โอลิมปิกฤดูหนาวที่ไม่หนาว ? : ทำไมจีนเลือก "ปักกิ่ง" เป็นเจ้าภาพ ทั้งที่แทบไม่มีหิมะตกเลย
ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2022 สนามกีฬาแห่งชาติ กรุงปักกิ่ง หรือสนามรังนก จะถูกใช้ในพิธีเปิดการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกอีกครั้ง หลังจากที่เคยเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 เดือน 8 ปี 2008
สิ่งที่แตกต่างออกไปคือครั้งนี้ไม่ใช่ โอลิมปิกฤดูร้อน แต่เป็น โอลิมปิกฤดูหนาว ซึ่งทำให้ปักกิ่งกลายเป็นเมืองแรกในประวัติศาสตร์ที่สามารถจัดโอลิมปิกของทั้งสองฤดูได้
แต่ทำไมจีนถึงต้องส่งปักกิ่งมาเป็นเมืองเจ้าภาพ ในเมื่อเมืองหลวงแห่งนี้มีหิมะตกลงมาน้อยมาก และทางแก้ที่ถูกนำมาใช้งานนั้นก็กลับไม่ได้ "รักษ์โลก" ตามที่เป็นคำมั่นสัญญาไว้เลย
Main Stand จะพาคุณผู้อ่านไปตามหาคำตอบของคำถามข้างต้นกัน
ทำไมต้องปักกิ่ง
นี่คือคำถามข้อใหญ่ที่ผู้เขียนวงไว้ตัวโต ๆ เมื่อเห็นว่าโอลิมปิกฤดูหนาวปีนี้จะกลับมาสู่เมืองที่เคยจัดโอลิมปิกฤดูร้อนไปเมื่อ 14 ปีก่อนหน้าเท่านั้น
หากมองแบบผิวเผิน ชาติต่าง ๆ ก็ต้องเอาเมืองหลวงของประเทศมาเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ด้วยความพร้อมในสิ่งปลูกสร้างทั้งหลาย และความสามารถในการต่อเติมหรือพัฒนาตัวเมืองเพิ่มเติม เพื่อทั้งรองรับมหกรรมกีฬาควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในระยะยาวไปได้ในเวลาเดียวกัน
อย่างไรก็ตามในตลอดประวัติศาสตร์ของโอลิมปิกฤดูหนาว มีเพียงแค่กรุงออสโล เมืองหลวงของประเทศนอร์เวย์ เท่านั้น ที่เป็นเมืองหลวงและได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ซึ่งครั้งดังกล่าวก็ต้องย้อนเวลากลับไปถึงปี 1952 เลยทีเดียว
ซึ่ง ออสโล ก็คือหนึ่งในเมืองที่ถอนตัวจากการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกครั้งนั้นจากปัจจัยหลัก ๆ คือเรื่องงบประมาณการเป็นเจ้าภาพที่เคยพุ่งไปแตะหลัก 51,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อครั้งเมือง โซชิ ของรัสเซีย เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในปี 2014 ที่ต่อให้แผนของนอร์เวย์จะกินงบประมาณน้อยกว่าถึง 10 เท่า ก็ยังโดนประชาชนต่อต้าน จนรัฐบาลต้องใส่เกียร์ถอยเสียตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มด้วยซ้ำ
และเมื่อเหลือแค่ ปักกิ่ง กับ อัลมาตี ของคาซัคสถาน ซึ่งรายหลังไม่เคยมีประสบการณ์จัดมหกรรมกีฬาระดับนี้มาก่อน จึงไม่ใช่เรื่องยากที่ทางจีนจะเป็นฝ่ายได้สิทธิ์การเป็นเจ้าภาพไปครอง แต่ก็ด้วยคะแนนที่ห่างกันแค่ 4 แต้มเท่านั้น
ทีนี้เหตุผลที่จีนเลือกเมืองหลวงของตนมาเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกฤดูหนาว ทั้งที่มีหิมะตกอยู่แค่หยิบมือบวกกับการขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองแห่งมลภาวะ ระดับที่ฝุ่นในเมืองหลวงของบ้านเรานั้นดูน้อยไปเลย (แต่ก็ยังถือว่าเยอะในระดับอันตรายอยู่ดีนั่นแหละ) ก็เป็นเพราะว่า นี่คือโอกาสในการแสดงศักยภาพของตนเองได้ดีที่สุดแล้ว
เมื่อครั้งโอลิมปิกฤดูร้อน ปี 2008 ความสำเร็จของจีนทั้งในด้านการเล่นใหญ่ของเจ้าภาพและผลงานในสนามของนักกีฬา ได้เป็นตัวกระตุ้นให้ประชาชนในประเทศเกิดความสนใจด้านกีฬามากขึ้น แถมยังสามารถยกระดับจีนให้ทัดเทียมกับชาติมหาอำนาจในเวทีโลกได้อีกด้วย
และที่สำคัญสนามกีฬาจากปี 2008 ก็ยังสามารถถูกปรับโฉมมาใช้ในครั้งนี้ได้ด้วย ทั้งสนามรังนก และ "Ice Cube" อดีตสนามลูกบาศก์ ที่เคยใช้จัดแข่งกีฬาว่ายน้ำเมื่อ 14 ปีที่แล้ว ต่างถูกนำมาปรับปรุงเพื่อใช้ในโอลิมปิกหนนี้อีกครั้ง
สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้กล่าวถึงการจัดโอลิมปิกครั้งนี้ไว้ว่า "ไม่ได้แค่มายกระดับความมั่นใจในความสามารถที่จะฟื้นฟูประเทศจีนของเรา แต่จะแสดงให้เห็นถึงภาพลักษณ์ที่ดีและความมุ่งมั่นในชาติของเรา เพื่อสร้างสรรค์ประชาคมที่พร้อมมุ่งสู่อนาคตของมนุษยชาติไปด้วยกัน"
แม้การเป็นเจ้าภาพในคำรบนี้จะเต็มไปด้วยคำครหาจากนานาประเทศ แต่ผู้เชี่ยวชาญบางรายกลับมองว่า จีนไม่ได้สนใจว่าต่างชาติจะมองพวกเขาอย่างไร และโลกทั้งใบต้องยอมรับจีนในแบบปัจจุบันแทน
"พวกเขา (จีน) ไม่จำเป็นต้องทำกฎหมายของตัวเองชอบธรรมอยู่แล้ว และพวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องทำตามใจประชาคมโลก เพื่อทำให้โอลิมปิกครั้งนี้ประสบความสำเร็จ" ซู่ กั่วฉี นักประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮ่องกง เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์ The New York Times
ในตอนนี้ สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, แคนาดา, ออสเตรเลีย, ลิทัวเนีย, และ โคโซโว ได้ประกาศบอยคอตด้านการทูต คือจะไม่ส่งตัวแทนจากรัฐบาลของตนไปร่วมในพิธีการใด ๆ ในขณะที่ตัวของนักกีฬายังสามารถร่วมลงแข่งขันได้
เหตุผลประกอบการบอยคอตดังกล่าวเกี่ยวข้องกับประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มีต่อชาวอุยกูร์ ที่นับถือศาสนาอิสลาม และข้อพิพาทด้านดินแดนกับทิเบต, ไต้หวัน, และ ฮ่องกง หรือกรณีล่าสุดอย่างความปลอดภัยของ เผิง ฉ่วย นักเทนนิสหญิง ผู้เคยติดทีมโอลิมปิกจีน 3 สมัย ที่ไม่มีใครทราบถึงสถานการณ์อันแท้จริงของเธอ หลังเธอออกมาประกาศว่าเธอถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลของ สี จิ้นผิง ซึ่งทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC ก็ไม่ได้ออกมาพูดถึงกรณีดังกล่าวเลย และแม้จะมีคลิปการปรากฏตัวกับการสัมภาษณ์ออกมาภายหลัง ก็ดูเหมือนหลายฝ่าย (ยกเว้น IOC) จะไม่เชื่อนักว่าเธอปลอดภัยและมีอิสระอย่างแท้จริง
แต่หากตัดปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนออกไป (หรือเลี่ยงที่จะพูดถึง แบบที่ IOC และทางการจีนทำ) ก็ต้องยอมรับว่าจีนสามารถแก้ไขปัญหามลภาวะได้ตามที่ท่าน สี สัญญาไว้จริง พร้อมกับสร้างโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง เพื่อช่วยลดระยะเวลาการเดินทางจากปักกิ่งไปยังจางเจียโค่ว สนามแข่งขันกีฬากลางแจ้ง ให้เหลือเพียง 1 ชั่วโมง ที่เร็วกว่าเดิมถึง 4 เท่าด้วยกัน
อีกสิ่งหนึ่งที่จีนแก้ปัญหาได้อย่างแยบยลคือ ในเมื่อมีหิมะไม่พอก็สร้างหิมะขึ้นมาเองเสียเลยนี่แหละ
หิมะเทียม และการรักษ์โลก
จุดที่น่ากังวลที่สุดของจีนในตอนนี้คือสนามแข่งสกีแบบอัลไพน์ ซึ่งถือเป็น "เพชรยอดมงกุฎ" ของการแข่งขัน ซึ่งเป็นสนามแข่งที่มีความยาว 9.2 กิโลเมตร และต้องถูกปกคลุมด้วยหิมะเทียมเพิ่มเติมไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านคิวบิกเมตร เพื่อให้เพียงพอต่อข้อกำหนดขั้นต่ำของการแข่งขัน
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เมืองเจ้าภาพต้องใช้หิมะเทียม เพราะแม้แต่ แวนคูเวอร์ ของแคนาดา ก็เคยประเมินปริมาณหิมะตกผิดพลาด จนต้องผลิตหิมะมาทดแทนให้เพียงพอ หรือในกรณีของ โซชิ ที่ทั้งกักตุนหิมะล่วงหน้าหลายปีควบคู่ไปกับการผลิตหิมะมาเพิ่มเติม เพื่อให้พอใช้จนตลอดรอดฝั่ง
แต่กับเคสของปักกิ่ง หรือในกรณีนี้ เขตหยานชิ่ง ที่ตั้งอยู่ในแนวละติจูดที่ต่ำกว่ามาก (แม้แต่โซชิ ที่ถือว่าอยู่ต่ำมาก ๆ แล้ว ยังอยู่ที่ละติจูด 43.12 ส่วนของหยานชิ่ง จุดสูงสุดนั้นอยู่แค่ละติจูด 40.46 เท่านั้น) นั่นคืออุณหภูมิของเจ้าภาพในครั้งนี้ไม่ได้หนาวเย็นเท่ากับโอลิมปิกครั้งก่อน และสภาพภูมิประเทศก็ไม่ได้เป็นใจเท่าแนวเทือกเขาอื่น ๆ ในประเทศตนเองอีกด้วย
สำหรับมาตรการผลิตหิมะ ทางจีนจะใช้ปืนใหญ่หิมะมากกว่า 170 ตัว เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 800,000 ตารางเมตร โดยอาศัยน้ำจำนวนมหาศาล เพื่อนำมาเลียนแบบกระบวนการเกิดหิมะตามธรรมชาติ และลำเลียงผ่านท่อให้ครอบคลุมทั่วระยะสนามแข่ง ซึ่งผลผลิตดังกล่าวนั้นมีคุณสมบัติคล้ายลูกครึ่งระหว่างน้ำแข็งกับหิมะ ที่ช่วยลดแรงเสียดทานระหว่างตัวสกีกับลานแข่ง อันเป็นทั้งประโยชน์และโทษกับผู้เข้าแข่งขันในเวลาเดียวกัน
การผลิตหิมะขึ้นมาทดแทนนั้น อาจไม่ได้รับความสนใจมากเพียงนี้ หากทางการจีนไม่ได้ระบุว่านี่จะเป็นโอลิมปิกแบบรักษ์โลก โดยสนามแข่งขันทั้ง 12 แห่งจะทำงานภายใต้พลังงานแบบนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (แสงอาทิตย์, ลม, น้ำ เป็นต้น) แต่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมองว่าการผลิตหิมะแบบ 24 ชั่วโมง/วัน ต่อเนื่องเช่นนี้ อาจไม่ได้ช่วยรักษ์โลกกันตามที่ประกาศ และนี่ยังไม่รวมถึงประเด็นเรื่องการทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำเพื่อให้โอลิมปิกครั้งนี้เกิดขึ้นได้สำเร็จ
ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวถูกมองเห็นมาตั้งแต่ช่วงเสนอตัวเป็นเจ้าภาพของจีนแล้ว โดยคณะผู้ประเมินผลได้ให้ความเห็นว่า "มันอาจไม่มีหิมะตกอยู่นอกบริเวณสนามแข่งเลย แม้แต่ในหยานชิ่งก็ตาม ซึ่งอาจเป็นผลกระทบต่อภาพลักษณ์ได้" ซึ่งล่าสุดคณะนักกีฬาทีมชาติไทยได้เดินทางไปสำรวจบรรยากาศรอบสนามแข่งขันจริงแล้ว และพบว่าไม่ค่อยมีหิมะปกคลุมเท่าไหร่นัก โดย หรินารถ ศิริวรรณ หัวหน้าผู้ฝึกสอนนักกีฬาสกีอัลไพน์ทีมชาติไทย ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า " (การไม่ค่อยมีหิมะ) ส่งผลเรื่องทัศนวิสัยของนักกีฬา เนื่องจากปกติจะซ้อมกันที่อิตาลีที่จะมีหิมะปกคลุมเป็นสีขาวทั่วพื้นที่ จึงต้องใช้เวลาในการปรับสายตากันเล็กน้อย"
แม้แต่เมืองอัลมาตี คู่แข่งเพียงหนึ่งเดียวของจีน ยังตั้งสโลแกนมาทิ่มแทงแบบเจ็บแสบเบา ๆ ในระหว่างเสนอตัวเป็นเจ้าภาพว่า "Keeping it Real" หรือแปลให้ได้ใจความว่า "อยู่ในโลกแห่งความจริงเถอะ" นั่นเอง
ในตอนนี้เราคงได้แต่รอดูกันว่า โอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่ง จะออกมาในรูปแบบไหน เพราะแม้พวกเขากำลังเผชิญข้อครหาด้านสิทธิมนุษยชน การผลิตหิมะแบบข้ามวันข้ามคืน หรือปัญหาในด้านการควบคุมยอดผู้ติดโควิดให้เป็น 0 อยู่ แต่ก็ดูเหมือนสิ่งเหล่านี้แทบไม่ได้กระทบต่อการเตรียมตัวของเจ้าภาพเลย
"โลกกำลังมองมายังจีน และประเทศจีนพร้อมแล้ว" สี จิ้นผิง กล่าวในคำอวยพรปีใหม่ เมื่อเดือนที่ผ่านมา