รู้จักเจ้าของทรัพย์สิน "16 ล้านล้านบาท" นายใหญ่คนใหม่แห่ง นิวคาสเซิล
ทันทีที่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการว่า กลุ่มทุนใหญ่แห่งประเทศซาอุดีอาระเบีย Public Investment Fund (PIF) ได้เทคโอเวอร์สโมสร นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ทีมดังในพรีเมียร์ลีกอังกฤษ สื่อทุกเจ้าก็ประโคมข่าวความร่ำรวยและทรัพย์ที่เจ้าของใหม่ของสาลิกาดงครอบครอง
เจ้าของสโมสรฟุตบอลที่รวยที่สุดในโลก รวยยิ่งกว่าทีมที่เจ้าของทีมมีทรัพย์สินมากเป็นอันดับ 1 ของพรีเมียร์ลีกอย่าง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ถึง 10 เท่า หรือใด ๆ ก็ตามที่คุณได้รู้ วันนี้ Main Stand จะพาไปให้ลึกยิ่งกว่าเรื่องตัวเลข แต่เราจะล้วงไปถึงที่มาว่าเงินจำนวนมหาศาลนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
PIF รวยล้นฟ้า!
Public Investment Fund หรือชื่อย่อ PIF กลุ่มทุนใหญ่ที่เป็นเจ้าของของสโมสรนิวคาสเซิลในเวลานี้ เป็นบริษัทเกี่ยวกับการเงินที่ลงทุนเกี่ยวกับกองทุนต่าง ๆ ทั้งกองทุนสาธารณะ รวมถึงกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติซาอุดีอาระเบียด้วย
ในส่วนของกองทุนความมั่งคั่ง หากอธิบายให้เข้าใจกันง่าย ๆ คือกองทุนที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นเพื่อบริหารจัดการทุนสำรองระหว่างประเทศหรือสินทรัพย์ที่เกิดจากรายได้จากทรัพยากรที่ถูกสะสมไว้เป็นจำนวนมากจนเกินความต้องการ ซึ่งกองทุนนี้จะถูกนำไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ แล้วนำผลตอบแทนที่ได้กลับมาสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติอีกทีหนึ่ง
ซึ่งในส่วนของกองทุนความมั่งคั่งนี้เอง ที่ทำให้ PIF สามารถเข้าไปลงทุนในฐานะผู้ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทที่มีโครงสร้างสำคัญสำหรับเศรษฐกิจของประเทศแทบทุกอย่าง
อย่างที่เรารู้กัน ซาอุดีอาระเบีย คือหนึ่งในประเทศที่มีทรัพยากรด้านน้ำมันดิบเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก ซึ่ง PIF ก็ถือเป็นผู้อยู่เบื้องหลังที่สนับสนุนธุรกิจดังกล่าว นอกจากธุรกิจพลังงานแล้ว PIF ยังมีส่วนสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศซาอุดีอาระเบียอีกมากมาย ทั้ง ธุรกิจขนส่ง, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, ธุรกิจกลั่นน้ำทะเลเป็นน้ำจืด เป็นต้น
การอยู่ในสถานะกินรวบทำให้องค์กรเติบโตเป็นอย่างมาก จน PIF ขยับขยายมาลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ในช่วงหลังจากปี 2010 เป็นต้นมา
โดยบริษัทที่ PIF เข้าไปถือหุ้นได้แก่ Posco Engineering & Construction Co. บริษัทเกี่ยวกับการค้าเหล็กและการก่อสร้างของเกาหลีใต้ ทั้งหมด 38% ในส่วนนี้ PIF จะได้กำไรตกราว ๆ ปีละประมาณ 1,600 ล้านปอนด์ หรือ 760,000 บาท และยังมีบริษัทที่ถือหุ้นในอินเดียอย่าง Reliance Industries ที่เป็นบริษัทเกี่ยวกับพลังงานปิโตรเคมี, ก๊าซธรรมชาติ, โทรคมนาคม และ สื่อมวลชน อีกด้วย
นอกจากการถือหุ้นของบริษัทในต่างประเทศ PIF ยังตั้งบริษัทแยกออกมาภายใต้ชื่อ SoftBank Vision Fund (ร่วมทุนกับ SoftBank Group กลุ่มทุนใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น) เพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกที่กำลังขาดทุนหรือต้องการเงินลงทุนเพื่อขยายธุรกิจ เช่น Uber รวมถึง ByteDance เจ้าของแอปพลิเคชัน TikTok
โดยในช่วงปี 2017 PIF ยังลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในสหรัฐอเมริกามากกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.9 แสนล้านบาท) ซึ่งครั้งนั้น โดนัลด์ ทรัมป์ ที่เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ยังเดินทางมาประชุมกับ CEO ของ PIF โดยตรงอีกด้วย
สรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ณ ตรงนี้คือ PIF ลงทุนกับแทบทุกสิ่งที่สำคัญต่อเศรษฐกิจในประเทศซาอุดีอาระเบีย และเมื่อพวกเขามีรายรับมากเกินกว่าจะเก็บไว้เฉย ๆ จึงขยายโครงสร้างบริษัทด้วยการลงทุนกับหุ้นในต่างประเทศ และยังปล่อยสินเชื่อ (เงินกู้) ให้กับบริษัทต่าง ๆ ที่ต้องการเงินทุน โดยทาง PIF จะสามารถทำกำไรจากดอกเบี้ยในการปล่อยกู้นั่นเอง
เบื้องหลังความยิ่งใหญ่
การกินรวบธุรกิจสำคัญ ๆ ในประเทศคงเป็นไปไม่ได้เลยหากไร้ซึ่งคอนเน็กชันและอิทธิพลที่แข็งแกร่ง คุณสามารถเข้าใจได้ทันทีว่าทำไม ตั้งแต่เห็นชื่อประธานบริษัทของ PIF แล้ว
ชื่อนั้นคือ "มุฮัมมัด บิน ซัลมาน" มกุฎราชกุมารในราชวงศ์ซาอุด และเป็นราชโอรสของ สมเด็จพระราชาธิบดี ซัลมาน บิน อับดุลอะซิซ อัล-ซาอุด กษัตริย์ของประเทศซาอุดีอาระเบีย อีกทั้งภายในประเทศยังดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
แค่ตำแหน่งทั้งหมดที่กล่าวมาก็น่าจะพอได้เห็นถึงพาวเวอร์ในแบบที่ใครในประเทศก็ต้านทานยาก ทว่าการนั่งเก้าอี้ประธานบริษัทของเจ้าชายมุฮัมมัดนั้นยังไม่ใช่สูตรสำเร็จของบริษัท PIF ที่ยิ่งใหญ่นี้ เพราะกุนซือขององค์กรที่แท้จริง เรียกได้ว่าเป็นมันสมองของทีมคือ ยาซิร อัล รุมัยยาน ผู้ว่าการของ PIF ที่เป็นคนคอยอ่านสถานการณ์การลงทุนในต่างประเทศ เพื่อทำให้สินทรัพย์ที่มีอยู่เพิ่มขึ้นในทุก ๆ วินาที
ซึ่งตามข่าวที่ BBC รายงาน ยาซิร อัล รุมัยยาน ผู้นี้นี่เองที่จะนั่งเก้าอี้ประธานสโมสรของ นิวคาสเซิล โดยเหตุผลของการรับตำแหน่งนี้คาดว่าจะทำให้หลายสิ่งหลายอย่างสะดวกและเป็นไปตามกฎของพรีเมียร์ลีกได้ง่ายกว่า อ้างอิงจากการแถลงข่าวจากเว็บไซต์หลักของพรีเมียร์ลีกที่บอกว่า
"ตอนนี้พรีเมียร์ลีกได้รับการรับรองตามกฎหมายว่า ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียจะไม่เข้ามาควบคุมสโมสรฟุตบอล นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด"
ซึ่งหากตีความประโยคนี้ให้ลึกอีกสักหน่อย อาจจะเป็นเพราะตัวของ เจ้าชายมุฮัมมัด มีความสัมพันธ์ด้านการเมืองและเป็นเชื้อพระวงศ์ของซาอุดีอาระเบียโดยตรง ซึ่งเรื่องดังกล่าวเคยเป็นปัญหาในการที่ PIF พยายามจะเทคโอเวอร์นิวคาสเซิลในปี 2020 มาแล้ว โดยในครั้งนั้นหลายฝ่ายออกมาต่อต้านความเป็นเจ้าของสโมสรของเจ้าชายมุฮัมมัด
หนึ่งในนั้นคือ องค์การนิรโทษกรรมสากล หรือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่เชื่อว่า เจ้าชายมุฮัมมัด เป็นผู้อยู่เหนือระบบเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวที่อ้างว่าราชวงศ์ซาอุฯ มีเรื่องราวเชิงลบมากมาย เช่นการพัวพันกับการสังหาร ญามาล คอชุกกี นักข่าวคนดังที่เน้นเรื่องการเปิดโปงเรื่องราวเชิงลบของรัฐบาลซาอุฯ ขณะที่เจ้าตัวไปติดต่อธุระที่สถานกงสุลซาอุฯ ในนครอิสตันบูล เมื่อปี 2018
ดังนั้นการส่งกุนซือใหญ่แห่ง PIF อย่าง ยาซิร อัล รุมัยยาน มารับตำแหน่งประธาน ถือเป็นตัวเลือกที่ดีและเหมาะสมสำหรับการทำให้ทุกอย่างคลี่คลายและไร้ปัญหาอย่างที่แอมเนสตี้กังวล และเขาเองก็มีความสามารถในการบริหารและการลงทุนในระดับที่หาตัวจับยากอยู่แล้ว ดังนั้นจึงเป็นการเลือกคนนั่งเก้าอี้ที่ลงล็อกที่สุด แม้ที่สุดแล้ว เจ้าชายมุฮัมมัด จะเป็นคนที่สื่อทั่วโลกบอกว่าอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ก็ตาม
ซื้อนิวคาสเซิลได้อะไร ?
การซื้อสโมสรนิวคาสเซิล นั้นไม่ใช่เรื่องที่ PIF จะมาทำเล่น ๆ เป็นเด็กเล่นขายของแน่นอน โครงการนี้ได้รับการชักชวนจาก PCP Capital Partners ของ อแมนด้า สเตฟลี่ย์ นักธุรกิจเจ้าของฉายา แม่มดการเงิน กับ RB Sports & Media และเริ่มไปเทียวไล้เทียวขื่อติดต่อกับเจ้าของเก่าของนิวคาสเซิลอย่าง ไมค์ แอชลี่ย์ มาไม่ต่ำกว่า 3 ปีแล้ว ก่อนที่จะจบดีลด้วยราคาราว 300 ล้านปอนด์ตามที่ข่าวระบุไว้
หากถามว่าพวกเขาจะได้อะไรบ้างจากการเป็นเจ้าของนิวคาสเซิล เราคงจะต้องให้ดูตัวอย่างจาก แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เพื่อให้เห็นภาพง่ายที่สุด เพราะในวันที่ ชีค มานซูร์ เข้ามาเทคโอเวอร์ แมนฯ ซิตี้ นั้น ใช้เงินไปเพียง 200 ล้านปอนด์เท่านั้น ขณะที่มูลค่าของ แมนฯ ซิตี้ ในเวลานี้พุ่งทะยานเกิน 10 เท่า หรือราว ๆ 3 พันล้านปอนด์เข้าไปแล้ว
ซึ่ง นิวคาสเซิล ก็ถือเป็นทีมที่เหมาะสมในการลงทุน เพราะไม่มีหนี้ติดค้างและมีสถานะทางการเงินที่ยอดเยี่ยม มีสนามที่ใหญ่ และมีฐานแฟนคลับมากที่สุด เป็นรองเพียงทีมบิ๊ก 6 ในปัจจุบันเท่านั้น
นอกจากตัวเงินแล้ว สิ่งที่ PIF จะได้เจอ คือสงครามเศรษฐีน้ำมันขนาดย่อม ๆ เพราะเดิมทีมีเพียงกลุ่มทุนจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่เป็นเจ้าของ แมนฯ ซิตี้ และกลุ่มทุนจากประเทศกาตาร์ ที่เป็นเจ้าของ ปารีส แซงต์ แชร์กแมง เท่านั้น การซื้อ นิวคาสเซิล หนนี้หมายถึงชาติมหาอำนาจในตะวันออกกลางจะลงมาเล่นเกมของเล่นคนรวย และแข่งกันแย่งชิงความสำเร็จในกีฬาที่มีคนดูมากที่สุดในโลกอีกด้วย
ส่วนการบริหารทีมนิวคาสเซิลจะเป็นไปในทิศทางไหน เราคงไม่สามารถบอกได้ในตอนนี้ แต่ที่แน่ ๆ ตลาดซื้อขายที่กำลังจะเปิดขึ้นในอีก 2 เดือนข้างหน้า รับรองได้ว่าแฟนฟุตบอลทั่วโลก เตรียมเสพข่าวซื้อขายของนิวคาสเซิลในมือเจ้าของใหม่กันอย่างจุใจได้เลย
ว่ากันว่าเป้าหมายคร่าว ๆ ที่พวกเขาตั้งไว้ในอนาคตคือ "การพาทีมเป็นแชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก" ... นี่คือเป้าหมายที่แสดงให้เห็นว่า PIF ไม่ได้มาเล่น ๆ อย่างแน่นอน
• หรูหราสมฐานะ! ส่อง "บ้านที่แพงสุดในโลก" ของ "โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน" (ภาพ)