มาไวไปเร็ว: ทำไมผู้เล่นตัวรุกชาวบราซิลจึงหมดไฟหลังวัย 30
โรนัลดินโญ่, โรนัลโด้, กาก้า ล้วนเป็นยอดนักเตะระดับเวิลด์คลาส และเคยฝากผลงานลือลั่นสมัยรับใช้ต้นสังกัด แถมบางคนยังไปได้ถึงตำแหน่งแชมป์ฟุตบอลโลก
อย่างไรก็ดี แข้งตัวรุกเหล่านี้ กลับมีผลงานที่ตกลงอย่างน่าใจหายเมื่ออายุเริ่มเข้าสู่วัย 30 ปี ต่างจากนักเตะยุโรปในรุ่นใกล้กัน ไม่ว่าจะเป็น อันเดรีย ปีร์โล, ชาบี เอร์นันเดซ หรือแม้แต่ ซลาตัน อิบราฮิโมวิช ที่ล้วนสามารถยืนระยะในระดับสูงได้ทั้งที่อยู่ในวัยใกล้เลข 4
เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand
มาไวไปเร็ว
บราซิล มักจะถูกยกย่องในฐานะราชาแห่งโลกลูกหนัง เพราะไม่เพียงจะเป็นชาติที่คว้าแชมป์โลกได้มากที่สุดถึง 5 สมัย พวกเขายังเป็นชาติเดียวในประวัติศาสตร์ที่ผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกครบทั้ง 21 ครั้ง
หนึ่งในเหตุผลสำคัญของความยอดเยี่ยมนี้นั่นเป็นเพราะแดนแซมบ้าคือแหล่งบ่มเพาะนักเตะชั้นดี โดยจากรายงานของ CIES Football Observatory หน่วยงานวิเคราะห์สถิติชื่อดังแห่งวงการฟุตบอลระบุว่าในปี 2020 บราซิลสามารถส่งออกนักเตะออกไปค้าแข้งในต่างประเทศได้ถึง 1,600 คน ซึ่งมากเป็นอันดับ 1 ของโลก
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บราซิลจะสามารถผลิตนักเตะฝีเท้าระดับโลกออกมาประดับวงการได้อย่างมากมาย แถมหลายคนยังฝีเท้าพุ่งพรวดเกินเพดานตั้งแต่อายุยังน้อย
ไม่ว่าจะเป็น โรนัลโด้ นาซาริโอ หรือ R9 ที่สร้างผลงานกระหึ่มยุโรป ด้วยการยิงไปถึง 54 ประตูจาก 57 เกมให้กับ พีเอสวี ไอนด์โฮเฟน ทั้งที่อายุยังไม่ครบ 20 ปีเต็ม ก่อนจะยิง 34 ประตูจาก 37 นัดให้กับบาร์เซโลนา แถมยังไปเฉิดฉายกับทั้งอินเตอร์ มิลาน และ เรอัล มาดริด จนได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในกองหน้าที่ยอดเยี่ยมตลอดกาลของโลก
หรือ“ผีกาก้า” ซึ่งแจ้งเกิดได้ทันทีตั้งแต่ฤดูกาลแรกที่ย้ายมาเล่นกับ เอซี มิลาน ในวัยเพียง 21 ปี และสามารถพาปีศาจแดงดำคว้าทั้งแชมป์เซเรีย อา, ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก รวมไปถึงแชมป์สโมสรโลก พ่วงด้วยตำแหน่งบัลลงดอร์ จน เรอัล มาดริด ต้องทุ่มเงินกว่า 68.5 ล้านยูโรกระชากตัวไปร่วมทัพ
เช่นกับกับ โรนัลดินโญ่ หนึ่งในนักเตะที่สร้างความบันเทิงให้กับผู้ชมในสนามได้เสมอ ก็โดดเด่นมาตั้งแต่สมัยวัยรุ่น จวบจนมาระเบิดผลงานในสีเสื้อของบาร์เซโลนา ที่ทำให้เขากวาดมาเกือบทุกแชมป์ในโลก ทั้ง ลา ลีกา, ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก และแชมป์โลก
อย่างไรก็ดีแม้จะมีฝีเท้าอันลือลั่นแค่ไหน แต่ทันทีที่อายุถึงเลข 3 ดูเหมือนพวกเขาจะมีผลงานที่ตกฮวบราวกับถอดร่างทองออก แถมความกระหายในเกมก็ลดลงอย่างน่าใจหาย และส่วนใหญ่ก็ลงเอยด้วยการกลับไปค้าแข้งในบ้านเกิด
สิ่งนี้ต่างจากนักเตะยุโรปหรือแอฟริกาอย่างเห็นได้ชัด ทั้งรุ่นก่อนหน้านี้อย่าง พอล สโคลส์ หรือรุ่นใกล้กันอย่าง ชาบี, อันเดรีย ปีร์โล, ดิดิเยร์ ดร็อกบา หรือแม้แต่ ซลาตัน อิบราฮิโมวิช ที่ต่างยืนระยะและค้าแข้งในลีกระดับสูงได้อย่างสบายในวัย 30+
อะไรคือสาเหตุสำคัญของเรื่องนี้ ?
ใช้ร่างกายหนักไป
อันที่จริงผลงานที่ดร็อปลงของนักเตะบราซิลไม่ใช่เรื่องแปลก มันเป็นเช่นนี้มาตลอดและเป็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์อธิบายได้ นั่นคือเป็นเพราะมวลกล้ามเนื้อของร่างกายที่ลดลงไปตามอายุที่เพิ่มสูงขึ้น
ปกติแล้วมวลกล้ามเนื้อของมนุษย์จะเติบโตจนถึงจุดพีคตอนอายุ 30 ปี แล้วค่อย ๆ เสื่อมไปทีละนิด ซึ่งหากไม่ออกกำลังกาย หรือดูแลตัวเองอย่างถูกต้องก็จะยิ่งช่วยเร่งให้พวกเขาแขวนสตั๊ดเร็วขึ้น
“ในอดีตเรามักจะเห็นว่านักเตะบราซิลมีแนวโน้มที่จะมาถึงจุดเปลี่ยนตอนอายุ 30 ปี และมันก็สามารถอธิบายได้ในเชิงวิทยาศาสตร์” ราชปาล บราร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกายภาพบำบัด โค้ชฟิตเนสและการเคลื่อนไหวกล่าวกับ Oh My Goal
“เพราะตอนอายุ 30 จะเป็นช่วงที่ผู้คนจะเริ่มสูญเสียมวลกล้ามเนื้อบางส่วน มันจะค่อย ๆ ลดลงทีละนิด”
อย่างไรก็ดี แม้ว่าการเสื่อมถอยของกล้ามเนื้อจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับผู้เล่นทุกคน แต่สิ่งที่ทำให้นักเตะบราซิลโดยเฉพาะตำแหน่งตัวรุกประสบปัญหามากกว่าใครหลังอายุแตะเลข 3 นั่นเป็นเพราะพวกเขาเป็นผู้เล่นจอมเทคนิคโดยธรรมชาติ
อย่างที่รู้กัน นักเตะบราซิลมักจะขึ้นชื่อเรื่องลีลาการเล่นที่ตื่นตา ทั้งการเลี้ยงบอลที่ติดเท้า หรือการลากเลื้อยหลอกคู่แข่ง ราวกับว่ามันเป็นดีเอ็นเอของพวกเขา ทว่ามันก็เป็นดาบสองคม เมื่อการเป็นผู้เล่นมากทักษะทำให้นักเตะกลุ่มนี้เสี่ยงที่จะบาดเจ็บมากกว่าคนอื่น
ยกตัวอย่างเช่น โรนัลโด้ R9 เขาคือกองหน้าที่ครบเครื่องคนหนึ่งของยุค ที่ไม่ได้มีดีแค่การยิงประตูเท่านั้น แต่การเลี้ยงบอลของเขาก็เข้าขั้นหาตัวจับยาก แต่นั่นก็ทำให้เขาต้องเจ็บหนักหลายครั้งทั้งสมัยเล่นให้กับ อินเตอร์ มิลาน และ เรอัล มาดริด
“นักเตะจำนวนมากเป็นพวกจอมเทคนิค แน่นอนพวกเขาเลี้ยงบอลเยอะมาก มันจึงทำให้พวกเขาเสี่ยงมาก” ราชปาล ที่มีอีกอาชีพเป็นนักวิทยาศาสตร์การกีฬากล่าวต่อ
“เพราะโดยทั่วไปแล้ว คุณจะอยากเข้าไปปะทะพวกเขาหรือเล่นงานให้หนักขึ้น เพราะพวกเขาชอบทำให้คุณดูแย่”
“อย่างโรนัลดินโญ คุณจะรู้สึกโกรธและเข้าไปหาแล้วพยายามทำให้พวกเขาเจ็บ”
นอกจากนี้ ภูมิหลังก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้ร่างกายนักเตะบราซิลเสื่อมถอยเร็วกว่าที่ควร เนื่องมาจากนักเตะส่วนใหญ่มักมีพื้นเพมาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน
ด้วยเหตุนี้ในวัยเด็กพวกเขาจึงไม่ค่อยได้รับสารอาหารที่ถูกหลัก เพราะลำพังแค่เอาตัวรอดไปวัน ๆ ก็ลำบากจะแย่แล้ว ดังนั้นพื้นฐานแล้ว ร่างกายของพวกเขาจึงไม่ได้แข็งแกร่งมากนัก
“นักเตะบราซิลบางคนมีพื้นเพที่ยากจนมากตอนเด็ก ดังนั้นพวกเขาจึงอาจไม่ได้มีรากฐานที่ดีมาตั้งแต่เริ่มต้น ทั้งในแง่สุขภาพหรือโภชนาการ หรือเรื่องการฝึกฝนร่างกายให้แข็งแกร่ง เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลทำให้พวกเขาสามารถยืนระยะได้นาน” ราชปาล อธิบาย
ทว่าปัจจัยภายนอกไม่ใช่สิ่งเดียวที่พรากความสุดยอดของนักเตะกลุ่มนี้ไป
หมดใจ = หมดไฟ
อันที่จริงไม่ใช่แค่นักเตะบราซิลระดับโลกเท่านั้นที่เผชิญกับชะตากรรมเช่นนี้ เพราะนักเตะบราซิลที่เปรี้ยงปร้างตั้งแต่สมัยวัยรุ่นหลายรายก็มักจะฟอร์มตกเมื่อเข้าสู่วัยเลข 3 หรือบางคนอาจจะก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็น อเล็กซานเดร ปาโต้, แอนเดอร์สัน หรือที่รู้จักกันดีอย่าง โรบินโญ่
ดาวเตะจอมพลิ้วที่ถูกเชิดชูว่าคือเปเล่ 2 ด้วยลีลาอันโดดเด่นกับซานโตส และมีผลงานที่ไม่เลวกับ เรอัล มาดริด และ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ รวมไปถึง เอซี มิลาน ในช่วงต้น แต่ฟอร์มของเขาก็ตกลงตั้งแต่ตอนอายุ 28-29 ปี และไม่เคยกลับมาอยู่ในจุดเดิมได้อีกเลย
นั่นเป็นเพราะนักเตะเหล่านี้มักจะถูกชื่นชมจนเกินตัวมาตั้งแต่สมัยเป็นดาวรุ่ง พวกเขาถูกจับจ้องจากสื่อว่าจะเป็น xxx คนต่อไป แต่เมื่อไปไม่ถึงจุดนั้นหรือไปถึงตั้งแต่อายุยังน้อย ชื่อเสียงเหล่านี้ก็จะเปลี่ยนมาเป็นหอกที่ทิ่มแทงพวกเขา
“สิ่งนี้จะเกิดขึ้นกับพวกนักเตะจอมเทคนิค พวกเขาได้รับการจับจ้องและถูกนำไปเปรียบว่าจะเป็นนักเตะที่ดีที่สุดในโลก หรือสุดยอดนักเตะเท่าที่เคยเห็นมา หรือไปเปรียบเทียบกับยอดนักเตะคนอื่น” แมตต์ ชอว์ นักจิตวิทยาการกีฬาของ Innerdrive กล่าวกับ Oh My Goal
“พวกเขาได้รับคำชื่นชมมาตั้งแต่เด็ก ๆ ว่าเป็นนักเตะที่เก่ง เป็นอัจฉริยะ หรือมีพรสวรรค์ตามธรรมชาติ แต่เมื่อทักษะนั้นเริ่มทำให้พวกเขารู้สึกแย่ในบางจุด และนิสัยที่แท้จริงก็ไม่สามารถช่วยให้พวกเขาก้าวผ่านสิ่งเหล่านี้ได้ โดยเฉพาะการเป็นคนที่พยายามพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประกอบไปด้วย การทำงานหนัก การรับมือกับความล้มเหลว การรับฟังคำชี้แนะ ซึ่งล้วนเป็นนิสัยที่สำคัญ มันจึงทำให้พวกเขาหมดกำลังใจอย่างง่ายดาย”
เรื่องนี้จะไม่เป็นปัญหาเลยในตอนที่พวกเขาเป็นวัยรุ่น เพราะผู้คนพร้อมจะให้โอกาสในการลองผิดลองถูก มันจึงไม่ค่อยมีผลต่อฟอร์มการเล่นมากนัก แต่เมื่ออายุมากขึ้นแฟนบอลจะไม่เผื่อพื้นที่ให้กับความผิดพลาดของพวกเขาอีกแล้ว
ขณะเดียวกันปัญหาการคิดถึงบ้านหรือที่เรียกกันว่า “โฮมซิค” ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สามารถบั่นทอนจิตใจของแข้งบราซิลได้ ออสการ์ อดีตแข้งเชลซีและทีมชาติบราซิลบอกไว้ว่า หากเขาไม่จำเป็นต้องหาเงิน เขาคงจะไม่มีวันออกมาเล่นที่ต่างประเทศอย่างแน่นอน
“ผมเคยเจอกับนักเตะอายุน้อยหรือแม้แต่นักเตะที่อายุมากที่ย้ายไปต่างประเทศ ไปอยู่กับสโมสรใหม่ เมืองใหม่ ตอนแรกมันก็น่าตื่นเต้นอยู่หรอก” ชอว์ อธิบายต่อ
“แต่ความตื่นเต้นนั้นก็หายไปอย่างรวดเร็ว เมื่อพวกเขาพบว่าต้องใช้ชีวิตอยู่ในโรงแรมทุกวัน โดยที่ครอบครัวไม่ได้อยู่ด้วย เขาอาจจะไม่เป็นอะไรตอนซ้อม แต่พอกลับไปที่โรงแรมก็ต้องมาเผชิญกับความรู้สึกนี้อีกครั้ง”
“พวกเขาต้องเผชิญกับความยากลำบากในการเข้ากับคนอื่นที่ไม่ได้เป็นคนของสโมสร พวกเขาอาจจะอยู่ในเมืองใหญ่ที่มีแฟนบอลจำนวนมาก ดังนั้นพวกเขาจึงทำอะไรไม่ได้มาก ความเหงามันจึงค่อนข้างเป็นปัญหาจริง ๆ”
มันคือปัญหาใหญ่ของพวกเขา เพราะการต้องมาใช้ชีวิตในต่างทวีป ที่ไม่คุ้นเคยทั้งเรื่องอาหารการกินและสภาพอากาศ ทำให้พวกเขาเผชิญกับความยากลำบากไม่มากก็น้อย ซึ่งสิ่งนี้สัมพันธ์กับร่างกายโดยตรงตามหลักสรีรวิทยา
“เวลาคุณคิดถึงบ้านหรืออาจจะไม่ต้องถึงขนาดนั้นก็ได้ แค่มีความคิดในเชิงลบอยู่ในหัว มันจะทำให้ระดับความเครียดเพิ่มมากขึ้น และมันอาจทำให้ความวิตกกังวลของคุณเพิ่มสูงตาม” ราชปาล กล่าวเสริม
“จากพื้นฐานทางสรีรวิทยา มันจะทำให้เกิดการอักเสบได้ง่ายขึ้น ซึ่งการอักเสบจะทำให้เกิดการบวมและทำให้หายช้า ฟื้นตัวช้า และเมื่อได้รับบาดเจ็บ คุณก็จะมีความรู้สึกในแง่ลบเพิ่มไปอีก และนั่นทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นวนเวียนไปมาอย่างง่ายดาย”
นั่นคือเหตุผลที่ว่า เพราะเหตุใดนักเตะบราซิลส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะกลับไปเล่นในบ้านเกิดเมื่ออายุแตะวัย 30 เช่น โรนัลดินโญ่ ที่กลับไปเล่นให้ฟลาเมงโก ตอนอายุ 31 ปี โรมาริโอ ที่กลับไปฟลาเมงโก ตอนอายุ 29 ปี หรือ โรนัลโด้ ที่ลงเอยกับโครินเธียนส์ ในวัย 33 ปี เป็นต้น
อย่างไรก็ดียังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ส่งผลไม่น้อย
เวลาเปลี่ยน แรงจูงใจเปลี่ยน
“ผมพบว่ายุโรปมีความเป็นระบบทหารมาก ทุกอย่างต้องถูกต้องและเป็นระเบียบ แต่ชีวิตมีอะไรมากกว่าฟุตบอล และบางครั้ง ผมก็ไม่ได้อยากซ้อม แต่อยากไปดื่มกับเพื่อน ไปปาร์ตี้หรือสูบบุหรี่ แต่พวกเขาไม่ชอบอะไรแบบนั้น” โซคราเตส อดีตตำนานชาวบราซิลกล่าว
การเป็นพวกเจ้าสำราญเป็นสิ่งที่ผู้คนมักจะนึกถึงเป็นลำดับต้น ๆ หากพูดถึงนักเตะบราซิล ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นความจริง ทว่า มันไม่ใช่ความบังเอิญ เพราะเป็นผลมาจากการมีชีวิตที่ยากจนในวัยเด็กและความขี้เหงาของพวกเขา
“แรงจูงใจก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะสำหรับนักเตะที่ไม่ได้มาจากพื้นที่ที่ร่ำรวย ครอบครัวมั่งคั่ง หรือมีครอบครัวที่ดี แรงจูงใจตอนที่พวกเขายังเป็นวัยรุ่นน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด” แมตต์ ชอว์ อธิบายกับ Oh My Goal
“เมื่อพวกเขาเริ่มมีรายได้ที่ดี แรงจูงใจก็จะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วมาก ๆ การใช้เงินก็เช่นกัน พวกเขาสามารถใช้มันในด้านอื่น อย่างการหาความสุข ปาร์ตี้ หรืออื่น ๆ อีกมากมาย”
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้นักเตะบราซิลส่วนใหญ่รักปาร์ตี้มาก โดยเฉพาะ โรนัลดินโญ่ และ โรนัลโด้ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าพ่อปาร์ตี้ ระดับเข้าเส้น แน่นอนว่าอบายมุขเหล่านี้คือหนึ่งในตัวขัดขวางไม่ให้พวกเขาสามารถรักษาฟอร์มได้อย่างต่อเนื่องและยาวนาน
Photo : balls.ie
“เรื่องนี้ถูกพูดถึงกับทั้ง โรนัลดินโญ่ และ โรนัลโด้ เพราะพวกเขาต่างชอบปาร์ตี้เหมือนกัน มันคือการหาความสุขของพวกเขา และมันก็ทำให้พวกเขาไม่ได้มีอายุในอาชีพที่ยืนยาว” ราชปาล กล่าวกับ Oh My Goal
“เพราะคุณอาจจะไม่สามารถฟื้นฟูร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสุดท้ายสิ่งที่ควรเกิดขึ้นตามธรรมชาติก็จะไล่ตามจนทัน”
อย่างไรก็ดี อันที่จริงจะโทษพวกเขาเพียงฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ เพราะนิสัยดังกล่าวคือสิ่งที่ถูกหล่อหลอมมาจากสังคม โดยเฉพาะการเป็นสังคมบริโภคนิยมของบราซิล ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
“แนวคิดเรื่องสังคมบริโภคนิยมของบราซิลนั้นแข็งแกร่งมาก มันคือแนวคิดที่ว่าสิ่งที่คุณเป็นคือสิ่งที่คุณมี คุณต้องแสดงให้เห็นทรัพย์สินของคุณ” ทิม วิคเกอรี ผู้เชี่ยวชาญด้านฟุตบอลในอเมริกาใต้กล่าวกับ Howler
“เศรษฐกิจที่บูมในบราซิลในช่วง 15 ปีที่ผ่านมามีพื้นฐานมาจากการบริโภคและการขยายตัวของสินเชื่อ ที่ทำให้ผู้คนสามารถซื้อของได้เป็นครั้งแรก การบริโภคจึงเป็นตัวขับเคลื่อนความก้าวหน้าของบราซิล”
“ยกตัวอย่างเช่นนักเตะหลายคนอย่างโรมาริโอ พวกเขาเติบโตขึ้นมาก่อนที่จะมีการขยายตัวในเรื่องสินเชื่อและการบริโภคที่มหาศาล ดังนั้นพวกเขาจึงใช้ชีวิตในวัยเด็กไปกับร้านขนม แต่เขาทำได้แค่มองดู เพราะไม่มีเงินพอที่จะซื้อ”
“เมื่อพวกเขาเริ่มมีเงินจำนวนมาก พวกเขาก็สามารถซื้อสิ่งที่พวกเขาชอบ ดังนั้นหลังจากผ่านเวลาไประยะหนึ่ง ผู้เล่นบางคนก็ไม่อยากเสียสละตัวเองเพื่อเป็นนักเตะอาชีพระดับสูงอีกต่อไปแล้ว”
อย่าง โรนัลดินโญ่ ฤดูกาลที่พีคที่สุดของเขาคือปี 2005-2006 ที่เขาพา บาร์เซโลน่า คว้าแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก รวมถึงได้บัลลงดอร์ แต่หลังจากบราซิลไม่ประสบความสำเร็จในฟุตบอลโลก 2006 ผลงานของเขาก็เริ่มตกลง รวมไปถึงความกระหายในการลงเล่นด้วย
สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าฟุตบอลสำหรับเขาเป็นเพียงแค่อาชีพหนึ่ง เมื่อถึงจุดที่ไม่เหมือนเดิม พวกเขาก็เลือกที่จะไม่ดิ้นรน และเลือกจะประคองชีวิตการค้าแข้งต่อไปด้วยการกลับไปเล่นในบ้านเกิดหรือในตะวันออกกลาง จนกว่าจะเก็บเงินได้ถึงจุดที่พอใจแล้ว พวกเขาจึงค่อยแขวนสตั๊ด
มันอาจจะต่างจากสิ่งที่ชาวยุโรปคิด พวกเขามองว่ามันคือจิตวิญญาณ ต้องทุ่มเท และเสียสละ เพื่อแฟนบอลที่เสียเงินเข้ามาดู และสโมสรที่ตนเองรับใช้ และสิ่งนี้ก็กลายเป็นแรงขับเคลื่อนให้นักเตะหลายสัญชาติในยุโรปหลายคนสามารถยืนระยะได้อย่างยาวนาน
อย่างไรก็ดีไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิดสำหรับสมการนี้ เพราะทุกคนล้วนเลือกสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดสำหรับตัวเอง และตัวเราเท่านั้นที่จะออกแบบเส้นทางของตัวเองได้ว่าจะให้มันจบอย่างไร