ผิดที่ใคร ? : กรณีศึกษา “สมาคมปันจักสีลัต” กับการละเมิดลิขสิทธิ์เพราะความไม่รู้แบบไทย ๆ

ผิดที่ใคร ? : กรณีศึกษา “สมาคมปันจักสีลัต” กับการละเมิดลิขสิทธิ์เพราะความไม่รู้แบบไทย ๆ

ผิดที่ใคร ? : กรณีศึกษา “สมาคมปันจักสีลัต” กับการละเมิดลิขสิทธิ์เพราะความไม่รู้แบบไทย ๆ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถือเป็นข่าวร้อนในวงการกีฬาบ้านเรา เมื่อ “สมาคมกีฬาปันจักสีลัต” ได้มีการนำตัวอักษร Thailand ที่มีลิขสิทธิ์มาใช้บนชุดแข่งขันของนักกีฬาไทยในมหกรรมกีฬาซีเกมส์ 2022 โดยไม่ได้ขออนุญาตจากผู้สร้างสรรค์ผลงานอย่างถูกต้อง

แม้ทั้งสองฝ่ายจะเจรจาไกล่เกลี่ยกันเป็นผลสำเร็จ จนนักกีฬาปันจักสีลัตไทยสามารถใส่ชุดแข่งขันเดิมลงสู้ศึกซีเกมส์ต่อไปได้ แต่นี่ถือเป็นกรณีศึกษาชั้นดี สำหรับการละเมิดลิขสิทธิ์โดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งอาจตามมาถึงปัญหาใหญ่โตในอนาคต

Main Stand พาคุณมาเรียนรู้ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นของสมาคมปันจักสีลัต กับกรณีศึกษาที่แสดงให้เห็นถึงการขาดความรู้ความเข้าใจถึงบทบาท, อำนาจ และความสำคัญต่อลิขสิทธิ์ของชาวไทยในปัจจุบัน

ผิดกฎหมายข้อไหน ละเมิดลิขสิทธิ์ได้อย่างไร ?

ดราม่าของสมาคมกีฬาปันจักสีลัตกับปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ฟอนต์ Thailand บนชุดแข่งขันในมหกรรรมกีฬาซีเกมส์ เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม หลัง สุชาล ฉวีวรรณ ผู้ออกแบบฟอนต์ดังกล่าวได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คส่วนต่อของตน เป็นข้อความที่มีใจความว่า งานออกแบบตัวอักษร Thailand ที่ปรากฎบนชุดนักกีฬาปันจักสีลัตลีลาไทย ถูกนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต


Photo : https://www.facebook.com/TSports7Official

สุชาล ชี้แจงว่า เขาไม่เคยได้รับการติดต่อจากสมาคมปันจักสีลัต ถึงการนำฟอนต์นี้ไปใช้บนเครื่องแต่งกายของนักกีฬา ผู้ผลิตฟอนต์ Thailand ยังย้ำอีกว่า ตัวเขาได้จดลิชสิทธิ์ฟอนต์ดังกล่าวกับทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นที่เรียบร้อย 

เพราะฉะนั้นแล้ว การที่ฟอนต์ Thailand จะปรากฎอยู่บนสินค้าอื่นหรือพื้นที่ใด จะต้องได้รับการอนุญาตจากตัวเขาก่อน หากไม่เช่นนั้นแล้ว จะถือเป็นการเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และมีความผิดตามที่กฎหมายระบุไว้

 

หากมองตามที่ข้อกฎหมายระบุไว้ในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มีหลายลักษณ์อักษรเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่งานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หรืองานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ ของผู้สร้างสรรค์ไม่ว่างานดังกล่าวจะแสดงออกโดยวิธีหรือรูปแบบอย่างใด

กรณีนี้ ตัวอักษร Thailand ถือเป็นงานในหมวดศิลปกรรม ซึ่งถูกแยกย่อยในพระราชบัญญัติดังกล่าว เป็นงานศิลปกรรมประเภท งานภาพพิมพ์ หมายถึง งานสร้างสรรค์ภาพด้วยกรรมวิธีทางการพิมพ์ และหมายความรวมถึงแม่พิมพ์หรือแบบพิมพ์ที่ใช้ในการพิมพ์ 

โดยตัวอักษร Thailand นี้ อยู่ในหมวด Lettering หรือ งานสร้างสรรค์ภาพด้วยกรรมวิธีทางการพิมพ์ แตกต่างจาก Font ซึ่งอยู่ในกลุ่มแม่พิมพ์หรือแบบพิมพ์ เนื่องจากครอบคลุมตัวอักษรทั้งหมดในหนึ่งภาษา อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็น Font หรือ Lettering ทั้งหมดถือเป็นศิลปกรรมในหมวดงานภาพพิมพ์ ตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537  


Photo : https://www.facebook.com/bukbabor

ดังนั้นแล้ว ตัวอักษร Thailand ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดย สุชาล ฉวีวรรณ จึงได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ซึ่งผู้ถือครองลิขสิทธิ์ของผลงานศิลปกรรมนี้ มีสิทธิ์จะไม่อนุญาตให้บุคคลอื่น ทำซ้ำ, ดัดแปลง หรือ แม้กระทั่ง เผยแพร่ต่อสาธารณะชน หากไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์

 

ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญายังชี้แจงอีกว่า ผู้สร้างสรรค์งานตามประเภทที่กฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครอง จะได้รับความคุ้มครองทันทีในผลงานดังกล่าวโดยไม่จำเป็นต้องจดทะเบียน

การนำผลงานตัวอักษร Thailand ของสุชาล มาใช้บนหลังชุดแข่งขันของนักกีฬาปันจักสีลัตโดยไม่ขออนุญาตเจ้าของผลงาน จึงเข้าข่ายการละเมิดลิขสิทธิ์แบบเต็ม ๆ โดยมาตรา ๒๗ ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งต่องานอันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ว่าจะเป็น ทำซ้ำ, ดัดแปลง หรือ เผยแพร่ต่อสาธารณะชน ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งหมด

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรณีนี้ ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์โดยการ “ทำซ้ำ” หรือ “ลอกเลียน” ผลงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นอย่างชัดเจน เนื่องจากร้านที่เป็นผลิตชุดแข่งขันของนักกีฬาปันจักสีลัต ได้มีการทำซ้ำตัวอักษร Thailand ของสุชาลขึ้นมาใหม่ เพื่อปรากฎบนหลังชุดแข่งขันของนักกีฬาปันจักสีลัตไทย

บทกำหนดโทษที่ระบุไว้ในมาตรา ๖๙ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของผู้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ จะระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นถึงสองแสนบาท แต่หากเป็นการกระทำเพื่อการค้า ผู้กระทำผิดจะระวางโทษจำคุกหกเดือนถึงสี่ปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงแปดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


Photo : https://www.facebook.com/TSports7Official

 

การลอกเลียนตัวอักษร Thailand ครั้งนี้ ผู้ถือของลิขสิทธิ์จึงสามารถฟ้องร้องต่อร้านผลิตชุดแข่งขัน รวมถึงสมาคมปันจักสีลัต ในข้อหาร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ โดยผู้ถือครองลิขสิทธิ์สามารถเรียกร้องค่าเสียหายตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ ซึ่งถ้ากอารฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าเสียหายเกิดขึ้น

บุคคลในร้านตัดชุดที่กระทำการทำซ้ำตัวอักษร Thailand ยังมีโอกาสต้องโทษจำคุกตามกฎหมายระบุ เพราะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้า เนื่องจากทางร้านได้รับค่าตอบแทนในการผลิตชุดแข่งขันแก่สมาคมปันจักสีลัต ซึ่งมีตัวอักษร Thailand ที่ออกแบบโดยสุชาลปรากฎอยู่

ความรู้ความเข้าใจในลิขสิทธิ์ของคนไทย

ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างสมาคมปันจักสีลัตและผู้สร้างสรรค์ตัวอักษร Thailand ชวนให้นึกถึงข้อพิพาทระหว่างครอบครัวของดีเอโก้ มาราโดน่า กับ สเตฟาโน เซชี อดีตผู้จัดการส่วนตัวของนักเตะระดับตำนาน

หลังฝ่ายหลังได้อนุญาตให้สโมสรนาโปลีใช้ใบหน้าของมาราโดน่าบนชุดแข่งขัน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากครอบครัวผู้เสียชีวิต นำมาสู่การฟ้องร้องข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

 

เนื่องจากทางครอบครัว มองว่า เซซี ไม่มีสิทธิ์เหนือผลงานใดที่เกี่ยวข้องกับมาราโดน่า หลังเจ้าตัวลาจากโลกนี้ไป ซึ่งครอบครัวมาราโดน่าย้ำชัดเจนว่า พวกเขาดีใจที่ได้เห็นตำนานแห่งนาโปลีบนชุดแข่งขันของสโมสร แต่นี่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความจริง ที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ขึ้น

แม้ความผิดพลาดของสมาคมปันจักสีลีตจะเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ แตกต่างจากเคสของมาราโดน่า แต่คำกล่าวอ้างของทางฝั่งสมาคมปัญจักสีลัตไม่สามารถทำให้ผู้เกี่ยวข้องกับกรณี หลุดพ้นจากความจริงที่พวกเขากระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ไปได้เช่นกัน เพราะหน้าที่ของการตรวจสอบผลงานใดก็ตามบนโลกอินเตอร์เน็ตว่ามีลิขสิทธิ์หรือไม่ ? เป็นการรับผิดชอบของผู้สร้างสรรค์ผลงานใหม่แต่เพียงผู้เดียว

นี่จึงเป็นกรณีสำคัญที่ย้ำเตือนให้เห็นถึงการมองข้ามความสำคัญของ “ลิขสิทธิ์” ในประเทศไทย โดยเฉพาะในแง่ของผู้สร้างสรรค์ผลงานใหม่ ทั้งที่ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีปัญหาด้านละเมิดลิขสิทธิ์มาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี นับตั้งแต่ยุคเทปผี ซีดีเถื่อน มาจนถึงปัจจุบันที่มีการงานละเมิดลิขสิทธิ์เกิดขึ้น ได้อย่างง่ายดายในโลกออนไลน์

ถึงอย่างนั้น การละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทยยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในประเทศไทย และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเป็นเพราะทุกวันนี้ ผู้คนสามารถผันตัวเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ซึ่งหมายถึงโอกาสในการหารายได้ (แบบผิดกฎหมาย) เลี้ยงชีพที่มากขึ้น

คอนเทนต์ครีเอเตอร์ไทยกับการชักจูงสังคม (แบบผิด ๆ)  

ในยุคที่โลก และสังคมไทย เกิดอินฟลูเอนเซอร์ หรือคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ ขึ้นมากมาย แทนจะใช้ไอเดียของตนสร้างสรรค์สิ่งใหม่ และพัฒนางานสร้างสรรค์ให้มีความแปลกใหม่ยิ่งขึ้นไป ชาวไทยมักตัดช่องน้อยเลือกนำงานอันมีลิขสิทธิ์มาดัดแปลงหรือทำซ้ำจนเป็นงานใหม่ของตัวเอง

กรณีที่เห็นได้ชัดคือการดูดคลิปหรือขโมยวิดีโอของบรรดาช่องยูทูบต่างประเทศเอามาดัดแปลงเสียใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการพากย์ไทยหรือฝังซับใหม่ลงไป นี่คือตัวอย่างของการละเมิดลิขสิทธิ์เนื่องจากนำผลงานสร้างสรรค์ของผู้อื่นมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต แต่เนื่องจากคลิปเหล่านั้นเป็นของต่างประเทศ จึงไม่มีผู้ใดมายื่นฟ้องคดีละเมิดลิขสิทธิ์ในศาลไทยเป็นแน่ การละเมิดลิขสิทธิ์จึงเกิดขึ้นโดยทั่วไป

ผลลัพธ์ที่ตามมาคือครีเอเตอร์สายขโมยโด่งดังมีชื่อเสียงมากมาย ทั้งที่พวกเขาไม่ได้ผลิตงานสร้างสรรค์ด้วยตัวเอง และผลงานทั้งหมดที่เข้าถึงประชาชนชาวไทยในโลกอินเตอร์เน็ตก็เป็นงานละเมิดลิขสิทธิ์ล้วน ๆ (เพียงแต่ไม่มีใครมาฟ้องร้อง) 

และเมื่อพวกเขาประสบความสำเร็จในการหยิบจับนู่นนี่ในอินเตอร์เน็ตมาดัดแปลงเสียใหม่ บรรดาผู้สร้างสรรค์ผลงานในประเทศไทย จึงมองสิ่งนี้เป็นเรื่องปกติ และพร้อมจะหยิบจับงานสร้างสรรค์ใดก็ตามมาใช้งาน โดยไม่สนใจเลยว่างานชิ้นนั้นมีบุคคลหรือบริษัทใดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ แน่นอนว่าคนกลุ่มนี้ จึงมีส่วนในการสร้างค่านิยมที่ไม่ถูกต้องในสังคมไทย 

ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือความไม่ตั้งใจจะละเมิดลิขสิทธิ์ในกรณีของตัวอักษร Thailand กับสมาคมปันจักสีลัต จึงสะท้อนความบกพร่องของคนไทยในการเสาะหาแหล่งที่มาของงานสร้างสรรค์ซึ่งจะนำมาใช้ในผลงานของตน ซึ่งเกิดจากการหยิบจับผลงานสร้างสรรค์อันมีลิขสิทธิ์แต่กฎหมายในเมืองไทยไม่ครอบคลุมมาใช้กันจนเหมือนเป็นเรื่องปกติ โดยไม่กลัวเลยว่าบางครั้งอาจเดินไปเหยียบตอเข้าอย่างจัง เหมือนในกรณีของตัวอักษร Thailand ที่กรณีนี้ทางร้านรับจ้างผลิตเสื้อเองก็ผิด ที่บกพร่องไม่ตรวจสอบ และสมาคมปันจักสีลัต ที่ขาดความรู้ในเรื่องลิขสิทธิ์ จึงจัดจ้างไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ 

ลิขสิทธิ์ ถือเป็นกลไกที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างสมบูรณ์แบบเพื่อปกป้องผู้ถือครองลิขสิทธิ์ ในฐานะข้อห้ามขั้นพื้นฐานที่สุดของระบบทุนนิยมสมัยใหม่ เพื่อบอกว่าทุกผลงานสร้างสรรค์ล้วนมีเจ้าของ และล้วนมีลิขสิทธิ์อันห้ามล่วงละเมิด ดังนั้นแล้ว การเข้าถึงผลงานสร้างสรรค์จึงต้องได้รับอนุญาตจากผู้ถือครองลิขสิทธิ์ นี่เป็นข้อห้ามที่จะละเว้นไม่ได้ในสังคมทุนนิยมปัจจุบัน

ประเทศที่ผู้คนในสังคมต่างเข้าใจการใช้ชีวิตบนโลกยุคปัจจุบัน และมีความรู้ความเข้าใจต่อกลไกลของระบบทุนนิยมอย่างดีเยี่ยม จะเข้าใจถึงเจตนารมย์ของลิขสิทธิ์ยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นวิวัฒนาการของกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลหรือเอกชน 

ผู้สร้างสรรค์จึงมีสิทธิผูกขาดบนทรัพย์สินทางปัญญา ไปจนถึงสามารถหากินกับลิขสิทธิ์ในระดับอุตสาหกรรม ดังนั้นแล้ว ผู้คนในสังคมเหล่านี้จะตระหนักรู้ว่า การละเมิดลิขสิทธิ์ถือเป็นปัญหาที่ควรลงโทษ และพวกเขาก็สามารถถูกลงโทษสูงสุดหากละเมิดลิขสิทธิ์ได้เช่นกัน

ชาวไทยขาดความรู้ความเข้าใจในระบบโครงสร้างสังคม จึงไม่ตระหนักถึงความสำคัญและอำนาจของลิขสิทธิ์มากเพียงพอ เมื่อบวกกับความจริงที่การละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อหาผลประโยชน์เข้าตัวเกิดขึ้นอย่างชัดเจนในประเทศไทยโดยไม่มีใครจัดการ ยิ่งทำให้การละเมิดลิขสิทธิ์เกิดขึ้นได้ง่ายโดยไม่รู้ตัว

การแก้ปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทยคงไม่เกิดขึ้นได้ง่ายโดยเร็ว และคงไม่สามารถหาวิธีแก้ปัญหาได้ง่ายด้วยเช่นกัน เพราะเรื่องนี้ฝังรากลึกลงไปถึงความรู้ความเข้าใจของระเบียบสังคมโลกที่เป็นอยู่ 

หากคนไทยยังไม่เข้าใจถึงโครงสร้างว่าโลกในปัจจุบันถูกออกแบบเป็นอย่างไร ก็จะไม่เข้าใจถึงบทบาทการทำงานของลิขสิทธิ์ในปัจจุบันว่ามีไว้เพื่อปกป้องสิ่งใด จึงนำมาสู่การละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากไม่เห็นความสำคัญของลิขสิทธิ์บนผลงานสร้างสรรค์ทั้งหมดที่เห็นในโลกออนไลน์

แต่อย่างน้อยที่สุด นี่คือบทเรียนที่ย้ำเตือนบรรดาครีเอเตอร์ชาวไทยทุกคนว่า การละเมิดลิขสิทธิ์เกิดขึ้นง่ายกว่าที่คุณคิด แต่ที่ง่ายยิ่งกว่า คือการตรวจสอบถึงแหล่งที่มาของศิลปกรรมบนโลกอินเตอร์เน็ต รวมถึงการศึกษาอย่างรอบคอบว่าผลงานนั้นมีผู้ใดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือไม่ 

เพียงเท่านี้ ผู้สร้างสรรค์ผลงานชิ้นใหม่ทุกท่านจะสามารถรู้ว่าผลงานดีมีลิขสิทธิ์ และถ้าอยากนำไปใช้จำเป็นต้องติดต่อกับใคร ที่ไหน อย่างไร

ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้อาจไม่จบลงที่การขึ้นโรงขึ้นศาล แต่ใช่ว่าการละเมิดลิขสิทธิ์ทุกครั้งจะสามารถไกล่เกลี่ยได้อย่างกรณีนี้ หากไม่อยากเสี่ยงติดคุกหรือเสียเงินเกือบล้านบาท ควรตรวจสอบที่มาของผลงานทุกชนิดให้ดีเสียก่อน 

เพราะทุกงานสร้างสรรค์ย่อมมีลิขสิทธิ์ในตัวของมัน การตวรจสอบและการขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์จึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่เช่นนั้น อาจเกิดปัญหาใหญ่ได้อย่างที่เกิดขึ้นกับสมาคมปัญจักสีลัตและตัวอักษร Thailand

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook