1-0 สกอร์ถนัด : ทำไมฟุตบอลแอฟริกันถึงสูสีแทบทุกคู่ ?
ฟุตบอล แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ หรือการแข่งขันชิงแชมป์ทวีปแอฟริกา มีข้อสังเกตอยู่อย่างหนึ่งที่ทั้งโลกเห็นพ้องต้องกัน นั่นคือทีมฟุตบอลที่เข้าแข่งขันในรายการนี้มีผลการแข่งขันสูสีกันแทบทุกคู่ สกอร์ 1-0 มีให้เห็นแทบทุกวัน
ยกตัวอย่างง่าย ๆ ให้เห็นภาพ คือในการแข่งขันฉบับปี 2021 ที่ถูก COVID-19 ทำพิษจนต้องเลื่อนมาแข่งช่วงต้นปี 2022 จาก 36 นัดของรอบแบ่งกลุ่ม เกมจบด้วยสกอร์ 1-0 มากถึง 15 เกม หรือเกือบครึ่งเลยทีเดียว
ทั้ง ๆ ที่บางทีมมีชื่อชั้นของนักเตะที่โดดเด่น นักเตะหลายคนเล่นในทีมใหญ่ ๆ ของยุโรป ขณะที่บางทีมอันดับโลกต่ำกว่าไทยก็ยังมี มันควรจะต้องมีเกมที่เรียกว่าเกม "ตบเด็ก" หรือเกมที่ชนะกันขาดลอยและได้เห็นถึงความห่างชั้นไม่ใช่หรือ ?
สาเหตุคืออะไร ? Main Stand ขอนำทุกท่านไปไขข้อสงสัยนี้กัน
รวมพลคนเก่ง … ในระดับสโมสร
หลาย ๆ ชาติในแอฟริกาที่ลงแข่งขันในรายการ แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ หรือ AFCON มีนักเตะที่เป็นระดับแถวหน้าของโลก ณ ปัจจุบัน (การแข่งปี 2021) อยู่หลายคน อียิปต์ มี โมฮาเหม็ด ซาลาห์, เซเนกัล มี ซาดิโอ มาเน่, ไนจีเรีย ก็มีนักเตะระดับพรีเมียร์ลีกมากมาย ไหนจะแคเมอรูนที่นักเตะแทบทั้งทีมค้าแข้งอยู่ในยุโรป ... รวมถึงอีกมากมายหลายคนที่ลงแข่งขันในรายการนี้
จากรายชื่อทีมที่กล่าวมา มันคงไม่ยากนักที่ทีมที่มีนักเตะเหล่านี้จะเอาชนะทีมอย่าง มาลาวี, มอริเตเนีย, คอโมโรส, ซูดาน, อิเควทอเรียลกินี หรือ แกมเบีย ซึ่งทีมเหล่านี้เป็นทีมที่อยู่ในอันดับต่ำกว่า 120 ในฟีฟ่า แรงกิ้ง
แต่ก็อย่างที่เรารู้กันคือเมื่อลงแข่งขันกันจริงกลับยิงกันไม่ขาดและมีอาการสูสีกว่าที่คิด ง่าย ๆ คือไม่ว่ากลุ่มนักเตะเหล่านี้จะเก่งมาจากไหน แต่เมื่อมารวมกันแล้ว สิ่งที่ทีมจากแอฟริกายังขาดอยู่เสมอคือเรื่องของทีมเวิร์กและระบบการเล่น
เรื่องนี้หากใครได้ดูเกม AFCON บ่อย ๆ จะเข้าใจเป็นอย่างดี ฟุตบอลรายการนี้หากจะดูเอาคุณภาพ เรื่องระบบการเล่นที่แน่นอน แม่นยำ เข้าทำเร็ว แบบที่เราเคยดูในพรีเมียร์ลีกหรือในลีกยุโรปต่าง ๆ เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีให้เห็นเลย
วิธีการเข้าทำส่วนใหญ่เหมือนเป็นการฝากบอลไว้ที่นักเตะที่เก่งที่สุดในทีม แล้วใช้ความสามารถเฉพาะตัวในการฝ่าแนวรับเข้าไปสร้างโอกาสยิงประตู ... ซึ่งในปัจจุบันนี่ถือเป็นแทคติกที่ตกยุคไปเรียบร้อยแล้ว
ซามูเอล เอโต้ อดีตกองหน้าทีมชาติแคเมอรูน เคยพูดถึงเรื่องการพึ่งสตาร์ของทีมชาติในแอฟริกันที่มากเกินไปและเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันกับทีมในแอฟริกามานาน จนกระทั่งเรื่องดังกล่าวเริ่มเห็นภาพชัดขึ้นในโลกแห่งโมเดิร์นฟุตบอล ที่ทุกทีมต้องมีความเข้าใจในแทคติก เข้มข้นเรื่องวินัย เล่นเกมรุกและเกมรับกันทั้งทีม
"นี่คือปัญหาโครงสร้างและการบริหารของทีมต่าง ๆ ทีมฟุตบอลในแอฟริกาส่วนใหญ่เมื่อเข้าร่วมการแข่งขันในแต่ละนัดจะคิดเสมอว่าพวกเขาจะต้องทำผลงานได้ดีแน่ ๆ เพราะพวกเขามีนักเตะที่เก่ง มีความสามารถเฉพาะตัว"
"พวกเขาอาจจะยังไม่เข้าใจว่าฟุตบอลของชาติอื่น ๆ นั้นได้ก้าวไปอีกขั้นแล้ว ด้วยวิธีสร้างศักยภาพให้ผู้เล่นแทบทั้งทีม พวกเขามีวิธีการดึงเอาความสามารถของสมาชิกในทีมทุกคนออกมาใช้ ถ้าทำอย่างนั้นได้ก็ไม่จำเป็นไปฝากความหวังไว้ที่ใครคนใดคนหนึ่ง"
"ทีมแอฟริกาต้องพึ่งพาความสามารถส่วนตัวให้น้อยลงและเน้นเรื่อแทคติกกลยุทธ์ให้มากขึ้น เมื่อเทียบกับฟุตบอลในยุโรปหรืออเมริกาใต้ ทีมจากแอฟริกาเล่นเกมรุกได้ช้ากว่ามาก และสิ่งนี้เองที่มันทำให้ง่ายสำหรับทีมอื่น ๆ เพราะจะมีเวลาในการวางแนวรับมากพอ" เอโต้ กล่าว
การจะโทษว่าพวกเขาใช้นักเตะระดับสตาร์ตลอดเวลาก็ดูจะเป็นการโทษนักเตะคนใดคนหนึ่งเกินไปนัก เรื่องนี้ต้องมองไปถึงรอบ ๆ ตัวของนักเตะเหล่านี้ นักเตะอย่าง ซาลาห์ หรือ มาเน่ อยู่ท่ามกลางแข้งเวิลด์คลาสรอบตัวที่ ลิเวอร์พูล แต่เมื่อเขามาเล่นให้ อียิปต์ คุณภาพผู้เล่นรอบตัวก็เปลี่ยนไป ดังนั้นพวกเขาจึงต้องพยายามทำหน้าที่มากกว่าที่เคยทำตอนเล่นกับสโมสร
ไม่ใช่แค่อดีตนักฟุตบอลที่พูดแบบนี้ มีการพูดถึงเรื่องดังกลาวจากมุมของบุคลากรทางการแพทย์อย่าง ดร. เอฮิมเวนม่า ไอมิววู (Ehimwenma E. Aimiuwu) ที่โยงถึงความด้อยประสิทธิภาพในแง่ของการเล่นเป็นทีมและระบบการเล่นที่ล้าสมัยว่ามันเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อม การศึกษา และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในประเทศด้วย
"ทีมจากแอฟริกามีจุดเด่นที่ความแข็งแกร่ง ความเร็ว ความกระตือรือร้น และความอยากจะเอาชนะคู่แข่งในสนาม แต่สุดท้ายก็ล้มเหลวในการยิงประตูและการสร้างสิ่งที่เรียกว่ากลยุทธ์ มันทำให้ความพยายามในการเล่นเกมบุกของพวกเขาไม่มีความหมายใด ๆ"
"เรื่องนี้มันเกี่ยวข้องกันหมด ทั้งทัศนคติ สภาพจิตใจ และการศึกษา ... นักเตะสตาร์ของแต่ละทีมในแอฟริกาไม่สามารถใช้วิธีคิดและลงมือในแบบเดียวกับตอนที่พวกเขาเล่นให้กับสโมสรได้เลย ... ตอนที่พวกเขาเล่นให้กับสโมสร พวกเขาจะมีนักเตะเก่ง ๆ รายล้อมเต็มไปหมด นักเตะที่มีการศึกษา ชาญฉลาด เข้าใจแทคติกและเทคนิคเป็นอย่างดี ดังนั้นไม่ต้องคิดกันมากมายทุกคนรู้หน้าที่กันอยู่แล้ว ทุกคนโฟกัสตรงกันที่ลูกฟุตบอลและประตูเท่านั้น"
"ขณะที่ตอนเล่นให้กับทีมชาตินักเตะแอฟริกันคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในระดับสูง พวกเขามีความผิดพลาดส่วนบุคคลเยอะเกินไป ส่งบอลยาวเกินไป สั้นเกินไป ช้าเกินไปเสมอ สิ่งเหล่านี้บ่งบอกถึงประสิทธิภาพอย่างแท้จริง"
หากจะมีเกมไหนที่บ่งบอกถึง บอลพึ่งสตาร์ (ฝั่งแอฟริกา) กับการเจอกับทีมที่เป็นรองแต่สู้ด้วยแทคติกและความเข้าใจเกม ก็สามารถยกตัวอย่างได้จากเกมฟุตบอลโลก 2010 ที่ ไนจีเรีย เจอกับทีมอย่าง เกาหลีใต้ ที่ในเกมวันนั้นทุกหน้าสื่อชี้ไปที่ฝั่ง ไนจีเรีย ที่เรียกนักเตะทั้ง 23 คนมาจากยุโรป นำทัพโดยนักเตะที่กำลังอยู่ในจุดพีคทั้ง ยาคูบู ไอเย็กเบนี่ จาก เอฟเวอร์ตัน, จอห์น อูทาก้า และ เอ็นวานโก้ คานู จาก พอร์ทสมัธ, โอบาเฟมี่ มาร์ตินส์ จาก โวลฟส์บวร์ก, ชินเนดู โอบาชี่ จาก ฮอฟเฟนไฮม์ และ ปีเตอร์ โอเด็มวิงกี้ จาก เวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน
ขณะที่ เกาหลีใต้ ชุดนั้นมีนักเตะที่เล่นใน 5 ลีกดังเพียงแค่ 2 คนเท่านั้นได้แก่ พัค จี ซอง จาก แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และ พัค ชู ยอง จาก โมนาโก
แนวรับของเกาหลีใต้ต้องรับมือพวกตัวรุกฝีเท้าจัดของ ไนจีเรีย ตลอดทั้งเกม พวกเขาใช้ทีมเวิร์กเข้าสู้ และสุดท้าย เกาหลีใต้ ก็ได้สกอร์ที่พวกเขาต้องการ ด้วยการยันเสมอ 2-2 จากโอกาสยิงประตูที่มีเพียงไม่กี่ครั้ง ทำให้ เกาหลีใต้ ผ่านเข้ารอบ16 ทีมสุดท้ายได้ ปล่อยให้ ไนจีเรีย ตกรอบไปอย่างเจ็บปวด
แมทธิว คลาร์ก นักเขียนอิสระที่ทำหน้าที่วิเคราะห์เกมนี้ให้กับเว็บไซต์ The Christian Science Monitor เขียนชมเกมรุกของเหล่าตัวความหวังของ ไนจีเรีย มาตลอดทั้งบทความ แต่ปิดท้ายด้วยข้อความสั้น ๆ ที่ชัดเจนว่าความผิดหวังในครั้งนี้ไม่ได้มาจากเกมรุกที่ฉูดฉาดแต่ไร้ประสิทธิภาพ แต่โดยรวมแล้วมันคือวิธีการเล่นต่างหาก
"บางทีพวกเขาสามารถเรียนรู้บางสิ่งจากการเจอกับเกาหลีใต้ในวันนั้นได้ สิ่งนั้นคือวินัยและความสม่ำเสมอเป็นเรื่องที่สำคัญมาก หากคุณยังอยากจะไปให้ไกลกว่าที่ใครคาดคิด"
ที่ร่ายยาวมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะบอกว่าการขาดองค์ความรู้ในศาสตร์ฟุตบอลขั้นสูงทำให้ทีมชาติในแอฟริกามีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพ พวกเขาวูบวาบและเต็มไปด้วยผู้เล่นที่มีสีสันที่ดูแล้วสนุกสำหรับคนดู แต่สุดท้ายการขาดความเข้าใจเกมกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ไม่ว่าจะทีมไหนในแอฟริกาก็ไม่ต่างกันมากนัก
พวกเขาชักช้าในการสร้างเกมรุก ทุกอย่างไม่ได้มีภาพอยู่ในหัว ไม่มีการซ้อมที่สร้างความเข้าใจให้ตรงกันทั้งทีม นักเตะทั้งหมดต่างคนต่างเล่น และกลายเป็นว่าไม่ว่าจะเจอกับทีมไหนก็ดูจะเป็นการเล่นที่สูสีไปหมด ไม่มีการเดินหน้าถล่ม 4-0, 5-0 ให้เห็น เพราะโดยภาพรวมแล้วพวกเขาไม่ได้แตกต่างกันมากมายนักนั่นเอง
ผู้ฝึกสอน … ที่สอนไม่ได้
นักเตะที่ธรรมดาและประสิทธิภาพน้อยก็อาจจะทดแทนได้หากพวกเขาเล่นกันได้ถูกวิธี เหมือนกับคำที่เราเคยได้ยินกันบ่อย ๆ ว่า "เล่นตามโค้ชสั่ง" แต่ปัญหาคือถ้าโค้ชไม่ดีอีกล่ะจะเอาตัวรอดได้อย่างไร ?
สิ่งที่แปลกและหาคำตอบได้ยากยิ่งคือ ในโลกนี้แทบไม่มีโค้ชชาวแอฟริกันที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกได้เลย ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมาก ๆ สำหรับทีมฟุตบอลในแอฟริกา พวกเขาอาจจะจ้างโค้ชจากยุโรปก็ได้ แต่ถ้าคุณมีโค้ชท้องถิ่นที่เข้าใจทุกอย่างเกี่ยวกับทีม ๆ นี้ และยังมีศาสตร์และศิลป์แบบเดียวกับที่โค้ชยุโรปรู้ มันจะง่ายกว่ากันเยอะ
การจ้างโค้ชในยุโรปนั้นอาจจะได้โค้ชที่รู้จริงแต่ก็มีแง่ลบเช่นกัน โค้ชยุโรปอาจจะมีองค์ความรู้ แต่พวกเขากลับสื่อสารกันไม่ได้ แนะนำวิธีการเล่นที่ไม่ตรงกับจริตของนักเตะแอฟริกัน ปัญหาเล็ก ๆ นี้จะขยายใหญ่ขึ้นหากต่างฝ่างต่างไม่ได้มีเป้าหมายเดียวกัน สุดท้ายนักเตะก็จะขี้เกียจซ้อม ทำตัวไม่เป็นมืออาชีพ ขณะที่โค้ชก็จะทำงานยากและหาวิธีการเล่นที่เหมาะกับทีมจริง ๆ ไม่ได้
สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ผลงานของทีมไม่ดี และเมื่อผลงานทีมไม่ดีโค้ชก็โดนไล่ออก โดยที่พวกเขาไม่สามารถวางระบบที่สมบูรณ์แบบตามที่พวกเขาตั้งใจไว้ได้เลย สิ่งต่างก็จะเกิดขึ้นซ้ำ ๆ วนไปแบบนี้ ท้ายที่สุดแล้วก็จะวนกลับไปที่เหตุผลข้อแรก นั่นคือนักเตะไม่ได้ถูกดังศักยภาพทั้งหมดที่ตัวเองมีออกมาใช้ให้เหมาะกับวิธีการเล่น จนส่งผลให้คุณภาพการเล่นขาดหายไป ต่อให้ในทีมมีนักเตะที่ดีก็ใช่ว่าจะถล่มใครได้ง่าย ๆ
วาฮิด ฮาลิฮอดซิช กุนซือชาวบอสเนีย ที่เคยคุมทีมอย่าง ไอวอรี่โคสต์, แอลจีเรีย และ โมรอกโก ก็พูดแบบไม่ต้องเคอะเขินเลยว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างทำให้งานของเขาไม่ต่อเนื่องและต้องย้ายงานบ่อย ๆ
นักเตะขาดวินัยและช่วงเวลาการทำงานของโค้ชก็สั้นมาก เช่นหมดฟุตบอลโลก 1 ครั้งเวลาทำงานก็หมดไปต้องมาเปลี่ยนกันใหม่ พวกเขาอยู่ได้ไม่นานพอที่จะสร้างระบบที่ตัวเองต้องการได้ และสุดท้ายมันก็จะเป็นแค่การทำตามหน้าที่ของโค้ชต่างชาติ พวกเขาจะมองมันเป็นแค่งานเท่านั้น ต่อให้ล้มเหลวพวกเขาก็จะยังได้ค่าจ้างมหาศาลอยู่ดี
"ปัญหานี้เกิดขึ้นปนกันระหว่างอิทธิพลทางการเมืองและสภาพแวดล้อมทางเศรษกิจ มันทำให้นักเตะแอฟริกันตั้งความหวังไว้เพียงอย่างเดียว พวกเขาต้องไปเล่นในยุโรปให้ได้ ส่วนทีมชาตินั้นไว้ทีหลัง" กุนซือชาวบอสเนียนกล่าวกับ BBC
ผมมาเพราะหน้าที่
การติดทีมชาติคือความภาคภูมิใจของนักเตะหลาย ๆ คน แต่คำนี้ดูเหมือนจะใช้กับนักเตะแอฟริกันบางคนไม่ได้ ... ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่รักชาติ แต่ปัญหาที่มีมันเยอะเกินไปต่างหาก
ประการแรกนักเตะแอฟริกันทุกคนมีฝันที่จะได้ย้ายไปเล่นในยุโรป โดยมีเรื่องของเงิน ๆ ทอง ๆ เป็นหลัก BBC ได้ทำการสำรวจนักเตะอาชีพในลีกประเทศกานา และพบว่า 100% ของนักเตะที่ลงเล่นในลีกกานา พวกเขามีรายได้ไม่เกินเดือนละ 800 ปอนด์ หรือราว ๆ 35,000 บาท ... ย้ำอีกครั้งว่าที่คือเงินเดือนสำหรับนักฟุตบอลอาชีพ
ดังนั้นเมื่อพวกเขาไปเล่นในยุโรปและได้เงินเป็นสัปดาห์ แถมยังเป็นจำนวนเงินที่มากกว่าหลายเท่า การที่จะต้องมาเล่นในรายการ AFCON ที่จัดขึ้นระหว่างช่วงที่ฟุตบอลในยุโรปกำลังแข่งขัน มันสร้างความรู้สึกว่าพวกเขาอาจจะเสียโอกาสบางอย่างไป พวกเขาอาจจะพลาดโบนัส และบางทีการไปเล่นให้ทีมชาติอาจจะทำให้พวกเขาบาดเจ็บ หรือมีความเสี่ยงที่จะเสียตำแหน่งในทีมไป
ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่รักชาติ ... แต่ปัญหาจริง ๆ คือพวกเขาไม่ได้รับความเคารพจากผู้บริหารสมาคมฟุตบอลในประเทศ เชื่อว่าหลายคงเคยได้ยินเรื่องการทุจริตและการจัดการแย่ ๆ ของฝ่ายบริหารจนทำให้นักเตะเบอร์ใหญ่หลายคนไม่พอใจ เช่น ซามูเอล เอโต้ ซึ่งออกหน้าทวงเงินโบนัสแทนรุ่นน้องในทีม ที่สมาคมฟุตบอลแคเมอรูนติดค้างมานานกว่า 2 ปี จน เอโต้ โดนแบนจากทีมชาติไปพักใหญ่
เรื่องการทุจริตในฟุตบอลแอฟริกานั้นถือเป็นความคลาสสิกที่เกิดขึ้นมานานนม โจเซฟ อองตวน เบล อดีตผู้รักษาประตูทีมชาติแคเมอรูนในช่วงยุค 80s เล่าว่าสมัยที่เขายังเตะอยู่ การทุจริตของผู้บริหารฟุตบอลในแอฟริกาเป็นการส่งต่อกันเหมือนมรดก จนทุกคนมองว่าเป็นเรื่องปกติไปแล้ว
"ฟุตบอลในประเทศฝรั่งเศสก็มีเรื่องทุจริต ของแบบนี้มันมีกันทุกที่ เพียงแต่มันน้อยมากไม่ถึง 10% เลย แต่ที่แอฟริกาคุณมองจากดาวอังคารลงมาคุณก็รู้ว่าพวกเขาเล่นไม่ซื่อ ไม่ว่าจะโกงกันในสนามแข่ง ในห้องผู้บริหาร ไปจนสนามเลือกตั้ง" เบล ที่มาค้าแข้งในฝรั่งเศสอยู่นาน 10 ปี กล่าว
สิ่งที่ เบล บอกไม่เกินจริงเลย เพราะการทุจริตทุกหย่อมหญ้าทำให้เกิดความเบื่อหน่าย นักเตะแอฟริกันดัง ๆ หลายคนเวลากลับมาเล่นทีมชาติก็ต้องเจอกับความลำบากในแบบที่พวกเขาไม่ควรต้องเจอ เช่น การนั่งรถบัสข้ามประเทศ, การติดค้างอยู่ในสนามบิน, การต้องออกค่าเดินทางเอง หรืออะไรต่าง ๆ มากมาย ชนิดที่ว่าถึงไม่ใช่คนแอฟริกันก็ยังหน่าย และไม่สามารถทำงานในวงการฟุตบอลแอฟริกันได้นานนัก
เมื่อคุณไม่ได้รับความเคารพและการสนับสนุน มันก็ค่อนข้างสมเหตุสมผลที่นักเตะแอฟริกันหลายคนมีความคิดแบบนั้น อยากให้ไปเล่นก็ได้ แต่ที่สุดแล้วความสำคัญและสิ่งที่โฟกัสเป็นอันดับแรกคือการทำงานให้สโมสรที่มอบค่าเหนื่อยก้อนโตให้กับพวกเขา
และแน่นอนที่สุดหากเล่นไปงั้น ๆ แบบเป็นหน้าที่เพียงเพราะปฏิเสธไม่ได้ สุดท้ายแล้ววงการฟุตบอลแอฟริกันจึงไม่หนีกันมากนักต่อให้มีนักเตะที่ดีแค่ไหนก็ตาม เนื่องจากปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมานี้