วิเคราะห์ระบบโครงสร้าง : ทำไมเอเชียจึงผูกขาดโควตาฟุตบอลโลกเพียง 5 ชาติ
การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนเอเชียเดินทางมาถึงจุดสิ้นสุด โดยได้ 4 ทีมที่คว้าโควตาสู่รอบสุดท้ายที่ประเทศกาตาร์เป็นที่เรียบร้อย ได้แก่ อิหร่าน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และซาอุดีอาระเบีย โดยยังเหลืออีกหนึ่งโควตาให้ตัวแทนจากเอเชียไปตัดสินกับตัวแทนจากอเมริกาใต้ในรอบเพลย์ออฟ
นี่จะเป็นครั้งสุดท้ายที่ทีมจากเอเชียได้โควตาไปฟุตบอลโลกด้วยจำนวนจำกัดมากที่สุด 5 ทีม เพราะนับจากฟุตบอลโลก 2026 เป็นต้นไป เอเชียจะได้เพิ่มโควตาเป็น 8 ทีม ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้อีกหลายประเทศได้สัมผัสคำว่า ฟุตบอลโลก เสียที
Main Stand ถือโอกาสนี้มาวิเคราะห์โครงสร้างของการแข่งขันฟุตบอลโลก เหตุใดทวีปที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง เอเชีย จึงได้โควตาลงเล่นในฟุตบอลโลกไม่เกิน 5 ทีมมาอย่างยาวนานนับ 20 ปี
เหมาะสมกับผลงานบนเวทีฟุตบอลโลก
เหตุผลแรกที่ทำให้ชาติจากทวีปเอเชียได้โควตาลุยศึกฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายผ่านระบบการแข่งขันรอบคัดเลือกเพียง 5 ชาติ คือความสำเร็จของประเทศในเอเชียบนเวทีฟุตบอลโลกที่ยังจับต้องเป็นรูปธรรมไม่ได้จนถึงปัจจุบัน
ย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของการแข่งขันฟุตบอลโลก มีเพียงทีมจาก 2 ทวีปเท่านั้นที่ก้าวไปคว้าตำแหน่งแชมป์มาครองได้สำเร็จ นั่นคือ ยุโรป และ อเมริกาใต้ ทั้งสองต่างถือเป็นมหาอำนาจในวงการลูกหนังโลกมาตั้งแต่ก่อนยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่ว่าจะเป็นในบทบาทเจ้าภาพหรือตำแหน่งแชมป์โลก
ด้วยเหตุนี้เมื่อมีการปรับเปลี่ยนโควตารอบคัดเลือกฟุตบอลโลกครั้งใหญ่ นั่นคือก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลก 1998 ที่มีการเพิ่มจำนวนชาติในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเป็น 32 ทีม ทวีปยุโรปจึงได้รับโควตาไปมากที่สุด 14 ทีม (ไม่รวมเจ้าภาพ ฝรั่งเศส) ซึ่งถือเป็นจำนวนที่เหมาะสม เนื่องจากขณะนั้นฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปมีจำนวนทีมเข้าแข่งขันทั้งหมด 16 ทีม โควตาฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายจึงจำเป็นต้องปรับให้มีความใกล้เคียงกับฟุตบอลยูโร
ส่วนทวีปอเมริกาใต้ได้รับโควตาไปทั้งหมด 5 ทีม ซึ่งมองผ่าน ๆ อาจไม่ใช่จำนวนที่เยอะมากนัก แต่เมื่อเปรียบเทียบโควตาที่โซนอเมริกาใต้กับชาติทั้งหมดที่มีสิทธิลงแข่งขันรอบคัดเลือกในโซนดังกล่าวจะพบว่าอเมริกาใต้คือโซนที่ได้สัดส่วนทีมเข้าสู่ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายมากที่สุด
เนื่องจากทวีปอเมริกาใต้มีทีมชาติที่ลงแข่งขันในรอบคัดเลือกเพียงแค่ 10 ทีม หมายความว่าทวีปอเมริกาใต้มีโอกาสส่งชาติตัวแทนไปฟุตบอลโลกด้วยสัดส่วน 50 เปอร์เซ็นต์จากโควตา 5 ทีม ซึ่งเมื่อเทียบกับทางฝั่งยุโรปแล้วอเมริกาใต้อาจเป็นโซนที่สามารถเข้าสู่ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้มากที่สุด เพราะถึงยุโรปจะได้โควตามากที่สุดด้วยจำนวน 13 ทีมแต่มีชาติสมาชิกเข้าชิงชัยมากถึง 55 ประเทศ
เห็นได้ชัดว่า ยุโรป และ อเมริกาใต้ คือภูมิภาคที่ได้รับสิทธิพิเศษในการจัดสรรโควตาการผ่านเข้าสู่ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายอย่างทั่วถึง ทั้งนี้เป็นเพราะผลงานของทั้งสองทวีปเป็นตัวชูโรงในการแข่งขันฟุตบอลโลกเสมอมา ดังนั้นแล้วพื้นที่ 32 ทีมในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายจึงคำนึงถึงโควตาที่ยุโรปและอเมริกาใต้ควรจะได้รับ ก่อนจะนำโควตาที่เหลือมาจัดแบ่งให้กับทวีปอื่น
สำหรับโควตา 3.5 ทีม หรือโอกาสเข้ารอบสุดท้ายมากที่สุด 4 ทีม ที่ทวีปเอเชียได้รับในการแข่งขันฟุตบอลโลก 1998 จึงถือว่าค่อนข้างสมเหตุสมผลกับผลงานของชาติเอเชียในเวทีฟุตบอลโลกขณะนั้น โดยผลงานของทีมจากเอเชียที่น่าสนใจก่อนฟุตบอลโลก 1998 ได้แก่
การเข้าสู่รอบสุดท้ายของ ดัตช์ อีสต์ อินดีส (อินโดนีเซียในปัจจุบัน) เมื่อปี 1938 ก่อนจะแพ้ ฮังการี ไป 0-6 จนตกรอบแรกไป, ผลงานช็อกโลกของ เกาหลีเหนือ เมื่อปี 1966 จากชัยชนะเหนือ อิตาลี 1-0 จนผ่านเข้าสู่รอบสองของการแข่งขัน และความสำเร็จของ ซาอุดีอาระเบีย ที่เอาชนะ โมร็อกโก และ เบลเยียม ในรอบแบ่งกลุ่ม จนสามารถผ่านเข้าสู่รอบสองฟุตบอลโลก 1994 ได้สำเร็จ
เมื่อมองไปยังผลงานภาพรวมทั้งหมด ทีมจากเอเชียสามารถคว้าชัยชนะในฟุตบอลโลกไปเพียง 3 แมตช์เท่านั้น ก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลก 1998 การเพิ่มโควตาเป็นสองเท่าจาก 2 ทีมสู่ 4 ทีมในการแข่งขันครั้งดังกล่าวจึงถือเป็นการเพิ่มโควตาที่สมเหตุสมผลแล้วกับทวีปเอเชีย
ยิ่งเมื่อเทียบกับโควตาของโซนอื่นที่มีผลงานใกล้เคียงกับทวีปเอเชียอย่างแอฟริกาที่ได้โควตา 5 ชาติ หรือโซนคอนคาเคฟที่ได้เพียง 3 ชาติ จะพบว่าจำนวนทีมที่สามารถผ่านเข้าสู่ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายของชาติเอเชียสอดคล้องไปตามผลงานที่ปรากฏบนเวทีฟุตบอลโลกก่อนหน้านี้
เมื่อทีมจากทวีปเอเชียผลงานดีขึ้นในฟุตบอลโลกโควตาในการผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เห็นได้ชัดจากผลงานอันน่าประทับใจของ เกาหลีใต้ และ ญี่ปุ่น ในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2002 โดยเกาหลีใต้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการก้าวไปคว้าอันดับ 4 ของการแข่งขัน ส่วนญี่ปุ่นสามารถผ่านเข้าถึงรอบ 16 ทีมสุดท้าย
ผลงานตรงนี้ส่งผลให้โควตาของชาติเอเชียในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายถูกปรับเป็น 4.5 ทีม หรือโอกาสเข้ารอบสุดท้ายมากที่สุด 5 ทีมอย่างเป็นทางการในศึกฟุตบอลโลก 2006 แม้จะมีการเพิ่มออสเตรเลียเข้ามาในโซนเอเชีย
แต่การเพิ่มจำนวนทีมตรงนี้ถือเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจของชาติเอเชียในการพิสูจน์คุณภาพของกีฬาฟุตบอลบนเวทีโลก เนื่องจากมีเพียงสองโซนเท่านั้นที่ได้รับโควตาเพิ่มขึ้นนับจากฟุตบอลโลก 1998 คือ เอเชีย และ คอนคาเคฟ ที่ปรับจาก 3 ทีม เป็น 3.5 ทีม ในศึกฟุตบอลโลก 2006 เช่นเดียวกัน
นับจากวันนั้นชาติจากเอเชียต้องเผชิญความท้าทายมากมายบนเวทีฟุตบอลโลก ซึ่งมีหลายครั้งที่ผลลัพธ์เป็นความล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นความพ่ายแพ้ของ เกาหลีเหนือ ต่อ โปรตุเกส 0-7 ในศึกฟุตบอลโลก 2010 หรือการเป็นทวีปเดียวในฟุตบอลโลก 2014 ที่ไม่มีทีมที่อยู่ใน 40 อันดับแรกของโลกอยู่เลย
ประเด็นเหล่านี้นำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์ต่อโควตาที่ทวีปเอเชียได้รับว่าสอดคล้องกับคุณภาพของชาติในภูมิภาคหรือไม่ แต่สุดท้ายชาติเอเชียได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพวกเขามีพัฒนาการอยู่ตลอดเวลา จากความสำเร็จในการพา 5 ประเทศเข้าสู่ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2018 ได้แก่ อิหร่าน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ซาอุดีอาระเบีย และ ออสเตรเลีย
เมื่อบวกกับโอกาสประจวบเหมาะที่ กาตาร์ ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 ผลงานอันโดดเด่นในฟุตบอลโลกครั้งก่อนจึงมีส่วนช่วยให้โซนเอเชียสามารถรักษาโควตา 4.5 ทีมเอาไว้ได้ แตกต่างจากฟุตบอลโลก 2002 ที่ทวีปเอเชียถูกลดโควตาลงเหลือ 2.5 ทีม เนื่องจากแบ่งโควตาอัตโนมัติให้เจ้าภาพอย่าง ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้
ฟุตบอลโลก 2022 จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้เห็นชาติเอเชียเข้าสู่ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 6 ทีมเป็นครั้งแรก เนื่องจากมีโควตาทั้งหมด 5.5 ทีม โดยโควตาที่ได้เพิ่มเติมนี้ยังเป็นการแย่งมาจากโซนยุโรปที่จะเหลือทีมเข้ารอบสุดท้ายเพียง 13 ทีมเป็นครั้งแรก นี่จึงถือเป็นพัฒนาการครั้งใหญ่และสัญญาณอันดีของวงการฟุตบอลในเอเชียอย่างแท้จริง
เหมาะสมกับคุณภาพของชาติในภูมิภาค
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้โควตาฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 5 ชาติเพียงพอกับประเทศในทวีปเอเชียปัจจุบันคือ การแข่งขันรอบคัดเลือกในทวีปเอง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะคัดแต่ทีมที่มีศักยภาพพร้อมลงเล่นฟุตบอลโลก เพื่อเผชิญหน้ากับยอดทีมในทวีปอื่นด้วยปริมาณที่เหมาะสม
ทีมจากเอเชียจำเป็นต้องยอมรับก่อนว่าแม้ผลงานภาพรวมของภูมิภาคจะมีความพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่คุณภาพของทีมฟุตบอลในประเทศส่วนใหญ่ยังตามหลังอีกหลายภูมิภาคทั่วโลก การพัฒนาวงการฟุตบอลในหลายชาติยังขาดความต่อเนื่อง เห็นได้ชัดจากแทคติกของหลายชาติที่ยังคงเดินตามหลังเทรนด์ทั่วโลก
การพัฒนาฟุตบอลในโลกปัจจุบันย่อมต้องให้ความสำคัญกับพื้นฐานของการเล่นฟุตบอลด้วยทักษะ เน้นการครองบอลเป็นสำคัญ และเข้าใจการเคลื่อนที่เพื่อควบคุมพื้นที่อย่างดุดัน ซึ่งการวางพื้นฐานในลักษณะนี้จะต้องเริ่มตั้งแต่ระดับเยาวชนเหมือนกับที่ญี่ปุ่นวางรากฐานนี้ไว้จนผลิดอกออกผลเป็นนักเตะคุณภาพในปัจจุบัน
น่าเสียดายที่หลายชาติในเอเชียปฏิเสธจะวางแนวทางเพื่อหวังผลระยะยาวแบบญี่ปุ่น การเลือกเฮดโค้ชเพื่อเข้ามารับงานในทีมชาติแบบสุ่มดวงจะทำให้ขาดความต่อเนื่องทางแทคติก และสิ่งนี้ยังเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในทวีปเอเชีย โดยเห็นได้ชัดจากทีมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เมื่อเชื่อมโยงโค้ชคนก่อนกับคนปัจจุบันจะมองไม่เห็นพัฒนาการอย่างเป็นรูปธรรม แทคติกที่ใช้เป็นไปตามโค้ชแต่ละคน ซึ่งจะได้ผลหรือไม่ก็แล้วแต่โชคชะตาว่าสุ่มดวงเข้าเป้าหรือไม่
สิ่งนี้คือการมองเพียงผลลัพธ์ระยะสั้นที่บางครั้งเป็นแค่การเลือกโค้ชเพื่อจะประสบความสำเร็จในฟุตบอลระดับภูมิภาค เช่น ฟุตบอลซูซูกิ คัพ ส่งผลให้หลายชาติในเอเชียมีคุณภาพฟุตบอลที่ย่ำอยู่กับที่ เนื่องจากไม่มีการพัฒนาทักษะนักเตะอย่างถูกต้อง ส่วนชาติที่ติดเครื่องไปแล้วก็จะเดินหน้าเพื่อยึดยอดสูงสุดของวงการฟุตบอลเอเชียไปเรื่อย ๆ
ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก 2022 โซนเอเชีย ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ 4 ชาติที่สามารถผ่านเข้าสู่ฟุตบอลโลก 2018 ต่างพากันจองตั๋วไปเล่นรอบสุดท้ายที่กาตาร์กันอย่างครบครัน ได้แก่ อิหร่าน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และ ซาอุดีอาระเบีย โดยทั้งหมดต่างคว้าโควตานี้ได้ก่อนการแข่งขันจะสิ้นสุดลงหนึ่งนัด แสดงให้เห็นถึงคุณภาพที่ห่างชั้นกับทีมอื่นในภูมิภาคได้เป็นอย่างดี
ในทางกลับกันหลายชาติที่ผ่านเข้าสู่รอบคัดเลือกรอบสาม โซนเอเชีย ยังทำผลงานได้อย่างน่าผิดหวัง เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ลงเล่น 9 นัดเก็บได้เพียง 9 แต้ม ทั้งที่เป็นเต็งสามของกลุ่ม A หรือมหาอำนาจอย่าง จีน ที่เค้นฟอร์มไม่ออกที่แพ้แม้กระทั่ง เวียดนาม ในการแข่งขันกลุ่ม B
เราสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าทีมที่มีคุณภาพมากพอและเหมาะสมจะลงเล่นในฟุตบอลโลกของโซนเอเชียมีเพียง 5 ทีมเท่านั้น ซึ่งยังคงเป็น 5 ทีมที่สามารถผ่านเข้าสู่ฟุตบอลโลก 2018 นั่นคือ อิหร่าน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ซาอุดีอาระเบีย และ ออสเตรเลีย ส่วนชาติอื่นในโซนเอเชียยังคงฟอร์มไม่สม่ำเสมอและเอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้
แม้การพัฒนาของหลายภูมิภาคในทวีปเอเชียจะเป็นไปอย่างน่าจับตา เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สามารถส่งตัวแทนเข้าสู่รอบคัดเลือกรอบสามได้แล้วหลายครั้ง หรือภูมิภาคเอเชียกลางที่พัฒนาอย่างน่าจับตา แต่ก็ต้องยอมรับว่าถึงจะมีการพัฒนามากขนาดนี้ทีมจากอาเซียนและเอเชียกลางยังไม่ใกล้เคียงกับคุณภาพของทีมจากตะวันออกกลาง ซึ่งหลายชาติจากตะวันออกกลางก็ยังคงมีคุณภาพห่างไกลทีมระดับฟุตบอลโลก
นี่จึงเป็นคำถามที่น่าสนใจว่า เมื่อฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายมีการเพิ่มจำนวนทีมจาก 32 เป็น 48 ทีมสำหรับการแข่งขันอีกสี่ปีข้างหน้า ชาติจากเอเชียซึ่งจะได้เพิ่มโควตาจาก 4.5 ทีมเป็น 8 ทีม จะสามารถพัฒนาคุณภาพให้ทัดเทียมกับการแข่งขันฟุตบอลโลกได้หรือไม่
เพราะต้องยอมรับว่าการถูกถล่มแบบยับเยิน เช่น ซาอุดีอาระเบีย ที่พ่ายต่อ เยอรมัน 0-8 ในฟุตบอลโลก 2002 หรือความพ่ายแพ้ของ เกาหลีเหนือ ต่อ โปรตุเกส 0-7 ในฟุตบอลโลก 2010 ได้เลือนหายไปจากฟุตบอลโลกค่อนข้างนานแล้ว ซึ่งคงไม่มีใครอย่ากเห็นความยับเยินแบบนี้กลับมาอีกครั้งในฟุตบอลโลก 2026
โควตา 5 ทีมในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่ทวีปเอเชียได้รับในปัจจุบันจึงมีความเหมาะสมทุกประการ แต่จำนวนทีมที่กำลังจะเพิ่มขึ้นเป็น 8 ชาติในฟุตบอลโลกครั้งหน้าจะเป็นบททดสอบของวงการฟุตบอลเอเชียอีกครั้งว่าจะสามารถเดินตามการขยายตัวของวงการฟุตบอลโลกได้ทันหรือไม่ ท่ามกลางโอกาสครั้งใหญ่ที่กำลังจะถูกหยิบยื่นให้ในฟุตบอลโลกครั้งถัดไป