จามาร์คัส รัสเซลล์ : ดราฟต์อันดับ 1 สุดล้มเหลวที่เปลี่ยน NFL ไปตลอดกาล
หากพูดถึงหนึ่งในอีเวนต์กีฬาที่ได้รับการจับตามองในทุกปีโดยเฉพาะที่ประเทศสหรัฐอเมริกา นั่นคือการดราฟต์ผู้เล่นหน้าใหม่ของ NFL อันเป็นช่วงเวลาที่แฟนอเมริกันฟุตบอลจะติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอีเวนต์นี้สามารถชี้ชะตาอนาคตของแต่ล่ะทีมได้ว่าจะผงาดเป็นทีมลุ้นแชมป์หรือกลายเป็นดาวดับที่ไร้ความหวัง
ในการดราฟต์ทุกปีคงไม่มีผู้เล่นคนไหนที่จะได้รับการคาดหวังมากไปกว่าผู้เล่นที่ถูกดราฟต์เป็นคนแรก เพราะนอกจากจะหมายความว่าถูกมองในฐานะผู้เล่นที่ดีที่สุดของแต่ละปีแล้ว หลายคนยังสามารถพลิกชะตาของทีมได้จริง ไม่ว่าจะเป็น จอห์น เอลเวย์, ทรอย เอ็คแมน, เพย์ตัน แมนนิ่ง หรือ โจ เบอร์โรว์
แต่ก็มีผู้เล่นดราฟต์อันดับ 1 หลายคนที่มีผลงานล้มเหลวไม่สมกับราคาที่ถูกคาดหวังไว้ และไม่มีใครล้มเหลวไปมากกว่า จามาร์คัส รัสเซลล์ ดราฟต์อันดับ 1 ของ NFL ในปี 2007 ที่พังไม่เป็นท่า จน NFL ต้องแก้กฎบางอย่างจากความพินาศของผู้เล่นรายนี้
นี่คือเรื่องราวของควอเตอร์แบ็กที่ถูกคาดการณ์ว่า มีความสามารถในระดับ MVP แต่กลับจบลงในฐานะหนึ่งในผู้เล่นที่ล้มเหลวที่สุดในประวัติศาสตร์ของ NFL
ยอดควอเตอร์แบ็กอนาคตไกล
จามาร์คัส รัสเซลล์ คือเด็กหนุ่มผิวดำชาวสหรัฐอเมริกา จากรัฐอลาบามา ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มาพร้อมกับพรสวรรค์ทางด้านร่างกายตั้งแต่วัยเยาว์ ด้วยรูปร่างสูงใหญ่กว่านักกีฬาปกติ ทำให้โอกาสในการเล่นกีฬายอดนิยมของประเทศอย่างอเมริกันฟุตบอลได้เข้ามาหาเขา และรัสเซลล์ก็เลือกเล่นในตำแหน่งที่สำคัญที่สุดอย่าง ควอเตอร์แบ็ก
ด้วยอายุเพียงแค่ 17 ปี รัสเซลล์สูงถึง 190 เซนติเมตร ที่ทำให้เขาได้เปรียบอย่างมากในการเล่นอเมริกันฟุตบอล ในฐานะควอเตอร์แบ็กความสูงของเขาทำให้การขว้างบอลเป็นไปอย่างยอดเยี่ยม ทั้งในเรื่องของพลังแขนที่เกินอายุ ไหนจะความสูงที่ช่วยให้เขาส่งบอลไปได้ไกลกว่าผู้เล่นรุ่นอายุเดียวกันทั่วไป
ด้วยผลงาน 62 ทัชดาวน์จากการขว้างในระดับมัธยมปลาย ทำให้ จามาร์คัส รัสเซลล์ ได้รับเกรด 5 ดาวจากการประเมินผู้เล่นในระดับมัธยมของสหรัฐฯ และด้วยความคาดหวังที่สูงทำให้รัสเซลล์ได้รับทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชื่อดังด้านอเมริกันฟุตบอล อย่าง Louisiana State University หรือ LSU
ในตอนแรกรัสเซลล์ไม่ได้มีช่วงเวลาที่ดีนักกับการเล่นอเมริกันฟุตบอลในระดับมหาวิทยาลัย เพราะในปีแรกเขาต้องนั่งเป็นแค่ตัวสำรองของทีม และแม้จะทำได้ 9 ทัชดาวน์จากการเล่น แต่ก็มีเปอร์เซ็นต์การขว้างบอลที่แม่นยำเพียง 50.7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งไม่ใช่สถิติที่ดีนักสำหรับผู้เล่นตำแหน่งควอเตอร์แบ็ก
อย่างไรก็ตามในการเรียนมหาวิทยาลัยปีที่ 2 จามาร์คัส รัสเซลล์ ได้รับโอกาสให้ขึ้นเป็นจอมทัพตัวจริงของ LSU และเขาแสดงพัฒนาการที่ชัดเจนกับเปอร์เซ็นต์ความแม่นยำในการขว้างบอลที่เพิ่มเป็น 60.5 เปอร์เซ็นต์ ก่อนที่รัสเซลล์จะมาแจ้งเกิดสุด ๆ ในช่วงชั้นปีที่ 3 กับการทำ 28 ทัชดาวน์ พร้อมกับคว้ารางวัล Manning Award ประจำปี 2006 ที่จะมอบให้กับควอเตอร์แบ็กในระดับมหาวิทยาลัยที่มีผลงานที่โดดเด่นที่สุดประจำปี
ผลงานในการเล่นของรัสเซลล์ถือว่าไม่ธรรมดา แต่ที่วงการอเมริกันฟุตบอลตื่นเต้นกับควอเตอร์แบ็กรายนี้มากกว่าคือคุณสมบัติของการเป็นผู้นำในสนาม รวมถึงจิตวิญญาณของการเป็นผู้ชนะในตัวผู้เล่นรายนี้
สำหรับกีฬาอเมริกันฟุตบอล หากแต่ล่ะทีมอยากจะพลิกชะตาจากความพ่ายแพ้กลับมาเป็นผู้ชนะ คนที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้เกิดขึ้นได้จริงคือควอเตอร์แบ็ก ในฐานะผู้เล่นเพียงคนเดียวที่มีสิทธิ์ถือบอลทุกโอกาสในการเล่นเกมบุกของทีม ดังนั้นหากมีควอเตอร์แบ็กที่ดีนั่นหมายความว่าทีมยิ่งมีโอกาสชนะมากยิ่งขึ้น
สำหรับ จามาร์คัส รัสเซลล์ ตลอดสองปีที่เป็นผู้เล่นตัวจริงของ LSU เขาพาทีมชนะในฤดูกาลปกติถึง 20 เกม และแพ้แค่ 3 ครั้ง แถมพาทีมพลิกสถานการณ์จากเกมที่ตามหลังกลายเป็นฝ่ายชนะอีกหลายเกม
ทำให้หลายฝ่ายในลีก NFL ต่างมองเห็น จามาร์คัส รัสเซลล์ ในฐานะผู้เล่นที่พร้อมทั้งฝีมือและจิตใจสำหรับการเป็นจอมทัพชั้นยอดในการเล่นอาชีพ ทำให้รัสเซลล์เลือกไม่เรียนต่อในชั้นปีที่ 4 และตัดสินใจเข้าร่วมการดราฟต์ของ NFL ประจำปี 2007 ในฐานะเต็งจ๋าที่จะถูกดราฟต์เป็นคนแรก
ซึ่งไม่มีอะไรพลิกโผ รัสเซลล์ถูกเลือกในฐานะดราฟต์อันดับ 1 โดยทีม โอคแลนด์ เรดเดอร์ส (ลาสเวกัส เรดเดอร์ส ในปัจจุบัน) และนี่คือจุดเริ่มต้นของผู้เล่นที่ถูกดราฟต์เป็นคนแรกและล้มเหลวมากที่สุดในประวัติศ่าสตร์ NFL ยุคใหม่
จุดเริ่มต้นของความพินาศ
หากย้อนไปในช่วงก่อนการดราฟต์จะเกิดขึ้น ไม่มีใครคิดว่ารัสเซลล์จะไม่ถูกดราฟต์ในอันดับที่ 1 ไม่มีว่าจะเป็นสื่อดังอย่าง ESPN ก็ให้นิยามรัสเซลล์ว่าเป็นผู้เล่นที่ควรค่ากับการเป็นดราฟต์อันดับ 1
รวมถึง เมล ไคเปอร์ นักวิเคราะห์ด้านการดราฟต์ชื่อดัง ถึงกับเทียบรัสเซลล์ กับ จอห์น เอลเวย์ อดีตควอเตอร์แบ็กระดับผู้เล่นทรงคุณค่า หรือ MVP และแชมป์ซูเปอร์โบวล์ 2 สมัย ซึ่งเคยถูกดราฟต์ในฐานะอันดับที่ 1 เช่นกัน เมื่อปี 1983
อย่างไรก็ตามเสียงยกยอมากมายเริ่มทำให้รัสเซลล์หลงตัวเอง ก่อนที่การดราฟต์ปี 2007 จะเกิดขึ้น รัสเซลล์เคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาไม่เคยมีช่วงเวลาที่ตัวเองเล่นอเมริกันฟุตบอลได้แย่เลย และตัวเขาเก่งกว่าคนอื่นอยู่เสมอ รวมถึงเคยตอบคำถามกับสื่อว่าตัวเขาไม่มีจุดอ่อน เป็นควอเตอร์แบ็กที่สมบูรณ์แบบอีกด้วย
เมื่อรัสเซลล์ถูกดราฟต์เข้าสู่ลีก NFL ในฐานะอันดับที่ 1 ตามคาด เขาไม่ได้มองตัวเองในฐานะผู้เล่นหน้าใหม่ของลีกอาชีพ แต่เขามองตัวเองว่าเป็นควอเตอร์แบ็กระดับแถวหน้าของลีกต่อให้ไม่เคยเล่นแม้แต่เกมเดียวเลยก็ตาม เพราะเขาเชื่อในสิ่งที่เขาพูดไว้ นั่นคือเขาดีกว่าคนอื่นเสมอ
รัสเซลล์ต้องการค่าเหนื่อยจำนวนมากในการเซ็นสัญญากับทีมเรดเดอร์ส และเมื่อการเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายยาวนานร่วม 5 เดือน จนสุดท้ายเรดเดอร์สยอมจ่ายเงิน 68 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือถ้าคิดเป็นเงินไทยก็คือราว 2,300 ล้านบาท พร้อมกับสัญญา 6 ปีให้กับรัสเซลล์ โดยเป็นเงินการันตีให้กับทางรัสเซลล์ถึง 31.5 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อให้ได้รัสเซลล์มาเล่นให้กับทีม
นั่นหมายความว่า จามาร์คัส รัสเซลล์ ทั้งที่ยังไม่เคยเล่นใน NFL แม้แต่เกมเดียวก็มีเงินระดับพันล้านอยู่ในกระเป๋าเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหากคิดง่าย ๆ สำหรับคนหนุ่มที่ยังไม่ได้ทำงานจริงจังแต่มีเงินระดับพันล้านอยู่กับตัว เขาจะเริ่มสูญเสียแรงบันดาลใจและความมุ่งมั่นในการเล่นหาเลี้ยงชีพตัวเองไปมากเพียงใด
ทันทีที่ฤดูกาล 2007 เริ่มขึ้น มีเสียงร่ำลือถึงความขี้เกียจไม่ทุ่มเทในการฝึกซ้อมของรัสเซลล์ เพราะก่อนหน้าที่จะเจรจาสัญญารุกกี้กันได้ เจ้าตัวก็แผลงฤทธิ์ไม่ยอมเข้าแคมป์ฝึกซ้อมแล้ว แถมหนุ่มรายนี้ยังดูขาดแรงบันดาลใจอย่างชัดเจนในการเล่น ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะเขามีเงินก้อนโตอยู่ในบัญชี และอยากใช้เวลาไปกับการใช้เงินอย่างมีความสุขมากกว่าต้องมาขว้างลูกบอลในสนาม
สัญญาณความล้มเหลวของรัสเซลล์เริ่มต้นขึ้นในฤดูกาล 2007 เลน คิฟฟิน หัวหน้าโค้ชของเรดเดอร์สไม่เลือกจอมทัพจากการดราฟต์อันดับ 1 เป็นควอเตอร์แบ็กตัวจริงของทีม ด้วยการให้เหตุผลว่า จามาร์คัส รัสเซลล์ ไม่ได้ดีแบบที่หลายคนคิดไว้
สรุปแล้วในฤดูกาลแรกกับการรับบทบาทเป็นตัวสำรอง ลงสนาม 4 เกม และมีโอกาสเล่นเป็นตัวจริงแค่เกมเดียว รัสเซลล์ทำได้เพียง 2 ทัชดาวน์ พร้อมกับทำเทิร์นโอเวอร์หรือเสียบอลให้กับคู่แข่งถึง 6 ครั้ง พูดง่าย ๆ คือรัสเซลล์สร้างผลเสียมากกว่าผลดีให้กับทีมถึง 3 เท่า
อย่างไรก็ตามในฤดูกาล 2008 ด้วยดีกรีดราฟต์อันดับ 1 เรดเดอร์สตัดสินใจเลือก จามาร์คัส รัสเซลล์ ขึ้นเป็นควอเตอร์แบ็กตัวจริงของทีม เพราะมีจอมทัพมากมายที่พิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาเคยเล่นแย่ในปีแรก ก่อนจะกลายเป็นควอเตอร์แบ็กที่เก่งกาจในปีที่ 2
แต่ไม่ใช่กับกรณีของรัสเซลล์ เพราะก่อนฤดูกาลจะเริ่มรัสเซลล์มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 20 กิโลกรัม สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเขาไม่ทุ่มเทกับการเล่นในฐานะนักกีฬาอาชีพ และไม่สนใจที่จะดูแลตัวเองแม้แต่นิดเดียว
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ารัสเซลล์ไม่เข้าร่วมประชุมทีมเป็นประจำ แถมปรากฎตัวมาทีไรก็ต้องมีชีสเบอร์เกอร์ก้อนโตอยู่ในมือ ซึ่งเป็นอาหารต้องห้ามของนักอเมริกันฟุตบอลโดยเฉพาะตำแหน่งควอเตอร์แบ็ก เปรียบเทียบกับ ทอม เบรดี้ ที่ในปี 2008 คว้าแชมป์ซูเปอร์โบวล์มาแล้ว 3 ครั้ง แฮมเบอร์เกอร์คืออาหารที่เบรดี้ลาขาดมาจนถึงปัจจุบัน
ถ้ารัสเซลล์เดินตามรอยของเบรดี้เขาคงมีโอกาสทำผลงานได้ดีอยู่บ้าง แต่รัสเซลล์เลือกไปอีกทางและผลงานของเขาดิ่งลงเหวอีกครั้งด้วยการทำ 13 ทัชดาวน์จากการลงสนาม 15 เกม นี่คือผลงานที่ล้มเหลวอย่างไม่ต้องสงสัย ไม่เหลืออะไรใกล้เคียงกับการเป็นยอดควอเตอร์แบ็กสมัยมหาวิทยาลัย เพราะจาก 15 เกมที่เล่น รัสเซลล์ชนะเพียง 5 เกมเท่านั้น
อย่างไรก็ตามด้วยดีกรีดราฟต์อันดับ 1 ที่ค้ำคอรัสเซลล์ ทำให้เรดเดอร์สขอเสี่ยงกับเขาอีกสักตั้ง เพราะส่วนใหญ่ผู้เล่นดราฟต์อันดับ 1 จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามีดี อย่างน้อยก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นสักนิด ซึ่งทีมก็คิดผิดมหาศาล
ในฤดูกาล 2009 รัสเซลล์กับโอกาสลงเล่น 12 เกมให้เรดเดอร์ส ทำได้เพียง 3 ทัชดาวน์ และเสียบอลให้คู่แข่งรวมทั้งหมด 17 ครั้ง สร้างผลเสียมากกว่าผลดีให้กับทีมถึง 6 เท่า นอกจากนี้เขายังเป็นควอเตอร์แบ็กที่มีเปอร์เซ็นต์การขว้างบอลที่แม่นยำน้อยที่สุดในลีกอีกด้วย กับผลงานความแม่นยำเพียง 48.8 เปอร์เซ็นต์
ด้วยผลงานที่ย่ำแย่ ทำให้เรดเดอร์สต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับรัสเซลล์ และทีมก็เลือกสร้างปฏิบัติการที่เป็นตำนานของ NFL มาจนถึงทุกวันนี้
บทเรียนของคนรุ่นหลัง
ทีมโค้ชของเรดเดอร์สในตอนนั้นต่างรู้สึกว่า จามาร์คัส รัสเซลล์ ไม่เคยเรียนรู้อะไรเลย จนทีมเริ่มส่งสัยว่าควอเตอร์แบ็กรายนี้เคยนั่งดูเทปการเล่นของตัวเองและทีมเพื่อพัฒนาการเล่นหรือไม่
เรดเดอร์สตัดสินใจส่งเทปเปล่า ๆ ให้กับรัสเซลล์เพื่อจะลองใจว่ารัสเซลล์ได้ดูเทปนั้นหรือไม่ ซึ่งในวันต่อมารัสเซลล์บอกกับทีมว่าเขาได้ดูเทปเรียบร้อยแล้ว และเขาคิดว่ามันดีมาก ๆ โดยที่ไม่ได้พูดถึงเรื่องเทปเปล่าเลย
ทำให้เรดเดอร์สแน่ใจแล้วว่ารัสเซลล์คงไม่เคยดูเทปการเล่นของทีมเลย จนเป็นสาเหตุทำให้ทีมตัดสินใจไม่ยากในการตัดรัสเซลล์ออกจากทีม และทำให้อดีตดราฟต์อันดับ 1 ของ NFL กลายเป็นนักอเมริกันฟุตบอลตกงานภายในเวลาแค่ 3 ปี
ในตอนแรกหลังจากถูกเรดเดอร์สไล่ออก มีอย่างน้อย 5 ทีมใน NFL ที่สนใจจะมอบโอกาสที่สองให้กับรัสเซลล์ แต่สุดท้ายเขากลับไปถูกตำรวจจับด้วยข้อหาเสพยาเสพติดเพียงแค่ไม่ถึง 2 เดือนหลังจากแยกทางกับเรดเดอร์ส นี่เป็นการตอกย้ำว่าทัศนคติในการเป็นนักกีฬาของรัสเซลล์ไม่เคยดีขึ้น ทำให้สุดท้ายไม่มีทีมไหนให้โอกาสแก่รัสเซลล์ และเขาก็ไม่เคยได้กลับมาเล่นใน NFL อีกเลย
จามาร์คัส รัสเซลล์ จึงถูกเลือกให้เป็นผู้เล่นดราฟต์อันดับ 1 ที่ล้มเหลวที่สุดในประวัติศาสตร์ของ NFL ยุคใหม่ รวมถึงเป็นแบบอย่างของนักกีฬาที่มีพรสวรรค์แต่ถูกฆ่าเพราะไม่มีพรแสวงในการพัฒนาตัวเอง
ส่วนสาเหตุของรัสเซลล์กับความล้มเหลวในฐานะนักอเมริกันฟุตบอลสามารถมองได้หลายอย่าง แต่สำหรับคนใกล้ตัวที่สุดอย่างอดีตเอเยนต์ของ จามาร์คัส รัสเซลล์ กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้ควอเตอร์แบ็กรายนี้ล้มเหลวคือสัญญาก้อนโตที่เขาได้รับจากเรดเดอร์ส ด้วยเงินระดับพันล้านทำให้รัสเซลล์หมดความกระหายในการเล่นอเมริกันฟุตบอลไปจนหมดสิ้น
ด้วยความล้มเหลวครั้งใหญ่ของรัสเซลล์ ทำให้ในฤดูกาล 2011 เป็นครั้งแรกที่ NFL บังคับให้ผู้เล่นหน้าใหม่ทุกคนที่ถูกดราฟต์เข้าสู่ลีกจะถูกบังคับเซ็นสัญญาอัตโนมัติเป็นระยะเวลา 4 ปีเท่านั้น (พร้อมออปชั่นอีก 1 ปี ซึ่งทีมมีสิทธิ์ว่าจะใช้เพื่อยืดอายุสัญญาเดิม, เจรจาสัญญาฉบับใหม่ หรือไม่ใช้เพื่อปล่อยตัวออกจากทีมก็ได้) ขณะที่รายได้ตอบแทนทาง NFL จะกำหนดเพดานค่าเหนื่อยเอาไว้ ซึ่งจะลดเพดานลงเรื่อย ๆ ตามลำดับดราฟต์ที่ต่ำลง
ยกตัวอย่างเช่น ดราฟต์อันดับ 1 ในปี 2011 อย่าง แคม นิวตัน ควอเตอร์แบ็กที่ถูกเลือกโดย แคโรไลนา แพนเธอร์ส ได้รับรายได้ 4 ปีเพียง 22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ น้อยกว่าตอนที่รัสเซลล์ได้เงินการันตีจากเรดเดอร์สด้วยซ้ำ เพราะ NFL ไม่ต้องการให้ผู้เล่นคนไหนได้รับเงินก้อนโตโดยที่ยังไม่ได้พิสูจน์ตัวเองอีกแล้ว
เรื่องราวของ จามาร์คัส รัสเซลล์ จึงได้เปลี่ยน NFL ไปตลอดกาล และบอกกับผู้เล่นรุ่นหลังว่าความสำเร็จใน NFL ไม่ได้มาด้วยพรสวรรค์อันเยี่ยมยอด แต่จะเกิดขึ้นได้หากมีความมุ่งมั่น พยายาม และทุ่มเทให้กับการเป็นนักอเมริกันฟุตบอลอาชีพเท่านั้น
ขณะที่ตัวของรัสเซลล์ มีความพยามหลายครั้งในการกลับมาเล่นใน NFL เขาตั้งใจฝึกซ้อม ลดน้ำหนักของตัวเอง แต่มันก็สายเกินไป ไม่เคยมีทีมไหนให้โอกาสเขาอีก และเส้นทางของเขาก็ไม่เคยมาบรรจบกับ NFL ได้อีกเลย
อย่างไรก็ตามความล้มเหลวได้สอนให้รัสเซลล์รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่เขารัก รัสเซลล์กลับมาทำงานในฐานะโค้ชอเมริกันฟุตบอลระดับไฮสคูล และถึงแม้ว่าคนจะจดจำเขาในฐานะผู้เล่นที่ล้มเหลว แต่สำหรับรัสเซลล์ การที่เขาได้กลับมาทำงานกับกีฬาโปรดของเขา แค่นั้นก็พอแล้วสำหรับชายคนนี้