ความหวังใหม่ : จับตา 5 นักกีฬาดาวรุ่งไทยพร้อมแจ้งเกิดในเวทีซีเกมส์

ความหวังใหม่ : จับตา 5 นักกีฬาดาวรุ่งไทยพร้อมแจ้งเกิดในเวทีซีเกมส์

ความหวังใหม่ : จับตา 5 นักกีฬาดาวรุ่งไทยพร้อมแจ้งเกิดในเวทีซีเกมส์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แฟนกีฬาไทยติดตามกีฬาซีเกมส์มาช้านาน การเชียร์นักกีฬาไทยในซีเกมส์ให้ความรู้สึกที่ดื่มด่ำ ทั้งความสุข และความเศร้า เพราะนักกีฬามีโอกาสทั้งชนะและแพ้ นักกีฬาทุกคนต่างพยายามเต็มที่เพื่อสร้างชื่อในมหกรรมกีฬาอาเซียน อันเป็นหนึ่งในการจุดประกายแห่งความสำเร็จในชีวิตการเล่นกีฬา ซึ่งมีนักกีฬาไทยมากมายที่แจ้งเกิดได้สำเร็จ และยังมีนักกีฬาอีกมากมายเช่นกันที่รอจะประกาศชัยในเวทีซีเกมส์แห่งนี้

“ทีเค” รชานนท์ ฉันทนานุวัฒน์ (กอล์ฟ)

 ชื่อของ “ทีเค” รชานนท์ ฉันทนานุวัฒน์ ติดหูแฟนกอล์ฟตั้งแต่เจ้าตัวมีอายุแค่ 4 ขวบ 5 เดือน ด้วยการไปคว้าแชมป์รายการ “สิงห์-ไอเอสเอฟ จูเนียร์ กอล์ฟ พาร์ 3 โอเพ่น” ในเดือนสิงหาคม ปี 2554

เท่านั้นยังไม่พอ ในเดือนต่อมา ไอ้หนูทีเค ได้กลายเป็นนักกอล์ฟที่มีอายุน้อยที่สุดในประเทศไทยที่สามารถทำ “โฮล อิน วัน” ในการแข่งขันอย่างเป็นทางการที่จัดโดย สมาคมกีฬากอล์ฟแห่งประเทศไทย ชื่อรายการ "TGA-CAT Junior Golf Ranking 2554-2555"  ที่ สนามวอเตอร์มิลล์ กอล์ฟ แอนด์ การ์เด้นส์

 นี่คือ เจ้าหนูมหัศจรรย์ของวงการกีฬากอล์ฟไทย

 นักกอล์ฟอนาคตไกลคนนี้ เพิ่งจะคว้าแชมป์การแข่งขันกอล์ฟผสมชาย-หญิง ระดับเอเชียนทัวร์ และเลดี้ส์ ยูโรเปี้ยนทัวร์ รายการ “ทรัสต์กอล์ฟ เอเชียนมิกซ์ คัพ” ที่ สยามคันทรีคลับ วอเตอร์ไซด์ พัทยา จ.ชลบุรี เมื่อเดือนเมษายนทั้งที่เป็นนักกอล์ฟสมัครเล่น แต่เอาชนะโปรกอล์ฟนับร้อย สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักกอล์ฟชายอายุน้อยที่สุดที่คว้าแชมป์ระดับทัวร์หลัก ด้วยวัย 15 ปี 37 วัน

ย้อนกลับไปในอดีต “ทีเค” ซึ่งทดลองเล่นกีฬาหลายอย่าง แต่ชอบเล่นกอล์ฟมากที่สุด เสริมด้วยแรงสนับสนุนพ่อ-แม่ ที่ดูเหมือนจะเลี้ยงลูกให้เติบโตขึ้นมาเป็นนักกีฬาที่ยิ่งใหญ่

ในรายการ “ทรัสต์กอล์ฟ เอเชียนมิกซ์ คัพ” ผ่านการเล่นไป 3 วัน “ทีเค” ซึ่งเป็นผู้นำ 2 วันแรก แต่ตกลงมาเป็นผู้ตาม 1 แต้มเมื่อจบการแข่งขันวันที่ 3 แฟนกอล์ฟบางคนได้เห็น “ทีเค” ซ้อมพัตต์อยู่กับพ่อ “ธารา ฉันทนานุวัฒน์” จนพระอาทิตย์เกือบตกดิน  ก่อนที่ “ทีเค” จะก้าวไปสู่การเป็นแชมป์เมื่อจบการเล่นวันสุดท้าย

"อยากเป็นให้ได้แบบไทเกอร์ วู้ดส์"  ทีเค บอกใครต่อใครแบบนั้น เป้าหมายของนักกอล์ฟทุกคนคือ การก้าวขึ้นสู่การเป็นนัมเบอร์วัน ชนะรายการเมเจอร์ ฯลฯ

 ความมุ่งมั่นของนักกอล์ฟหนุ่มน้อยจึงพุ่งทะยานแบบไม่มีขีดจำกัด  

 ด้วยวัย 15 ปีเศษ “ทีเค” ติดทีมชาติไทย ในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่เวียดนาม เขามองถึงเหรียญทองเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยศึกนี้แตกต่างไปจากการแข่งขันระดับโปรเคยแข่งขันมา เพราะนี่คือการเล่นเพื่อชาติมีธงชาติไทยติดที่หน้าอก มหกรรมกีฬาซีเกมส์นั้น ทุกชนิดกีฬาถูกจับตามองทุกย่างก้าว กอล์ฟที่เป็นกีฬาที่ต้องสู้กับความรู้สึกของตัวเองจึงแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง  

“ทีเค” แจ้งเกิดในวงการกอล์ฟอินเตอร์ได้แล้ว แต่ในซีเกมส์นับเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งกับเหรียญทองที่ปรารถนา

ภูริพล บุญสอน (กรีฑา)

 “เทพบิว” ภูริพล บุญสอน ลมกรดหนุ่มวัยเพียงแค่ 16 ปี จากสมุทรปราการ วิ่งเร็วเหมือนสายฟ้าผ่าจนคนมองตามแทบไม่ทันในการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 47 "ศรีสะเกษเกมส์" ที่ จ.ศรีสะเกษ ด้วยการคว้า 2 เหรียญทอง วิ่ง 100 ม. และ 200 ม. ชาย

 สถิติที่ “เทพบิว” ทำได้นั้น ทำลายสถิติประเทศไทยและกีฬาแห่งชาติลงอย่างราบคาบ โดยวิ่ง 100 ม. ทำได้ 10.19  วินาที เหนือกว่า เหรียญชัย สีหะวงษ์ ที่เคยทำไว้ 10.23 วินาที  ในกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่กรุงเทพฯ ปี 2541และดีกว่าสถิติกีฬาแห่งชาติ ของ “ยูเซนมิ้ว” จิระพงศ์ มีนาพระ  ที่ทำไว้ 10.31 วินาที ในกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 43 ที่ จ.นครราชสีมา เมื่อปี 2557 ด้วย

 ในการชิงชัยวิ่ง 200 ม.ชาย “ศรีสะเกษเกมส์” ก็ไม่มีปัญหาเมื่อ “เทพบิว” คว้าเหรียญทองด้วยเวลา 20.58  วินาที ทำลายสถิติประเทศไทย ของ เหรียญชัย สีหะวงษ์ คนเดิม ที่ทำเอาไว้ 20.69 วินาที ในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 20 ที่บรูไน เมื่อปี 2542 และทำลายสถิติกีฬาแห่งชาติ ที่ สิทธิชัย สุวรประทีป  ทำเอาไว้ 20.75  วินาที ในกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 35  ที่ จ.สุพรรณบุรี เมื่อปี 2549    

 ประเทศไทยรอคอย “มนุษย์เจ้าลมกรด” อย่างนี้มานานแล้ว และ “เทพบิว” ก็จุติมาบังเกิด

 “เทพบิว” ภูริพล บุญสอน ชอบเล่นฟุตบอลมาตั้งแต่เด็ก ๆ แต่พอได้สวมรองเท้าตะปู ก็วิ่งเร็วเหมือนลมพัด วิ่งให้คนอื่นตามหลังมาโดยตลอด โดยได้รับการสนับสนุนจากโรงเรียนอัสสัมชัญสมุทรปราการ และในที่สุดก็ได้เข้าสู่โครงการ "สปอร์ตฮีโร่" ของการกีฬาแห่งประเทศไทย (กทท.) เพื่อสร้างให้เป็นนักกีฬาทีมชาติ และเป็น “ฮีโร่” ไปให้ถึงระดับโอลิมปิกเกมส์  

 จากสนามในประเทศอย่างกีฬาแห่งชาติ “เทพบิว” กำลังจะไปสู่สนามใหญ่ในระดับอินเตอร์อย่างซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่เวียดนาม เจ้าตัวหวังเหรียญทองทุกประเภทที่ชิงชัย (100 ม.200ม.,4x100 ม.)  และยังมีโปรแกรมรออยู่อีกมาก ทั้งกรีฑาเยาวชนชิงแชมป์โลก 2022 ที่ โคลอมเบีย และกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่จีน แน่นอนว่า เจ้าตัวก็ห้าวพอที่จะขอลุ้นติดอันดับ 1-3 เพื่อคว้าเหรียญมาคล้องคอ

นอกเหนือจากความสำเร็จที่รอคอยอยู่นั้น สิ่งหนึ่งที่วงการกรีฑามองเห็นและต้องการทำให้เกิดขึ้น ก็คือ มนุษย์คนหนึ่งในอาเซียนจะสามารถสร้างสถิติการวิ่ง 100 ม.ได้ต่ำกว่า 10 วินาทีได้หรือไม่ เรื่องนี้ต้องนึกย้อนไปถึงตอนที่ประเทศไทยเริ่มเล่นกรีฑาอย่างถูกหลักใหม่ ๆ ในช่วงเกินครึ่งศตวรรษก่อน การที่จะมีชาวอาเซียนที่วิ่ง 100 ม.ทำสถิติต่ำว่า 11 วินาที กว่าจะทำได้ก็เป็นเรื่องสาหัสอย่างยิ่งแล้ว

เรื่องแบบนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย การทำสถิติวิ่ง 100 ม.ให้ต่ำลงเพียงแค่ 0.01 วินาทีนั้น นับเป็นเรื่องยากลำบาก ต้องใช้ความแข็งแกร่ง ทั้งร่างกายและจิตใจ รวมทั้งต้องมีวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาช่วยอย่างเต็มรูปแบบ

แต่ฟ้าส่ง “เทพบิว” ลงมาแล้ว แม้จะเป็นโจทย์ที่อาจจะอยู่อีกยาวไกล แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นนักวิ่งแล้ว ทุกคนย่อมอยากที่จะไปให้ถึง

สถิติวิ่ง 100 ม.อาเซียนนั้นเป็นของ อากุง วิโบโว ลมกรดหนุ่มจากอินโดนีเซีย ซึ่งทำเอาไว้ 10.17 วินาที ในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 25 ที่ สปป.ลาว เมื่อปี 2552 เมื่อมองจากตัวเลขแล้ว จะเห็นได้ว่า อาจไม่มีใครในอาเซียนที่จะสร้างสถิติวิ่ง 100 ม.ต่ำกว่า 10 วินาทีได้ ในรอบทศวรรษนี้ หรืออาจจะมากกว่านั้น

 หากแต่ในมหกรรมกีฬาใหญ่ ๆ อย่างโอลิมปิกเกมส์ เอเชียนเกมส์ และซีเกมส์ นั้น แฟน ๆ มักจะติดตามกีฬาที่เป็นไฮไลท์สำคัญ หนึ่งในนั้นคือ วิ่ง 100 ม.ชาย ซึ่งน่าลุ้นว่า ใครจะได้ตำแหน่ง “เจ้าลมกรด” แห่งอาเซียนไปครอง

 วิ่งเกิน 10 วินาทีคงไม่เป็นไร หาก “เทพบิว” จะคว้าเหรียญทองวิ่ง 100 ม.ชาย ขึ้นไป แล้วไปยืนบนบัลลังก์ “เจ้าลมกรด” ในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 บนแผ่นดินเวียดนาม

สุรจนา คำเบ้า (ยกน้ำหนัก)

กีฬายกน้ำหนัก ซึ่งเป็นกีฬาหลักสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยมาตลอด 20 กว่าปี ประสบปัญหาซวนเซไปพักหนึ่งเกี่ยวกับการใช้สารต้องห้าม จนต้องถูกแบนจากการแข่งขันระดับนานาชาติ แต่ดูเหมือนว่า “จอมพลังไทย” กำลังจะกลับมาแล้ว

การไม่มีนักกีฬายกน้ำหนักไทยในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่โตเกียว ทำให้จำนวนเหรียญรางวัลนั้นหดหายไป แต่ทีมจอมพลังไทยก็ยังคงก้มหน้าก้มตาฝึกซ้อมอย่างหนัก ที่แคมป์เก็บตัวนักกีฬายกน้ำหนักแห่งชาติ ภายในกองพันพัฒนาที่ 3 อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรอวันกลับมายิ่งใหญ่เหมือนเดิม

จนกระทั่งถึง การแข่งขันยกน้ำหนักชิงแชมป์โลก 2021 ที่กรุงทาชเคนต์ ประเทศอุซเบกิสถาน ทัพจอมพลังไทยพ้นโทษแบน ได้กลับเข้าร่วมการแข่งขันอีกครั้งและทำผลงานทะลุโลกเหมือนเดิม โดยจอมพลังสาว “ออย” สุรจนา คำเบ้า รุ่น 49 กก.หญิง  ที่คว้า 3 เหรียญทองมาครองได้สำเร็จ (สแนชท์ 86 กก., คลีนแอนด์เจิร์ก 105 กก.,น้ำหนักรวม 191 กก.) 

ทัพจอมพลังไทยกลับขึ้นมายืนเด่นอยู่บนเวทียกเหล็กโลกได้อีกครั้ง และพร้อมที่จะไล่ล่าความสำเร็จทุกรายการ  โดยในมหกรรมกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31  วันที่ 12-23 พฤษภาคม ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ได้ส่งจอมพลัง 14 คน ชิงชัย โดยทัพนักกีฬาหญิงที่มีทั้ง “แนน” ศานิกุณ ธนสาร (โสภิตา ธนสาร) เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 2016 ที่ประเทศบราซิล และ พิมศิริ ศิริแก้ว จอมพลังสาวดีกรี 2 เหรียญเงินโอลิมปิกเกมส์ “ลอนดอน 2012” และ “ริโอ 2016”

จะเห็นได้ว่า การกลับมาแข่งขันอีกครั้งทีมจอมพลังไทย “เอาตาย”  ไม่ว่าการแข่งขันรายการใดก็ตาม

สำหรับซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ก็มีชื่อของ “ออย” สุรจนา คำเบ้า ติดทีมชาติไทยไปเวียดนามด้วย เพื่อคว้าเหรียญทองรุ่น 49 กิโลกรัม หญิง แบบไม่ให้เสียดีกรีแชมป์โลก

สุรจนา คำเบ้า สร้างชื่อจาก การแข่งขันยกน้ำหนักชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ประจำปี 2562 ด้วยการคว้า 3 เหรียญทอง พร้อมกับทำลายสถิติเยาวชนเอเชียในท่าคลีนแอนด์เจิร์ค และสร้างสถิติโลกขึ้นมาใหม่อีกด้วย โดยท่าสแนตช์ ยกได้ 80 กก., คลีนแอนด์เจอร์ก 115  กก. น้ำหนักรวม 195 กก.โดยเฉพาะท่าคลีนแอนเจอร์ก สุรจนา สร้างสถิติเยาวชนเอเชียและสถิติเยาวชนโลกขึ้นมาใหม่ จากสถิติมาตรฐานที่สหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติตั้งมาตรฐานไว้ 114 กก.

“จอมพลังออย” ยังคว้าเหรียญทองแดง รุ่น 53 กก.หญิง ในกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 18 ที่อินโดนีเซีย เมื่อปี 2561 ดังนั้น ไม่น่ามีปัญหาอะไรหากซ้อมตามสถิติที่ทำได้ กับการคว้าเหรียญทองซีเกมส์ ครั้งแรกของเธอ นั่นจะทำให้ชื่อของ “ออย” สุรจนา คำเบ้า ติดแน่นอยู่ในหัวใจของแฟนกีฬาไทยมากยิ่งขึ้น

และรอให้เธอเดินไปสู่การคว้าเหรียญโอลิมปิกเกมส์ในอนาคต

พลอยลภัส ชัยประสิทธิ์ (เทควันโด)

 “พลอย” พลอยลภัส ชัยประสิทธิ์ นักเทควันโดหญิงทีมชาติไทย เริ่มเล่นกีฬาเทควันโดตั้งแต่อายุ 5 ขวบ เธอเตะคนเก่งเกินวัย คว้าเหรียญทองในการแข่งขันระดับยุวชน - เยาวชน ชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย, "กีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 44  "นครสวรรค์เกมส์ , "กีฬานักเรียน นักศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 37 “นครศรีธรรมราชเกมส์", กีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 32 "สุพรรณบุรีเกมส์"

เป้าหมายของ “พลอย” คือ อยากเก่งในระดับโลกอย่าง “พี่เทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ หนึ่งเดียวที่เป็นนักกีฬาเทควันโดในดวงใจ

พลอยลภัส ชัยประสิทธิ์ ไต่ระดับขึ้นมาติดทีมชาติไทยไปแข่งขัน เทควันโดยุวชนชิงแชมป์โลก รายการ "The 2nd WTF World Cadet Taekwondo Championships" ที่เมืองมูจู ประเทศเกาหลีใต้ ในปี 2558 และสร้างประวัติศาสตร์แรกให้กับวงการเทควันโดไทย ด้วยการเป็นแชมป์เทควันโดยุวชนโลกคนแรกของไทย ในรุ่นไม่เกิน 41 กก.หญิง  พร้อมกับรางวัลนักกีฬายอดเยี่ยมหญิงประจำการแข่งขัน ซึ่งครั้งนั้นสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย เพิ่งส่งนักเทควันโดยุวชนไปชิงชัยเป็นครั้งแรก ทำให้ได้รู้ว่า จอมเตะดาวรุ่งของไทยมีหลายคนที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะ พลอยลภัส ชัยประทธิ์ ที่คว้ารางวัลนักกีฬายอดเยี่ยม กลายเป็นดาวดวงใหม่แห่งอนาคตเทควันโดไทย

จากความสำเร็จตั้งแต่เป็นเด็กหญิง ทำให้ “พลอย” เดินหน้าต่อด้วยการไปคว้าด้วยเหรียญทอง ศึกเทควันโดเยาวชนชิงแชมป์เอเชีย ที่คาซัคสถาน ปี 2560 ตอกย้ำความมั่นใจว่า เธอจะก้าวขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในทีมชาติชุดใหญ่แน่นอน จากการรันตีของ เช ยอง ซอค ยอดโค้ชเลือดโสม ที่กลายเป็นคนไทยไปแล้ว

“โค้ชเช” ที่สร้างนักกีฬาเทควันโดไทย คว้าเหรียญโอลิมปิกเกมส์ครบทุกสี มองเห็นความเก่งกาจของ พลอยลภัส ยิ่งไปกว่านั้น “โค้ชเช” คือ ผู้สร้างความเชื่อมั่นให้แก่จอมเตะสาวไทย ในช่วงรอยต่อระหว่างการเป็นนักกีฬารุ่นเล็ก ขึ้นมาสู่ทีมชาติชุดใหญ่ ทำให้ “พลอย” เห็นเรื่องการเตะหัวคนบนเวทีเทควันโดเป็นเรื่องธรรมดา อยากทำเมื่อไหร่ก็ทำได้ดังใจ

 ในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่เวียดนาม  “พลอย” พลอยลภัส ชัยประสิทธิ์ ก็ติดทีมชาติไทยพร้อมกับ พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ไอดอลของเธอ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย มั่นใจในตัวนักกีฬาทุกคน เพราะเป้าหมายใน “ฮานอยเกมส์” คือการคว้าเหรียญทองให้ได้มากที่สุด หลังจากที่สมาคมฯทำได้ถึง 7 เหรียญทองในซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ที่ฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2562

 แฟนกีฬาเทควันโด มั่นใจว่า พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ที่จะลงชิงชัยในรุ่น 49 ก.ก.ตามถนัดอยู่แล้ว นั่นจะทำให้  “เทนนิส” คว้าเหรียญทองซีเกมส์ ได้แบบแบเบอร์ พร้อมทั้งเป็นโฟกัสสำคัญของทัพนักกีฬาเทควันโดไทย ในฐานะที่เป็นจอมเตะหมายเลข 1 ของโลก

 ในขณะเดียวกัน ซีเกมส์ ครั้งที่ 31 จอมเตะสาวที่ชื่อ “พลอย” พลอยลภัส ชัยประสิทธิ์ ก็จะคว้าเหรียญทองรุ่นน้ำหนักไม่เกิน 53 ก.ก. ตามไอดอลของเธอได้ด้วย

 ยิ่งไปกว่านั้น “พลอย” อาจจะเดินตามรอยไอดอลแบบทุกกระเบียดนิ้ว ด้วยการเป็นจอมเตะหมายเลข 1 ของโลกคนต่อไป

พิชฌามลณ์ โอภาสนิพัทธ์ (แบดมินตัน)

สาวน้อยอายุแค่ 3 ขวบ ส่วนสูงพอ ๆ กับไม้แบดมินตันที่อยู่ในมือ วิ่งไล่ตีลูกขนไก่ กับ พ่อ ที่สโมสร แบดมินตันไทยสไมล์ เชียงใหม่ ตีถูกบ้าง ผิดบ้าง ช่างน่ารักน่าเอ็นดูเสียจริง

จากลูกน้อยที่ตามคุณพ่อเข้าไปอยู่ในสนามกีฬา “น้องพิ้งค์” พิชฌามลณ์ โอภาสนิพัทธ์ ฉายแววเปล่งประกาย สวมชุดนักกีฬาแบดมินตันลงแข่งขันอย่างเป็นทางการ ด้วยตั้งใจตีแบบสนุก  ๆ แค่นั้น แพ้ชนะว่ากันทีหลัง แต่สามารถคว้าแชมป์ได้ตั้งแต่อายุไม่ถึง 10 ขวบ และเก่งกาจขนาด “ตีข้ามรุ่น” เอาชนะพี่ ๆ จนในจังหวัดไม่มีใครสู้ ต้องเข้ามาล่าแชมป์ต่อในกรุงเทพฯ ทำให้ผู้คนกล่าวถึงเด็กผู้หญิงหน้าหวานคนนี้มากขึ้น ๆ

ในเกมระดับนานาชาติ รายการแรกในชีวิต “จายา รายา จูเนียร์ กรังด์ปรีซ์ 2019” รุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี ที่ประเทศอินโดนีเซีย “น้องพิ้งค์” คว้าแชมป์มาครองทั้งที่อายุแค่ 12 ปี จากนั้นในปีต่อมา “น้องพิ้งค์” ก็มีชื่อติดชุดเยาวชนทีมชาติไทย ในศึกแบดมินตันเยาวชนชิงแชมป์โลก 2020 ตามรอย “พี่เมย์” รัชนก อินทนนท์ ไอดอลของเธอ

“น้องพิ้งค์” ได้ก้าวเข้าสู่เวทีแบดมินตันแบบ “โอเพ่น” แบบที่อายุไม่มีข้อจำกัดอีกต่อไป เมื่อสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ ประกาศรายการชื่อนักแบดมินตันหญิง 10 คน เพื่อไปแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่เวียดนาม แสงสปอร์ตไลท์ ยิ่งจับจ้องไปที่ “น้องพิ้งค์” เพราะทีมนักหวดสาวชุดนี้ไม่มี รัชนก อินทนนท์, บุศนันท์ อึ๊งบำรุงพันธ์, ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย หรือ ณิชชาอร จินดาพล แต่มีความต้องการที่จะคว้าเหรียญทอง เนื่องจากประเภททีมหญิงสาวไทยครองความยิ่งใหญ่มานานนับทศวรรษ

ชื่อของ พิชฌามลณ์ โอภาสนิพัทธ์ ในวัย 15 ปี พร้อมด้วยนักหวดหน้าใหม่อีกหลายคน จึงถูกตั้งความหวังไว้สูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ความกดดันที่น่าจะเป็นอุปสรรค แต่ “น้องพิ้งค์” กลับจัดการมันด้วยความคิดง่าย ๆ

“เล่นกับคนที่อายุมากกว่า หรือเก่งกว่า ไม่มีค่อยมีความกดดันค่ะ แพ้ก็เสมอตัว ถ้าชนะก็จะทำให้เราดียิ่งขึ้นไปอีก”

 “ทุกครั้งที่แพ้ หนูก็กลับมาซ้อมให้หนักกว่าเดิม เพื่อที่จะกลับไปเอาชนะให้ได้”

 เคล็ด (ไม่) ลับแบบนี้เอง “น้องพิ้งค์” พิชฌามลณ์ โอภาสนิพัทธ์ เป็น “แชมเปี้ยน” ที่อยู่เหนือเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันตั้งแต่ยังเป็นเด็กหญิง ด้วยระเบียบวินัย ที่ใช้ต่อสู้กับการฝึกซ้อมที่โหดแสนโหด ทำให้เธอก้าวข้ามผ่านความเหนื่อยยากท้อแท้ เข้าสู่โลกแห่งกีฬาตีลูกขนไก่ระดับอินเตอร์ โดยมีเป้าหมายคือ โอลิมปิกเกมส์ และการเป็นเบอร์ 1 ของโลก

 ผลงานในซีเกมส์ เป็นหนึ่งในบทพิสูจน์สำคัญ เป็นโอกาสอันดีที่จะได้แสดงศักยภาพที่แท้จริง เหรียญทอง ชัยชนะ หรือแม้แต่ความพ่ายแพ้ จะผลักดันให้ “น้องพิ้งค์” เป็นที่จดจำในฐานะนักแบดมินตันแห่งอนาคตของทีมชาติไทย 

 ฉายา “นักตบหน้าหวาน”, “นักแบดหน้าหวาน” หรือ  “นางฟ้าแบดมินตัน” ก็คือเธอคนนี้ “น้องพิ้งค์” พิชฌามลณ์ โอภาสนิพัทธ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook