เฟคเหรอ…แล้วไง ? : เมื่อ WWE บอกว่ามวยปล้ำไม่ใช่กีฬาแต่คือสุดยอดความบันเทิง
WWE มีที่มาจากคำว่า World Wrestling Entertainment เมื่อมีคำว่า Wrestling แน่นอนว่ามันก็ต้องหมายถึงการแข่งขันมวยปล้ำอาชีพ ... มันควรเป็นเช่นนั้น ทว่า WWE กลับเป็นฝ่ายบอกเองว่าพวกเขาอาจจะทำธุรกิจมวยปล้ำ แต่มวยปล้ำของพวกเขาไม่ใช่กีฬา ?
พวกเขาถูกแซว โดนแขวะ และโดนดูถูกว่าเป็นของเฟค ๆ ไม่ใช่มวยปล้ำของจริงมาตลอด และพวกเขาก็พยายามปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดมาเป็นเวลานาน
แต่แล้ววันหนึ่งพวกเขาก็ยอมรับคำถากถางทุกคำอย่างเต็มใจ … พวกเขาทำแบบนั้นไปเพื่ออะไร ? ติดตามได้ที่ Main Stand
เริ่มจากมวยปล้ำ และมองเห็นโอกาส
ธุรกิจของ WWE เป็นของตระกูล แม็คแมน มาแต่ไหนแต่ไร พวกเขาอยู่กับธุรกิจมวยปล้ำมาตั้งแต่ยุค 50s จนกระทั่งล่วงเลยมาถึงยุคของทายาทรุ่นที่ 2 วินซ์ แม็คแมน จูเนียร์ หรือชื่อเต็มว่า วินเซนต์ เคนเนดี้ แม็คแมน กิจการประจำตระกูลก็เติบโตขึ้นด้วยมุมมองของ วินซ์ เอง
เดิมที วินซ์ ซีเนียร์ หรือชื่อเต็ม วินเซนต์ เจมส์ แม็คแมน ผู้เป็นพ่อมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้มวยปล้ำกลายเป็นรายการโทรทัศน์ เพื่อทำให้องค์กรเติบโตขึ้น มีรายได้มากขึ้น แทนที่จะหารายได้จากการเก็บบัตรเข้าชมจากแฟน ๆ ที่มาชมการแข่งขันเพียงอย่างเดียว
มาถึงรุ่น วินซ์ จูเนียร์ เขาพยายามจะทำให้ WWE (หรือ WWF ในอดีตที่ย่อมาจาก World Wrestling Federation) กลายเป็นสมาคมมวยปล้ำที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก เขาทุ่มซื้อสมาคมที่เป็นคู่แข่งมาเป็นของตัวเอง อาทิ AWA (American Wrestling Association) ซึ่งเป็นสมาคมที่ทำให้เขาได้เจอกับ ฮัลค์ โฮแกน ที่กลายเป็น "ซูเปอร์สตาร์" ขององค์กรในเวลาต่อมา
โดยจุดประสงค์เริ่มต้นของการซื้อคู่แข่งก็เพื่อการล้มธรรมเนียมปฏิบัติแบบเก่า ๆ ที่ว่าสมาคมมวยปล้ำแต่ละสมาคมจะมีถิ่นของตัวเอง และพวกเขาจะไม่ไปหากินทับที่กัน ... การซื้อสมาคมของถิ่นอื่นมาเป็นของตัวเองทำให้เขาสามารถหากินข้ามพื้นที่ได้ด้วย
การจะทำให้มวยปล้ำประสบความสำเร็จในรายการโทรทัศน์ได้ วินซ์ มีความคิดง่าย ๆ ว่าจะปล่อยให้แต่ละแมตช์เป็นไปโดยธรรมชาติแบบที่แพ้ชนะตัดสินกันหน้างานไม่ได้เด็ดขาด เพราะทุกการถ่ายทอดสดมีเวลาจำกัด และคนดูก็มีรีโมตทีวีอยู่ในมือ หากพวกเขาพบว่ารายการไหนน่าเบื่อเกิน 10 วินาที รับรองว่าพวกเขาเปลี่ยนช่องแน่นอน
ดังนั้น วินซ์ แม็คแมน จึงกำหนดรูปแบบการปล้ำของ WWE ขึ้นมาใหม่ให้เน้นเรื่องความสนุก เพื่อให้แฟน ๆ ติดตามตลอดจนจบรายการ ดังนั้นทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามบทเหมือนกับละครสักเรื่องหนึ่ง มีเรื่องราวของความเป็นมนุษย์จัดเต็มแบบไม่ยั้ง มีฝ่ายธรรมะปะทะฝ่ายอธรรม มีรัก โลภ โกรธ หลง เรียกได้ว่าทำทุกอย่างเพื่อเรตติ้ง อันเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ ด้วยการเดินหน้าหาเงินกับการโฆษณาและสปอนเซอร์อย่างเต็มตัวและประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้อย่างที่ทุกคนรู้กัน
ทว่าหากย้อนกลับไป ณ เวลานั้นคือช่วงปลายยุค 80s ต่อ 90s WWE ยังถูกตีความว่าเป็น "กีฬามวยปล้ำ" อยู่ เพียงแต่ว่านับวันการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางความบันเทิงก็เพิ่มขึ้นตาม มีการวางบทบาทคาแร็กเตอร์ให้กับนักมวยปล้ำ มีการวางสคริปต์ก่อนล่วงหน้าว่าใครจะป็นแชมป์ พร้อมกับออกแบบการแข่งขันแต่ละนัดว่าจะต้องทำให้มีรสชาติแบบไหน
การ "ล็อกตัวผู้ชนะ" นี้เองที่ทำให้มันกลายเป็นปัญหา มันกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ วินซ์ แม็คแมน ต้องหาทางออก และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขององค์กรไปตลอดกาล
จากกีฬาสู่ธุรกิจความบันเทิง
ปี 1989 วินซ์ แม็คแมน และ ลินดา แม็คแมน ภรรยาของเขาที่เป็นหนึ่งในผู้บริหารขององค์กร ได้ออกมายืนยันด้วยตัวเองว่า มวยปล้ำของพวกเขาจะไม่ใช่การแข่งขันกีฬาเพื่อความเป็นเลิศอีกต่อไป จากนี้ไปจะกลายเป็นธุรกิจความบันเทิงเท่านั้น ... คำถามคือทำไมพวกเขาต้องทำแบบนั้น ? ทำไมพวกเขาต้องทำในสิ่งที่คล้าย ๆ กับการหักหลังแฟน ๆ ที่ชอบดูมวยปล้ำในรูปแบบของกีฬา พวกเขายอมเสียฐานแฟนคลับกลุ่มนี้ไปเพื่ออะไร ?
ก่อนหน้านี้ วินซ์ พยายามรักษาภาพความเป็นกีฬามาโดยตลอด เพราะเขามักจะโดนโจมตีเรื่องการดูถูกคนดู การล็อกผลการแข่งขันที่ผิดกับคำว่ากีฬาโดยสิ้นเชิง กีฬาคือการแข่งขัน ไม่ใช่การจัดฉากเพื่อเรียกยอดคนดู จนกระทั่งมาถึงปี 1989 เขาก็ยอมรับความเป็นจริงข้อนั้น เขาต้องยอมรับว่าองค์กรของตัวเองเป็นความบันเทิงเต็มรูปแบบ
"มวยปล้ำของเราไม่เหมือนกับนักมวยอาชีพ นักมวยปล้ำของเราไม่ได้แข่งขันเพื่อทำคะแนนหรือสกอร์ มวยปล้ำเป็นกีฬาที่ผู้ชนะต้องทำร้ายคู่ต่อสู้ ทำให้คู่แข่งบาดเจ็บ"
"นักกีฬาของเราต้องฝึกฝนจนมีร่างกายที่เหมาะสมแข็งแกร่งที่สุดสำหรับงานของพวกเขา สิ่งที่พวกเขาทำจากนี้จะเป็นการสร้างความบันเทิงสำหรับผู้คน ... ผมคิดว่ามวยปล้ำอาชีพไม่ควรเป็นกีฬา" วินซ์ ว่าไว้เช่นนั้น
จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม WWE แบกคำว่ากีฬาไว้บนบ่ามานานร่วม 30 ปี (ย้อนกลับไปถึงตอนที่บรรพบุรุษของเขาก่อตั้ง Capitol Wrestling Corporation หรือ CWC ต้นกำเนิดของ WWE ในปัจจุบันเมื่อปี 1953) แต่อยู่ ๆ พวกเขาก็บอกว่าตัวเองเป็นธุรกิจบันเทิงหรือ "เอนเตอร์เทนเมนต์" แม้เขาจะอ้างเรื่องการออกแบบการสู้เพื่อรักษาความปลอดภัยของนักกีฬา แต่ที่สุดแล้วมันมีเหตุผลที่ลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น
เรื่องนี้มันเป็นเรื่องของกฎหมาย ในช่วงปี 1989 มีการออกกฎหมายของรัฐนิวเจอร์ซีย์ ที่ควบคุมการแข่งขันมวยปล้ำอาชีพ และเนื้อความในกฎหมายทำให้เกิดข้อจำกัดบางอย่างที่ทำให้ WWE ต้องเปลี่ยนรูปแบบ และไม่สามารถทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำได้ ดังนั้นการออกมายืนยันด้วยตัวเองว่า "มวยปล้ำของพวกเขาไม่ใช่กีฬา แต่คือความบันเทิง" ก็มีเหตุผลเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายเกี่ยวกับกีฬามวยปล้ำนั่นเอง
กฎดังกล่าวที่ทำให้ WWE ต้องออกจากการเป็นกีฬาคือ ทุก ๆ คนที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันจะต้องมีใบอนุญาต ไล่ตั้งแต่นักมวยปล้ำ กรรมการ คนจับเวลาแต่ละไฟต์ ซึ่งนั่นบีบให้ WWE ของ วินซ์ ไปเอาดีทางด้านการเอนเตอร์เทนคนดูเต็มรูปแบบไม่ได้ เนื่องจากไม่มีอิสระในการสร้างบทบาทและคาแร็กเตอร์ต่าง ๆ ให้กับนักมวยปล้ำ
ประการที่สองสำคัญที่สุด คือหลังจากที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันจะต้องลงทะเบียนแล้ว ทุก ๆ คนที่ลงทะเบียนจะต้องถูกเรียกเก็บภาษีสำหรับการแข่งขัน คนไหนมีบทบาทมาก แข่งบ่อย ออกโทรทัศน์บ่อยก็จะต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งจุดนี้ทำให้ วินซ์ มองว่าหากเขาทำให้องค์กรของพวกเขาอยู่ในสถานะ "กีฬา" ต่อไป รังแต่จะทำให้เกิดการถดถอย มวยปล้ำของเขาจะไม่สนุกเหมือนเดิม ลูกค้าอาจจะหดหายเมื่อความสนุกหายไป และยังต้องแบกภาระภาษีที่ต้องชำระให้กับทุก ๆ คนในองค์กรอีกด้วย ... กระนั้นแล้วก็ไม่รู้จะทนอยู่ในสถานะนี้เพื่ออะไร
ในเมื่อทุกคนก็คิดว่าเขาเป็นคนที่ทำให้มวยปล้ำเป็นเรื่องเฟคและหลอกลวงคนดูอยู่แล้ว ถึงเวลาแล้วที่เขาจะทำให้ WWE กลายเป็น สปอร์ต เอนเตอร์เทนเมนต์ อย่างเต็มรูปแบบ
ความบันเทิงเต็มรูปแบบ
"นี่คือกิจกรรมที่ผู้เข้าร่วมต่อสู้ด้วยมือเปล่าเป็นหลักเพื่อจุดประสงค์ในการให้ความบันเทิงแก่ผู้ชมมากกว่าการแข่งขันกีฬาโดยสุจริต" นี่คือสิ่งที่ วินซ์ แม็คแมน กล่าวต่อหน้าวุฒิสภาแห่งรัฐนิวเจอร์ซีย์ในร่างกฎหมายให้ถอดมวยปล้ำออกจากระเบียบที่เคยบังคับใช้
การยอมรับว่าตัวเองเป็นการแข่งขันที่ล็อกผล เน้นสนุก มีสคริปต์ เหมือนกับละคร ครั้งนี้เป็นเหมือนการดึงม่านออกจนสุดของ WWE ว่าพวกเขาไม่มีอะไรให้ต้องเปิดบังอีกแล้ว หลังจากที่เคยเถียงเรื่องนี้กับสมาคมมวยปล้ำอื่น ๆ มาตลอด สิ่งที่ตามมาคือ WWE และ วินซ์ ถูกเยาะเย้ยถากถางและสุดท้ายก็ต้องสารภาพเรื่องด้วยตัวเองหลังจากหัวหมอมานาน
ทุกคนต่างคิดว่ากระแสอาจจะตีกลับ ในเมื่อเจ้าของยอมรับเองว่าทุกอย่างในการแข่งขันมวยปล้ำของ WWE ถูกกำหนดผลการแข่งขันไว้ล่วงหน้า จะมีแฟน ๆ ที่รักมวยปล้ำที่ศรัทธาหรือติดตาม WWE น้อยลงอย่างแน่นอน
ของบางอย่างจะขายดีได้ก็ไม่ได้อยู่ที่บรรจุภัณฑ์ แต่มันอยู่ที่สินค้าภายในต่างหาก สำหรับ WWE เปรียบเหมือนสินค้าความบันเทิงชั้นยอด สนุก ตลก ฮา สะใจ และกระตุ้นอะดรีนาลีนคนดูได้เป็นอย่างดี แค่เปลี่ยนกรอบจากกีฬาเป็นความบันเทิง ไม่สามารถทำให้ความนิยมของพวกเขาตกลงไปด้วย หนำซ้ำมันยังเป็นการหลุดออกจากกรอบ ทำให้พวกเขาคิดได้อย่างอิสระ และประสบความสำเร็จกว่าเดิมอีกด้วยซ้ำ
เมื่อหลุดจากสถานนะการแข่งขันกีฬาแล้ว ก็เป็นอันว่า WWE หลุดจากกฎข้อบังคับโดยปริยาย การแข่งขันมวยปล้ำจะไม่อยู่ภายใต้การจับตามองของคณะกรรมาธิการของรัฐอีกต่อไป และด้วยเหตุนี้จึงไม่จำเป็นต้องให้นักมวยปล้ำลงทะเบียนกับทางรัฐเพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน หรือแม้กระทั่งการมีรถพยาบาลที่มีเครื่องช่วยชีวิตตามระเบียบประจำการอยู่ที่ข้างสนาม เนื่องจากนักกีฬาจะไม่ได้รับบาดเจ็บหนักอีกต่อไป ทำให้ WWE เดินหน้าสู่ความบันเทิงได้อย่างเต็มที่
WWE รุดหน้าไปไกลมากเมื่อพวกเขากำหนดให้ตัวเองเป็น สปอร์ต เอนเตอร์เทนเมนต์ ซึ่งหลังจากนั้นความสนุกของมวยปล้ำของพวกเขาก็ทำให้พวกเขาเรียกคนดูเพิ่มความนิยมได้เป็นเท่าตัว จนสามารถเป็นการแสดงอันแสนจะดุเดือดครบรส และเป็นจุดเปลี่ยนของวงการมวยปล้ำอาชีพโดยแท้จริง
สปอร์ต เอนเตอร์เทนเมนต์ ของ WWE ภายใต้แนวคิดที่แตกต่างจาก มวยปล้ำ (Professional Wrestling) ของสมาคมมวยปล้ำอื่น ๆ อย่าง AEW (All Elite Wrestling) อย่างสิ้นเชิง และเพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจง่ายที่สุด
WWE ไม่เรียกนักกีฬาของพวกเขาว่า "นักมวยปล้ำ" แต่เรียกคนเหล่านี้ว่า "ซูเปอร์สตาร์" และขยายความด้วยว่า "นักแสดงทักษะทางกีฬา ผู้มีร่างกายจับต้องได้จริง มีความสามารถในการแสดงที่เด่นชัด มีเสน่ห์ในการเรียกคนดูและทำให้คาแร็กเตอร์ของพวกเขามีชีวิต"
คนที่จะมาเป็นซูเปอร์สตาร์สำหรับ WWE ได้ต้องมีคุณสมบัติมากมาย มีร่างกายที่แข็งแกร่ง มีทักษะทางการแสดง มีทักษะทางการพูด หรือทักษะทางมวยปล้ำที่หลากหลาย แต่นั่นยังไม่จบพวกเขาเหล่านี้จะได้รับบทบาทของตัวเองจากคนเขียนบท มีสคริปต์เป็นปึก ๆ ที่ต้องท่องและจดจำให้ขึ้นใจก่อนที่จะขึ้นเวทีไปปล้ำสักแมตช์
มันไม่สำคัญว่าใครจะแพ้ชนะบนเวที แต่สำหรับ WWE การต่อสู้ต้องเอนเตอร์เทนคนดูให้สุด สตาร์ของเขาจะต้องกลายเป็นที่จดจำ มีคนดู มีแฟนคลับคอยติดตาม ซึ่งจุดนี้จะเป็นข้อเสียเล็ก ๆ สำหรับสตาร์แต่ละคน เพราะพวกเขาไม่มีสิทธิ์แสดงความเป็นตัวของตัวเองได้เลย พวกเขาจะต้องยึดติดกับคาแร็กเตอร์ที่กำหนดไว้ให้ ซึ่งจุดนี้เองแตกต่างจากนักมวยปล้ำอาชีพจากค่ายอื่น ๆ อย่างชัดเจน
แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่ชื่นชอบและชื่นชมการกระทำของ วินซ์ แม็คแมน และการเปลี่ยน WWE ให้เป็นเหมือนกับละครแทนที่จะเป็นกีฬาที่วัดความแข็งแกร่งของนักกีฬาทั้งสองฝ่าย
อย่างไรก็ตามไม่สำคัญว่าพวกเขาจะโดนค่อนขอดแบบไหน WWE ได้กลายเป็นองค์กรที่เติบโตขึ้น ทำเงินได้มหาศาล และเพิ่มมูลค่าไม่มีหยุดในทุก ๆ ปี นั่นก็เพราะการกล้าประกาศตัวเองว่าเป็น สปอร์ต เอนเตอร์เทนเมนต์ โดยไม่มีกั๊ก ยอมรับตัวตนที่ตัวเองเป็น และพัฒนามันด้วยแนวคิดที่ใช้คนดูเป็นผลลัพธ์ แม้ผลลัพธ์บางครั้งมันจะขัดใจคนดูก็ตาม
หากเป็นภาพยนตร์สักเรื่อง WWE ก็เหมือนกับหนังพันล้านที่โดนนักวิจารณ์หรือคนในวงการตามแขวะแล้วให้คะแนนติดลบ แจกมะเขือเน่าเป็นไร่ ... แต่สำหรับคนดูน่ะเหรอ ? ไม่ต้องถามเลย คนดูเหล่านี้เต็มใจอย่างมากที่จะเข้าไปเสพความบันเทิงที่ WWE จัดไว้ให้ ไม่ว่าพวกเขาจะต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนเท่าไหร่ก็ตาม
เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับว่าคุณตั้งเป้าและมองความสำเร็จของตัวเองไว้แบบไหน สำหรับ วินซ์ และ WWE พวกเขาเจอเป้าหมายและต่อยอดจนกลายเป็นความสำเร็จในแบบที่แทบมองไม่เห็นใครจะมาล้มได้เลย ณ เวลานี้