นิกิ เลาดา : แชมป์โลก F1 ผู้เปลี่ยนวงการอากาศยาน จากเหตุเครื่องบินตกที่เมืองไทย

นิกิ เลาดา : แชมป์โลก F1 ผู้เปลี่ยนวงการอากาศยาน จากเหตุเครื่องบินตกที่เมืองไทย

นิกิ เลาดา : แชมป์โลก F1 ผู้เปลี่ยนวงการอากาศยาน จากเหตุเครื่องบินตกที่เมืองไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"การบริหารสายการบินเป็นงานที่ยากที่สุดในโลก ส่วนการแข่งรถนั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตผมมากกว่า ดังนั้นเพื่อหาความท้าทายจริง ๆ หลังเลิกแข่งรถ ซึ่งเป็นงานที่ยากไปอีกแบบ ผมจึงก่อตั้งสายการบินขึ้นมา"

นิกิ เลาดา อาจเป็นที่จดจำในฐานะแชมป์โลกฟอร์มูล่าวัน 3 สมัย ให้กับทั้ง เฟอร์รารี่ และ แมคลาเรน แต่หนึ่งในมรดกตกทอดจากนักแข่งผู้ล่วงลับคนนี้ คือกาลครั้งหนึ่งเจ้าตัวได้มีส่วนร่วมพลิกโฉมวงการอากาศยาน จากอุบัติเหตุการสูญเสียของสายการบิน เลาดาแอร์ เหนือน่านฟ้าการบินของไทย

 

เรื่องราวดังกล่าวเป็นอย่างไร มาย้อนเวลาไขคำตอบดังกล่าวได้กับ Main Stand

นักแข่งนอกคอก

แม้ นิกิ เลาดา จะเกิดในครอบครัวที่มีความมั่งคั่งในประเทศออสเตรีย จนดูเหมือนเจ้าตัวจะมีแต้มต่อในการเลือกเส้นทางชีวิตของตนเอง ทว่าความเป็นจริงแล้วเส้นทางสู่การเป็นนักแข่งรถอาชีพกลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากทางบ้านเลย

เลาดา ต้องหาทางเข้าแข่งขันเอง เนื่องจากทางบ้านตัดขาดความสัมพันธ์เนื่องจากความดันทุรังมุ่งสู่เส้นทางการเป็นนักแข่งรถ จนถึงขั้นเคยกู้เงินจากธนาคารมาใช้เพื่อผลักดันตัวเองสู่ระดับฟอร์มูล่าทู ในปี 1971 และต้องเผชิญกับมรสุมต่าง ๆ จนเกือบพรากชีวิตตนเองไปก่อนวัยอันควรเสียแล้ว

 

แต่ความพยายามของนักแข่งชาวออสเตรียนก็มาสัมฤทธิ์ผล เมื่อ เลาดา ทำผลงานไปเข้าตาทีม เฟอร์รารี่ จนถูกดึงตัวไปร่วมทีม และไต่เต้าขึ้นไปคว้าแชมป์โลกฟอร์มูล่าวันได้ตั้งแต่ปี 1975 หลังจากขับเคี่ยวกับ เจมส์ ฮันต์ คู่แข่งและเพื่อนที่สนิทกันมาตั้งแต่สมัยฟอร์มูล่าทรีเลยทีเดียว

ทว่าในปีถัดมา รถของ นิกิ เกิดหลุดโค้งไปชนกำแพงข้างสนามนูร์เบอร์กริง ประเทศเยอรมันตะวันตก จนเกิดเพลงลุกไหม้คลอกตัวเขา และยังโดนรถของนักแข่งรายอื่นชนซ้ำเข้าไปอีก

การแข่งรถฟอร์มูล่าวันในสมัยก่อนเป็นหนึ่งในกีฬาที่มีความเสี่ยงสูงมาก จากทั้งมาตรการความปลอดภัยอันหละหลวมกว่ายุคปัจจุบันอยู่พอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนเจ้าหน้าที่รับมือเหตุฉุกเฉิน ผังสนามที่ไม่เอื้อต่อการแข่งขัน หรือรถที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รองรับการชนมากนัก จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตของนักแข่งได้เลย

เลาดา ผู้ถูกรัดไว้ในรถด้วยเข็มขัดนิรภัยสูดดมควันพิษเข้าไปเต็มปอด แถมหมวดกันน็อกของเขายังมีขนาดไม่พอดีกับศีรษะ ทำให้มันหลุดออกจากหัวจนส่งผลให้เจ้าของแชมป์โลกรายนี้ถูกไฟไหม้บริเวณด้านขวาของศีรษะแบบเต็ม ๆ

 

แม้จะถูกเพื่อนนักแข่งช่วยเหลือออกจากรถมาได้ทันเวลาและยังมีสติในขณะปฐมพยาบาล แต่อาการของ นิกิ กลับทรุดลงจนเข้าขั้นโคม่า จนมีการเชิญบาทหลวงมาทำพิธีสุดท้ายของชีวิตให้ที่โรงพยาบาล แต่ เลาดา ก็รอดชีวิตมาได้อย่างปาฏิหาริย์ แถมยังกลับมาแข่งรถเพียง 2 เดือนหลังเกิดเหตุดังกล่าว พร้อมกลับมาคว้าแชมป์โลกในปี 1977 ได้อีกเสียด้วย

ถึงกระนั้นรอยไหม้ได้ทำลายหูขวาเขาไปเกือบหมด รวมถึงเส้นผม คิ้ว และเปลือกตาฝั่งขวา จึงเป็นเหตุให้เจ้าตัวใส่หมวกสีแดงอันเป็นเอกลักษณ์มาโดยตลอด เพื่อช่วยบดบังรอยแผลอันโหดร้ายดังกล่าวไว้

นิกิ อำลาวงการอย่างเป็นทางการในปี 1985 หลังจากที่เคยตัดสินใจถอนตัวจากการแข่งขันเมื่อปี 1979 เพราะ "เบื่อที่จะขับรถวนเป็นวงกลม" ไปแล้วรอบนึง และไปบริหารสายการบิน เลาดาแอร์ ที่เจ้าตัวเพิ่งก่อตั้งขึ้นมา ก่อนเลือกคัมแบ็กสู่วงการเพียง 3 ปีให้หลัง เนื่องจากได้รับข้อเสนอค่าเหนื่อยสูงลิ่วจากทีม แมคลาเรน จนกลับมาคว้าแชมป์โลกปี 1984 ได้สำเร็จ

พอถึงจุดนี้ก็ได้เวลาถอดหมวกนักแข่งแล้วหันขึ้นไปมองบนฟ้าไกลแทนแล้ว

จากถนนสู่ท้องฟ้า

แม้จะถูกก่อตั้งตั้งแต่ปี 1979 แต่ก็ต้องรอถึงปี 1985 ก่อนที่ เลาดาแอร์ จะได้เริ่มปฏิบัติการแบบจริงจัง หรือก็คือหลังจากที่ นิกิ อำลาวงการรถแข่งอย่างเป็นทางการแล้วนั่นเอง

ในยุคแรกเริ่ม เลาดาแอร์ ถูกวางไว้เป็นบริการแบบเช่าเหมาลำเป็นหลักเท่านั้น ก่อนจะขยับขยายสู่การบินเชิงพาณิชย์ในปี 1987 ตามด้วยได้รับอนุญาตให้บินเส้นทางระหว่างประเทศตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา

ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง เป็นหนึ่งในจุดหมายของ เลาดาแอร์ ด้วยเช่นกัน โดยมีไฟลต์บินจาก เวียนนา มาลงที่ กรุงเทพฯ ก่อนจะเดินทางต่อไปยังจุดหมายต่าง ๆ เช่น ออสเตรเลีย และ ฮ่องกง เป็นต้น และเพียงหนึ่งปีให้หลังก็ได้รับใบอนุญาตให้บินไปต่างประเทศได้ สายการบินของอดีตแชมป์โลกรายนี้ก็พลันต้องประสบอุบัติเหตุที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การบิน

 

เลาดาแอร์ ไฟลท์ 004 ทะยานขึ้นจากสนามบินดอนเมือง เมื่อช่วงห้าทุ่มของวันที่ 26 พฤษภาคม 1991 ก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุระหว่างอยู่เหนือน่านฟ้าของจังหวัดสุพรรณบุรี จนส่งให้เครื่องบิน โบอิง 767-300ER พุ่งดิ่งลงมาด้วยความเร็วเสียง และพราก 223 ชีวิตบนเครื่องไปในทันที

พอทราบข่าวว่าเครื่องบินของสายการบินของเขาตก นิกิ และทีมวิศวกรการบินตัดสินใจเดินทางมาประเทศไทยในทันที และตรงไปยังจุดเกิดเหตุอย่างรวดเร็ว แต่ถึงจะรีบรุดมาเพียงใดก็ไม่ทันประชาชนในท้องถิ่นจำนวนมากที่หลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่เกิดเหตุ โดยมีบางส่วนได้ช่วงชิงสินทรัพย์ อัญมณีมีค่าจากศพ และสัมภาระของผู้เสียชีวิต ที่กระจัดกระจายอยู่รอบบริเวณอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี


Photo : thetimes

แน่นอนว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับเครื่องบิน การตามหากล่องดำคือสิ่งสำคัญลำดับต้น ๆ ของทีมสืบสวน ทว่าในกรณีนี้ เทปบันทึกข้อมูลการบินได้ถูกทำลายจนไม่อาจนำมาใช้งานได้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของการตกในครั้งนี้ ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงมีเพียงแค่เทปบันทีกเสียงในห้องนักบินเพื่อนำมาประกอบการสอบสวนหาความจริง

แม้จะเหลือเพียงแค่เสียงของนักบิน แต่นั่นก็เพียงพอที่จะถอดความได้ว่าเครื่องบินมีปัญหากับตัว Thrust Reverser หรือระบบผันกลับแรงขับของเครื่องยนต์หมายเลข 1 ที่ใช้เพื่อชะลอความเร็วหลังลงจอดบนรันเวย์ ว่ามันอาจเกิดเปิดขึ้นระหว่างเครื่องทำการบินอยู่

 

กัปตัน โทมัส เวลช์ วัย 48 ปี และนักบินผู้ช่วย โจเซฟ เธอว์เนอร์ อายุ 41 ปี ได้เห็นสัญญาณเตือนว่าอาจมีข้อผิดพลาดกับระบบบนเครื่องบิน จนอาจทำให้ Thrust Reverser ทำงานกลางอากาศเมื่อเวลา 23:07:48 น. แต่เมื่อพวกเขาได้อ่านคู่มือบนเครื่องบินแล้วก็ได้ตัดสินใจว่าไม่ควรแก้ไขอะไรเพิ่มเติม และอาจเป็นเพราะมีน้ำเข้าไปอยู่ในระบบทำให้การอ่านค่ารวนได้

ทั้งนี้ในคู่มือดังกล่าวก็ไม่ได้มีขั้นตอนรับมือว่านักบินต้องทำอย่างไร หาก Thrust Reverser เกิดติดขึ้นมากลางอากาศด้วยเช่นกัน


Photo : thetimes

เวลา 23:17:01 น. นักบินผู้ช่วย เธอว์เนอร์ ได้พูดว่า "Thrust Reverser ทำงาน" ก่อนตามมาด้วยเสียงกระแทกและโครงสร้างของเครื่องที่สั่นสะเทือนอย่างรุนแรงสลับกับเสียงแจ้งเตือน และการอุทานของนักบินที่กำลังพยายามควบคุมเครื่องให้ได้อยู่

"แม่งเอ้ย" หรือ "Damn it!" คือคำพูดสุดท้ายของกัปตัน เวลช์ เมื่อเวลา 23:17:27 น. หรือเพียงแค่ 26 วินาทีหลังตัวระบบผันกลับแรงขับของเครื่องยนต์ทำงานเท่านั้น ก่อนที่เทปบันทึกเสียงจะหยุดทำงานไปในอีก 3 วินาทีให้หลัง

คำถามสำคัญคือ อุบัติเหตุในครั้งนี้สามารถหลีกเลี่ยงได้หรือไม่ ?

สืบหาต้นเหตุการสูญเสีย

แม้ผลสอบสวนจะบ่งชี้ว่าต้นกำเนิดของเหตุการณ์ดังกล่าวมาจากการทำงานของระบบ Thrust Reverser ที่ดันไปทำงานอยู่กลางอากาศ แต่ทาง โบอิง ยังคงยืนกรานว่ามันไม่อาจเป็นไปได้เลย

ข้อมูลจากการทดสอบในปี 1982 ของ โบอิง และ FAA ที่ลองเปิดระบบ Thrust Reverser กลางอากาศ พบว่านักบินยังสามารถควบคุมเครื่องได้อยู่อย่างปลอดภัย ซึ่งตอนนั้นเครื่องบินลำดังกล่าวได้ลดเพดานบินลงมาเหลือ 10,000 ฟุต และแล่นด้วยความเร็วเพียง 250 นอตเท่านั้น ต่างจากสถานการณ์ของ เลาดาแอร์ ที่บินอยู่ที่ 30,000 ฟุตเหนือพื้นดิน พร้อมกับทำความเร็วอยู่ที่ 400 นอต


​​​​​​​​​​​​​​Photo : thetimes

นั่นคือต่อให้การทดสอบจะยืนยันว่าเครื่องบินของพวกเขาปลอดภัย แต่ในสถานการณ์จริงที่เครื่องเดินทางด้วยความเร็วสูงแบบนี้ มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีใครรอดชีวิต 

ซึ่งคำถามที่สำคัญก็คือ แล้วทำไมอยู่ดี ๆ ระบบผันกลับแรงขับดันถึงทำงานขึ้นมาได้ล่ะ ?

เพื่อหาคำตอบดังกล่าว หลังได้เดินทางมาตรวจสอบจุดเกิดเหตุด้วยตนเองแล้ว เลาดา บินต่อไปยัง ซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา เพื่อพูดคุยกับตัวแทนของ โบอิง บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินรุ่นดังกล่าวต่อในทันที

เลาดา เปิดเผยว่า "ผมหงุดหงิดกับทางโบอิงมาก เพราะเมื่อทราบสาเหตุกันแล้ว พวกเขากลับเลือกที่จะไม่พูดอะไรเลย" นั่นทำให้เจ้าตัวขอใช้เครื่องซิมูเลเตอร์ของพวกเขามาจำลองสถานการณ์การบินรูปแบบต่าง ๆ ว่านักบินจะสามารถประครองเครื่องได้หรือไม่ หากเจ้า Thrust Reverser ติดขึ้นระหว่างบิน

แม้ตอนแรกทางบริษัทจะไม่ยอม แต่ นิกิ ผู้มีใบอนุญาตเป็นนักบินเครื่องบินพาณิชย์ ยืนกรานจนได้เวลาทดสอบบินในอุปกรณ์จำลองของ โบอิง มากถึง 15 ครั้ง โดยไม่มีครั้งใดเลยที่เจ้าตัวสามารถบังคับเครื่องให้รอดได้ ซึ่งชัดเจนแล้วว่านี่คือข้อผิดพลาดจากผู้ผลิต และไม่ได้เกี่ยวกับตัวนักบินหรือสายการบิน

เมื่อเป็นเช่นนี้ เลาดา จึงยื่นคำขาดในทันที ว่าทาง โบอิง ต้องออกแถลงการณ์ว่าเหตุ Reverse Thrust ของเที่ยวบิน 004 นั้นมาจากข้อผิดพลาดด้านเทคนิคและการออกแบบของพวกเขา และหาก โบอิง ระบุว่านักบินมีโอกาสรอดชีวิตจากอุบัติเหตุดังกล่าวได้ นิกิ จะยอมขึ้นบินกับเครื่องรุ่นนี้พร้อมกับนักบินอีกสองคน แล้วเปิดระบบผันกลับแรงดันอยู่กลางอากาศให้ดูเลย

แน่นอนว่าเมื่อเป็นเช่นนี้ โบอิง จึงยอมรับข้อผิดพลาดของตน ก่อนจะออกแถลงขอโทษอย่างเป็นทางการ รวมทั้งมีการปรับเปลี่ยนดีไซน์ใหม่กันทั้งวงการอุตสาหกรรมการบิน โดยกำหนดว่า Thrust Reverser จะต้องทำงานได้เมื่อยานลงจอดแล้วเท่านั้น และต้องมีกลไกป้องกันการทำงานเองกลางอากาศ ชนิดที่แม้ว่าจะเกิดข้อผิดพลาดอะไรขึ้นกับระบบอื่นมันก็ต้องไม่ทำงานขึ้นมา

แม้จะตามหาความจริงจนพบแล้ว เลาดา ยังคงไม่อาจก้าวผ่านช่วงเวลาดังกล่าวไปได้ โดยเจ้าตัวยอมรับว่าอุบัติเหตุดังกล่าวและสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดในชีวิตของเขา ซึ่งหนักหนาเสียยิ่งกว่าการฟื้นฟูอาการบาดเจ็บปางตายหลังถูกไฟคลอกในสนามแข่ง F1 เสียอีก

แต่อย่างน้อยการลงพื้นที่สอบสวนด้วยตนเองของ นิกิ ก็ได้ช่วยชีวิตผู้คนไว้จำนวนมาก ให้ไม่ต้องประสบชะตากรรมดังกล่าวจากการออกแบบที่ผิดพลาดเหมือนไฟลต์ 004 อีกเลย

"การแข่งรถนั้นคือขั้วตรงข้ามของการบิน ในการแข่งรถคุณต้องการชนะ มันไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว คุณสามารถทำอะไรก็ได้ตามใจต้องการ แต่ในการบินคุณต้องเคารพและบินตามกฎ"

เลาดา จากโลกใบนี้ไปอย่างสงบเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2019 ด้วยวัย 70 ปี และได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในนักแข่งฟอร์มูล่าวันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล โดยตำแหน่งสุดท้ายของเจ้าตัวคือการเป็นหนึ่งในคณะบอร์ดของทีมเมอร์เซเดส เอเอ็มจี พร้อมกับเจรจาให้ ลูอิส แฮมิลตัน นักซิ่งชาวอังกฤษ ย้ายมาเป็นนักแข่งของทีมสัญชาติเยอรมันรายนี้ จนสามารถขึ้นมายึดครองความยิ่งใหญ่ในการแข่งขันมาได้จวบจนปัจจุบัน

 

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ ของ นิกิ เลาดา : แชมป์โลก F1 ผู้เปลี่ยนวงการอากาศยาน จากเหตุเครื่องบินตกที่เมืองไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook