โคเรียน บูม : ซน ฮึง มิน & ฮวัง ฮี ชาน มรดกล้ำค่าจากฟุตบอลโลก 2002

โคเรียน บูม : ซน ฮึง มิน & ฮวัง ฮี ชาน มรดกล้ำค่าจากฟุตบอลโลก 2002

โคเรียน บูม : ซน ฮึง มิน & ฮวัง ฮี ชาน มรดกล้ำค่าจากฟุตบอลโลก 2002
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ผมเริ่มเล่นฟุตบอลอย่างจริงจังและตั้งความหวังไว้สูงมากหลังจากฟุตบอลโลกปี 2002 มันเปลี่ยนประเทศเราไปเลย" 

หากคุณไม่ใช่แฟนฟุตบอลทีมชาติเกาหลีใต้หรือเป็นชาวเกาหลีใต้ รับรองได้ว่าคงไม่มีใครชอบใจนักที่ได้เห็นทัพโสมขาวคว้าอันดับ 4 ในฟุตบอลโลกปี 2002 ที่พวกเขาเป็นเจ้าภาพร่วม 

นี่คือผลงานของทีมเอเชียที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ ท่ามกลางการดูแคลนว่าพวกเขา "ปล้นชัย" ทีมเต็งอย่าง สเปน และ อิตาลี เพียงแต่ว่าในการถูกดิสเครดิตครั้งนั้น พวกเขาได้สร้างมรดกฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดชนิดที่ว่าตอนนี้ เกาหลีใต้ ไม่ต้องกลัวชาติไหนอีกแล้วบนโลก

 

พวกเขาสามารถชนะได้ทุกทีม และถึงแม้จะแพ้ก็แพ้แบบสูสีมีลุ้น เหนือสิ่งอื่นใดคือ 2 นักเตะที่ดีที่สุดในประเทศอย่าง ซน ฮึง มิน และ ฮวัง ฮี ชาน ก็กำลังร้อนแรงสุด ๆ ในพรีเมียร์ลีก 

พวกเขาทั้งสองบอกว่าฟุตบอลโลก 2002 คือจุดเปลี่ยนที่ผลักดันให้ตัวเองมาถึงจุดนี้ ... และไม่ใช่แค่นั้น ฟุตบอลโลกที่น่าอับอายในสายตาชาวโลกได้สร้างมรดกฟุตบอล ที่เปลี่ยนวัฒนธรรมและทัศนคติที่ชาวเกาหลีใต้มีต่อฟุตบอลไปตลอดกาล

นี่คือเรื่องราวอีกแง่มุมหนึ่งที่หลายคนไม่เคยรู้ ร่วมมองเอฟเฟ็กต์ของฟุตบอลโลกครั้งนั้น ผ่านชีวิตของ ซน และ ฮวัง ได้ที่ Main Stand

ฟุตบอลโลกที่เปลี่ยนทุกอย่าง

เกาหลีใต้ ไม่ใช่ชาติที่ประสบความสำเร็จในฟุตบอลโลกเลยก่อนจะมาถึงปี 2002 ที่เป็นเจ้าภาพ เพราะแม้ก่อนหน้านั้นพวกเขาจะเป็นขาประจำจากโซนเอเชียได้แล้ว แต่ก็ตกรอบแรกมาตลอดทั้ง 5 ครั้งที่เข้ารอบสุดท้ายก่อนหน้า อีกทั้งยังไม่เคยคว้าชัยชนะมาได้เลย

 

ทว่าในปี 2002 อะไร ๆ ก็เปลี่ยนไป เกาหลีใต้ เป็นเจ้าภาพ (ร่วมกับญี่ปุ่น) และออกสตาร์ทด้วยชัยชนะเกมแรกในประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเหนือ โปแลนด์ 2-0 แม้ผ่านรอบแรกด้วยการเป็นแชมป์กลุ่มในเวลาต่อมา แต่นาทีนั้นไม่มีใครกล้าคิดว่าปาฏิหาริย์จะเกิดขึ้นกับพวกเขา ทัพนักรบแทกึก ผ่านคู่แข่งอย่าง อิตาลี และ สเปน ในรอบ 16 และ 8 ทีมสุดท้ายตามลำดับ แม้หลายคนจะบอกว่านั่นคือการปล้นชัยชนะจากคู่แข่ง หลายคนไม่ยอมรับชัยชนะของเกาหลีใต้ ซึ่งมันยืนยันได้จากปฏิกิริยาของแฟนบอลทั่วโลกหลังจากที่ เกาหลีใต้ โดน เยอรมนี เขี่ยตกรอบตัดเชือก ... นั่นคือวันที่ทุกคนรอคอย หากไม่ใช่คนเกาหลีใต้หรือแฟนบอลทีมชาติเกาหลีใต้ ไม่ใครทำใจได้แน่หากพวกเขายังหลุดเข้าไปถึงรอบชิงขนะเลิศ 

นั่นคือปฏิกิริยาของคนนอก แต่สำหรับคนเกาหลีใต้และประเทศเกาหลีใต้ การแข่งขันฟุตบอลโลก 2002 เปลี่ยนแปลงอะไรไปมากมาย ประการแรก ทัวร์นาเมนต์นี้ทำให้เกิด 10 สนามฟุตบอลสเตเดียมที่ผ่านการรับรองของฟีฟ่า และจุคนดูได้มากกว่า 40,000 คน แต่สิ่งที่เหนือกว่านั้นคือความ "อิน" กับฟุตบอลของประชากรชาวเกาหลีใต้ที่เพิ่มขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า พวกเขาเข้าใจแล้วว่ารสชาติของชัยชนะในการแข่งขันระดับโลกมันเป็นเช่นไร มันคือช่วงเวลาที่ตอนนั้น ฟุตบอลได้นำวัฒนธรรมหลายอย่างเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคสมัยใหม่โดยแท้จริง

 

"ฟุตบอลโลกปี 2002 เปลี่ยนขนบและหลักการคิดของชาวเกาหลีใต้ไปเยอะมากภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น เอาอย่างง่าย ๆ ที่สุดเลย ก่อนที่เราจะจัดฟุตบอลโลกครั้งนั้น ชาวเกาหลีใต้มีความเชื่อว่าธงชาติของพวกเขาถือเป็นสิ่งมงคลและสูงค่า แทบไม่มีการปรากฏว่าเอาลายธงชาติมาทำสินค้าแฟชั่นอย่าง เสื้อ หมวก รองเท้า เลย" ดร. อี จุง วู ผู้ศึกษาเกี่ยวกับนโยบายกีฬาในประเทศอังกฤษ กล่าวถึงช่วงเวลาที่เขากลับไปบ้านเกิดเมื่อปี 2002 เพื่อชมเกมฟุตบอลโลก 

 

"เมื่อการแข่งขันผ่านไปเรื่อย ๆ เราได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรม เสื้อผ้าและรองเท้าลายธงชาติวางขายกันเต็มไปหมด หลายคนเพ้นท์สีรถเป็นลายธงชาติ ... สิ่งที่เกิดขึ้นหมายถึง คำว่าชาตินิยมไม่จำเป็นจะต้องยกทุกสิ่งไว้ให้อยู่สูงเสมอไป ความสนุกสนานก็ถือเป็นชาตินิยมได้เหมือนกัน ผู้คนเริ่มมองว่าธงชาติเป็นสิ่งที่เป็นมิตรและเข้าถึงได้ง่ายกว่าเดิมอย่างสิ้นเชิง"

"ไม่ว่าทุกคนจะมองอย่างไร แต่ฟุตบอลโลก 2002 เปลี่ยนทุกอย่าง ก่อนหน้านี้เราเคยเจอวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปี 2000 เราค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นทีละน้อย และหลังจากฟุตบอลโลกจบลง มันทำให้ชาวเกาหลีใต้ฮึกเหิมและภาคภูมิใจในชาติของตัวเองอีกครั้ง" 

 

"มันคือการระเบิดขึ้นอย่างกะทันหันของลัทธิชาตินิยมในเกาหลีใต้ มันคืนความร่าเริงให้ประเทศนี้ เราเปิดใจกับหลายสิ่งหลายอย่างมากขึ้น แม้กระทั่งคนต่างชาติอย่าง กุส ฮิดดิงก์ ก็ยังได้รับสถานะพลเมืองกิตติมศักดิ์ของเกาหลีใต้เลยด้วยซ้ำ นี่ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ หรอกนะครับ" ดร. อี กล่าวกับ สกายสปอร์ต สื่อดังจากอังกฤษ 

พวกเขาอาจจะไม่ได้หมายความถึงการได้ชูถ้วยแชมป์ฟุตบอลโลกในบ้านของตัวเอง แต่สิ่งที่เป็นมรดกมาจนถึงทุกวันนี้ เกาหลีใต้ เป็นชาติที่เปิดรับวัฒนธรรมต่างชาติมากขึ้น ไม่ว่าจะในแง่ฟุตบอลหรืออุตสาหกรรมบันเทิงที่กำลังบูมถึงขีดสุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พวกเขาปรับตัว เปลี่ยนแปลง พัฒนา และที่สำคัญคือพวกเขาเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเองและกล้าที่จะลงทุนเพื่อไปให้ถึงมาตรฐานโลก ... นี่แหละคือแชมป์ที่แท้จริงสำหรับประเทศเกาหลีใต้

กระแสที่ต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยง 

ความสำเร็จ 1 ครั้งสร้างความคาดหวังในครั้งต่อ ๆ มา หลังจากฟุตบอลโลก 2002 จบลง และฟุตบอลโลกครั้งต่อ ๆ ไปได้เดินทางเข้ามา ชาวเกาหลีใต้ คาดหวังในความสำเร็จกับทีมชาติของพวกเขามากเกินกว่าที่ควรจะเป็น พวกเขาคิดว่าทีมจะต้องดำเนินตามทีมชุด 2002 ของ กุส ฮิดดิงก์ ให้ได้ หรือไม่ก็ต้องทำให้ได้ใกล้เคียง เพียงแต่เป็นความจริงมันไม่ง่ายแบบนั้น 

ความกดดันถาโถมเข้าใส่ขุนพลนักเตะเกาหลีใต้ชุดหลัง ๆ แม้ทีมชุดฟุตบอลโลก 2006 จะมีขุมกำลังนักเตะจากชุดประวัติศาสตร์อยู่กันหลายคน แต่บริบทก็เปลี่ยนไป ไม่มีใครมองข้ามพวกเขาอีกแล้ว ทุกทีมระวังเกาหลีใต้กันมากขึ้น และที่สำคัญพวกเขาไม่ได้เป็นเจ้าภาพที่ทำให้ได้เปรียบในหลาย ๆ เรื่องอีกแล้ว 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่หลายคนไม่รู้คือ ก่อนฟุตบอลโลก 2002 สมาคมฟุตบอลเกาหลีใต้ หรือ เคเอฟเอ ได้ทำเรื่องไปยังสโมสรในประเทศเพื่อเรียกนักเตะที่จะเป็นตัวทีมชาติมารวมตัวซ้อมกันเป็นกรณีพิเศษเป็นเวลาถึง 5 เดือนก่อนฟุตบอลโลกจะเริ่มขึ้น ... การหยุดลีกให้สโมสรเสียสละเพื่อชาติแบบนี้เป็นเรื่องที่ไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยในโลกของฟุตบอลอาชีพ

 

"มันเป็นเรื่องปกติมากเลย เพราะคุณทำได้ดีมาก ๆ ในฟุตบอลโลก 2002 คุณไปถึงรอบรองชนะเลิศ มีนักเตะดี ๆ เก่ง ๆ อยู่หลายคน ดังนั้นในปี 2006 จึงทำให้ทุกคนคาดหวังให้มันเกิดขึ้นอีกครั้ง"

 

"นั่นแหละปัญหาใหญ่เลยล่ะ ตอนนี้ทุกคนในประเทศคิดว่าเกาหลีใต้คือทีมที่แข็งแกร่งและโค่นได้ทุกทีม แต่นั่นมันคือความคาดหวังที่มากเกินไป และทำให้ทีมมีปัญหากับเรื่องความกดดันที่เกิดขึ้น" พิม เวอร์บีก อดีตผู้ช่วยเฮดโค้ชและเฮดโค้ชของทีมชาติเกาหลีใต้กล่าว 

ไม่ใช่แค่ในฟุตบอลโลก 2006 เพราะหลังจากจากคว้าอันดับ 4 ในปี 2002 เกาหลีใต้ ก็สามารถไปถึงรอบ 16 ทีมสุดท้ายได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้นเมื่อปี 2010 ไม่ว่าผลงานจะออกมาเป็นแบบไหน แต่ถ้าทำได้ไม่ใกล้เคียงกับที่ทีมชุด 2002 เคยทำไว้ พวกเขาก็อาจถูกแฟนบอลต่อว่าได้เสมอ โดยเฉพาะในปี 2018 ที่แม้เกาหลีใต้จะตกรอบแบ่งกลุ่ม แต่พวกเขาก็ชนะแชมป์เก่าอย่าง เยอรมัน ได้ถึง 2-0 ทว่านั่นก็ยังสร้างความไม่พอใจให้แฟนบอลอยู่ดี เมื่อพวกเขาเดินทางกลับถึงประเทศ ทีมชุดนั้นก็โดนแฟนบอลที่มาต้อนรับที่สนามบินโห่และโดนขว้างไข่ใส่อีกด้วย

นั่นคือมรดกในด้านที่ไม่ค่อยดีนัก ความคาดหวังการเติบโตจากนักเตะชุดที่โตที่ไม่ทันความต้องการของแฟนบอล แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่คือนักเตะชุดหลังจากนั้นต่างหาก ที่จะเป็นผู้วัดผลและเหมาะสมกับความกดดันของแฟนบอลได้จริง ๆ  เพราะกลุ่มเด็ก ๆ ชาวเกาหลีที่อยู่ในช่วงอายุ 6-12 ปี ในช่วงฟุตบอลโลก 2002 คือไม้อ่อนที่ได้ซึมซับทุกอย่างในฟุตบอลโลกครั้งนั้นไว้ และพวกเขาก็ยังมีเวลามากพอที่จะใส่ทัศนคติ ความมุ่งมั่น ความมั่นใจ และความตั้งใจให้เหมือนที่ทีมชุดนั้นทำได้  

 

เด็กกลุ่มนี้มีโอกาสดีมาก ๆ ที่ได้เห็นความสำเร็จที่เป็นแรงบันดาลใจ ฟุตบอลในเกาหลีใต้เติบโตขึ้นในแง่ของการพัฒนาเยาวชนและภาพรวม แม้ผลงานจะยังไม่เข้าเป้า แต่มันทำให้พวกเขาเดินเข้าใกล้เป้าหมายที่วางไว้มากขึ้นเรื่อย ๆ 

 

"ผีฮิดดิงก์ (เปรียบเทียบถึงความสำเร็จที่ ฮิดดิงก์ ทำไว้) หลอกหลอนเกาหลีใต้เมื่อจะหาคนที่ทำหน้าที่ได้แบบนั้น มีการเปลี่ยนโค้ชมากถึง 12 คน นับตั้งแต่ปี 2002 ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน"

"ฟุตบอลเกาหลีใต้โตขึ้นมากและกำลังไล่ตามความต้องการของแฟนบอลของพวกเขา ลีกที่นี่ดีขึ้นกว่าเดิม ภาพรวมของหลายลีกดีขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการพัฒนาด้านองค์กร การพัฒนาเยาวชน และเคลีกเองก็กลายเป็นลีกที่แข็งแกร่งกว่าที่เคยเป็นมา" เวอร์บีก ผู้ล่วงลับเมื่อปี 2019 ว่าไว้เมื่อครั้งยังมีชีวิต 

 

"เด็กรุุ่นหลังจะโตมากับการได้เห็นเกมของทีมชุด 2002 ที่ทำลายความกลัวของผู้เล่นเกาหลีใต้ตามความเชื่อในอดีต เมื่อก่อนเกาหลีใต้กลัวนักเตะต่างชาติโดยความรู้สึกตามธรรมชาติ แต่ตอนนี้ในหัวพวกเขาเปลี่ยนไปแล้ว ทัศนคติของพวกเขาคือไม่ว่าคู่แข่งจะเก่งแค่ไหน พวกเขาจะกล้าตั้งเป้าไว้ที่ชัยชนะเสมอ" 

คำถามคือ ใครคือเด็กชุดนั้นเมื่อเติบโตขึ้นมา ? ... หากคุณได้ดูพรีเมียร์ลีกในฤดูกาล 2021-22 คุณจะเห็น 2 นักเตะเกาหลีใต้ที่แบก 2 สโมสรของพวกเขา นั่นคือ ซน ฮึง มิน จาก ท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ และ ฮวัง ฮี ชาน จาก วูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ส พวกเขาทั้งสองสะท้อนให้เห็นถึงวิธีการคิดและการกล้าเผชิญหน้ากับนักเตะระดับโลก ทั้งคู่เป็นนักเตะแนวรุกที่ชอบเล่นกับลูกฟุตบอล วิ่งเข้าใส่ฝั่งตรงข้าม และแน่นอน พวกเขาเยือกเย็นในพื้นที่สุดท้ายด้วยการจบสกอร์อย่างมั่นใจ ... ฟุตบอลโลก 2002 มีผลกับการเติบโตของพวกเขาแค่ไหน ?

ซน และ ฮวัง ผลผลิตจากมรดกที่แท้จริง

ซน ฮึง มิน อายุได้ 10 ขวบตอนที่เกาหลีใต้ได้อันดับที่ 4 ในฟุตบอลโลกปี 2002 ขณะที่ ฮวัง ฮี ชาน อายุ 6 ขวบในวันนั้น ด้วยช่วงวัยแห่งจินตนาการ มีความคลั่งไคล้สูงส่ง คุณแทบไม่ต้องเดาเลยว่าพวกเขาจะ "อิน" กับความสำเร็จนั้นและคาดหวังจะตามรอยเส้นทางนั้นด้วยตัวเองขนาดไหน 

ซน ถูกผู้เป็นพ่อฝึกอย่างรากเลือดตั้งแต่วันนั้น และอีก 6 ปีให้หลัง เขาก็พัฒนาตัวเองมาจนถึงอายุ 16 ปี ก่อนได้เข้าร่วมแคมเปญที่สมาคมฟุตบอลเกาหลีใต้นำเด็ก ๆ ที่มีแวว 3 คน ไปฝึกฝีเท้ากับ ฮัมบูร์ก ทีมดังของบุนเดสลีกา เยอรมัน (ณ เวลานั้น) 

ปกติรายการแบบนี้มักจะเป็นส่วนหนึ่งของการโปรโมตองค์กรมากกว่าการจะหวังผลอะไร เด็ก ๆ ที่ไปอาจจะได้ประสบการณ์ การไปเบียดกับเด็กยุโรป แต่การจะได้รับสัญญาถาวรที่นั่นแทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่ก็อย่างที่ทุกคนรู้กัน ซน ฮึง มิน เอาชนะเด็กยุโรปได้ ไม่ว่าจะด้วยร่างกาย ทักษะ และทัศนคติ เขาได้สัญญาอาชีพที่ฮัมบูร์ก ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยเล่นเกมลีกสูงสุดในเกาหลีใต้เลยสักนัด ความกล้าและทะเยอทะยานของเขาและครอบครัว พาเขาไปได้ไกลยิ่งกว่าที่เด็กเกาหลีใต้คนไหนเคยทำได้ 

ขณะที่ ฮวัง ฮี ชาน นั้น ก่อนที่ฟุตบอลโลก 2002 จะเริ่มแข่งขัน เขายังไม่ได้หัดเล่นฟุตบอลเลยด้วยซ้ำ เขาเคยเป็นนักเทควันโดและหวังว่าจะเอาดีจากเส้นทางนั้นมาก่อน ครอบครัวของเขาก็สนับสนุนเต็มที่เพราะเขาเติบโตมาจากครอบครัวชนชั้นกลางที่มีเงินส่งเสียในทุกด้าน เพียงแต่ว่าความประทับใจในปี 2002 ทำให้ ฮวัง ถึงกับเลิกเล่นเทควันโด และหันมาเอาจริงเอาจังด้านฟุตบอลหลังจากนั้นทันที 

 

"ผมเริ่มเล่นฟุตบอลหลังจากฟุตบอลโลกปี 2002 ผมรู้สึกว่าการเป็นนักเตะทีมชาติมีความสำคัญเพียงใด และผมกำลังเรียนรู้วิธีช่วยเหลือทีมอยู่" ฮวัง เล่าว่าในมุมมองของเขา นักเตะเกาหลีใต้คือ ฮีโร่ และทำให้เขาเข้าใจถึงความหมายของการพยายามเพื่อจะเป็นฮีโร่ที่ทำให้คนทั้งชาติภูมิใจ 

สิ่งทีเกิดขึ้นกับ ฮวัง ฮี ชาน ไม่ต่างกับ ซน ฮึง มิน มากนัก ฮวัง ไปเล่นที่ต่างประเทศตอนอายุ 18 ปี หลังจากพิชิตแชมป์ฟุตบอลในประเทศระดับมัธยมต้นกับมัธยมปลาย และเมื่อได้โอกาสก็กระโดดข้ามขั้นสู่ลีกยุโรปในทันทีเพื่อหาความท้าทายที่สูงกว่า 

ไม่ใช่แค่พวกเขาแค่ 2 คน นักเตะในวัยแค่ 21 ปี อย่าง อี คัง อิน จากสโมสร เรอัล มายอร์ก้า ที่เติบโตมากับทีมอะคาเดมีของสโมสร บาเลนเซีย ในสเปน ก็ได้รับการผลักดันจากพ่อแม่หลังจากฟุตบอลโลก 2002 เช่นกัน โดยในส่วนของ อี นั้นเล่นฟุตบอลตั้งแต่อายุ 3-4 ขวบเลยด้วยซ้ำ   

ภาพที่เกิดขึ้นมันคล้าย ๆ กับเหตุการณ์ "ภราดรฟีเวอร์" เมื่อยุค 2000s ในประเทศไทย ที่ ภราดร ศรีชาพันธุ์ นักเทนนิสชาวไทยประสบความสำเร็จในระดับโลก จนพ่อแม่ผู้ปกครองต่างพาลูก ๆ หลาน ๆ มาเรียนเทนนิสกันอย่างถล่มทลาย เพียงแต่ว่าสิ่งแตกต่างคือ ภารดรฟีเวอร์ เกิดขึ้นและจบลงอย่างรวดเร็ว เพราะไม่มีโครงสร้างที่ดีรองรับนักกีฬารุ่นหลัง แตกต่างกันกับฟุตบอลเกาหลีใต้ที่พัฒนาตั้งแต่รากฐานไล่มาตั้งแต่ฟุตบอลโรงเรียน ฟุตบอลสโมสรระดับเยาวชน ฟุตบอลลีก และกระทั่งการส่งเด็ก ๆ ที่มีเขามีออกไปค้าแข้งในต่างประเทศ  

 

พวกเขาอาจจะกดดันนักเตะทุกชุดหลังจากจบฟุตบอลโลก 2002 แต่ทว่ามันคือความกดดันที่อยากจะเห็นความสำเร็จที่มากกว่าเดิม ทำได้ดีกว่าทีมชุดที่พวกเขาบอกว่า "ไร้เทียมทาน" ในปี 2002 ซึ่งจะเป็นได้หรือไม่นั้นเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่ทุกอย่างย่อมเป็นไปตามเหตุและผล หากอยากจะได้ผลงานที่ดีกว่าเดิมก็ต้องมีทรัพยากรที่ดีกว่าเดิม ดังนั้นเกาหลีใต้จึงพยายามสร้างนักกีฬาที่เก่งกว่าที่เคยมี 

ตอนนี้ ซน ฮึง มิน ถูกยกให้เป็นนักเตะแถวหน้าของพรีเมียร์ลีกไปแล้ว พวกเขาทำสำเร็จไปแล้วอย่างน้อย ๆ ก็ 1 คน ซน ก้าวข้ามมาตรฐานนักเตะเอเชียไปไกล แฟนบอลเกาหลีใต้หลายคนบอกว่าสิ่งที่ ซน ฮึง มิน ทำนั้นพิสูจน์ว่าเขาเป็นนักเตะที่ดีกว่า "ไอคอนตลอดกาล" ของชาติอย่าง พัค จี ซอง ไปเรียบร้อยแล้ว 

"ถ้าคุณถามคนเกาหลีใต้ว่าชอบใครมากกว่ากันระหว่าง ซน ฮึง มิน และ พัค จี ซอง ก็เหมือนคำถามโลกแตก แต่จริง ๆ แล้ว ซน คือผู้ที่ทำลายอคติของชาวตะวันตกไปเรียบร้อย เขาทำให้ทุกคนเข้าใจว่านักเตะเกาหลีใต้ต้องทำอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จในเวทีระดับโลก" 

"ซน คือนักเตะเอเชียคนเดียวที่ยิงได้ถึง 50 ลูกในพรีเมียร์ลีก และไม่ใช่แค่ด้านตัวเลขและสถิติอย่างเดียวที่ทำให้เขาเป็นแข้งคนโปรดของชาวเกาหลีใต้ ... แน่นอนผมและทุกคนยังรัก พัค จี ซอง เหมือนเดิม แต่ในแง่ตัวบุคคลตอนนี้ ซน ฮึง มิน ถือว่าเป็นผู้เล่นที่มีคุณภาพมากกว่าอย่างไม่ต้องสงสัย" เควิน ริว บรรณาธิการด้านกีฬาของ Nyu News เล่าถึงมุมมองของชาวเกาหลีใต้ ที่ตอนนี้มอง ซน ฮึง มิน แสดงภาพไอคอนของวงการฟุตบอลแซงหน้าของ พัค ไปแล้ว 

ขณะที่ ฮวัง ฮี ชาน เองก็กำลังเริ่มต้นในพรีเมียร์ลีกได้สวยสดงดงาม 4 เกมที่ลงสนามกับ 3 ประตูที่เยือกเย็น เขาเบียดตำแหน่งตัวจริงของ อดาม่า ตราโอเร่ นักเตะที่ว่ากันว่ามีค่าตัวมากกว่า 40-50 ล้านปอนด์ตามหน้าสื่อได้เรียบร้อย และนั่นคือความจริงที่เกิดขึ้นและบอกให้พวกเราได้รู้ว่า การมีฮีโร่และไอดอลที่ประสบความสำเร็จเป็นแบบอย่าง สร้างผลกระทบกับนักเตะรุ่นหลังได้แค่ไหน

เมื่อมีกระแสจึงรีบคว้าและต่อยอดให้ได้เร็วที่สุด ถ้าแค่อยากสนุกก็ใส่กันตูมเดียวแล้วหายไปให้กลายเป็นกระแสชั่วคราว ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วหากมีการดูแลพวกเขาเหล่านั้นให้ดี มีโครงสร้างและทางไปต่อให้กับเด็กรุ่นใหม่ สุดท้ายการตามรอยตำนานก็จะเป็นไปได้ และอาจจะทำได้เหนือกว่าในอดีตเสียด้วยซ้ำ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ฟุตบอลเกาหลีใต้เปลี่ยนแปลงไปเพราะกระแสฟุตบอลโลก 2002 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook