“Oligarch” : กลุ่มเศรษฐีผู้เป็นหัวจ่ายให้ วลาดิเมียร์ ปูติน กับธุรกิจด้านกีฬาระดับโลก

“Oligarch” : กลุ่มเศรษฐีผู้เป็นหัวจ่ายให้ วลาดิเมียร์ ปูติน กับธุรกิจด้านกีฬาระดับโลก

“Oligarch” : กลุ่มเศรษฐีผู้เป็นหัวจ่ายให้ วลาดิเมียร์ ปูติน กับธุรกิจด้านกีฬาระดับโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ความหมายของ "Oligarch" Oligarch เป็นศัพท์ทางการเมืองจ๋า ๆ โดยคำ ๆ นี้มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก มีความหมายว่า "กลุ่มผู้ปกครองโดยคนชั้นชั้นสูงเพียงกลุ่มหนึ่ง" 

ว่าง่าย ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ของรัสเซียในตอนนี้ก็คือ หาก วลาดิเมียร์ ปูติน เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด กลุ่ม Oligarch ก็จะเป็นเหมือนแขนขาที่สร้างผลประโยชน์ให้เขา โดยกลุ่ม Oligarch จะเป็นเหมือนท่อน้ำเลี้ยงของรัฐบาล โดยสิ่งตอบแทนที่พวกเขาได้อาจจะเป็นช่องทางการทำธุรกิจหรือไม่ก็ผลประโยชน์ต่าง ๆ สุดแล้วแต่ที่เบื้องบนจะแบ่งสรรปันส่วนให้ 

Oligarch นั้นอยู่คู่กับประเทศรัสเซียมาตั้งแต่วันที่สหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1990 โดยประธานาธิบดี บอริส เยลต์ซิน นั้นต้องการงบประมาณและเงินสนับสนุนจากเหล่ามหาเศรษฐีในประเทศให้เข้ามาช่วยในการพัฒนานโยบายต่าง ๆ ของประเทศ โดยสิ่งที่รัฐบาลของ เยลต์ซิน มอบให้กับเหล่า Oligarch คือช่องทางธุรกิจและช่องทางการทำเงินที่มากขึ้น อาทิ โครงการแปรรูปบัตรกำนัล เพื่อให้เหล่า Oligarch ซื้อเอาไว้ก่อนเพื่อเก็งกำไรที่จะงอกเงยในอนาคต, การเสนอให้ซื้อที่ทางต่าง ๆ เก็งกำไรรอไว้ก่อนที่รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณพัฒนาที่ดินนั้นเพื่อให้กลายเป็นที่ดีที่มีราคาสูงขึ้นจากการผลักดันของรัฐในภายหลัง

 

เรียกได้ว่ามีเศรษฐีคนหนุ่มชาวรัสเซียเกิดขึ้นมามากมายในยุคของ เยลต์ซิน และระบบดังกล่าวก็ยังคงเดินหน้าสืบสานตำนานต่อมาจนถึงวันที่ วลาดิเมียร์ ปูติน ขึ้นมาเป็นใหญ่จากการชนะเลือกตั้งในปี 1992 นั่นเอง 

ทีมงาน Oligarch ในยุค ปูติน เปรียบเสมือนการรวมเอาผู้คนที่ร่ำรวยและมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจในประเทศเข้าไว้ด้วยกันอย่างเเข็งแกร่ง การมี Oligarch ที่พร้อมสนับสนุนทำให้ ปูติน ยังคงอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีมาได้จนถึงปัจจุบันโดยที่บัลลังก์ของเขาไม่เคยสั่นคลอน 

นับตั้งแต่วันที่ ปูติน กลายเป็นนัมเบอร์วันของประเทศจนถึงวันนี้ เขามี Oligarch ที่เป็นเหมือนแขนขาอันเเข็งแกร่งอยู่หลายคนด้วยกัน

เศรษฐีท่อก๊าซ, เศรษฐีด้านสื่อ, เศรษฐีจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ รวมถึงเศรษฐีในวงการกีฬาก็มีไม่น้อย เพราะตอนนี้มีถึง 5 คนด้วยกันสำหรับ Oligarch ที่ยังคงวนเวียนอยู่ในวงการกีฬา ได้แก่พวกเขาเหล่านี้

1.โรมัน อบราโมวิช (อดีตเจ้าของทีม เชลซี) 

แม้จะใช้คำว่าเป็นอดีตเจ้าของทีม เชลซี แต่ก็ยังว่านับรวมอยู่ในกลุ่ม Oligarch ที่อยู่ในวงการกีฬาได้เป็นอย่างดี เพราะตลอดช่วงเวลาที่ โรมัน อบราโมวิช อยู่บนหน้าสื่อในฐานะเจ้าของสโมสรเชลซี เขาประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่มาตลอด 2 ทศวรรษ 

สำหรับ อบราโมวิช หรือที่แฟนฟุตบอลรู้จักกันในนาม "เสี่ยหมี" นั้นถือว่าไต่เต้ามาจากระดับล่างสุดของสังคมได้อย่างแท้จริง เขาเป็นเด็กกำพร้าที่ลาออกจากโรงเรียนตอนอยู่ ม.ปลาย ก่อนที่ไปสมัครเป็นทหารในสังกัดกองทัพรัสเซียอยู่ 3 ปี 

หลังจากออกจากกองทัพ เสี่ยหมี เริ่มทำธุรกิจในฐานะเซลล์ขายผลิตภันฑ์จากยางและของเล่นเด็ก ก่อนที่จะเติบโตในสายธุรกิจอย่างรวดเร็วเนื่องจากเป็นคนที่อยู่เป็น เห็นโอกาส ด้วยการใช้คอนเน็กชั่นสมัยเป็นทหารมาต่อยอดธุรกิจของตัวเอง

นั่นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ชีวิตของเขาพลิกจากหลังมือเป็นหน้ามือเลยก็ว่าได้ เพราะหลังจากมีการส่งผลประโยชน์ถึงคนที่อยู่สูงกว่า บวกกับการที่เป็นคนมีหัวคิดเฉียบแหลม มีทักษะในการวิเคราะห์เรื่องธุรกิจ และมีความใจกล้าในการลงทุน ทำให้เสี่ยหมีได้รับการอวยยศให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งได้เจอกับชายที่ชื่อว่า บอริส เบเรซอฟสกี นักการเมืองเบอร์ใหญ่ของรัสเซีย ที่เป็น Oligarch คนสำคัญในยุคของประธานาธิบดี บอริส เยลต์ซิน นั่นเอง

 

การได้แบ็กที่แข็งโป๊กอย่าง เยเรซอฟสกี ทำให้ อบราโมวิช ก้าวกระโดดบนเส้นทางธุรกิจได้อย่างรวดเร็วที่สุด เขาได้เข้ามาซื้อบริษัท Sibneft ยักษ์ใหญ่ด้านน้ำมันของไซบีเรียในราคาไม่ถึง 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะขายทำกำไรได้ถึง 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยบริษัทที่เข้ามาซื้อก็คือ Gazprom ที่เป็นหนึ่งในธุรกิจของรัฐบาลรัสเซีย ... อัฐยายซื้อขนมยาย จะว่าแบบนั้นก็คงไม่ผิดนัก

หลังจากดีลดังกล่าว อบราโมวิช ก็กลายเป็น Oligarch เต็มตัว เขาได้สิทธิพิเศษต่าง ๆ มากมาย และนั่นทำให้เขาได้พบเจอกับ วลาดิเมียร์ ปูติน สมัยที่ยังเป็นนักการเมืองท้องถิ่นภายใต้สังกัดพรรคคอมมิวนิสต์อยู่ ซึ่งการพบกันครั้งนั้นถือเป็นการสานความสัมพันธ์ของทั้งคู่มาจนทุกวันนี้

เมื่อ ปูติน ขึ้นเป็นใหญ่ แน่นอนว่า อบราโมวิช ก็ยิ่งใหญ่มากขึ้นกว่าเดิม เขาได้รับสิทธิ์ในการทำธุรกิจแทบทุกประเภทในรัสเซีย และด้วยรายรับที่มากมายมหาศาล อบราโมวิช นำเงินเหล่านั้นมาต่อยอดเพื่อหากำไร ชื่อเสียง และความสำเร็จของตัวเองให้มากขึ้น นั่นทำให้เขาหอบเงินมาซื้อสโมสรเชลซีเมื่อปี 2002 ก่อนที่จะบริหารจนทำกำไรและประสบความสำเร็จมาจนทุกวันนี้

ปัจจุบันเนื่องจากปัญหาทางการเมืองที่ รัสเซีย บุกโจมตี ยูเครน ภายใต้การคัดค้านจาก NATO ทำให้พาสปอร์ตของเขาถูกระงับไม่สามารถเข้าประเทศอังกฤษได้ นอกจากนี้ยังโดน ส.ส. ในสภาของอังกฤษหลายคนกดดันให้เขาออกจากตำแหน่งเจ้าของทีมเชลซีจากปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้น

 

ล่าสุดแม้เจ้าตัวจะประกาศถอนตัวจากการเป็นผู้บริหารแล้ว แต่ตามกฎหมายเขายังเป็นเจ้าของเชลซีอยู่ เพียงแต่จะส่งต่อการบริหารให้กองทุนของสโมสร ซึ่งดูเหมือนตอนนี้ทางกองทุนก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้ด้วยเหตุผลด้านภาพลักษณ์ … และ ณ เวลานี้ก็ไม่รู้ว่าจะออกมาในหน้าไหน

2. อลิเชอร์ อุสมานอฟ (ผู้ถือหุ้นสโมสรเอฟเวอร์ตัน)

อลิเซอร์ อุสมานอฟ ถือเป็นอีกหนึ่งในหัวหอกของกลุ่ม Oligarch เขาเป็นผู้มีเชื้อสายอุซเบกิสถาน ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในสมัยยังเป็นสหภาพโซเวียต ปัจจุบันเขาถือครองสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์อยู่ 

จากการประเมินของฟอร์บส์ นิตยสารด้านการเงินชื่อดังระดับโลก พบว่าเศรษฐีรายนี้มีทรัพย์สินรวม 15,100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 528,500 ล้านบาท และกีฬาก็คือสิ่งที่เขาถนัดและใช้เงินไปกับมันไม่น้อยเลยทีเดียว

 

หาก อบราโมวิช เป็นสุดยอดนักธุรกิจด้วยการใช้เส้นสายในวงการทหาร อุสมานอฟ ก็ถือเป็นสุดยอดนักเรียนระดับหัวกะทิที่เติบโตมาจากครอบครัวของชนชั้นบน มีพ่อเป็นอัยการ มีแม่เป็นนักการทูต ซึ่งนั่นทำให้ อุสมานอฟ ถูกส่งให้ไปเรียนด้านการทูตโดยเฉพาะที่กรุงมอสโกตั้งแต่ยังเด็ก  

เขาร่ำรวยจากธุรกิจแรกในช่วงไม่กี่ปีก่อนโซเวียตล่มสลายด้วยการถือหุ้นและเป็นผู้บริหารของธนาคารอย่าง MAPO-Bank ก่อนจะต่อยอดไปได้ไกลด้วยการเข้ามาถือหุ้นของ Gazprom ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมด้านพลังงานอันดับ 1 ของประเทศ 

เมื่อเข้ามาอยู่ใน Gazprom คอนเน็กชั่นที่เหลือก็ตามมา อุสมานอฟ ได้เข้ามาเป็นหนึ่งในหัวหอกด้านธุรกิจและการทูตให้กับรัฐบาลยุคปูติน จากจุดนี้นำมาสู่เส้นทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นทั้งด้านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ, ธุรกิจเหมืองทองแดง หรือแม้แต่การเข้ามาถือหุ้นในบริษัท Facebook (ปัจจุบันเป็น Meta) อีกด้วย 

เมื่อครองธุรกิจแทบทุกอย่าง อุซมานอฟ ก็เริ่มเข้ามาจับตลาดกีฬาด้วยการซื้อหุ้นของสโมสร อาร์เซน่อล 14.58% ในปี 2007 ก่อนที่จะขายทั้งหมดที่มีให้กับ สแตน โครเอนเก้ ในปี 2018 ว่ากันว่าเขาได้กำไรจากการขายหุ้นทั้งหมด 550 ล้านปอนด์เลยทีเดียว 

แม้จะปล่อยมือจาก อาร์เซน่อล แต่ก็ใช่ว่าเขาจะทิ้งเรื่องกีฬาไปเสียหมด เพราะบริษัทในเครือของเขาพร้อมกับ ฟาร์ฮัด โมชิรี ก็ได้ลงทุนกับการเข้าเทคโอเวอร์สโมสร เอฟเวอร์ตัน ในปี 2017 ไว้แล้ว และปัจจุบัน อุสมานอฟ ก็ยังคงถือหุ้นของทีมเอฟเวอร์ตันเอาไว้ในมือ

3. ดิมิทรี ไรโบลอฟเลฟ (เจ้าของ อาแอส โมนาโก)

ดิมิทรี ไรโบลอฟเลฟ เติบโตในครอบครัวชั้นแนวหน้าในยุคสหภาพโซเวียต และมันทำให้เขามีโอกาสได้เรียนแพทย์และจบการศึกษาด้วยการรับรางวัลเกียรตินิยม 

แม้จะจบหมอ แต่ ไรโบลอฟเลฟ กลับมีแนวคิดส่วนตัวว่าหมอเป็นอาชีพที่ทำงานเหนื่อยแต่ก็ไม่ได้ร่ำรวยมากเท่าที่เขาพอใจ จุดนั้นจึงทำให้เขาสนใจเรื่องธุรกิจจนถึงขั้นลาออกจากการเป็นหมอ และมาเปิดธุรกิจค้าขายอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งทำให้เขาหาเงินมาได้ 1 ล้านดอลลาร์แรกในชีวิต 

เส้นทางสายธุรกิจเขาของเริ่มจริงจังขึ้นหลังจากนั้น เขาเริ่มเรียนหลักสูตรธุรกิจและได้รับใบอนุญาตการเป็นนายหน้าจากกระทรวงการคลังของรัสเซีย นำมาซึ่งการถือสินทรัพย์สิน 2 ประเภทคือ Uralkali และ Silvinit ที่เป็นอุตสาหกรรมเกี่ยวกับสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร 

ในยุคนั้น ไรโบลอฟเลฟ สามารถซื้อหุ้นเหล่านี้ในราคาที่ถูกมาก ๆ เนื่องจากกระแสอุตสาหกรรมเรื่องพลังงานมาแรงมากกว่า นั่นจึงเป็นโอกาสที่ดีที่ ไรโบลอฟเลฟ จะช้อนซื้อหุ้นด้านการเกษตรมาจนเกลี้ยง และถือรอเอาไว้จนธุรกิจด้านนี้กลับมาบูมอีกครั้ง ส่งผลทำให้เขาได้เงินเพิ่มขึ้นอีกมหาศาลเมื่อวันนั้นมาถึง

ปลายทางของ ไรโบลอฟเลฟ ไม่ต่างจาก Oligarch คนอื่น ๆ เมื่อเขาส่งผลประโยชน์ต่อให้รัฐบาล เส้นทางการหาเงินของพวกเขาก็ง่ายและสะดวกขึ้น ไรโบลอฟเลฟ หอบเงินเข้ามาเพื่อเทคโอเวอร์สโมสร โมนาโก ในปี 2011 หลังจากที่เขาย้ายมาอยู่ที่รัฐโมนาโกได้ 1 ปี ว่ากันว่า ณ ตอนนั้นสโมสรกำลังประสบปัญหาการขาดทุนอย่างหนักจนต้องขายสโมสรพร้อมหนี้ในราคาที่ถูกมาก และ ไรโบลอฟเลฟ ก็เห็นโอกาสนั้นเหมือนที่เขาเคยทำในอดีต 

เขาลงทุนกับทีมด้วยการอนุมัติงบประมาน 146 ล้านปอนด์ ดึงนักเตะดังอย่าง ราดาเมล ฟัลเกา, ฮาเมส โรดริเกซ, เจา มูตินโญ่, ริคาร์โด้ คาร์วัลโญ่ และ เอริค อบิดัล เข้ามาร่วมทีมในปี 2013 เป็นต้น 

จากจุดนั้นเขาก็ย้อนกลับมาทำกำไรได้ในภายหลังเนื่องจากนโยบายการสร้างดาวรุ่งและปั้นนักเตะขายที่ทำได้ดีแทบทุกตลาด อาทิ อองโตนี่ มาร์กซิยาล, ฟาบินโญ่, ติเอมูเอ้ บากาโยโก้, แบร์นาโด้ ซิลวา และ คิลิยัน เอ็มบัปเป้ เป็นต้น และยังคงทำเช่นนี้อยู่ ณ ปัจจุบัน 

นับตั้งแต่การมาถึงของ ไรโบลอฟเลฟ ในปี 2011 โมนาโก มี 6 ความสำเร็จที่ได้รับการชื่นชมในแง่ของถ้วยรางวัลและการเเข่งขัน อาทิ ลีกเอิง 1 สมัย, เฟรนช์คัพ รอบชิงชนะเลิศ, เฟรนช์ ลีก คัพ 2 ครั้ง และยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก รอบรองชนะเลิศ

4.มิคาอิล โปรโครอฟ (อดีตเจ้าของ บรูคลิน เน็ตส์)

โปรโครอฟ มีปูมหลังมาจากครอบครัวที่ร่ำรวยที่โดนรัฐบาลขูดรีดมาตั้งแต่ยุคที่ โจเซฟ สตาลิน เป็นประธานาธิบดี ที่ดินทำกินของพวกเขาโดนยึดไปหมดจนทำให้ความจนตกมาอยู่ที่รุ่นพ่อรุ่นแม่ของเขา นั่นจึงเป็นเหตุให้ โปรโครอฟ ตั้งใจจะก้าวขึ้นมาเป็นชนชั้นสูงเพื่อครองผลประโยชน์บ้างให้ได้ 

เขาเริ่มตั้งใจเรียนโดยไต่เต้าจากการเรียนกฎหมาย เป็นทนาย และเริ่มทำธุรกิจแรกตอนอายุ 27 ปี กับธุรกิจเหมืองแร่ ซึ่งนั่นเป็นจุดกำเนิดของการทำเงินก้อนใหญ่และการสนิทชิดเชื้อกับ วลาดิเมียร์ โปตานิน รองนายกรัฐมนตรีคนแรกของรัสเซีย

การต่อยอดจากจุดนั้นนำมาสู่การลงทุนต่าง ๆ มากมายทั้งในและนอกประเทศ ทุกวันนี้ โปรโครอฟ ถือเป็นนักลงทุนรายใหญ่ของรัสเซียรายแรกที่ซื้อทรัพย์สินในอิหร่านหลังจากการคว่ำบาตรของประเทศต่อโครงการขีปนาวุธเมื่อ 5 ปีก่อน ขณะที่ด้านกีฬานั้น โปรโครอฟ ไม่ได้มาทางฟุตบอลเหมือนกับคนอื่น ๆ แต่เขาเข้าไปซื้อทีม บรูคลิน เน็ตส์ ทีมบาสเกตบอล NBA ในนามของบริษัท ONEXIM ด้วยการถือหุ้นทั้งหมด 80% ในปี 2009 และกลายเป็นเจ้าของทีมที่ไม่ใช่ชาวอเมริกาเหนือคนแรกของ NBA

การเวลาผ่านไป โปรโครอฟ เริ่มมีบทบาททางการเมืองของรัสเซียมากขึ้น และได้เข้ามาเป็น Oligarch เต็มตัวในยุค วลาดิเมียร์ ปูติน มันทำให้เขาโดนกดดันและเพ่งเล็งเป็นพิเศษ เนื่องจาก รัสเซีย กับ อเมริกา นั้นถือเป็นไม้เบื่อไม้เมากันทุกเรื่องอยู่เเล้ว

ท้ายที่สุดในปี 2019 โปรโครอฟ ก็ประกาศขายหุ้นที่มีทั้งหมดให้กับ โจเซปห์ ไซ รองประธานบริหารจากบริษัทอีคอมเมิร์ซชื่อดังของจีนอย่าง Alibaba นั่นเอง

5. ดิมิทรี มาเซปิน (สปอนเซอร์หลัก ฮาส F1 พ่อของ นิกิต้า มาเซปิน นักขับในทีม)

ดิมิทรี มาเซปิน มาจากสายทหารโดยตรง เขาเริ่มต้นจากการได้ทำงานในตำแหน่งล่ามทหารในประเทศอัฟกานิสถาน ก่อนที่จะจบด้านเศรษฐศาสตร์ที่รัสเซียในภายหลัง 

การจบเศรษฐศาสตร์ทำให้เขามองเห็นโอกาสด้านการเงิน เขาไต่เต้าจากการเทรดและแลกเปลี่ยนเงินในรัสเซียและเบลารุส ท้ายที่สุดก็เข้ารับตำแหน่งผู้บริหารในบริษัทเอกชนและรัฐบาลรายใหญ่ของรัสเซียคือ TNK และ Sibur ซึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติ และเป็นผู้ค้ารายย่อยในนามบริษัท Gazprom 

จากการเป็นรายย่อยไม่กี่ปีในนามของ Sibur มาเซปิน ได้รับความไว้วางใจจากผลงานอันยอดเยี่ยมให้เขาได้รับโอกาสก้าวขึ้นมาเป็นประธานของ Gazprom หลังจากที่ประธานคนเก่าอย่า จาค็อบ โกลดอฟสกี โดนยึดทรัพย์และปลดจากการโกงกำไรของบริษัท

ในยุคของ มาเซปิน เหตุการณ์แบบที่ โกลดอฟสกี ไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว เพราะเขาส่งผลประโยชน์ไปถึงรัฐบาลตลอดและมีความสัมพันธ์อันดีกับ วลาดิเมียร์ ปูติน ทำให้มูลค่าของบริษัทและผลกำไรสูงขึ้นเรื่อย ๆ แบบไม่มีหยุด 

การเหลือกินเหลือใช้ถูกนำมาต่อยอดในด้านกีฬาบ้าง มาเซปิน ได้เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ให้กับทีม ฮาส (Haas) ทีมรถ F1 สัญชาติอเมริกันที่กำลังต้องการเงินทุน

เรื่องเงินสำหรับเขานั้นไม่ใช่ปัญหา แต่ มาเซปิน มีเงื่อนไขเพิ่มเติมคือ นิกิต้า ลูกชายของเขาต้องได้เป็นหนึ่งในนักขับของทีม และต้องเพ้นต์ลายธงชาติรัสเซียลงบนรถแข่งของทีมอีกด้วย 

อย่างไรก็ตามด้วยสถานการณ์ในเวลานี้ระหว่าง รัสเซีย กับ ยูเครน ทำให้ทีม HAAS ได้ถอดโลโก้และลวดลายที่เป็นธงรัสเซียออกจากทีมทันทีเพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านการกระทำของรัสเซีย และมีโอกาสไม่น้อยที่ HAAS จะยกเลิกสัญญาสปอนเซอร์จาก มาเซปิน เนื่องจากปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ หากสิ่งนี้เกิดขึ้นจริงแน่นอนว่าโอกาสที่ นิกิต้า มาเซปิน นักขับของทีมที่เข้ามาในฐานะตัวแทนสปอนเซอร์จะตกงานก็มีสูงเลยทีเดียว 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook