ไล่ต้นตอปัญหา : ทำไมโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ถึงมีกระแสบอยคอตหนักจากทั่วโลก

ไล่ต้นตอปัญหา : ทำไมโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ถึงมีกระแสบอยคอตหนักจากทั่วโลก

ไล่ต้นตอปัญหา : ทำไมโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ถึงมีกระแสบอยคอตหนักจากทั่วโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หนึ่งในการแข่งขันสำคัญของโลกกีฬาอย่าง มหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ และสำหรับประเทศที่คุ้นชินกับกีฬาเมืองหนาว นี่คืออีกหนึ่งมหกรรมกีฬากีฬาที่คนจำนวนมากรอคอย

แต่แทนที่โอลิมปิกฤดูหนาวจะเริ่มต้นด้วยเรื่องราวน่าประทับใจ การแข่งขันที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน กลับถูกควํ่าบาตรทางการทูตจากหลายชาติ เช่น สหรัฐอเมริกา หรือ สหราชอาณาจักร เนื่องจากปัญหามากมายที่รุมเร้าเจ้าภาพอยู่ในขณะนี้

Main Stand จะพาไล่ย้อนต้นตอของปัญหาที่ทำให้โอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ถูกบอยคอตจากหลายประเทศ ซึ่งชวนให้เราเข้าใจถึงความสัมพันธ์ทางการทูตอันตรึงเครียด รวมถึงปัญหาสิทธิมนุษยชน

โอลิมปิกฤดูหนาวในเมืองที่ไม่มีหิมะ

ย้อนกลับไปยังปี 2014 ที่มีการคัดเลือกเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ได้มีการถอนตัวครั้งใหญ่ของบรรดาเมืองที่สนใจจะเข้ามารับหน้าที่จัดการแข่งขัน เนื่องจากต้องใช้งบประมาณในการจัดที่มหาศาลซึ่งสวนทางกับเงินสนับสนุน ส่งผลให้เหลือผู้ท้าชิงเพียงสองรายเท่านั้น คือ นครอัลมาตี ประเทศคาซัคสถาน และกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน

เมื่อเห็นตัวเลือกที่เหลืออยู่ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า กรุงปักกิ่ง ย่อมได้รับตำแหน่งเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 มาอย่างไม่ยากเย็น เนื่องจากอิทธิพลและทรัพยากรของประเทศจีนที่มีมากกว่าคาซัคสถานไม่รู้กี่เท่า และจากประสบการณ์ที่เคยจัดโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 มาก่อน ดูเหมือนว่ากรุงปักกิ่งควรจะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวที่ดีได้ ... แต่ความจริงกลับไปเป็นเช่นนั้น

การเลือกกรุงปักกิ่งเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ถูกวิจารณ์อย่างมากจากชาวโลก รวมถึงประชาชนชาวจีนด้วยกันเอง เพราะทุกคนรู้กันดีว่า กรุงปักกิ่ง คือเมืองที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ ซึ่งมีสภาพอากาศแห้งเป็นอย่างมาก และในเมืองที่แทบจะไม่มีความชื้นในอากาศอย่างกรุงปักกิ่งจะส่งผลให้เมืองหลวงของประเทศจีนแทบไม่มีหิมะตกตลอดทั้งปี

"A Winter Olympics in a City Without Snow" หรือ โอลิมปิกฤดูหนาวในเมืองที่ปราศจากหิมะ จึงกลายเป็นคำวิจารณ์ที่แพร่กระจายไปทั่วโลกกีฬา เพราะเรื่องนี้จะสร้างปัญหาต่อการจัดการแข่งขันกีฬาฤดูหนาว เช่น การแข่งขันสกีซึ่งต้องพึ่งพาภูเขาที่มีหิมะจริง ๆ ซึ่งทางฝ่ายจัดการแข่งขันก็ยืนยันว่า เรื่องนี้จะไม่สร้างปัญหาต่อโอลิมปิกฤดูหนาวที่จะเกิดขึ้นแต่อย่างใด เพราะพวกเขาจะใช้ "หิมะเทียม" ซึ่งผลิตขึ้นจากทรัพยากรน้ำขึ้นมาทดแทน

แต่ถึงจะสร้างหิมะเทียมขึ้นมาได้จริง การจัดการแข่งขันสกีในโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ยังสร้างความกังวลต่อหลายฝ่ายถึงเรื่องผลกระทบต่อธรรมชาติ เนื่องจากสถานที่แข่งขันในครั้งนี้คือเขตอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งชาติซงซาน ซึ่งถือเป็นเขตนิเวศวิทยาที่เต็มไปด้วยพืชพรรณที่สำคัญมากมาย

โดยเฉพาะพันธุ์กล้วยไม้ที่ถูกจำแนกอยู่ในหมวดต้องอนุรักษ์ขั้นสูงสุด ซึ่งการเข้าไปปรับเปลี่ยนระบบนิเวศด้วยการเทหิมะจำนวนมหาศาล รวมถึงมนุษย์หลายร้อยชีวิตที่ต้องเข้าไปทำงานในพื้นที่แห่งนั้น ย่อมส่งผลกระทบต่อสัตว์และพืชในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งชาติซงซาน ซึ่งแต่เดิมเคยมีกฎหมายมากมายเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติเหล่านี้

ไม่เพียงแค่เรื่องหิมะที่เป็นปัญหา เพราะสถานที่จัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนี้ยังสร้างความกังวลในเรื่องของงบประมาณการเดินทาง เนื่องจากการแข่งขันทั้งหมดไม่ได้จัดขึ้นภายในกรุงปักกิ่ง แต่ยังรวมไปถึงเมืองโดยรอบที่อยู่ห่างออกไปถึง 40 ไมล์ หรือเกือบ 65 กิโลเมตร ซึ่งทางฝ่ายจัดแข่งขันได้ยืนยันว่า เรื่องนี้ก็จะไม่เป็นปัญหา เพราะพวกเขามีโครงข่ายรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งจะช่วยให้การเดินทางของนักกีฬาสามารถทำได้โดยไม่เปลืองงบประมาณ

มหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 จึงถูกวิจารณ์ตั้งแต่ต้นว่า เป็นการแข่งขันกีฬาที่มีขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของบรรดาชนชั้นนำในประเทศจีน เนื่องจากกีฬาฤดูหนาวถือเป็นกีฬาที่ถูกจำกัดไว้เพียงในหมู่คนรวยของประเทศ เพราะต้นทุนในการเล่นกีฬาฤดูหนาวค่อนข้างสูง ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ในจีนยังมีฐานะยากจน และกีฬาฤดูหนาวถือเป็นเรื่องที่ไกลตัวพวกเขามาก

ความต้องการที่จะจัดโอลิมปิกฤดูหนาวในกรุงปักกิ่งโดยลงมือเปลี่ยนทุกอย่างรอบตัว จึงถูกมองว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของชนชั้นนำในประเทศจีนที่มักทำอะไรตามใจตัวเองโดยไม่ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ด้วยกัน หรือ ธรรมชาติรอบตัว ซึ่งนำมาสู่มหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปราศจากความผูกพันกับคนในประเทศ และสร้างผลกระทบเป็นลูกโซ่ขนาดใหญ่

ถูกประณามจากปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชน

การจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ของกรุงปักกิ่ง อาจเป็นการลงมือสร้างอีเวนต์ที่ละเลยผลกระทบกับประชาชนและธรรมชาติในพื้นที่ แต่ปัญหาเหล่านั้นนำมาเพียงเสียงวิจารณ์ตั้งต้น เพราะเหตุผลที่นำมาสู่การบอยคอตที่แท้จริงของนานาชาติ เกิดขึ้นจากการกระทำของประเทศจีนต่อผู้คนต่างรัฐ-ต่างชาติพันธุ์ ซึ่งนำมาสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

นับตั้งแต่ปี 2015 ที่กรุงปักกิ่งได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาว ในขณะนั้นประเทศจีนมีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนกับชาวทิเบต ชาติพันธุ์ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณเทือกเขาทิเบตทางตะวันตกของประเทศจีน ซึ่งยืนยันว่าพวกเขายังคงเป็นรัฐอิสระและไม่ขึ้นกับประเทศจีน แม้ชาวทิเบตรวมถึงอาณาเขตของพวกเขาจะถูกรุกราน ก่อนผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีนโดยกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์มาตั้งแต่ปี 1951 ซึ่งตลอดเวลานับแต่นั้นจีนก็มีประวัติในการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวทิเบตมาอย่างยาวนาน

กระแสต่อต้านบทบาทเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ของจีน อันเนื่องจากปัญหาสิทธิมนุษยชนกลับมารุนแรงอีกครั้งในปี 2019 หลังมีการเปิดเผยเอกสารซินเจียง (Xinjiang papers) เอกสารกว่า 400 หน้าของรัฐบาลจีนที่บันทึกนโยบายที่เกี่ยวข้องกับชาวมุสลิมอุยกูร์ ชาติพันธุ์ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตซินเจียงทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน โดยเอกสารซินเจียงถูกเปิดเผยโดยสองนักข่าวจาก The New York Times ซึ่งขนานนามเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า "หนึ่งในการเปิดเผยเอกสารรัฐบาลจากพรรคคอมมิวนิสต์ที่สำคัญที่สุดในรอบหลายทศวรรษ"

เนื้อหาในเอกสารซินเจียงได้กล่าวถึงนโยบายและมาตการต่อชาวอุยกูร์ซึ่งเต็มไปด้วยการลงมือเพื่อละเมิดสิทธิมนุษยชน เริ่มต้นจากบันทึกคำพูดของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่กล่าวถึงการตอบโต้ชาวอุยกูร์ในแง่ของการก่อการร้าย และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่จีนจัดการกับชาวอุยกูร์โดยไร้ความปราณี รวมถึงเปรียบเทียบชาวอุยกูร์ส่วนหนึ่งที่เป็นชาวมุสลิมหัวรุนแรงว่า "แพร่ระบาดการติดเชื้อไม่ต่างจากไวรัส"

นอกจากนี้เอกสารซินเจียงยังเปิดเผยนโยบายหลายอย่างที่รัฐบาลจีนต้องการลงมือกับชาวอุยกูร์ ไม่ว่าจะเป็น การควบคุมประชากร, การสอดแนมและเฝ้าระวังพฤติกรรม และการบังคับใช้มาตรการสอบสวนภายในโดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ซึ่งจะเปิดทางให้เกิดการคุมขังชาวอุยกูร์เป็นจำนวนมาก

เอกสารซินเจียงถือเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่เปิดทางให้บรรดามหาอำนาจแห่งโลกตะวันตก ทั้ง สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, แคนาดา และ ออสเตรเลีย ออกมาประณามการกระทำของประเทศจีนต่อชาวอุยกูร์ เพราะก่อนหน้าเอกสารนี้จะถูกเปิดเผยในปี 2019 ประเทศจีนก็ดำเนินการทำลายล้างชาติพันธุ์อุยกูร์มาตั้งแต่ปี 2014 แล้ว ซึ่งจนถึงปัจจุบันนี้มีชาวอุยกูร์ราวหนึ่งล้านคนที่เคยถูกคุมขังหรือตกเป็นเหยื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐบาลจีน

การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวอุยกูร์ไม่ใช่ปัญหาเดียวของประเทศจีนที่ระเบิดขึ้นมาในปี 2019 เพราะก่อนที่ประเด็นร้อนทางฝั่งตะวันตกจะถูกประณามจากทั่วโลก จีนก็ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งใหญ่ต่อผู้คนในเกาะทางตะวันออกจากเหตุการณ์การประท้วงในฮ่องกง หรือ การประท้วงต่อต้านร่างรัฐบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดนฮ่องกง เนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าวจะเพิ่มอำนาจของรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่บนเกาะฮ่องกง ที่ทำให้ชาวฮ่องกงต้องตกอยู่ภายใต้กฎหมายจากรัฐอื่น ซึ่งจะส่งผลต่ออำนาจอธิปไตยของชาวฮ่องกง

ประชาชนชาวฮ่องกงกว่า 2 แสนรายที่ออกมาชุมนุมถูกปราบปรามอย่างรุนแรงโดยรัฐบาลฮ่องกง (ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลจีน) ทำให้จำนวนผู้ชุมนุมเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านคน ก่อนนำมาสู่การปะทะกันระหว่างฝ่ายรัฐและผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บมากกว่า 2,600 คน และมีผู้ถูกจับกุมไปมากกว่าหนึ่งหมื่นคน

ลำพังการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งต่อชาวอุยกูร์และชาวฮ่องกงก็ทำลายภาพลักษณ์ของจีนในสายตานานาชาติพออยู่แล้ว แต่จีนกลับเลือกจะทำให้ทุกอย่างแย่ลงด้วยนโยบายทางการทูตในรูปแบบที่เรียกว่า "Wolf warrior diplomacy" ซึ่งล้อเลียนมาจากหนังแอ็กชั่นเรื่อง Rambo ที่มีชื่อว่า "Wolf Warrior" กล่าวคือเป็นนโยบายการทูตแบบยอมหักไม่ยอมงอ ตาต่อตาฟันต่อฟัน และเชิดชูกระแสชาตินิยมจีนเป็นสำคัญ

ปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมาจึงส่งผลให้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนมากมาย เรียกร้องให้ทุกประเทศไม่ส่งผู้นำระดับสูงเข้าร่วมมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 เพื่อเป็นการประท้วงการกระทำของประเทศจีน อย่างไรก็ตามองค์กรสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ปฏิเสธที่จะคว่ำบาตรโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนี้อย่างเต็มรูปแบบ เนื่องจากต้องการให้นักกีฬาใช้พื้นที่ตรงนี้แสดงออกทางการเมือง เพื่อเรียกร้องให้จีนเลิกละเมิดมนุษยชนผู้อื่นเสียที

สหรัฐอเมริกา = หัวหอกของการคว่ำบาตร

เมื่อข้อเรียกร้องของบรรดาองค์กรสิทธิมนุษยชนเริ่มเสียงดังมากขึ้น บรรดาชาติมหาอำนาจฝั่งตะวันตกจึงเริ่มตอบรับกับแนวคิดการบอยคอตมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 โดยชาติที่เป็นหัวหอกในการดำเนินงานการคว่ำบาตรครั้งนี้คือสหรัฐอเมริกา ซึ่งตั้งท่าจะเล่นงานจีนในเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2018 หลัง มาร์โก รูบิโอ (Marco Rubio) ผู้แทนจากพรรครีพับลิกันสอบถามถึงความเหมาะสมของจีนในฐานะเจ้าภาพเนื่องจากปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน

นับจากวันนั้นบรรดาผู้แทนรัฐสภาของพรรครีพับลิกัน (ซึ่งมีนโยบายต่อต้านจีนอยู่แล้ว) ต่างพาเหรดออกมาโจมตีจีนกับบทบาทเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวอย่างเต็มที่ เริ่มจากเดือนกันยายน ปี 2020 ริค สกอตต์ (Rick Scott) ผู้แทนจากรัฐฟลอริดา เรียกร้องให้คณะกรรมการโอลิมปิกสากลพิจารณาเมืองที่จะเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ใหม่อีกครั้ง ตามด้วย จอห์น คัตโก (John Katko) ผู้แทนสหรัฐอเมริกาในการประชุมคองเกรส ที่โจมตีจีนว่าเป็นประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการล้างเผ่าพันธุ์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021

ไม้ตายของพรรครีพับลิกันถูกปล่อยออกมาในเดือนมีนาคม ปี 2021 เมื่อ มิตต์ รอมนีย์ (Mitt Romney) อดีตผู้สมัครประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2012 ตัดสินใจออกมาเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการทูต เพื่อเป็นการบอยคอตมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยยืนยันว่าเขาสนับสนุนให้นักกีฬาชาวอเมริกันเข้าแข่งขัน แต่จะไม่มีผู้ชมหรือตัวแทนระดับสูงชาวอเมริกันมีส่วนร่วมกับโอลิมปิกฤดูหนาวรอบนี้

ทั้งนี้ข้อเรียกร้องของบรรดาผู้แทนพรรครีพับลิกันไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา (ในระยะแรก) เพราะนับตั้งแต่ โจ ไบเดน (Joe Biden) ผู้แทนจากพรรคเดโมแครต ก้าวเท้าเข้าสู่ทำเนียบขาวในฐานะประธานาธิบดีคนใหม่ เมื่อเดือนมกราคม ปี 2021 เขาก็พยายามจะสานสัมพันธ์กับจีนให้กลับมาดีอีกครั้ง ส่งผลให้เดือนเมษายน ปี 2021 ตัวแทนของไบเดนยืนยันว่าสหรัฐอเมริกาไม่มีแผนจะบอยคอตมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามเมื่อประชาชนชาวอเมริกัน 49 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่าปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนของจีนสมควรทำให้พวกเขาไม่มีสิทธิเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาว ส่งผลให้ไบเดนประกาศว่าเขาจะทบทวนการตัดสินใจเรื่องคว่ำบาตรมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 อีกครั้ง ในเดือนพฤศจิกายน 2021

ก่อนที่วันที่ 6 ธันวาคม 2021 เจน ซากี (Jen Psaki) โฆษกประจำทำเนียบขาวก็ยืนยันว่า ไบเดน ตัดสินใจให้สหรัฐอเมริกาทำการคว่ำบาตรทางการทูตมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 และพาราลิมปิกฤดูหนาว 2022 ซึ่งจะส่งผลให้เจ้าหน้าที่ราชการของสหรัฐอเมริกาทุกคนไม่สามารถเข้าชมการแข่งขันสองรายการดังกล่าว โดยชี้ว่าการปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์คือเหตุผลสำคัญของการคว่ำบาตร แต่ทั้งนี้สหรัฐอเมริกาปฏิเสธจะคว่ำบาตรเต็มรูปแบบ เนื่องจากจะไม่เป็นธรรมต่อนักกีฬาที่ฝึกฝนมาตลอดทั้งปี

นอกจากสหรัฐอเมริกายังมีอีกหลายชาติที่ตัดสินใจคว่ำบาตรทางการทูตต่อโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น ออสเตรเลีย, แคนาดา, สหราชอาณาจักร, เดนมาร์ก, เนเธอร์แลนด์ และ ญี่ปุ่น โดยทั้งหมดจะไม่ส่งเจ้าหน้าที่ราชการของประเทศเข้าไปมีส่วนร่วมกับโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนี้

ขณะเดียวกันทางประเทศจีนได้ออกมาตอบโต้ชาติที่เลือกใช้มาตรการคว่ำบาตรทางการทูต โดยในเดือนธันวาคม ปี 2021 จีนกล่าวว่า พวกเขาไม่มีแนวคิดที่จะเชิญนักการเมืองชาวตะวันตกเข้ามามีส่วนร่วมกับการแข่งขันเนื่องจากพฤติกรรมปลุกปั่นการคว่ำบาตร จีนยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่าการคว่ำบาตรครั้งนี้เกิดจากสาเหตุอันเป็นข่าวลือกับคำโกหกทั้งสิ้น และชาติที่คว่ำบาตรทางการทูตพวกเขาสักวันจะต้องชดใช้ในสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้

การคว่ำบาตรทางการทูตของหลายชาติต่อมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 จึงเป็นความต้องการที่จะส่งสัญญาณต่อรัฐบาลจีนถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของพวกเขาซึ่งยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน และเมื่อรวมกับความกังวลเรื่องการจัดการแข่งขัน รวมถึงปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมที่กล่าวไปข้างต้น จึงเห็นได้ชัดว่าทุกชาติไม่หวาดกลัวต่อการโต้ตอบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตโดยประเทศจีนแต่อย่างใด

โอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนี้จึงเป็นการแข่งขันที่น่าจับตาอย่างมาก ไม่ใช่แค่ในแง่ของเกมกีฬา แต่รวมไปถึงแง่ของเกมการเมืองระหว่างประเทศที่กำลังดำเนินไปอย่างคุกรุ่นที่เริ่มต้นจากการคว่ำบาตรความสัมพันธ์ทางการทูตในมหกรรมกีฬานานาชาติ ซึ่งมีเจตนาที่แท้จริงไว้เพื่อรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและสันติภาพของโลกใบนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook