ไขข้อสงสัย ทำไมฟุตบอลหญิงเอเชียถึงมีทีมระดับท็อปแค่ไม่กี่ทีม
ฟุตบอลหญิงชิงแชมป์เอเชีย 2022 กำลังจะเริ่มต้นการแข่งขันขึ้นในวันที่ 20 มกราคมนี้ ซึ่ง ทัพนักฟุตบอลหญิงไทย ถือเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันครั้งนี้เช่นกัน โดยทัพชบาแก้วนั้นจะเดินเข้าสู่การแข่งขันแห่งนี้อย่างทรงเกียรติในฐานะแชมป์เก่า 1 สมัย
เมื่อมองไปยังเพื่อนร่วมเกียรติยศเดียวกัน จะพบว่ามีเพียงไม่กี่ทีมที่เคยคว้าแชมป์ฟุตบอลหญิงเอเชีย และถ้าหากไม่นับทีมชาติไทยแล้ว บรรดาทีมที่คว้าแชมป์รายการนี้ล้วนมาจากเอเชียตะวันออกและโอเชียเนียทั้งสิ้น แถมทีมที่คว้าแชมป์รายการนี้มาครองได้ในช่วง 30 ปีหลังสุดมีเพียง 4 ชาติเท่านั้น
Main Stand จะพาไปไขข้อสงสัยว่าทำไมฟุตบอลหญิงเอเชียถึงมีทีมระดับท็อปแต่ไม่กี่ทีม กับคำตอบที่สะท้อนถึงประวัติศาสตร์, การเติบโต และข้อจำกัดที่เกิดขึ้นในวงการฟุตบอลหญิงเอเชีย
วางรากฐานบนเอเชียตะวันออก
หากต้องการทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เป็นไปของวงการฟุตบอลหญิงเอเชียในปัจจุบัน เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจประวัติศาสตร์และเรื่องราวของการแข่งขันที่สะท้อนภาพเกมลูกหนังหญิงในทวีปเอเชียกันก่อน นั่นคือเรื่องของ ฟุตบอลหญิงชิงแชมป์เอเชีย ที่ดำเนินการแข่งขันมาตั้งแต่ปี 1975
ย้อนกลับไปยังการแข่งขันฟุตบอลหญิงชิงแชมป์เอเชียที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในฮ่องกง ในช่วงเวลานั้นวงการฟุตบอลหญิงเอเชียเพิ่งจะอยู่ในช่วงตั้งไข่ และมีประเทศที่สนใจจะเข้าร่วมแข่งขันเพียงน้อยนิด ฝ่ายจัดการแข่งขันจึงใช้วิธีคัดเลือกทีมที่จะเข้ามาเตะในทัวร์นาเมนต์ด้วยการเชื้อเชิญบรรดาชาติที่สนใจ ซึ่งรวมไปถึงการชวนประเทศจากโซนโอเชียเนียเข้ามาแข่งขันด้วย เนื่องจากไม่สามารถหาทีมจากทวีปเอเชียได้มากพอ
Photo : thewomensgame
6 ทีมที่มีส่วนร่วมในฟุตบอลหญิงชิงแชมป์เอเชีย 1975 จึงได้แก่ นิวซีแลนด์, ออสเตรเลีย, ฮ่องกง, มาเลเซีย, สิงคโปร์ และไทย (แชมป์คือ นิวซีแลนด์) ซึ่งถ้าวิเคราะห์ลงไปในรายละเอียดของแต่ละทีมจะพบว่าทั้ง 6 ทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันจะมีส่วนร่วมหรือความเชื่อมโยงกับทีมในทัวร์นาเมนต์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
โดย นิวซีแลนด์ และ ออสเตรเลีย ถือเป็นสองชาติที่เป็นตัวแทนของฝั่งโอเชียเนีย (ขณะนั้นออสเตรเลียยังไม่เข้าร่วม AFC) ส่วน นิวซีแลนด์, ออสเตรเลีย และ ฮ่องกง ถือเป็นเขตการปกครองที่อยู่ภายใต้อำนาจของสหราชอาณาจักรด้วยกันทั้งหมด (ฮ่องกงกลับคืนสู่จีนในปี 1997) และอีกสามชาติมาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด ได้แก่ มาเลเซีย, สิงคโปร์ และ ไทย ซึ่งมาเลเซียและสิงคโปร์นั้นเคยเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักรมาก่อนเช่นกัน
จะสังเกตได้ว่าฟุตบอลหญิงในปี 1975 มีรากฐานและเติบโตมาจากประเทศในกลุ่ม "เอเชียหัวก้าวหน้า" ในช่วงเวลานั้นทั้งสิ้น เพราะมีถึง 5 ทีมจาก 6 ทีมที่จะลงแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ดังกล่าว ที่ได้รับอิทธิพลจากโลกตะวันตกผ่านการปกครองโดยสหราชอาณาจักร จึงทำให้การเปิดรับกีฬาฟุตบอลของเพศหญิงเป็นไปได้อย่างง่ายดาย ส่วนประเทศไทยในปี 1975 กำลังอยู่ในช่วงปฏิรูปประเทศให้มีความทันสมัย ผ่านนโยบายของนายกรัฐมนตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช
Photo : thewomensgame
เมื่อการแข่งขันฟุตบอลหญิงชิงแชมป์เอเชียสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีในปี 1975 การแข่งขันครั้งต่อมาในปี 1977 จึงมีผู้เข้าร่วมแข่งขันเป็นทีมจากทวีปเอเชียทั้งหมด โดยมีสามทีมที่เป็นหน้าใหม่ในทัวร์นาเมนต์นี้ ได้แก่ ญี่ปุ่น, ไต้หวัน และ อินโดนีเซีย ส่งผลให้ทีมที่มีส่วนร่วมกับทัวร์นาเมนต์นี้เป็นทีมจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด
ถัดมาในการแข่งขันฟุตบอลหญิงชิงแชมป์เอเชียปี 1979 ความนิยมในเกมฟุตบอลหญิงยังแพร่กระจายต่อเนื่องสู่ภูมิภาคอื่น โดยคราวนี้เป็นชาติจากเอเชียใต้ที่ส่งทีมเข้าร่วมแข่งขันเป็นครั้งแรก ได้แก่ อินเดีย (ส่งเข้าแข่งขัน 2 ทีม คือทีมอินเดียเหนือและทีมอินเดียใต้) จึงทำให้นี่เป็นครั้งแรกที่ฟุตบอลหญิงชิงแชมป์เอเชียมีทีมจากสามภูมิภาคเข้าร่วมแข่งขัน (น่าสังเกตว่าอินเดียก็เคยตกเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักรเช่นเดียวกัน)
นับแต่นั้นเป็นต้นมาฟุตบอลหญิงในทวีปเอเชียก็ได้ขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องอยู่ใน 3 ภูมิภาคของทวีป คือ เอเชียตะวันออก, เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากการแข่งขันรายการนี้ยังคงคัดเลือกทีมเข้าสู่ทัวร์นาเมนต์ด้วยการเชื้อเชิญและความสมัครใจของแต่ละชาติ ความจริงที่ปรากฏออกมาจึงยืนยันได้ว่า ประเทศในทวีปเอเชียภูมิภาคนอกเหนือจาก 3 ภูมิภาคที่เรากล่าวไปไม่ได้ให้ความสนใจกับฟุตบอลหญิงเลย
ฟุตบอลหญิงชิงแชมป์เอเชียจึงถือเป็นพื้นที่แสดงความยิ่งใหญ่ในโลกกีฬาของประเทศแถบเอเชียฝั่งตะวันออกโดยเฉพาะ เห็นได้ชัดจากการเข้ามามีส่วนร่วมของเกาหลีเหนือในปี 1989 ซึ่งการแข่งขันอย่างเข้มข้นตรงนี้ส่งผลให้ชาติในฝั่งเอเชียตะวันออกพัฒนาทีมฟุตบอลหญิงของพวกเขาอย่างจริงจังกว่าทีมจากภูมิภาคอื่น เช่น เอเชียกลาง หรือ ตะวันออกกลาง ที่กว่าจะให้ความสนใจฟุตบอลหญิงพวกเขาก็ถูกทิ้งห่างไปไกลแล้ว
Photo : facebook.com/North-Korea-womens-national-football-team
ก่อนการแข่งขันฟุตบอลหญิงชิงแชมป์เอเชีย 2022 ทุกทีมที่สามารถคว้าแชมป์รายการนี้ได้ต่างอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด (ไม่นับชาติจากโอเชียเนีย) ได้แก่ จีน, เกาหลีเหนือ, ไต้หวัน, ญี่ปุ่น และ ไทย ซึ่งถ้าตัดความสำเร็จของทีมชาติไทยในปี 1983 ที่เราเป็นเจ้าภาพออกไป ถ้วยแชมป์ของรายการฟุตบอลหญิงชิงแชมป์เอเชียจะไปอยู่กับเอเชียตะวันออกทั้งหมด โดยเฉพาะ จีน ที่คว้าแชมป์มาได้ 7 สมัยรวด ในช่วงปี 1986-1999 ยิ่งหากนับช่วงเวลาที่จีนสลับกันคว้าแชมป์กับเกาหลีเหนือ ทั้งสองชาติก็จะผูกขาดความยิ่งใหญ่ร่วมกันนาน 22 ปีเลยทีเดียว (1986-2008)
หลักศาสนาขัดขวางการเติบโต
เห็นได้ชัดว่าการก้าวสู่ความยิ่งใหญ่ของจีน เกาหลีเหนือ หรือ ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นแชมป์สองสมัยซ้อนและเป็นแชมป์ทีมล่าสุดของรายการฟุตบอลหญิงชิงแชมป์เอเชีย มาจากการที่ทั้งหมดต่างเป็นประเทศมหาอำนาจในเอเชียที่มีทรัพยากรมหาศาลพอที่จะพัฒนาวงการกีฬาในชาติได้อย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตามมหาอำนาจในทวีปเอเชียไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเท่านั้น เพราะบรรดาประเทศในแถบตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะเป็น ซาอุดีอาระเบีย, อิหร่าน, กาตาร์, หรือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ต่างเป็นชาติเศรษฐีน้ำมันที่ให้ความสนใจกับกีฬาฟุตบอล โดยเฉพาะ ซาอุดีอาระเบีย และ อิหร่าน ที่เคยผ่านการเข้าร่วมฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายมาแล้วหลายครั้ง ส่วน กาตาร์ ก็กำลังจะรับบทบาทเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 ส่วน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก็ลงทุนในธุรกิจฟุตบอลกับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และทีมในเครือซิตี้ ฟุตบอล กรุ๊ป
แต่เมื่อหันกลับมามองการพัฒนาวงการฟุตบอลหญิงในตะวันออกกลาง กลับกลายเป็นว่าชาติทั้งหมดที่กล่าวมาไม่เคยมีประเทศไหนพาทีมผ่านเข้าสู่การแข่งขันฟุตบอลหญิงชิงแชมป์เอเชียได้เลย โดยก่อนหน้าการแข่งขันที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2022 มีชาติจากตะวันออกกลางเพียงทีมเดียวเท่านั้นที่สามารถผ่านเข้าสู่ฟุตบอลหญิงชิงแชมป์เอเชียรอบสุดท้าย นั่นคือ จอร์แดน ที่เข้าร่วมการแข่งขันครั้งแรกเมื่อปี 2014 ก่อนจะรับบทเจ้าภาพการแข่งขันในปี 2018
สัญญาณที่ดีของวงการฟุตบอลหญิงในตะวันออกกลางเพิ่งเริ่มต้นขึ้นในฟุตบอลหญิงชิงแชมป์เอเชีย 2022 เมื่อมหาอำนาจอย่าง อิหร่าน สามารถพาทีมเข้าสู่การแข่งขันรอบสุดท้ายได้สำเร็จ ซึ่งเมื่อเทียบกับทีมระดับเดียวกันในฝั่งตะวันออกอย่าง ญี่ปุ่น ที่พาตัวเองเข้าสู่รายการนี้มาตั้งแต่ปี 1977 คงต้องบอกว่าฟุตบอลหญิงในตะวันออกกลางต้องใช้เวลานานถึง 45 ปี กว่าจะไล่ตามก้าวแรกของเอเชียตะวันออกได้ทัน
ทำไมฟุตบอลหญิงในตะวันออกกลางถึงใช้เวลาเดินทางนานขนาดนั้น ? คำตอบที่ง่ายและชัดเจนที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องของ "ศาสนา" เป็นที่รู้กันดีว่าประเทศในตะวันออกกลางเลือกใช้กฎหมายที่ผ่านการตีความจากหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งหลายครั้งที่กฎหมายเหล่านี้มีส่วนในการสร้างความไม่เท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคมตะวันออกกลาง และเรื่องของผู้หญิงกับกีฬาก็ถือเป็นเรื่องหนึ่งในนั้น
แม้แต่ประเทศที่เพิ่งสร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวตะวันออกกลางอย่าง อิหร่าน ที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับฟุตบอลหญิงชิงแชมป์เอเชีย 2022 ได้สำเร็จ พวกเขาก็ไม่ได้หัวก้าวหน้ากว่าเพื่อนบ้านเท่าใดนัก เพราะนับตั้งแต่ประเทศผ่านการปฏิวัติอิหร่านในปี 1979 ส่งผลให้เกิดการกวาดล้างแนวคิดที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกแล้วนำหลักศาสนาอิสลามเข้ามาแทนที่
รัฐบาลอิหร่านออกกฎหมายห้ามไม่ให้ผู้หญิงเข้าชมกีฬาฟุตบอลในสนามแข่งขันได้อีกต่อไป โดยรัฐบาลกล่าวอ้างว่าเป็นการทำเพื่อไม่ให้ผู้หญิงได้เห็นพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมของเพศชาย ซึ่งกฎหมายฉบับนี้นำมาสู่เสียงต่อต้านเป็นอย่างมากจากนานาชาติหรือแม้แต่ประชาชนบางส่วนในประเทศเอง จนนำมาสู่การสร้างภาพยนตร์เรื่อง Offside (2006) ที่เล่าเรื่องของผู้หญิงที่อยากเดินทางเข้าชมทีมชาติอิหร่านลงเล่นฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก โดยตัวหนังได้รับรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน ในปี 2006
ความไม่เท่าเทียมทางเพศเหล่านี้ส่งผลให้การพัฒนาวงการฟุตบอลหญิงไม่เคยอยู่ในสายตาของชาติตะวันออกกลาง กว่าอิหร่านจะเริ่มต้นตั้งลีกฟุตบอลหญิงของตัวเองได้สำเร็จก็ต้องรอถึงปี 2007 ซึ่งถ้ามองไปยังชาติมหาอำนาจในเอเชียตะวันออกอย่าง จีน และ ญี่ปุ่น ที่มีลีกฟุตบอลหญิงมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980s จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ชาติจากตะวันออกกลางจะแทรกตัวเข้ามาเป็นมหาอำนาจในวงการฟุตบอลหญิงเอเชียได้ (ส่วนผู้หญิงอิหร่านสามารถเข้าชมฟุตบอลในสนามเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา)
นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ความสำเร็จในวงการฟุตบอลหญิงเอเชียถูกผูกขาดอยู่กับทีมในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เพราะไม่เพียงแต่ชาติฝั่งตะวันออกจะทุ่มเงินไปในการพัฒนาทีมเต็มอย่างที่ แต่ทีมฝั่งตะวันออกกลางเองก็มองข้ามวงการฟุตบอลหญิงมานานเกินไป เนื่องจากแนวคิดทางการเมืองของประเทศที่ปราศจากนโยบายหัวก้าวหน้า ซึ่งถ้ามองย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของฟุตบอลหญิงในเอเชียจริง ๆ ก็จะพบว่าการเปิดรับแนวคิดหัวก้าวหน้าสำคัญอย่างมากต่อการเติบโตของฟุตบอลหญิงในเอเชีย
ทุกวันนี้บางประเทศในตะวันออกกลางยังคงไม่ยอมรับการเล่นกีฬาของเพศหญิง เช่น อัฟกานิสถาน หลังขบวนการตาลีบันกลับมายึดครองประเทศอีกครั้งเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการกวาดล้างผู้หญิงในวงการกีฬาอย่างหนัก นำมาสู่การลี้ภัยสู่ประเทศออสเตรเลียของชาวอัฟกานิสถานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวงการฟุตบอลหญิงในประเทศมากกว่า 75 คน
เงินรางวัลไม่ดึงดูดให้เกิดการแข่งขัน
หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ความสำเร็จในวงการฟุตบอลหญิงเอเชียอยู่กับแค่ไม่กี่ประเทศมาจากความแตกต่างของเงินรางวัลที่มากเกินไปของวงการฟุตบอลชายกับฟุตบอลหญิง ส่งผลให้หลายประเทศเลือกที่จะไม่พัฒนาฟุตบอลหญิงอย่างจริงจังแล้วทุ่มงบประมาณทั้งหมดไปกับวงการฟุตบอลชายแทน
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคงหนีไม่พ้น ทีมชาติไทย หรือ ทัพชบาแก้ว ที่เคยประสบความสำเร็จเป็นเจ้าเอเชียมาตั้งแต่ปี 1983 แต่หลังจากความสำเร็จในครั้งนั้นกลับไม่มีการต่อยอดหรือทุ่มงบประมาณเพื่อรักษาความแข็งแกร่งของฟุตบอลหญิงทีมชาติไทยแต่อย่างใด ซึ่งในทางกลับกันฟุตบอลชายได้มีการทุ่มงบประมาณเพื่อพัฒนาทีมอยู่หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น ยุคดรีมทีม หรือ ยุคปัจจุบันที่ได้ นวลพรรณ ล่ำซำ เข้ามานั่งแท่นผู้จัดการฟุตบอลชายทีมชาติไทย
การโยกย้ายมาให้ความสำคัญกับวงการฟุตบอลชายเป็นหลักของ นวลพรรณ ล่ำซำ แม้ "มาดามแป้ง" จะเคยนั่งแท่นผู้จัดการฟุตบอลหญิงทีมชาติไทยมาก่อนก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือผิดปกติแต่อย่างใด เพราะถ้ามองไปยังรางวัลตอบแทนของฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย 2 รายการจะพบว่าการแข่งขันฟุตบอลหญิงจะได้ค่าตอบแทนที่น้อยจนน่าตกใจ และมันไม่ตอบแทนเงินลงทุนที่ทุ่มลงไปเลย
สำหรับฟุตบอลชาย ในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย หรือ เอเชียนคัพ เมื่อปี 2019 ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทั้ง 24 ทีมที่ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายจะการันตีเงินรางวัล 2 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 6.6 ล้านบาท และเงินรางวัลจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยตำแหน่งแชมป์ของทัวร์นาเมนต์ คือ กาตาร์ จะได้รับเงินรางวัล 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 166 ล้านบาท และเมื่อรวมเงินรางวัลทั้งหมด เอเชียนคัพ 2019 จะมีเงินรางวัลสูงถึง 14.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 500 ล้านบาท
Photo : the-afc.com
ส่วนการแข่งขันฟุตบอลหญิงชิงแชมป์เอเชียที่กำลังจะเริ่มต้นในปี 2022 นี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ทางผู้จัดการแข่งขันจะมอบเงินรางวัลแก่ทีมที่เข้าร่วม เพื่อเป็น "แรงจูงใจ" ในการแข่งขัน ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 47 ปี ที่ฟุตบอลรายการนี้จะมีเงินรางวัลจากการแข่งขัน ซึ่งจะมอบเงินรางวัลให้กับ 4 ทีมที่ผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศเท่านั้น
อีก 8 ทีมที่เหลือจะได้แค่ส่วนของค่าชดเชยการเดินทางและไม่ได้รับเงินรางวัลการันตีอะไรแม้จะมีส่วนกับการแข่งขันรายการนี้ ซึ่งเมื่อรวมเงินรางวัลทั้งหมดแล้ว ฟุตบอลหญิงชิงแชมป์เอเชีย 2022 มีเงินรางวัลทั้งสิ้น 1.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 60 ล้านบาท โดยทีมที่คว้าแชมป์จะได้รับเงินรางวัลเกินครึ่งของทั้งหมดคือ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 33 ล้านบาท
Photo : the-afc.com
ความแตกต่างตรงนี้คงพอจะทำให้เห็นภาพแล้วว่า ทำไมหลายชาติในเอเชียจึงไม่ยอมทุ่มงบประมาณในกับการพัฒนาวงการฟุตบอลหญิงในประเทศของตน เพราะในเมื่อเงินรางวัลในรายการฟุตบอลหญิงชิงแชมป์เอเชียกระจุกอยู่กับทีมที่ประสบความสำเร็จในระดับสูงสุดเท่านั้น การทุ่มเงินลงไปแล้วไม่สามารถแข่งขันกับขั้วอำนาจเดิมได้ จะเป็นการลงทุนที่เข้าข่ายได้ไม่คุ้มเสี่ยง และด้วยเหตุนี้ความสำเร็จในวงการฟุตบอลหญิงเอเชียจึงจำกัดอยู่กับทีมหน้าเดิม ๆ มาตลอด 20 ปี
ท้ายที่สุดแล้วคงต้องยอมรับว่าโลกฟุตบอลยุคปัจจุบันมีเรื่องของเงินมาเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก หากฝ่ายจัดการแข่งขันยังไม่สามารถสร้างรางวัลของการแข่งขันฟุตบอลหญิงให้น่าดึงดูดใจเท่าฝั่งฟุตบอลชายได้ ความสำเร็จของวงการฟุตบอลหญิงในเอเชียก็คงกระจุกอยู่กับมหาอำนาจหน้าเดิม ๆ ต่อไปอีกนาน