เมื่อชาติต้องการฮีโร่ : วันที่กีฬามวยปล้ำฟื้นฟูหัวใจคนญี่ปุ่น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
หากกล่าวถึงบาดแผลที่ชาวญี่ปุ่นต้องแบกรับด้วยความเจ็บปวดที่สุด อาจเป็นการจบลงในฐานะผู้พ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง และนั่นเป็นสิ่งที่ทำร้ายหัวใจชาวญี่ปุ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่สหรัฐอเมริกาก้าวเข้ามายึดครองและปฏิรูปประเทศแห่งนี้
หลังจากนั้นญี่ปุ่นก็พัฒนาเป็นประเทศที่ล้ำหน้าและทันสมัยมากขึ้น แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือจิตวิญญาณของความเป็นนักสู้ของชาวญี่ปุ่น เมื่อรอบตัวเต็มไปด้วยอิทธิพลของชาติตะวันตก แล้วใครกันล่ะที่จะก้าวเข้ามาแล้วบอกชาวญี่ปุ่นว่า พวกเขายังคงเหลือความภาคภูมิใจในประเทศแห่งนี้อยู่
Main Stand จะพาคุณย้อนไปยังวันที่ชาวญี่ปุ่นฟื้นฟูจิตใจของตัวเองด้วย “กีฬามวยปล้ำ” เมื่อการต่อสู้ที่มีการกำหนดผลการแข่งขันล่วงหน้ากลายมาเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการสร้างฮีโร่ของชาติ และเรียกความภาคภูมิใจในฐานะชาวญี่ปุ่นให้กลับคืนมาอีกครั้ง
บาดแผลที่ญี่ปุ่นต้องแบกรับ
ย้อนกลับไปยังวันที่ 2 กันยายน 1945 มีเหตุการณ์สำคัญหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงโลกทั้งใบเกิดขึ้น นั่นคือการลงตราสารยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตรของจักรวรรดิญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นจุดสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในทวีปเอเชียอย่างเป็นทางการ และนำความสงบสุขกลับคืนสู่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอีกครั้ง
ผู้คนทั่วโลกอาจยิ้มด้วยความดีใจที่สงครามอันเลวร้ายสิ้นสุดลง แต่สำหรับชาวญี่ปุ่นมันเป็นจุดเริ่มต้นของฝันร้ายที่ยังดำเนินต่อไป เริ่มจากสภาพบ้านเมืองที่ยับเยินจากภัยสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ จนทั้งสองเมืองราบเป็นหน้ากลองและมีผู้เสียชีวิตจากภัยนิวเคลียร์มากกว่า 2 แสนราย
แต่สิ่งที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นเจ็บปวดมากกว่าการถูกทิ้งระเบิด คือ “การยึดครองญี่ปุ่น” (Occupation of Japan) ด้วยการส่งกองกำลังทหารเข้ามาปกครองประเทศญี่ปุ่นโดยมหาอำนาจจากโลกตะวันตก ตามแผนการฟื้นฟูประเทศญี่ปุ่นของฝ่ายสัมพันธมิตร นี่ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์กว่า 2,000 ปีของญี่ปุ่นที่ดินแดนแห่งนี้จะต้องถูกปกครองโดยชาวต่างชาติ
ประเทศที่ทำหน้าที่เป็นหัวหอกในการปฏิรูปญี่ปุ่น คือ สหรัฐอเมริกา พี่ใหญ่ของฝั่งสัมพันธมิตรซึ่งถือเป็นศัตรูหลักของญี่ปุ่นตลอดสงครามโลกครั้งที่สอง สิ่งแรกที่พวกเขาทำกับดินแดนแห่งนี้คือการเปลี่ยนญี่ปุ่นจากเดิมที่ปกครองประเทศด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย ส่วนพระจักรพรรดิที่แต่เดิมคือตำแหน่งอันมีอำนาจสูงสุด บัดนี้ได้กลายเป็นหุ่นเชิดที่ถูกแขวนเอาไว้โดยสหรัฐอเมริกา เพราะอำนาจการบริหารประเทศทั้งหมดอยู่ในมือของชาวตะวันตก
กล่าวตามตรงทางด้านสหรัฐอเมริกามีความตั้งใจจะพัฒนาประเทศญี่ปุ่นให้มีความเจริญและทันสมัยทัดเทียมกับชาติตะวันตก ทำให้มีการนำแนวทางพัฒนาประเทศ “นิวดีล” (New Deal) ของแฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ เข้ามาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาญี่ปุ่น ส่งผลให้ชาติที่พ่ายแพ้สงครามอย่างย่อยยับกลับมามีสภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและมีสังคมที่แข็งแรงได้อีกครั้ง
อย่างไรก็ตามการพัฒนาประเทศญี่ปุ่นโดยสหรัฐอเมริกาเริ่มต้นอย่างจริงจังในปี 1947 ซึ่งถูกมองเป็นช่วงที่สองของการยึดครองญี่ปุ่น เพราะในช่วงแรกของการยึดครองนั้น สหรัฐอเมริกาตั้งใจเข้ามาควบคุมประเทศนี้เพื่อให้แน่ใจว่า “ญี่ปุ่นจะไม่เป็นภัยต่อชาติตะวันตกอีกต่อไป” ทางหนึ่งมันจึงถูกมองว่า นี่เป็นการเข้ามาลงโทษญี่ปุ่นโดยสหรัฐอเมริกาจากสิ่งที่พวกเขาทำไว้ในสงครามโลกครั้งที่สอง
กองกำลังทหารที่เคยเป็นความภูมิใจของคนทั้งชาติถูกสั่งให้ปลดประจำการทั้งหมด, ศาสนาชินโตที่เคยเป็นศูนย์ยึดเหนี่ยวจิตใจชาวญี่ปุ่นโดนถอดถอนออกจากการเป็นศาสนาประจำชาติ เพราะถูกมองว่าสั่งสมแนวคิดคลั่งชาติ (ultra-nationalism), เกิดการกวาดล้างผู้สนับสนุนจักรวรรดิญี่ปุ่นให้ก่อสงครามกับสหรัฐอเมริกา, ตัดสินโทษอาชญากรสงครามทั้งหมด และสำคัญที่สุดคือการประกาศสละอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของจักรพรรดิฮิโรฮิโตะที่ชาวญี่ปุ่นเชื่อกันว่าสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้า สู่อำนาจที่ไม่แตกต่างจากประชาชนทั่วไป
หากมองย้อนกลับไปด้วยสายตาของคนยุคปัจจุบัน การเข้ามาปฏิรูปญี่ปุ่นของสหรัฐอเมริกาย่อมเป็นเรื่องดีกว่าจะปล่อยให้ประเทศตกอยู่ภายใต้แนวคิดคลั่งชาติและอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่เราต้องไม่ลืมว่าประเทศที่ทิ้งระเบิดใส่ญี่ปุ่นคือสหรัฐอเมริกาและการที่วันหนึ่งชาวญี่ปุ่นจำนวนมากที่ไร้บ้านและกำลังอดยากกลับต้องมาต่อแถวรับอาหารบริจาคจากอดีตศัตรู ย่อมเป็นการหมิ่นศักดิ์ศรีของชาติที่ครั้งหนึ่งเคยเชื่อว่าพวกเขาคือชาติพันธุ์อันดับหนึ่งของเอเชีย
เมื่อบวกกับปัญหาการข่มขืนผู้หญิงญี่ปุ่นโดยทหารชาวตะวันตกและการสร้างระบบโสเภณีถูกกฎหมาย ซึ่งบีบบังคับให้หญิงญี่ปุ่นจำนวนมากเลือกเดินเส้นทางสายนี้เนื่องจากชีวิตที่ไม่มีทางเลือกหลังสงคราม กระแสต่อต้านสหรัฐอเมริกาจึงรุนแรงขึ้นในประเทศญี่ปุ่น แม้สหรัฐอเมริกาจะถอนกำลังออกจากพื้นที่และยุติการยึดครองญี่ปุ่นไปแล้วในปี 1952
ฮีโร่ของชาติที่ชาวญี่ปุ่นต้องการ
การต้องทนเห็นอดีตศัตรูอย่าง สหรัฐอเมริกา รับบทพระเอกผู้แสนดีเข้ามาปฏิรูปและช่วยเหลือประเทศให้ดีขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สิ่งเดียวที่ชาวญี่ปุ่นโหยหาและต้องการจะมองเห็นมากที่สุดในเวลานั้น จึงเป็นใครสักคนที่จะก้าวมาเป็นฮีโร่ของชาวญี่ปุ่นที่จะช่วยทวงคืนความภาคภูมิใจของชาติกลับคืนมาอีกครั้ง
ใครคนนั้นที่เรากำลังพูดถึง คือ ริคิโดะซัง (Rikidōzan) นักมวยปล้ำผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของวงการมวยปล้ำญี่ปุ่น และกลายเป็นนักกีฬาผู้เป็นฮีโร่ของชาวญี่ปุ่นทั้งประเทศ แม้ความจริงแล้วริคิโดะซังจะเป็นชาวเกาหลี (เกิดในยุคที่ญี่ปุ่นยึดครองเกาหลี) และไม่มีเชื้อสายชาวญี่ปุ่นเลยแม้แต่น้อย แต่สิ่งที่เขากำลังจะขีดเขียนไว้ในวงการมวยปล้ำ บวกกับความโหยหาฮีโร่ของชาติของชาวญี่ปุ่น จึงทำให้ ริคิโดะซัง หรือที่มีชื่อจริงว่า คิม ซินรัก ได้กลายเป็นนักกีฬาที่ชาวญี่ปุ่นรู้จักมากที่สุดจนถึงปัจจุบัน
ริคิโดะซัง เริ่มต้นเส้นทางของตนในฐานะนักมวยปล้ำเมื่อปี 1951 โดยก่อนหน้านั้นเขาถือเป็นนักซูโม่ที่มีฝีมือพอสมควร ก่อนจะเบนสายสู่วงการมวยปล้ำ ซึ่งในเวลานั้นมวยปลํ้าเป็นกีฬาต่อสู้น้องใหม่ที่กำลังพยายามทำตลาดในประเทศญี่ปุ่น จึงยังมีพื้นที่เปิดกว้างให้นักสู้หน้าใหม่ได้ก้าวเข้ามาแสดงฝีมือ ซึ่ง ริคิโดะซัง ตอบรับโอกาสนั้นด้วยการลงปล้ำกับ บ็อบบี้ เบิร์นส นักมวยปล้ำและบุคเกอร์ของ Mid-Pacific Promotions สมาคมมวยปล้ำจากสหรัฐอเมริกา
ทั้งที่เพิ่งจะขึ้นปล้ำเป็นแมตช์แรก แต่ ริคิโดะซัง ก็สามารถต่อสู้กับ บ็อบบี้ เบิร์นส ในแมตช์การปล้ำภายใต้กำหนดเวลา 10 นาทีได้ จนการแข่งขันจบลงด้วยผลเสมอ หลังจากนั้น ริคิโดะซัง จึงเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อตระเวนปล้ำมวยปล้ำ และยังได้เดินทางไปฝึกทักษะที่สหรัฐอเมริกา ก่อนที่ในปี 1953 ริคิโดะซังจะก่อตั้งสมาคม Japan Pro Wrestling Alliance สมาคมมวยปล้ำแห่งแรกของประเทศญี่ปุ่นได้สำเร็จ
เหตุผลที่ริคิโดะซังสามารถขีดเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้แก่วงการมวยปล้ำญี่ปุ่นได้ ทั้งที่ก้าวเท้าสู่วงการมวยปล้ำได้เพียง 2 ปีนั้นก็เป็นเพราะตัวเขาเข้าใจธรรมชาติของกีฬามวยปล้ำเป็นอย่างดี นั่นคือการ “ล็อกผลการแข่งขันล่วงหน้า” ซึ่งเป็นหนทางสำคัญที่ช่วยให้กีฬามวยปล้ำสามารถตอบโจทย์ความต้องการของชาวญี่ปุ่นในเวลานั้นแบบที่ไม่มีกีฬาไหนทำได้
กล่าวให้เข้าใจกันก่อนว่าเหตุผลที่มวยปล้ำกลายเป็นกีฬาต่อสู้เดียวในโลกที่มีการล็อกผลการแข่งขันล่วงหน้า เป็นเพราะ โปรโมเตอร์สังเกตเห็นว่า ผู้ชมชื่นชอบการต่อสู้ที่มีกำหนดผลการแข่งขันล่วงหน้า ซึ่งจะเปิดโอกาสให้การต่อสู้บนเวทีมีความสวยงามและสนุกสนานมากกว่าการต่อสู้แบบปกติทั่วไป (เพราะนักมวยปล้ำไม่ต้องสนใจผลแพ้-ชนะ) ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงเท่ากับว่า ผู้ชมเลือกจะตีตั๋วมาชมกีฬามวยปล้ำที่ล็อกผลการแข่งขันล่วงหน้ามากกว่ามาดูกีฬามวยปล้ำที่ต่อสู้กันจริง ๆ
ธรรมชาติของกีฬามวยปล้ำจึงเป็น “การตอบสนองความต้องการของผู้ชม” มาตั้งแต่ต้น และ ริคิโดะซัง ก็เข้าใจดีว่าชาวญี่ปุ่นในเวลานั้นกำลังต้องการอะไร ริคิโดะซัง จึงแต่งตั้งตัวเองเป็นนักมวยปล้ำหมายเลขหนึ่งของญี่ปุ่น ผู้ที่จะเดินหน้าปราบนักมวยปล้ำสหรัฐอเมริกาที่หาญกล้าเข้ามาท้าทายศักดิ์ศรีของชาวญี่ปุ่นถึงบ้านเกิดของพวกเขา
ยิ่ง ริคิโดะซัง ปราบนักมวยปล้ำจากสหรัฐอเมริกามากเท่าไหร่ ชื่อเสียงของเขาก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น เมื่อระบบการถ่ายทอดสดเริ่มต้นขึ้นในวงการโทรทัศน์ญี่ปุ่นเมื่อปี 1954 มวยปล้ำจึงกลายเป็นกีฬาที่ชาวญี่ปุ่นทั่วประเทศต้องการรับชมการถ่ายทอดสดเทียบเท่ากับ เบสบอล และ ซูโม่ ซึ่งถูกยกเป็นกีฬาประจำชาติไปแล้ว
ภาพของคนนับพันในกรุงโตเกียวที่มารวมตัวบนพื้นที่โล่งเพื่อรับชมริคิโดะซังขึ้นปล้ำผ่านโทรทัศน์เพียงเครื่องเดียวนั้น ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความนิยมในกีฬามวยปล้ำที่มีต่อชาวญี่ปุ่นในเวลานั้น และท่าคาราเต้ ช้อป ของริคิโดะซัง ก็กลายเป็นอาวุธที่ชาวญี่ปุ่นจดจำได้มากที่สุด เพราะมีนักมวยปล้ำชาวอเมริกันมากมายที่พ่ายแพ้แก่ฮีโร่ของชาวญี่ปุ่นด้วยท่าไม้ตายนี้
กีฬามวยปล้ำในประเทศญี่ปุ่นจึงก้าวสู่จุดสูงสุด เมื่อ ริคิโดะซัง คว้าแชมป์ NWA International มาครองได้สำเร็จในปี 1958 จากชัยชนะเหนือ ลู เทซ (Lou Thesz) นักมวยปล้ำที่ชาวญี่ปุ่นเรียกกันว่า “พระเจ้าของวงการมวยปล้ำ” ซึ่งเบื้องหลังแมตช์การปล้ำครั้งนี้ ลู เทซ ตัดสินใจเลือกให้ริคิโดะซังเป็นฝ่ายคว้าชัยชนะและคว้าแชมป์ในบ้านเกิด เพราะมองว่านี่คือการตัดสินใจที่จะทำให้ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ทั้งคู่
การต่อสู้ของ ริคิโดะซัง กับ ลู เทซ ในช่วงปี 1957-58 ถือเป็นจุดสูงสุดของกีฬามวยปล้ำในประเทศญี่ปุ่น เพราะแมตช์ที่ทั้งสองต่อสู้กัน ก่อนผลการแข่งขันจบลงด้วยผลเสมอ 60 นาที เมื่อปี 1957 สร้างเรตติ้งการถ่ายทอดสดบนจอโทรทัศน์ด้วยตัวเลข 87.0 (คนละแมตช์กับที่ริคิโดะซังได้แชมป์) ซึ่งริคิโดะซังยังคงเรตติ้งอันน่าเหลือเชื่อนี้เอาไว้ จนกระทั่งบิ๊กแมตช์สุดท้ายของเขาที่พบกับ เดอะ เดสทรอยเยอร์ ซึ่งทำเรตติ้งได้ 67.0
การเดินทางของริคิโดะซังต้องจบลงอย่างน่าเสียดายในปี 1963 เนื่องจากการถูกแทงโดยสมาชิกของแก๊งยากูซ่าในไนท์คลับ ส่งผลให้เขาเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 39 ปี เหลือทิ้งไว้เพียงชื่อเสียงและมรดกของเขาที่ยังคงถูกสืบทอดในวงการมวยปล้ำญี่ปุ่นจนถึงทุกวันนี้ ผ่านค่ายมวยปล้ำ All Japan Pro Wrestling และ New Japan Pro Wrestling ซึ่งถูกก่อตั้งโดยสองลูกศิษย์ของริคิโดะซัง อย่าง ไจแอนท์ บาบะ (Giant Baba) และ อันโตนิโอ อิโนกิ (Antonio Inoki) ตามลำดับ
ทุกวันนี้ประเทศญี่ปุ่นจึงเป็นตลาดของกีฬามวยปล้ำที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ซึ่งตลอดเส้นทางกว่า 70 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ที่ริคิโดะซังก้าวขึ้นสู่เวทีมวยปล้ำเป็นครั้งแรก กีฬามวยปล้ำในประเทศญี่ปุ่นก็ผ่านร้อนผ่านหนาวและผ่านความเปลี่ยนแปลงมามากมาย กว่าจะกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่กีฬามวยปล้ำได้รับความนิยมและยังคงเติบโตมากที่สุดในปัจจุบัน
ก้าวสำคัญที่ยังทำให้กีฬามวยปล้ำเดินหน้าต่อไปในประเทศญี่ปุ่น จึงเป็นก้าวแรกที่ ริคิโดะซัง รับบทบาทฮีโร่ของชาวญี่ปุ่น และเป็นบุคคลที่ชาวญี่ปุ่นโหยหานับตั้งแต่พวกเขาพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งคงจะไม่มีใคร กีฬาไหน หรือสื่อบันเทิงใดจะเติมเต็มได้หากไม่ใช่กีฬามวยปล้ำ กีฬาชนิดเดียวที่สามารถกำหนดผลการแข่งขันเพื่อตอบสนองความต้องการของคนดูได้
ริคิโดะซัง อาจไม่ใช่นักสู้ที่เก่งที่สุดแต่เป็นนักสู้ที่ชาวญี่ปุ่นต้องการมากที่สุด นี่คือสิ่งที่กีฬาฬามวยปล้ำได้ช่วยเหลือและฟื้นฟูจิตใจของชาวญี่ปุ่นหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ผ่านความภูมิใจของการได้เชิดชูนักสู้ผู้เป็นฮีโร่ของชาวญี่ปุ่นทั้งมวล