เป็นรองแค่จีน : เจาะลึกความสำเร็จในกีฬากระโดดน้ำของมาเลเซียที่ไม่มีใครทัดเทียม

เป็นรองแค่จีน : เจาะลึกความสำเร็จในกีฬากระโดดน้ำของมาเลเซียที่ไม่มีใครทัดเทียม

เป็นรองแค่จีน : เจาะลึกความสำเร็จในกีฬากระโดดน้ำของมาเลเซียที่ไม่มีใครทัดเทียม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

8 เหรียญทอง คือความสำเร็จที่นักกีฬากระโดดน้ำมาเลเซียคว้ามาครอบครอง จากมหกรรมกีฬาซีเกมส์ 2022 ที่ประเทศเวียดนาม โดยเป็นการกวาดรางวัลแบบไม่แบ่งใคร กล่าวคือทุกเหรียญในกีฬากระโดดน้ำ ตกเป็นของมาเลเซียทั้งหมด

นี่เป็นความสำเร็จที่ไม่เกินคาด เพราะหากมองไปยังการแข่งขันชิงแชมป์โลก หรือ โอลิมปิก เกมส์ ผลงานก็ชี้ชัดว่ามาเลเซียคือชาติอันดับสองเป็นรองเพียงแค่จีนเท่านั้น แต่คำถามน่าสนใจกว่าคือพวกเขายกระดับตัวเองจนทิ้งห่างอาเซียนและก้าวไปมีหน้าตาบนเวทีกระโดดน้ำโลกได้อย่างไร

Main Stand จะพาไปเจาะลึกเบื้องหลังความสำเร็จของกีฬากระโดดน้ำในมาเลเซีย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการพัฒนานักกีฬาตั้งแต่ระดับเยาวชน รวมถึงการสนับสนุนจากทุกฝ่ายที่ทำให้วงการกระโดดน้ำมาเลเซียยืนหยัดในระดับสูงได้อย่างในปัจจุบัน

สร้างฮีโร่ของชาติ ผ่านการพัฒนาที่จริงจัง

สำหรับชาวไทย กีฬากระโดดน้ำ อาจไม่ใช่การแข่งขันที่แฟนบ้านเรารู้จักหรือให้ความสนใจมากนัก แต่สำหรับชาวมาเลเซีย กีฬากระโดดน้ำถือเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมชนิดหนึ่งของประเทศ นับตั้งแต่มหกรรมกีฬาเครือจักรภพจัดการแข่งขันที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อปี 1998

แม้นักกีฬากระโดดน้ำชาวมาเลเซียจะไม่สามารถคว้าความสำเร็จมาได้เลยในการแข่งขันครั้งนั้น แต่ด้วยความน่าตื่นเต้นและความสวยงามของการกระโดดน้ำจากนักกีฬาชั้นยอดจากประเทศอย่าง ออสเตรเลีย, อังกฤษ หรือ แคนาดา

ชาวมาเลเซียที่ชมการแข่งขันกระโดดน้ำด้วยตาตัวเองต่างก็ตกหลุมรักกีฬาชนิดนี้ ส่งผลให้กีฬากระโดดน้ำถือเป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่ได้ความนิยมสำหรับชาวมาเลเซียหลังจบกีฬาเครือจักรภพ 1998 ร่วมกับสควอช

 

นับจากนั้นเป็นต้นมาการพัฒนาเพื่อปลุกปั้นนักกีฬากระโดดน้ำชั้นยอดในมาเลเซียจึงถืเริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจัง มีการค้นหาเยาวชนที่เหมาะสมกับการฝึกฝนกีฬากระโดดน้ำตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา โดยเด็กบางคนที่ถูกแมวมองคัดเลือกไปฝึกฝน ยังว่ายน้ำไม่เป็นด้วยซ้ำ

หนึ่งในนักกีฬากระโดดน้ำที่ฝึกฝนตั้งแต่ยังว่ายน้ำไม่เป็นคือ พันเดเลลา รินอง เจ้าของ 2 เหรียญรางวัลกระโดดน้ำ 10 เมตรหญิงในโอลิมปิก 2 สมัย โดยเธอเริ่มต้นกระโดดน้ำตั้งแต่อายุ 8 ขวบ และฝึกฝนทักษะด้านนี้เพียงอย่างเดียว ก่อนที่จะเริ่มต้นเรียนว่ายน้ำอย่างจริงจังในอีก 6 เดือนถัดมา

รินอง เปิดเผยกับเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของโอลิมปิกว่า ประเทศมาเลเซียจริงจังมากกับการพัฒนานักกีฬาทางน้ำ โดยเป็นการให้อิสระว่าเด็กที่เข้ามาฝึกฝนชื่นชอบการแข่งขันในรูปแบบไหน ซึ่งตัวเธอเองยืนกรานว่าอย่างไรก็ต้องเอาดีทางด้านกระโดดน้ำให้ได้ ทีมโค้ชจึงไม่เคยขัดขวางความต้องการของเธอหรือคิดจะผลักดันเธอไปในแนวทางอื่น รินองจึงได้เรียนทักษะการว่ายน้ำเพียงขั้นพื้นฐานเท่านั้น

เคล็ดลับความสำเร็จที่เหลือของรินองคือการฝึกซ้อมอย่างหนักตลอดเวลา 17 ปีของชีวิต เธอใช้เวลาไปกับกิจกรรมสองอย่าง ได้แก่ เรียนหนังสือ และฝึกซ้อมกระโดดน้ำ แถมยังยอมรับอย่างเต็มปากด้วยว่าเธอใช้เวลาร่วมกับสระน้ำมากกว่าเพื่อนหรือครอบครัว

 

เธอยังไม่สนใจชีวิตส่วนตัวของเธอว่าจะเป็นอย่างไร เธอสนใจเพียงกีฬากระโดดน้ำ แม้ว่ามันจะทำให้เธอมีอาการบาดเจ็บเรื้อรังที่ไหล่และหลังแต่รินองก็ยังคงมุ่งมั่นต่อไป

ความทุ่มเทนี้ของรินองส่งผลให้เธอผ่านเข้าไปแข่งขันในโอลิมปิก เกมส์ 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ตั้งแต่อายุ 15 ปี โดยความสำเร็จครั้งนั้นถือเป็นสิ่งที่ชาวมาเลเซียและตัวเธอเองก็ไม่คาดคิดมาก่อนว่ามันจะเกิดขึ้น ก่อนที่ในอีก 4 ปีถัดมาเธอจะคว้าเหรียญทองแดงจากการแข่งขันประเภทเดี่ยวในโอลิมปิก เกมส์ 2012 ที่กรุงลอนดอน ทำให้เธอกลายเป็นนักกีฬาหญิงมาเลเซียคนแรกที่คว้าเหรียญรางวัลจากมหกรรมกีฬาโอลิมปิก และถือเป็นครั้งแรกที่ชาวมาเลเซียคว้าเหรียญจากกีฬาอื่นที่ไม่ใช่แบดมินตันติดมือกลับบ้าน

กระโดดน้ำจึงกลายเป็นกีฬาที่ชาวมาเลเซียคาดหวังในการคว้าเหรียญรางวัลกลับบ้านนับแต่นั้นเป็นต้นมา ก่อนที่รินองจะคว้าเหรียญกลับบ้านได้สำเร็จในริโอ เกมส์ เมื่อปี 2016 โดยเป็นเหรียญเงินจากการแข่งขันประเภทคู่

ส่งผลให้ในโอลิมปิก เกมส์ 2012 และ 2016 มาเลเซียกลายเป็นหนึ่งในสองชาติของเอเชียที่คว้าเหรียญรางวัลจากกีฬากระโดดน้ำมาครอง และเป็นรองเพียงจีนที่เป็นมหาอำนาจของกีฬาประเภทนี้เท่านั้น


"กล่าวตามตรง โอลิมปิก 2016 มันค่อนข้างสร้างความเครียดให้แก่ตัวฉัน เพราะความคาดหวังมันสูงขึ้นจากครั้งก่อน และผู้คนต่างหวังให้ฉันคว้าเหรียญรางวัลกลับบ้าน"

"ถ้าเทียบกับปี 2012 มันต่างกันมากเพราะไม่มีใครคิดว่าฉันจะคว้าเหรียญรางวัล แต่ขั้นต่ำที่พวกเขาหวังกับฉันในครั้งนี้คือ การคว้าเหรียญทองแดง ซึ่งมันเท่ากับรักษาผลงานเดิมไว้เท่านั้นเอง" พันเดเลลา รินอง กล่าวถึงความกดดันที่เธอต้องแบกรับในโอลิมปิก เกมส์ 2016

การสนับสนุนล้นหลามจากภาคเอกชน

เรื่องราวความสำเร็จและความทุ่มเทของ พันเดเลลา รินอง กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักกีฬารุ่นหลังเดินตามความสำเร็จของรุ่นพี่บนเวทีกระโดดน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสียสละชีวิตส่วนตัวและความตั้งใจในการฝ่าฟันอุปสรรค

 

แม้แต่ นูร์ ดาบีตะฮ์ ซาบรี นักกีฬากระโดดน้ำหญิงวัย 22 ปีที่เพิ่งแจ้งเกิดในกีฬาซีเกมส์หนนี้ก็หวังว่าผลงานของเธอจะทำให้นักกีฬามาเลเซียรายอื่นจะทำงานอย่างเต็มที่เพื่อคว้าเหรียญรางวัลกลับบ้าน

"ฉันหวังว่าผลงานของฉันจะกระตุ้นให้นักกีฬาคนอื่นทำงานอย่างหนักเพื่อคว้าเหรียญทอง เพราะฉันรู้ดีว่าการประสบความสำเร็จแบบนี้มันไม่ง่ายเลย" ซาบรี กล่าวหลังคว้าเหรียญทองในการแข่งขันกระโดดน้ำระยะ 1 เมตรในซีเกมส์ที่ประเทศเวียดนาม

แต่อิมแพ็กต์สูงสุดที่ พันเดเลลา รินอง มีต่อวงการกระโดดน้ำมาเลเซียคือการปลุกปั้นภาพลักษณ์ของนักกีฬาให้กลายเป็น "ซูเปอร์สตาร์" ในสายตาของชาวมาเลเซีย โดยชีวิตของรินองได้รับการยกย่องว่าเป็นเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจมากที่สุดในวงการกีฬามาเลเซีย และส่งผลให้เธอก้าวไกลไปถึงการขึ้นหน้าปกนิตยสาร Tatler Malaysia และถ่ายแบบไฮแฟชั่นราวกับเป็นดาราแถวหน้าของประเทศ

ความสำเร็จของ รินอง บวกกับความชื่นชอบในกีฬากระโดดน้ำของชาวมาเลเซียเป็นทุนเดิม ส่งผลให้ภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนกีฬากระโดดน้ำเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการคว้าเหรียญทองแดงเมื่อปี 2012 ส่งผลให้การพัฒนากีฬากระโดดน้ำของมาเลเซียเกิดขึ้นทั้งระบบไม่ได้ขึ้นอยู่กับนักกีฬาคนใดคนหนึ่ง

 

นับจากปี 2013 เป็นต้นมาทัพนักกระโดดน้ำมาเลเซียสามารถคว้าเหรียญรางวัลกลับบ้านจากการแข่งขันกระโดดน้ำชิงแชมป์โลกได้ทุกครั้ง โดยปัจจุบันพวกเขามีผลงานคว้า 1 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน และ 4 เหรียญทองแดง และถือเป็นชาติในเอเชียที่มีผลงานดีที่สุดเป็นอันดับสองของการแข่งขันกระโดดน้ำชิงแชมป์โลกโดยเป็นรองเพียงแค่จีน


การสนับสนุนของเอกชนทำให้ชะตากรรมของกีฬากระโดดน้ำในมาเลเซียแตกต่างออกไปจาก สควอช และ จักรยานลู่ ซึ่งต่างมีนักกีฬาชื่อดังชาวมาเลเซียที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศ เช่น นิคอล ดาวิด แชมป์โลกสควอชหญิง 8 สมัย และ อาซิซูลฮาสนี อาวัง เจ้าของเหรียญเงินจักรยานลู่ที่โตเกียว เกมส์ แต่เมื่อมองในภาพรวมการยกระดับศักยภาพของทั้งวงการยังไม่เกิดขึ้นเพราะขาดการสนับสนุนจากภาคเอกชน

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้มาเลเซียมีงบประมาณมากพอที่จะว่าจ้าง หยาง ซู่เหลียง โค้ชกระโดดน้ำฝีมือดีชาวจีนเข้ามาทำงานให้กับทีมตั้งแต่ปี 2008 และได้ร่วมงานกันยาวนานสิบปี โดยซู่เหลียงยังเป็นคนเสนอให้พานักกีฬาไปเก็บตัวที่ประเทศจีนเพื่อให้นักกระโดดน้ำได้ฝึกซ้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม นั่นหมายถึงเงินจำนวนมากที่นักกีฬาต้องได้รับการสนับสนุน

ซู่เหลียง คือโค้ชฝีมือชั้นยอดที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จมากมายของมาเลเซีย และเมื่อเขาจากไปหลังเกิดเหตุให้แยกทางกันในปี 2017 หลังจากที่เฮดโค้ชชาวจีนถูกกล่าวหาว่าฝึกซ้อมเข้มงวดเกินไปจนนักกีฬาตกอยู่ในความหวาดกลัว ทีมกระโดดน้ำมาเลเซียก็ไม่สามารถคว้าเหรียญรางวัลใดกลับมาได้เลยในโอลิมปิก เกมส์ 2020 ส่วนซู่เหลียงก็ย้ายไปคุมทีมชาติออสเตรเลียแทน

ถึงอย่างนั้นการสนับสนุนสำหรับนักกระโดดน้ำมาเลเซียยังคงดำเนินต่อไป โดย รินอง เป็นนักกีฬาคนแรกที่ได้รับการการันตีเงินสนับสนุนราว 240,000 บาทต่อปีจากมหาวิทยาลัยมาลายา ก่อนจะขยายเป็นนักกระโดดน้ำ 3 คนต่อปีที่จะได้รับเงินสนับสนุนตรงนี้ในปัจจุบัน และอาจเพิ่มมากขึ้นหากมีนักกระโดดน้ำในระดับโอลิมปิกเพิ่มมากขึ้นจากเดิม

ความสำเร็จจากการกวาดเหรียญทองในซีเกมส์ครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่แสดงให้เห็นว่า มาเลเซีย เดินมาสู่ทิศทางที่ถูกต้องในกีฬากระโดดน้ำ และความฝันของพวกเขาที่หวังจะก้าวไปสู่ระดับโลกเหมือนกับ จีน, รัสเซีย และอเมริกา ยังคงดำเนินต่อไป

แน่นอนว่ามาเลเซียยังต้องพัฒนาอีกมากเพื่อจะไปถึงจุดนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ด้านเทคนิคหรือการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกให้ทันสมัย แต่ตราบใดที่ชาวมาเลเซียยังคงรักที่จะทุ่มเทเพื่อประสบความสำเร็จในกีฬากระโดดน้ำและฝ่ายเอกชนยังคงพร้อมจะสนับสนุนวงการ มาเลเซียก็จะยังคงครองตำแหน่งอันดับสองของเอเชียต่อไปเรื่อย ๆ แน่นอน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook