สปีด สแต็ค : ศาสตร์, ศิลป์ และแก่น ของกีฬาเรียงแก้วที่สุดลึกซึ้ง
สแต็ค หรือกีฬาที่หลายคนจำภาพได้ว่าเป็นการแข่งขันเรียงแก้วหรือถ้วยให้เป็นทรงพีระมิด กลายเป็นกิจกรรมที่รู้จักในวงกว้าง แม้กระทั่งในประเทศไทยของเราก็มีความนิยมเกิดขึ้นไม่น้อย
โดยเฉพาะเมื่อภาพยนตร์เรื่อง FAST & FEEL LOVE หนังเรื่องล่าสุดจากค่าย GDH ของผู้กำกับ "เต๋อ" นวพล ธํารงรัตนฤทธิ์ ที่กำลังเป็นกระแสในโซเชี่ยลได้ชูเรื่องการเล่น "สแต็ค" เข้ามาเป็นกิจกรรมหลักในการดำเนินเรื่อง … ความสนใจก็พุ่งทวีคูณ
แม้ภาพที่เราเห็นจะไม่มีอะไรมากไปกว่าการนำแก้วมาวางเรียงและเก็บแก้วแบบเด็ก ๆ แต่แท้ที่จริงแล้วเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬาชนิดนี้ลึกซึ้งถึงขั้นเปลี่ยนแปลงสังคมได้เลยทีเดียว
ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ที่ Main Stand
กำเนิดจากการฝึกสมาธิเด็ก
สแต็ค อาจจะไม่ใช่สิ่งใหม่ในทุกวันนี้ เพราะความนิยมของกีฬาเรียงแก้วนี้ถือเป็นสิ่งที่เราได้เห็นกันบ่อย ๆ ในหน้าสื่อต่าง ๆ อย่างไรก็ตามจุดเริ่มต้นของการเล่นสแต็คหรือการเอาแก้วมาเรียงและเก็บนั้นต้องย้อนกลับไปไกลถึง 40 ปีก่อนเลยทีเดียว
เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 1981 จากชายที่มีชื่อว่า เวย์น โกดิเน็ต ในเวลานั้น เขาคนนี้เป็นผู้อำนวยการ Boys & Girls Clubs สโมสรระดับชาติ (ได้เงินสนับสนุนส่วนหนึ่งจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาด้วย) ที่เปิดให้เด็ก ๆ มาทำกิจกรรมหลังเลิกเรียน ในเมืองโอเชียนไซด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ผู้พยายามคิดค้นกิจกรรมบางอย่างที่ทำให้เด็ก ๆ ได้ใช้ทั้งสมาธิและได้ความสนุกไปพร้อม ๆ กัน
เขาจึงเริ่มใช้แก้วกระดาษสำหรับร้านค้าและร้านน้ำดื่มต่าง ๆ เอามาพลิกแพลงให้กลายเป็นกิจกรรมที่เขาวาดภาพไว้ ก่อนต่อยอดด้วยการเปลี่ยนมาใช้แก้วพลาสติก เจาะรูที่ก้นเพื่อไม่ให้ติดกันยามซ้อนหลายชั้น และถึงขั้นเปิดบริษัทผลิตแก้วพลาสติกสำหรับกิจกรรมนี้โดยเฉพาะ ใช้ชื่อว่า "คารังโก คัพสแต็ค" (Karango Cupstack)
"ผมรู้ว่าผมกำลังริเริ่มทำบางสิ่งบางอย่างขึ้นมาแล้วมันต้องเป็นเรื่องที่ดี ผลที่ออกมาคือเด็ก ๆ ชอบมันมาก เราเริ่มจากการเอาแก้วมาต่อกันสร้างพีระมิด และจากนั้นเราก็จะค่อย ๆ เก็บแก้วโดยไม่ให้มันล้มให้หมดเร็วที่สุด" โกดิเน็ต ที่ปัจจุบันได้กลายเป็นนักเคลื่อนไหวชุมชนกล่าว
กิจกรรมดังกล่าวไปได้ดี เด็ก ๆ ชอบใจ ผู้ปกครองเองก็ไม่ต่างกัน มันช่วยทำให้เด็กสามารถจดจ่อกับอะไรนาน ๆ ได้ มีสมาธิ ได้ฝึกการเคลื่อนไหวและการวางแผน จากประโยชน์ทั้งหมดทำให้เริ่มมีคนสนใจเล่นและเข้ามาเป็นสมาชิกชมรมมากขึ้น เกิดเป็นการแข่งขัน จนกระทั่งครูพละจากรัฐโคโลราโด ชื่อว่า บ็อบ ฟ็อกซ์ ทำให้กีฬาสแต็คเกิดความเปลี่ยนแปลง และยกระดับจากกิจกรรมกลุ่มขนาดเล็กให้แมสในระดับนานาชาติ
จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นในปี 1990 เมื่อลูกศิษย์ของ โกดิเน็ต ชื่อ แม็ตต์ อดัม กับเพื่อน ๆ ได้ไปโชว์การเล่นสแต็คในรายการดังอย่าง The Tonight Show (ช่วงเวลาดังกล่าวมี จอห์นนี่ คาร์สัน เป็นพิธีกร ปัจจุบันมี จิมมี่ ฟอลลอน เป็นพิธีกร) และนั่นทำให้ ฟ็อกซ์ ซึ่งได้ชมรายการในวันนั้น ปิ๊งไอเดียขึ้นมา
ฟ็อกซ์ เริ่มจากการเข้าไปชมการแข่งขันที่ โกดิเน็ต จัดขึ้น ก่อนจะนำวิธีการมาสอนลูกศิษย์ ต่อยอดสู่การจัดแข่งขันขึ้นมาเอง และในวันนั้น มีเด็ก ๆ ที่สมัครเข้าแข่งขันกว่า 250 คน … เขารู้เลยว่า นี่คือกีฬาที่มีศักยภาพสู่ระดับโลก
หลังจากนั้น ฟ็อกซ์ ได้จับมือกับ แลร์รี่ โกเออร์ส พัฒนาอุปกรณ์การเล่นสู่การแข่งขันอย่างจริงจัง รวมถึง "สแต็คแมท" (StackMat) แผ่นวางแก้วที่มีระบบจับเวลา แถมจดสิทธิบัตรป้องกันคนมาลอกเลียนแบบเรียบร้อย และแน่นอน มีการสร้างแบรนด์ขึ้นมาด้วย ในชื่อ "สปีด สแต็ค" (Speed Stacks) ในปี 1998
ปี 2000 ฟ็อกซ์ พักงานจากการเป็นครู เดินทางไปโปรโมตกีฬาสแต็คตามเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ และก่อตั้ง World Cup Stacking Association (WCSA) ขึ้นเพื่อเป็นองค์กรในการจัดการแข่งขันกีฬานี้
นับแต่นั้นมา กีฬาสแต็คก็ขยายตัวไปไกลทั่วทุกมุมโลก WCSA ถูกเปลี่ยนชื่อให้เป็น สมาคมกีฬาสแต็คโลก หรือ WSSA (World Sport Stacking Association) และเมื่อทุกอย่างเติบโต การเปลี่ยนแปลงจึงตามมา ... บ็อบ ฟ็อกซ์ ตัดสินใจส่งไม้ต่อให้ แลร์รี่ โกเออร์ส กับ ดอน ทีล ขึ้นมาเป็นผู้บริหารของ Speed Stacks รวมถึงเป็นผู้บริหารของ WSSA อีกด้วย
ปัจจุบัน มีการเล่นกีฬาสแต็คใน 56 ประเทศ และมีการเล่นกีฬานี้ในโรงเรียนของสหรัฐอเมริกามากกว่า 27,000 แห่ง WSSA มีการจัดแข่งขันกีฬานี้มากถึงราว 150-175 รายการต่อปี เช่นเดียวกับ Speed Stacks ที่กลายเป็นแบรนด์อุปกรณ์กีฬาสแต็คอันดับ 1 ครองส่วนแบ่งการตลาดถึง 98%
จากที่เคยเป็นแค่กิจกรรมของเด็ก ๆ ทุกวันนี้ สแต็ค กลายเป็นกีฬาที่เล่นกันทุกเพศทุกวัย และมีการแข่งขันชิงแชมป์โลกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สแต็คเล่นยังไง ?
หากจะให้อธิบายแบบละเอียดก็คงต้องบอกว่ายาว แต่เพื่อพอให้นึกภาพออก การเล่นสแต็คนั้นมีหลากหลายวิธี หลักใหญ่ใจความสำคัญของมันคือ การนำแก้วเอามาตั้งจากล่างขึ้นบนเป็นรูปทรงแบบพีระมิด จากนั้นก็เก็บแก้วทั้งหมดจากบนลงล่าง โดยต้องทำให้รวดเร็วและผิดพลาดน้อยที่สุด
ส่วนรูปแบบการเล่นสแต็คพื้นฐานมี 3 รูปแบบ ได้แก่ สแต็ค 3-3-3, สแต็ค 3-6-3 และ สแต็ค Cycle Stack 3-3-3 & Stack 3-6-3 ว่าง่าย ๆ ก็คือจะใช้จำนวนถ้วยและวิธีการตั้งแก้วและเก็บแก้วแตกต่างกันออกไป
ความสนุกที่แท้จริงคือการเอาชนะกันเรื่องเวลา ทั้ง ๆ ที่เรามองดูเหมือนว่ามันไม่มีอะไรมากไปกว่าการตั้งและเก็บแก้วด้วยความเร็ว แต่ศาสตร์ของการเล่นสแต็คก็ไม่ต่างกับกีฬาชนิดอื่น ๆ ที่มีการพยายามค้นหาวิธีที่จะทำให้เร็วกว่าเดิมให้ได้มาตลอด เรียกได้ว่าเป็นการหาทริกใหม่ ๆ มาใช้มาแก้ลำกันได้เสมอ
"ผมจำได้ว่าเมื่อช่วง 10 หรือ 15 ปีที่แล้วเด็ก ๆ ก็เร็วมาก ๆ แล้ว และพวกเราที่เป็นฝ่ายบริหารก็ต่างพากันคิดว่า 'เด็ก ๆ คงไม่สามารถเร็วกว่านี้ได้' ... แต่ทุก ๆ ครั้งที่เกิดความคิดเช่นนี้ อีกเพียงสองสามปีเท่านั้นเราก็จะได้เห็นเด็กบางคนที่ยกระดับและทำลายสถิติเหล่านั้นมาโดยตลอด" แลร์รี่ โกเออร์ส กล่าว
"กีฬาชนิดนี้ไม่ใช่แค่การท้าทายทางการเคลื่อนไหว แต่มันเป็นเหมือนการแข่งกับเวลาเพียงเสี้ยววินาที ยิ่งพยายามทำให้เร็วเท่าไหร่มันก็เหมือนกับมีเวทมนตร์ และนั่นคือสิ่งที่น่าเหลือเชื่อ ผู้เล่นบางคนรวดเร็วมากจนเหมือนพวกเขาเล่นกลอยู่กลางอากาศเลยทีเดียว"
ไม่ใช่แค่ผู้เล่นที่พัฒนาเท่านั้น แม้กระทั่งอุปกรณ์สำหรับการแข่งขันสแต็คก็ถูกพัฒนาขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง StackMat อุปกรณ์จับเวลาการแข่งขันสแต็ค จากตอนแรกที่จับเวลาด้วยความละเอียด 1/100 วินาที แต่ศักยภาพของผู้เข้าแข่งขัน ทำให้เวลาผ่านไป ยิ่งเกิดผลเสมอมากขึ้นเรื่อย ๆ จนต้องปรับความละเอียดของเวลาให้เป็น 1/1000 วินาทีเลยทีเดียว
ฝีมือของผู้เล่นที่นับวันยิ่งก้าวไกล ทำให้เมื่อมีการถามว่า "ใครคือ ไมเคิล จอร์แดน (คนที่ยิ่งใหญ่สุดตลอดกาล) ของกีฬาสแต็ค ?" … แลร์รี่ โกเออร์ส ถึงกับกล่าวว่า "ทุก 2-3 ปี เราจะมี ไมเคิล จอร์แดน คนใหม่"
การเอาชนะกันด้วยความเร็วคือหัวใจของกีฬาชนิดนี้ แม้บางคนจะมองว่า "ก็แค่คนแข่งกันวางแก้วพลาสติก" แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาคือสิ่งที่บอกว่าสแต็คนั้นใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์อย่างที่สุด ไม่ต่างกับนักกีฬาวิ่ง 100 เมตรที่จ้องจะทำลายสถิติโลกกันทุก ๆ ปี ...
มันคือกีฬาที่ไม่เคยหยุดนิ่ง และนี่คือเหตุผลว่าทำไม สแต็ค จึงกลายเป็นที่นิยมและแมสไปทั้งโลกในเวลานี้
เหนือกว่าการเอาชนะคือการเปลี่ยนแปลงคน
แม้เราจะบอกว่าทุกวันนี้มีการแข่งขันชิงแชมป์โลก ที่มีเงินรางวัลกว่า 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ และผู้เข้าแข่งขันไม่ได้มีแค่เด็ก ๆ 8-9 ขวบเหมือนเมื่อก่อนแต่มีทุกรุ่นอายุ แต่ที่แน่ ๆ คือแก่นของกีฬาชนิดนี้ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แม้การแข่งขันจะดุเดือดขนาดไหน แต่แก่นของมันก็คือการ "พัฒนาคน" ซึ่งจุดนี้ สแต็ค ได้เปลี่ยนชีวิตของเด็ก ๆ และครอบครัวหลายครอบครัวไปแล้วมากมาย
โจอี้ คุกซี่ย์ (Joey Cooksey) เด็กหนุ่มที่เคยโดนแกล้งในชั้นเรียนเนื่องจากเป็นคนที่ค่อนข้างอ่อนแอ ไม่ค่อยสุงสิงกับใคร และไม่เก่งกีฬาชนิดใดเลยจนทำให้เขาไม่มีกลุ่มไม่มีเพื่อน ทว่าหลังจากที่เขาได้รู้จักกับการแข่งขัน สปีด สแต็ค ชีวิตของเขาก็เปลี่ยนไป มันเปลี่ยนเขาจากเด็กที่เก็บตัวและท้อแท้กับการเข้าหาสังคมเพื่อนวัยรุ่นให้ได้เจอกับกลุ่มคนที่มีความชอบเหมือนกัน เหนือสิ่งอื่นใดคือเขากลายเป็นคนที่มีสภาพจิตใจดีขึ้น
Photo : www.instagram.com/joey.in.real.life
"แต่ก่อนผมเป็นแค่พวกเนิร์ด กลุ่มเด็กที่คนอื่นตัดสินว่าเป็นเด็กแปลก ๆ ที่นั่งอยู่ท้ายห้องใส่หูฟังฟังเพลงแบบไม่มีใครสนใจ" คุกซี่ย์ กล่าวเช่นนั้น ก่อนที่เขาจะเล่าถึงมิตรภาพที่ได้จากการแข่งขันสแต็คว่ามันเปลี่ยนแปลงชีวิตเขาไปในหลายช่วงอายุวัยรุ่น เริ่มตั้งแต่การได้รับคำปลอบประโลมในวันที่แพ้และทำพลาด ไม่มีผู้เล่น Toxic พฤติกรรมก้าวร้าวเหมือนกับที่เขาเจอในการเล่นบาสเกตบอลหรืออเมริกันฟุตบอล
ทั้งหมดนี้เปลี่ยนให้เขารักและเล่นสแต็คมาจนกระทั่งกลายเป็นแชมป์ของรัฐ และกลายเป็นตัวแทนทีมชาติสหรัฐอเมริกาชุดปัจจุบัน
มีเด็ก ๆ อีกหลายคนที่ไม่ได้ชอบกีฬาที่ใช้กำลังอย่างเข้มข้นเหมือนกิจกรรมเอาต์ดอร์อย่าง ฟุตบอล, บาสเกตบอล หรืออะไรก็ตาม การมีสแต็คเข้ามาเป็นทางเลือกเป็นชมรมในโรงเรียน ทำให้พวกเขาได้เจอพื้นที่เซฟโซนของตัวเอง และแน่นอนว่ามันเปลี่ยนให้เด็ก ๆ เริ่มคิดใหม่ และเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งดี ๆ อีกหลายอย่าง สิ่งหนึ่งในนั้นก็คือการมีความสุขกับการได้ไปโรงเรียนและได้อยู่กับกลุ่มคนที่รักและชอบในสิ่งเดียวกัน
เพราะสังคมทุกวันนี้เปิดกว้างขึ้น ความชอบและรสนิยมเป็นเรื่องที่ไม่มีใครควรก้าวก่ายกัน เช่นเดียวกับกีฬาสแต็คที่ดูเผิน ๆ ก็เหมือนเป็นการเรียงแก้วไปมาธรรมดาไม่มีอะไร แต่ถ้าเจาะเข้าไปให้ลึกเราจะพบว่า นี่คือกีฬาที่เปลี่ยนชีวิตของคน ๆ หนึ่งได้เลย ต่อให้ไม่มีการแข่งขันชิงแชมป์โลกชิงเงินรางวัลก็ตาม แต่แก่นแท้ของสแต็คนั้นยังคงชัดเจนเสมอ
ปัจจุบันเราได้เห็นเด็ก ๆ หลายคนหันมาสนใจกีฬาชนิดนี้กันมากขึ้น และบางคนก็มีอายุน้อยมาก เช่นที่สหรัฐอเมริกา มีนักเรียงสแต็คที่อายุน้อยที่สุดเพียงแค่ 2 ขวบเท่านั้น ... คงไม่ต้องเดาเลยว่าหากเด็ก 2 ขวบคนนี้ลงแข่งขันเธอจะแพ้หรือชนะ ?
แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ ผลการแข่งขันนั้นอาจไม่สำคัญเท่ากับว่าคุณได้ทำในสิ่งที่รักหรือไม่ ได้หาตัวเองเจอหรือเปล่า ?
และนี่คือสิ่งที่ทำให้ สแต็ค ยังคงอยู่มาตั้งแต่ยุค 80s จนถึงทุกวันนี้