บอลแพ้ ... บ้านพัง : โรเบิร์ต มูกาเบ แฟนเชลซีที่ยืนหยัดสนับสนุนปูตินจนลมหายใจสุดท้าย
ในขณะที่ รัสเซีย เดินหน้าบุกโจมตียูเครนจนกลายเป็นประเด็นการเมืองสำคัญของโลก ณ เวลานี้ หลายประเทศคว่ำบาตรและทำทุกอย่างเพื่อให้รัสเซียหยุดทำสิ่งที่พวกเขากำลังลงมือ
ทว่าก็มีหลายประเทศที่พร้อมยืนหยัดเคียงข้างช่วยเหลือรัสเซียหรืออย่างน้อยก็เอาหูไปนาเอาตาไปไร่เกี่ยวกับเรื่องนี้ หนึ่งในนั้นคือ ซิมบับเว ชาติจากทวีปแอฟริกา ที่ "งดออกเสียง" ในการลงมติประณามการกระทำของรัสเซียในครั้งนี้ และครั้งหนึ่งเคยมีประธานาธิบดีชื่อว่า โรเบิร์ต มูกาเบ
และนี่คือเรื่องราวของชายที่โลกกล่าวขานว่าเป็น "ทรราช" กับการเชียร์ฟุตบอลในแบบของเขาที่มีการเกี่ยวพันกันทั้งด้านการเมือง อำนาจ และการรักษาเอาไว้ซึ่งตำแหน่งที่เขาไม่อาจปล่อยให้หลุดมือได้
ติดตามได้ที่ Main Stand
แอฟริกากับฟุตบอล
แอฟริกาคือหนี่งในดินแดนที่มีความคลั่งไคล้ฟุตบอลมากที่สุด เหตุผลประการแรกเพราะฟุตบอลคือกีฬาที่สามารถเป็นตั๋วเบิกทางให้พวกเขาหลีกหนีความยากจนได้ ประการที่สองพวกเขามีฮีโร่จากทวีปแห่งนี้มากมาย และที่น่าแปลกคือชาวแอฟริกัน มักจะมีความเป็น "ชาติพันธุ์นิยม" สูงมาก พวกเขาพร้อมจะรักและบูชานักเตะแอฟริกันคนใดก็ตามที่เก่งกาจให้เป็นฮีโร่ โดยไม่สนว่าพวกเขาเหล่านั้นจะมาจากสัญชาติใดก็ตาม ขอแค่เป็นแอฟริกันพวกเขาก็จะมีแฟน ๆ ที่นี่หนุนหลังเสมอ
เอ็มมานูเอล อเดบาเยอร์ และ ดิดิเยร์ ดร็อกบา รักและเชิดชู เอ็นวานโก้ คานู ขณะที่ คานู นั้นก็มีไอดอลเป็น จอร์จ เวอาห์ ... พวกเขาไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันทางสัญชาติ แต่ในทางเชื้อชาติในความรู้สึกของพวกเขา "เราคือแอฟริกันเหมือนกัน" ซึ่งเรื่องแบบนี้เปรียบเทียบง่าย ๆ กับชาติในอาเซียนอย่าง ไทย และ เวียดนาม ที่ต่างฝ่ายพร้อมจะกระหน่ำซ้ำไม่ยั้งและวางตัวเป็นอริกันอย่างชัดเจน
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่เรากล่าวขึ้นมาลอย ๆ ชาวแอฟริกันมีความเป็นชาติพันธุ์นิยมสูงมาแต่ไหนแต่ไร ไม่ใช่แค่กับเรื่องฟุตบอลเท่านั้น แต่ยังร่วมถึงในบริบทอื่น ๆ ในสังคมแทบทุกเรื่อง และแน่นอนว่าเรื่องนี้มีที่มา...
เว็บไซต์ Sahistory ได้เขียนบรรยายถึงการเป็นชาติพันธุ์นิยมของชาวแอฟริกันว่า เกิดจากอดีตอันขมขื่นที่ทุกประเทศในทวีปแอฟริกาต่างมีประสบการณ์การถูกกดขี่จากชาติตะวันตกเหมือนกัน เรื่องนี้ทำให้พวกเขาต่างเข้าอกเข้าใจถึงการต่อสู้เพื่ออิสรภาพและเชิดชูคนแอฟริกันที่สามารถเอาชนะการกดขี่ ปัญหาเรื่องสีผิว และชนชั้นจนก้าวไปถึงจุดสูงสุดที่แม้แต่คนขาวก็ยังซูฮกได้ ... ไม่ว่าจะสัญชาติอะไรแต่ถ้าทำเช่นนั้นได้คุณจะกลายเป็นฮีโร่ของชาวแอฟริกัน เหมือนกับที่ ดร็อกบา, เวอาห์ และ ซามูเอล เอโต้ ได้รับเกียรตินั้นจากชาวแอฟริกันเสมอ
เรื่องดังกล่าวสัมพันธ์กับการเชียร์ทีมฟุตบอลในยุโรปของชาวแอฟริกัน ด้วยจากการจัดอันดับสโมสรท็อป 5 ในยุโรปที่มีชาวแอฟริกันติดตามมากที่สุด มีถึง 4 ทีมที่มีนักเตะระดับตำนานเป็นชาวแอฟริกันได้แก่ เชลซี ที่มี ดิดิเยร์ ดร็อกบา, อาร์เซน่อล ที่ใช้นักเตะเชื้อสายแอฟริกันมาตลอดโดยเฉพาะในยุค อาร์แซน เวนเกอร์, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่มี ควินตัน ฟอร์จูน นักเตะที่ดีที่สุดของทีมชาติแอฟริกาใต้เมื่อราวปลายยุค 90s ต่อ 2000s และ บาร์เซโลน่า ที่มี ซามูเอล เอโต้
เมื่อนักเตะแอฟริกันส่งผลถึงการเชียร์ของคนแอฟริกันโดยตรงไม่ว่าจะยากดีมีจนก็ไม่มีข้อยกเว้น นั่นจึงทำให้ทีมโปรดของ โรเบิร์ต มูกาเบ ประธานาธิบดีของประเทศซิมบับเว ที่ได้ฉายาว่า "ทรราช" กลายเป็นทีมที่ติดหนึ่งในสโมสรสุดป๊อปอย่าง เชลซี อีกด้วย
กำเนิดมูกาเบ
คุณสมบัติของคนที่จะได้ปกครองประเทศและอยู่บนหอคอยงาช้างได้นานถึง 42 ปี ควรมีสิ่งใดบ้าง ? ... อำนาจ เงินทอง วาสนา บารมี และใด ๆ ก็ตาม ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ โรเบิร์ต มูกาเบ ใช้มันเพื่อพาตัวเองจากลูกชายช่างไม้ในชนบทมาถึงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศซิมบับเว
โรเบิร์ต มูกาเบ เกิดเป็นลูกของช่างไม้ที่หมู่บ้านเล็ก ๆ ในซิมบับเว แต่กลับชื่นชอบเรื่องการเมือง การยิ่งอ่านยิ่งศึกษาอย่างตั้งใจทำให้เขาเห็นในบางสิ่งที่คนซิมบับเวมองข้ามมาตลอด นั่นคือการถูกกดขี่จากชนชั้นบน ความตั้งใจของ มูกาเบ ในวัยหนุ่มคือเขาจะต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้ให้ได้ หลังจากนั้นเจ้าตัวมีโอกาสได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศแอฟริกาใต้และไปเป็นครูที่ประเทศกานา ก่อนกลับบ้านเกิดมาร่วมตั้งพรรคการเมืองชื่อ ซิมบับเว แอฟริกัน เนชั่นแนล ยูเนี่ยน ในปี 1960
ทุกประเทศที่คนเบื้องบนเอาเปรียบชนชั้นรากหญ้า พวกเขามักจะกลัวคนรากหญ้าที่มีความรู้และกล้าลุกขึ้นสู้เหมือนกับที่ มูกาเบ เป็น ... มูกาเบ เดินหน้าปราศรัยโจมตีรัฐบาลซิมบับเวอย่างต่อเนื่อง และหนักหน่วงจนถึงขนาดที่ว่าเขาต้องถูกจำคุกถึง 10 ปี ฐานพูดจายุยงปลุกปั่นในที่สาธารณะมาแล้ว
อย่างไรก็ตามอุดมการณ์ของ มูกาเบ นั้นแน่วแน่ เขาติดคุกครบ 10 ปีและกลับออกมาด้วยสภาพจิตใจที่แข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม เขาเริ่มเข้าร่วมกับแนวหน้าคนรักชาติแห่งซิมบับเวต่อต้านรัฐบาล จนกระทั่งที่สุดแล้วประชาชนก็เป็นฝ่ายชนะ มีการไกล่เกลี่ยให้เลิกสู้รบกัน และนำไปสู่การเลือกตั้งในปี 1980 อันเป็นปีที่ซิมบับเวได้รับเอกราช
การแสดงออกของ มูกาเบ ตลอดช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมามากพอที่จะทำให้เขาสามารถซื้อใจผู้คนได้อย่างง่ายดาย พรรคของ มูกาเบ คว้าชัยในการเลือกตั้งอย่างขาดลอย และนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศตามที่เขาตั้งใจ
ในช่วงสมัยแรก ๆ มูกาเบ พัฒนาหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อประชาชนจริงดังที่กล่าว แต่หลังจากยุค 90s เป็นต้นมาความนิยมของเขาก็เริ่มเสื่อมถอย เพราะเขานำพาประเทศเข้าสู่วิกฤตเงินเฟ้อขั้นรุนแรงชนิดที่ว่าต้องขนเงินใส่รถเข็นเพื่อนำไปซื้อน้ำอัดลมสักขวด นอกจากนี้ยังมีเรื่องการทหารและการต่างประเทศประกอบกันมากมาย ทำให้ประชาชนเริ่มจะหันไปมองตัวเลือกอื่นนอกจากเขา
ทว่าสำหรับ มูกาเบ มันเหมือนอ้อยเขาปากช้าง เขาเชื่อว่ายังมีกลุ่มคนที่รักเขา และการอยู่ ณ จุดสูงสุดของประเทศคืออำนาจที่เขาไม่อาจจะยอมเสียไปได้ มูกาเบ จึงใช้กุลอุบายต่าง ๆ ในการเลือกตั้งปี 2002 ทั้งการโกงและการใช้ความรุนแรงข่มขู่ ซึ่งที่สุดแล้วแม้เขาจะชนะเลือกตั้งได้ แต่ ณ ตอนนี้อะไร ๆ ก็เปลี่ยนไปแล้ว
ซิมบับเว เข้าสู่ปัญหาหลายด้านทั้งการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ ผู้คนทุกชนชั้นโดยเฉพาะชนชั้นรากหญ้าที่เขาเคยสัญญาว่าจะช่วยเหลือได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ แต่เพื่อรักษาไว้ซึ่งอำนาจ มูกาเบ ยอมทำทุกอย่างเพื่อกำจัดคู่แข่งที่เป็นเสี้ยนหนามที่ส่งผลต่อเขาจนหมดเกลี้ยง เหลือเพียงอำนาจเบ็ดเสร็จที่เขาแทบจะชี้เป็นชี้ตายใครก็ได้ในประเทศ
เรื่องนี้สื่อระดับโลกอย่าง BBC ยังเคยเขียนบทความเกี่ยวกับเขาที่ใช้ชื่อว่า "โรเบิร์ต มูกาเบ จากฮีโร่สู่ทรราช" มาแล้ว จุดนี้มันแสดงให้เห็นว่าเขาทำทุกอย่างเพื่ออำนาจและพยายามดึงความนิยมกลับมาให้ตัวเองมากแค่ไหน ใครก็ตามที่เป็นที่รักของประชาชนหรือว่าง่าย ๆ เป็นคนที่รับบทฮีโร่ของประเทศ มูกาเบ จะเข้าหาคน ๆ นั้น เพื่อดึงมาเป็นพวกเดียวกับเขาให้ได้ ... หนึ่งในนั้นคือ เบนจานี เอ็มวารูวารี นักฟุตบอลตำแหน่งกองหน้าที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ทีมชาติซิมบับเว ที่เคยเล่นให้กับสโมสรในพรีเมียร์ลีกอย่าง พอร์ทสมัธ และ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ มาแล้ว
มูกาเบ, เชลซี และ ปูติน
การเข้าหานักกีฬาที่เก่งและดังที่สุดในประเทศคือสิ่งที่ผู้นำของทุกประเทศทำกันมาเสมอ เพราะมันจะสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีได้ แม้ว่าบางครั้งพวกเขาอาจจะคิดไปเองก็ตาม
ในช่วงปี 2012 ที่ มูกาเบ เข้าพบนักเตะทีมชาติซิมบับเวนำโดย เบนจานี เขาได้พูดคุยกับกับ เบนจานี อย่างออกรสผ่านสื่อว่าเขานั้นชอบทีมเชลซีเป็นอย่างมาก และแน่นอนว่าเขาไม่ลืมที่จะตบท้ายว่าได้ติดตามฟอร์มการเล่นของ เบนจานี มาตลอดเวลา และบอกว่าเขาคือแฟนบอลพันธุ์แท้มากกว่าที่ใครหลายคนคิด
"ผมชอบดูและติดตามผลงานคุณตลอดเลยนะ รวมถึงทีมอย่าง เชลซี และ บาร์เซโลน่า ด้วย ผมชอบมาก ๆ เลย" เว็บไซต์ Daily Mail อ้างอิงคำพูดที่ มูกาเบ พูดกับ เบนจานี
"เมื่อผมดูฟุตบอลที่บ้านจะไม่ชอบให้ใครมากวน แม้แต่ภรรยาของผมก็ยังรู้ตัวว่านี่คือเวลาที่เธอควรไปนั่งอยู่ที่ไหน เพราะจังหวะลุ้นหวาดเสียวต่าง ๆ ผมจะเตะเท้าเตะทุกอย่างที่ขวางหน้าพังเสียหลักหมด"
จากนั้น มูกาเบ ก็บอกว่าตัวเขาสนิทกับนักเตะแอฟริกันที่เล่นในพรีเมียร์ลีกหลายคนอย่าง เอล ฮัดจิ ดิยุฟ (ลิเวอร์พูล, โบลตัน และ ลีดส์) จอห์น เพนต์ซิล (เวสต์แฮม, ฟูแล่ม) และ เอ็นวานโก้ คานู (พอร์ทสมัธ, อาร์เซน่อล) ก่อนที่เขาจะตบเข้าเรื่องสำคัญของการเชิญชวน เบนจานี มาในวันนี้ ... ได้เวลาประชาสัมพันธ์แล้ว
"เราจะผลักดันทุกคนที่รักฟุตบอลยิ่งกว่านี้ เพราะตอนนี้ต่อให้คุณเล่นฟุตบอลทั้งวันทั้งคืนมันก็ไม่ได้ทำให้คุณมีกินมีใช้ขึ้นมาหรอก แต่หลังจากนี้แหละเราจะใช้กีฬาเป็นปัจจัยในการดำรงและยังชีพของเด็ก ๆ ที่ซิมบับเว" มูกาเบ ว่าไว้เช่นนั้น
นอกจากการเชียร์เชลซีตามคำบอกเล่าของตัวเขาเองแล้ว มูกาเบ ยังมีเหตุผลที่เขาชื่นชอบทีมดังจากลอนดอนทีมนี้มากกว่าเรื่องของนักเตะแอฟริกันอีกด้วย สิ่งนั้นคือความสัมพันธ์ที่เขามีต่อ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของประเทศรัสเซียคนปัจจุบันนั่นเอง
เรื่องนี้เกี่ยวข้องกันแน่นอน มันไม่ใช่แค่เรื่องของชาตินิยมตามที่ได้กล่าวเอาไว้ในข้างต้นอย่างเดียว มูกาเบ นั้นถือเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนแนวคิดของ ปูติน เสมอมา และซิมบับเวก็เป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีกับรัสเซียตลอดการปกครองของเขา
และที่มันเกี่ยวกับเชลซีคือบังเอิญว่า โรมัน อบราโมวิช เจ้าของทีมเชลซี (ที่ปัจจุบันนับเวลาถอยหลังลงทุกที) นั้นก็ถือเป็นคนสนิทของ ปูติน ซึ่งตัวของ มูกาเบ ก็เคยเดินทางไปยังรัสเซียและเข้าร่วมประชุมกับ ปูติน พร้อม ๆ กับกลุ่ม "Oligarch" หรือกลุ่มมหาเศรษฐีที่มีความสนิทชิดเชื้อกับปูตินและมีผลประโยชน์ร่วมกัน
Photo : en.kremlin.ru
ในห้องประชุมที่เครมลิน วันนั้นเป็นวันที่รวมเหล่าบิ๊ก ๆ ของรัสเซียไว้อย่างพร้อมหน้าพร้อมตา มีการถอดคำพูดของ มูกาเบ ในวันนั้นโดย kremlin.ru เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของรัฐบาลรัสเซียว่า
"เมื่อประเทศของเราเฉลิมฉลองอิสรภาพในปี 1980 เรายกย่องการสนับสนุนของสหภาพโซเวียตและจีน ผู้ช่วยเราในการปลดปล่อยซิมบับเว"
"แม้ ณ เวลานี้สหภาพโซเวียตจะล่มสลายไปแล้วแต่รัสเซียยังเดินหน้าต่อไป รัสเซียซึ่งเป็นแกนหลักของสหภาพโซเวียตได้ยืนหยัดต่อต้านแรงกดดันจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปซึ่งกำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่อประเทศของคุณแบบไม่เกรงกลัว"
"เราเองก็เช่นกัน สมัยอดีตชาวซิมบับเวต่อสู้กับจักรวรรดินิยมอังกฤษ และเราต้องยึดที่ดินของเราคืนจากชาวนาชาวอังกฤษเพื่อความถูกต้อง แต่หลังจากนั้น สหรัฐอเมริกา ยุโรป และสหราชอาณาจักรก็กำหนดมาตรการควํ่าบาตรกับเรา"
"ตอนนี้คุณกำลังต่อสู้กับการคว่ำบาตรและพวกเราก็เช่นกัน สหรัฐอเมริกาคือยอดพีระมิดของจักรวรรดินิยม ตามด้วยยุโรป ด้วยเหตุผลนี้เราต้องทำงานร่วมกัน และมันทำให้เรามีความสุขมากขึ้นหลังจากที่ได้เห็นเหตุการณ์เมื่อวานนี้ (การฉลองครบรอบ 70 ปีแห่งชัยชนะในมหาสงครามแห่งความรักชาติ) ที่แสดงให้เห็นการเติบโตของรัสเซียไปสู่ความยิ่งใหญ่"
มูกาเบ ได้รับอิทธิพลจากหลายทางเหลือเกินในการเชียร์ทีมเชลซีของเขา และมันดูจะพอดีไปเสียหมด ทั้งการเคยเป็นนักฟุตบอลเก่า (ตามคำกล่าวอ้าง) การใช้นโยบายกีฬาสร้างงานสร้างอาชีพ การสนิทชิดเชื้อนักเตะแอฟริกันแถวหน้า และแน่นอนที่สุดคือการสวามิภักดิ์ต่อรัสเซีย ปูติน และทีมงาน
ว่าง่าย ๆ ก็คือ โรมัน อบราโมวิช กับ โรเบิร์ต มูกาเบ ต่างก็มีความสัมพันธ์และผลประโยชน์ที่แนบแน่นและกินเวลามายาวนานกว่า 20 ปีเหมือนกัน เพียงแต่ว่าอาจจะแตกต่างกันในแง่ของรูปแบบผลประโยชน์
เพราะ โรมัน อบราโมวิช ได้ช่องทางการทำธุรกิจและการสร้างอำนาจขึ้นมา ขณะที่ มูกาเบ นั้นมีรัสเซียและปูตินเป็นพี่ใหญ่คอยกันพวกเขาจากสหประชาชาติที่จะต้องการให้ มูกาเบ ออกจากตำแหน่งและคืนอำนาจให้ประชาชนซิมบับเวอย่างแท้จริง
แม้ฉากจบบนเส้นทางอำนาจอาจไม่ถึงกับสวยงามนัก เมื่อ มูกาเบ ถูกกองทัพซิมบับเวก่อรัฐประหารเมื่อปี 2017 แต่บารมีของเขาก็มากพอที่จะทำให้เขาสามารถเลือกฉากจบที่สวยงามสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ... มูกาเบ ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี พร้อมส่งมอบอำนาจต่อให้ เอ็มเมอร์สัน มนังกากวา อดีตลูกน้องคนสนิทที่หันมาแว้งกัดเขาในฐานะหนึ่งในแกนนำการรัฐประหาร และเป็นผู้นำต่อมาจนถึงทุกวันนี้
ส่วนตัว มูกาเบ ใช้ช่วงเวลาที่เหลือของชีวิตไปกับการรักษาตัว จนเสียชีวิตเมื่อปี 2019 ที่ประเทศสิงคโปร์ ก่อนมีพิธีศพอย่างสมเกียรติเยี่ยงรัฐบุรุษ
แม้การเชียร์เชลซีอาจจะเป็นแค่ความชอบส่วนตัวและแนวคิดแบบชาตินิยมสไตล์แอฟริกัน แต่ทั้งหมดนี้ก็มีส่วนเล็ก ๆ ที่เกี่ยวพันและร้อยต่อเขาด้วยกันที่ช่วยเป็นเหตุผลว่า ทำไม มูกาเบ ถึงเชียร์ทีมเชลซี และกลายเป็นสหายรู้ใจที่ วลาดิเมียร์ ปูติน พร้อมสนับสนุนทุกทางจวบจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต