกระแสความไม่พอใจของแฟนบอล ก่อนที่นัดต่อมาทีมชาติไทยก็ยังเล่นในสไตล์ตั้งรับเหมือนเดิม โดยไทยยิงขึ้นนำมาเลเซียได้ถึง 2 ครั้งแต่ก็โดนตามตีเสมอ 2 ครา และโอกาสในวินาทีสุดท้ายที่ไทยได้จุดโทษ แต่ อดิศักดิ์ ไกรษร กลับยิงข้ามคาน ก็ส่งให้ไทยร่วงตกรอบ
มาโน่ อเล็กซานเดร โพลกิ้ง (2021 ???)
Photo : www.facebook.com/FootballAssociationOfThailand
เฮดโค้ชหน้าใหม่ป้ายแดงของทัพ "ช้างศึก" เตรียมทีมชาติไทยลุยศึก ซูซูกิ คัพ 2021 ในวันที่ 5 ธันวาคม 2021 ถึง 1 มกราคม 2022 ณ ประเทศสิงคโปร์ ที่ได้รับความไว้วางใจจาก "มาดามแป้ง" นวลพรรรณ ล่ำซำ ผู้จัดการทีมชาติไทยให้เข้ามารับงานทวงคืนศรัทธาแฟนบอลในครั้งนี้ กำลังเป็นกระแสตั้งคำถามในหมู่แฟนบอลถึงความเหมาะสม
แต่ถึงอย่างไร การชิงด่วนสรุปว่าเขาจะไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่เรื่องที่ยุติธรรมนักสำหรับ มาโน่ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้แสดงผลงาน เพราะที่ผ่านมาก็เคยมีโค้ชชาวต่างชาติคุมทีมได้แชมป์รายการนี้มาแล้ว อย่าง ปีเตอร์ วิธ ในปี 2000 และ 2002 อีกทั้งใช่ว่าโค้ชชาวไทยจะคุมทีมได้แชมป์ 100 % เพราะในปี 1998 วิทยา เลาหกุล ก็เคยพาทีมชาติไทยตกรอบรองฯ ต่อเวียดนาม และชาญวิทย์ ผลชีวิน ก็ทำทีมได้แค่รองแชมป์ในปี 2007
ทั้งนี้ เราต้องตั้งตารอคอยว่า มาโน่ โพลกิ้ง จะสามารถพาทีมชาติไทยไปถึงจุดหมายได้ไกลเพียงใด เพราะอย่างน้อยเสียงเชียร์จากแฟนบอลก็อาจจะเป็นตัวแปรสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จก็เป็นได้