Bare-knuckle Boxing : กีฬาซัดกันด้วยหมัดเปล่าที่พิสูจน์ว่า "พวกเขาไม่ได้ป่าเถื่อน"

Bare-knuckle Boxing : กีฬาซัดกันด้วยหมัดเปล่าที่พิสูจน์ว่า "พวกเขาไม่ได้ป่าเถื่อน"

Bare-knuckle Boxing : กีฬาซัดกันด้วยหมัดเปล่าที่พิสูจน์ว่า "พวกเขาไม่ได้ป่าเถื่อน"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไม่มีอะไรจะเร้าใจไปกว่าการต่อสู้และประจันหน้ากันของสองยอดฝีมือบนสังเวียน คำว่าหมัดต่อหมัด คือสิ่งที่ปลุกเร้าให้ลูกผู้ชาย (รวมถึงลูกผู้หญิง) หลายคนลุกขึ้นเพื่อชิงความเป็นหนึ่ง 

อย่างไรก็ตาม บางคนกลับไม่ต้องการเดินตามวิถีนั้น การชกแบบมวยสากล หรือ MMA ก็ยังไม่หนักและยังไม่สะท้อนความเป็นมนุษย์นักสู้ได้มากพอ

ชายคนหนึ่งจึงพยายามพิสูจน์ว่าคนจริงต้องซัดกันด้วยหมัดเปล่า และสิ่งที่เขาพยายามยิ่งกว่านั้นคือการบอกโลกให้รู้ว่า "หมัดเปล่า" ปลอดภัยกว่า และไม่ได้ป่าเถื่อนอย่างที่ใครคิด 

เรื่องราวเป็นอย่างไร ? ติดตามได้กับ Main Stand

มือเปล่ามา 300 ปี 

การต่อสู้คือกีฬาชนิดแรกที่อยู่กับมนุษย์ชาติและทุกคนสามารถเข้าใจกติกากันเป็นอย่างดี ใครแข็งแกร่งขว่า, ใครอดทนได้มากกว่า, ใครหนักหน่วงกว่า และคนที่ยืนอยู่เป็นคนสุดท้าย คนคนนั้นเป็นผู้ชนะ 

การตัดสินที่ง่ายดายและวิธีการที่ใครก็เข้าใจ คนสองคนขึ้นต่อสู้กันและหาผู้ชนะ ง่าย ๆ แบบนั้น สิ่งเหล่านี้ทำให้โลกแห่งการต่อสู้ถูกพัฒนาและดัดแปลงเป็นวิธีต่าง ๆ มากมาย จากที่คนยุคเก่าเคยซัดกันด้วยหมัดเปล่า ไม่มีเวลากำหนด และใส่กันจนล้มไปข้างหนึ่ง ความดิบเถื่อนที่สู้กันถึงตายก็เปลี่ยนไปตามความศิวิไลซ์ของโลก สุดท้ายตอนนี้เราก็ได้เห็นกีฬาอย่าง มวยไทย, มวยสากล, เทควันโด, มวยปล้ำ รวมถึง ศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) หรือที่หลายคนเรียกว่า มวยกรง จนกลายเป็นกีฬาที่ได้รับการยอมรับจากคนดูและยังถูกต้องตามกฎหมายอีกด้วย

สิ่งที่ทำให้กีฬาเหล่านี้เป็นที่ยอมรับได้ อาจจะเป็นเพราะความปลอดภัยที่มากขึ้นกว่าการต่อสู้กันของมนุษย์ในยุคเก่า ๆ ทุกกีฬาต่างมีกติกาและอุปกรณ์ที่ช่วยเซฟตี้ ทำให้มันไม่ป่าเถื่อนเกินกว่าคำว่ามนุษย์เกินไป

อย่างไรก็ตาม หลายคนไม่ได้ชอบความปลอดภัยเพราะเชื่อว่ามันไม่ท้าทาย คนกลุ่มนี้เชื่อว่าการต่อสู้จะสมบูรณ์แบบก็ต่อเมื่อได้ยินเสียงของกระดูกชนกัน กลิ่นคาวเลือด และสังเวียนที่แดงฉานจากแผลแตกของนักสู้บนเวที พวกเขาจึงได้รวมตัวกันและสร้างกีฬาต่อสู้ที่มีชื่อว่า "Bare-knuckle boxing" ที่สร้างความนิยมจนถึงขั้นว่ามีผู้แข่งขันเก่ง ๆ มากมายและมีการชิงแชมป์ระดับโลกอีกด้วย

สูงสุดคืนสู่สามัญ 

การชกแบบหมัดเปล่าลุ่น ๆ ไม่มีเซฟตี้ เคยเป็นที่นิยมในประเทศอังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 16 และในเวลานั้นไม่ได้มีปัญหาเรื่องความป่าเถื่อนใด ๆ ทั้งสิ้น ตอนนั้นไม่ได้มีการเรียกว่าการชกหมัดเปล่า แต่มันถูกเรียกว่า Boxing หรือการชกมวยธรรมดา ๆ นั่นแหละ

การแข่งขันที่ฝ่ายแพ้เจ็บเจียนตายถือเป็นเรื่องปกติ และกลายเป็นความบันเทิงที่สามารถดึงดูดคนให้เข้ามาสนใจ มีการพบบันทึกจากปี 1681 จากโบสถ์นิกายโปรเตสแตนต์ว่า เคยมีการชกระหว่างทหารเอกของดยุกแห่งอัลเบมาร์ลปะทะกับตัวแทนจากฝั่งประชาชนคือพ่อค้าขายเนื้อ ก่อนที่ในศตวรรษที่ 17 การชกมวยถือว่าเป็นตัวแทนของความเป็นลูกผู้ชาย นักมวยจะถูกยกย่องให้เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องศาสตร์การป้องกันตัวชั้นสูง


Photo : guildhalllibrarynewsletter.wordpress.com

กติกาการชกในยุคแรก ๆ นั้นไม่มีอะไรเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่มีการแบ่งรุ่นน้ำหนัก ไม่มีการจำกัดยก สามารถใช้ทุกส่วนของร่างกายได้หมด และสิ่งนั้นก็ถูกส่งต่อมาเรื่อย ๆ มีการเพิ่มกติกาและเพิ่มการดูแลเรื่องความปลอดภัย จนกลายเป็นการชกมวยแบบในปัจจุบัน 

ทว่าอย่างที่บอกไป เมื่อเวลาผ่านไปกลับมีกลุ่มคนที่ต้องการนำการต่อสู้กันดั้งเดิมกลับมา การชกที่ไม่ต้องมีอะไรมากั้น เพียงแต่ว่าสิ่งนี้ไม่เคยถูกกฎหมาย การชกแบบไม่มีอุปกรณ์ป้องกันและไร้นวม ถือเป็นการต่อสู้ที่ป่าเถื่อนเกินไป จนต้องแอบจัดตั้งสมาคมและจัดการแข่งขันกันในรูปแบบ "งานใต้ดิน"

จนกระทั่งการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในบาร์แห่งหนึ่งที่สหรัฐอเมริกา ในช่วงราว 10 กว่าปีก่อนเท่านั้น มีชายคนหนึ่งที่เชื่อว่าจะสามารถผลักดันการชกแบบ แบร์นักเคิล หรือการต่อสู้แบบหมัดเปล่าให้ถูกกฎหมายได้ ชื่อของเขาคือ เดวิด เฟลด์แมน 


Photo : espn.com/boxing

เฟลด์แมน เป็นเจ้าของบาร์แห่งหนึ่งที่หลงใหลในการชกมวยมาก ในอดีตเขาเคยขึ้นชกในเวทีระดับมาตรฐานมาก่อน เขาได้พบกับนักมวยชาวแคนาดาชื่อว่า บ็อบบี้ กันน์ ที่บอกว่าจริง ๆ แล้วการชกด้วยหมัดเปล่าคือวิถีที่เหมาะกับมนุษย์มากที่สุด โดยนักชกคนนั้นพยายามจะบอกว่า ครอบครัวของเขามีธรรมเนียมของชาวไอริช มันคือวิถีแบบ "เซลติก" การชกกันด้วยมือเปล่าถือเป็นการหยุดข้อโต้เถียงเวลามีกิจกรรมในครอบครัวใหญ่ได้ดีที่สุด โดยตัวของ กันน์ บอกกับ เฟลด์แมน และจุดประกายการผลักดันว่าการชกด้วยหมัดเปล่าเซฟร่างกายมนุษย์ได้มากกว่าการชกแบบใส่นวมแน่นอน 

เฟลด์แมน เองก็ชอบใจในความดิบนี้ เขาลองพยายามหาทางปลุกกระแสมวยหมัดเปล่าให้เกิดขึ้น โดยเริ่มจุดไฟในปี 2006 โดยเริ่มจากการจัดเวทีต่อสู้แบบผสมผสานก่อน แต่ก็ไม่ได้เป็นที่นิยมหรือโด่งดังอะไรนัก

จนกระทั่งในปี 2014 เฟลด์แมน นั่งเปิดทวิตเตอร์และพบว่ามีการลงคลิปของเหล่านักสู้มือเปล่า ที่อัพโหลดโชว์ไฟต์ต่าง ๆ ในอินเทอร์เน็ต จนทำให้ตัวของ เฟลด์แมน กลับมาตื่นเต้นกับการต่อสู้แบบนี้อีกครั้ง พร้อมกับตั้งใจจะพิสูจน์เรื่องความปลอดภัยของมัน เพื่อจัดให้มีการจัดแข่งขันการชกหมัดเปล่าแบบถูกกฎหมายได้ในอนาคต 


Photo : theathletic

"ผมเห็นและผมบอกคนอื่น ๆ ทันทีว่า ผมมีไอเดียจะที่ทำให้มันเป็นการแข่งขันชิงแชมป์โลกที่ถูกกฎหมาย แต่หลายคนบอกว่าให้ลืมไปได้เลย เพราะเรื่องนี้เคยมีคนคิดจะผลักดันให้เกิดขึ้นมาก่อนแล้วแต่ก็โดนปฏิเสธไปทั้งหมด สิ่งที่เป็นปัญหามาตลอดคือพวกเขามองว่ามันอันตรายกับนักชกนั่นแหละ" เฟลด์แมน กล่าว

แม้จะถูกห้ามปราม แต่อย่างน้อย ๆ เฟลด์แมน ก็ได้รู้ว่าปัญหาที่ทำให้การชกหมัดเปล่าไม่ผ่านคณะกรรมการคือจุดไหน และเขาจะต้องพยายามแก้ไขมันให้ได้ เพื่อให้มันถูกกฎหมายตามที่หวังไว้หากต้องการให้เป็นกีฬาสากล

เป็นจริงได้ด้วยการพิสูจน์ 

เฟลด์แมน ต้องพยายามพิสูจน์หลายอย่าง เขาพยายามขอความช่วยเหลือจาก ดานา ไวท์ ประธาน UFC สมาคม MMA เบอร์ 1 ของโลก และเจ้าพ่อแห่งวงการ เพื่อให้ช่วยสนับสนุน แต่ ไวท์ ตอบกลับแบบไม่สนใจ และเชื่อว่าฝันของเขาจะไม่เป็นจริงแน่นอน เฟลด์แมน ได้แต่บอกว่า "ไม่เป็นไร งั้นคุณกับผม เราเตรียมไปเจอกันบนดินอีกทีก็ได้" 

"เราแค่ไปเคาะประตูบ้านแล้วโดนประตูบานนั้นกระแทกหน้า" เฟลด์แมน กล่าว พร้อมเสริมว่า "ผมเข้าไปข้างในโดยรู้ว่ากำลังจะถูกปฏิเสธ แต่ก็ไม่ทันได้คิดว่าจะถูกปฏิเสธอย่างต่อเนื่องขนาดนี้"


Photo : jewishexponent

เฟลด์แมน เดินหน้าขอคำปรึกษาจากทุกทาง และพบว่าสิ่งที่เขาขาดคือ กติกาที่ครอบคลุมเรื่องสุขภาพและร่างกายของนักชก เขาจะต้องทำให้ทุกคนปลอดภัย พูดง่าย ๆ คือเจ็บตัวได้ตามธรรมชาติของกีฬาต่อสู้ แต่ข้อแม้คือต้องห้ามเสี่ยงตายจนมากเกินไป เพราะนั่นคือสิ่งที่ทำให้ผู้คนกลัวการชกแบบหมัดเปล่า ดังนั้นเขาจึงร่างกฎขึ้นมา 10 ข้อ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับทั้งนักชก และคนดูก็จะสามารถชมได้โดยไม่หวาดเสียวและหดหู่จนเกินไป 

เช่น ชก 5 ยก ยกละ 2 นาที เมื่อมีเลือดออกจนส่งผลต่อทัศนวิสัยในการต่อสู้ของนักชก อนุญาตให้หยุดห้ามเลือดได้ 30 วินาที นักสู้สามารถใช้เทปพันที่ข้อมือ หัวแม่มือ และฝ่ามือได้ ด้วยผ้าก๊อซหนาไม่เกิน 2.5 มม. อนุญาตให้ใช้การชกอย่างเดียวเท่านั้น ต้องใช้ "กำปั้น" ที่กำเอาไว้สนิท ตบหรือตีไม่ได้เด็ดขาด เช่นเดียวกันกับการใช้อาวุธอื่น ๆ อย่างหมัด เข่า ศอก เป็นต้น

"ผมไม่เคยบอกว่า BKB ปลอดภัยกว่าการชกมวยหรือ MMA แม้ใครหลายคนจะมองข้ามสิ่งนี้ แต่ที่ผมพูดมาตลอดคือ การชก BKB ไม่ได้อันตรายมากไปกว่าการต่อสู้ไหน ๆ ทั้งนั้น" เฟลด์แมน กล่าว 

นอกจากออกกฎเรื่องความปลอดภัยแล้ว เฟลด์แมน ยังอ้างอิงงานวิจัยโดย ดร.ดอน มุซซี่ ประธานสมาคมแพทย์ริงไซด์ ที่ค้นพบว่าการชกหมัดเปล่าอาจจะทำให้ร่างกายมีแผลง่ายขึ้น และมีรอยฟกช้ำมากกว่าการชกมวยปกติ ทว่าหมัดเปลือย ๆ นั้นปลอดภัยสำหรับสมองของนักสู้มากกว่าการชกมวยแบบใส่นวม หรือแม้กระทั่งนวมแบบ MMA ด้วยซ้ำ

"อาการบาดเจ็บที่สมองมีความสำคัญและเป็นภัยคุกคามต่อนักกีฬาเหล่านี้มากกว่า และนั่นคือสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญ บาดแผลไม่ใช่เรื่องใหญ่เท่ากับการเจ็บสะสมภายใน ถ้ามีแผลแตก ผมก็แค่เย็บปิดแผล มันจะใช้เวลาแค่ 45 วัน จากนั้นทุกอย่างก็จะกลับมาปกติมากกว่า 90%" ดอน มุซซี่ ที่ภายหลังได้มาทำงานกับ สมาคมต่อสู้หมัดเปล่า กล่าว

ด้วยกฎที่ครอบคลุม และการพิสูจน์ด้วยข้อมูลทางการแพทย์ที่ว่า แม้จะดูรุนแรงแต่ปลอดภัยกับนักชกมากกว่า ทำให้ที่สุดแล้วในปี 2018 สมาคมมวยหมัดเปล่า หรือ Bare Knuckle Fighting Championship (BKFC) ก็ถูกก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ ตอนนี้พวกเขาขึ้นมาบนดินตามคำท้าทายที่ เฟลด์แมน ได้ให้ไว้กับ ดาน่า ไวท์ แห่ง UFC แล้ว 

ตอนนี้ BFKC เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ พวกเขามีสปอนเซอร์เข้ามากมายตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา และเฟลด์แมนบอกอีกว่า ตอนนี้เขามีนายทุนใหญ่ที่ไม่สามารถเผยชื่อได้อยู่เบื้องหลัง มีการสร้างสำนักงานใหญ่ขึ้นที่เมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย รวมถึงสามารถดึงนักสู้ชื่อดัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอดีตนักสู้ MMA มาร่วมศึกได้หลายราย ไม่ว่าจะเป็น อาร์เตม โลบอฟ ลูกน้องคนสนิทของ คอเนอร์ แม็คเกรเกอร์ คนดังแห่งวงการศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน, เฮคเตอร์ ลอมบาร์ด อดีตแชมป์โลกรุ่นมิดเดิลเวตของ Bellator รวมถึง เพจ วานซานต์ นักสู้สาวสุดฮอต

ทว่าในขณะที่หลายสิ่งกำลังเข้าที่เข้าทาง BKFC ก็มีปัญหาสด ๆ ร้อน ๆ เมื่อ จัสติน ธอร์นตัน นักชกวัย 38 ปีบาดเจ็บสาหัสหลังแพ้น็อกให้ ดิลลอน เช็คเลอร์ ในการขึ้นสังเวียนที่รัฐมิสซิสซิปปี เมื่อเดือนสิงหาคม โดยในจังหวะดังกล่าว เขาโดนหมัดขวากระแทกเข้าเต็มหน้า ก่อนลงไปนอนหมดสติโดยเอาหน้าลงพื้น ก่อนที่กรรมการจะสั่งยุติการแข่งขันด้วยเวลาเพียง 19 วินาทีในยกที่ 1 เท่านั้น และเขาก็ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที

หลังจากไปถึงโรงพยาบาล ธอร์นตัน มีอาการอัมพาตบางส่วน และต้องสวมเครื่องช่วยหายใจเป็นเวลาหลายสัปดาห์ อีกทั้งมีภาวะติดเชื้อในปอด ต้องใช้ยารักษาอาการบาดเจ็บบริเวณไขสันหลัง สุดท้ายเขาก็เสียชีวิตในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา 

งานวิจัยของ ดร. ดอน กำลังถูกรื้อขึ้นมาศึกษาอีกครั้ง และเป็นหน้าที่ของ BKFC ที่จะต้องพิสูจน์ว่า ทั้งหมดที่พวกเขาเคยทำยังคงมีความปลอดภัยที่น่าเชื่อถือ

นี่อาจจะเป็นอุบัติเหตุ อีกทั้งที่ผ่านมา วงการต่อสู้อื่น ๆ ก็มีเหตุที่นักกีฬาเสียชีวิตเช่นกัน แต่การต่อสู้ก็ต้องดำเนินต่อไป เพราะตลาดของวงการนี้ยังคงเข้มข้น ทั้งมวยสากล, MMA และ BKB กำลังต่อสู้แย่งความนิยมกันอย่างดุเดือด 

นั่นคือเหตุผลที่ว่า BKFC จะยอมแพ้แล้วปล่อยให้ภาพลักษณ์ที่พวกเขาพยายามแก้ไขมากว่า 10 ปีถูกทำลายลงไม่ได้ 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook