คนทรยศ! ชาวเน็ตจีนบูลลี่ "นาธาน เฉิน" สเก็ตลีลาแชมป์โอลิมปิกชาวอเมริกัน (ภาพ)
กลายเป็นกระแสดราม่าในโลกโซเชียลอีกแล้ว สำหรับเรื่องราวของนักกีฬาในการแข่งขันโอลิมปิก ฤดูหนาว ปักกิ่ง 2022 ซึ่งคราวนี้เกี่ยวข้องกับ 2 ชาติมหาอำนาจอย่าง จีน กับ สหรัฐอเมริกา เช่นเคย
โดยก่อนหน้านี้ มี 2 นักกีฬาหญิงที่เคยเป็นประเด็นเรื่องการเลือกรับใช้ชาติมาแล้ว นั่นก็คือ จู อี้ และ ไอลีน กู่ ซึ่งทั้งคู่ต่างก็มีเรื่องราวที่คล้ายคลึงกัน แต่กลับได้ผลตอบรับจากแฟนๆ แตกต่างกันไม่น้อย
- หวั่นคิดสั้น! จีนออกโรงป้อง "จู อี้" นางฟ้าสเก็ตลีลาหลังโดนโซเชียลรุมบูลลี่
- เฉิดฉายที่บ้านแม่! "ไอลีน กู่" สกีสาวผู้ทิ้งสัญชาติอเมริกันคว้าแชมป์โอลิมปิกสำเร็จ
ล่าสุด เป็นทีของ นาธาน เฉิน นักสเก็ตลีลาชาวอเมริกันบ้าง เมื่อเขาถูกชาวจีนฝั่งอนุรักษ์นิยมในโลกออนไลน์ตราหน้าว่า "คนทรยศ" โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเจ้าตัวคว้าเหรียญทองโอลิมปิกให้กับทีมชาติสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ
โดย เฉิน วัย 22 ปี เกิดและเติบโตที่สหรัฐอเมริกา ในครอบครัวที่คุณพ่อและคุณแม่เป็นคนจีนแท้ทั้งคู่ แต่ย้ายมาทำงานในแดนลุงแซมตั้งแต่วัยหนุ่มสาว ด้วยอาชีพนักวิจัยทางวิทยาศาสตร์และล่ามทางการแพทย์ตามลำดับ
ผลงานล่าสุดในปักกิ่ง 2022 เฉิน คว้ารางวัลเหรียญทองในการแข่งขันสเก็ตลีลาประเภทเดี่ยว และช่วยทีมชาติสหรัฐอเมริกาคว้าเหรียญเงินประเภททีมมาได้ หลังจากเจ้าตัวสร้างชื่อด้วยการรั้งอันดับ 1 ของโลกในประเภทเดี่ยวมาตั้งแต่ปี 2018
แน่นอนว่าด้วยความสำเร็จครั้งนี้ที่ดันมาเกิดขึ้นบนแผ่นดินเกิดของพ่อแม่ บวกกับหน้าตาและนามสกุลก็จีน 100% ขนาดนี้ ทำให้แฟนกีฬาแดนมังกรไม่ค่อยพอใจในตัวสเก็ตลีลาหนุ่มคนนี้นัก และเริ่มมีการบูลลี่ด้วยคำว่า "คนทรยศ" ในโซเชียลมีเดีย
ตัวของ เฉิน เองก็พอรู้สถานการณ์ดังกล่าวดี แต่ก็ยังซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตนเอง เริ่มจากการที่เขาปฏิเสธการให้สัมภาษณ์เป็นภาษาจีน โดยให้เหตุผลว่า พูดไม่ถนัด รวมถึงเคยสนับสนุน อีวาน เบตส์ นักสเก็ตลีลาชาวอเมริกันที่เคยวิจารณ์รัฐบาลจีนถึงการปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์ด้วย
ย้อนไปดูจุดเริ่มต้นของเรื่องราว "คนทรยศ" ในสายตาแฟนกีฬาจีนบางกลุ่ม เกิดขึ้นเมื่อปี 2018 เฉิน แข่งขันโดยใช้เพลงจากภาพยนตร์เรื่อง Mao's Last Dancer ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับนักเต้นชาวจีนที่เดินทางหลบหนีไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่สหรัฐอเมริกา ทำให้เขาถูกวิจารณ์อย่างรุนแรง แต่ครั้งนั้น เฉิน บอกว่า เขาไม่เคยรู้รายละเอียดเรื่องนี้มาก่อน รู้เพียงแค่ว่าดนตรีไพเราะมาก จึงนำมาใช้ประกอบการแข่งขันเท่านั้น
อย่างไรก็ดี เฉิน ก็ยังมีชาวจีนรุ่นใหม่ให้การสนับสนุน และมองว่านี่คือการแข่งขันกีฬาเท่านั้น รวมไปถึง เฉิน ไม่ใช่คนทรยศอย่างแน่นอน เพราะเขาไม่เคยเบียดเบียนทรัพยากรใดๆ ในประเทศจีนเพื่อการดำรงชีวิตเลย เขาคือชาวอเมริกันโดยกำเนิด เกิดและโตที่นั่น ก็ถูกแล้วที่ต้องรับใช้อเมริกานั่นเอง
อัลบั้มภาพ 40 ภาพ