มองผ่านการเมือง : เหตุผลที่อังกฤษแทรกแซง "เชลซี" แม้สโมสรเสี่ยงล่มสลาย
การยึดสโมสร เชลซี ของรัฐบาลอังกฤษกลายเป็นประเด็นร้อนในโลกฟุตบอล โดยเฉพาะมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลออกมาเพื่อควบคุมทีมสิงโตน้ำเงินคราม จนส่งผลกระทบต่ออนาคตทั้งระยะสั้นและระยะยาวของสโมสร
ถึงจะไม่เป็นธรรมกับทีมฟุตบอลนี้เท่าไหร่นัก แต่การกระทำของอังกฤษไม่ได้ไร้เหตุผล เพียงแต่เราจะไม่มีทางเข้าใจหากมองแค่เรื่องของฟุตบอล เพราะปัญหาระหว่าง "ยูเครน-รัสเซีย" เป็นเรื่องการเมืองเสมอมา
Main Stand จะพาคุณมาเข้าใจการแทรกแซงเชลซีที่เกิดขึ้นผ่านมุมมองของการเมือง กับชะตากรรมอันน่าเจ็บปวดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
คนสำคัญที่ชื่อ "บอริส จอห์นสัน"
หากจะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ สิ่งแรกที่ต้องทำความรู้จักคือนายกรัฐมนตรีของประเทศอังกฤษ เพราะในทางปฏิบัตินี่คือบุคคลที่มีอำนาจมากที่สุดของแดนผู้ดี
คนที่อยู่ในสปอตไลต์คงไม่ใช่ใครอื่นนอกจากนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันจากพรรคอนุรักษ์นิยมหรือคอนเซอร์เวทีฟ อย่าง บอริส จอห์นสัน ผู้มาพร้อมกับนโยบายอันแข็งกร้าวตามสไตล์ผู้นำฝ่ายขวายุคใหม่ กับการชูผลประโยชน์ของอังกฤษนำมาเป็นเป้าหมายสูงสุด
สำหรับนโยบายระหว่างประเทศ บอริส จอห์นสัน แสดงจุดยืนชัดเจนว่าเขาไม่ต้องการประนีประนอมกับชาติไหนก็ตามที่ขัดขวางผลประโยชน์หรือประกาศตัวเป็นศัตรูกับอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมเขาก็พร้อมจะหามาตรการที่จะมาต่อสู้ สั่งสอนให้ประเทศคู่แข่งได้รับบทเรียน
บอริส จอห์นสัน มีความคิดที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน เขาเชื่อว่าถ้าอังกฤษจะเป็นมหาอำนาจของโลก อังกฤษต้องมีความแข็งแกร่งในตัวเองเสียก่อน เขาจึงพยายามปลุกความเป็นชาตินิยมของอังกฤษและลดคุณค่าของสหภาพยุโรปลง ตามแนวทางของพรรคคอนเซอร์เวทีฟ
อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรป ไม่ใช่ศัตรูที่แท้จริงของ บอริส จอห์นสัน แต่เป็น "รัสเซีย" ซึ่ง บอริส จอห์นสัน ได้แสดงความกังวลมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2021 ว่าสักวันรัสเซียจะต้องบุกยูเครนแน่นอน และมันจะส่งผลเสียย้อนกลับมาที่อังกฤษ
"ผมหวังว่าเพื่อน ๆ ของเราจะเข้าใจว่าเราเหลือทางเลือกเพียงแค่สองทาง หนึ่งคือยอมรับน้ำมันจากรัสเซีย สองคือยืนหยัดกับพี่น้องชาวยูเครน ต่อสู้เพื่อสันติภาพและความมั่นคง" บอริส จอห์นสัน กล่าวในเดือนพฤศจิกายน 2021 แสดงความตระหนักถึงปัญหาใหญ่ในยุโรปที่กำลังจะเกิดขึ้น
บอริส จอห์นสัน กลายเป็นตัวตั้งตัวตีในการชวนทะเลาะกับรัสเซีย ด้วยการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อโจมตีชาติมหาอำนาจฝั่งยุโรปตะวันออกอยู่เสมอ และเป้าหมายหลักของเขาไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจาก "วลาดิเมียร์ ปูติน" ผู้นำของรัสเซีย ชายที่ บอริส จอห์นสัน เชื่อว่าเป็นตัวการของความวุ่นวายทั้งหมด
"ท่านนายกรัฐมนตรียังคงยืนยันและให้ความสำคัญว่า อังกฤษจะยังคงยืนอยู่ข้างยูเครนในการปกป้องทั้งเขตแดนและอำนาจอธิปไตย"
"ดังนั้นเราขอเตือนว่า หากรัสเซียวางยุทธศาสตร์ใดที่จะนำไปสู่ความผิดพลาดก็ต้องเตรียมพร้อมยอมรับผลที่จะตามมา" โฆษกประจำตัวของนายกรัฐมนตรีของกฤษ ส่งขอความขู่โดยตรงไปยังรัสเซียในเดือนธันวาคม 2021 หลังจากนั้นไม่กี่เดือนทั้งโลกก็ได้พบเหตุการณ์ที่สั่นสะเทือน นั่นคือรัสเซียเคลื่อนพลบุกยูเครนจริง ๆ ตามที่อังกฤษคาดการณ์
ถึงจะบอกว่าอยู่เคียงข้างยูเครน แต่ก็ไม่มีใครไร้เดียงสาพอที่จะเชื่อว่า อังกฤษจะส่งคนในประเทศตัวเองไปสู้รบเพื่อแผ่นดินของคนอื่น พวกเขาจึงทำได้เพียงแค่ส่งอาวุธและเงินสนับสนุนไปช่วยเหลือเท่านั้น
แม้จะดูเป็นเสือกระดาษอยู่บ้าง แต่ทุกสิ่งที่ บอริส จอห์นสัน พยายามข่มขู่รัสเซียก็เพื่อบอกว่า อังกฤษพร้อมจะทำทุกทางเท่าที่จะทำได้ในการต่อสู้กับรัสเซีย หากคิดบุกยูเครนซึ่งเป็นการท้าทายโลกตะวันตกทางอ้อม
ประกอบกับโลกในปี 2022 การทำสงครามไม่จำเป็นต้องต่อสู้กันด้วยปืน ระเบิด หรือรถถังอีกต่อไป แต่การสงครามสามารถเปิดฉากได้ผ่านเรื่องของเงินทอง ทรัพย์สิน และผลประโยชน์ ซึ่งเปิดช่องให้ บอริส จอห์นสัน ได้เดินหน้าไล่จัดการเพื่อเปลี่ยนอังกฤษ แบบที่เขาอยากลงมือทำมานานเสียที
เมื่อเชลซีกลายเป็นสมบัติของรัสเซียที่อังกฤษต้องจัดการ
"การทำลายล้างและการนองเลือดคือทางที่ประธานาธิบดีปูตินเลือก ด้วยการเปิดการโจมตีกับประเทศที่ไม่ได้เป็นภัยอย่างยูเครน สหราชอาณาจักรและพันธมิตรของเราจะทำการตอบโต้ในทันที" บอริส จอห์นสัน โพสต์ข้อความลงทวิตเตอร์ส่วนตัวทันทีที่รัสเซียบุกโจมตียูเครน
ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือการโจมตียูเครนของรัสเซียถูกมองเป็นภัยคุกคามของชาติตะวันตกที่มีแต่ผลเสียไม่มีผลดีอะไรสำหรับชาติเหล่านี้ ดังนั้นประเทศอย่าง อังกฤษ, สหรัฐอเมริกา, เยอรมัน และชาติพันธมิตรอื่น ๆ พร้อมทำ "ทุกวิถีทาง" เพื่อเล่นงานรัสเซีย
ในฐานะประเทศยักษ์ใหญ่ของยุโรป อังกฤษไม่สามารถอยู่เฉยกับการบุกโจมตียูเครนซึ่งเป็นพันธมิตรของโลกตะวันตกได้ การเปิดฉากสงครามทางการเงินกับรัสเซียจึงเป็นเรื่องที่หนีไม่พ้นที่จะต้องทำ เพื่อเป็นการตอบโต้รัสเซียในรูปแบบที่ต่างออกไป
อังกฤษเดินหน้าคว่ำบาตรทางการค้ากับรัสเซียในทันที และพร้อมจะยกระดับมาตรการต่อไปอย่างรวดเร็ว นั่นก็คือการยึดทรัพย์สินของรัสเซียที่อยู่ในอังกฤษมาเป็นของตัวเอง เพื่อให้ไม่ให้ทรัพยากรเหล่านั้นถูกใช้เป็นกำลังในการก่อสงครามของรัสเซีย
พูดง่าย ๆ ก็คืออังกฤษตั้งใจที่จะทำให้เศรษฐกิจของรัสเซียตกต่ำลง บีบให้รัสเซียตระหนักว่ายิ่งพวกเขาทำสงครามนานขึ้นเท่าไหร่ เศรษฐกิจในประเทศก็จะยิ่งตกต่ำลงมากเท่านั้น เพื่อมัดมือให้รัสเซียยอมถอยกำลังทหารออกไปแต่โดยดี
และหากพูดถึงคนรัสเซียที่มีบทบาทในสังคมอังกฤษ คนที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในภาพกว้างคือ โรมัน อบราโมวิช มหาเศรษฐีเจ้าของสโมสรฟุตบอล เชลซี ทีมดังในประเทศอังกฤษ ผู้มีความสนิทสนมกับ วลาดิเมียร์ ปูติน
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสายสัมพันธ์อันดีระหว่าง อบราโมวิช กับ ปูติน จะทำให้เขาถูกจับจ้องอย่างหนักแค่ไหน และยิ่งเพิ่มโอกาสที่ เชลซี จะถูกเล่นงานจากรัฐบาลอังกฤษ
หลายคนอาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐบาลอังกฤษจะต้องมามุ่งเป้าเล่นงานสโมสรฟุตบอลอย่าง เชลซี แต่ในความเป็นจริงแล้ว เชลซี คือสโมสรฟุตบอลของ โรมัน อบราโมวิช ซึ่งเป็นชาวรัสเซียไม่ใช่สโมสรฟุตบอลของอังกฤษ เพียงแค่ตั้งอยู่บนเกาะอังกฤษเท่านั้น ซึ่งแม้แต่สโมสรเองก็ยอมรับว่า อบราโมวิช ครอบครองหุ้นในสโมสรแห่งนี้ "100%"
และความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้อีกอย่างคือ อะไรที่เป็นของรัสเซียมักถูกใส่ภาพว่าเป็นของ วลาดิเมียร์ ปูติน เข้าไปด้วยผ่านความเกี่ยวข้องกันระหว่าง อบราโมวิช และ ปูติน
โรมัน อบราโมวิช ก็รู้เรื่องนี้ดี เขาจึงพยายามที่จะขาย เชลซี ออกไปให้เร็วที่สุดเพื่อไม่ให้รัฐบาลอังกฤษเข้ามายึดทรัพย์สินของเขาไป ซึ่งจะกลายเป็นว่า อบราโมวิช จะเสียสโมสรมูลค่าหลายพันล้านแห่งนี้ไปแบบไม่ได้อะไรกลับมา
น่าเสียดายที่แม้จะคิดเร็วทำเร็วแค่ไหนแต่ก็ยังช้าเกินไป เนื่องจากรัสเซียยังคงเปิดฉากโจมตียูเครนไม่หยุด รัฐบาลอังกฤษจึงตัดสินใจยกระดับมาตรการประกาศยึดทรัพย์สมบัติทั้งหมดที่อยู่ในประเทศอังกฤษของกลุ่มคนที่ใกล้ชิดกับ ปูติน หรือที่เรียกกันว่า Oligarch กลุ่มคนชนชั้นนำที่มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลรัสเซีย
แน่นอนว่า โรมัน อบราโมวิช ก็คือหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มนี้ ดังนั้นทรัพย์สินทุกอย่างของเขาในอังกฤษจึงถูกยึด รวมถึงสโมสรฟุตบอลเชลซี
แค่การโดนยึดสโมสรก็เป็นข่าวใหญ่พออยู่แล้ว แต่รัฐบาลอังกฤษยังออกมาตรการต่าง ๆ กับ เชลซี ที่ส่งผลกระทบอย่างมากกับสโมสร ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
การเมืองต้องมาก่อนฟุตบอล (ในมุมรัฐบาลอังกฤษ)
"เชลซีถูกกลั่นแกล้งโดยรัฐบาลอังกฤษ" "รัฐบาลอังกฤษทำเกินกว่าเหตุ" คือคำที่เห็นได้มากมายในโลกโซเชียล เพราะเราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าการยึดครองเชลซีของรัฐบาลอังกฤษไม่ได้ส่งผลดีอะไรกับเชลซีเลยแม้แต่นิดเดียว
ไม่ว่าจะเป็นการห้ามซื้อหรือขายนักเตะ, การห้ามต่อสัญญานักเตะ, ห้ามขายสินค้าที่ระลึกทุกชนิดของทีม, ห้ามจำหน่ายตั๋วเข้าชมเกมการแข่งขัน, เงินค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดที่เชลซีจะได้รับถูกแช่แข็งโดยนำมาใช้บริหารสโมสรไม่ได้ และการถูกจำกัดงบประมาณในเกมการแข่งขันเป็นต้น
หายคนอาจจะไม่เข้าใจว่าเหตุใดรัฐบาลอังกฤษถึงต้องเข้มงวดกับเชลซีเป็นอย่างมาก จนทำให้สโมสรได้รับผลกระทบแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้คือรัฐบาลอังกฤษไม่ได้มอง เชลซี ในฐานะสโมสรฟุตบอล
สำหรับรัฐบาลอังกฤษ เชลซี คือทรัพย์สินของมหาเศรษฐีชาวรัสเซียที่ถูกตีมูลค่าถึง 9 พันล้านปอนด์ (ประมาณ 39,000 ล้านบาท) เหมือนกับทรัพย์สินของมหาเศรษฐีชาวรัสเซียรายอื่นที่ถูกรัฐบาลอังกฤษยึดมา
รัฐบาลอังกฤษไม่ได้สนใจว่าเชลซีจะอย่างไรต่อไป แต่สิ่งเดียวที่พวกเขาสนใจคือทรัพย์สินมูลค่า 9 พันล้านปอนด์ของ โรมัน อบราโมวิช สามารถกลายเป็นงบประมาณที่ใช้สนับสนุนรัฐบาลรัสเซียในการก่อสงครามกับยูเครนได้ในอนาคต
ขณะเดียวกันอังกฤษได้มองการยึดทรัพย์ครั้งนี้เป็นการตัดท่อน้ำเลี้ยงและบีบให้คนใกล้ตัวของ ปูติน ต้องหันหลัง หรือออกมาต่อต้านรัฐบาลรัสเซีย บีบให้เกิดความไม่มั่นคงในประเทศรัสเซีย เพื่อให้พวกเขาถอนทัพจากยูเครน
"ที่นี่ (ประเทศอังกฤษ) ไม่ใช่แหล่งหลบภัยของพวกที่สนับสนุนปูตินผู้โหดเหี้ยมที่สั่งโจมตียูเครน"
"การแทรกแซงในครั้งนี้คือมาตรการล่าสุดของสหราชอาณาจักรที่จะสนับสนุนชาวยูเครน เราจำเป็นต้องใช้วิธีรุนแรงเพื่อเล่นงานกลุ่มคนที่เข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์ ทำลายโรงพยาบาล และรุกรานอำนาจอธิปไตยของประเทศพันธมิตรของเราอย่างไร้เหตุผล" บอริส จอห์นสัน กล่าวหลังการประกาศยึดทรัพย์กลุ่ม Oligarch
เช่นเดียวกับ ลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศและการพัฒนาของอังกฤษ ที่ได้ออกมากล่าวชัดเจนว่าการเล่นงานกลุ่มเศรษฐีของรัสเซียในครั้งนี้คือการโจมตีกลับไปยังรัสเซียให้ได้รับรู้ว่า พวกเขาไม่มีสิทธิ์ที่จะมีที่ยืนในระบบเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่าของโลกตะวันตก เพราะในปัจจุบันเศรษฐกิจของรัสเซียตกตํ่าลงอย่างรวดเร็วหลังชาติตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซียอย่างต่อเนื่อง
แม้แต่การถอนตัวของสปอนเซอร์ของเชลซี อย่าง Three (3) ก็เกิดขึ้นเพราะบริษัทเครือข่ายโทรคมนาคมไม่อยากจะมีส่วนเกี่ยวข้องว่าจ่ายเงินไปเป็นทรัพย์สินของคนรัสเซีย ซึ่งอาจหมายถึงการจ่ายเงินสนับสนุนรัฐบาลรัสเซียผ่านมุมมองทางการเมือง ซึ่งตัวกลางทั้งหมดก็คือสโมสรฟุตบอลเชลซี
เราต้องไม่ลืมความจริงว่าอังกฤษและชาติตะวันตกได้เปิดสงครามทางการเงินและการค้ากับรัสเซียเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งเป็นเรื่องปกติของสงครามที่แต่ล่ะชาติจะยึดของของศัตรูมาเป็นของตัวเองเพื่อตัดกำลังฝ่ายตรงข้ามและเสริมกำลังให้กับฝ่ายตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลอังกฤษตัดคนรัสเซียให้กลายเป็นคนนอกของประเทศโดยสมบูรณ์ และทำให้พวกเขาสามารถทำการยึดทรัพย์สินต่าง ๆ ได้โดยง่าย
แม้ เชลซี จะต้องเจอกับมาตรการที่โหดร้ายจากรัฐบาลอังกฤษ แต่ในความจริงแล้วสโมสรแห่งนี้ก็ยังถือว่าโชคดีที่สามารถดำเนินการแข่งขันต่อไปได้ เพราะรัฐบาลอังกฤษมีอำนาจที่จะยุบสโมสรแห่งนี้ไปเลยก็ได้ หากว่าอยากจะจำกัดการเคลื่อนไหวทางการเงินและทรัพย์สินของ โรมัน อบราโมวิช ให้นิ่งที่สุด
จะเห็นได้ว่ารัฐบาลอังกฤษมอง เชลซี เป็นแค่ทรัพย์สินที่ถูกยึดมาจากการทำสงครามกับรัสเซีย นี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้อังกฤษควบคุมกิจกรรมทางการเงินต่าง ๆ ของเชลซี มันเป็นเพราะพวกเขาไม่ต้องการให้ทรัพย์สินที่ยึดมามีการเปลี่ยนแปลงหรือถ้าจะเปลี่ยนแปลงก็ต้องเปลี่ยนแปลงให้น้อยที่สุดไม่ว่าจะเป็นทางบวกหรือทางลบ
"ฉันรู้ว่าสถานการณ์นี้ทำให้เกิดความไม่แน่นอน แต่รัฐบาลจะทำงานร่วมกับลีกและสโมสรต่าง ๆ เพื่อให้ฟุตบอลมีการแข่งขันต่อไป ในขณะเดียวกันก็รับรองได้ว่าการคว่ำบาตรนี้จะส่งผลถึงสิ่งที่ตั้งใจไว้" นาดีน ดอร์รีส์ รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว
สำหรับรัฐบาลอังกฤษ พวกเขาเชื่ออย่างหนักแน่นว่าได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพราะการเมืองต้องมาก่อนฟุตบอลในมุมของพวกเขา เพื่อตอบโต้รัสเซียพวกเขาจำเป็นต้องยอมตัดอนาคตของสโมสรฟุตบอลแห่งหนึ่ง และแน่นอนว่ามันไม่ใช่ทางเลือกที่ยากนัก
ระหว่าง "สโมสรฟุตบอลเชลซี" กับ "ทำลายรัสเซียเพื่อหยุดการรุกรานยูเครน" หากต้องเลือกเพียงอย่างเดียวและยอมเสียอีกอย่าง ชัดเจนว่ารัฐบาลอังกฤษต้องเลือกอย่างหลัง เพราะแค่ตอนนี้ประเทศก็เริ่มเจอปัญหาเงินเฟ้อเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งมันกระทบกับชีวิตคนอังกฤษทุกคน และหากการรุกรานยืดเยื้อต่อไปก็มีแต่จะเสียหายมากขึ้นเรื่อย ๆ
อย่างที่เราเขียนไปตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น สำหรับรัฐบาลอังกฤษในยุคของ บอริส จอห์นสัน ผลประโยชน์ของคนในประเทศต้องมาก่อน และโชคร้ายที่การแทรกแซงกิจการของเชลซีไม่ได้กระทบกับชีวิตของชาวอังกฤษเท่ากับการรุกรานที่รัสเซียทำกับยูเครน … สโมสรฟุตบอลแห่งลอนดอนตะวันตกจึงต้องกลายเป็นผู้รับบาปในเรื่องนี้ไปโดยปริยาย
เชลซี ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าสโมสรที่โชคร้ายที่มีเจ้าของเป็นคนรัสเซียผู้ใกล้ชิดกับปูติน เพราะรัฐบาลอังกฤษมีเหตุผลที่ชัดเจนกับทุกการกระทำ และหากมองถึงผลประโยชน์ทางการเมืองและผลประโยชน์ของประเทศอังกฤษ เชลซี ไม่มีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องอะไรได้เลย
แต่หากมองในมุมของฟุตบอล นี่อาจจะเป็นการยุติยุคสมัยอันรุ่งเรืองของ เชลซี ได้ในพริบตา อย่างไรก็ดีรัฐบาลอังกฤษยืนยันว่า จะช่วยหาเจ้าของใหม่ให้กับทีมให้เร็วที่สุด เพื่อให้เชลซีเดินหน้าต่อไปโดยที่ โรมัน อบราโมวิช ต้องยอมรับเงื่อนไขสำคัญว่า รัฐบาลอังกฤษจะเป็นผู้ควบคุมการขายกิจการ และเขาจะไม่ได้เงินจากการขายสโมสรแห่งนี้แม้แต่เพนนีเดียว
สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะรู้สึกอย่างไรกับเรื่องนี้ สิ่งหนึ่งที่เป็นความจริงอันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ คือสงครามไม่เคยให้อะไรที่ดีกับเรา นอกจากความสูญเสียและความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นไม่เคยจบสิ้น