มาราธอนพระแห่งเขาฮิเอ : มาราธอนสุดโหดที่ต้องใช้เวลาถึง 7 ปีกว่าจะถึงเส้นชัย

มาราธอนพระแห่งเขาฮิเอ : มาราธอนสุดโหดที่ต้องใช้เวลาถึง 7 ปีกว่าจะถึงเส้นชัย

มาราธอนพระแห่งเขาฮิเอ : มาราธอนสุดโหดที่ต้องใช้เวลาถึง 7 ปีกว่าจะถึงเส้นชัย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การวิ่งระยะไกลกลายเป็นการแข่งขันที่ได้รับความนิยมจากเหล่านักวิ่งมากขึ้น ทำให้มีการวิ่งมาราธอน ถูกจัดขึ้นในเมืองต่าง ๆ ของไทย รวมไปถึงหลายเมืองทั่วโลก

เช่นกันกับที่ญี่ปุ่น พวกเขาก็มีรายการวิ่งที่น่าสนใจที่พร้อมจะดึงดูดนักวิ่งให้เข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็น โตเกียวมาราธอน เกียวโตมาราธอน หรือ ฟูจิซังมาราธอน 

ทว่ารายการที่กล่าวมาข้างต้น คงจะไม่มีรายการไหนที่โหดหินไปกว่า มาราธอนแห่งเขาฮิเอ ที่ผู้เข้าร่วมต้องใช้เวลาถึง 7 ปีกว่าจะถึงเส้นชัย แถมยังต้องเป็นพระเท่านั้น

 

มันคืออะไร ? ทำไมถึงใช้เวลานานขนาดนั้น ? ร่วมติดตามไปพร้อมกับ Main Stand

มาราธอน 1,000 วัน 

ในบรรดารายการวิ่ง มาราธอนน่าจะเป็นการแข่งขันวิ่งที่ผู้คนคุ้นเคยมากที่สุด ขณะเดียวกันมันก็เป็นการแข่งขันสุดโหดที่ต้องใช้ความแข็งแกร่งทั้งร่างกายและจิตใจ ตลอดระยะทาง 42.195 กิโลเมตรกว่าจะถึงเส้นชัย

ทว่าสำหรับประเทศญี่ปุ่น พวกเขามีมาราธอนที่โหดหินกว่านั้น แถมยังหนักกว่าอัลตร้ามาราธอนเสียอีก และที่สำคัญผู้เข้าร่วมทุกคนจะต้องบวชเป็นพระ ชื่อของมันก็คือ "ไคโฮเงียว" หรือที่หลายคนเรียกว่า มาราธอนพระแห่งภูเขาฮิเอ 


Photo : yamacparasutufethiye.org

 

มันคือการวิ่ง (หรือเดิน) ระยะไกลของพระในศาสนาพุทธ นิกายเทนได (นิกายหนึ่งของญี่ปุ่น) ที่มีเส้นทางอันคดเคี้ยวบนภูเขาฮิเอ ในเมืองเกียวโต โดยมีศาลเจ้าทั้ง 260 แห่งบนภูเขาเป็นจุดหมายปลายทาง

อย่างไรก็ดี นอกจากความลาดชันที่เป็นอุปสรรคแล้ว สิ่งที่ทำให้ไคโฮเงียวมีความยากกว่าปกติก็คือ พระที่เข้าร่วมจะต้องเดินหรือวิ่งมาราธอนด้วยการสวมเพียงชุดนักบวชขาวและรองเท้าแตะฟาง เป็นจำนวนทั้งหมด 1,000 ครั้ง ภายในระยะเวลา 1,000 วัน 


Photo : card.weibo.com

ทำให้พระที่จะทำไคโฮเงียว ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 7 ปีในการทำภารกิจ ซึ่งแต่ละปีจะมีกฎเกณฑ์ที่แตกต่างกันออกไป เริ่มจากปีแรกพวกเขาต้องเดินหรือวิ่งพร้อมกับสวดมนต์ไปด้วย ในระยะทางถึง 30 กิโลเมตรทุกวัน และต้องทำแบบนี้ 100 วันติดต่อกัน 

"เวลาที่เราเดิน เราจะสวดมนต์ในบทของฟุโดเมียว (ราชาผู้ทรงสติปัญญา) เทพองค์หลักของเรา" เอ็นโด มิตสึนางะ หนึ่งในพระที่ปฏิบัติภารกิจลุล่วงกล่าวกับ NPR

 

"เราไม่ควรหายใจออกตอนเราขึ้นเนิน และด้วยการท่องบทสวดจะทำให้เราสามารถควบคุมลมหายใจและควบคุมจิตของเราได้" 


Photo : photozou.jp

แต่งานของพวกเขาไม่ได้มีแค่นี้ เพราะในขณะที่ทำไคโฮเงียว พวกเขาก็จะต้องปฏิบัติหน้าที่ในวัดตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นการทำวัตร หรือทำงานบ้านทั่วไป ทำให้พระแต่ละรูปมีเวลาพักผ่อนน้อยมาก 

พระมิตสึนางะเล่าว่า ท่านจะตื่นหลังเที่ยงคืนเล็กน้อย แล้วออกไปเดินบนภูเขาฮิเอจนถึง 8 โมงเช้า จากนั้นจะกลับมาทำภารกิจที่วัด จนเสร็จแล้วค่อยล้มตัวลงนอนตอนหัวค่ำ ทำให้เขามีเวลางีบหลับเพียงแค่ราววันละ 4 ชั่วโมงครึ่ง

 

อย่างไรก็ดี หากผ่าน 100 วันแรกไปได้ พวกเขาจะต้องเผชิญกับสิ่งที่ลำบากไม่แพ้กัน 

ไปต่อหรือพอแค่นี้   

สำหรับพระที่เข้าร่วมไคโฮเงียว พวกเขาจะมีเพียงอาหารง่าย ๆ อย่างข้าว ซุปมิโสะ และชา เป็นแหล่งให้พลังงานเท่านั้น แถมยังต้องทำตามกฎอย่างเคร่งครัด อย่างห้ามดื่มเหล้า ห้ามถอดหมวกและผ้าคลุมออก ห้ามใช้ทางลัด รวมไปถึงห้ามหยุดถ้าไม่มีเหตุอันควรไปตลอดเส้นทางของการทำภารกิจ 

นอกจากนี้ นอกจากหมวกฟางและไม้เท้าที่เอาไว้ช่วยเดินบนภูเขา พวกเขายังมีสิ่งที่อนุญาตให้พกติดตัวเพียงไม่กี่อย่าง หนึ่งในนั้นคือ พัดและสายประคำ ซึ่งถูกใช้เป็นตัวแทนของดาบและเชือกของเทพฟุโดเมียว 


Photo : www.facebook.com/nikkoshugendo

"สิ่งที่ยากที่สุดคือการต้องทำแบบนี้ติดต่อกัน 100 วัน" เกนชิน ฟูจินามิ พระที่เคยเข้าร่วมไคโฮเงียวกล่าวกับ ABC เมื่อปี 2004

 

"ถ้าเราวิ่งมาราธอน บางครั้งเราสามารถหยุดพักได้ แต่มาราธอนของเราโดยเนื้อแท้มันไม่ใช่การเดิน แต่มันคือการไปสักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วยเท้า หลังจากนั้นเราก็ไปสักการะอีกที่หนึ่ง มันเลยดูเหมือนกับการจาริกแสวงบุญ" 

 

หลังจากผ่านพ้น 100 วันแรกไปได้ พระที่เข้าร่วมจะได้รับอนุญาตให้ถอนตัวได้ เพราะถ้าพวกเขาตัดสินใจวิ่งต่อในวันที่ 101 พวกเขาจะถอนตัวไม่ได้อีกแล้ว ซึ่งถ้าทำไม่สำเร็จตามประเพณีเดิม พวกเขาต้องปลิดชีพตัวเอง 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้บนภูเขาฮิเอ เต็มไปด้วยหลุมศพของพระที่ทำภารกิจไม่สำเร็จ ว่ากันว่าตลอดเส้นทางมาราธอนนี้ มีหลุมศพอยู่ทุกที่ แต่โชคดีที่ประเพณีนี้ไม่มีอีกแล้ว นับตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา

จากนั้นในปีที่ 2 และ 3 พวกเขาก็ต้องเดินต่อเหมือนกับปีแรก นั่นคือเดินหรือวิ่ง 30 กิโลเมตรติดต่อกัน 100 วัน พร้อมด้วยการทำวัตรเหมือนปกติ ถึงแม้ว่ามันจะดูยากลำบาก แต่ในมุมของพระมิตสึนางะก็รู้สึกว่ามันไม่ได้โหดขนาดนั้น 


Photo : ameblo.jp

 

"การเดินของอาตมาใช้เวลาราวครึ่งวัน ทุกคนก็สามารถทำแบบนั้นได้ และช่วงเวลาที่เหลือของกิจวัตรประจำวันก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกฝนทางจิตวิญญาณ" พระมิตสึนางะ อธิบายกับ NPR  

"อาตมาต้องดูแลวัดทั้งวัดด้วยตัวเองและต้องทำแบบนี้ไปตลอด ถ้าอาตมาไม่ทำให้เสร็จเร็ว ๆ อาตมาก็นอนไม่ได้" 

 

ทว่าเมื่อผ่านปีที่ 3 ไป ความยากก็จะเริ่มทวีคูณ เมื่อในปีที่ 4 และ 5 พวกเขาจะต้องเดินหรือวิ่งเป็นระยะทาง 30 กิโลเมตรเหมือนเดิม แต่ต้องทำต่อเนื่องเป็นสองเท่า นั่นก็คือ 200 วันติดต่อกัน หรือกว่าครึ่งปี 

หากผ่านมาได้ ก็ถือว่าพวกเขามาถึงครึ่งทางแล้ว แต่นี่อาจจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความยากลำบากเท่านั้น

เข้าใกล้ความตาย 

เมื่อย่างเข้าสู่ปีที่ 5 ของการทำภารกิจ พระที่เข้าร่วมจะได้พักเบรกการเดินทางแบบมาราธอน ด้วยพิธีที่มีชื่อว่า โดอิริ (Doiri) ซึ่งถูกมองว่าเป็นขั้นตอนที่โหดร้ายที่สุดของไคโฮเงียว 

มันคือช่วงเวลาอันแสนทรหดที่พวกเขาต้องเข้าไปอยู่ในห้องมืดในวัดบนภูเขาฮิเอเป็นเวลาถึง 9 วัน โดยห้ามกินน้ำและอาหาร รวมไปถึงนอนหลับ โดยจะมีพระสองรูปคอยเฝ้าดูอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสิ่งเดียวที่ทำได้ก็คือสวดมนต์ไปเรื่อย ๆ เท่านั้น 

ว่ากันว่าคนเราจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องนอนหลับคือ 11 วัน นั่นจึงทำให้ขั้นตอนนี้ทำให้พระที่เข้าร่วมไคโฮเงียวเข้าใกล้กับความตายมากที่สุด 


Photo : www.wikiwand.com

"พูดง่าย ๆ คุณก็แค่ละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างแล้วสวดภาวนาให้กับฟุโดเมียว" พระมิตสึนางะ กล่าวกับ NPR  

"การทำแบบนี้จะทำให้ท่านเห็นคุณ และปล่อยให้คุณมีชีวิตไปอีก 9 วัน" 

 

แค่นั้นยังไม่พอ เพราะทุกตี 2 ของวัน พระที่เข้าร่วมจะต้องออกไปตักน้ำจากสระที่อยู่ห่างออกไปราว 200 เมตร ที่ไม่ใช่เพื่อเอาไว้ดื่ม แต่เพื่อนำไปถวายเทพฟุโดเมียว แต่เนื่องจากช่วงนี้พระจะเข้าสู่สภาวะอ่อนแรงมาก จึงเป็นต้องมีพระอีกรูปมาคอยช่วยเหลือ 

"มัน (พิธีโดอิริ) จะทำให้เราสูดอากาศเพื่อหายใจได้ยากขึ้น มันยากมากราวกับอวัยวะภายในของอาตมาทำงานผิดปกติ อาตมาหวังว่าจะสามารถทำสมาธิและจดจ่อได้ แต่อาตมาก็สูญเสียความสามารถทุกอย่างในการคิดไป" พระฟูจินามิ อธิบายกับ ABC 

แต่เมื่อพวกเขาผ่านพ้นมาได้ ก็เหมือนกับการได้เกิดใหม่อีกครั้ง ก่อนที่จะเข้าสู่ปีที่ 6 ด้วยโจทย์ที่ยากขึ้น นั่นคือต้องเดินหรือวิ่งเป็นระยะทาง 60 กิโลเมตรติดต่อกัน 100 วัน ต่อด้วยเดินหรือวิ่งอีก 84 กิโลเมตรติดต่อกันอีก 100 วันในปีที่ 7 


Photo : www.163.com

ทว่าหลังจากนั้นก็จะเริ่มเบาลง เมื่อระยะทางที่ต้องเดินหรือวิ่งตลอดวันที่เหลือจนกว่าจะครบทุกวันของปีที่ 7 จะถูกลดลงมาจาก 84 กิโลเมตร เหลือวันละ 30 กิโลเมตร ซึ่งถ้าหากเดินหรือวิ่งจนครบ จะทำให้พวกเขาทำระยะทางได้เทียบเท่ากับเส้นรอบวงของโลกเลยทีเดียว 

อย่างไรก็ดี พวกเขาทำแบบนี้ไปเพื่ออะไร ? 

ความหมายของชีวิต 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่จะทำไคโฮเงียวได้สำเร็จ ต้องใช้ทั้งความแข็งแกร่งทางร่างกายและจิตใจในระดับสูงสุด และทำให้มันกลายเป็นมาราธอนที่ท้าทายที่สุดในโลก 

ความยากของมันพิสูจน์ได้จากหลักฐานว่านับตั้งแต่ปี 1885 มีพระเพียง 46 รูปเท่านั้นที่ปฏิบัติภารกิจได้ลุล่วง ขณะที่ผู้ล้มเหลวมีนับไม่ถ้วน 

 

พระฟูจินามิบอกว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้พวกเขาสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องด้วยระยะทางขนาดนั้น คือการปล่อยกาย ปล่อยใจ และทุกอย่าง จนไม่หลงเหลือสิ่งใดให้คิดอีก


Photo : www.theguardian.com

"เมื่อคุณไม่เหลืออะไร หลังจากนั้นจะมีบางอย่างแตกออกมา เพื่อเข้ามาเติมเต็มช่องว่างนั้น" พระฟูจินามิ กล่าวกับ The Guardian 

ส่วนทำไมต้องเป็นไคโฮเงียว ที่ต้องใช้เวลาถึง 1,000 วัน เขาตอบว่ามันคือหนึ่งในวิธีที่ทำให้มนุษย์ได้อยู่กับตัวเอง และได้ไตร่ตรองชีวิตที่ผ่านมาได้มากที่สุด  

 

"มนุษย์ทุกคนต่างกำลังถามคำถามนี้ 'เรามีชีวิตอยู่ไปทำไม'" พระฟูจินามิ กล่าว

"การเคลื่อนที่อย่างต่อเนื่องตลอด 1,000 วัน ทำให้คุณได้มีเวลาคิดในสิ่งนี้ ได้สะท้อนชีวิตของคุณ มันเป็นเหมือนการทำสมาธิผ่านการเคลื่อนไหว มันจึงเป็นเหตุผลว่าคุณต้องไม่วิ่งเร็วเกินไป มันคือเวลาที่จะทำสมาธิแล้วบอกกับตัวเองว่า คุณควรจะมีชีวิตอยู่อย่างไร"  

สิ่งนี้ทำให้ ไคโฮเงียว เป็นเหมือนการเดินหรือวิ่งเพื่อไปสู่ความรู้แจ้ง หรืออาจจะเป็นสิ่งที่ศาสนาพุทธเรียกว่าการตรัสรู้ แน่นอนว่ามันอาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด แต่สำหรับพระในนิกายเทนได มันคือสิ่งที่พวกเขาเลือกที่จะทำ 

"ทุกคนก็ต้องหาอะไรบางอย่างที่เหมาะสมกับพวกเขาหรือเข้ากับร่างกายของพวกเขาในสิ่งที่พวกเขาจะทำในชีวิต ผมเลือกที่จะรับความท้าทายนี้ แต่มันก็เป็นเพียงหนึ่งในเส้นทางมากมายในการไปถึงจุดหมายเดียวกัน" พระฟูจินามิ อธิบาย 

นอกจากนี้มันยังถูกใช้เป็นวิธีฝึกฝนจิตใจเพื่อไปช่วยเหลือคนอื่น โรเบิร์ต โรดส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาพุทธญี่ปุ่น แห่งมหาวิทยาลัยโอตานิ เมืองเกียวโต บอกว่ากระบวนการของมันจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ 700 วันและ 300 วัน มันคือการแบ่งแบบ 7-3 ซึ่งมีแนวคิดมาจาก 10 ชาติก่อนที่จะเป็นพระพุทธเจ้าในศาสนาพุทธ

"ใน 7 ส่วนแรกคือการทำเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ปลูกฝังทัศนคติทางจิตใจของตัวเอง และจาก 7, 8 และ 9 คุณจะไม่ได้ทำเพื่อตัวเองอย่างเดียวแล้ว แต่จะทำเพื่อทุกคนด้วย" โรดส์ อธิบายกับ NPR  

ปกติแล้วสำหรับญี่ปุ่น กีฬามักจะถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ช่วยเติมเต็มชีวิตอยู่เสมอ ทำให้หลายกีฬาของพวกเขาโดยเฉพาะกีฬาเชิงวัฒนธรรม อย่าง ยูโด เคนโด้ การยิงธนู (คิวโด) มักจะมีคำว่า โด (道) ที่แปลว่า "วิถี" ต่อท้าย 

การเดินหรือวิ่งระยะไกลก็เช่นกัน มันเป็นสิ่งที่ใช้เติมเต็มตัวเองได้ เป็นกิจกรรมที่ทำง่าย ที่แม้ว่าบางครั้งมันอาจจะทำให้เราเหนื่อยหรือวิ่งไม่ออก แต่เมื่อเราผ่านพ้นมันมาได้ก็จะรู้สึกโล่งสบาย มีจิตใจที่ปลอดโปร่ง และสิ่งนี้ก็ถูกนำมาใช้ในศาสนาพุทธนิกายเทนได  

แต่สำคัญที่สุดคือการที่ไคโฮเงียวช่วยฝึกฝนให้พระที่เข้าร่วมมี “สติ” อยู่เสมอ เหมือนกับที่ จอห์น สตีเวน สรุปไว้ในหนังสือ The Marathon Monks of Mount Hiei ของเขา ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1988 


Photo : www.hieizan.or.jp

"สิ่งที่น่ายกย่องที่สุดของการบำเพ็ญเพียรบนเขาฮิเอคือการข่มกิเลส เปิดใจให้กว้าง และการมีมนุษยธรรมของพวกเขา" 

"ด้วยความที่มาราธอนของพระต้องเผชิญกับความตายซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันจึงเป็นการดำรงอยู่ของชีวิตในทุกขณะ ที่เต็มไปด้วยความรู้สึกขอบคุณ ความเพลิดเพลิน และความสง่างาม" 

"สิ่งเรานี้สอนเราได้มากทีเดียว นั่นคือการมุ่งไปสู่จุดสูงสุด ไม่มองกลับหลัง นึกถึงผู้อื่นตลอดเวลา และตั้งจิตให้มั่นคงอยู่ตลอดเส้นทางที่เดินหรือวิ่งไป" 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook