คนเดียวที่ยอมใจ : ตำนานการสอนม้าป่าให้เป็นยอดอาชาของ “เซอร์ บ็อบ - แกสคอยน์”
กินอาหารไม่สนโภชนาการ เน้นอร่อยเข้าว่า ติดเหล้า ชอบใช้เวลาว่างกับขวดเบียร์และตู้สล็อต เบื่อหน่ายเรื่องการเข้าประชุมเรื่องแทคติกก่อนเกม ... ทั้งหมดคือคุณสมบัติของนักเตะที่มีความไม่เป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง และมันคือคุณสมบัติของ พอล แกสคอยน์ ด้วย
ด้วยทุกอย่างที่ว่ามาต่อให้มีพรสวรรค์แค่ไหนก็ไม่น่าไปรอดได้ในเกมระดับสูง แกซซ่า ก็เคยเกือบไปถึงจุดนั้น ทว่าโชคดีที่เขาได้เจอกับ เซอร์ บ็อบบี้ ร็อบสัน กุนซือทีมชาติอังกฤษเสียก่อน เรื่องทั้งหมดจึงเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง และทำให้เขาถูกเรียกในช่วงเวลาหนึ่งว่า "นักเตะที่มีพรสวรรค์ที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลอังกฤษ"
จากนักเตะที่ไม่เคยฟังใคร เซอร์บ็อบ เปลี่ยนเขาได้อย่างไร ด้วยวิธีไหน และยากแค่ไหน ? ติดตามได้ที่ MainStand
อัจฉริยะแห่งเกาะอังกฤษ
อังกฤษ เปรียบเสมือนดินเเดนต้นกำเนิดของฟุตบอล ประเทศนี้สร้างนักเตะเก่ง ๆ ขึ้นมามากมายจนกระทั่งวงการฟุตบอลของพวกเขาเดินทางมาจนถึงช่วงปลายยุค 80s ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ พอล แกสคอยน์ สร้างชื่อขึ้นมาในฐานะ "เด็กมหัศจรรย์จาก นิวคาสเซิล" สำนักข่าวน้อยใหญ่ต่างการันตีและบอกว่าเขาคนนี้คือนักฟุตบอลอังกฤษที่มีพรสวรรค์มากที่สุดในประวัติศาสตร์ ... ทำไมเขาถึงถูกยกย่องขนาดนั้น ?
เรื่องราวของ พอล แกสคอยน์ นั้นมีจุดพลิกผันมาตั้งแต่ตอนที่เขายังเด็ก ชื่อเต็ม ๆ ของเขาคือ พอล จอห์น แกสคอยน์ ได้แรงบันดาลใจจากชื่อของ พอล แม็คคาร์ทนี่ย์ และ จอห์น เลนน่อน 2 สมาชิกของวงดนตรีระดับตำนานของอังกฤษอย่าง "The Beatles"
พรสวรรค์ทั้งหมดของ แกสคอยน์ เกือบไม่เกิดขึ้นเเล้ว เพราะในวัยเด็กเขามีปมในจิตใจและกระทบกับสุขภาพจิตอย่างหนักหน่วง เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นตอนที่เขาอายุ 10 ขวบ แกสคอยน์ สนิทกับเพื่อนบ้านวัย 6 ขวบที่ชื่อว่า สตีเวน สปรากกอน(Steven Spraggon) วันหนึ่ง แกสคอยน์ พา สตีเวน เดินข้ามถนน แต่กลับเกิดอุบัติเหตุทำให้ สตีเวน โดนรถชนเข้าอย่างจังจนเสียชีวิตคาที่
แกสคอยน์ ตำหนิตัวเองในเรื่องนี้ เขาเล่าว่าเขาไม่กล้ามองเด็กผู้ชายไปชั่วขณะหนึ่งเพราะคิดว่าตัวเองเป็นคนผิด นอกจากนี้เขายังมีอาการที่คล้ายกับโรคทูเร็ตต์ (โรคที่แสดงอาการกระตุกของกล้ามเนื้อหลาย ๆ มัดพร้อม ๆ กัน นอกจากนี้ยังอาจมีการเปล่งเสียงออกมาจากลำคอหรือจากจมูกออกมาเองโดยไม่ตั้งใจ) ... โรคนี้อยู่กับเขาราว ๆ 2 ปี ก่อนที่ แกสคอยน์ จะได้พบสิ่งที่ช่วยชีวิตเขาเอาไว้นั่นคือ "ฟุตบอล"
ฟุตบอลทำให้โรคทูเร็ตต์ของ แกสคอยน์ หายไป โดยอดีตเพื่อนร่วมทีมในวัยเด็กของเขาที่ชื่อว่า ไบรอัน ทินเนียน พูดถึง แกสคอยน์ ในวัยเด็กว่า "แกซซ่ามีพรสวรรค์ที่น่าเหลือเชื่อ นี่คือคำจำกัดความของคำว่าเก่งโดยธรรมชาติ คุณไม่สามารถฝึกสอนเขาได้หรอก"
สิ่งที่ ทินเนียน พูด กำลังบอกอะไร ? ประการแรกเลยคือฟุตบอลอังกฤษไม่ได้ขึ้นชื่อในเรื่องของนักเตะที่มีเทคนิคแพรวพราวหรือมีเบสิกฟุตบอลเก่งระดับเหนือชั้น และใช้ความรู้สึกกับสมองในการเล่นและเเก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เรียกง่าย ๆ ก็คือการเป็นนักเตะที่เตะไม่ได้ไล่ไม่จน เอาตัวรอดได้ทุกครั้งไปเหมือนที่ แกสคอยน์ เป็น
เรื่องนี้เราไม่ได้พูดเกินจริง มีความสงสัยมากมายเกี่ยวกับเรื่องของนักเตะอังกฤษโดยเฉพาะในเรื่องของเทคนิคและการเอาตัวรอด และเราได้ข้อมูลจากเว็บไซต์ thesoccerstore.co.uk ที่เขียนบทความว่า "ทำไมนักเตะอังกฤษจึงมีปัญหาเรื่องเทคนิคเฉพาะตัว" โดยตามที่พวกเขาสรุปคือการเติบโตของเด็ก ๆ อย่างมีระบบระเบียบที่ชัดเจน เด็ก ๆ จะได้ลงเล่นสนาม 11 คนตั้งแต่อายุยังน้อย ดังนั้นเมื่อเล่นสนามใหญ่พวกเขาจึงเน้นเรื่องพละกำลัง ร่างกาย และความเข้าใจเกมเป็นหลักเพื่อให้ได้ซึ่งชัยชนะมา
ปาทริค วิเอรา ตำนานนักเตะของ อาร์เซน่อล ผู้ได้ถูกบรรจุเข้า ฮอลล์ ออฟ เฟรม ของพรีเมียร์ลีก ก็เคยพูดถึงเรื่องนี้ว่า "ฟุตบอลเยาวชนในอังกฤษหมกมุ่นอยู่กับความต้องการที่จะชนะมากเกินไป นักเตะเด็ก ๆ ถูกสอนให้ชนะมาตั้งแต่ 10 ขวบ และการอยากเอาชนะนั้นมักมาในรูปแบบของการยืนในเเดนตัวเองและใช้บอลยาวในการตัดสินเกมจากจังหวะไม่กี่ครั้ง"
ทั้งหมดที่ วิเอรา พยายามจะบอกก็คือนักเตะอังกฤษนั้นโตมาอย่างเป็นระบบ เน้นความสำเร็จ และชัยชนะเป็นอันดับแรก ซึ่งมันแตกต่างกับนักเตะในบราซิล สเปน หรือหลาย ๆ ชาติที่มีนักเตะที่โดดเด่นเรื่องเทคนิคมากกกว่า ที่ บราซิล เด็ก ๆ โตมากับการเล่นฟุตบอลข้างถนนทำให้มีทักษะการเอาตัวรอดที่เด่นชัดในแง่ของทักษะพื้นฐานต่าง ๆ
ขณะที่ สเปน ยิ่งชัดมาก David Cartlidge นักข่าวชาวอังกฤษที่ประจำการในสเปนเล่าว่า เขาเคยพูดคุยกับนักเตะที่ค้าแข้งในสเปนอย่าง อายเมริก ลาปอร์ต กองหลังของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ณ ปัจจุบันว่า แม้ตัวของ ลาปอร์ต จะเติบโตมากับระบบอคาเดมีของฟุตบอลฝรั่งเศส แต่เมื่อมาที่สเปนที่นี่ก็สอนเทคนิคให้เขามากในแบบที่เขาไม่เคยเจอ ชนิดที่ว่ามันเป็นหน้าต่างบานใหม่แบบที่ ลาปอร์ต ไม่เคยเจอมาก่อน
อีกคนที่ คาร์ตลิดจ์ เคยพูดคุยด้วยคือ อองตวน กรีซมันน์ นักเตะที่เติบโตในฝรั่งเศส และโดนหลายทีมมองข้ามเพราะตัวเล็กร่างกายไม่แข็งแรง แต่พอ กรีซมันน์ มาอยู่กับทีมอย่าง เรอัล โซเซียดัด ทีมที่เลือกเขาจากทักษะที่เขามี กรีซมันน์ ก็ได้รับการฝึกฝนต่อยอดให้เป็นยอดนักเตะที่มีแชมป์โลกการันตี
เมื่อ คาร์ตลิดจ์ ถูกถามว่า "ถูกต้องหรือไม่ที่เราจะสรุปได้ว่าที่สเปนนั้นฝึกเทคนิคมากกว่ากายภาพ ไม่เหมือนกับที่อังกฤษที่เน้นกันคนละแบบ" คาร์ตลิดจ์ ก็บอกว่า "ใช่ แน่นอนอย่างไม่ต้องสงสัยเลย" เท่านี้เรื่องของทักษะของนักเตะอังกฤษก็น่าจะพอชัดขึ้นบ้างว่าพวกเขาไม่ได้ไม่เก่ง แต่พวกเขาแค่ไม่ถนัดเรื่องเทคนิคการเอาตัวรอดอะไรเทือกนั้นมากกว่า
เราจึงมักเห็นนักเตะอังกฤษยุคก่อนที่เน้นเรื่องสภาพจิตใจแข็งแกร่ง พละกำลังดี แข็งแรง วิ่งเร็ว และเล่นฟุตบอลด้วยความห้าวไม่กลัวใคร แตกต่างกับนักเตะของ สเปน หรือ บราซิล ที่ลื่นไหลไล่ไม่จนมาตั้งแต่ยุคก่อน เปรียบเทียบง่าย ๆ ตั้งแต่ยุคที่นักเตะที่ดีที่สุดของอังกฤษอย่าง เซอร์ บ็อบบี้ ชาร์ลตัน กับนักเตะที่ดีที่สุดของบราซิลในช่วงยุค 60s อย่าง เปเล่ แม้จะเกิดไม่ทันแต่ถ้าคุณได้เห็นคลิปวิดีโอวิธีการเล่นของทั้งคู่ คุณเองก็จะได้เห็นถึงความแตกต่างของวิธีการเล่นโดยชัดเจน
ชาร์ลตัน เก่งกาจ จบสกอร์คมเฉียบขาด จ่ายบอลด้วยน้ำหนักที่พอดีเป๊ะเหมือนชั่งมาจากบ้าน เบสิกฟุตบอลเเน่น ทักษะเองก็ชั้นหนึ่ง แต่ เปเล่ ก็เป็นนักฟุตบอลที่ทำในสิ่งที่นักเตะหลายคนบนโลกนี้ทำไม่ได้ นั่นคือการเลี้ยงเดี่ยวหลบได้ทั้งสนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฟุตบอลยุคนั้นที่ไล่เตะไล่หวดกันแบบไม่เซฟผู้เล่นมากมายนัก เปเล่ ก็สามารถเอาตัวรอดได้ด้วยเทคนิคที่น่าเหลือเชื่อที่หลอกคู่แข่งหัวทิ่มหัวตำไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง
ตัดภาพกลับมาที่ยุค 80s ที่ แกสคอยน์ ถูกเรียกว่า "นักเตะที่มีพรสวรรค์มากที่สุดในประวัติศาสตร์" เราสามารถเข้าใจสิ่งนี้ได้ในทันที เพราะ แกสคอยน์ แตกต่างกับนักเตะคนอื่น ๆ บนเกาะอังกฤษ เขาอยากเล่นแบบไหนเขาก็เล่น เขามีความคิดสร้างสรรค์ไอเดียมากมายเกินกว่าที่ใครจะมาบังคับเขาได้ ว่าง่าย ๆ คือสิ่งที่เขามีทำให้เขาหลุดจากเบ้าพิมพ์นักเตะแบบอังกฤษออกมาได้อย่างชัดเจนที่สุด
ความแสบของ แกซซ่า
แกสคอยน์ ขึ้นชุดใหญ่ของทีมนิวคาสเซิล ตั้งแต่อายุ 17 ปี ตอนนั้น แจ็คกี้ ชาร์ลตัน ตำนานนักเตะผู้ล่วงลับของ นิวคาสเซิล มักจะเรียกเขาว่า "ไอตุ้ยนุ้ย" (fat boy) เหตุผลมาจาก แกสคอยน์ มาจากครอบครัวที่ยากจนต้องกินอาหาราคาถูกไม่มีคุณค่าทางโภชนาการมาตั้งแต่เด็กนั่นเอง
แต่จะอ้วนตุ้ยนุ้ยแค่ไหนทุกคนที่ นิวคาสเซิล ณ ตอนนั้นก็รู้ดีว่ามันไม่ใช่ปัญหาเลย แกสคอยน์ คือสุดยอดของพรสวรรค์ชนิดที่ว่าถ้าจะเก่งขนาดนี้อยากทำอะไรก็ทำไปเถอะ ไม่มีใครห้ามเขาได้หรอก
"ทักษะของเขามันน่าเหลือเชื่อ โคตรน่าเหลือเชื่อ เขาแสดงให้เห็นแล้ว ผมเชื่อว่าคุณก็รู้ดี ถึงจะดูเหมือนเป็นคนที่ชอบกินแม็คโดนัลด์มากไปหน่อยก็ตาม อย่างไรก็ตามสำหรับผมเขาคือนักฟุตบอลที่เก่งที่สุดในโลก" แจ็คกี มิลเบิร์น ตำนานของทีมสาลิกาดงพูดประโยคนี้ถึง แกซซ่า และมันก็พอจะบอกได้ว่า ลากยาวมาตั้งแต่ตอนที่เขาเล่นฟุตบอลครั้งแรกจนกระทั่งถึงทีมชุดใหญ่พรสวรรค์ของ แกสคอยน์ ยังคงเป็นเรื่องน่าประหลาดใจสำหรับวงการฟุตบอลอังกฤษเสมอ
อีกหนึ่งสิ่งที่ตีคู่มากับคำว่าพรสวรรค์ของ แกสคอยน์ คือการถูกเรียกว่า "นักเตะที่ไม่มีใครสามารถควบคุมได้" เขาเป็นเหมือนคนที่อยากจะทำอะไรก็ทำ มีเรื่องราวนอกสนามเกิดขึ้นมากมายทั้งในแง่ความแสบสันแบบปนฮาหรือบางครั้งก็ฮาไม่ออกเพราะเป็นเรื่องที่ดูร้ายแรงจริง ๆ เช่นการตบตีภรรยาของเขาในช่วงที่เขาเล่นให้กับลาซิโอ
คุณคงพอจะนึกภาพของเขาออก แกซซ่า ก็คงคล้าย ๆ กับ มาริโอ บาโลเตลลี่ ที่ใครก็บอกว่ามีพรสวรรค์แต่ขาดระเบียบวินัยและทัศนคติของผู้ชนะเหมือนกับที่นักเตะอย่าง คริสเตียโน่ โรนัลโด้ หรือ ลิโอเนล เมสซี่ เป็น ชีวิตค้าแข้งของ แกสคอยน์ จึงไม่ประสบความสำเร็จมากอย่างที่ควรจะเป็น
เรื่องนี้ไม่ได้เกินจริง เทอร์รี่ เวนาเบิลส์ กุนซือที่เคยร่วมงานกับ แคสคอยน์ ยังเคยพูดถึง แกซซ่า ในวันที่เขาย้ายจาก สเปอร์ส ไปอยู่กับ ลาซิโอ ในปี 1992 ว่า "ผมยินดีด้วยกับพอลสำหรับการย้ายทีมครั้งนี้ แต่สำหรับลาซิโอพวกเขาจะต้องรู้สึกเหมือนกับได้เห็นแม่ยายกำลังขับรถรุ่นใหม่ล่าสุดที่พวกเขาซื้อมาเองกับมือไต่หน้าผาแน่นอน" เท่านี้ก็พอจะบอกได้ว่า แกซซ่า ควบคุมยากขนาดไหน
ทว่าที่สุดเเล้วถึง แกซซ่า จะถูกใครควบคุมไม่ได้หรือไม่ฟังใครแค่ไหน เขากลับกลายเป็นอีกคนทันทีเมื่ออยู่ต่อหน้าชายที่ชื่อว่า "บ็อบบี้ ร็อบสัน" คนที่ทำให้แบดบอยอันดับ 1 แห่งวงการยอมหยุดทัศนคติแย่ ๆ ที่ใช้แต่เพียงพรสวรรค์ และมอบแต่ความเคารพให้เท่านั้นตลอดช่วงเวลาที่ทั้งคู่ร่วมงาน ... ถ้าเป็นสมัยนี้ก็ต้องเรียกว่า เซอร์บ็อบ คือคนที่มี "คู่มือ" การใช้งาน แกซซ่า มากที่สุด และสิ่งที่อยู่ในคู่มือนั้นก็ถูกเปิดเผยออกมาในวันที่ เซอร์บ็อบ จากโลกใบนี้ไป
ผมเปลี่ยนเขาได้
การร่วมงานกันของ แกซซ่า และ เซอร์บ็อบ เกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงปี 1988 ณ เวลานั้น เซอร์บ็อบ เป็นกุนซือทีมชาติอังกฤษ และเขาตัดสินใจเรียก แกสคอยน์ ติดทีมชาติเป็นครั้งแรกในชีวิต
แกซซ่า ลงเล่นเกมแรกกับ เดนมาร์ก แต่ก็ให้เวลาเขาแค่ไม่กี่นาที … จนกระทั่งมาถึงเกมกับทีมชาติ แอลเบเนีย เซอร์ บ็อบ ให้เวลากับ แกซซ่า มากขึ้น และเขาก็ทำประตูแรกในนามทีมชาติได้
"ดูเหมือนเขาจะเป็นนักเตะแห่งอนาคตของทีมเลยนะครับ แต่ทำไมคุณถึงชอบให้เขาลงมาเป็นตัวสำรอง มันเกิดขึ้นมาเเล้วถึง 3 ครั้ง มาจนถึงตอนนี้เขาลงเล่นให้ทีมชาติไม่ถึง 45 นาทีเลย แต่คืนนี้เขาเก่งมากจริง ๆ เขายิงประตูสวย ๆ ให้คุณเห็นด้วย คุณคิดว่ายังไง ควรเอายังไงกับเรื่องของเขาดีหลังจากนี้" สื่อถาม เซอร์บ็อบ หลังจบเกมแกมกดดันให้ใช้งาน แกซซ่า มากขึ้น ขณะที่ เซอร์บ็อบ ก็ตอบกลับว่า
"ใช่เขาทำได้ดีเลย เดี๋ยววันพรุ่งนี้เขาจะต้องมานั่งคุยกับผมแบบตัวต่อตัวเป็นเวลา 2 ชั่วโมง เเล้วผมจะทำให้ความมั่นใจทั้งหมดที่เขามีกลับมาปรากฏขึ้นอีกครั้ง ... คืองี้นะ"
"คุณรู้ไหม แกซซ่า เป็นคนที่ขาดความมั่นใจกับผลงานของเขาในช่วงหลัง เขาเป็นเหมือนกับเด็กที่สั่งสอนยาก ทุกครั้งที่เราพยายามจะเล่นบอลจังหวะเดียวเขาจะพยายามเล่นอะไรที่มันมากกว่านั้น เขาเหมือนคนที่เล่นฟุตบอลพร้อมกัน 2 ลูก ลูกแรกเพื่อทีมและลูกที่ 2 เพื่อตัวเขาเอง นั่นแหละที่ทำให้คนอย่าง แกสคอยน์ บางเกมก็เก่งเทพเป็นพระเจ้า แต่บางเกมก็สอบตกระดับได้เกรด F"
"วันนี้เขาเดินออกนอกสนามพร้อมกับเสียงเชียร์ดังกระหึ่มทำให้ตัวเขาลอยไปไกลเเล้ว สิ่งที่ผมจะทำคือการดึงเท้าของเขาลงมาติดดิน ผมจะทำให้เขาเป็นนักเตะที่ทำให้ทุกคนที่ได้เห็นต้องบ้าคลั่ง เพราะเขามีความสามารถในระดับที่หายาก (rare talent) จริง ๆ ... ดังนั้นเราต้องดูแลเขาให้ดี ทำให้เขาอยู่ในกฎในระเบียบให้ได้ แล้วเราจะได้เห็นกัน" เซอร์บ็อบ ว่าไว้เช่นนั้น
ฟังดูเหมือนเป็นการตำหนินักเตะที่เพิ่งยิงประตูสุดสวยให้กับทีม แต่ความจริงสิ่งที่ เซอร์บ็อบ ทำคือการใส่ใจ แกสคอยน์ มากกว่าที่ใคร ๆ เคยเป็นมา ทุกคนรู้ว่าเขาควบคุมยาก ไม่ฟังใคร แต่คนแบบนี้บางครั้งก็ต้องเข้าหาเขาให้ถูกจุด มีไม้แข็ง มีไม้นวม เข้าให้ถูกจังหวะ เพื่อเปิดใจให้เขายอมฟังสิ่งที่คนอื่นบอก ซึ่ง เซอร์บ็อบ ทำได้ ... ทุกครั้งที่พวกเขาร่วมงานกัน เซอร์บ็อบ พยายามสอน แกสคอยน์ แทบทุกอย่าง พยายามทำให้เขามีความสุขกับการเล่นฟุตบอลท่ามกลางข่าวฉาวมากมาย
เซอร์บ็อบ เปิดใจให้กับ แกซซ่า พยายามเข้าหาหรือเรียก ๆ ง่ายว่า "โอ๋" ก็คงไม่ผิดนัก ไมใช่เพราะเขาไม่เห็นหัวนักเตะคนอื่น แต่ เซอร์บ็อบ เชื่อเสมอว่านักเตะอย่าง แกสคอยน์ สามารถบันดาลชัยชนะให้กับทีมได้ และก็ไม่ใช่คนที่เลวร้ายถึงขั้นที่อยู่กับทีมไหนแล้วทำให้ทีม ๆ นั้นแตกสปิริตเสียเลย แกซซ่า ก็แค่คนที่เหมือนเด็กไม่รู้จักโต เล่นสนุกไม่รู้เวลา มองข้ามทีมเวิร์กและเชื่อมั่นในพรสวรรค์ ไม่ตั้งใจฝึกซ้อม ซึ่งของแบบนี้ เซอร์บ็อบ เชื่อว่าเขาสามารถเปลี่ยนมันได้
ลูกชาย แกทำดีที่สุดเเล้ว
เซอร์บ็อบ เฝ้าติดตามผลงานและให้ความเชื่อใจกับ แกสคอยน์ เสมอ ไม่ว่าใครจะบอกอย่างไรแต่ เซอร์บ็อบ เดิมพันตำแหน่งของเขากับพรสวรรค์ที่ แกสคอยน์ มี แกซซ่า คือขาประจำในทีมชาติ
ในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกปี 1989 อังกฤษ ต้องเล่นกับ สวีเดน ในเกมนั้น เทอร์รี่ บุทเชอร์ นักเตะของอังกฤษได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะเลือดออกเต็มหัวเลอะมายันชุดเเข่งสีขาวของพวกเขา ในวันนั้นเป็นโอกาสดีที่ เซอร์บ็อบ จะทำให้ แกซซ่า ได้สร้างประโยชน์จากเหตุการณ์นั้น
เขาลาก แกซซ่า ที่ไม่กล้ามองแผลของ บุทเชอร์ ในตอนแรกมาให้เห็นแบบจ่อ ๆ ในขณะที่เย็บแผลและสอน แกซซ่า ว่า "แกเห็นไหม นี่แหละคนที่เล่นฟุตบอลและรู้ว่ามันมีความหมายต่อประเทศของเรา" แกซซ่า อึ้งและพูดอะไรไม่ออกนอกจากตอบว่า "เห็นแล้วครับบอส"
ทั้งหมดที่ เซอร์บ็อบ ทำก็เพื่ออยากจะให้ แกสคอยน์ เห็นความพยายามของเพื่อน ๆ คนอื่นในทีม เพราะในเมื่อพวกเขาเป็นทีมเดียวกันแล้ว เซอร์บ็อบ ต้องการให้ทุกคนสวมหัวใจสิงห์ เอาคือเอา ต่อให้เป็นคนที่ควบคุมอยากอย่าง แกซซ่า ก็ไม่มีข้อยกเว้น ... ซึ่งจากความสัมพันธ์ของทั้งคู่ทำให้ แกซซ่า เข้าถึงและตีความสิ่งที่ เซอร์บ็อบ กำลังจะบอกได้ หลังจากนั้นเขาก็ยอมรับว่า เซอร์บ็อบ เหมือนกับเป็นพ่อคนที่ 2 ของเขา และเขาจะสู้ตายถวายหัวเพื่อเจ้านายคนนี้
เรื่องราวลากยาวมาจนถึงฟุตบอลโลกปี 1990 ทัวร์นาเมนต์นั้นเป็นทัวร์นาเมนต์ที่ทุกคนเลิกสงสัยในตัว แกซซ่า เพราะพวกเขาได้เห็น แกสคอยน์ "ร่างทอง" แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แกสคอยน์ เปิดสวิตช์ "เวิลด์คลาส" ในทัวร์นาเมนต์นั้น เขาคือดาวเด่นและเป็นนักเตะที่โชว์ฟอร์มได้ดีที่สุดในทีมชาติอังกฤษ ด้วยเหตุผลเดียวที่เขายืนยันด้วยตัวเองนั่นคือ "เขามีความสุขกับฟุตบอลที่สุดแล้วในตอนนั้น"
"สิ่งเดียวที่ผมกังวลในทัวร์นาเมนต์นั้นคือการขึ้นเครื่องบิน ส่วนเรื่องฟุตบอลผมพร้อมตั้งแต่ออกจากบ้านแล้ว" แกซซ่า กล่าว
"ฟุตบอลโลก 1990 คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตของผม มันคือช่วงที่สมาธิผมอยู่กับเกม 100% ไม่มีอะไรกวนใจผมเลย ผมบอกตัวเองทุกวันว่าผมอยากไปฟุตบอลโลกครั้งนี้ มันคือความฝันของนักเตะทุกคน แต่เชื่อไหมว่ามันเป็นช่วงเวลาที่มีคุณภาพมาก ผมผ่อนคลายสุด ๆ มีความสุขเหมือนกับไปเที่ยว ผมรักทุกวินาทีของฟุตบอลโลกครั้งนั้น"
เซอร์บ็อบ เองเมื่อถึงเวลาที่ แกสคอยน์ มั่นใจถึงขีดสุด ก็เริ่มทำในสิ่งที่เขาไม่เคยทำมาก่อน นั่นคือการปล่อยให้ แกสคอยน์ ใช้จินตนาการเล่นแบบที่เขาห้ามมาโดยตลอด แต่ครั้งนี้ เซอร์บ็อบ มั่นใจว่า แกซซ่า กลายเป็นคนใหม่แล้ว ถ้าเขาได้เล่นตามอย่างที่ใจคิดก็จะไม่มีใครหยุดเขาได้แน่ และมันก็เป็นแบบนั้นจริง ๆ
"พูดก็พูดเถอะ ผมมั่นใจในแบบที่เคยเป็นมาก่อน ผมเล่นแบบไม่ต้องสนเเทคติกเลยก็ยังได้ ใครคือผู้เล่นที่ดีที่สุดของฝั่งตรงข้ามเหรอ ? ช่างแม่งดิ ผมไม่สนใจหรอก ใครจะประกบผมเป็นพิเศษไหม ? มาเถอะ ผมจัดให้ได้หมดเเหละ ... ผมกลายเป็นคนที่พยายามจะเอาชนะและพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อให้ทีมของเราไปถึงจุดที่เราคาดหวังไว้" สิ่งที่ แกซซ่า พูดยืนยันได้ว่า เซอร์บ็อบ เปลี่ยนทัศนคติการเล่นของเขาไปได้ขนาดไหน
น่าเสียดายอย่างที่หลายคนรู้กัน อังกฤษ ที่มี แกสคอยน์ ลุยไปจนถึงรอบ 4 ทีมสุดท้าย ก่อนจะพ่ายให้กับ เยอรมันตะวันตก ในการดวลจุดโทษ ในเกมนั้น แกสคอยน์ ร้องไห้จากการเข้าสกัดบอลใส่ โลธาร์ มัทเธอุส จนโดนใบเหลือง และทำให้เขาไม่สามารถลงเล่นในนัดชิงชนะเลิศได้ (หากอังกฤษชนะ)
สภาพจิตใจของ แกสคอยน์ แย่มาก จนถึงช่วงต่อเวลาครบ 120 นาที เขายังคงร้องไห้ และไม่อยากยิงจุดโทษเพราะเชื่อว่าสภาพจิตใจของตัวเองไม่พร้อม แต่คนแรกที่เดินเข้ามาหา แกซซ่า คือ เซอร์บ็อบ ... ความพ่ายแพ้นั้นเจ็บปวด แต่ เซอร์บ็อบ รู้ดีว่าเขาเองไม่อาจปล่อยให้ แกซซ่า เผชิญความรู้สึกนั้นอย่างลำพัง แกซซ่า กำลังเสียหลัก และมันเป็นหน้าที่ที่ เซอร์บ็อบ ทำได้ดีเสมอ นั่นคือการปลอบโยนและทำให้ แกสคอยน์ กลับมามั่นใจอีกครั้ง
"แกจะร้องไห้ทำไม แกเป็นนักเตะที่ดีที่สุดในทัวร์นาเมนต์นี้แล้วไอลูกชาย เชื่อมั่นในตัวเองหน่อย" เซอร์บ็อบ กล่าวเช่นนั้น ก่อนที่ แกซซ่า จะเงยหน้าขึ้นมามองแล้วบอกเขาว่า "เข้าใจแล้วครับ ผมโอเคแล้วเจ้านาย"
"ดี แกลืมทุกสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ซะ แกมีสุดยอดพรสวรรค์และยิ่งไปกว่านั้นเป็นผู้บันดาลชัยชนะให้กับเรา ถ้าไม่ใช่แกแล้วจะเป็นใคร แกคิดแบบนั้นไหม ? ชีวิตแก แกเลือกเอง ทุกอย่างขึ้นอยู่กับแกเท่านั้น อย่ากังวลไอ้ลูกชาย อย่ากังวล" เซอร์บ็อบ ว่าไว้เช่นนั้นก่อนขยิบตาแล้วบอกกับผู้ช่วยของเขาว่า "ใส่ชื่อ พอล เป็นคนยิงจุดโทษด้วย"
ไม่มีใครรู้ว่า เซอร์บ็อบ วาง แกซซ่า ไว้เป็นคนยิงจุดโทษคนที่เท่าไหร่ เพราะ อังกฤษ แพ้การดวลจุดโทษ 3-4 ให้กับ เยอรมัน โดยยิงครบ 5 คน คนที่พลาดคือ สจ๊วต เพียร์ซ และ คริส วอดเดิ้ล ... แต่ถึงอย่างนั้นสิ่งที่ เซอร์บ็อบ เข้ามาพูดกับ แกสคอยน์ ก็ทำให้เราได้รู้ว่าทำไมเขาจึงเป็นโค้ชที่ได้ใจและทำให้ แกซซ่า ยอมศิโรราบมากที่สุด...
หลังจากจบฟุตบอลโลก 1990 กราฟชีวิตของ แกสคอยน์ ก็ค่อย ๆ ร่วงลง เขาไม่ติดทีมชาติบ่อยเหมือนเคย ประกอบกับ เซอร์ บ็อบบี้ ร็อบสัน เองก็ลาออกจากตำแหน่งในทีมชาติอังกฤษไปแล้ว และมันก็ทำให้ทั้งคู่ห่างเหินกันไปช่วงเวลาหนึ่ง และกลับมาพบกันอีกครั้งในอีกหลายปีต่อมา
ฉากสุดท้ายที่ แกซซ่า พูดถึง เซอร์บ็อบ คือในเกมการกุศลระหว่าง อังกฤษ กับ เยอรมัน ที่ ณ เวลานั้น เซอร์บ็อบ เจอโรคชรารุมเร้าจนไม่สามารถเดินได้และต้องนั่งอยู่บนรถเก้าอี้เข็น แต่ก็เข้ามาชมเกมนั้น เพราะส่วนหนึ่งคือ แกสคอยน์ ถูกเชิญให้มาเป็นนักเตะที่ลงสนามในเกมนี้ด้วย และหลังจากนั้นไม่นาน เซอร์ บ็อบบี้ ร็อบสัน ก็จากโลกนี้ไปอย่างสงบ
แกสคอยน์ พูดถึงบรรยาการในการพบกันครั้งสุดท้ายว่า "ก่อนที่เขาจะจากไปผมได้ลงเล่นเกมการกุศลเกมหนึ่ง เซอร์ บ็อบบี้ นั่งอยู่บนรถเข็นของเขาดูเกมนั้นอยู่ ผมเห็นเขาอยู่บนอัฒจันทร์ผมเลยตะโกนว่า 'เฮ้ เจ้านาย นี่ผมเอง แกซซ่า ลูกชายคุณไง ให้ตายเถอะตอนนั้นเขาทำหน้างง ๆ เหมือนกำลังเมามอร์ฟีนอยู่เลย"
"เขาดูเกมนั้นได้ไม่จบ ลูกชายของเขาต้องเข็นรถพาเขากลับบ้านเพื่อพักผ่อน และสิ่งที่ผมรู้ภายหลังจากลูกชายของเขาคือเขาถามว่า 'เกมนี้ แกซซ่า เล่นเป็นยังไงบ้าง"
"หัวใจผมพองฟูอย่างที่สุด พระเจ้า เขายังจำผมได้จริง ๆ" แกสคอยน์ กล่าวพร้อมกับร้องไห้อีกครั้งเมื่อพูดถึงเจ้านายที่เขารักที่สุด"
เรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตการทำงานของคน เมื่อเป็นเจ้านายก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้เต็มที่ อ่านสิ่งที่อยู่ในใจของลูกน้องให้ออก ใส่ใจพวกเขาเพื่อรีดศักยภาพที่ดีที่สุดของพวกเขาออกมาให้ได้
เช่นเดียวกับชีวิตลูกน้องอย่าง แกซซ่า เขาอาจจะเคยงอแงไม่ฟังใครในเรื่องการร่วมงานกับคนอื่น ๆ แต่เมื่อถึงวันที่เขาเจอเจ้านายที่ให้ใจ ใส่ใจ และเชื่อมั่นในตัวเขาแบบที่เขาไม่เคยเจอมาก่อน เขาก็บันดาลทุกสิ่งที่เขามีตอบแทนในแบบที่ตัวเองไม่เชื่อด้วยซ้ำว่าจะทำได้
ทั้งหมดนี้คือความสัมพันธ์ดั่งพ่อและลูกชายที่ยังคงตราตรึงใจทุกคนในวงการฟุตบอลอังกฤษมาจนถึงทุกวันนี้
อัลบั้มภาพ 21 ภาพ