เทนนิส : กีฬาภาพลักษณ์หรู แต่บั่นทอนจิตใจผู้เล่นอาชีพจนพังพาบ

เทนนิส : กีฬาภาพลักษณ์หรู แต่บั่นทอนจิตใจผู้เล่นอาชีพจนพังพาบ

เทนนิส : กีฬาภาพลักษณ์หรู แต่บั่นทอนจิตใจผู้เล่นอาชีพจนพังพาบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ผมมั่นใจว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่กำลังดิ้นรนมากกว่าที่เรารู้" มาร์ดี ฟิช กัปตันเทนนิส เดวิส คัพ ของสหรัฐอเมริกากล่าว

เงินรางวัลจำนวนมหาศาล ได้เดินทางไปทั่วโลก อาจจะเป็นภาพจำที่ดูดีต่อ "เทนนิส" กีฬาที่มีต้นกำเนิดมาจากชนชั้นสูง และมีอายุมากว่า 100 ปี 

อย่างไรก็ดีมันกลับเป็นกีฬาที่บั่นทอนสภาพจิตใจมากที่สุดชนิดหนึ่ง ตัวอย่างล่าสุดคือกรณีของ นาโอมิ โอซากะ นักเทนนิสชาวญี่ปุ่น ที่ถอนตัวจากรายการระดับแกรนด์สแลม จากปัญหาสภาพจิตใจ 

 

เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand

โดดเดี่ยวเดียวดาย 

ปี 2021 อาจจะเป็นปีที่สำคัญสำหรับ นาโอมิ โอซากะ นักเทนนิสชาวญี่ปุ่น เธอเพิ่งคว้าแชมป์ออสเตรเลียน โอเพน แกรนด์สแลมแรกของปี และมีคิวที่จะลงชิงชัยเหรียญทองในโอลิมปิก 2020 ที่ถูกเลื่อนออกมา 

ทว่าในเดือนมิถุนายน 2021 เธอก็ช็อกแฟนเทนนิสด้วยการประกาศถอนตัวจากรายการ เฟรนช์ โอเพน หลังผ่านเข้าสู่รอบสองด้วยปัญหาด้านสภาพจิตใจ จึงทำให้เธอกลายเป็นเป็นนักเทนนิสคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ถอนตัวด้วยเหตุผลนี้

 

โอซากะ บอกว่ามันเป็นสิ่งที่เธอต้องเผชิญมาตลอด เธอบอกว่าเธอเป็นโรคซึมเศร้า หลังคว้าแชมป์ยูเอส โอเพน เมื่อปี 2018 ยิ่งทำให้เธอรู้สึกวิตกกังวลมาก รวมถึงประหม่าเมื่อมีสายตาจับจ้อง จนทำให้เธอปฏิเสธที่จะตอบคำถามสื่อในเฟรนช์ โอเพน จนถูกปรับมาก่อนหน้านี้ 

"ทุกคนต่างรู้ว่าฉันเป็นอินโทรเวิร์ต และใครที่เจอฉันในทัวร์นาเมนต์ก็สังเกตได้ว่าฉันจะสวมหูฟังตลอด ซึ่งมันจะช่วยคลายโรคกลัวการเข้าสังคมของฉัน" โอซากะ กล่าวในโซเชียลมีเดียส่วนตัว 

อย่างไรก็ดี โอซากะ ไม่ใช่นักเทนนิสคนแรกและคนสุดท้ายที่ต้องพบกับปัญหานี้ เพราะผู้เล่นทั้งในอดีตและปัจจุบันต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เทนนิส คือกีฬาที่ทำให้นักกีฬาอาชีพต้องเผชิญกับความเครียด ความวิตกกังวล ไปจนถึงภาวะซึมเศร้า

"ผมมั่นใจว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่กำลังดิ้นรนมากกว่าที่เรารู้" มาร์ดี ฟิช อดีตกัปตัน เดวิส คัพ ของทีมชาติสหรัฐอเมริกากล่าวกับ AP News

"มีผู้เล่นมากมายที่มีปัญหาด้านจิตใจ ไม่ว่าคุณจะรู้หรือไม่ ผมเคยคุยกับผู้เล่นหลายคนในช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมา ทั้งคนที่คนรู้จักกันดี คนที่เป็นดาวรุ่ง หรือผู้เล่นระดับมหาวิทยาลัย ทั้งหญิงและชาย พวกเขาล้วนต้องดิ้นรนอย่างหนักกับอะไรแบบนี้"

 

เนื่องจากธรรมชาติของเทนนิสเป็นกีฬาแบบบุคคลและไม่มีเพื่อนร่วมทีมคอยช่วยเหลือ ซึ่งหมายความว่านักเทนนิสต้องรับผิดชอบทุกอย่างด้วยตัวคนเดียว ขณะเดียวกันพวกเขาก็จะเผชิญกับความโดดเดี่ยวได้ง่าย 

"ถ้าคุณตื่นมาพร้อมกับอารมณ์ขุ่นมัวหรือรู้สึกไม่ค่อยดี มันไม่สามารถที่จะพูดแค่ว่า 'โอเค ผมจะไม่ลงแข่งในวันนี้' คุณต้องเผชิญกับความลำบากนี้ด้วยตัวเอง" ฟิช ที่เคยขึ้นไปรั้งมือ 7 ของโลก และเจ้าของเหรียญเงินโอลิมปิก 2004 กล่าวต่อ 

นอกจากนี้ด้วยความที่มันเป็นกีฬาที่ต้องเดินทางไปแข่งทั่วโลก ทำให้นักเทนนิสต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทั้งเขตเวลาที่ต่างกัน วัฒนธรรม อาหาร และสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ทำให้ผู้เล่นเกิดความเหนื่อยล้าทั้งทางร่างกายและจิตใจ 

"บางทีเราอาจไม่ได้ให้ความสำคัญ บางทีมันเป็นสิ่งสุดท้ายที่เราจะคิดถึง" เจนนิเฟอร์ เบรดี รองแชมป์ออสเตรเลียน โอเพน 2021 และทีมชาติสหรัฐฯ ชุดลุยโตเกียวโอลิมปิก บอกกับ AP News

 

"แต่สำหรับเทนนิส เรื่องจิตใจนั้นสำคัญมาก เราต้องเดินทางตลอดด้วยตัวคนเดียว ดังนั้นมันจึงส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจจริง ๆ" 

"ฉันเก็บหลายสิ่งหลายอย่างไว้กับตัว และเมื่อเวลาผ่านไปฉันก็สามารถสร้างลูกบอลหิมะขนาดใหญ่ พอถึงจุดหนึ่งมันก็ระเบิดออกมา คุณอาจจะคิดว่า 'เฮ้ย มันมาจากไหน' แต่จริง ๆ แล้ว มันเป็นการสะสมของทุกสิ่ง มันมีจุดแตกหักสำหรับทุกคนเสมอ" 

ทว่านั่นไม่ใช่สิ่งเดียวที่พวกเขาต้องเผชิญ

กดดันด้วยแรงกิ้ง  

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เทนนิส คือกีฬาที่ต้องดึงขีดจำกัดของทั้งร่างกายและจิตใจออกมาใช้ให้มากที่สุด เพราะผู้เล่นต้องมีวินัยกับตัวเอง ทั้งในแง่การฝึกซ้อมและการใช้ชีวิต ขณะเดียวกันระบบ "แรงกิ้ง" หรือการจัดอันดับยังเป็นมูลเหตุทำให้สุขภาพจิตของพวกเขาย่ำแย่กว่าเดิม 

 

ตามกฎของสมาคมนักเทนนิสอาชีพ ทั้งของฝ่ายชาย (The Association of Tennis Professionals - ATP) และหญิง (The Women's Tennis Association - WTA) นักเทนนิสทุกคนจะต้องลงแข่งในรายการที่สมาคมฯ รับรอง เพื่อเก็บคะแนนไปจัดอันดับโลกในทุกปี 

ทั้งนี้การลงแข่งไม่เพียงแต่ทำให้อันดับโลกของพวกเขาสูงขึ้นแล้ว (ซึ่งจะมีผลต่อการเป็นมือวาง) แต่มันยังเป็นแหล่งรายได้สำคัญของนักเทนนิสอาชีพ รวมทั้งโอกาสที่จะได้สปอนเซอร์มาสนับสนุนมากขึ้น หากทะลุเข้าไปถึงรอบลึก ๆ หรือคว้าแชมป์ 

อย่างไรก็ดีกฎของสมาคมฯ ระบุว่าคะแนนดังกล่าวจะถูกลบออกไปจากระบบ หากมีอายุเกินกว่า 1 ปี ซึ่งหมายความว่าพวกเขาต้องตระเวนเดินทางไปแข่งทั่วโลกอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อรักษาตำแหน่งของตัวเองในระบบอาชีพ 

สิ่งนี้กลายเป็นแรงกดดันให้แก่เหล่านักเทนนิส เพราะไม่ใช่แค่เพียงต้องทำผลงานให้ดีเท่านั้น แต่ยังต้องรักษาร่างกายให้ฟิตสมบูรณ์อยู่เสมอ เพราะอาการบาดเจ็บอาจจะทำให้อันดับของพวกเขาตกฮวบ พร้อมกับรายได้ที่หายไป และอาจนำไปสู่ปัญหาด้านสภาพจิตใจได้

 

ปี 2012 มาร์ดี้ ฟิช ตรวจพบว่าหัวใจของเขาเต้นผิดจังหวะ และทำให้เขาต้องพักรักษาตัวชั่วคราว ก่อนที่มันจะทำให้เขากลายเป็นโรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) จนบางครั้งไม่อยากออกจากบ้านเลยด้วยซ้ำ 

เขากลับมาเล่นเทนนิสได้อีกครั้งในปี 2013 ในรายการอินเดียน เวลส์ แต่ก็ทำผลงานได้ไม่ดี และต้องเข้ารับการบำบัดอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่สุดท้าย ฟิช จะตัดสินใจแขวนแร็กเกตไปอย่างเจ็บปวดในปี 2015 

"มันเอาเทนนิสไปจากผม" ฟิช ที่เคยขึ้นไปรั้งท็อป 10 ของโลกกล่าวกับ ESPN.com 

"ผมมีงานที่ผมรักและทำได้ดีจริง ๆ ผมเคยอยู่ในจุดสูงสุดของอาชีพ แต่ความเจ็บป่วยทางจิตใจก็พรากมันไปหมดเลย" 

บาร์โบร่า เครจซิโคว่า แชมป์เฟรนช์ โอเพน 2021 บอกว่าเธอเคยถึงขั้นไม่กล้าออกจากห้องแต่งตัวและต้องให้นักจิตวิทยามาคุยด้วย หลังเผชิญกับอาการแพนิก ขณะที่ มิเฮลา บูซาร์เนสคู นักเทนนิสชาวโรมาเนีย ต้องเผชิญกับสภาวะย่ำแย่ทางจิตใจ หลังร้างลาจากคอร์ทเทนนิสไปด้วยอาการบาดเจ็บ    

"มันมีความกดดันเยอะมาก ฉันเองรู้สึกแบบนี้ตอนที่ฉันอยู่อันดับที่ 20 ของโลก และมารู้สึกอีกทีตอนที่กลับมาหลังจากได้รับบาดเจ็บข้อเท้าหัก ตอนนั้นฉันมีแต้ม (อันดับ) ไม่ดี และผู้คนคาดหวังให้ฉันทำผลงานให้เหมือนกับก่อนหน้านั้น แต่ฉันทำไม่ได้" บูซาร์เนสคู ที่มีดีกรีปริญญาเอกกล่าวกับ AP News 

"ฉันรู้สึกหดหู่ เมื่ออันดับของฉันตกจาก 55 เป็น 135 ในแค่สัปดาห์เดียว ฉันไม่ออกจากห้องอยู่หลายวันเลย" 

อย่างไรก็ดีการระบาดของไวรัสยิ่งทำให้สิ่งนี้เลวร้ายลงไปอีก

โควิดซ้ำเติม 

ดร.เนรินา รัมลาคาน (Nerina Ramlakhan) แพทย์จากคลินิกไนติงเกล แห่งกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ซึ่งดูแลนักกีฬาที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตและการนอนหลับเล่าว่า นักเทนนิสจะมีความอ่อนไหวกว่านักกีฬาประเภทอื่น 

"สิ่งที่ทำให้นักกีฬาเทนนิสต้องระลึกตัวเองให้ดีคือลักษณะของกีฬานี้นี่แหละ มันเป็นกีฬาที่ดึงดูดคนที่ควบคุมตัวเองได้และมีความเป็นมืออาชีพอย่างมาก เพราะพวกเขาต่างต้องการขึ้นไปสู่จุดสูงสุด และมันก็สร้างแรงกดดันให้กับพวกเขา" รัมลาคานอธิบายกับ ESPN.com  

"ตอนที่ผมรักษานักกีฬาที่เริ่มมีปัญหานี้ ผมพบว่าการเป็นพวกเพอเฟ็กชันนิสต์ เป็นสิ่งที่ขัดขวางสุขภาพของพวกเขา เพื่อให้ทำได้ดีในการแข่งขัน พวกเขาจึงต้องเป็นพวกสมบูรณ์แบบมาก ๆ"

"แต่คุณก็ต้องรู้ว่าขอบเขตมันอยู่ตรงไหน คุณต้องบอกตัวเองว่า 'แค่นี้พอแล้ว ฉันต้องไปจากมันแล้วตอนนี้' แทนที่จะทำร้ายตัวเองต่อไปเรื่อย ๆ" 

ทว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็เป็นเหมือนการกระทืบซํ้าหัวใจของนักเทนนิสที่อ่อนไหวอยู่แล้วให้พังลงไปอีก เมื่อสถานการณ์ล็อกดาวน์ทำให้การแข่งขันหลายรายการถูกยกเลิก หรือหากจัดได้ก็จะเป็นไปในลักษณะสนามปิดหรือจำกัดการเข้าชม 

การไร้เสียงเชียร์ส่งผลต่อพวกเขาเป็นอย่างมาก เจมี มาร์รีย์ นักเทนนิสชาวสกอต เจ้าของแชมป์ระดับแกรนด์สแลม 5 รายการ จากการแข่งขันประเภทคู่ผสม และ 2 รายการในประเภทชายคู่ นอกจากนี้ยังลงเล่นให้ทีมชาติสหราชอาณาจักรคู่กับ แอนดี มาร์รีย์ น้องชาย อดีตนักเทนนิสมือหนึ่งของโลกและเหรียญทองโอลิมปิก 2 สมัย บอกว่าสภาพนี้ทำให้เขาเหนื่อยล้ามาก 

"เราต้องเดินทางจากบับเบิ้ลหนึ่งไปอีกบับเบิ้ลหนึ่งทั่วโลก และไม่สามารถหนีจากเทนนิสได้เลย" เจมี กล่าวกับ AP News 

"คุณต้องลงแข่ง แล้วสมมุติว่าคุณแพ้มันจะยิ่งยากขึ้นไปอีก คุณจะต้องกลับไปที่โรงแรม อยู่ในห้องเล็ก ๆ ที่มีกำแพงสี่ด้าน บางครั้งอาจจะไม่ได้เจอกับอากาศบริสุทธิ์ เพราะคุณเปิดหน้าต่างไม่ได้ คุณต้องนั่งอยู่ที่นั่น และการแข่งช่วงนั้นก็เป็นแบบนี้แหละ" 

"มันเกิดขึ้นซ้ำ ๆ อยู่ในใจและหนีไม่ได้ มันไม่มีทางหนีเลย คุณไม่สามารถแม้แต่ออกไปดินเนอร์กับเพื่อนได้" 

หรือในวิมเบิลดัน 2021 ด้วยมาตรการป้องกันไวรัส ทำให้ผู้จัดการแข่งขันบังคับว่านักเทนนิสทุกคนต้องพักอยู่โรงแรมเดียวกัน (รวมถึงนักเทนนิสสหราชอาณาจักร) จากเดิมที่สามารถเช่าบ้านเพื่ออยู่กับเพื่อนหรือครอบครัวได้ 

ส่วนทัวร์นาเมนต์ที่ปารีส ผู้จัดอนุญาตให้นักเทนนิสมีเวลาอิสระแค่เพียง 1 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่ออสเตรเลียน โอเพน ที่จัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ผู้เล่นไม่สามารถออกจากที่พักได้เลยตลอด 2 สัปดาห์ หากเที่ยวบินที่พวกเขาโดยสารมามีผู้ติดเชื้อ 

"นี่เป็นช่วงเวลาเปราะบางในชีวิตของทุกคน มันเป็นเหมือนฟองสบู่ คุณไม่สามารถรู้ได้เลยว่าแต่ละคนหนักหนาแค่ไหน" ไรล์ลี่ โอเพลก้า นักเทนนิสวัย 24 ปีชาวสหรัฐฯ เจ้าของอันดับ 26 ของโลกบอกกับ AP News

"เมื่อคุณมีความคิดแย่ ๆ อยู่ในใจ มันจะมืดมนและน่ากลัว มันน่ากลัวจริง ๆ" 

อย่างไรก็ดีหลายภาคส่วนพยายามหาทางช่วยเหลือพวกเขาอยู่

กล้าที่จะบำบัด 

ปัญหาเรื่องสุขภาพจิต เป็นสิ่งที่ WTA และ ATP ให้ความสำคัญ โดยพวกเขาได้เตรียมจิตแพทย์ไว้ข้างสนามในรายการอย่าง วิมเบิลดัน หรือทัวร์นาเมนต์ระดับเมเจอร์ของ WTA เพื่อให้ผู้เล่นได้พูดคุยหรือขอคำปรึกษาหากมีเรื่องไม่สบายใจได้ทุกวัน ทั้งผ่านวิดีโอคอลล์หรือโทรศัพท์ 

"เราคุยกันเรื่องนี้มาตลอด ทุกครั้งที่นักกีฬาบอกเราถึงประสบการณ์ของพวกเขาหรือบอกกับโลก เราสามารถเรียนรู้บางอย่างจากมันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรากำลังฟัง และแน่นอนว่าเรากำลังฟังอยู่" เบ็คกี้ อาห์ลเกรน เบซิคส์ รองประธานฝ่ายสุขภาพจิตและสุขภาพของ WTA กล่าวกับ ESPN.com

อันที่จริงโครงการดูแลสุขภาพในทุกแง่มุมของ WTA มีมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990s โดยมุ่งเน้นไปที่การศึกษา ป้องกัน รวมไปถึงตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพจิต 

"แพทย์และนักกายภาพบำบัดของเราจะติดต่อกับนักเทนนิสตลอดทั้งปี ถ้ามีผู้เล่นที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่ามีความกังวลด้านจิตใจ เราจะมีสถานที่ซึ่งสามารถส่งต่อเพื่อให้ได้รับคำปรึกษาที่เหมาะสม" ไซมอน ฮิกสัน โฆษกของ ATP กล่าว 

"หรือถ้าตัวแพทย์หรือนักจิตวิทยารู้สึกได้ เราจะแนะนำให้พวกเขาเข้ารับการรักษาหรือช่วยเหลือในช่วงเริ่มต้น" 

แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือนักเทนนิสต้องยอมรับและเปิดใจ หลายคนไม่กล้าพูดมันออกมาตอนที่ยังอยู่ในอาชีพ ซึ่งเห็นได้จากนักเทนนิสชื่อดังอย่าง อังเดร อากัสซี, โมนิก้า เซเลส หรือ แพต แคช ต่างเพิ่งออกมาพูดเรื่องนี้หลังจากแขวนแร็กเกตไปแล้วทั้งสิ้น 

"ความเครียดในชีวิตสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน เหมือนกับเวลาที่คนในครอบครัวเสียชีวิต บางคนที่อาจจะกำลังสู้กับมะเร็ง หรือการย้ายบ้าน ทั้งหมดเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องเผชิญ" เคธี มาร์ติน ผู้เชี่ยวชาญของ WTA อธิบาย 

"เพียงเพราะคุณเลือกจับไม้เทนนิส ไม่ได้หมายความว่าคุณจะมีโล่เวทมนตร์ที่ป้องกันคุณจากทุกอย่างได้"

สู้ไปด้วยกัน 

"มันเป็นตราบาปติดตัว โดยเฉพาะในโลกกีฬา เพราะคุณต้องพึ่งพาตัวเอง รวมไปถึงมีจิตใจที่แข็งแกร่ง คุณไม่ได้อยากมีปัญหานี้แต่คุณก็มีมัน หลายครั้งมันทำให้ครอบครัวมีปัญหาและทำให้คุณโดดเดี่ยว" คริส ริเชย์ อดีตสมาชิกทีม เดวิส คัพ ของสหรัฐอเมริกากล่าวกับ ESPN 

ก่อนหน้านี้ปัญหาสุขภาพจิตเป็นเหมือนสิ่งที่ทุกคนอยากซ่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักกีฬา เพราะการออกมายอมรับ อาจจะทำให้ผู้คนมองในแง่ลบจากความเข้าใจที่ผิด ๆ จึงทำให้หลายคนต้องต่อสู้กับมันเพียงลำพัง 

มาร์ดี ฟิช ก็เป็นหนึ่งในนั้น ตอนที่เขาประสบกับปัญหาด้านจิตใจ ตอนนั้นแทบไม่มีนักกีฬาที่มีชื่อเสียงที่ออกมายอมรับว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าในขณะที่ยังเล่นอยู่เลย ทำให้เขาไม่มีตัวอย่างหรือคนให้ปรึกษา ตอนนี้เขาจึงเลือกที่จะออกมาพูดเรื่องความเจ็บป่วยของตัวเอง

"การได้พูดเรื่องนี้เป็นประโยชน์มากสำหรับผม มันเป็นหนึ่งในสิ่งที่ผมต้องต่อสู้ตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ได้แค่พูดถึงมันแต่ต้องอยู่กับมัน ยิ่งผมพูดมากเท่าไรผมก็จะพบว่ามีคนที่ต้องเผชิญกับมันเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น" ฟิช บอกกับ ESPN 

"ยิ่งผมอ่านหรือค้นคว้ามากเท่าไร ก็จะยิ่งพบว่ามีคนอเมริกันจำนวนแค่ไหนที่ต้องเจอกับความเจ็บป่วยทางจิตใจในแต่ละวัน สิ่งนี้ช่วยปลอบประโลมผมได้"

ฟิชบอกว่าตัวเขาพร้อมจะช่วยเหลือทุกคนไม่ว่าหญิงหรือชาย หากพวกเขาต้องการ เพราะมันไม่ใช่แค่อยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ แต่เพื่อไม่ให้ต้องมีใครตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับเขา 

เพราะสุดท้ายแล้ว การมีเพื่อนร่วมทางย่อมดีกว่าต้องต่อสู้อย่างเดียวดายในสมรภูมิที่โหดหินแห่งนี้ 

"มันจะง่ายกว่ามากถ้าพูดมันออกมา และมีคนอีกมากที่อยากพูดถึงมัน แค่ผมพูดว่า 'นี่เบอร์ผมเอง โทรหาผมได้ตลอดเวลา มาคุยเรื่องความกดดันและความกลัวของคุณกัน'" 

"มันดีสำหรับผมที่สามารถช่วยเพื่อน ช่วยเพื่อนร่วมงาน ช่วยทำให้พวกเขาเข้าใจสิ่งที่ผมผ่านมาว่ามันเป็นเรื่องปกติที่สามารถเอาชนะได้และต้องต่อสู้กับทุกวัน และการได้พบกับคนกลุ่มเดียวกันมันจะช่วยให้คุณสบายใจขึ้น และมันจะทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้อย่างแน่นอน" ฟิช ทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook