การเมืองเรื่องกีฬา : เจาะเหตุผลเบื้องลึก ทำไม อบราโมวิช ต้องตัดสินใจขาย เชลซี ?
หลังจากเป็นเจ้าของทีมมานานกว่า 19 ปี โรมัน อบราโมวิช ได้ตัดสินใจประกาศขายสโมสรที่ตนรักเป็นที่เรียบร้อย จากแถลงการณ์ไม่ถึงชั่วโมงก่อนที่ เชลซี จะลงแข่งฟุตบอลเอฟเอ คัพ รอบ 5 พบกับ ลูตัน ทาวน์
แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เศรษฐีชาวรัสเซียตัดสินใจเรื่องการขายทีม เพราะด้วยสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของเขาโดยตรง เจ้าตัวเคยพิจารณาถึงตัวเลือกดังกล่าวมาก่อนแล้วเมื่อปี 2018 ซึ่งนั่นอาจเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของประกาศเมื่อคืนนี้ด้วยเช่นกัน
มาย้อนดูเหตุผลเบื้องหลัง ว่าทำไม อบราโมวิช ถึงตัดสินใจยอมเดินออกไปจากตรงนี้ และมีปัจจัยใดบ้างเป็นองค์ประกอบของหนึ่งในข่าวใหญ่ดังกล่าว
สหายของปูติน
เป็นที่ทราบกันดีว่า โรมัน อบราโมวิช มีความสัมพันธ์อันดีกับประธานาธิบดีของรัสเซียอย่าง วลาดิเมียร์ ปูติน จากการไต่เต้าของตนผ่านการทำธุรกิจ พร้อมกับมอบความภักดีและให้การสนับสนุนผู้นำของประเทศมาโดยตลอด จนเขาถูกนับรวมว่าเป็นหนึ่งในกลุ่ม “Oligarch” หรือเหล่าชนชั้นสูงผู้มีอำนาจในการปกครองประเทศร่วมกับปูติน
แม้จะมีความสัมพันธ์กับประธานาธิบดีของรัสเซีย แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเข้ามาเทคโอเวอร์ เชลซี เมื่อปี 2003 เพราะถ้าหากเทียบกับยุคปัจจุบันที่ โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารของซาอุดีอาระเบีย ที่โดนสืบประวัติและพิจารณาความเหมาะสมกันอยู่นานสำหรับการเป็นเจ้าของทีม นิวคาสเซิล กรณีของ อบราโมวิช ถือเป็นดีลที่ง่ายดายไปเลย
เจ้าตัวเข้ามาซื้อทีมด้วยเงิน 140 ล้านปอนด์ และได้ช่วยกอบกู้สถานการณ์ของสโมสรจากทีมที่กำลังจะล้มละลายให้กลายเป็นหนึ่งในยอดทีมแถวหน้าของทวีปยุโรปได้อย่างรวดเร็ว
ดิดิเยร์ ดร็อกบา, มิคาเอล เอสเซียง, บรานิสลาฟ อิวาโนวิช, เซซาร์ อัซปิลิกวยต้า, เอเด็น อาซาร์, เอ็นโกโล่ ก็องเต้ เป็นส่วนหนึ่งของนักเตะที่ถูกดึงมาร่วมทีม และยังได้กุนซืออย่าง โชเซ่ มูรินโญ่, คาร์โล อันเชล็อตติ, อันโตนิโอ คอนเต้, รวมถึง โธมัส ทูเคิล มานำทีมมุ่งสู่เส้นทางความสำเร็จด้วยเม็ดเงินการลงทุนรวมกันเป็นหลักหลายพันล้านปอนด์
เชลซี คว้าแชมป์ได้ทั้งในรายการพรีเมียร์ลีก, เอฟเอ คัพ, ลีกคัพ, ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก, ยูโรป้า ลีก, คอมมูนิตี้ ชิลด์, ยูฟ่า ซูเปอร์คัพ, และสโมสรโลก เรียกได้ว่ากวาดมาทุกถ้วยที่ทีมลงแข่งขัน แถมฤดูกาลนี้ยังมีลุ้นป้องกันแชมป์ UCL กับการไล่ล่าถ้วยพรีเมียร์ลีก และเอฟเอ คัพ สมัยถัดไปอยู่เช่นกัน
เจ้าของทีมวัย 55 ปี เปิดเผยในแถลงการณ์ว่า การตัดสินใจขายสโมสร “เป็นสิ่งที่ยากมาก” และ “เจ็บปวดที่ต้องอำลาสโมสรไปแบบนี้” ทว่าความคิดจะขายสโมสรของ อบราโมวิช ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นมาจากสถานการณ์สงครามในยูเครนแต่เพียงอย่างเดียว
เพื่อทำความเข้าใจเหตุการณ์แบบองค์รวม เราต้องย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นอีกสักหน่อย
เจ้าของที่ทำงานไม่ได้
ช่วงกลางถึงปลายทศวรรษ 2010s เป็นเวลาที่ความสัมพันธ์ของรัสเซียกับชาติตะวันตกลดฮวบลงไปถึงจุดต่ำสุดนับตั้งแต่ยุคสงครามเย็น จากสถานการณ์เข้าบุกรุก ไครเมีย เมื่อปี 2014 และการแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2016 ได้ก่อให้เกิดการคว่ำบาตรจากนานาประเทศ ซึ่งมุ่งเป้าไปยังเหล่าคนรวยของรัสเซียเป็นหลัก
แม้ อบราโมวิช จะรอดพ้นมาตรการข้างต้นมาได้ แต่การลอบวางยาพิษ เซอร์เกย์ สกรีปอล อดีตเจ้าหน้าที่สอดแนมของ รัสเซีย ที่เป็นสายลับสองหน้าให้กับหน่วยข่าวกรองของอังกฤษ พร้อมกับ ยูเลีย ลูกสาวของเธอ บนดินแดนสหราชอาณาจักร ด้วยยาโนวีช็อก ซึ่งเป็นยาพิษจากสมัยสหภาพโซเวียต ก็ทำให้เจ้าของทีมเชลซีต้องได้รับผลกระทบไปด้วยโดยปริยาย
รัฐบาลทั้งสองชาติตัดสินใจขับไล่เจ้าหน้าที่ทางการทูตของแต่ละฝ่ายออกจากประเทศของตน แม้ รัสเซีย จะปฏิเสธถึงการมีส่วนรู้เห็นดังกล่าว แต่ อังกฤษ ก็ยังมั่นใจในข้อสรุปว่าพวกเขานั้นมีส่วนร่วม
นอกจากนี้ทางการอังกฤษยังออกมาตรการขั้นเด็ดขาดกับนักลงทุนผู้ถือวีซ่าประเภท Tier 1 หรือกลุ่มคนที่เข้ามาเริ่มธุรกิจในประเทศด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำ 50,000 ปอนด์ ซึ่งครอบคลุมถึง อบราโมวิช และนักธุรกิจสัญชาติรัสเซียอีกราว 700 คน
ความซวยคือวีซ่าของเจ้าของทีม เชลซี หมดอายุในช่วงนั้นพอดิบพอดี และตอนนั้นชาวรัสเซียไม่สามารถเดินทางเข้าสู่พรมแดนของสหราชอาณาจักรได้ หากไม่ขออนุญาตล่วงหน้าก่อน จึงทำให้ อบราโมวิช ตัดสินใจขอสัญชาติอิสราเอล เพื่อให้เป็นใบเบิกทางให้สามารถเข้าประเทศได้อย่างเสรี
เนื่องจากอิสราเอลมีนโยบายมอบสัญชาติให้ชาวยิวที่ต้องการย้ายกลับไปอยู่อาศัยในประเทศของตน จึงไม่แปลกที่โรมันที่เป็นชาวยิวและได้บริจาคเงินหลายล้านให้งานวิจัยและโครงการพัฒนาประเทศอิสราเอล ถึงได้รับพาสปอร์ตและสัญชาติอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตามสำนักนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรได้ออกมายืนยันในขณะนั้นว่า หากชาวอิสราเอลจะมาอยู่อาศัย ทำงาน หรือเรียนต่อในอังกฤษ พวกเขาก็ยังต้องขอวีซ่าอยู่ดี และคำขอวีซ่าทำงานของเจ้าของทีมรายนี้ก็ถูกปฏิเสธไปในเดือนพฤษภาคม ปี 2018 โดยที่เจ้าตัวไม่ได้ยื่นอุทธรณ์หรือขอวีซ่าฉบับใหม่อีกเลย
แผนการสร้างสนามแห่งใหม่ต้องถูกพับเก็บไปในปีดังกล่าว พร้อมกับมีข่าวลือว่า อบราโมวิช ต้องการขายทีมด้วยมูลค่าขั้นต่ำ 3 พันล้านปอนด์ โดยมีแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือระบุว่าเขาได้จ้างธนาคารจากสหรัฐอเมริกาให้เข้ามาช่วยดูแลเรื่องการขายสโมสรแล้ว
อย่างไรก็ตามเรื่องราวการขายทีมของเขาก็ไม่ได้มีความคืบหน้าอะไรมากนัก และเศรษฐีชาวรัสเซียก็ยังคงเป็นเจ้าของทีมต่อไปจากแดนไกล โดยมี มาริน่า กรานอฟสกาย่า เข้ามาทำหน้าที่บริหารทีมแทนเขาในช่วงเวลาดังกล่าว
สโมสรต้องมาก่อน
อบราโมวิช ตกเป็นข่าวอีกครั้ง เมื่อสถานการณ์ของ รัสเซีย กับ ยูเครน ค่อย ๆ ทวีความรุนแรงขึ้น จนกลายเป็นสงครามที่ถูกประณามโดยประชาคมโลก ไม่เว้นแม้แต่ในวงการฟุตบอล ที่ทำให้หลายสโมสรประกาศถอนสปอนเซอร์จากรัสเซีย และส่งแรงสนับสนุนให้กับชาวยูเครนด้วยวิธีการต่าง ๆ
ขณะเดียวกัน คริส ไบรอันต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคแรงงานของสหราชอาณาจักร ได้ออกมาเรียกร้องให้ยึดทรัพย์สินของมหาเศรษฐีชาวรัสเซียรายนี้เช่นกัน
“ อบราโมวิชไม่ควรได้เป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลในประเทศนี้ต่อไป เราควรมองถึงการยึดทรัพย์บางส่วนของเขา รวมถึงบ้านมูลค่า 152 ล้านปอนด์ เพื่อให้แน่ใจว่าบุคคลที่ถือวีซ่าเทียร์ 1 แบบนี้จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมที่มุ่งร้ายในสหราชอาณาจักร” ไบรอันต์ กล่าว
นอกจากนี้ไบรอันต์ยังเปิดเผยว่า เขามีเอกสารจากปี 2019 ที่สามารถเชื่อมโยงเจ้าของทีมเชลซีกับกิจกรรมทางการเงินที่ผิดกฎหมาย และมันเป็นการกระทำอันส่งให้เกิดชื่อเสียต่อตัว Oligarch รายนี้ ซึ่งหากเป็นความจริงรัฐบาลอังกฤษ อาจต้องใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดในการพิจารณาคดีเลยทีเดียว
อบราโมวิช ออกมาปัดข้อกล่าวหาว่าเจ้าตัวมีความสัมพันธ์อันดีกับทาง เครมลิน และ ปูติน อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งไม่มีใครทราบว่าความจริงเป็นเช่นไรนอกจากตัวเขาเอง
แน่นอนว่า เชลซี ไม่สามารถปลดเจ้าของทีมได้อยู่แล้ว แถมยังเป็นเจ้าของผู้เป็นที่รักของแฟนบอลอย่าง อบราโมวิช นี่คือสถานการณ์ที่ค่อนข้างกลืนไม่เข้าคายไม่ออกอยู่พอควรเลย
เพราะนอกจากความสำเร็จที่เจ้าตัวนำมาสู่ทีมแล้ว เศรษฐีรายนี้ยังให้สโมสรกู้เงินไปใช้จ่ายมากถึง 2 พันล้านปอนด์ ตามรายงานของ Forbes โดย คีเรน แมกไกว์ อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ฟุตบอลของมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ระบุว่ายอดดังกล่าวเป็นดั่งการ “ประกันการคว่ำบาตร” ของตัวเขาจากรัฐบาลอังกฤษเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ปี 2022 อบราโมวิช ตัดสินใจมอบหมายอำนาจการดูแลสโมสรของตนให้กับมูลนิธิการกุศลของทีม อันได้แก่ บรู๊ซ บัค, จอห์น ดีไวน์, เอ็มม่า เฮย์ส, เพียรา พาววาร์, พอล รามอส และ เซอร์ ฮิวจ์ โรเบิร์ตสัน เพื่อให้คนกลุ่มนี้ผู้อยู่ใน “ตำแหน่งที่ดีที่สุดสำหรับการดูแลผลประโยชน์ของสโมสร, ผู้เล่น, พนักงานและแฟนบอล” เข้ามาทำงานแทนเขาอย่างเต็มรูปแบบ
ทว่าการแต่งตั้งให้มูลนิธิของสโมสรขึ้นมาดูแลทีมแทนเป็นสิ่งที่ขัดกับหลักกฎหมายบางประการ จนทำให้ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ และอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ อบราโมวิช ออกประกาศอีกหนึ่งฉบับในรุ่งเช้าของวันที่ 3 มีนาคม 2022
"ผมอยากชี้แจงถึงการคาดเดาบนหน้าสื่อในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา อันเกี่ยวข้องกับการเป็นเจ้าของสโมสรเชลซีของผม" อบราโมวิช เริ่ม
"อย่างที่ได้บอกไปก่อนหน้านี้ ผมตัดสินใจโดยอิงผลประโยชน์ของทีมเป็นหลักในใจมาโดยตลอด และด้วยสถานการณ์ในปัจจุบันผมได้ตัดสินใจขายสโมสร เพราะผมเชื่อว่านี่คือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทีม แฟนบอล พนักงาน ผู้สนับสนุนและพาร์ตเนอร์ของทีม"
“โปรดทราบว่านี่คือการตัดสินใจที่ยากลำบากมาก มันเจ็บปวดเหลือเกินที่ผมต้องจากทีมไปแบบนี้ อย่างไรก็ตามผมมั่นใจว่านี่คือสิ่งที่ดีที่สุดกับสโมสรแล้ว”
นอกจากจะก่อตั้งองค์กรการกุศลขึ้นมาเพื่อรวบรวมรายได้จากการขายทีมไปมอบให้ผู้ได้รับผลกระทบในสงครามที่ยูเครนแล้ว เจ้าตัวยังยกหนี้ที่สโมสรติดค้างกับเขาทั้งหมดให้กับทีม
“ผมทำทีมนี้ด้วยแพชชั่นอันบริสุทธิ์กับกีฬาฟุตบอลและสโมสรแห่งนี้ ไม่ใช่เรื่องของธุรกิจหรือการหากำไรและเงินทอง” เจ้าของทีมชาวรัสเซียกล่าว
ไม่น่าเชื่อว่าภาพของ อบราโมวิช ขณะกำลังชูถ้วยแชมป์สโมสรโลกที่ อาบู ดาบี เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ อาจเป็นครั้งสุดท้ายที่เจ้าตัวจะได้ร่วมยินดีกับเหล่าลูกทีมของเขา หากความปรารถนาที่จะกลับไปอำลาทุกคนด้วยตนเองอีกครั้งไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้
และการประกาศที่มาอย่างผลุนผลันเพียงไม่ถึงชั่วโมงก่อนเกมเอฟเอ คัพ รอบ 5 ที่ เชลซี ต้องออกไปเยือน ลูตัน ทาวน์ ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยว่ามีเหตุผลเบื้องหลังอื่น ๆ ที่นำพาให้เกิดการตัดสินใจดังกล่าวหรือไม่ หรือจะเป็นเพราะเพื่อ “ประโยชน์อันสูงสุดของสโมสร” ตามที่เจ้าตัวย้ำอยู่เสมอในแถลงการณ์ทั้ง 2 ฉบับ
เช่นเดียวกับอนาคตของทีมที่ยังไม่รู้ว่าจะไปในทิศทางใด และใครจะเข้ามาเป็นเจ้าของคนใหม่ โดยปัจจุบันมีชื่อของ ฮันส์ยอร์ก วีสส์ มหาเศรษฐีชาวสวิตเซอร์แลนด์เป็นตัวเต็ง ทว่าในตอนนี้ก็ยังไม่มีอะไรแน่นอน กับการปักป้ายขายที่ราคาสูงถึง 3 พันล้านปอนด์ครั้งนี้
แต่ที่แน่ ๆ นี่คงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ ไม่ว่าเหตุการณ์ต่อจากนี้จะดำเนินต่อไปอย่างไร ทั้งกับ อบราโมวิช หรือ เชลซี เองก็ดี
อัลบั้มภาพ 15 ภาพ