10 เรื่องควรรู้ ก่อนเชียร์ไทยสู้ศึกซีเกมส์ 2021
กีฬาซีเกมส์ เดินทางมาถึงครั้งที่ 31 เมื่อคิดย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นเมื่อปี 1959 (พ.ศ.2502) ที่การแข่งขันกีฬาแหลมทอง (เซียพเกมส์) ครั้งแรก จัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมหกรรมกีฬาของภูมิภาคอาเซียนได้เริ่มต้นขึ้น และเดินทางผ่านกาลเวลายาวนานถึง 63 ปี แต่สำหรับหนนี้ก่อนการแข่งขันจะเปิดฉากขึ้นมีเรื่องราวอะไรที่น่าสนใจกันบ้าง ติดตามไปพร้อมกันที่นี่
อีกครั้งที่เวียดนาม
มหกรรมกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 31 นี้ เวียดนาม รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพเป็นหนที่ 2 หลังจากเคยเป็นเจ้าภาพครั้งแรกในซีเกมส์ ครั้งที่ 22 เมื่อปี 2003 โดยใช้ฮานอย และโฮจิมินห์ เป็นเมืองหลัก และทัพนักกีฬาเวียดนามทำได้ถึง 158 เหรียญทอง 97 เหรียญเงิน 91 เหรียญทองแดง ครองเจ้าเหรียญทองอย่างยิ่งใหญ่
เวียดนามที่เคยรับเป็นเจ้าภาพกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 18 ในปี 2019 แต่ต้องถอนตัวเนื่องจากความไม่พร้อมหลายด้าน ก่อนที่อินโดนีเซีย จะรับเป็นเจ้าภาพเอเชี่ยนเกมส์แทนและจัดในปี 2018 เมื่อเวลาผ่านพ้นไป กีฬาซีเกมส์เวียนมาถึงคราวที่เวียดนามจะต้องเป็นเจ้าภาพ ทำให้ “ดาวทอง” ต้องกลับมาส่องแสงในมหกรรมกีฬาอาเซียนอีกครั้ง
ซีเกมส์ที่เกือบจะไม่ได้แข่งขัน
กีฬาซีเกมส์ฉบับเวียดนาม จะต้องแข่งขันกันในปี 2021 แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า หรือ โควิด 19 ลุกลามอย่างหนักไปทั่วโลก ทำให้การแข่งขันที่กำหนดโปรแกรมเดิมไว้ในวันที่ 21 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2021 ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ และโรคร้ายทวีความรุนแรงมากขึ้น จนชาติสมาชิกถึงกับโหวตให้ยกเลิกการแข่งขันไป แต่สหพันธ์กีฬาซีเกมส์ มีความพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะทำให้การแข่งขันซีเกมส์เกิดขึ้นให้ได้
ด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งประเทศเจ้าภาพ และชาติสมาชิกรวมทั้งหมด 11 ประเทศ ประกอบกับการรับมือกับ โควิด 19 ที่ต้องร่วมแรงร่วมใจกัน จนในที่สุดสามารถกำหนดจัดการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ในวันที่ 12-23 พฤษภาคม 2022 ภายใต้ชื่อ “ซีเกมส์2021” แต่ต้องมาแข่งขันกันในปี 2022
เพื่ออาเซียนที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
คำขวัญประจำการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 31 “For a Stronger South East Asia” ยังคงบ่งบอกถึงความเป็นนักสู้ของชาวเวียดนาม แต่ในมหกรรมกีฬาแห่งอาเซียนที่ต้องแข่งขันร่วมกันในโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่มีใครเก่ง หรือเป็นผู้ชนะได้เพียงคนเดียว หากแต่ต้องผนึกกำลังร่วมกัน ในการแสดงศักยภาพความก้าวหน้าทางการกีฬา และต่อสู้กับโรคระบาด
การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งนี้ จะเป็นการพิสูจน์ ทั้งความสามารถในเชิงกีฬา และการร่วมมือร่วมใจกันของ 11 ชาติในอาเซียน ได้แก่ ไทย, เวียดนาม, สิงคโปร์,เมียนมา, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, บรูไน, กัมพูชา, สปป.ลาว และติมอร์ เลสเต
กีฬาพื้นบ้านต้องมา
เวียดนาม ทำให้แฟนกีฬาได้เห็นกีฬาพื้นบ้านที่ตนเองถนัดนำมาบรรจุในซีเกมส์ ครั้งที่ 22 ได้แก่ ว่ายน้ำใส่ตีนกบ (ฟินสวิมมิ่ง), เตะลูกขนไก่ข้ามตาข่าย (ชัตเติ้ลค็อก) และ โววีนั่ม ศิลปะการต่อสู้ประจำชาติของเวียดนาม ครั้งนั้นชาติสมาชิกอาจจะไม่สันทัดมากนัก แต่มาถึงซีเกมส์ครั้งที่ 31 นี้ อาจจะพอมีคู่แข่งขึ้นมาบ้าง แต่สุดท้าย เจ้าภาพก็จะกวาดเหรียญทองไปได้มากที่สุดอยู่ดี
เจ้าภาพบรรจุกีฬาแข่งขัน 41 ชนิด ชิงชัย 526 เหรียญทอง ได้แก่ กีฬาทางน้ำ (กระโดดน้ำ,ว่ายน้ำใส่ตีนกบ,กระโดดน้ำ), ยิงธนู, กรีฑา, แบดมินตัน, บาสเกตบอล, บิลเลียด, เพาะกาย,โบว์ลิ่ง, มวยสากล, เรือแคนู, หมากรุกสากล, หมากรุกจีน, จักรยาน, ลีลาศ, อีสปอร์ต, ฟันดาบ, ฟุตบอล (ฟุตบอลชายหาด-ฟุตซอล), กอล์ฟ, ยิมนาสติก ,แฮนด์บอล, ยูโด, ยูยิตสู, คาราเต้, คิกบ็อกซิง, คูราช, มวยไทย, ปันจักสีลัต, เปตอง, เรือพาย, เซปักตะกร้อ, ยิงปืน, เตะลูกขนไก่ข้ามตาข่าย, เทเบิลเทนนิส, เทควันโด, เทนนิส, ไตรกีฬา, วอลเลย์บอล, โววีนัม, ยกน้ำหนัก, มวยปล้ำ และ วูซู
ล้ำค่าดุจเดือนและดาว
สัญลักษณ์ของการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 31 เป็นโลโก้ ที่ออกแบบโดยได้รับแรงบันดาลใจจาก ภาพของ “นกพิราบ” และ “มือ” ของมนุษย์รวมกัน เพื่อสร้างรูปร่างตัว “วี” หมายถึง "ชัยชนะ" Victory และ “เวียดนาม” Vietnam ซึ่งแนวคิดนี้มาจากภาพนักกีฬาที่ทาบมือลงบนหน้าอกซ้ายของตัวเอง ในขณะที่ร้องเพลงชาติก่อนการแข่งขัน นอกจากนี้ ความหมายของปีกนก ยังเป็นสัญลักษณ์ของ ความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะไปสู่ชัยชนะ ด้วยน้ำใจนักกีฬาที่ยิ่งใหญ่
ตัวนำโชค หรือ มาสคอต ประจำกีฬาซีเกมส์ 2021 คือ ซาวลา (Saola) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่หายากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีรูปร่างคล้ายแพะผสมกับเลียงผา จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับวัว มีถิ่นกำเนิดในเวียดนามตอนกลาง เรียกอีกฉายาหนึ่งว่า “ยูนิคอร์นเอเชีย”
"ซาวลา" เป็นชื่อสามัญในภาษาเวียดนาม มาจากภาษากลุ่มไท แปลว่า "เขาบิดเกลียว” อีกทั้งยังแฝงความหมายว่า "ล้ำค่าดุจเดือนและดาว"
“ฮานอย” ดาวเด่นแห่งซีเกมส์
ฮานอย คือ เมืองหลักที่ได้รับการพิจารณาให้เป็นเจ้าภาพ กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 เนื่องจาก มีโครงสร้างพื้นฐานทางการกีฬาที่พร้อมอยู่แล้ว ซึ่งรัฐบาลมีความตั้งใจและวิสัยทัศน์เชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนากรุงฮานอยให้กลายเป็นศูนย์กลางแห่งนวัตกรรมในภูมิภาคและโลก เมื่อถึง ปี 2030
สนามกีฬาแห่งชาติ หมี ดิญ My Dinh สนามกีฬาอเนกประสงค์ ความจุ 40,192 ที่นั่ง สนามเหย้าของทีมฟุตบอล “ดาวทอง” ทีมชาติเวียดนาม ตั้งอยู่ที่ใจกรุงฮานอย เป็นดาวเด่นส่องสว่างถึงความยิ่งใหญ่ทางการกีฬาของเวียดนาม โดยสนามแห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นสำหรับการจัด “ซีเกมส์ 2003” เมื่อปี 2546 โดยเฉพาะ และได้มีการปรับปรุงครั้งสำคัญในปี 2016 เพื่อรองรับการจัดเอเชี่ยนเกมส์ 2018 แต่เอเชี่ยนเกมส์ครั้งนั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นบนแผ่นดินเวียดนาม ก่อนที่จะใช้งบประมาณอีกราว 6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่ออัพเกรด หมี ดิญ My Dinh สเตเดียม สำหรับซีเกมส์ ครั้งที่ 31
ทัพไทยตั้งเป้า 116 เหรียญทองซีเกมส์ ลุ้นเจ้าทองสมัย 14
ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องมีการปรับจำนวนตัวเลขนักกีฬาที่เข้าร่วม ยอดสรุปอย่างเป็นทางการตอนนี้ ไทยส่งนักกีฬาเข้าร่วม 819 คน ซึ่งถือว่าน้อยที่สุด ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยและสามารถดูแลนักกีฬาได้อย่างทั่วถึง
อย่างไรก็ตามแม้ตัวเลจนักกีฬาจะน้อยลง แต่ทั้ง 41 สมาคมกีฬาที่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันได้ตั้งเป้ารวมกันไว้ถึง 116 เหรียญทอง คิดเป็น ราวๆ 1 ส่วน 4 ของอีเว้นท์ที่มีการชิงชัยเลยทีเดียว โดยกรีฑาเป็นชนิดกีฬาที่ตั้งเป้ามากสุด 12 เหรียญทอง และมีพียงหมากรุกสากลกับไตรกีฬา เป็น 2 ชนิดกีฬาที่ไม่หวังเหรียญทอง ขอแค่คว้าเหรียญใดเหรียญหนึ่งเท่านั้น
ซีเกมส์ ระบบเปิด
เจ้าภาพได้กระจายจัดการแข่งขันไปถึง 12 เมือง นอกเหนือจากฮานอยแล้ว ก็ยังมี นาม ดิญ Nam Dinh ,ไฮฟอง Hai Phong ,ฮา นามHa Nam ,ฮัว บิญ Hoa Binh ,ฟู โถว Phu Tho, บั๊ค นิญ Bac Ninh ,ไฮ ดอง Hai Duong ,กว๋าง นิญ Quang Ninh ,นิญ บิญ Ninh Binh
รายงานล่าสุด เวียดนาม เจ้าภาพซีเกมส์ พร้อมเปิดเปิดให้แฟนกีฬาเข้าช่มกันถึงขอบสนามแบบเต็มความจุทุกชนิดกีฬา แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้แฟนกีฬาเข้าชมการแข่งขัน ขณะเดียวกันอกจากนี้ผู้เข้าชมไม่จำเป็นต้องแสดงผลตรวจโควิด-19 ก่อนเข้าสนามอีกด้วย
อะไรต้องได้ ก็ต้องได้
เวียดนาม ใช้กีฬาผลักดันประเทศ เริ่มจากในมหกรรมกีฬาภูมิภาคอาเซียนอย่างซีเกมส์ จากชาติที่โนเนม ก้าวมาสู่การเป็นเจ้าภาพ และเป็นเจ้าเหรียญทอง โดยหลังจากที่ทำได้ในปี 2003 แล้ว ในซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ปี 2019 ที่ฟิลิปปินส์ ทัพนักกีฬาเวียดนามทำได้ 98 เหรียญทอง 85 เหรียญเงิน 105 เหรียญทองแดง เป็นรองเพียงฟิลิปปินส์เจ้าภาพที่ได้เจ้าเหรียญทอง (149 ทอง 117 เงิน 121 ทองแดง) ส่วนไทยตกมาอยู่อันดับ 3 (92 ทอง 103 เงิน 123 ทองแดง) ทำให้เวียดนาม กลายเป็นชาติที่อยู่ในระดับแนวหน้าของซีเกมส์ แถมจำนวนเหรียญทองที่ทำได้แบบเป็นกอบเป็นกำก็มาจากกีฬาสากลด้วย
ในขณะที่กีฬาไฮไลท์อย่าง ฟุตบอลทีมชาย ทัพนักเตะ "ดาวทอง" กลายเป็นทีมอันดับ 1 เจนจัดในย่านนี้มากที่สุด ด้วยผลงาน แชมป์อาเซียน “เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2018”, รองแชมป์ยู 23 ชิงแชมป์เอเชีย , เหรียญทองซีเกมส์ 2019 และที่เป็นที่สุดคือ การเป็นหนึ่งใน 12 ทีมสุดท้าย ในฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือกโซนเอเชีย
สิ่งที่เวียดนาม “ต้องได้” ในการจัดซีเกมส์ ครั้งที่ 31 คือการเป็นเจ้าเหรียญทอง และได้เหรียญทองฟุตบอล จะต้องไม่มีคำว่าพลาดอย่างเด็ดขาด ซึ่งทั้ง 2 อย่าง มีไทยเป็นคู่แข่งโดยตรง
ดีที่สุด-เข้มข้นที่สุด
เวียดนาม เป็นชาติที่บ้าคลั่งเรื่องกีฬาไม่แพ้ใครชาติใดในโลก ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันระดับใดก็ตาม เมื่อการแข่งขันเริ่มต้น นักกีฬาเวียดนามจะเค้นศักยภาพออกมาให้ได้มากที่สุด เพื่อความสำเร็จในระดับสุดยอด และในซีเกมส์ครั้งที่ 31 ทุกชัยชนะ ทุกเหรียญรางวัลล้วนมีความหมายต่อเวียดนาม คู่ต่อสู้ถอดใจเมื่อไหร่ เท่ากับยกชัยชนะให้กับนักกีฬาญวน
ซีเกมส์ครั้งที่ 31 จะเป็นซีเกมส์ที่เข้มข้นที่สุด.....และเป็นซีเกมส์ที่ดีที่สุด (ของเวียดนาม) ด้วย!!!