วิ่งผ่านไมล์สุสาน : เหตุใด บอสตัน มาราธอน จึงเป็นมาราธอนที่ยากที่สุดในโลก

วิ่งผ่านไมล์สุสาน : เหตุใด บอสตัน มาราธอน จึงเป็นมาราธอนที่ยากที่สุดในโลก

วิ่งผ่านไมล์สุสาน : เหตุใด บอสตัน มาราธอน จึงเป็นมาราธอนที่ยากที่สุดในโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การวิ่งมาราธอนถือเป็นกิจกรรมที่ผู้คนทั่วโลกให้ความนิยมในช่วงหลายปีหลัง แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้หลายงานวิ่งต้องยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงไปตามสมควร

หนึ่งรายการวิ่งมาราธอนชื่อดังที่กลับมาตามธรรมเนียมอีกครั้งคือ บอสตัน มาราธอน งานวิ่งที่กล่าวกันว่าโหดหินที่สุดในโลกตั้งแต่ก่อนและหลังสมัคร ซึ่งกลับมาจัดในวัน Patriots' Day เพื่อรำลึกวาระครบรอบการรบในสมรภูมิเล็กซิงตัน, คอนคอร์ด และ เมโนโตมี่ ซึ่งเป็นสมรภูมิแรกสุดแห่งสงครามปลดแอกสหรัฐอเมริกาของทุกปีอีกครั้งหลังปีก่อนเลื่อนไปจัดในช่วงปลายปี

Main Stand ขอใช้โอกาสนี้พาคุณมารู้จักกับ บอสตัน มาราธอน ถึงสาเหตุที่มันกลายเป็นงานมาราธอนที่ยากที่สุดในโลก ทั้งจากการเป็นมาราธอนเมเจอร์งานเดียวที่มีระบบคัดเลือกเข้มงวด และเส้นทางปราบเซียน อันประกอบด้วย เนินขาดใจ และ ไมล์สุสาน

การแข่งขันที่เก่าแก่และโหดหินที่สุด

บอสตัน มาราธอน เป็นรายการแข่งขันกีฬาที่มีความสำคัญมากที่สุดในประวัติศาสตร์รายการหนึ่ง เนื่องจาก บอสตัน มาราธอน ถือเป็นการแข่งขันมาราธอนประจำปีที่เก่าแก่ที่สุดในโลก โดยเริ่มจัดการแข่งขันครั้งแรกเมื่อปี 1897 หรือ 125 ปีก่อน โดยได้แรงบันดาลใจในการจัดการแข่งขันมาจากความสำเร็จของกีฬาวิ่งมาราธอนในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 1896 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ

และเนื่องจากมองมาตรฐานของโอลิมปิก เกมส์ เป็นต้นแบบ บอสตัน มาราธอน จึงเป็นการแข่งขันที่มีมาตรฐานสูงส่งมาตั้งแต่ต้น โดยในระยะแรก บอสตัน มาราธอน มีระยะทาง 24.5 ไมล์ หรือเกือบ 40 กิโลเมตร ก่อนที่ภายหลังจะมีการปรับระยะทางเป็น 26.385 ไมล์ หรือ 42.195 กิโลเมตร ในปี 1924 ตามมาตรฐานโอลิมปิกที่เปลี่ยนแปลงในปีเดียวกัน

การแข่งขันระยะทาง 42.195 กิโลเมตรที่ตัดผ่านเมืองบอสตันจึงไม่ใช่แค่งานวิ่งมาราธอนประจำปีที่เก่าแก่ที่สุดในโลกแต่ยังเป็นการแข่งขันวิ่งมาราธอนที่ "ยาก" ที่สุดในโลกอีกด้วย เพราะแค่วัดระยะทางที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อนักกีฬาโอลิมปิกโดยเฉพาะ เท่านี้สามารถบอกได้แล้วว่า บอสตัน มาราธอน คือการแข่งขันที่ถูกเตรียมไว้เพื่อนักวิ่งมืออาชีพเท่านั้น ถึงแม้ทุกวันนี้จะมีนักวิ่งสมัครเล่นมากมายพิชิตหลักไมล์สุดหินนี้ได้ก็ตาม

 

ความโหดหินของ บอสตัน มาราธอน ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงระยะทางมาตรฐานโอลิมปิก แต่ยังบวกด้วยเรื่องของเส้นทางที่แตกต่างออกไปจากการแข่งขันรายการอื่นโดยสิ้นเชิง จนทำให้ บอสตัน มาราธอน เป็นรายการแข่งขันที่ถูกยกเว้นในการทำเวลาสถิติโลก กล่าวคือหากคุณวิ่งในบอสตัน มาราธอน ด้วยเวลาที่น้อยกว่าสถิติเดิมทั้งหมดในการแข่งขันระยะทาง 42.195 กิโลเมตร ผลงานของคุณจะไม่ถูกบันทึกลงกินเนสส์ บุ๊ก หรอกนะ

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ? นั่นเพราะ บอสตัน มาราธอน ละเมิดกฎสองข้อที่ถูกบันทึกไว้โดยองค์กรกรีฑาโลก หรือ World Athletics ข้อแรกคือเรื่องการลดระดับความสูงเหนือน้ำทะเลของเส้นทาง (Decrease elevation) ที่มากกว่าหนึ่งเมตรต่อระยะทางหนึ่งกิโลเมตร โดยบอสตันมาราธอนลดระดับลงจากจุดสตาร์ทถึง 140 เมตร แต่เส้นทางมีระยะเพียง 42.195 กิโลเมตร 

ข้อสองคือระยะทาง 42.195 กิโลเมตรที่กล่าวถึงยังเป็นเส้นตรงดิ่ง ส่งผลให้จุดเริ่มต้นและจุดเส้นชัยอยู่ห่างกันเกินไป ซึ่งเอื้อให้เกิดลมส่งท้ายที่จะช่วยในการวิ่ง จนไม่สามารถวัดเวลาสถิติโลกตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ได้

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ บอสตัน มาราธอน อาจถูกเรียกได้ว่าเป็นการแข่งขันวิ่งมาราธอนที่พิเศษที่สุดในโลก และด้วยความพิเศษนี้เองส่งผลให้นักวิ่งจากทั่วโลกต้องการจะมาลงแข่งขันในรายการนี้ให้ได้สักครั้ง โดยไม่สนถึงระยะทางอันโหดหินและสภาพเส้นทางที่ไม่เหมือนรายการอื่นทั่วไป

 

บอสตัน มาราธอน จึงเป็นการแข่งขันมาราธอนรายการเดียวจาก 6 รายการระดับเมเจอร์ของโลก (บอสตัน, ลอนดอน, เบอร์ลิน, ชิคาโก, นิวยอร์ก และ โตเกียว) ที่มีการคัดเลือกผู้เข้าแข่งขัน ไม่เช่นนั้นละก็ จะต้องมีข่าวคนช็อกหมดสติกลางการแข่งขันเป็นแน่

เวทีสำหรับเซียนมาราธอนและคนใจบุญ

กล่าวตามตรง บอสตัน มาราธอน ควรจะเป็นการแข่งขันมาราธอนที่ได้รับความสนใจน้อยที่สุด เพราะนอกจากระยะทางที่ยาวและโหดหินเกินไปสำหรับสภาพร่างกายของใครหลายคนแล้ว การแข่งขันรายการนี้ยังไม่เกี่ยวข้องกับการบันทึกเวลาสถิติโลก นอกจากนี้ยังมีการคัดเลือกวุ่นวายเต็มไปหมด แถมยังจำกัดจำนวนผู้เข้าแข่งขันในแต่ละปีแค่ 30,000 คน

แต่อย่างที่รู้กันดีว่าคนเรายิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ บอสตัน มาราธอน กลับกลายเป็นรายการที่ได้รับความนิยมมากขึ้นทุกวัน เนื่องจากชื่อเสียงในความโหดหินของการแข่งขัน และการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของรายการที่ยากสุด ๆ ทำให้มีนักวิ่งหลายคนเลือก บอสตัน มาราธอน เป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต (บางคนก็ใช้ที่นี่เป็นเป้าหมายสุดท้ายในการพิชิต 6 รายการระดับเมเจอร์ให้ได้ทั้งหมด เพื่อเหรียญ Six Star Finisher หรือที่เหล่าสายวิ่งตั้งชื่อเล่นให้ว่า เหรียญพอนเดอริง) เรียกว่าขอแค่ได้ร่วมเข้าแข่งขันสักครั้ง ต่อให้จบอันดับสุดท้ายของงานก็ถือว่าประสบความสำเร็จ

 

แล้วถ้าอยากแข่งขันใน บอสตัน มาราธอน ต้องทำอย่างไรบ้าง ? เริ่มต้นเลยคือต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 18 ปี จากนั้นจะเข้าสู่การประเมินเพื่อให้ผ่านมาตรฐานที่รายการกำหนดไว้ ซึ่งจะแตกต่างออกไปตามแต่ละช่วงอายุและเพศ โดยเกณฑ์ที่กำหนดไว้จะถือเป็นการประเมินความพร้อมของนักวิ่ง รวมถึงศักยภาพและความสามารถที่เพียงพอที่จะเข้าแข่งขันในรายการนี้ได้

นักวิ่งที่มีสิทธิ์เข้าร่วมงาน บอสตัน มาราธอน จะต้องเคยเข้าแข่งขันและสามารถจบการวิ่งมาราธอนระยะทาง 42.195 กิโลเมตรหรือระยะทางมาตรฐานมาแล้ว โดยรายการที่นักวิ่งจะนำมาอ้างอิงสำหรับบอสตัน มาราธอน ต้องเป็นรายการที่ได้การรับรองจากองค์กรกรีฑาประจำชาติและองค์กรกรีฑาโลก นอกจากนี้ ผลงานที่นำมาอ้างอิงต้องเป็นรายการที่จัดขึ้นก่อนการแข่งขันบอสตัน มาราธอน ในระยะเวลาที่กำหนด (ส่วนใหญ่คือ 18 เดือนก่อนการแข่งขัน)

แต่ใช่ว่าเคยลงแข่งขันวิ่งมาราธอนแล้วจะได้ตั๋วไปแข่ง บอสตัน มาราธอน ในทันที เพราะถ้าทำเวลาไม่ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ก็หมดสิทธิ์เหมือนกัน ซึ่งเกณฑ์ที่กำหนดไว้จะต่างไปตามเพศและอายุ โดยเกณฑ์ที่กำหนดเวลาต่ำที่สุดคืออายุ 18 ถึง 34 ปี เพศชายคือ 3 ชั่วโมง 5 นาที ส่วนผู้หญิงคือ 3 ชั่วโมง 35 นาที

 

เท่านี้ยังไม่จบเพราะเนื่องจากการกำหนดโควตานักวิ่งในแต่ละปีไว้เพียง 30,000 คน ส่งผลให้นักวิ่งที่ผ่านเกณฑ์เบื้องต้นย่อมมีมากกว่าโควตาจริงเสมอ แต่ละปีจึงต้องมีการกำหนดเกณฑ์เวลาที่ต่ำลงไปกว่าเกณฑ์เบื้องต้นอีก ยกตัวอย่างปี 2018 ที่กำหนดให้ผู้ทำเวลาได้เร็วกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 3 นาที 25 วินาที ผ่านเข้าสู่บอสตัน มาราธอน โดยอัตโนมัติ ซึ่งแต่ละปีเวลาจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่ผู้จัดสามารถตัดผู้เข้าแข่งขันได้ลงตัว

การคัดเลือกด้วยเกณฑ์เวลาที่เข้มข้นนี้ส่งผลให้นักวิ่งหลายรายจากทั่วโลกต้องอกหักไปตาม ๆ กัน แต่ใช่ว่าพวกเขาจะหมดสิทธิ์เสียทีเดียว เพราะในแต่ละปี บอสตัน มาราธอน จะแบ่งโควตาราวหนึ่งในห้าของผู้เข้าแข่งขันทั้งหมดหรือราว 6,000 คน ให้กับผู้เข้าแข่งขันส่วนอื่นที่ไม่ได้ผ่านการคัดเลือกตามปกติ

ผู้ได้รับสิทธิ์เข้าแข่งขัน บอสตัน มาราธอน แบบพิเศษ ประกอบไปด้วย ผู้เข้าแข่งขันเพื่อการกุศล, สมาชิกสมาคมกีฬาบอสตัน, โควตาสปอนเซอร์สนับสนุนการแข่งขัน, ที่ปรึกษาการแข่งขัน, ผู้ได้รับใบอนุญาตต่าง ๆ, ชมรมนักวิ่งท้องถิ่น และฝ่ายการตลาด โดยบุคคลที่ได้รับสิทธิ์ในส่วนนี้จะถูกยกเว้นเรื่องเกณฑ์เวลา

อย่างไรก็ตามผู้เข้าแข่งขันแบบพิเศษจะต้องรับรองได้ว่าสามารถวิ่ง บอสตัน มาราธอน จบภายใน 6 ชั่วโมง ตามแผนงานวิ่งเพื่อการกุศล นอกจากนี้นักวิ่งการกุศลจะต้องรวบรวมเงินให้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำที่ได้กำหนดไว้ และจำเป็นต้องเข้าสู่โปรแกรมฝึกฝนวิ่งมาราธอนเป็นระยะเวลาหนึ่งเดือน

 

ทั้งนี้กิจกรรมวิ่งการกุศลในบอสตัน มาราธอน ถือเป็นกิจกรรมที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยในปี 2010 มีผู้เข้าร่วมวิ่งในโปรแกรมนี้ถึง 2,150 คน จนสามารถรวบรวมเงินได้มากถึง 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว

เปิดทุกอุปสรรคแห่งสนามบอสตัน 

การผ่านเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ บอสตัน มาราธอน ก็โหดหินมากแล้ว แต่นั่นเทียบไม่ได้เลยกับเส้นทางตลอด 42.195 กิโลเมตรของการแข่งขัน เพราะ บอสตัน มาราธอน มีอุปสรรคมากมายที่จะทำให้ผู้เข้าแข่งขันทุกคนไม่สามารถก้าวถึงเส้นชัยได้ตามเป้าหมาย

อุปสรรคแรกเกิดขึ้นตั้งแต่ยังไม่ทันออกตัว เนื่องจาก บอสตัน มาราธอน ซึ่งจัดในวัน Patriots' Day หรือวันจันทร์ที่ 3 ของเดือนเมษายน จะออกสตาร์ทในช่วง 10 โมง ถึง 11 โมง 15 นาที นั่นจึงทำให้นักวิ่งส่วนใหญ่ที่เคยชินกับการออกวิ่งในช่วงเช้าเริ่มจะเหนื่อยล้ากันแล้ว นี่ยังรวมไม่ถึงสภาพอากาศที่คาดเดาไม่ได้ เพราะบางปีนักวิ่งต้องลงแข่งขันท่ามกลางอุณหภูมิกว่า 30 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ในปี 2012 มีนักแข่งมากกว่าสองพันคนต้องเข้ารับการปฐมพยาบาลเนื่องจากความร้อนในร่างกายที่สูงเกินไป

ยังไม่จบเพียงแค่นี้ บางปีผู้เข้าแข่งขัน บอสตัน มาราธอน ต้องเจอลมแรงพัดเข้าใส่ โดยเมืองบอสตันถือเป็นเมืองใหญ่ที่ลมแรงมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา บางครั้งลมจะนำไปสู่อุณหภูมิหลักติดลบ ยิ่งไปกว่านั้น ลมที่พัดเข้ามาปะทะด้านหน้าของนักวิ่งตลอดทั้งทางส่งผลให้พวกเขาจำเป็นต้องออกแรงมากขึ้น ซึ่งนำมาสู่การสูญเสียพลังงานที่เร็วขึ้นกว่าเดิม แม้บางครั้งลมหันมาเป็นมิตรช่วยส่งท้ายหนุนให้เหล่าปอดเหล็กวิ่งได้ไวขึ้นก็ตาม

แต่อุปสรรคเรื่องลมและสภาพอากาศเทียบไม่ได้เลยกับ ทางลาดชัน ที่ผู้เข้าแข่งขันบอสตัน มาราธอน ทุกคนต้องเจอ เพราะแค่เพียงระยะทางไมล์แรก ผู้เข้าแข่งขันจะต้องวิ่งลงเนินต่ำลง 40 เมตร ซึ่งหลายคนเลือกใช้โอกาสนี้เพิ่มความเร็วเพื่อจะเร่งแซงคนอื่นไปไกล โดยไม่รู้เลยว่านี่เป็นกับดักชั้นดีที่จะทำให้นักวิ่งเหล่านี้หมดแรงในช่วงครึ่งหลัง

หลังจากนั้นผู้เข้าแข่งขันจะวิ่งผ่านเนินเป็นระยะ ก่อนจะผ่านจุดครึ่งทางที่มหาวิทยาลัยเวลส์ลีย์ โดยในบริเวณนั้นมีจุดที่เรียกว่า "อุโมงค์กรีดร้องเวลส์ลีย์" (Wellesley Scream Tunnel) นั่นคือจุดที่บรรดานักศึกษาสาวจะมารวมตัวกันส่งเสียงเชียร์ให้กับนักวิ่ง บางคนถึงกับยื่นหน้าเข้าไปจูบกับบรรดานักวิ่งด้วย

ความท้าทายสำคัญของนักวิ่งในบอสตัน มาราธอน จะมาถึงในช่วงระยะไมล์ที่ 16-21 ในโซนที่มีชื่อว่า The Newtown Hills ซึ่งจะเป็นจุดที่บรรดานักวิ่งที่เร่งเครื่องตอนแรกต้องพ่ายแพ้กันไปมากที่สุด เพราะส่วนนี้นักวิ่งต้องขึ้นลงเนิน 4 เนินติดต่อกัน นี่คือจุดที่นักวิ่งต้องใช้พละกำลังมากที่สุด และถ้าคุณเผลอใช้มันไปเยอะแล้วในช่วงต้นเรซละก็ไม่มีทางเลยที่คุณจะข้ามผ่านเนินทั้งสี่ได้

เนินที่มีชื่อเสียงมากที่สุดตั้งอยู่ในบริเวณไมล์ที่ 20 คือ "เนินขาดใจ" (Heartbreak Hill) ซึ่งถือเป็นเนินสุดท้ายในกลุ่ม The Newtown Hills ที่มีความชันมาก จึงเป็นจุดที่ทำให้นักวิ่งที่ผ่านเนินมาแล้วสามลูก ไม่เหลือกำลังขามากพอที่จะผ่านเนินยกระดับ 24 เมตรนี้ไปได้ มันไม่ต่างอะไรกับการวิ่งเข้าหากำแพง นั่นคือไม่มีทางที่พวกเขาจะข้ามผ่านเนินลูกนี้ไปได้เลย

แต่ถ้าคุณผ่านเนินขาดใจมาได้แล้วคิดว่าทุกอย่างจะจบ เรื่องราวกลับไม่ใช่แบบนั้น เพราะจากยอดของเนินลงมาสู่พื้นในระดับทางปกติมีความลาดเอียงสูงมากส่งผลให้นักวิ่งเผลอใช้กำลังทั้งหมดไปกับการเร่งความเร็ว โดยลืมไปว่าพวกเขายังอยู่แค่ระยะไมล์ที่ 21 นั่นจึงทำให้พวกเขาต้องใช้กำลังที่เหลืออยู่น้อยนิดประคองตัวเองสู่เส้นชัย ซึ่งอยู่ไกลไปอีก 5 ไมล์ หรือ 8 กิโลเมตร

เส้นทางระยะสุดท้ายถูกเรียกว่า "ไมล์สุสาน" (Cemetery Mile) หรือ "ไมล์ผีสิง" (Haunted Mile) เนื่องจากบริเวณด้านซ้ายของทางวิ่งช่วงไมล์ที่ 22 และ 23 จะเป็นสุสาน แต่สุสานที่แท้จริงกลับเกิดขึ้นบนถนน เพราะนักวิ่งจำนวนมากไม่สามารถก้าวต่อไปได้อีกแล้ว ขาของพวกเขาแข็งทื่อราวกับมีผีเข้ามาสิงไว้

นักวิ่งที่ผ่านทุกอุปสรรคไปได้จะเข้าเส้นชัยของบอสตัน มาราธอน โดยผู้ทำสถิติวิ่งในบอสตัน มาราธอน ด้วยระยะเวลาน้อยที่สุดคือ เจฟเฟรย์ มูไท (Geoffrey Mutai) นักวิ่งชาวเคนยา ที่ทำไว้เมื่อปี 2011 กับเวลา 2 ชั่วโมง 3 นาที 2 วินาที ซึ่ง ณ ตอนนั้นถือว่าเร็วที่สุดในโลก เร็วกว่าสถิติโลกของ ไฮเล่ เกเบอร์เซลาสซี่ (Haile Gebrselassie) ตำนานปอดเหล็กชาวเอธิโอเปียที่ทำไว้ใน เบอร์ลิน มาราธอน 2008 กับเวลา 2 ชั่วโมง 3 นาที 59 วินาที เสียอีก แต่ด้วยเหตุผลที่เรากล่าวไปข้างต้น เวลานี้จึงไม่ได้รับการบันทึกให้เป็นสถิติโลก

อย่างไรก็ดีนักวิ่งทุกคนที่สามารถจบการแข่งขันภายในเวลาหกชั่วโมงต่างมีความรู้สึกราวกับเป็นผู้ชนะ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ได้ก้าวข้ามกำแพงอันน่าเหลือเชื่อในใจของตนเอง

ความสำเร็จของแต่ละคนใน บอสตัน มาราธอน ไม่ได้พึ่งพาโชคเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยสภาพร่างกายที่มีความพร้อม การวางแผนการวิ่งที่ดี และศึกษาสภาพเส้นทางมาอย่างดีเยี่ยม จากเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมา บอสตัน มาราธอน จึงถือเป็นการแข่งขันมาราธอนที่ยากที่สุดในโลกด้วยประการฉะนี้

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook