คูตูลุน : เจ้าหญิงนักรบหลาน "เจงกิส ข่าน" และนักมวยปล้ำไร้พ่ายแห่งมองโกเลีย

คูตูลุน : เจ้าหญิงนักรบหลาน "เจงกิส ข่าน" และนักมวยปล้ำไร้พ่ายแห่งมองโกเลีย

คูตูลุน : เจ้าหญิงนักรบหลาน "เจงกิส ข่าน" และนักมวยปล้ำไร้พ่ายแห่งมองโกเลีย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"เธอแข็งแกร่ง ไม่มีชายหนุ่มคนไหนในอาณาจักรที่พิชิตเธอได้ เธอเอาชนะพวกเขาได้ทั้งหมด" มาร์โค โปโล กล่าว

"เธอ" ที่ มาร์โค โปโล พูดถึงคือ คูตูลุน เจ้าหญิงยอดนักรบแห่งมองโกเลีย ที่มีศักดิ์เป็นหลานของ เจงกิส ข่าน อดีตจอมพลผู้เกรียงไกรที่ครองอำนาจในช่วงศตวรรษที่ 12

 

อย่างไรก็ดีนอกจากการเป็นนักรบแล้ว เธอยังมีชื่อเสียงระบือไปไกลในฐานะนักมวยปล้ำสุดแกร่ง เมื่อสามารถยืนหยัดต่อสู้กับชายอกสามศอกได้อย่างองอาจ แถมยังไม่เคยแพ้แม้แต่ครั้งเดียว 

ติดตามเรื่องราวไปพร้อมกับ Main Stand

เจ้าหญิงยอดนักรบ

ศตวรรษที่ 12-13 ถือเป็นช่วงแห่งความรุ่งโรจน์ในประวัติศาสตร์มองโกเลีย เพราะนับตั้งแต่ เจงกิส ข่าน สามารถรวบรวมไพร่พลที่ก่อนหน้านี้ดำรงชีวิตอยู่อย่างเร่ร่อน ก่อตั้งจักรวรรดิมองโกเลียได้สำเร็จในปี 1206 อาณาเขตของดินแดนแห่งนี้ก็ทอดยาวตั้งแต่เอเชียไปจนถึงยุโรป

อย่างไรก็ดีท่ามกลางความยิ่งใหญ่ของพวกเขา มีเพียงนักรบชายเท่านั้นที่ได้เชิดหน้าชูตาตามแนวคิดแบบปิตาธิปไตย หรือชายเป็นใหญ่ในยุคนั้น เว้นแต่เพียงนักรบหญิงคนหนึ่งที่ชื่อว่า คูตูลุน 

 


Photo : Wikimedia Commons

เธอเกิดในปี 1260 ท่ามกลางพี่ชายและน้องชาย 14 คน ในครอบครัวของ ไคดู ข่าน หลานของเจงกิส ข่าน และญาติของ กุบไล ข่าน ผู้ก่อตั้งราชวงศ์หยวนของจีน ซึ่งตอนนั้นเป็นผู้นำแห่งแคว้นจากาไต คานาเต ที่เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิมองโกเลีย (ตั้งอยู่ในแถบเอเชียกลางในปัจจุบัน)

ทั้งนี้แม้ทั้งสองฝ่ายจะเป็นญาติกันแต่พวกเขาก็ขัดแย้งกันอย่างหนัก เนื่องจาก ไคดู พยายามตั้งตนเป็นกบฏ จากความไม่พอใจที่กุบไล ข่าน ละทิ้งวิถีชีวิตแบบเร่ร่อนแล้วไปใช้ชีวิตแบบชาวจีน หลังสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นฮ่องเต้

อันที่จริงความขัดแย้งของทั้งคู่นั้นคุกรุ่นมาตั้งแต่ตอนที่ไคดูปฏิเสธเข้าร่วมพิธีสวามิภักดิ์ต่อจอมข่าน จนทำให้ กุบไล ข่าน ส่งคนเข้ามาโจมตีดินแดนของพวกเขา และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามที่กินเวลายาวนานกว่า 30 ปี 

และ เจ้าหญิงคูตูลุน ก็คือหนึ่งในหัวหอกสำคัญในสงครามต่อต้านราชวงศ์หยวนให้กับพ่อของเธอ ด้วยความสามารถรอบด้าน จากการเติบโตขึ้นมาท่ามกลางพี่ชายน้องชายทั้ง 14 คน ทั้งทักษะขี่ม้าและยิงธนู แถมยังมีความฉลาดและเป็นที่ปรึกษาคู่ใจของไคดู ทั้งในการรบและการปกครอง 

 

นอกจากนี้เธอยังมีนิสัยมุทะลุกล้าได้กล้าเสียและไม่เกรงกลัวสิ่งใด มาร์โค โปโล พ่อค้าชาวเวนิส ที่รับใช้ กุบไล ข่าน ในตอนนั้นกล่าวว่า ครั้งหนึ่งเธอถึงขั้นลุยเดี่ยวบุกไปคว้าตัวคู่ต่อสู้ท่ามกลางวงล้อมของข้าศึกมาเป็นเชลยในระหว่างสงคราม


Photo : Wikimedia Commons

"บางครั้งเธอก็ทิ้งพ่อของเธอแล้วพุ่งเข้าใส่ศัตรู รวมถึงจับผู้ชายบางคนมาจากที่นั่น เธอคล่องแคล่วราวกับเหยี่ยว เธอจับพวกเขาไปหาพ่อของเธอ เธอทำแบบนี้มาแล้วหลายครั้ง" บันทึกของมาร์โค โปโล ระบุ 

ทว่ายังมีอีกสิ่งหนึ่งที่เจ้าหญิงคูตูลุนชำนาญไม่แพ้กัน

นักมวยปล้ำหญิงไร้พ่าย 

แม้ว่าเธอจะมีฝีมือในการรบที่เก่งกาจ แต่ เจ้าหญิงคูตูลุน กลับมีสิ่งหนึ่งที่ทำให้ ไคดู ข่าน พ่อของเธอกลุ้มใจ นั่นคือเรื่องคู่ครอง ทั้งที่เธอเองก็มีรูปโฉมที่งดงาม แต่ไม่ว่าอย่างไรเธอก็ไม่ยอมออกเรือนกับชายคนไหนเสียที 

ทว่าเมื่อถูกพ่อมากดดันมากขึ้น เจ้าหญิงคูตูลุน จึงยื่นเงื่อนไขว่าเธอจะแต่งงานกับผู้ชายที่สามารถเอาชนะเธอในการแข่งขันมวยปล้ำเท่านั้น แต่ถ้าหากพวกเขาแพ้จะต้องมอบม้าให้เธอ 100 ตัว ซึ่งพ่อของเธอก็ยอมแต่โดยดี 


Photo : Wikimedia Commons

ในตอนนั้นมวยปล้ำถือเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมอย่างมากในมองโกเลีย โดยเริ่มแพร่หลายในสมัยของเจงกิส ข่าน ที่มีการจัดการแข่งขันชิงแชมป์ระดับชาติร่วมกับการแข่งขันขี่ม้าและยิงธนู 

แต่มวยปล้ำในยุคนั้นอาจจะแตกต่างไปจากภาพจำในปัจจุบัน เพราะมันไม่มีการจำกัดเพศหรือน้ำหนัก ทำให้ใครจะสู้กับใครก็ได้ แถมยังมีกติกาง่าย ๆ นั่นก็คือสามารถทำได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเตะหรือต่อย เพียงทำให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายคู่แข่งยกเว้นเท้าสัมผัสพื้นก็พอ

 

มันเป็นเงื่อนไขที่ค่อนข้างเย้ายวน เพราะแค่เอาชนะลูกสาวผู้ครองเมืองก็จะได้แต่งงานกับเจ้าหญิงผู้งดงาม จึงทำให้มีเจ้าชายจากต่างเมืองเดินทางเข้ามาท้าประลองแบบหัวกระไดไม่แห้ง 

อย่างไรก็ดีไม่ว่าคู่แข่งจะแข็งแกร่งแค่ไหนหรือรูปร่างเป็นอย่างไร ก็ไม่มีใครเอาชนะเธอได้แม้แต่คนเดียว และทำให้อาณาจักรมีม้ามากถึง 10,000 ตัว ซึ่งเป็นจำนวนเท่ากับของจักรพรรดิผู้ปกครองจักรวรรดิมองโกล 

"เธอแข็งแกร่ง ไม่มีชายหนุ่มคนไหนในอาณาจักรที่พิชิตเธอได้ เธอเอาชนะพวกเขาได้ทั้งหมด" มาร์โค โปโล กล่าวในบันทึก 


Photo : Wikimedia Commons

จากบันทึกกล่าวว่าครั้งหนึ่งเคยมีเจ้าชายที่มั่นใจว่าสามารถเอาชนะเธอได้อย่างแน่นอน ขอเปลี่ยนเดิมพันจากม้า 100 ตัว เป็นม้า 1,000 ตัว

 

นอกจากนี้เจ้าชายคนนั้นยังเป็นที่ถูกใจของพ่อแม่เธอ พวกเขาจึงขอร้อง เจ้าหญิงคูตูลุน เป็นการส่วนตัวว่าขอให้เป็นแค่การแข่งโชว์ก็พอและให้ยอมแพ้ในการต่อสู้ครั้งนี้ไป เพื่อที่เธอ จะได้แต่งงานเสียที 

แต่สุดท้ายกลายเป็น คูตูลุน จบการแข่งขันพร้อมด้วยจำนวนม้าที่เพิ่มขึ้นมาอีก 1,000 ตัว 

ลงเอยกับใครหรือไม่ ? 

อันที่จริงฟังไปอาจจะดูเหลือเชื่อสำหรับการที่นักรบหญิงสามารถต่อกรกับผู้ชายอกสามศอกแล้วไม่เคยพบกับความปราชัย แต่เรื่องของ เจ้าหญิงคูตูลุน ได้รับการยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง


Photo : Wikimedia Commons

เพราะนอกจากบันทึกของมาร์โค โปโล แล้ว นักประวัติศาสตร์หลายคนก็กล่าวไว้ตรงกัน รวมไปถึง ราชิด อัลดิน ฮามาดานี นักประวัติศาสตร์ แพทย์ และนักเขียนชาวเปอร์เซีย ที่เดินทางไปทั่วเอเชียในช่วงเวลานั้น  

อย่างไรก็ดีสิ่งที่ต่างกันคือบทสรุปในเรื่องคู่ครองของเธอ 

จากบันทึกของ อัลดิน ระบุว่าในที่สุดเธอก็ตกหลุมรักกับ กาซาน เจ้าชายผู้ครองแคว้นเปอร์เซีย ที่ตอนนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิมองโกล ขณะที่บางทฤษฎีบอกว่าเธอแต่งงานกับผู้ช่วยของเธอ ไปจนถึงเชลยศึก 

แต่ที่เหนือไปกว่านั้นคือทฤษฎีที่ว่า เจ้าหญิงคูตูลุน อาจจะมีความสัมพันธ์แบบชู้สาวกับ ไคดู พ่อของเธอเอง แต่นักประวัติศาสตร์หลายคนก็เชื่อว่าน่าจะเป็นข่าวลือที่ผู้คนในยุคนั้นซุบซิบนินทา เนื่องจากการไม่ยอมมีสามีหรือการปล่อยข่าวจากเจ้าชายที่ถูกเธอปฏิเสธ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในยุคนั้น 


Photo : Wikimedia Commons

ว่ากันว่าหลังจากมีข่าวลือในเรื่องนี้ เธอก็ตัดสินใจแต่งงานเพื่อไม่ให้ข่าวลือส่งผลกระทบต่อครอบครัวของเธอ ซึ่งเป็นใครนั้นก็ยังเป็นสิ่งที่ยังถกเถียงกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้คือเขาคนนั้นไม่ได้เอาชนะเธอในการแข่งขันมวยปล้ำอย่างแน่นอน 

แม้ว่าในช่วงท้ายชีวิตของ เจ้าหญิงคูตูลุน จะได้รับการวางตัวจากพ่อของเธอในฐานะผู้นำคนต่อไปของแคว้นจากการเป็นลูกสาวคนโปรด แต่เธอก็ถูกต่อต้านอย่างหนักจากคนอื่นโดยเฉพาะจากบรรดาพี่น้องของเธอ 

ก่อนที่ท้ายที่สุด เจ้าหญิงคูตูลุน จะสูญเสียตำแหน่งให้แก่ ดูวา ที่ร่วมมือกับ ชาร์ปา หนึ่งในพี่น้องของเธอ ทำสงครามแย่งอำนาจในการปกครอง หลัง ไคดู บาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในการรบกับหยวนในปี 1301 

หลังจากนั้นเรื่องราวของ เจ้าหญิงคูตูลุน ก็เริ่มคลุมเครือ ก่อนจะเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุในปี 1306 ด้วยวัย 46 ปี และชื่อของเธอก็ถูกลืมเลือนไปจากหน้าประวัติศาสตร์

แรงบันดาลใจโอเปรา 

คูตูลุน กลายเป็นชื่อที่สาบสูญไปหลายร้อยปี จนกระทั่ง ฟรองซัวร์ เปอร์ตีส์ เดอ ลาครัวซ์ (Francois Petis de La Croix) นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออก (และผู้แต่งพันหนึ่งราตรี) เขียนหนังสือชีวประวัติเจงกิส ข่าน (Genghis Khan, History of Genghizcan the Great, First Emperor of the Ancient Moguls and Tartars) ได้นำเรื่องราวของเธอมาเล่าใหม่อีกครั้ง 


Photo : Wikimedia Commons

เพียงแต่ เจ้าหญิงคูตูลุน ในเรื่องเล่าของ ลาครัวซ์ ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ทูรันโด (Turandokht) ที่แปลว่าธิดาแห่งเอเชียกลางในภาษาเปอร์เซีย และเปลี่ยนเรื่องราวของเธอ จากนักมวยปล้ำหรือนักรบ เป็นสตรีผู้เฉลียวฉลาดที่ท้าทายผู้ที่อยากแต่งงานกับเธอด้วยปริศนา 3 ข้อ และหากทายไม่ถูกจะโดนประหาร 

และอีก 200 ร้อยปีต่อมาชีวิตของเธอก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับบทละครโอเปราของ จิอาโคโม ปุซซีนี ที่ชื่อว่า Turandot ทว่าเรื่องราวในนั้นก็ห่างไกลจากข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ และทำให้เธอกลายเป็นผู้หญิงงี่เง่าที่พ่ายแพ้ให้กับความรัก 


Photo : NETFLIX

อย่างไรก็ดีสำหรับใน Marco Polo ซีรีส์ของ Netflix ที่ออกฉายในปี 2016 คูตูลุน ที่รับบทโดย คลอเดีย คิม นักแสดงชาวเกาหลีใต้ มีความเป็นนักสู้ที่น่าเกรงขามและเป็นนักมวยปล้ำ 

ทั้งนี้ ไม่ว่าฝั่งตะวันตกจะฉายภาพเธออย่างไร ชาวมองโกเลียก็ยังคงยกย่องเธอในฐานะวีรสตรี เห็นได้จากชุดของนักมวยปล้ำชายโบราณที่ออกแบบให้เห็นอย่างชัดเจนว่าคู่แข่งที่อยู่ตรงหน้าไม่ใช่ผู้หญิง ก็เป็นเครื่องยืนยันว่าเมื่อก่อนพวกเขาเกรงกลัวเธอแค่ไหน 

และนั่นก็ทำให้เธอยังคงอยู่ในความทรงจำของพวกเขามาจนถึงปัจจุบัน

"พวกเขาจะสวมเสื้อกั๊กแบบพิเศษที่มีแขนเสื้อยาว แต่ไม่มีส่วนที่ปิดหัวไหล่ และมีด้านหน้าเปิดออกเผยให้เห็นหน้าอก ซึ่งช่วยให้นักมวยปล้ำมั่นใจว่าคู่ต่อสู้ของพวกเขาเป็นผู้ชาย" แจ็ค เวเธอร์ฟอร์ด นักมานุษยวิทยา จาก มาคาเลสเตอร์ อธิบายกับ South China Morning Post 

"ในตอนท้ายของแต่ละเกม ผู้ชนะจะเหยียดแขนไปข้างหน้าให้เห็นหน้าอกอีกครั้ง และค่อย ๆ โบกมือไปในอากาศช้า ๆ เหมือนกับนกแล้วหันหลังไปให้ทุกคนเห็น" 

"สำหรับผู้ชนะมันไม่ใช่แค่ระบำแด่ชัยชนะ แต่ยังเป็นการยกย่องนักกีฬาหญิงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มองโกเลีย เจ้าหญิงนักมวยปล้ำ ที่แม้แต่ผู้ชายยังเอาชนะไม่ได้" 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook