มีอะไรแบบนี้ด้วยเหรอ ? กฏแปลกๆ เกี่ยวกับ เสื้อนักกีฬา
ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งดีเสมอ แต่จะเหมาะสมหรือไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ นี่คือเรื่องราวอลวนเกี่ยวกับเรื่องของชุดแข่งขันของทีมฟุตบอล ที่แม้จะทำออกมาเท่ขนาดไหน แต่สุดท้ายใครบางคนก็ไม่เข้าใจและบอกกับพวกเขาว่า "ห้ามใส่เด็ดขาด" มีเหตุการณ์ใดและเสื้อแข่งของทีมไหนบ้างที่มีปัญหา ทั้งที่งงบ้างและไม่งงบ้าง ?
ติดตามได้ที่ Main Stand
ห้ามเป็นแฟชั่น
แฟนบอลยุค 1990s-2000s คงจำตำนานทีมชาติแคเมอรูนได้ดี เพราะชาติจากทวีปแอฟริกาชาตินี้มีเทพวินนิ่งมากมายทั้ง แพทริก เอ็มโบม่า, ออกุสติน ซิโม, หรือแม้กระทั่ง ซามูเอล เอโต้ ในวัยหนุ่ม
นอกจากจะเป็นที่จดจำด้วยตัวนักเตะแล้ว ชุดแข่งของ แคเมอรูน ในศึกแอฟริกัน เนชั่นส์ คัพ 2002 ก็เป็นตำนานไปด้วย เพราะแบรนด์ผู้ผลิตอย่าง พูม่า ออกแบบชุดแข่งของ แคเมอรูน มาได้แหวกแนวที่สุด เพราะพวกเขาทำให้มันเป็นเหมือนกับเสื้อแขนกุด หรือเสื้อกล้ามแบบที่นักบาสเกตบอลใส่ ... ที่สำคัญทัพสิงโตแห่งยาอุนเดคว้าแชมป์รายการดังกล่าวไปครองได้อีกด้วย
แม้ทาง พูม่า จะอวดอ้างสรรพคุณว่านี่คือสุดยอดดีไซน์ที่เหมาะกับสรีระนักเตะแอฟริกัน รวมถึงสภาพอากาศในทวีป เพราะทำให้นักกีฬาเคลื่อนที่ได้ง่ายและระบายความร้อนได้ดี ที่สำคัญแฟนบอลก็ตื่นเต้นและเตรียมที่จะควักเงินซื้อชุดแข่งนี้มาใส่โชว์ความแหวกและแตกต่างในฟุตบอลโลก 2002 รอบสุดท้ายที่จะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าอยู่แล้วแท้ ๆ
ทว่า สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ติดเบรกเรื่องนี้และบอกว่า ชุดแข่งดังกล่าวคือการตั้งใจโฆษณาและแฝงไปด้วยแฟชั่น ซึ่งผิด Laws of the Game กฎกติกาของเกมลูกหนังที่ฟีฟ่าได้วางไว้ และสุดท้ายชุดนี้ก็โดนแบน ห้ามใช้ในการแข่งที่ฟีฟ่ารับรองในทันที ซึ่งพูม่าต้องแก้ไขด้วยการเย็บแขนเสื้อสีดำเพิ่มเข้าไป ในชุดที่ใช้แข่งเวิลด์คัพฉบับเอเชีย ซึ่ง แคเมอรูน ตกรอบแรก
เหมือนจะเข็ดแต่ก็ไม่ ... 2 ปีต่อมาในแอฟริกัน เนชั่นส์ คัพ 2004 พูม่า เอาอีกแล้ว ด้วยการออกแบบชุดแข่งของ แคเมอรูน เป็นชุดแบบจั๊มสูท หรือชุดที่ใส่แบบสวมทีเดียวทั้งเสื้อทั้งกางเกงถูกเย็บติดกัน
เซปป์ แบล็ตเตอร์ ประธานฟีฟ่าในเวลานั้นถึงกับต้องบอกว่า ได้โปรดหยุดกวนกันเถอะ เพราะมันเป็นความผิดข้อเดิม ๆ ชนิดที่ว่าตั้งใจยั่วโมโหกันชัด ๆ ผลสุดท้ายชุดจั๊มสูทของ แคเมอรูน ก็โดนแบนไปอย่างรวดเร็วหลังจบทัวร์นาเมนต์ ซึ่งทัพสิงโตแห่งยาอุนเดตกรอบ 8 ทีมสุดท้าย
แคเมอรูน ต้องกลับมาใส่ชุดแข่งแบบเบสิกในฟุตบอลโลก 2006 รอบคัดเลือก ที่มีขึ้นหลังจากนั้นไม่นาน และคราวนี้ พวกเขาไม่ได้วีซ่าเข้าไปแข่งในรอบสุดท้าย
"นี่มันผิด Laws of the game กฎได้บอกไว้ชัดเจนแล้วว่า คุณจะต้องมีเสื้อหนึ่ง - กางเกงหนึ่ง - ถุงเท้าหนึ่ง (โว้ย)" แบล็ตเตอร์ คงอยากจะบอกแบบนี้ ... ส่วนคำว่าโว้ย เราเติมเอาเองตามอารมณ์และสีหน้าของเขาในการแถลงข่าววันนั้น
ห้ามการเมือง แต่ถ้าเนียนก็พอไหว
เรื่องนี้เกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ ในฟุตบอลยูโร 2020 ที่ผ่านมา โดยเป็นข้อพิพาทกันระหว่าง 2 ชาติชิดใกล้ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากันอย่าง รัสเซีย และ ยูเครน
ก่อนจะไปคุยเรื่องเสื้อ เราไปคุยกันถึงเรื่องที่พวกเขาทะเลาะกันก่อน ... ทั้งสองประเทศอยู่ในช่วงของการแย่งชิงดินแดนที่เรียกว่าคาบสมุทรไครเมีย แต่เดิมพื้นที่นี้อยู่ในอาณาเขตของ ยูเครน ทว่า รัสเซีย ได้ใช้กำลังทหารเข้ายึดดินแดนมาตั้งแต่ช่วงราว ๆ ปี 2014 ทำให้ ยูเครน ไม่พอใจและพยายามจะเรียกร้องดินแดนของพวกเขาคืนมาอยู่เสมอ เพียงแต่ว่าอำนาจและอิทธิพลในประชาคมโลกนั้นเป็นรอง รัสเซีย อยู่พอสมควร
ดังนั้นเมื่อกำลังทหารสู้ไม่ไหว ยูเครน จึงได้จัดแจงแสดงความเป็นเจ้าของผ่านเกมฟุตบอล ด้วยการออกแบบชุดแข่งขันทีมชาติยูเครน ด้วยการเติมรูปคาบสมุทรไครเมียตามแบบของแผนที่เป็นลายชุดแข่งนั้น ซึ่งเมื่อรัสเซียเห็นก็ปรี๊ดแตกทันที และได้ฟ้อง สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ ยูฟ่า ให้แบนชุดแข่งนี้เพราะนอกจากเรื่องลายแผนที่บนชุดแข่งแล้ว ยังแฝงข้อความทางการเมืองจากการใส่ข้อความด้านในเสื้อว่า "Glory To The Heroes" ซึ่งมีความหมายในเชิงการให้กำลังใจและชื่นชมเหล่าทหารกล้าของประเทศที่ต่อสู้กับรัสเซียในการแย่งชิงดินแดนนั้น
ยูฟ่า รับเรื่องทันที และเรื่องนี้ถึงขั้นต้องหารือกับ สหประชาชาติ หรือ UN เลยทีเดียวว่า สรุปแล้วความขัดแย้งนี้มันยังไงกันแน่ ? ซึ่งสหประชาชาติก็บอกว่า ยูเครน สามารถใส่แผนที่ของไครเมียลงบนเสื้อได้ เพราะถือเป็นดินแดนของพวกเขาที่สหประชาชาติรับรอง เพียงแต่ว่าถ้าจะให้ดี ควรลบข้อความที่เกี่ยวข้องกับกองกำลังทหารออกไป ซึ่งถ้าลบไปแล้วก็จะไม่มีใครมาทักท้วงอะไรได้อีก
ซึ่งในความจริงต่อให้ไม่มีข้อความ ทุกคนก็รู้ดีอยู่แก่ใจว่านี่เป็นการแสดงออกทางการเมืองชัด ๆ เพียงแต่เป็นการเนียนวางรูปของแผ่นที่แคว้นไครเมียลงไปเฉย ๆ ที่เหลือให้ไปคิดเอาเองว่า ยูเครน หมายความว่าอย่างไร และในเมื่อมันไม่เกี่ยวกับการเมือง Laws of the game ก็ไม่สามารถแบนชุดแข่งนี้ได้ แม้จะทำให้ฝ่ายความมั่นคงของรัสเซียและอาจรวมถึง วลาดิเมียร์ ปูติน ต้องโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงก็ตาม
เลือกได้แค่อย่างเดียว
เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่เกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ ในฟุตบอลยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ฤดูกาล 2021-22 นี้ โดยก่อนจะแข่งไม่กี่สัปดาห์ อาหยักซ์ อัมสเตอร์ดัม ทีมดังแห่งเนเธอร์แลนด์ ได้เปิดตัวชุดแข่งชุดที่สามสีดำ โดยมีกิมมิคเล็ก ๆ ซ่อนอยู่ตรงใต้คอปกเสื้อด้านหลัง โดยเป็นรูปนกน้อย 3 สี (เขียว เหลือง แดง)
นก 3 สีนี้ดัดแปลงมาจากเพลง Three Little Birds ของศิลปินเร็กเกในตำนานอย่าง บ๊อบ มาร์เลย์ ซึ่งภายหลังแฟนบอลของ อาหยักซ์ ได้นำไปปรับเอามาร้องเป็นเพลงเชียร์ของสโมสรและได้รับความนิยมจนกลายเป็นที่จดจำไปโดยปริยาย และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขาต้องใส่เจ้านก 3 ตัวซ่อนไว้ในคอเสื้อดังที่กล่าวไว้ข้างต้น
อย่างไรก็ตามเจ้านก 3 ตัวนี้ ก็ไม่ได้เผยโฉมสู่โลกกว้างตามที่วางแผนไว้ เพราะ ยูฟ่า ได้ออกมาเบรกตามกฎชุดแข่งขันในรายการนี้ว่า "ชุดแข่งของทุกทีมในฟุตบอลถ้วยยุโรป ห้ามมีโลโก้อื่น ๆ ยกเว้น ตราสโมสร, โลโก้ผู้ผลิต, โลโก้สปอนเซอร์หน้าอก และโลโก้สปอนเซอร์ที่แขนเสื้อ (ที่เพิ่งอนุญาตให้แปะได้แบบสด ๆ ร้อน ๆ) เท่านั้น" (อย่างไรก็ตาม หากมีโลโก้องค์กรการกุศลก็จะสามารถแปะเพิ่มได้ เช่นกรณีของ เชลซี)
แม้ความหมายจะดี และเจ้านกน้อยแห่งเสรีภาพก็ไม่ได้มีพิษมีภัย หากเทียบกับการกวนประสาททางอ้อมแบบเสื้อแผนที่ไครเมียของทีมชาติยูเครน แต่กฎก็คือกฎ สุดท้ายนกน้อย 3 สี ก็ต้องเก็บแรงไว้โบยบินในฟุตบอลลีกอย่างเดียว
1+8 เมื่อก่อนไม่ห้าม
แฟนบอลยุคเก่า ๆ คงจำความกันได้ดีสำหรับเรื่องราวของ "แบม แบม" อิวาน ซาโมราโน่ ดาวยิงชาวชิลีของ อินเตอร์ มิลาน ที่ต้องสละเสื้อหมายเลข 9 และ 10 ที่เคยเป็นเบอร์ที่ตัวเองรักและชื่นชอบให้กับนักเตะอย่าง โรนัลโด้ นาซาริโอ (R9) และ โรแบร์โต้ บาจโจ้ ด้วยความเต็มใจ
แม้เจ้าตัวจะบอกว่าโอเค แต่ก็ได้พยายามคิดค้นวิธีการใส่เสื้อเบอร์ใหม่ที่รวมกันแล้วยังได้ความหมายเท่ากับ "9" อยู่ ซึ่ง ซาโมราโน่ คิดว่าเขาควรจะใส่เบอร์ 18 เพราะเป็นวันเกิดของเขาด้วย ทว่าเขายังคิดต่อไปอีกขั้นว่า 18 มันไม่ชัดพอ เขาจะขอใส่เบอร์ 1+8 ได้หรือไม่ ? โดยคนที่เขาถามตอนแรกคือ ซานโดร มาซโซล่า ผอ.กีฬาของทีม และ มาซโซล่า ก็บอกไปว่า "ไม่ได้ ทางกัลโช่ไม่น่าจะยอม"
เรื่องดังกล่าวทำให้ ซาโมราโน่ ต้องไปติดต่อกับคนที่ใหญ่ที่สุดในสโมสรนั่นคือ มัสซิโม่ โมรัตติ ประธานของทีม สุดท้าย โมรัตติ เป็นคนเดินงานนี้ให้อย่างราบรื่นด้วยการติดต่อไปยังทางกัลโช่ เพื่อให้เบอร์ 1+8 สามารถใช้แข่งขันในเกมทางการได้ นอกจากนี้ ซาโมราโน่ ยังใส่เบอร์ 1+8 ในเกมยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ฤดูกาล 1998-99 อีกด้วย
หลังจากนั้นเบอร์ 1+8 ก็กลายเป็นซิกเนเจอร์ของเขา และเป็นเบอร์ที่ทำยอดขายเสื้อได้ดีเป็นอันดับต้น ๆ ของสโมสร อย่างไรก็ตามหลังจากปล่อยให้เบอร์นี้ดังเกินไป จนอาจจะกลายเป็นเยี่ยงอย่างให้นักเตะรุ่นหลัง ๆ เลียนแบบจนวุ่นวายไปหมด ถ้าไม่เบรกไว้อาจจะมีเบอร์ 2 หาร 4, 3 คูณ 5, หรือ 100 คูณ 100 ก็เป็นได้
แม้ไม่ปรากฏชัดว่าปีไหนที่ออกกฎห้ามใส่เครื่องหมาย แต่ที่แน่ ๆ มาริโอ บาโลเตลลี่ ก็เคยคิดแบบนี้ เพราะแทบจะตลอดชีวิตการค้าแข่ง เขาใส่เสื้อเบอร์ 45 โดยมีที่มาจาก 4+5 = 9 เพียงแต่ว่าในยุคนี้ใส่เครื่องหมายไม่ได้แล้วนั่นเอง
พระเจ้าก็ยังถูกห้าม
บราซิล เป็นประเทศที่มีความผูกพันกับศาสนาคริสต์เป็นอย่างมาก ดังนั้นเราจึงได้เห็นนักเตะของพวกเขามีความเชื่อและศรัทธาในศาสนาและศาสดาอย่างพระเยซูเป็นอย่างเข้มข้น เช่นในปี 2002 มาร์กอส คาฟู แบ็คขวาของทีมก็ได้ถอดเสื้อแข่งโชว์ข้อความบนเสื้อข้างในที่เขียนว่า "I Love Jesus" ซึ่งนอกจาก คาฟู แล้วก็ยังมี ริคาร์โด้ กาก้า ที่มักจะแสดงออกถึงความรักด้วยเสื้อข้างในที่เขียนข้อความว่า "I Belong To Jesus" ให้แฟน ๆ ได้เห็นอยู่เสมอ
อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นข้อความที่แสดงความศรัทธาและความรัก รวมถึงไมได้กล่าวให้ร้ายกับใคร แต่ FIFA ก็ไม่ยอมให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีก ด้วยการออกกฎที่ว่า ห้ามนักเตะใส่เสื้อยืดที่มีข้อความลงสนามภายใต้ชุดแข่งเด็ดขาด โดย โรดริโก ไปวา ตัวแทนจากสมาคมลูกหนังแซมบ้า เผยว่า พวกเขาได้รับการแจ้งเรื่องนี้จากทางฟีฟ่า ไม่ว่าจะข้อความดังกล่าวจะเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว, ศาสนา หรือการเมืองใด ๆ ทั้งสิ้น
หลังจากนั้นในปี 2014 เป็นต้นมา ไม่ว่าข้อความใดก็ตามที่เขียนอยู่ภายใต้เสื้อแข่งและถูกแสดงออกในช่วงของการแข่งขันและถ่ายทอดสดจะต้องถูกลงโทษ ส่วนจะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับข้อความดังกล่าวสร้างผลกระทบในแง่ของความเกลียดชังและความแตกแยกหรือไม่
หลัง ๆ ก็มีนักเตะหลายคนใส่ข้อความที่อยากจะสื่อสารลงไปในเสื่อที่ใส่ซ้อนไว้ข้างในอยู่ดี เช่น ราฮีม สเตอร์ลิ่ง, โรบิน ฟาน เพอร์ซี่ ก็เคยเขียนข้อความไว้อาลัยแก่ผู้จากไป ซึ่งพวกเขาก็โดนปรับเงินเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หลังโดนใบเหลืองในสนาม
ยิ่งกว่าฟุตบอล ถึงไม่เกี่ยว แต่แค่เฉี่ยวก็ไม่ได้
ในช่วงยุค 2010 เป็นต้นมา สโมสร บาร์เซโลน่า ถือเป็นทีมอันดับ 1 ของโลกที่มีแฟนบอลมากมาย ชุดแข่งของพวกเขาขายดีในแทบทุกประเทศ ยกเว้นที่เดียวเท่านั้น นั่นคือ ซาอุดีอาระเบีย ... ทำไมถึงเป็นแบบนั้น
เรื่องนี้ต้องย้อนไปถึงการเมืองและศาสนา (ความต่างของนิกาย) ในดินแดนตะวันออกกลาง ซึ่งทาง ซาอุดีอาระเบีย เป็นตัวแทนของอิสลามนิกายสุหนี่ โดยฝั่งที่พวกเขาทะเลาะด้วยคือประเทศ กาตาร์ ตัวแทนของลัทธิวะฮาบีย์ และนิกายชีอะห์ โดยทั้งสองฝั่งนั้นก็พยายามชิงความเป็นใหญ่ในตะวันออกกลางมาหลายยุคหลายสมัย
ความแตกแยกของ 2 ประเทศจึงเกิดขึ้น และ ซาอุฯ ก็ได้ตั้งตนเชิญชวนให้ประเทศรอบข้างอย่าง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, บาห์เรน, และอียิปต์ ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ เนื่องจากกล่าวหาว่ากาตาร์ให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายและประเทศอิหร่าน
และหากคุณถามว่าเรื่องนี้ชุดแข่งของ บาร์เซโลน่า เกี่ยวอะไรด้วย ? คำตอบนั้นง่ายมากเพราะชุดแข่งของ บาร์ซ่า นั้นมีโลโก้และข้อความของ กาตาร์ ฟาวเดชัน รวมถึง กาตาร์ แอร์เวย์ส ที่เป็นสปอนเซอร์ ดังนั้นทางซาอุดีอาระเบียจึงมีข้อบังคับที่จะห้ามผู้คนในประเทศสวมเสื้อบาร์เซโลน่า และหากพบเห็นใครฝ่าฝืนคำสั่งจะมีโทษไม่ใช่น้อย นั่นคือถูกปรับเป็นเงิน 135,000 ยูโร หรือประมาณ 5.1 ล้านบาทเลยทีเดียว
โชคดีที่ตอนนี้ บาร์เซโลน่า เปลี่ยนผู้ให้การสนับสนุนแล้ว และน่าจะทำให้ยอดขายเสื้อในประเทศซาอุดีอาระเบียของพวกเขาดีขึ้นกว่าในอดีตแน่นอน
กางเขนต้องห้าม
เรื่องนี้เกิดขึ้นกับสโมสร เรอัล มาดริด หนึ่งในทีมที่ได้รับความนิยมอย่างมากจากแฟนบอลแถบตะวันออกกลาง ซึ่งจุดนี้คือที่ที่พวกเขาส่งสินค้าลิขสิทธิ์มาตีตลาดหลายชิ้น เพียงแต่ว่ามีกฎเล็ก ๆ อยู่ข้อหนึ่ง
แน่นอนด้วยความเคร่งของศาสนาอิสลาม ทำให้มีการยืนยันจาก Marca สื่อในสเปนว่า หาก เรอัล มาดริด จะส่งสินค้าที่มีตราโลโก้ของพวกเขาเข้ามาขาย พวกเขาจะต้องปรับเปลี่ยนแก้ไขด้วยการเอาสัญลักษณ์ ไม้กางเขน ที่เป็นตัวแทนของศาสนาคริสต์ออกก่อน จึงจะสามารถวางขายและตีตลาดในตะวันออกกลางได้
เพราะศาสนาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และทางตะวันออกกลางก็เป็นชาติที่มีกำลังซื้อเยอะ มาดริด จึงยอมปฏิบัติตามนั้น และในช่วงปี 2014 ที่พวกเขามีสปอนเซอร์จาก ธนาคารแห่งชาติอาบูดาบี พวกเขาก็ยอมเอาไม้กางเขนออกจากโลโก้ด้วยเช่นกัน เพราะจะไม่ง้อก็ไม่ได้ เพราะแถบตะวันออกกลางคือตลาดสำคัญที่มีเงินสะพัดเป็นอย่างมากเลยทีเดียว
ห้ามเขียว
งานนี้เป็นงงกันเลยทีเดียว เพราะก่อนที่ฟุตบอล กัลโช่ เซเรีย อา อิตาลี ในฤดูกาล 2021-22 จะเปิดสนาม ฝ่ายจัดการแข่งขันลีกสูงสุดอิตาลีมาแปลก ออกกฎเข้มห้ามทุกทีมในลีกมีชุดแข่งขันเป็นสีเขียว โดยให้เวลาทุกทีมปรับเปลี่ยน 1 ฤดูกาลเต็ม
โดยทาง เซเรีย อา ยืนยันว่า จากนี้ไปจะมีการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายอีกครั้ง เพื่อให้กล้องถ่ายทอดสดทำงานได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม และอำนวยความสะดวกต่อคนที่เป็นโรคตาบอดสี
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เหมารวมทั้ง เสื้อ กางเกง และถุงเท้า ที่ห้ามใส่สีเขียวทั้งโทนเข้มและอ่อน ส่วนในกรณีที่ชุดแข่งขันมีมากกว่า 2 สี จะต้องให้สีอื่นมีความโดดเด่นกว่าสีเขียวเท่านั้น และจะมีการบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ฤดูกาล 2022-23 เป็นต้นไป ซึ่งทีมที่ใส่สีเขียวก็มีอยู่ 2 ทีมในลีกสูงสุดตอนนี้นั่นคือ ซาสซูโอโล่ และ เวเนเซีย ที่เลื่อนชั้นขึ้นมาใหม่
แม้จะบังคับใช้ในฤดูกาลหน้า แต่ทั้งสองทีมก็ก้มหน้ายอมรับกฎและปรับตัวกันในทันที โดยเฉพาะ ซาสซูโอโล่ ที่เคยเน้นชุดสีเขียวสดสีเดียวกับพื้นหญ้า ตอนนี้พวกเขาปรับโทนให้มืดลงโดยใช้สีดำเข้ามาช่วย เพื่อให้รับกับกฎดังกล่าวตามที่ฝ่ายจัดได้แจ้งมา...
เวลาเล่นเกมเยือนอย่าลืมเอาชุดเยือนสีที่ 2 มาด้วย
เรื่องนี้ไม่ได้มีอะไรมากเลย ตาม Laws of the game ทุกประการ ชุดแข่งของทีมเหย้าและทีมเยือนจะต้องแตกต่างกันชัดเจน เพื่อให้ง่ายต่อการตัดสินและการถ่ายทอดสด
อย่างไรก็ตาม บางครั้งทีมเยือนก็คิดไปเองว่าชุดเยือนที่พวกเขาเตรียมมานั้นไม่เหมือนชุดเหย้าของทีมเจ้าบ้าน เช่นเกมระหว่างเช่น โคเวนทรี และ เชลซี ในฤดูกาล 1996-97 ที่ เชลซี อุตส่าห์ขนชุดเยือนสีเหลืองมาพร้อมสรรพ ทว่าเมื่อเปลี่ยนชุดเตรียมจะลงแข่ง ผู้ตัดสินกลับมาบอกว่า "มันมีส่วนที่คล้ายกัน" นั่นคือแถบสีฟ้าตรงกลางของเสื้อ ที่ไปเหมือนกับชุดเหย้าของ โคเวนทรี
กรรมการจึงสั่งให้ เชลซี ไปเปลี่ยนเป็นชุดเยือนที่ 3 เพื่อให้แตกต่างกันอย่างชัดเจนมากขึ้น ทว่างานก็งอกทันที เพราะ เชลซี บอกว่า "ไม่ได้เอาชุดเยือนอีกแบบหรือชุดที่ 3 มา" ทั้งนั้นฝ่ายจัดการแข่งขันจึงให้เลื่อนเกมออกไปอีก 15 นาที และแก้ปัญหาให้ เชลซี จบเรื่อง ด้วยการใส่ชุดเยือน "ของโคเวนทรี" ที่เป็นสีแดง ลงแข่งขันในเกม ๆ นั้น ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้หลายสโมสรได้รู้ถึงความสำคัญของชุดเยือนชุดที่ 2 เพราะถ้าหากไม่พร้อม อาจจะต้องใส่เสื้อสโมสรอื่นลงแข่งอย่างที่เชลซีต้องทำก็เป็นได้
ห้ามเป็นรูป แต่เป็นลายได้
อินเตอร์ มิลาน ออกแบบชุดเยือนของฤดูกาล 2021-22 มาอย่างเท่ด้วยการใส่รูปงูไว้ที่ด้านหน้าของเสื้อ เพราะ "งูใหญ่" ถือเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองมิลาน และเป็นตราประจำตระกูล วิสคอนติ อดีตประธานสโมสรซึ่งเป็นเจ้าเมืองมิลานเก่า ทำให้ถูกนำมาใช้เป็นฉายาของทีม
อย่างไรก็ตามแม้จะเตรียมตัวเปิดหัวในเกมยุโรปสวย ๆ แต่สุดท้าย ยูฟ่า ก็ติดเบรกทันที เพราะ งูตัวนี้มันผิดกฎ เนื่องจากกฎของชุดแข่งระบุว่า แม้เสื้อจะมีลวดลายได้แต่จะต้องไม่เป็นรูปภาพ หรือสิ่งที่ไม่ใช่เครื่องหมายการค้า ด้วยเหตุนี้เองทำให้ Nike ต้องทำลวดลายงูเป็นสีจาง ๆ กลืนไปกับเนื้อผ้าแทน และสปอนเซอร์ที่อยู่บนหน้าอกเสื้อจะมีแค่ "$INTER Fan Token" โดยไม่มีข้อความเพิ่มเติมว่า "By Socios.com"