มาซาโนริ มุราคามิ: นักเบสบอลที่ทำให้ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-สหรัฐฯ ขาดสะบั้น

มาซาโนริ มุราคามิ: นักเบสบอลที่ทำให้ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-สหรัฐฯ ขาดสะบั้น

มาซาโนริ มุราคามิ: นักเบสบอลที่ทำให้ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-สหรัฐฯ ขาดสะบั้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมเจอร์ลีกเบสบอล (MLB) ของสหรัฐอเมริกา ถือเป็นเป้าหมายหลักในการพิสูจน์ตัวเองของนักเบสบอลญี่ปุ่น ที่ทำให้นักเบสบอลเลือดซามูไรพากันไปโกยเงินดอลลาร์เป็นจำนวนมากในแต่ละปี

และเมื่อ 60 ปีก่อน ก็มีนักเบสบอลชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งที่ชื่อว่า มาซาโนริ มุราคามิ ที่ไปสร้างผลงานที่โดดเด่นที่สหรัฐฯ และกลายเป็นขวัญใจของคนที่นั่น 

อย่างไรก็ดีแทนที่เขาจะเป็นใบเบิกทางให้นักเบสบอลจากแดนอาทิตย์อุทัยข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปโชว์ฝีมือ กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ความสัมพันธ์ของเบสบอลของญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ต้องชะงักลงกว่าหลายสิบปี

 

เกิดอะไรขึ้นในตอนนั้น ? ติดตามเรื่องราวไปพร้อมกับ Main Stand

เบสบอลเชื่อมสัมพันธ์ 

แม้ว่าจะอยู่ห่างกันคนละซีกโลก แต่ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาก็เป็นชาติที่มีความสัมพันธ์เชิงประวัติศาสตร์มาหลายร้อยปี และที่สำคัญพวกเขาเป็นประเทศที่ชื่นชอบในกีฬาชนิดเดียวกันนั่นคือเบสบอล 

เพราะนับตั้งแต่ ฮอเรซ วิลสัน ครูชาวอเมริกัน และ ฮิโรชิ ฮิราโอกะ วิศวกรรถไฟแนะนำเบสบอลให้คนญี่ปุ่นรู้จักในช่วงทศวรรษที่ 1870s ชาวซามูไรก็โอบรับกีฬาชนิดนี้ จนแพร่หลายไปทั่วประเทศในช่วงต้นทศวรรษ 1900s 

 

จนกระทั่งในปี 1931 เลฟตี โอดูล นักเบสบอลชื่อดังชาวอเมริกันจะทำให้เบสบอลปักธงในแผนที่ญี่ปุ่นได้อย่างมั่นคง หลังวางรากฐาน ถ่ายทอดความรู้ รวมไปถึงขนนักเบสบอลชื่อดังจากอเมริกามาทัวร์แดนซามูไร  

นอกจากนี้เขายังมีบทบาทในการพา เบบ รูธ นักเบสบอลที่เก่งที่สุดของอเมริกาในยุคนั้นมาทัวร์ญี่ปุ่นในปี 1934 จนสามารถดึงดูดคนดูเข้ามาชมการแข่งขันได้รวมกันถึง 65,000 คนที่ เมจิ จิงงุ สเตเดียม ในกรุงโตเกียว และ 75,000 คนที่ โคชิเอ็ง สเตเดียม จังหวัดเฮียวโงะ แถมยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Japanese Baseball League หรือลีกเบสบอลแรกของญี่ปุ่นในปี 1936 

"การมาของ รูธ สำคัญมากสำหรับญี่ปุ่น เขาเป็นนักกีฬาที่โด่งดังที่สุดในโลก เขาเหมือนกับ มูฮัมหมัด อาลี" โรเบิร์ต ฟิตส์ คนเขียนหนังสือ Banzai Babe Ruth กล่าวกับ Saturday Evening Post

"คนญี่ปุ่นมองว่าเบสบอลสมัครเล่นคือความบริสุทธิ์ ส่วนเบสบอลอาชีพมีการซ้อมมาก่อน การทัวร์ของรูธแสดงให้เห็นว่ามันก็มีเกียรติได้เหมือนกัน"

 

หลังจากนั้นเบสบอลก็กลายเป็นเครื่องมือสำคัญทางการทูตระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ มาตลอด ที่แม้อาจจะหยุดไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่กีฬาชนิดนี้ก็มีบทบาทอย่างมากในการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ 

ไม่ว่าจะเป็นการที่ โอดูล พานักเบสบอลอเมริกันมาทัวร์ญี่ปุ่นในช่วงที่ญี่ปุ่นถูกอเมริกายึดครองในปี 1949  ซึ่งช่วยลดความตึงเครียดและกระแสต่อต้านชาวอเมริกันได้ไม่น้อย หรือการส่ง วอลลี โยชิมาเนะ นักเบสบอลชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่น มาเล่นใน Nippon Professional Baseball (ก่อตั้งปี 1950) ในปี 1951 ที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นเปิดใจต่อนักเบสบอลชาวอเมริกันมากขึ้น และได้ยกระดับวงการเบสบอลของพวกเขาเอง

"การมาญี่ปุ่นของ เลฟตี โอดูล ในปี 1949 คือการทูตที่ยิ่งใหญ่ที่สุด (ระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ) เท่าที่เคยมีมา" ดักลาส แมคอาเธอร์ ผู้บัญชาการสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตร กล่าว 

และมันควรจะเป็นเช่นนั้นต่อไป หากไม่เกิดเหตุการณ์ในปี 1964

นักเรียนแลกเปลี่ยน 

ในช่วงทศวรรษที่ 1960s ที่วงการเบสบอลญี่ปุ่นเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง สโมสรของพวกเขาก็ได้เริ่มโครงการส่งนักเบสบอลอายุน้อยไปเรียนรู้ศาสตร์และศิลป์ของการเล่นเบสบอลกับชาวอเมริกัน 

มาซาโนริ มุราคามิ คือหนึ่งในนั้น เขาคือนักเบสบอลที่โด่งดังมาตั้งแต่สมัยมัธยมปลาย และเคยผ่านเข้าไปเล่น "โคชิเอ็ง" รอบสุดท้ายถึง 2 ครั้ง จนทำให้ นันไค ฮอว์กส (ปัจจุบันคือ ซอฟต์แบงค์ ฮอว์กส) เซ็นสัญญาอาชีพตั้งแต่อายุเพียง 17 ปี  

แม้ในปีแรกเขาจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับทีมในไมเนอร์ลีกของฮอว์กส แต่เขาก็ได้ประเดิมสนามทันที และในปีต่อมาเขาก็ถูกเลือกจาก คาซึโอะ สึรุโอกะ ผู้จัดการทีมของ ฮอว์กส ให้ไปอเมริกาในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยน 

มันเป็นข้อเสนอที่มุราคามิไม่มีวันปฏิเสธ เพราะการไปอเมริกาในตอนนั้นต้องใช้เงินที่มากถึง 30,000 เยน หรือประมาณเงินเดือนหนึ่งปีครึ่งของนักเรียนมัธยมปลาย มันจึงเป็นโอกาสที่หาไม่ได้ง่ายนักสำหรับคนญี่ปุ่นในยุคนั้น

 

"อีกเหตุผลคือรายการทีวีที่ชื่อว่า 'Rawhide' เป็นรายการดังที่ญี่ปุ่นและหลายคนชอบดู ไม่จำเป็นต้องมีเบสบอลผมก็อยากไปอเมริกาอยู่แล้ว" มุราคามิ กล่าวกับ mlb.com

ในปี 1964 มุราคามิ, ฮิโรชิ ทาคาฮาชิ และ ทัตสึฮิโกะ ทานากะ คือสามนักเบสบอลที่ฮอว์กสส่งไปยัง ซานฟรานซิสโก ไจแอนต์ส พวกเขายังยื่นข้อเสนอว่าหาก ไจแอนต์ส อยากเก็บนักเบสบอลของพวกเขาเอาไว้ ก็แค่จ่ายเงินมาเพียงคนละ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ เท่านั้น 


Photo : sports.pixnet.net

ทว่าแม้ว่าจะมีการส่งนักเบสบอลญี่ปุ่นไปซ้อมถึงอเมริกามาก่อน แต่ก็ยังไม่มีชาวญี่ปุ่นคนใดได้รับสัญญาจากทีมในเมเจอร์ลีกเบสบอล หรือได้ลงเล่นในลีกใหญ่ของอเมริกาแม้แต่คนเดียว และมักจะลงเอยด้วยการเล่นให้กับทีมสำรองในลีกล่างเป็นส่วนใหญ่ 

มุราคามิ ก็ไม่ต่างกัน เพราะทันทีที่ถึงแคลิฟอร์เนีย เขาก็ถูกส่งไปเล่นกับ เฟรสโน ทีมสำรองของไจแอนต์สในไมเนอร์ลีก (แคลิฟอร์เนียลีก) แถมในช่วงแรกเขายังมีปัญหาในเรื่องการสื่อสารกับเพื่อนร่วมทีม จนต้องพกพจนานุกรมอังกฤษ-ญี่ปุ่น ติดตัวไปด้วยทุกที่ อีกทั้งยังถูกเหยียดเชื้อชาติจากทั้งเพื่อนร่วมทีมและสื่อท้องถิ่น

 

แต่ทันทีที่พิชเชอร์มือซ้ายคนนี้ลงสนาม มุมมองของคนที่นี่ก็เปลี่ยนไป

สร้างชื่อจากทีมสำรอง 

แม้ว่าการเริ่มต้นชีวิตในสหรัฐฯ อาจจะไม่ราบรื่น แต่ไม่ใช่สำหรับบนเนินขว้าง เมื่อ มุราคามิ ทำผลงานได้อย่างโดดเด่นตั้งแต่เกมแรก หลังได้ลงเล่นในอินนิ่งที่ 5 และทำให้ ซานตา บาร์บารา ดอดเจอร์ส คู่แข่งตีไม่โดนอีกเลยจนจบการแข่งขัน 

หนึ่งสัปดาห์ต่อมาเขาได้เล่นในบ้านเป็นครั้งแรกต่อหน้าผู้ชม 433 คน และไม่เพียงหยุดการบุกของคู่แข่งได้เท่านั้น แต่ยังทำในสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในเบสบอลอเมริกัน ที่ทำให้ บ็อบ พาเวลล์ ผู้เล่นเบสสามรับลูกเพื่อเซฟเอาไว้ได้ 

"เขาเดินออกมาจากเนินขว้างประมาณครึ่งทางระหว่างเบสสาม และทำให้พาวเวลล์รับลูกได้" หนังสือพิมพ์ Fresno Bee Republican บรรยาย 


Photo : www.jiji.com

ไม่นาน มุราคามิ ก็กลายเป็นคนดังของเมือง แถมนัดแรกที่เขาได้ออกสตาร์ทเป็นตัวจริง เขายังช่วยให้ทีมคว้าชัย หลังจากขว้างไป 7 อินนิ่ง และปล่อยให้คู่แข่งได้วิ่งเพียงแค่ 2 ครั้ง 

หลังจากนั้นเขาก็กลายเป็นดาวเด่นของลีก เมื่อช่วยให้ทีมคว้าชัยได้ถึง 11 เกม และมีสถิติ ERA (Earned Run Average) หรือคะแนนเฉลี่ยที่พิชเชอร์ทำให้เสียแต้ม (ยิ่งน้อยยิ่งดี) เพียงแค่ 2.38 แต้มเท่านั้น 

นอกจากนี้เขายังทำให้คู่แข่งสไตร์ทเอาต์ 159 ครั้ง จาก 106 อินนิ่ง และจบฤดูกาลในไมเนอร์ลีกด้วย รางวัลผู้เล่นหน้าใหม่ยอดเยี่ยมแห่งปีของลีก (Rookie of the Year Award)

"เขาขว้างลูกด้วยความเร็วเพียงราว 80 ไมล์ปลาย ๆ ถึง 90 ไมล์ต้น ๆ ต่อชั่วโมงเองมั้ง แต่ลูกบอลจะเพิ่มความเร็วอย่างรวดเร็วตอนพุ่งเข้าหาคุณ" โรเบิร์ต ฟิตส์ ผู้เขียนหนังสือ Mashi: The Unfulfilled Baseball Dreams of Masanori Murakami, the First Japanese Major Leaguer กล่าวกับ history.com 

และมันยังทำให้ลีกใหญ่ต้องกวักมือเรียกเขา

ขวัญใจชาวเมือง 

ด้วยผลงานอันยอดเยี่ยมกับเฟรสโน ทำให้ ซานฟรานซิสโก ไจแอนต์ส ไม่รอช้าที่จะดัน มุราคามิ ขึ้นมาเล่นในทีมชุดใหญ่ โดยทีมตั้งใจจะส่งเขาลงสนามทันทีในเกมพบกับ นิวยอร์ก เม็ตส์ ที่สนามเชียร์ สเตเดียม หรือหลังจากที่เขาบินมาถึงนิวยอร์กเพียงแค่วันเดียว  


Photo : vitomag.com

"ผมเพิ่งบินข้ามคืนมาถึง และถูกส่งลงสนามในอินนิ่งที่ 8" มุราคามิ ย้อนเล่าถึงเหตุการณ์ในวันนั้นกับ Philadelphia Daily News เมื่อปี 2002 

"แทนที่จะได้ขว้างต่อหน้าผู้คน 200-300 คน ผมกลับต้องมาขว้างต่อหน้าคนกว่า 40,000 คนบนอัฒจันทร์อย่างกะทันหัน" 

แต่มันก็ไม่ได้มีผลกับฟอร์มการเล่น เพราะโอกาสแค่เพียงอินนิ่งเดียว นักเบสบอลจากญี่ปุ่นคนนี้ก็สะกดสายตาผู้ชมจนอยู่หมัด หลังไม่ปล่อยให้คู่แข่งได้วิ่งเลยแม้แต่คนเดียว จนทำให้เขาได้รับการสแตนดิงโอเวชั่นจากผู้ชมในสนามหลังจบเกม 

นอกจากนี้การลงเล่นในเกมดังกล่าวยังทำให้ มุราคามิ สร้างประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ ด้วยการเป็นคนญี่ปุ่นคนแรกที่ได้ลงเล่นในเมเจอร์ลีกเบสบอล ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นรอคอยมาหลายสิบปี 

"ความฝันของเราเป็นจริงหลังจากผ่านมา 30 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งเบสบอลอาชีพ" นิตยสาร Shukan baseball ของญี่ปุ่นรายงาน

จากนั้น มุราคามิ ก็ยังได้รับโอกาสอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเกมที่คว้าชัยเหนือ ฮูสตัน โคลต์ .45s ด้วยสกอร์ 11-7 หลังทำ 3 สไตรท์เอาต์ และกลายเป็นคนญี่ปุ่นคนแรกที่เก็บชัยชนะได้ใน MLB 

"ผมรู้สึกเหมือนกำลังฝันอยู่ ผมโบกมือให้กับแฟนบนอัฒจันทร์โดยไม่รู้ตัว จนกระทั่งกลับมาถึงโรงแรม ผมก็เพิ่งคิดได้ว่าผมคือคนญี่ปุ่นคนแรกที่ชนะเกมเมเจอร์ลีก" ผู้เล่นที่สื่ออเมริกันเรียกด้วยความเข้าใจผิดว่า มาชิ มุราคามิ กล่าวกับ mlb.com   

"เมื่อผมคิดผมก็สงบบสติอารมณ์ไม่ได้ 'ผมทำได้ ผมทำได้' ผมคิด ผมหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาแล้วโทรกลับบ้าน มันไม่ได้นานมาก แต่ผมรู้สึกราวกับว่ามันเป็นชั่วโมงกว่าจะต่อสายไปถึงญี่ปุ่นได้" 

ฟอร์มการเล่นที่ยอดเยี่ยมทำให้สปอตไลท์ฉายมาที่เขามากขึ้น และเขาก็ได้รับความสนใจจากสื่อท้องถิ่น รวมทั้งถูกเชิญให้ไปปรากฏตัวในที่ต่าง ๆ ซึ่งทำให้ทีมงานของ ไจแอนต์ส ต้องรับโทรศัพท์จนมือเป็นระวิงกว่า 1,000 สาย 

หลังจากนั้นไม่นานพิชเชอร์ชาวญี่ปุ่นก็กลายเป็นขวัญใจของแฟนเบสบอลในถิ่นเบย์ แอเรีย เขาเริ่มมีแฟนคลับมาตามดูผลงานถึงสนาม ขณะที่ภัตตาคารท้องถิ่นถึงขั้นเอาชื่อ Masanori Murakami ไปตั้งเป็นเมนูค็อกเทล จนเกิดกระแส "มาชิฟีเวอร์" ไปทั่วทั้งเมือง

แต่นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา

ความสัมพันธ์ขาดสะบั้น 

มุราคามิ จบฤดูกาลแรกอย่างสวยงาม ด้วยสถิติทำสไตร์ทเอาต์ 15 ครั้งจากการลงเล่น 9 เกม และเสียแต้มเฉลี่ยแค่เพียง 1.80 ทำให้ ไจแอนต์ส ตัดสินใจว่าจะเซ็นสัญญากับเขา โดยใช้เงื่อนไขจ่ายเงิน 10,000 เหรียญเป็นค่าชดเชยเพื่อเก็บเขาไว้ใช้งานในฤดูกาลหน้า

แต่ปัญหาก็มาเกิดตอนที่ มุราคามิ เดินทางกลับไปผ่าต่อมทอมซิลที่ญี่ปุ่น เมื่อเขาดันไปเซ็นสัญญาฉบับใหม่กับ ฮอว์กส ที่ได้ค่าเซ็นมากถึง 30,000 ดอลลาร์ และกลายเป็นเหตุผลที่ทำให้ ฮอว์กส ไม่ยอมปล่อยตัวเขากลับไปอเมริกา 


Photo : sportiva.shueisha.co.jp

โดยทางฝั่งฮอว์กสมองว่าเงินจำนวน 10,000 เหรียญที่ไจแอนต์สจ่ายมาให้พวกเขาไม่ใช่เงินค่าตัว มุราคามิ แต่เป็นโบนัสที่พิชเชอร์ชาวญี่ปุ่นได้ลงเล่นใน MLB พวกเขายังยืนยันว่าผู้เล่นของเขาต้องการกลับมาเล่นในญี่ปุ่น เนื่องจากเคยเขียนจดหมายกลับมาว่าคิดถึงบ้าน 

นอกจากนี้ทางฮอว์กส ยังโทษ แคปปี้ ฮะระดะ ผู้ประสานงาน ซึ่งทำงานให้ทั้ง ไจแอนต์ส และ ฮอว์กส ว่าทำให้ดีลนี้ไม่ชอบมาพากล ก่อนจะใช้ไม้ตายว่า มุราคามิ อยู่ภายใต้กฎหมายญี่ปุ่น ทำให้การเซ็นสัญญาใด ๆ ต้องมีลายเซ็นของผู้ปกครองรับรอง  

"ตอนที่ผมกลับไปฮอว์กสในปี 1964 ข้อมูลที่ผมได้รับจากฮอว์กสมันตรงข้ามกับสิ่งที่ผมได้ฟังในอเมริกา" มุราคามิ กล่าวกับ mlb.com

แน่นอนว่าคำกล่าวอ้างนี้ก็ทำให้ฝั่งอเมริกาไม่พอใจ โดย ฟอร์ด ฟริค ผู้อำนวยการของ MLB บอกว่ามุราคามิถูกฮอว์กสบีบบังคับให้เซ็นสัญญาฉบับใหม่ จนทำให้เรื่องอีรุงตุงนังและบานปลายกลายเป็นศึกยื้อแย่งตัว

หลังจากไม่มีใครยอมใคร ทำให้ท้ายที่สุดทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่า จะให้ มุราคามิ มาเล่นให้ไจแอนต์สอีก เพียงแค่ปีเดียว จากนั้นเขาจะกลายเป็นผู้เล่นฟรีเอเยนต์ และให้เจ้าตัวตัดสินใจเองว่าจะเลือกไปอยู่ทีมไหน 

ข้อพิพาทนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ความสัมพันธ์เชิงเบสบอลของญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ต้องหยุดชะงักลง เพราะหลังจากมูราคามิกลับไปเล่นให้ไจแอนต์ส ในปี 1965 ลีกเบสบอลญี่ปุ่นก็ไม่ปล่อยผู้เล่นของพวกเขามาอเมริกาอีกเลย 

"ผมคิดว่าลีกเบสบอลอาชีพญี่ปุ่นไม่อยากกลายเป็นแค่แหล่งวัตถุดิบ" จอห์น ธอร์น นักประวัติศาสตร์ของ MLB อธิบายกับ Times 

"พวกเขาปกป้องนักเบสบอลที่เก่งที่สุดของพวกเขาด้วยความแข็งกร้าวที่เพิ่มขึ้นหลังจากนั้น" 

และมันก็ทำให้ประตูสู่ MLB ของนักเบสบอลญี่ปุ่นที่เคยเปิดกว้างถูกปิดลง

แหกกฎเพื่อไปต่อ 

ข้อพิพาทจากคดี มุราคามิ ไม่เพียงแต่ทำให้ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ต้องยุติความสัมพันธ์ในเชิงเบสบอลเท่านั้น แต่มันยังเป็นอุปสรรคทางความคิดที่ขัดขวางไม่ให้นักเบสบอลญี่ปุ่นเก่ง ๆ ไปเล่นใน MLB 

"ผมอยากจะลองพิสูจน์ฝีมือที่อเมริกาเหมือนกันนะ แต่ผมไปจากประเทศไม่ได้ แม้กระทั่งหากกฎอนุญาต แต่แฟนก็คงไม่ให้อภัยผม" ซาดะฮารุ โอ นักเบสบอลระดับตำนานของญี่ปุ่นกล่าวกับ japan - forward.com 

"เป้าหมายของผมจึงต้องเอาชนะพวกอเมริกันให้ได้ในเวิลด์ ซีรีส์" 

ก่อนที่ 30 ปีหลังจากนั้น ฮิเดโอะ โนโมะ ก็มาทำลายกำแพงนี้ ด้วยการประกาศเลิกเล่นในญี่ปุ่นด้วยวัยเพียง 26 ปีก่อนจะไปเซ็นสัญญากับ ลอสแอนเจลิส ดอดเจอร์ส ในปี 1995

แน่นอนว่าการกระทำของเขาสร้างความโกรธแค้นให้กับคนในประเทศ เนื่องจากเขาใช้ช่องโหว่เรื่องสัญญา และทำให้หลายคนตราหน้าเขาว่าเป็นพวก "ทรยศ" ขณะที่พ่อของเขารับไม่ได้จนถึงขั้นเลิกคุยกับลูกชายไปเลย 

อย่างไรก็ดีผลงานอันยอดเยี่ยมของ โนโมะ ที่คว้าแชมป์ผู้เล่นหน้าใหม่ยอดเยี่ยมของ เนชั่นแนล ลีก รวมทั้งได้เป็นพิชเชอร์ตัวจริงในทีมออลสตาร์ ฤดูกาล 1995 ก็ทำให้คนญี่ปุ่นเริ่มเปิดใจและมีการถ่ายทอดสดเกมที่เขาลงเล่นไปทั่วประเทศ รวมทั้งยังถูกเรียกว่า "สมบัติของชาติ" จาก โทโมมิจิ มุระยามะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นในตอนนั้น 

นอกจากนี้ปรากฏการณ์ใน MLB ของผู้เล่นเจ้าของฉายา "ทอร์นาโด" ยังทำให้ความตึงเครียดระหว่างญี่ปุ่นกับอเมริกาในเรื่องนโยบายการค้าในช่วงทศวรรษที่ 1990s ที่กำลังขมึงเกลียวนั้นคลายลง และทำให้เบสบอลกลับมาทำหน้าที่ในฐานะเครื่องมือเจริญสัมพันธไมตรีได้อีกครั้ง 

จากเหตุการณ์ของโนโมะ ยังทำให้ NPB และ MLB สร้างระบบที่เรียกว่า "posting fee" ที่ให้สโมสรของญี่ปุ่นประกาศรายชื่อผู้เล่นที่ต้องการไปเล่นในต่างประเทศ และหากทีมใน MLB สนใจก็สามารถจ่ายเงินซื้อสิทธิ์เพื่อเจรจาสัญญากับนักเบสบอลเหล่านั้นได้ 

ระบบดังกล่าวเปิดโอกาสให้นักเบสบอลชาวญี่ปุ่นฝีมือดีย้ายไปเล่นในสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ไล่ตั้งแต่ อิจิโร ซูซูกิ ผู้เล่นออลสตาร์ MLB 10 สมัย, ยู ดาวิช ที่ติดทีมออลสตาร์ 5 ครั้ง หรือล่าสุดอย่าง โชเฮ โอตานิ ผู้เล่นหน้าใหม่ยอดเยี่ยมแห่งปี 2018 และผู้เล่นยอดเยี่ยมแห่งปีอเมริกันลีก 2021 

ส่วน มุราคามิ หลังจากหมดสัญญากับไจแอนต์สก็กลับมาเล่นให้ฮอว์กส เนื่องจากสัญญากับ สึรุโอกะ ผู้จัดการทีมเอาไว้ และในลงเล่นลีกเบสบอลญี่ปุ่นต่อไปอีก 16 ฤดูกาล ก่อนจะเลิกเล่นในปี 1982 และยังวนเวียนอยู่ในวงการนี้ในหลากหลายหน้าที่ ทั้งผู้บรรยาย นักเขียนด้านกีฬา โค้ชพิชเชอร์ รวมถึงแมวมองของไจแอนต์ส 

"สึรุโอกะซังคือหนึ่งในคนที่สัญญากับผมว่าจะให้ตั๋วผมไปอเมริกา ตั้งแต่ตอนที่ผมเข้ามาอยู่กับทีมเป็นครั้งแรก และเขาก็รักษาสัญญานั้น" มุราคามิ บอกกับ mlb.com

"ดังนั้นผมจึงต้องรักษาสัญญาที่บอกว่าจะกลับมาตอนปี 1965 บอกตามตรงใจผมยังอยากเล่นในสหรัฐฯ ต่อ แต่เพื่อรักษาคำพูดกับสึรุโอกะซังผมจึงกลับมา สิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะดูโชคร้าย แต่ผมก็ภูมิใจที่รักษาสัญญาได้" 

และแม้สุดท้ายชีวิตของเขาอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่หวัง แต่ มุราคามิ ก็ภูมิใจในชีวิตที่ผ่านมา  

"ผมคิดแค่ว่าชีวิตมีครั้งเดียว" มุราคามิ กล่าวกับ mlb.com

"ผู้เล่นที่อยากจะออกไปจากญี่ปุ่นเพื่อท้าทายตัวเองในระดับที่สูงที่สุดก็ควรจะออกไป และมันก็มีโอกาสที่คุณจะไม่ประสบความสำเร็จ" 

"มันมีโอกาสที่คุณจะล้มเหลวและไม่ได้ไปถึงเมเจอร์ลีก แต่มันคือชีวิตของคุณ และคุณก็ควรจะท้าทายตัวเอง" 

"มันจะกลายเป็นบันทึกหน้าหนึ่งของชีวิต ประสบการณ์เหล่านี้จะอยู่กับพวกเขาตลอดไป" 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook