บัลลงดอร์ของ จอร์จ เวอาห์ : ทฤษฎีสมคบคิดว่าด้วยการเป็น “หวยล็อก”

บัลลงดอร์ของ จอร์จ เวอาห์ : ทฤษฎีสมคบคิดว่าด้วยการเป็น “หวยล็อก”

บัลลงดอร์ของ จอร์จ เวอาห์ : ทฤษฎีสมคบคิดว่าด้วยการเป็น “หวยล็อก”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จอร์จ เวอาห์ เป็นนักเตะชาวไลบีเรีย และเป็นนักเตะจากทวีปแอฟริกาคนแรกที่คว้ารางวัลบัลลงดอร์ อันเปรียบได้สำหรับรางวัล "นักเตะที่เก่งที่สุดในโลก" ในปี 1995 มาได้ ภายใต้ความชื่นชมยินดี

อย่างไรก็ตามบัลลงดอร์ในครั้งนั้น ยังคงถูกตั้งข้อสงสัยว่าแท้จริงแล้ว เวอาห์ ได้รางวัลนี้เพราะเหตุใดกันแน่ เขายิงประตูได้น้อยกว่านักเตะบางคน ได้แชมป์น้อยกว่านักเตะอีกหลายคน และยังเล่นในลีกที่ไม่ได้แข็งแกร่งนักอย่างลีกฝรั่งเศสอีกด้วย

ทำไมจึงเกิดทฤษฎีว่ารางวัลบัลลงดอร์ครั้งนี้เป็นการแจกรางวัลแบบจัดตั้ง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติและสีผิว 

ติดตามเรื่องทั้งหมดได้ที่ Main Stand

เวอาห์ เก่งขนาดไหน เหมาะสมกับบัลลงดอร์ปี 1995 ไหม ? 

ย้อนกลับไปในงานมอบรางวัลบัลลงดอร์ในปี 1995 ของนิตยสาร ฟรองซ์ ฟุตบอล ในวันที่งานจบลงด้วยการเฉลิมฉลองของ จอร์จ เวอาห์ นักเตะ เอซี มิลาน และชาวแอฟริกันทั่วโลกที่ได้มีภาคภูมิใจว่า ในที่สุดนักเตะจากทวีปของพวกเขาก็สามารถคว้ารางวัลนี้มาได้เป็นครั้งแรก 

ในงานวันนั้นมีผู้เข้าชิงทั้งสิ้น 50 คน นักเตะชื่อดังตบเท้าเข้ามาเป็นแคนดิเดตอย่างพร้อมหน้า นอกจากเวอาห์แล้ว ยังมี เยอร์เกน คลินส์มันน์ จาก บาเยิร์น มิวนิค, ยารี่ ลิตมาเน่น จาก อาหยักซ์ อัมสเตอร์ดัม และ อเลสซานโดร เดล ปิเอโร่ จาก ยูเวนตุส เป็นต้น

 

คำถามคือ จากรายชื่อนักเตะทั้งหมดหากลองวัดจากสถิติดูแล้ว สถิติของเวอาห์เหนือกว่าคนอื่นหรือไม่ ? 

ในฤดูกาล 1994-95 เวอาห์ ยังเล่นให้ ปารีส แซงต์ แชร์กแมง ในลีกเอิง ฝรั่งเศส เขาพาทีมจบอันดับ 3 ของตารางคะแนนในซีซั่นดังกล่าว ขณะที่ผลงานส่วนตัวจบที่การยิงไป 18 ประตูจาก 53 เกม ทว่าหากนับแค่เกมลีก เขายิงไป 7 ประตูจาก 34 นัดที่ลงสนาม ส่วนในนามทีมชาติไลบีเรีย เวอาห์ ลงเล่น 5 นัด และยิงประตูไม่ได้เลยสักลูกเดียว 

หากลองเอาสถิติของ เวอาห์ มาเทียบกับนักเตะที่คว้ารางวัลบัลลงดอร์หลังยุค 2010s เป็นต้นมา เราจะเห็นได้ว่าหากเอา เวอาห์ มาเล่นในยุคนี้ โอกาสที่เขาจะได้บัลลงดอร์คงจะยากพอสมควร ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเกณฑ์ในการให้รางวัลบัลลงดอร์ 3 ข้อก็ยิ่งดูห่างไกลเข้าไปใหญ่ 

1. ผลงานส่วนตัวและผลงานส่วนรวมในปีนั้น 

2. ผลงานตามระดับการแข่งขันที่นักเตะคนนั้นลงเล่น และพฤติกรรมโดยรวมทั้งในและนอกสนาม

 

3 เส้นทางการเป็นนักฟุตบอลของผู้เข้าชิงรางวัล (กรณีนี้เปรียบได้กับอิทธิพล ความเป็นผู้นำ หรือปัจจัยที่ไม่มีค่าตัวเลขและสถิติมาเป็นตัวชี้วัดเป็นต้น) 

จริงอยู่ที่ เวอาห์ อาจจะมีผลงานที่ยอดเยี่ยมและมีเกณฑ์เข้ากับข้อที่ 3 ทว่าหากเทียบกันกับคนอื่น ๆ ที่ชิงรางวัลในปีเดียวกัน ยังมีนักเตะที่ทำผลงานตามเกณฑ์การให้รางวัลได้มากกว่า อาทิ ยารี่ ลิตมาเน่น จอมทัพของ อาหยักซ์ ชุดแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก 

ในปีนั้น ลิตมาเน่น เป็นตัวหลักของ อาหยักซ์ เขายิงรวม 26 ประตูจาก 43 นัดในทุกรายการ แยกเป็นเกมลีกเพียว ๆ อยู่ที่ 14 ประตูจาก 26 นัด และอย่าลืมว่าเขาไม่ใช่กองหน้า ดังนั้นสถิติดังกล่าวก็ถือว่าสวยงามเอาเรื่อง 

ยิ่งเมื่อเทียบกับผลงานโดยรวมของ อาหยักซ์ ยิ่งแล้วใหญ่ อาหยักซ์ ได้ทั้งแชมป์ลีก แชมป์ยุโรป แชมป์ยูฟ่าซูเปอร์คัพ และอินเตอร์คอนติเนนทัลคัพ เรียกง่าย ๆ ว่าคว้าแชมป์แทบทุกรายการที่ลงแข่งขันก็คงไม่ผิดนัก 

 

หากเราวัดกันที่สถิติและความสำเร็จรวมถึงเกณฑ์การตัดสินทั้ง 3 ข้อ ดูยังไง ลิตมาเน่น ก็ดูดีมีแต้มต่อพอสมควร แต่ที่สุดแล้วก็ต้องไม่ลืมว่า บัลลงดอร์คือรางวัลที่จะได้ผู้ชนะก็ต่อเมื่อมีคนโหวตให้ ซึ่งผู้โหวตบัลลงดอร์ในเวลานั้นมาจากนักข่าวสายฟุตบอลทั่วยุโรป ดังนั้นอะไรก็ตามที่ใช้คนตัดสินย่อมมีโอกาสได้คำตอบที่แปลกแตกต่างกันไปอยู่แล้ว 

ทุกคนที่มีสิทธิ์โหวตต่างมีแนวคิด ทัศนคติ และมุมมองที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นการจะให้ เวอาห์ เป็นผู้ชนะก็อาจจะไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์ระดับช็อกโลกมากมายนัก เพราะตอนนั้น เวอาห์ ก็เก่งจริง ๆ เป็นกองหน้าประเภทที่ปรู๊ดปร๊าดรวดเร็ว แข็งแรง แถมยังมีพรสวรรค์ในแบบที่นักเตะแอฟริกันแถวหน้าหลาย ๆ คนในยุคนั้นขาดหายไป นั่นคือการเล่นแบบรู้จังหวะ ตอนไหนควรยิง ตอนไหนควรจ่าย ตอนไหนควรเลี้ยง นั่นคือคุณสมบัติของ เวอาห์ 

ในปี 1995 แม้ เวอาห์ จะยิงไม่มากเท่านักเตะที่ได้อันดับ 2 อย่าง คลินส์มันน์ หรืออันดับ 3 อย่าง ลิตมาเน่น แต่ ณ ตอนนั้นก็ไม่ได้มีใครตั้งคำถามเกี่ยวกับรางวัลบัลลงดอร์ของเขา ไม่เว้นแม้แต่ตัวของ เวอาห์ เองด้วย

ทฤษฎีสมคบคิดและความภาคภูมิใจของแอฟริกัน 

หลังจากที่ เวอาห์ ได้รางวัล ความปิติยินดีก็เกิดขึ้นไม่ใช่แค่กับตัวเขาหรือชาวไลบีเรียเท่านั้น แต่มันหมายถึงชาวแอฟริกันทั่วโลกด้วย เพราะไม่เคยมีนักเตะแอฟริกันรายไหนได้รับการยอมรับว่าเก่งที่สุดในโลก ใกล้เคียงที่สุดก็เห็นจะมีแต่ ยูเซบิโอ นักเตะเชื้อสายโมซัมบิก-โปรตุเกส ที่เลือกเล่นให้กับทีมชาติโปรตุเกสและได้รางวัลบัลลงดอร์ในปี 1965

 

การที่ไม่เคยมีนักเตะแอฟริกันได้รางวัลนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย แม้แต่นักเตะอย่าง เปเล่ และ ดิเอโก มาราโดนา ก็ไม่เคยได้รางวัลนี้มาก่อน ในส่วน เปเล่ มันอาจเป็นเพราะว่าเขาไม่เคยค้าแข้งในยุโรป แต่สำหรับ มาราโดนา เขาคือนักเตะที่เป็นปรากฏการณ์ของโลก ทุกวันนี้ยังเป็นคำถามโลกแตกว่า มาราโดนา กับ ลิโอเนล เมสซี่ นักเตะเจ้าของรางวัลบัลลงดอร์ 7 สมัย ใครเป็นนักเตะที่ดีกว่ากัน 

นักเตะที่โดนเปรียบเทียบกันมาเสมอ คนหนึ่งได้บัลลงดอร์ 0 ครั้ง อีกคนได้ถึง 7 ครั้ง ... สิ่งเหล่านี้มันพอบอกถึงยุคสมัยได้เป็นอย่างดีว่าแนวคิดของคนส่วนใหญ่ในช่วงยุค 70s-80s หรือช่วงต้น ๆ ยุค 90s นั้นเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเปิดใจยอมรับคนเชื้อชาติอื่น ๆ ของชาวตะวันตก 

ในช่วงยุค 70s การเหยียดผิวไม่เคยถูกยกเอามาเป็นประเด็นพูดคุยกันอย่างจริงจัง หนำซ้ำยังการเหยียดผิวยังเป็นเรื่องตลกในรายการโทรทัศน์อยู่เลยด้วยซ้ำ 

ในประเทศอังกฤษมีคนผิวดำที่ออกมาเผยกับสื่ออย่าง BBC ว่า พวกเด็ก ๆ ที่มีผิวดำจะไม่ได้รับสิทธิ์ให้เรียนในโรงเรียนร่วมกับเด็กคนอื่น ๆ และถูกประเมินว่า "มีระดับการศึกษาต่ำกว่าปกติ" แล้วยังถูกส่งไปเรียนในโรงเรียนสำหรับเด็กที่ถูกมองว่า "ด้อยสติปัญญา"

 

ถ้าเป็นที่อเมริกาก็จะยิ่งเห็นภาพได้ชัดขึ้นในปัญหาเกี่ยวกับเรื่องความเท่าเทียม ในภาพยนตร์เรื่อง Gone With the Wind ที่คว้ารางวัลออสการ์ ก็เคยโดนวิจารณ์จากยุคปัจจุบันว่าเป็นภาพยนตร์ที่สื่อถึงการแบ่งแยกสีผิวและชนชั้นในอเมริกา เป็นต้น

"มีข้อสังเกตข้อหนึ่งว่านักเตะที่ดีที่สุดในยุโรปที่ได้รางวัลบัลลงดอร์จริง ๆ มีความเฉพาะเจาะจงแอบซ่อนอยู่ พวกเขาไม่ใช่แค่นักเตะที่ค้าแข้งในลีกยุโรปเท่านั้น แต่พวกเขาต้องเป็นนักเตะที่เล่นให้ชาติในยุโรปด้วย มันเป็นเรื่องการเหยียดผิวไหม ? ผมคิดว่ามันก็อาจเป็นไปได้" เอ็ดเวิร์ด เอส เคนเนดี้ (Eddward S. Kennedy) อธิบายไว้ในหนังสือ Soccer A Thousand Commentaries (2014)

รางวัลบัลลงดอร์ ถือกำเนิดขึ้นในปี 1956 และมีกฎระบุว่าจะมอบให้เฉพาะนักเตะที่มีสัญชาติยุโรปเท่านั้นยาวมาจนถึงปี 1994 ก่อนที่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นในปี 1995 เพราะทาง ฟรองซ์ ฟุตบอล หรือผู้จัดการมอบรางวัลนี้ได้เปลี่ยนกฎให้เป็นนักเตะสัญชาติใดก็ได้ แต่ขอให้ค้าแข้งอยู่ในยุโรปก็พอแล้ว ก่อนเปลี่ยนกฎอีกครั้งในปี 2007 ที่เปิดกว้างให้นักเตะชาติไหนก็ได้ เล่นอยู่ในทวีปไหนก็ได้ มีสิทธิ์คว้ารางวัล

ในงานบัลลงดอร์ปี 1995 ที่เปิดโอกาสให้นักเตะสัญชาติใดก็ได้ที่เล่นในยุโรปชิงรางวัลนี้ จบลงด้วยคะแนนโหวต 144 คะแนนของ จอร์จ เวอาห์ ที่ได้รับเป็นอันดับ 1 ทิ้งห่างอันดับสองอย่าง คลินส์มันน์ ที่ได้ไป 108 คะแนน และอันดับ 3 อย่าง ลิตมาเน่น ที่ได้ไปเพียง 67 คะแนน ตามลำดับ

ปีแรกที่มีการเปลี่ยนกฎใหม่ก็มีการมอบรางวัลให้กับนักเตะที่สร้างอิมแพ็กต์และเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงยุคใหม่ที่เป็นโลกแห่งความเท่าเทียมได้ทันที จะบังเอิญหรือไม่ เหยียดผิวแค่ไหน ก็คงต้องข้ามประเด็นนี้ไปก่อน เพราะสิ่งที่ตามมานั้นทรงคุณค่าเป็นอย่างมากหลังจากที่ เวอาห์ ได้รางวัลบัลลงดอร์ในครั้งนั้น 

"ตอนผมเริ่มเล่นฟุตบอล ความฝันสูงสุดของผมคือการได้เป็นนักเตะอาชีพ นั่นคือสิ่งเดียวที่ผมอยากเป็น ผมไม่เคยนึกถึงรางวัลบัลลงดอร์เลยด้วยซ้ำ แต่ผมภูมิใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก รางวัลนี้คือรางวัลที่สำคัญกับผมและประเทศไลบีเรีย พวกเขาเฉลิมฉลองให้กับผมและทำให้ประเทศไลบีเรียโผล่ขึ้นมาบนแผนที่โลกในสายตาคนอื่น ๆ" เวอาห์ กล่าวหลังจากได้รับรางวัล  

เวอาห์ ใช้ชีวิตอยู่กับดีกรีนักเตะแอฟริกันผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล เป็นผู้ได้รับการการันตีโดยรางวัลบัลลงดอร์มาตลอดชีวิตค้าแข้ง เขาภูมิใจกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในอาชีพนักฟุตบอลของเขา 

เพียงแต่ว่าเมื่อเขาเติบโตขึ้นและเปลี่ยนสถานะจากยอดนักเตะสู่เส้นทางการเมืองจนได้เป็นประธานาธิบดีแห่งประเทศไลบีเรีย … บางสิ่ง กลับไม่เคยเปลี่ยนไป

คนแรก … จนถึงทุกวันนี้ 

การคว้ารางวัลบัลลงดอร์ของเขาเป็นการแสดงให้เห็นว่าคนผิวดำก็สามารถเปล่งประกายในวงการฟุตบอลยุโรปได้ มันเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นที่มีผลกระทบในวงการและสังคมฟุตบอลในยุคนั้นที่การเหยียดเชื้อชาติไม่ใช่สิ่งที่จะหายไปจากวงการฟุตบอลได้ง่าย ๆ ... เขาเก่งด้วยก็ส่วนหนึ่ง แต่ทฤษฎีสมคบคิดที่ว่ารางวัลบัลลงดอร์ครั้งนั้นเป็นเรื่องการล็อกผลก็ใช่ว่าจะไร้สาระในระดับที่เป็นไปไม่ได้

สิ่งที่ทำให้ทฤษฎีมอบรางวัลให้เวอาห์เพื่อแสดงความเปิดกว้างของวงการฟุตบอลยุโรป ยังคงสามารถคิดต่อไปได้อีกเมื่อไม่มีนักเตะแอฟริกันคนใดอีกเลยที่ใกล้เคียงกับการได้รับรางวัลนี้ตั้งแต่ปี 1995 

ไม่ว่าจะนักเตะที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นแข้งระดับโลกอย่าง ซามูเอล เอโต้ ที่คว้าทุกแชมป์กับ บาร์เซโลน่า และ อินเตอร์ มิลาน, ดิดิเยร์ ดร็อกบา กับ เชลซี และ โมฮาเหม็ด ซาลาห์ สตาร์เบอร์ 1 ของ ลิเวอร์พูล ในปัจจุบัน ทุกคนล้วนแต่ไม่เคยใกล้เคียงกับรางวัลบัลลงดอร์เลยสักครั้ง 

ขณะที่บัลลงดอร์ 2021 หรือครั้งล่าสุดที่ ลิโอเนล เมสซี่ ได้รับรางวัลนี้ นักเตะแอฟริกันที่เจ็บปวดกับการประกาศรางวัลนี้ที่สุดก็คือ เอดูอาร์ เมนดี้ ผู้รักษาประตูของเชลซี 

เมนดี้ ประสบความสำเร็จอย่างมากในการย้ายมา เชลซี และโชว์ลีลาการเซฟจนทีมคว้าแชมป์ยุโรปได้สำเร็จ เขาเองก็รู้ตัวดีและไม่เคยหวังไกลถึงการคว้าบัลลงดอร์ แต่การที่เขาไม่มีชื่อเข้าชิงแม้กระทั่งในรอบ 30 คนสุดท้าย มันก็เป็นความเจ็บปวดที่เขาคิดว่า "มันไม่แฟร์" 

"การพลาดเข้าชิงบัลลงดอร์ครั้งนี้เป็นแรงผลักดันที่ทำให้ผมอยากทำงานต่อไป แต่ผมไม่ขอปฏิเสธว่าผมประหลาดใจกับผลที่ออกมาพอสมควร ... ถ้าผมเล่นให้ทีมชาติฝรั่งเศสและได้ไปเล่นในฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป เราจะต้องมาเถียงและคุยกันเรื่องนี้ไหม ?" เมนดี้ กล่าว

การหลุดโผบัลลงดอร์ของ เมนดี้ ทำให้นักเตะแอฟริกันหลายคนไม่พอใจ คาลิดู คูลิบาลี่ กองหลังชาวเซเนกัล ของ นาโปลี ก็บ่นแนวประชดประชันกับเรื่องนี้ว่า เหมือนกับนักเตะแอฟริกันต้องพยายามเป็น 2 เท่าหากเทียบกับคนอื่น ๆ เพื่อให้มีสิทธิ์ได้รับการยอมรับบ้าง เช่นเดียวกับ ซาดิโอ มาเน่ เพื่อนร่วมชาติเดียวกับคูลิบาลี่ผู้เล่นให้ ลิเวอร์พูล ที่ถึงขั้นบอกว่านี่เป็นการตัดสินที่เขารับไม่ได้อย่างแท้จริง 

ตอนนี้สิ่งที่จะตอบได้คือ "อนาคต" เท่านั้น … โม ซาลาห์ กำลังทำทุกอย่างให้ดูง่ายดายเหมือนกับที่ ลิโอเนล เมสซี่ เคยทำ เขากำลังประสบความสำเร็จทั้งในผลงานส่วนตัวและกับต้นสังกัดอย่าง ลิเวอร์พูล นอกจากนี้เรื่องภาพลักษณ์นอกสนามก็ชัดเจนว่าเป็นแข้งแถวหน้า มีชื่อปรากฎบนหน้าสื่อตลอดเวลาไม่แพ้นักเตะระดับโลกคนอื่น ๆ เลย 

หากฤดูกาล 2021-22 หรือถัดไปจากนี้ ลิเวอร์พูล ได้แชมป์ และซาลาห์ยังคงทำผลงานได้โดดเด่นแบบที่เป็นอยู่ เราจะได้คำตอบที่ชัดเจนมากขึ้นว่านักเตะแอฟริกันต้องโดดเด่นขนาดไหนเพื่อคว้าบัลลงดอร์ หรือถ้ามีการพลิกล็อกแบบค้านสายตาอีกครั้ง ทกฤษฎีบัลลงดอร์หวยล็อกของ เวอาห์ ก็อาจจะถูกเอามาพูดถึงอีกครั้ง ... จนกว่าจะมีนักเตะแอฟริกันคนที่ 2 ที่ได้รางวัลนี้ไปครอง 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook