พี่นี่โคตรจะไอดอล : นักเตะสมัครเล่นจากทีมนอกลีกเปลี่ยนไปแค่ไหนเมื่อ "วาร์ดี้" เขย่าโลก
หากเราจะเล่าเรื่องการไต่เต้าของหนุ่มที่ทำงานในโรงงานไปพร้อม ๆ กับเตะฟุตบอลในลีกสมัครเล่นสู่การเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีก ที่มีรายได้สัปดาห์ละ 150,000 ปอนด์ และเป็นหนึ่งในกองหน้าที่ได้รับการขนานนามว่าดีที่สุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ... ทั้งหมดนี้มันคงไม่น่าสนใจนักเพราะเรื่องราวของเขาถูกเล่าขานซ้ำ ๆ กันมาหลายรอบแล้ว
ทั้งหมดคือสิ่งที่ผ่านไปแล้วและได้ประจักษ์แก่สายตาทุกคน แต่สิ่งที่น่าสนใจคือสิ่งที่รออยู่ต่างหาก เพราะการแจ้งเกิดของ เจมี่ วาร์ดี้ ไม่ได้หมายถึงความสำเร็จของเขากับ เลสเตอร์ ซิตี้ เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
เราจะมาดูกันว่าในวันที่กองหน้าจากลีกสมัครเล่นที่ได้เงินค่าจ้างตกสัปดาห์ละ 900 บาท ที่มี เจมี่ วาร์ดี้ เป็นต้นแบบ พวกเขาฮึกเหิม ห้าวหาญ และกล้าฝันขึ้นขนาดไหน
นี่คือเรื่องราวการสร้างอิมแพ็กต์ครั้งใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงลีกสมัครเล่นไปอย่างสิ้นเชิง ติดตามเรื่องราวกับ Main Stand ได้ที่นี่เลย
ลีกของนักล่าฝัน
อังกฤษ คือประเทศที่มีลีกฟุตบอลถึง 21 ขั้น (อ้างอิงจาก Wikipedia) เหตุผลที่เยอะแยะมากมายขนาดนี้ไม่มีอะไรมากไปกว่าเพราะคนในประเทศนี้บ้าฟุตบอลกันเข้าเส้น ฟุตบอลเป็นได้ทุกอย่าง มองได้จากทุกมุม และเกี่ยวข้องกับทุก ๆ ชนชั้นอาชีพไม่ว่าคุณจะเป็นลูกคนรวยหรือชนชั้นแรงงาน
ในระดับลีกท้องถิ่น หรือดิวิชั่น 12 ลงมานั้น แต่ละสโมสรอาจจะไม่ได้จริงจังหรือต้องการเลื่อนชั้นไปสร้างความยิ่งใหญ่อะไร พวกเขาต้องการให้มันเป็นศูนย์รวมกิจกรรมของชุมชมที่ทำให้ครอบครัวได้ใช้เวลาวันหยุดสุดสัปดาห์ร่วมกันเท่านั้น แต่สำหรับลีกที่สูงกว่านั้นความคาดหวังและความต้องการจะเพิ่มขึ้นทันที
เมื่อสโมสรหรือนักเตะมาอยู่ในระดับที่อีกแค่ก้าวหรือสองก้าวพวกเขาก็จะขยับระดับก้าวขึ้นมาเป็นนักเตะอาชีพและได้ลงเล่นในลีกที่สมาคมฟุตบอลอังกฤษ หรือ เอฟเอ มอบเงินสนับสนุนให้ รวมถึงโอกาสที่ทีมระดับสูง ๆ จะเห็นฟอร์ม เพื่อสามารถก้าวไปสู่อีกขั้นของชีวิตนักฟุตบอล...
แน่นอนว่าการทำตามที่ วาร์ดี้ ทำได้นั้นแทบไม่มีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำอีกเลย แต่เมื่อเห็นโอกาสอยู่ข้างหน้าก็ไม่มีทางที่พวกเขาจะไม่พยายามลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้นเพื่อให้ได้มันมา
วาร์ดี้ เล่าเสมอว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับเขามันคล้าย ๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับนักเตะหนุ่มอีกหลายคนในประเทศอังกฤษ ... ลงเล่นเป็นนักเตะระดับเยาวชนของสโมสรดัง ๆ ตั้งความฝันที่จะไปให้ถึงทีมชุดใหญ่ แต่สุดท้ายก็ฝันค้างเพราะการแข่งขันที่สูง หลายคนโดนคัดออกจากระบบและต้องเลือกเอาเองว่าจะเอาอย่างไรกับชีวิตต่อจากนี้
ทางแรกที่ง่ายที่สุดคือการออกไปหางานทำหาเงินเลี้ยงชีพและลืมความฝันเรื่องฟุตบอลซะ ... สองคือพยายามเดินสายไปคัดตัวกับสโมสรอื่น ๆ ที่อาจเห็นค่า แต่ในข้อนี้ก็มีข้อจำกัดเรื่องรายได้ เพราะอย่าลืมว่าตลอดช่วงเวลาที่พวกเขาเหล่านี้ต้องหิ้วสตั๊ดเดินทางไปคัดตัวตามที่ต่าง ๆ พวกเขาจะไม่มีค่าตัวหรือไม่ได้ค่าเหนื่อยจากความพยายามนี้เลยจนกว่ามันจะสำเร็จ และต่อให้สำเร็จมันก็อาจได้รับเงินตอบแทนเพียงน้อยนิดเท่านั้น
ทางสุดท้ายคือไม่ต้องเลือกอะไรเพียงอย่างเดียว โดยคว้ามันไปพร้อมกันทั้งสองอย่างแล้วทุ่มให้สุดตัวแบบที่ เจมี่ วาร์ดี้ ทำ เขาถูกคัดตัวออกจากทีมเยาวชนของ เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ และเริ่มทำ 2 สิ่งไปพร้อม ๆ กัน นั่นคือการทำงานหาเงินเลี้ยงชีพไปพร้อมกับพยายามกลับมาเป็นนักฟุตบอลอีกครั้งให้ได้
วาร์ดี้ ทำงานที่โรงงานผลิตขาเทียม และหลังจากเลิกงานเขาจะไปซ้อมฟุตบอลเอง ลองคิดดูว่าการทำงานราว ๆ 8-10 ชั่วโมงนั้นเหนื่อยขนาดไหน ทั้ง ๆ ที่หลังเลิกงานก็ควรจะพักผ่อน แต่ วาร์ดี้ กลับหิ้วสตั๊ดไปตามสนามสาธารณะแล้วฝึกซ้อมในแบบของตัวเอง จนสุดท้ายเขาก็มีทีมมาจ้างเขา นั่นคือทีม Stocksbridge Park Steels และจ่ายเงินให้แบบนัดต่อนัด
นั่นคือความเหนื่อยในแบบที่ใครหลายคนนึกภาพไม่ออก แต่นั่นก็เป็นทางเดียวที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของตัวเองและครอบครัวได้ ... ดังนั้นมีนักสู้อีกมากมายในฟุตบอลนอกลีกที่ได้ค่าจ้างเพียงน้อยนิด และการที่ วาร์ดี้ ทำสำเร็จ จึงเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กับพวกเขาอย่างแท้จริง
สตีฟ วอลช์ อดีตแมวมองของ เลสเตอร์ ซิตี้ ผู้ที่พบ วาร์ดี้ จากทีม ฟลีตวูด ทาวน์ ก็ยืนยันตรงกันว่านักเตะนอกลีกไม่ใช่คนที่ไม่มีฝีมือ แต่พวกเขาแค่ไม่ได้โอกาสเหมือนกับ วาร์ดี้ เท่านั้นเอง
"มีนักเตะหลายคนที่ควรถูกพูดถึง แฮร์รี่ อาร์เตอร์ จาก บอร์นมัธ ก็ใช้เวลากับทีมนอกลีกอย่าง เวิร์กกิ้ง อยู่หลายปี, ลี ทอมลิน อดีตกองกลางของ คาร์ดิฟฟ์ ก็ใช้เวลานอกลีกกับ รัชเดน แอนด์ ไดมอนด์ ... คริส สมอลลิ่ง ก็เหมือนกัน เขามาในเส้นทางเดียวกับ วาร์ดี้ นั่นแหละ แต่เขาอาจจะไม่ได้เด่นเท่าเพราะเขาเป็นกองหลัง ซึ่งเป็นที่สนใจได้ยากกว่าเท่านั้นเอง" สตีฟ วอลช์ กล่าว
นอกจากรายชื่อที่กล่าวมาแล้ว ยังมีนักเตะนอกลีกอีกหลายคนที่เดินทางพาตัวเองมาถึงพรีเมียร์ลีกได้ บางคนมาตั้งแต่อายุน้อย ๆ บางคนกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ก็เข้าวัยเลข 3 ไปแล้ว แต่ที่สุดแล้วพวกเขาล้วนแต่ยืนยันตรงกันว่าเกมนอกลีกไม่ใช่เกมฟุตบอลหมู ๆ แบบที่ใครคิด และเหนือกว่าเรื่องการพัฒนาฝีเท้าก็คือเรื่องการรับมือกับความผิดหวังและการยอมทนเหนื่อยเพื่อก้าวสำคัญของชีวิต
พรีเมียร์ลีก เคยทำซีรีส์เกี่ยวกับนักเตะนอกลีกหลังจากที่ วาร์ดี้ โด่งดัง ทุกคนก็บอกตรงกันว่าสิ่งที่ วาร์ดี้ บอกนั้นเป็นเรื่องจริง นี่คือลีกสมัครเล่นที่ได้ค่าเหนื่อยน้อย แต่มันเป็นที่ที่มีพรสวรรค์ซ่อนอยู่ ๆ นักเตะนอกลีกอาจจะไม่ใช่วันเดอร์คิดหรือเด็กอัจฉริยะ แต่สิ่งพวกเขามีแตกต่างกับนักเตะหนุ่มในทีมอคาเดมีของสโมสรใหญ่ ๆ คือ พวกเขามีประสบการณ์ล้นเหลือ โดนเตะมาจนชิน เจอเกมหนัก ๆ ที่ไม่มีความปราณีมาแล้ว ซึ่งพวกเขาเหล่านี้เรียกเกมฟุตบอลนอกลีกว่า "เกมของลูกผู้ชาย" โดยซีรีส์ดังกล่าวมีนักเตะนอกลีกที่สร้างชื่อเสียงในภายหลังออกมาพูดถึงเรื่องนี้หลายคนทั้ง จอร์แดน พิคฟอร์ด, เกล็น เมอร์เรย์, แดน เบิร์น และ เบน ฟอสเตอร์ เป็นต้น
การตีแผ่ชีวิตนักสู้นอกลีกสู่ชายผู้พิชิตพรีเมียร์ลีกของ วาร์ดี้ ไม่ได้จุดไฟให้กับนักเตะนอกลีกรุ่นหลังเท่านั้น แต่มันยังทำให้ผู้คนที่คิดว่าฟุตบอลนอกลีกเป็นแค่ฟุตบอลฆ่าเวลา เน้นฮาไม่เน้นไม่เน้นฝีมือต้องมองพวกเขาใหม่อีกครั้ง ... ฟุตบอลนอกลีกกลับมาเป็นลีกที่มีค่าในสายตาของใครหลายคน นี่คือลีกที่สร้าง เจมี่ วาร์ดี้ ขึ้นมา จุดนี้เองที่ทำให้สโมสรต่าง ๆ สนใจนักเตะจากลีกนี้มากขึ้นไปด้วย
มองเห็นค่าฟุตบอลนอกลีก
หลังจาก วาร์ดี้ พา เลสเตอร์ คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกด้วยฟอร์มที่ยิงระเบิดเถิดเทิงจนตัวเขาโด่งดังไปทั่วโลก สิ่งที่ วาร์ดี้ พูดเสมอคือเรื่องราวมหัศจรรย์จากนักเตะในคราบนักสู้ชีวิตแบบเขานั้นมีอีกเยอะ เขาพูดถึงลีกสมัครเล่นตลอดและพยายามชี้นำให้สโมสรต่าง ๆ อย่ามองข้ามฟุตบอลในระดับนี้เด็ดขาด เพราะในสนามที่เป็นหลุมเป็นบ่อ บางครั้งก็มียอดฝีมือซ่อนอยู่ หากหยิบจับพวกเขาขึ้นมาปลุกปั้น คุณก็มีสิทธิที่จะได้นักเตะระดับคุณภาพในราคาแสนถูก
"คุณจงอย่ามองข้ามอัญมณีเพียงเพราะว่ามันอยู่ในกล่องลังหรือบรรจุภัณฑ์ที่ไม่สวย ... เช่นเดียวกันคุณจะตัดสินเหล่านักเตะระดับสมัครเล่นเพราะลีกที่พวกเขาลงแข่งขันไม่ได้ ไปดูให้เห็นด้วยตาตัวเองแล้วตัดสินพวกเขาจากฝีเท้าของพวกเขาสิ ไม่ใช่ตัดสินพวกเขาเพียงเพราะชื่อของลีกที่พวกเขาลงเล่น" วาร์ดี้ กล่าวกับ BBC ในปี 2016 ซึ่งเป็นปีที่เขาติดทีมชาติอังกฤษไปเล่นในฟุตบอลยูโร 2016 รอบสุดท้าย
วาร์ดี้ พูดไปแบบนั้นและสื่อหลายเจ้าก็เอาไปขยายความ สโมสรต่าง ๆ อาจจะไม่ใช่ในระดับพรีเมียร์ลีก แต่ก็ยังเป็นสโมสรระดับอาชีพจึงเริ่มสนใจนักเตะระดับสมัครเล่นมากขึ้น
เรื่องนี้ยืนยันได้จากเว็บไซต์เว็บหนึ่งที่ชื่อว่า Wyscout พวกเขามีหน้าที่เหมือนกับเอเยนต์หรือแมวมองที่เดินไปตามสนามฟุตบอลต่าง ๆ ทั้งในระดับอาชีพในลีกเล็ก ๆ หรือในลีกสมัครเล่น พวกเขาจะส่งทีมงานไปวิเคราะห์แมตช์ บันทึกภาพเคลื่อนไหวของนักเตะที่น่าสนใจ จากนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของการทำเป็นวิดีโอเหมือนกับที่เราเห็นในยูทูบ โดย Wyscout จะได้เงินก็ต่อเมื่อสโมสรฟุตบอลต่าง ๆ อยากจะเห็นฟอร์มของนักเตะคนใดคนหนึ่งที่พวกเขาไม่มีฐานข้อมูลเป็นของตัวเอง ดังนั้นพวกเขาจะต้องจ่ายเงินให้กับ Wyscout เพื่อขอดูข้อมูลของนักเตะจากลีกเล็ก ๆ เหล่านี้นั่นเอง
หลังจากที่มีการแจ้งเกิดของ วาร์ดี้ สโมสรต่าง ๆ ก็มองหานักเตะนอกลีกมากขึ้นโดยทาง Wyscout ก็มีลูกค้ามากขึ้นไปโดยปริยาย เรื่องนี้ถูกเล่าโดย แบร์รี่ สมิธ กุนซือของทีมนอกลีกอย่าง อัลเดอร์ช็อต ที่บอกว่าหลังจากที่วาร์ดี้มีชื่อเสียง แมวมองและทีมงานบันทึกวิดีโอการเล่นของนักเตะก็ปรากฏตัวในสนามแข่งของทีมนอกลีกบ่อยขึ้น
"ทีมใหญ่ ๆ ระดับหัวแถวอาจจะไม่ส่งแมวมองของพวกเขามาเองหรอก เพราะพวกเขาลงทุนไปมากกับระดับอคาเดมี มันต้องเป็นไปตามลำดับขั้น ทีมจากพรีเมียร์ลีกจะรอให้นักเตะสมัครเล่นได้โอกาสในระดับ ลีกทู หรือ ลีกวันก่อน จากนั้นพวกเขาค่อยมาช้อนเอาทีหลัง สโมสรใหญ่ ๆ ไม่ส่งแมวมองของพวกเขามาเพื่อนักเตะที่มีราคาราว ๆ 50,000-100,000 ปอนด์หรอก" แบร์รี่ สมิธ กล่าว
"การขุดอัญมณีจากนอกลีกนั้นอาจจะไม่ได้ใช้เงินเยอะแต่ก็ต้องลงแรงเยอะ ยุคนี้แมวมองอาจจะไม่เดินทางมาที่สนามเองแล้ว เพราะตอนนี้ผู้คนมากมายที่ใช้บริการของฐานข้อมูลนักเตะยกตัวอย่างเช่น Wyscout ซึ่งจุดนี้แหละที่ทำให้นักเตะนอกลีกหลายคนได้ก้าวไปไกล บางคนไปถึงระดับพรีเมียร์ลีกได้เลยด้วยซ้ำ"
ขณะที่เว็บไซต์ The Non-League Paper ก็ได้เขียนถึงเรื่องดังกล่าวผ่านหัวข้อที่มีชื่อว่า "อิทธิพลบวกของ เจมี่ วาร์ดี้ ต่อฟุตบอลนอกลีก" และลงท้ายบทความนี้ว่า "เรามั่นใจว่าแมวมองในพรีเมียร์ลีกจะดูแมตช์นอกลีกอีกมากในอนาคต"
เปลี่ยนทัศนคตินักเตะทั้งลีก
มีนักเตะระดับสมัครเล่นหรือนอกลีกหลายคนที่ถอดใจไปแล้วและคิดว่าฟุตบอลเป็นได้เพียงแค่ความสนุกหรือกิจกรรมเพื่อความเพลิดเพลิน แต่เมื่อความสำเร็จของ วาร์ดี้ เกิดขึ้น สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงลีกระดับดิวิชั่น 5, 6 หรือ 7 ไปโดยปริยายคือทัศนคติของผู้เล่นในลีกเหล่านี้ที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง
เอียน คอนแคนนอน กุนซือของทีม Didcot Town ผู้มีชีวิตผูกพันกับฟุตบอลนอกลีกมาทั้งชีวิตตั้งแต่เป็นนักเตะคือผู้เล่าเรื่องนี้ เขาบอกว่าสมัยที่เขาเป็นนักเตะกับสมัยที่เกิด "วาร์ดี้ เอฟเฟ็กต์" นักเตะในลีกมีทัศนคติที่แตกต่างออกไปในแบบที่เขาเองก็ไม่อยากจะเชื่อ
"ทุกคนเลิกทำเป็นเล่นไปเลยก็ว่าได้ ทัศนคติของพวกนักเตะนอกลีกดีขึ้นมาก ผิดกับตอนที่ผมยังเล่นในลีกนี้อย่างสิ้นเชิงเลย" คอนแคนนอน กล่าว
"ยุคของผมเรียกว่าโอลด์สคูล ฟุตบอลนอกลีกเป็นกีฬาเพื่อฆ่าเวลา เรามาถึงสนามแล้ววอร์มอัปนิดหน่อยก็ลงไปเล่นเลย สติไม่ได้อยู่กับเกมเท่าไหร่หรอก หลังเกมโน่นแหละที่สำคัญ เพราะเราจะไปกินเบียร์และดูถ่ายทอดสดฟุตบอลกันต่อที่บาร์"
"ตอนนี้ทัศนคติของนักเตะนอกลีกยุคปัจจุบันเปลี่ยนไปเหมือนฟ้ากับเหว พวกเขาดูแลตัวเองกันดีมาก มีความตั้งใจมากกว่าเดิมเยอะ พวกเขาไม่ได้ทำแบบนั้นเพื่อสโมสรหรอกนะ เพราะคนที่ได้ประโยชน์กับทัศนคติแบบนั้นที่สุดคือตัวของพวกเขาเองนั่นแหละ" กุนซือ ดิดคอต ทาวน์ กล่าว
"ตอนนี้มีนักเตะที่มีพฤติกรรมเหมือนพวกมืออาชีพมากขึ้นเยอะเลยในลีกระดับล่าง ๆ ไม่ว่าจะเรื่องทัศนคติหรือวิธีการฝึกซ้อม แม้จะไม่เท่ากับนักเตะอาชีพ แต่พวกเขาก็พยายามไม่ต่างกันหรอก"
"พวกเขารู้ว่าการยอมเหนื่อยยอมลำบากมันจะคุ้มมากหากคุณทำสำเร็จ เมื่อคุณได้ก้าวไปเล่นระดับอาชีพหรือพรีเมียร์ลีก ยืนระยะได้ 6-7 ปี สิ่งที่คุณจะได้มาหลังจากนั้นคือคุณแทบไม่ต้องกังวลเรื่องเงินหรือเรื่องการทำงานไปอีกนานเลยล่ะ ... คุณแค่ไม่รู้ว่ามีใครกำลังมองมาที่คุณอยู่ไหมเท่านั้นเอง เรื่องนี้สำคัญกับเด็ก ๆ มาก เมื่อพวกเขามีเป้าหมายพวกเขาก็จะทุ่มเททุกอย่างที่พวกเขามีเพื่อแลกมันมา"
ความสำเร็จของ วาร์ดี้ นั้นยิ่งใหญ่กว่าที่ตัวของเขาเองคิดด้วยซ้ำ มันไม่ใช่เรื่องราวของเด็กหนุ่มจากเชฟฟิลด์ที่กล้าฝัน มันไม่ใช่เรื่องราวของ เลสเตอร์ ซิตี้ และแชมป์อันน่าเหลือเชื่อ … แต่มันเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงคุณภาพของนักฟุตบอลและทีมในสโมสรนอกลีก
มันแสดงให้เห็นว่าผู้คนไม่ควรมีอคติกับฟุตบอลนอกลีกแล้วมองว่านักเตะในลีกนี้เป็นผู้เล่นที่ไม่ใช่มืออาชีพ ความจริงคือไม่สำคัญหรอกว่าคุณจะมาจากไหน เป็นใคร และเล่นให้กับสโมสรอะไร ตราบใดที่คุณรักการเล่นฟุตบอลและตราบใดที่คุณไม่ยอมแพ้ โอกาสที่คุณไม่คาดคิดก็อาจจะรอคุณอยู่ก็เป็นได้