28-3 : การคัมแบ็กที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาลของ "ซูเปอร์โบวล์" เกิดขึ้นได้อย่างไร

28-3 : การคัมแบ็กที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาลของ "ซูเปอร์โบวล์" เกิดขึ้นได้อย่างไร

28-3 : การคัมแบ็กที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาลของ "ซูเปอร์โบวล์" เกิดขึ้นได้อย่างไร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

28-3 อาจเป็นตัวเลขที่ไม่มีความหมายของใครหลายคน แต่ถ้าคุณเป็นแฟนกีฬาอเมริกันฟุตบอล โดยเฉพาะ นิวอิงแลนด์ เพเทรียตส์ และ แอตแลนตา ฟอลคอนส์ นี่คือเลขที่คุณจะไม่มีวันลืม

เพราะนี่คือสกอร์ที่เกิดขึ้นในซูเปอร์โบวล์ครั้งที่ 51 ในช่วงกลางควอเตอร์ 3 ซึ่งฟอลคอนส์นำเพเทรียตส์อยู่ 28-3 ก่อนที่ ทอม เบรดี้ และผองเพื่อน จะทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ ด้วยการคัมแบ็กที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จนกลับมาเป็นผู้ชนะ 

เนื่องจากการครบรอบ 5 ปี ของเกมที่แฟนอเมริกันฟุตบอลทั่วโลกที่ดูเกมนี้จะไม่มีวันลืม Main Stand จะพาทุกคนไปดูกันว่า การกลับมาสุดยิ่งใหญ่ของ เพเทรียตส์ และการลื่นล้มจนถ้วยหลุดมือครั้งใหญ่ของ ฟอลคอนส์ เกิดขึ้นได้อย่างไร

28-3 มาจากไหน ? 

ก่อนที่เราจะไปดูการคัมแบ็กที่ไม่มีวันลืมของ นิวอิงแลนด์ เพเทรียตส์ เราต้องมาดูกันก่อนว่า สกอร์ 28 ต่อ 3 อันเป็นตำนานของโลกอเมริกันฟุตบอลนั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

ถึงจะโดนนำถึง 25 แต้ม ก่อนพลิกกลับมาได้ แต่ทีมนักรบกู้ชาติไม่ได้โดน แอตแลนตา ฟอลคอนส์ ไล่ถลุงเกือบทั้งเกมขนาดนั้น หากแต่สู้ได้เป็นอย่างดีในช่วงต้นเกม

 

สกอร์ 0-0 หลังจบควอเตอร์แรก คือหลักฐานอย่างดีว่าในช่วงเริ่มต้นของเกมซูเปอร์โบวล์ 51 เพเทรียตส์ไม่ได้เป็นรองฟอลคอนส์แม้แต่น้อย ในควอเตอร์แรกทีมดังจากนิวอิงแลนด์ทำระยะได้ถึง 72 หลาจากการเล่นเกมบุก 12 เพลย์ เยอะกว่าฟอลคอนส์ที่ทำได้เพียง 56 หลาจากการเล่น 9 เพลย์ 

แม้ว่ารูปเกมช่วงแรกไม่ได้เป็นรอง แต่สิ่งที่น่ากังวลของเกมรุกเพเทรียตส์ได้แสดงออกมาเรื่อย ๆ นั่นคือความดุดันของทีมรับฟอลคอนส์ เพราะผู้เล่นเกมรับของฟอลคอนส์มาพร้อมกับความดุดันเต็มพิกัด พวกเขาวิ่งไปทั่วสนามและคอยเล่นงานผู้เล่นทีมบุกของเพเทรียตส์ 

ในช่วงควอเตอร์แรก ทีมรับของฟอลคอนส์ส่งสัญญาณเตือนให้กับเพเทรียตส์ ด้วยการแซ็คใส่ (ทำให้ควอเตอร์แบ็กเสียระยะหลังแนววางลูก) จน ทอม เบรดี้ ร่วงลงไปกองกับพื้นถึง 2 ครั้ง เป็นการบอกให้คู่แข่งได้รู้ว่าพวกเขาเอาจริงแค่ไหนกับความพยายามที่จะอัดผู้เล่นเกมบุกของแพตให้ลงไปกองให้ได้

สุดท้ายความพยายามของทีมรับของฟอลคอนส์ก็เห็นผลทันที หลังจากเข้าควอเตอร์ 2 ด้วยการทำให้ เลอการ์เรตต์ บลอนต์ (LeGarrette Blount) รันนิ่งแบ็ก หรือตัววิ่งของเพเทรียตส์ทำบอลหลุดมือ (ภาษาในกีฬาอเมริกันฟุตบอลเรียกว่า ฟัมเบิล) จนได้บอลกลับมาครอบครองในที่สุด 

 

หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นเกมเปลี่ยนทันที แอตแลนตา ฟอลคอนส์ ใช้เวลาเพียง 1 นาทีกับอีก 53 วินาที ทำทัชดาวน์แรกของเกมพาฟอลคอนส์ขึ้นนำ 7 ต่อ 0

ไม่ใช่แค่เกมรุกของเพเทรียตส์ที่โดนทีมรับของฟอลคอนส์เล่นงาน ในทางกลับกันทีมบุกของฟอลคอนส์ก็อัดทีมรับของเพเทรียตส์จนหมดสภาพเช่นกัน

ในฐานทีมที่ทำแต้มเยอะที่สุดของฤดูกาล 2016 ความครบเครื่องของทีมรุกฟอลคอนส์ ไม่ว่าจะเป็นเกมขว้างหรือเกมวิ่ง เล่นงานทีมรับเพเทรียตส์จนหัวหมุน เรียกได้ว่าพวกเขาตามแผนเกมบุกของฝั่งฟอลคอนส์ไม่ทันแม้แต่น้อย 

แอตแลนตา ฟอลคอนส์ ใช้เวลาเพียง 3 นาที กับ 42 วินาทีเท่านั้นในการทำระยะมากถึง 133 หลา และสร้าง 2 ทัชดาวน์ให้กับทีม พาฟอลคอนส์นำแพเทรียตส์ 14 ต่อ 0 

หลังจากนั้นทีมรุกของเพเทรียตส์ทำพลาดอีกครั้ง เนื่องจาก ทอม เบรดี้ ขว้างบอลไปเข้ามือของผู้เล่นทีมรับฟอลคอนส์ (ภาษาอเมริกันฟุตบอลเรียกว่า อินเตอร์เซปต์)

 

ก่อนที่ โรเบิร์ต อัลฟอร์ด ชายผู้ทำอินเตอร์เซปต์มาได้ จะวิ่งย้อนเข้าไปในเอนด์โซนของทีมเพเทรียตส์ กลายเป็นทัชดาวน์ที่ 3 ของเกม พร้อมกับส่งให้ฟอลคอนส์ขึ้นนำเป็น 21 ต่อ 0

อันที่จริงการเล่นเกมบุกครั้งนี้เพเทรียตส์ทำระยะได้ถึง 52 หลา และบุกไปถึงเส้น 23 หลาของทีมฟอลคอนส์ที่ถือเป็นระยะที่สามารถมีสกอร์ติดมือได้สบาย ๆ แต่ความผิดพลาดจากการอ่านแผนเกมรับผิด ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนักกับ ทอม เบรดี้ ส่งผลเสียมหาศาล ด้วยการเสียอีกทัชดาวน์ให้เพเทรียตส์ 

ในช่วงท้ายของควอเตอร์ 2 ทีมบุกของเพเทรียตส์ได้โอกาสอีกครั้ง และเป็น ทอม เบรดี้ ที่ของขึ้นจากความผิดพลาดของตัวเอง ทำระยะ 57 หลาในช่วงเวลา 1 นาที 30 วินาที พาทีมบุกของแพตได้โอกาสไปเล่นเกมบุกถึงเส้น 15 หลา ของแดนฟอลคอนส์

แต่กลายเป็นว่าทีมดังจากนิวอิงแลนด์กลับทำผิดพลาดอีกครั้ง จากโอกาสที่จะได้ทัชดาวน์ จนสุดท้ายต้องมาเตะฟิลด์โกล เพื่อเอา 3 คะแนนก่อนจบครึ่งแรก ด้วยสกอร์ 21 ต่อ 3

 

เริ่มครึ่งหลังมาในควอเตอร์ 3 ก็ยังเป็นฟอลคอนส์ที่รักษาโมเมนตัมมาจากครึ่งเวลาแรก พวกเขาโชว์เกมรุกทำระยะ 88 หลา และจบด้วยทัชดาวน์ตามคาดอีกครั้ง กลายเป็นสกอร์ 28 ต่อ 3

นี่คือจุดเริ่มต้นของตัวเลขที่แฟนอเมริกันฟุตบอลคุ้นเคยกันดี ณ เวลานั้นไม่เคยมีทีมไหนที่โดนนำ 25 แต้มในซูเปอร์โบวล์แล้วจะกลับมาชนะได้ ใคร ๆ ก็เชื่อว่า แอตแลนตา ฟอลคอนส์ จะได้เป็นแชมป์ซูเปอร์โบวล์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของแฟรนไชส์ ตั้งแต่ยังไม่จบควอเตอร์ 3 

แต่ช่วงเวลาหลังจากนี้คือหนังคนละเรื่อง

ชายที่ชื่อ ทอม เบรดี้ 

แม้จะโดนนำห่าง 25 แต้ม หากมองถึงรูปเกมจริง ๆ เพเทรียตส์ไม่ได้แย่ขนาดนั้น โดยเฉพาะเกมบุกของทีมที่มีผลงานได้น้ำได้เนื้อ แต่เป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นทำให้ทำแต้มหลุดมือไปเสียหมด จากที่ควรจะมีสัก 14 แต้มจาก 2 ทัชดาวน์ที่ควรทำได้ กลายเป็นเหลือแค่ 3 คะแนน แถมเสียไป 7 คะแนนให้กับฟอลคอนส์จากจังหวะที่เบรดี้เสียอินเตอร์เซปต์อีกต่างหาก

 

ดังนั้นหากทีมรุกของเพเทรียตส์ไม่พลาดง่าย ๆ สกอร์ของเกมควรจะออกมาเป็น 21 ต่อ 14 ไม่ใช่ 28 ต่อ 3 หรือควรจะออกมาสูสี เป็นรองนิดหน่อยตามรูปเกมที่ออกมา และเราพูดได้ว่าการโดนนำ 28-3 เป็นสกอร์ที่เกินจริงอยู่เหมือนกัน 

เหตุผลสำคัญที่ทำให้เกมรุกของเพเทรียตส์เกิดความผิดพลาดอยู่บ่อยครั้ง มาจากเกมวิ่งของทีมที่ฝืดเคืองสุด ๆ เพราะ เลอการ์เรตต์ บลอนต์ ตัววิ่งคนเก่งของเพเทรียตส์ที่ในฤดูกาลปกติทำระยะวิ่งได้ถึง 1,161 หลา และทำ 18 ทัชดาวน์ มากที่สุดในปี 2016 กลับเงียบสนิทในเกมซูเปอร์โบวล์ครั้งที่ 51 โดยทำระยะได้แค่ 31 หลาเท่านั้นในเกมนี้

เมื่อเกมวิ่งแน่นิ่งไม่ทำงาน ก็เป็นการบีบบังคับให้ทีมต้องเล่นเกมขว้างมากขึ้น ซึ่งหลายคนที่ไม่ได้ดูกีฬาอเมริกันฟุตบอลจริงจัง คงจะไม่รู้ว่าการให้ควอเตอร์แบ็กขว้างบอลบ่อยครั้งไม่ใช่เรื่องดี เพราะเป็นการเล่นที่เสี่ยงมากกว่าเกมวิ่ง มีโอกาสเกิดความผิดพลาดได้มากกว่า โดยเฉพาะการเสียการครอบครองบอลให้กับคู่แข่ง

ดูได้จากการเสียอินเตอร์เซปต์ของ ทอม เบรดี้ จนนำไปสู่การเสียทัชดาวน์ในช่วงควอเตอร์ 2 นั่นก็เป็นเพราะเพเทรียตส์บุกด้วยเกมวิ่งไม่เข้า จนต้องพึ่งพาแต่การขว้างของ ทอม เบรดี้ จนสุดท้ายถูกทีมรับของฟอลคอนส์อ่านแผนเกมออก จนกลายเป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้น 

อย่างไรก็ตามด้วยความที่เกมวิ่งของทีมไม่เข้าท่าบวกกับสกอร์ที่ตามหลังอยู่มาก ยิ่งเป็นการบีบบังคับให้เพเทรียตส์ต้องใช้เกมขว้างเท่านั้นในการสร้างเกมบุกให้กับทีม ซึ่งเท่ากับว่าต้องเล่นเสี่ยงมากกว่าเดิม และมีโอกาสจะถูกฟอลคอนส์ทำแต้มนำห่างขึ้นไปอีก

แต่สถานการณ์สร้างวีรบุรุษเสมอ และไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจาก ทอม เบรดี้ ณ เวลานั้น ก่อนจะได้รับการยกย่องให้เป็น "Greatest of All Time" อย่างไร้ข้อกังขา ควอเตอร์แบ็กหมายเลข 12 ของเพเทรียตส์ ต้องเจอบททดสอบที่ยากหินที่สุดของอาชีพ กับการพาทีมที่ตามหลัง 25 แต้มกลับมาชนะให้ได้ แถมยังต้องแบกภาระไว้บนบ่าเต็ม ๆ ที่จะพลาดไม่ได้แม้แต่ครั้งเดียว

โชคดีที่ ทอม เบรดี้ เป็นคนชอบการท้าทายตัวเองแบบนี้อยู่แล้ว บททดสอบสุดหินที่เขาเจอ เปิดโอกาสให้ TB12 พิสูจน์ตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่า ในฐานะผู้ชนะที่นำทีมกลับมาได้

ในเกมนี้ ทอม เบรดี้ ขว้างแหลกถึง 62 ครั้ง สำเร็จ 43 ครั้ง ทำระยะไป 466 หลา มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของเกมซูเปอร์โบวล์ตลอดกาลมาจนถึงปัจจุบัน 

ชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=Dek2iKYI7eQ

ความสำเร็จของ ทอม เบรดี้ ที่เกิดขึ้นในเกมนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นประสบการณ์ที่ตัวเขาสั่งสมมาจากการเล่นซูเปอร์โบวล์ก่อนหน้านี้ถึง 6 ครั้ง ผ่านทั้งมาชัยชนะและความพ่ายแพ้ มีทั้งโดนพลิกแซง รวมถึงพาทีมไปพลิกคว้าชัย เขาเจอมาหมดแล้ว

"ซูเปอร์โบวล์เป็นเกมที่ประหลาด ผมผ่านมาเยอะ บางทีเกมก็พลิกไปทางทีมหนึ่ง อยู่ดี ๆ ก็พลิกกลับไปหาอีกทีมหนึ่ง ผมคิดว่าในตอนนั้นเรายังมีอีกหลายวิธีการเล่นที่เรายังไม่ได้ลองใช้ และผมคิดว่าเราทำได้ดีแน่นอน หากมองถึงสไตล์การเล่นของ (ทีมรับ) ฟอลคอนส์" ทอม เบรดี้ กล่าว

การผ่านอะไรหลายอย่างในเกมใหญ่แบบนี้ ทำให้ ทอม เบรดี้ รับมือกับสถานการณ์ได้อย่างถูกต้อง และแม้จะเป็นเกมที่ไม่ง่ายโดยเฉพาะในช่วงครึ่งเวลาแรก แต่เบรดี้ก็เห็นจุดอ่อนที่ชัดเจนในแนวรับของทีมฟอลคอนส์

เบรดี้มองเห็นว่าทีมรับคู่แข่งไม่สามารถหยุดเกมขว้างของเขาได้เต็มรูปแบบ สามารถเสียระยะให้ได้ตลอด โดยเฉพาะหากเบรดี้เลือกออกบอลไว เพื่อไม่ให้แนวรับฟอลคอนส์เข้าถึงตัวและขัดขวางเกมบุกของทีม

นอกจากนี้ทีมรับของฟอลคอนส์ใช้แรงไปเยอะมากในเกมซูเปอร์โบวล์ครั้งนี้ เหตุผลที่เกมรุกของเพเทรียตส์ไปไม่เป็นในช่วงครึ่งเวลาแรกก็เพราะผู้เล่นเกมรับของฟอลคอนส์วิ่งพล่านไปทั่วสนามแบบไม่มีหมด เข้าปะทะผู้เล่นของเพเทรียตส์ได้อย่างรวดเร็วและหนักหน่วง โดยไม่เปิดโอกาสให้ทำระยะกันได้ง่าย ๆ

อย่างไรก็ตามยิ่งเวลาผ่านไปผู้เล่นทีมรับของฟอลคอนส์ก็ยิ่งอ่อนล้า ความรวดเร็วในเกมป้องกันเริ่มหายไป การตัดสินใจผิดพลาดเริ่มมีมากขึ้น และนั่นคือการเปิดช่องครั้งสำคัญให้ ทอม เบรดี้ ได้โจมตี

"สิ่งหนึ่งที่ผมรู้กับการเล่นซูเปอร์โบวล์มาหลายครั้ง นั่นคือในช่วงท้ายเกมเป็นเรื่องยากมากที่ทีมรับจะหยุดเกมรุก ผมบอกได้เลยว่ามันเกิดขึ้นทุกเกมในซูเปอร์โบวล์" ทอม เบรดี้ แสดงถึงประสบการณ์อันโชกโชนในซูเปอร์โบวล์

เบรดี้รู้ดีว่าทีมรับของฟอลคอนส์จะต้องแรงหมด และเขาใช้โอกาสตรงนี้ในการสั่งสอนทีมฟอลคอนส์ชุดนี้ที่ไม่เคยเข้ามาสู่ซูเปอร์โบวล์มาก่อน แตกต่างจากตัวเขาที่เข้าแข่งขันเป็นครั้งที่ 7 ด้วยการขว้างแหลกแล้วปล่อยให้ทีมรับฟอลคอนส์วิ่งกันหัวหมุนแต่ตามลูกบอลไม่ทัน โดนคัมแบ็ก 25 แต้มจนกลับมาเสมอในเวลาปกติได้อย่างเหลือเชื่อ ก่อนที่เบรดี้จะพาทีมทำทัชดาวน์เก็บชัยชนะในช่วงต่อเวลาได้สำเร็จ

นอกจากนี้ ทอม เบรดี้ ยอมรับว่า เขามีไฟที่อยากจะพิสูจน์ตัวเองในเกมนี้เป็นอย่างมาก เพราะในช่วงที่ตัวเขาทำผลงานได้ไม่ดีนัก จนทีมโดนนำ 28-3 ควอเตอร์แบ็กของทีมคู่แข่ง อย่าง แมท ไรอัน กลับระเบิดผลงานทำ 3 ทัชดาวน์ ขว้างบอลแทบไม่พลาดเป้า ซึ่งมันทำให้เบรดี้อยากแสดงให้โลกได้เห็นว่า เขาก็เล่นแบบนั้นได้เหมือนกัน

"ผมคิดว่าผมก็คือผมคนเดิม ผมเล่นได้ตามมาตรฐานของตัวเองเสมอ บางครั้งสถิติที่ออกมาก็ดูไม่ดีนัก แต่สำหรับผมมันไม่สำคัญหรอก มันขึ้นอยู่กับตัวผมเองว่าผมรู้สึกแบบไหน ผมแค่ต้องทำงาน ทำหน้าที่ของผมให้สำเร็จ" ทอม เบรดี้ กล่าว 

อย่างไรก็ตามหากจะถามจริง ๆ ว่า ทำไม นิวอิงแลนด์ เพเทรียตส์ ถึงกลับมาได้ ทอม เบรดี้ ยอมรับตามตรงว่าทั้งตัวเขาและเพื่อนร่วมทีมทุกคนไม่เคยหมดหวังที่จะกลับมาเป็นผู้ชนะ แม้ว่าก่อนหน้านั้นจะไม่เคยมีทีมไหนใน NFL ทำเรื่องแบบนี้ให้เกิดขึ้นได้มาก่อนก็ตาม

"มันขึ้นอยู่กับตัวคุณเองว่าจะเลือกแบบไหน เราพูดได้ทั้ง 'คงไม่มีทางกลับมาชนะในเกมนี้' หรือ 'เราจะสร้างการคัมแบ็กที่น่าเหลือเชื่อให้ได้'"

"ผมตั้งโจทย์ว่าเราต้องกลับมาให้ได้ เพราะถ้าเราทำได้ นี่จะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตนักอเมริกันฟุตบอลอาชีพ มันคือสิ่งที่คุณจะจำไปจนวันตาย"

"เมื่อคิดแบบนั้นแล้ว มันสร้างพลังใจและความกล้าให้กับเราได้เยอะมาก ทำให้เราไม่กลัวที่จะลงไปสู้กับคู่แข่ง" เบรดี้ เล่าถึงทัศนคติที่ทำให้เขากลายเป็นผู้ชนะ

ความผิดพลาดเพียงนิดเดียว

อเมริกันฟุตบอลคือกีฬาที่มีเอกลักษณ์ตรงที่เกมการแข่งขันจะหยุดเสมอหลังจากการเล่น 1 เพลย์จบ และเปิดโอกาสเพียงไม่กี่วินาทีให้แต่ละทีมได้วางแผน เพื่อหาวิธีเล่นเกมรุกหรือเกมรับของตัวเองต่อไป 

มองกันตามหลักวิทยาศาสตร์ เวลาคือสิ่งสำคัญที่สุดที่มีผลต่อการตัดสินใจของมนุษย์ หากมีเวลาที่มากพอและเหมาะสม การตัดสินใจของมนุษย์จะออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมที่สุด

ในทางกลับกันหากมีเวลาน้อยนิด โอกาสที่จะตัดสินใจอย่างผิดพลาดก็จะเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว และสำหรับกีฬาอเมริกันฟุตบอล การมีเวลาไม่กี่วินาทีในการตัดสินใจกับการเล่นที่ชี้ชะตาอนาคตของแฟรนไชส์ การเลือกผิดเพียงนิดเดียวก็อาจส่งผลเสียแบบที่ใครคาดไม่ถึง

แอตแลนตา ฟอลคอนส์ ได้รับบทเรียนนี้ที่พวกเขาจะจำไปอีกนานในซูเปอร์โบวล์ 51 เพราะแม้ว่าเพเทรียตส์จะทำแต้มไล่มาเรื่อย ๆ แต่ด้วยความได้เปรียบ 25 แต้มที่มีเหนือกว่าคู่แข่งก็ควรจะช่วยให้พวกเขาปิดเกมได้ไม่ยาก

ขณะที่เหลือเวลาอีก 5 นาที 53 วินาทีในควอเตอร์ที่ 4 ฟอลคอนส์ก็มีโอกาสได้บุกใส่เพเทรียตส์ และ แมท ไรอัน ควอเตอร์แบ็กของทีมพาทีมบุกจากหน้าบ้านของตัวเองมาถึงเส้น 23 หลาในแดนของเพเทรียตส์ โดยใช้เวลาไปแค่ 1 นาที 13 วินาทีเท่านั้น

ณ สถานการณ์ตรงนั้นฟอลคอนส์ยังนำอยู่ 28 ต่อ 20 และพวกเขามีบอลอยู่ในมือ ซึ่งด้วยตำแหน่งของฟอลคอนส์ พวกเขาการันตีการทำ 3 คะแนนได้แน่นอนเป็นอย่างน้อย เพราะอยู่ในระยะที่สามารถเตะฟิลด์โกลทำคะแนนได้

โดยปกติแล้วทีมที่ขึ้นนำและอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ มักจะนำแผนวิ่งมาใช้งาน เพื่อรักษาระยะพื้นที่ในการครอบครองบอลของทีม ลดโอกาสในการเสียบอลหรือเสียระยะวางลูก ซึ่งถึงจะมีโอกาสได้ทัชดาวน์ยากกว่า แต่อย่างน้อยก็การันตี 3 แต้มในมือ (ในกรณีที่ตัวเตะ เตะฟิลด์โกลเข้า)

ณ ตอนนั้นมีการเปิดเผยว่าโอกาสชนะของฟอลคอนส์อยู่ที่ 92 เปอร์เซ็นต์ และหากเตะฟิลด์โกลเข้า โอกาสชนะของทีมจะเพิ่มเป็น 99 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากจะนำห่างเป็น 11 แต้ม และด้วยช่วงเวลาที่เหลือประมาณ 4 นาที เป็นเรื่องที่ยากมากที่เพเทรียตส์จะทำคะแนนตามตีเสมอได้ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเล่นเสี่ยง

อย่างไรก็ตามฟอลคอนส์ไม่ทำแบบนั้น พวกเขาเลือกที่จะใช้แผนขว้างให้ แมท ไรอัน ถือบอล เตรียมขว้างเพื่อหวังทำทัชดาวน์ และหากได้มาก็จะปิดเกมนี้ในทันที แต่มันเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดอย่างถึงที่สุด

ชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=_7JH-Newv6Y

แมท ไรอัน ถูกแซ็คจนเสียระยะไปอยู่ที่เส้น 35 หลาในแดนของเพเทรียตส์ ก่อนที่ในเพลย์ถัดมาฟอลคอนส์จะเสียโทษอีก 10 หลา จนสุดท้ายออกมาจากระยะฟิลด์โกล และในการบุกครั้งนี้พวกเขาไม่ได้สักแต้มติดมือ

การตัดสินใจที่ผิดพลาดเลือกให้ แมท ไรอัน ถือบอลเล่นเกมขว้างจนกลายเป็นถูกแซ็คเสียระยะ แทนที่จะใช้เกมวิ่งเพื่อรักษาบอลแล้วเอา 3 คะแนนของ แอตแลนตา ฟอลคอนส์ ยังคงถูกกล่าวถึงจนทุกวันนี้ในฐานะเพลย์สำคัญที่ทำให้ทีมจากแดนใต้ของสหรัฐอเมริกาไม่ได้ครองแชมป์ซูเปอร์โบวล์ในบั้นปลาย

สิ่งที่น่าสนใจคืออะไรทำให้ แอตแลนตา ฟอลคอนส์ ตัดสินใจแบบนั้น แน่นอนว่าวิทยาศาสตร์มีคำตอบ มีการรายงานว่าบุคคลที่อยู่ในภาวะเครียดกดดันและรู้สึกตกอยู่ในอันตรายจะมีโอกาสติดสินใจผิดพลาดมากกว่าปกติ

แน่นอนว่า แอตแลนตา ฟอลคอนส์ อยู่ในสภาวะดังกล่าวเต็ม ๆ หลังจากโดนเพเทรียตส์ไล่ทำแต้มเข้ามา จนใกล้จะตามตีเสมอได้ ทำให้ทีมมองถึงการปิดเกมแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากเกินไป ด้วยการหวังทำทัชดาวน์ โดยลืมความจริงที่ว่าแค่พวกเขาได้ 3 แต้มจากการเตะฟิลด์โกลก็เพียงพอแล้วที่จะสร้างความกดดันให้กับฝั่งของนิวอิงแลนด์ 

สุดท้ายแล้วก็วนกลับมาที่เรื่องเดิมนั่นคือ สภาพความคิดและจิตใจ ในขณะที่ ทอม เบรดี้ กับทีมเพเทรียตส์มีจิตใจที่มั่นคงพาทีมกลับมาชนะได้ ทีมฟอลคอนส์กลับพ่ายแพ้ให้กับความเครียด และความกดดันจนนำไปสู่การล้มเหลวของทีม

การคว้าแชมป์ซูเปอร์โบวล์ไม่ใช่เรื่องง่าย ต่อให้ผ่านเกมยากลำบากในกีฬาอเมริกันฟุตบอลมามากแค่ไหน ก็ไม่มีสิ่งใดที่จะหนักเท่าเกมนี้ เพราะนี่คือเกมที่ทุกวินาทีมีความหมาย และผลการแข่งขันสามารถพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ แม้เหลือเวลาแค่ 1 วินาที

สุดท้ายแล้ว เรื่องราวของ ฟอลคอนส์ กับ เพเทรียตส์ ในซูเปอร์โบวล์ 51 คือสิ่งที่บอกว่าการจะเป็นแชมป์ เป็นผู้ชนะ คุณต้องพร้อมทุกอย่างทั้งร่างกายและจิตใจ 

เมื่อโอกาสมาถึงคุณต้องเชื่อมั่น อย่ากลัวที่จะผิดพลาด จงมองถึงอนาคตที่เราจะกลายเป็นผู้ชนะ ทำงานของคุณให้สำเร็จลุล่วง เพื่อให้ฝันของคุณเป็นจริง 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook