มาราธอนอวกาศ : เมื่อนักบินอวกาศ ได้ร่วมแข่งขันกีฬาบนโลกจากนอกโลก
อวกาศ และ กีฬา อาจเป็นสองเรื่องที่ดูไม่มีจุดเชื่อมโยงใด ๆ ถึงกันได้ ทว่าหากลองมองลงไปในรายละเอียดแล้ว ทั้งสองวงการต่างมีความเหมือนอยู่ในหลายด้าน แถมยังเป็นส่วนสำคัญของกันและกันมาแล้วอยู่หลายครั้ง
จากลูกกอล์ฟที่ถูกนำไปตีบนดวงจันทร์ สู่การออกแบบชุดว่ายน้ำที่ลดแรงต้านได้จนถูกเรียกเป็น “การโด๊ปทางเทคโนโลยี” มาจนถึงวันที่นักบินอวกาศผู้ทำงานอยู่นอกโลกเข้าร่วมแข่งวิ่งมาราธอนที่จัดขึ้นบนโลกจากสถานีอวกาศนานาชาติ ด้วยเพซและเวลาที่ไม่ได้ด้อยไปกว่านักวิ่งมืออาชีพเลยทีเดียว
Space Culture ประจำสัปดาห์นี้ จะพาไปเจาะลึกเรื่องราวเบื้องหลังของเหล่าคนแกร่งและอัจฉริยะ ผู้มีทั้งร่างกายที่แข็งแรงและมันสมองที่ปราดเปรื่องเหนือบุคคลทั่วไป กับการร่วมวิ่ง 42.125 กิโลเมตร จากความสูงมากกว่า 400 กิโลเมตรเหนือคนอื่น ว่าประสบการณ์ดังกล่าวนั้นเป็นอย่างไรบ้าง
ติดตามไปพร้อมกับ Main Stand ที่นี่ได้เลย
อาชีพที่รวมยอดคน
นักบินอวกาศ เป็นอาชีพในฝันของเด็กหลายคน กับการได้สวมชุดอวกาศสีขาว ทำงานอยู่ท่ามกลางดวงดาว หรือแม้แต่ออกไปสำรวจดินแดนใหม่ ๆ ที่อยู่ไกลออกไปจากโลกของเรา
แต่ในโลกความเป็นจริง นอกจากคุณจะต้องมีสัญชาติของประเทศนั้น ๆ แล้ว ข้อกำหนดเพื่อเป็นนักบินอวกาศนั้นก็มหาหินไม่น้อย ตั้งแต่ประวัติด้านการศึกษา ซึ่งควรมีระดับปริญญาโทในด้าน STEM (วิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) เป็นอย่างน้อย หรือไม่ก็ต้องเป็นนักบินผู้มีประสบการณ์หลายพันชั่วโมงบิน หรือเป็นทหารจากเหล่าทัพต่าง ๆ ซึ่งก็ควรมีความเชี่ยวชาญด้านการบินหรือการศึกษาอยู่พอสมควร เพื่อให้ถูกพิจารณาเลือกเข้ามารับการฝึกได้
เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะการไปอวกาศไม่ใช่เรื่องง่ายเลย คุณต้องเผชิญแรงมหาศาลระหว่างปล่อยและลงจอด รวมถึงความเสี่ยงระหว่างเดินทาง การอยู่นอกยานในอวกาศ หรือแม้แต่การทำงานแบบปกติก็อาจเป็นหายนะระหว่างอยู่นอกโลกได้ ดังนั้นแล้วคนที่ถูกคัดเลือกเข้ามาจะต้องมีความพร้อมทั้งด้านกายภาพ ความคิด สุขภาพจิต และองค์ความรู้เป็นอย่างสูง เพื่อรองรับกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
ยกตัวอย่างกรณีทั่วไป อย่างการอยู่อาศัยในอวกาศเป็นระยะเวลายาวนาน แค่ตั้งแต่หกเดือนขึ้นไปก็เพียงพอที่จะทำให้มวลกระดูกของเราสูญเสียไปจนเกิดอันตรายได้ เนื่องจากในสภาวะไร้น้ำหนัก กระดูกไม่จำเป็นต้องรองรับน้ำหนักร่างกายทั้งตัวจนแคลเซียมในกระดูกสลายตัวเข้าสู่เส้นเลือดแทน ทำให้ต้องมีการออกกำลังกาย 2-3 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อยทุกวัน เพื่อช่วยลดอัตราการสูญเสียมวลกระดูก
นอกจากเหตุผลข้างต้นแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่การออกกำลังกายมีส่วนช่วยได้เป็นอย่างมาก ที่กลายเป็นหนึ่งในภาระงานที่สำคัญและท้าทายที่สุดของนักบินอวกาศ นั่นคือการทำ “Spacewalk” ที่พวกเขาจะต้องใส่ชุดอวกาศสีขาวอันแสนโด่งดังแล้วออกไปอยู่ในอวกาศจริง ๆ เพื่อทำงาน ทดลอง ซ่อมบำรุง หรือจัดการภาระงานที่ได้รับมอบหมายมา
ชุดอวกาศแบบนี้ต้องมีออกซิเจน น้ำ และระบบยังชีพแบบปิดที่ใช้งานได้มากกว่า 8 ชั่วโมง ซึ่งต้องมีเกราะป้องกันเศษขยะอวกาศขนาดเล็กพุ่งชนอยู่รอบกาย พร้อมกับชั้นป้องกันที่ห่อหุ้มไว้อยู่ใต้ชั้นสีขาวอีกมากกว่า 13 ชั้น จนรวมเป็นน้ำหนักของชุดที่มีมากกว่า 145 กิโลกรัมเลยทีเดียว
แน่นอนว่าในสภาวะไร้น้ำหนัก ชุดเหล่านี้ไม่เป็นความท้าทายกับนักบินอวกาศเลย แต่การทำงานในพื้นที่แคบ ๆ ที่ต้องอาศัยการเดินทางด้วยมือเป็นหลัก (บนสถานีอวกาศนานาชาติ) ซึ่งมาพร้อมกับความกดดันและความเสี่ยงหลายอย่าง เป็นเวลาเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมงครึ่ง ก็จำต้องอาศัยความพร้อมในทุก ๆ ด้าน เพื่อลดโอกาสเกิดสิ่งไม่คาดฝันลงให้เหลือน้อยที่สุด
โดยปกติแล้วนักบินอวกาศต้องได้รับการฝึกแบบเข้มข้นในช่วงสองปีแรกที่ถูกคัดเลือกเข้ามา ทั้งการออกกำลังกาย ปรับสภาพร่างกายให้ฟิต และเตรียมองค์ความรู้ที่จำเป็นให้เพียบพร้อม ซึ่งเมื่อถูกมอบหมายภารกิจแล้ว พวกเขาจะได้รับการฝึกเพิ่มเติมอีกครั้งในช่วง 6 เดือนก่อนเดินทาง และต้องรักษาสภาพความฟิตของร่างกายตั้งแต่ก่อนออกเดินทาง จนถึงช่วงที่อยู่บนอวกาศแล้ว
ทีมแพทย์บนโลกจะคอยออกแบบคอร์สออกกำลังกายให้อยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ลู่วิ่ง เครื่องปั่นจักรยาน หรืออุปกรณ์จำลองการยกน้ำหนัก เพื่อให้เหมาะสมกับนักบินอวกาศแต่ละคนให้ได้มากที่สุด ซึ่งนั่นนำมาสู่การวิ่งมาราธอนจากบนอวกาศ ซึ่งเป็นการกระทำที่ท้าทายและน่าสนใจที่สุดครั้งหนึ่งจากบนอวกาศเลย
มาราธอนจากนอกโลก
ในปี 2007 ซันนี่ วิลเลียมส์ นักบินอวกาศของนาซา มีชื่อลงแข่งขันในรายการ บอสตัน มาราธอน ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องที่แปลกอะไรเลย หากไม่ใช่ว่าเจ้าตัวมีคิวขึ้นไปทำงานบนสถานีอวกาศนานาชาติอยู่ในตอนนั้น
Photo : runnersworld
ไม่รู้ว่าด้วยงานที่เข้ามาแบบทันด่วนในตอนนั้นหรือเป็นหนึ่งในความปรารถนาของเธออยู่แล้ว แต่นาซาก็ได้ให้ไฟเขียวกับการ “แข่งขันกีฬา” จากอวกาศเป็นครั้งแรกนี้
วิลเลียมส์ จะไม่ได้วิ่งไปมากลางอวกาศหรือวนไปกลับภายในตัวสถานี แต่เธอจะต้องถูกรัดสายไว้กับลู่วิ่งแบบพิเศษ ภายใต้การควบคุมความเร็ว และดูแลอัตราการเต้นของหัวใจอย่างเคร่งครัดโดยทีมแพทย์บนพื้นโลก พร้อมกับมีเพื่อนร่วมภารกิจคอยดูแลความปลอดภัยควบคู่ไปกับเป็นหน่วยเสบียงให้ในเวลาเดียวกัน
นอกจากความหฤโหดของระยะทางรวมในการวิ่งมาราธอนแล้ว วิลเลียมส์ ได้เปิดเผยถึงอีกหนึ่งอุปสรรคของการวิ่งนอกโลกไว้ว่า “เมื่อวิ่งไปได้ครึ่งทางเสื้อของฉันก็ชุ่มไปด้วยเหงื่อ และเมื่อไม่มีลมมาพัดมันออกไป เหงื่อก็ยังคงเกาะอยู่บนผิวและเสื้อของฉันอยู่อย่างนั้น” ซึ่งเหงื่อเหล่านี้ก็จะถูกดูดเข้าไปในระบบกรองอากาศของสถานี เพื่อนำมาบำบัดและนำมาใช้ดื่มได้อีกครั้ง (และแน่นอนว่าน้ำเหล่านี้สะอาดกว่าบนโลกหลายขั้นเลย)
Photo : runnersworld
แม้จะต้องวิ่งในสภาวะที่อาจไม่ได้อำนวยให้กับการวิ่งได้ขนาดนั้น แต่นักบินอวกาศหญิงวัย 42 ปี ก็สามารถเข้าเส้นชัยได้ด้วยเวลา 4 ชั่วโมง 23 นาที 10 วินาที ซึ่งแม้จะช้ากว่าเวลา 3 ชั่วโมง 29 นาที 57 วินาทีที่เธอทำไว้ได้บนโลกจนได้สิทธิ์ไปแข่งขัน (บอสตัน มาราธอน เป็นงานวิ่งมาราธอนระดับเมเจอร์รายการเดียวที่ผู้เข้าแข่งขันต้องทำเวลาให้ผ่านเกณฑ์เสียก่อนถึงจะได้เข้าแข่งขัน) แต่ก็เพียงพอต่อการสร้างประวัติศาสตร์เป็นมนุษย์คนแรกที่ได้ขึ้นไปวิ่งมาราธอนจากอวกาศ
อย่างไรก็ตาม วิลเลียมส์ ไม่ใช่คนเดียวที่ขึ้นไปวิ่งได้ในระยะทางไกลระดับนี้ เพราะเพียง 9 ปีให้หลัง ทิม พีค นักบินอวกาศจากสหราชอาณาจักร ก็ได้ตัดสินใจเข้าร่วมแข่งขัน ลอนดอน มาราธอน ในปี 2016 ด้วยลู่วิ่งรุ่นใหม่ของสถานีอวกาศนานาชาติด้วยเช่นกัน
ที่น่าสนใจคือ พีค เองก็เคยเข้าร่วมวิ่ง ลอนดอน มาราธอน บนพื้นโลกมาก่อนแล้วในปี 1999 โดยทำเวลาไว้ได้ที่ 3 ชั่วโมง 18 นาที 50 วินาที ซึ่งน่าเสียดายที่ทีมแพทย์ขององค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA ไม่อนุญาตให้เจ้าตัวทำลายสถิติเดิม ด้วยปัจจัยความเสี่ยงด้านสุขภาพที่อาจเป็นอันตรายกับนักบินอวกาศรายนี้ได้
และในวันที่ 24 เมษายน 2016 ทิม พีค ได้ออกสตาร์ทวิ่งไปพร้อมกับอีกหลายหมื่นคนบนพื้นโลก “ผมเปิดไอแพดประกอบเพื่อดูภาพการวิ่งบนถนนในกรุงลอนดอน ในขณะที่ตัวเองกำลังลอยอยู่สูงขึ้นมาจากพื้นราว 400 กิโลเมตร” ก่อนจะเข้าเส้นชัยด้วยเวลา 3 ชั่วโมง 35 นาที 21 วินาที ซึ่งเร็วพอที่จะถูกรองรับเข้าเป็นสถิติโลกของ กินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ด เพราะวิ่งได้เร็วกว่า ซันนี่ วิลเลียมส์ นั่นเอง
Photo : runnersworld
คำถามคือนอกจากเพื่อทำให้ร่างกายที่แข็งแรงและป้องกันการสูญเสียมวลกระดูกกับกล้ามเนื้อแล้ว นักบินอวกาศเหล่านี้วิ่งไปทำไม โดยเฉพาะกับการวิ่งมาราธอนที่พวกเขาสามารถรอกลับมาวิ่งบนโลกได้อยู่แล้วไม่ใช่หรือ
ซึ่งคำตอบของเรื่องนี้ก็มีแนวทางที่คล้ายกัน คือเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ในฐานะบุคคลที่ถูกมองว่าเป็นไอดอลของเด็กนับล้านทั่วทุกมุมโลก
วิลเลียมส์ ระบุว่า “ฉันอยากกระตุ้นให้เด็ก ๆ ออกกำลังกายให้เป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวัน และเป้าหมายสำคัญของการวิ่งมาราธอน คือฉันหวังว่าจะช่วยส่งข้อความนี้ออกไปได้ดีขึ้น” ส่วน พีค ได้ออกวิ่งเพื่อช่วยประชาสัมพันธ์กองทุน พรินซ์ ทรัสต์ ที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กวัย 11 ถึงผู้ใหญ่อายุ 30 ปี เข้าถึงโอกาสในการเริ่มต้นทำงานตามฝันที่ตนเองปรารถนา
Photo : Twitter: International Space Station
แน่นอนว่าทั้งสองคนได้กลับมาวิ่งมาราธอนอีกหลายครั้งบนผืนโลกของเรา ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายอีกมากมาย แต่การขึ้นไปวิ่งในระยะทาง 42.195 กิโลเมตร ในขณะที่ร่างกายต้องล่องลอยอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนักอยู่ในพื้นที่แคบแบบนี้ ก็เป็นการป่าวประกาศถึงศักยภาพของมนุษย์ที่พยายามควานหา และยืดขยายขีดจำกัดของร่างกายอยู่ตลอดเวลา
และไม่แน่ว่าในวันหนึ่ง มาราธอน อาจไม่ใช่การวิ่งที่จำกัดอยู่บนพื้นของดาวเคราะห์สีครามดวงนี้เพียงอย่างเดียวอีกแล้ว