แชมป์โลกก็ช่วยไม่ได้ : ทำไมนักกีฬาฮีโร่ของชาติ ถึงมักแพ้เลือกตั้งยามลงเล่นการเมือง

แชมป์โลกก็ช่วยไม่ได้ : ทำไมนักกีฬาฮีโร่ของชาติ ถึงมักแพ้เลือกตั้งยามลงเล่นการเมือง

แชมป์โลกก็ช่วยไม่ได้ : ทำไมนักกีฬาฮีโร่ของชาติ ถึงมักแพ้เลือกตั้งยามลงเล่นการเมือง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การเปิดตัว “สมรักษ์ คำสิงห์” วีรบุรุษเหรียญทองโอลิมปิก เกมส์ คนแรกของประเทศไทย เป็นว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรค “พลังประชารัฐ” ทำให้เกิดกระแสและคอมเมนต์ไปในหลายทิศทาง  

บางคนถึงกับทำนายว่า “สมรักษ์” มีโอกาสสอบตกในการเลือกตั้งผู้แทน แม้จะอยู่ในพรรคการเมืองใหญ่ที่กุมอำนาจบริหารประเทศอยู่ในเวลานี้ … ด้วยเหตุผลหลายข้อ

หนึ่งในนั้นก็คือ “สนามการเมือง’ ไม่เคยเป็นเวทีที่ “อดีตนักกีฬาดังระดับประเทศ” คว้าชัยชนะได้ง่ายดายเลย และมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้งที่ “ฮีโร่ขวัญใจคนในชาติ” จะสอบตกในการลงเลือกตั้ง 

อย่างล่าสุดก็คงเป็นกรณีของ เมืองชัย จันทวิมล หรือ เมืองชัย กิตติเกษม อดีตแชมป์โลกคนที่ 14 ชาวไทย ที่ลงสมัคร ชิงตำแหน่ง สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตบางบอน

 

เมืองชัย มีทั้งชื่อเสียงจากสมัยชกมวยเป็นถึงแชมป์โลก 2 สถาบันคนแรกของไทย แถมยังอยู่ในทีมงานของ ส.ส.วัน อยู่บำรุง นักการเมืองที่ได้รับความนิยมในพื้นที่ อีกทั้งยังลงสมัครในสังกัดพรรคเพื่อไทย 

แต่สุดท้ายผลการเลือกตั้ง “เมืองชัย” กลับได้คะแนนมาเป็นอันดับ 3 แพ้ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ และก้าวไกล 

หรือถ้ามองไปถึงการเมืองระดับชาติ “แมนนี่ ปาเกียว” แชมป์โลกผู้ยิ่งใหญ่อันเป็นรักของชาวฟิลิปปินส์ ที่ยอมทิ้งอาชีพนักมวยและปฏิเสธโอกาสกอบโกยเงินก้อนโตจากชกเพื่อมาลุยสนามการเมืองใหญ่ แต่กลับต้องอกหักในการเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ โดยได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 3

ชื่อเสียงด้านกีฬาช่วยได้ไหม ? 

ชื่อเสียงและความสำเร็จจากตอนเป็นนักกีฬาย่อมเป็นแต้มต่อให้ “อดีตนักกีฬาดัง” หลายคนมีทางเลือกต่อไปในชีวิตเมื่อเลิกเล่นกีฬา

บางคนเลือกใช้มันในการต่อยอดเป็นผู้ฝึกสอน, เป็นอาจารย์ หรือทำงานเกี่ยวกับความเชี่ยวชาญด้านกีฬาชนิดนั้น ๆ บางคนรับราชการ, ออกไปทำธุรกิจส่วนตัว, เป็นพนักงานบริษัท โดยใช้ชื่อเสียงและผลงานจากสมัยเป็นนักกีฬาเป็นต้นทุนทางสังคม

อีกจำนวนหนึ่งก็เลือกที่เดินเข้าสู่สนามการเมือง ด้วยความหวังว่าเมื่อเขาเป็นนักกีฬาที่คนทั้งประเทศรักแล้ว น่าจะเป็นใบเบิกทางสู่การเป็นนักการเมืองที่ผู้คนนิยมชมชอบได้เช่นกัน

“โดยทั่วไปแล้วถ้าเป็นการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นคนจะมักเลือกด้วยปัจจัย 4 ข้อ 1. ผู้สมัครเป็นที่รู้จักมักคุ้นกว้างขวางหรือไม่ ? เวลาเดือดร้อนจะสามารถพึ่งพาได้ไหม 2. พรรค 3. นโยบาย และ 4. ประเด็นที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้งที่อาจมีเรื่องอื้อฉาวหรือประเด็นการโจมตีสาดโคลนกัน”

“แต่ส่วนใหญ่คนจะดูกันที่ข้อหนึ่งของตัวผู้สมัครกับข้อสองที่เป็นเรื่องพรรคเป็นหลัก ส่วนการเลือกตั้งในพื้นที่ขนาดใหญ่ระดับชาตินั้น ผมคิดว่าพรรคมีผลอย่างมากเพราะคนเลือกจากพรรคเป็นหลัก”

“บางครั้งผู้สมัครอาจไม่ได้มีชื่อเสียงแต่อยู่พรรคที่คนต้องการเลือก เช่นในการเลือกตั้งใหญ่ ปี 2562 ผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ หลายเขตสามารถเอาชนะนักการเมืองเจ้าของพื้นที่เดิมได้ เพราะประชาชนมีความต้องการเลือกพรรคและสนับสนุนอุดมการณ์ของอนาคตใหม่ แบบนี้เป็นต้น”

“หรืออย่างบางพื้นที่ภาคใต้ พรรคประชาธิปัตย์ก็เอาชนะการเลือกตั้งซ่อมได้ เพราะพรรคยังมีความแข็งแรงในพื้นที่ตรงนั้นอยู่”  

อ.ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ อธิบายถึงลักษณะการเลือกผู้แทนโดยทั่วไปของประชาชน 

แน่นอนว่าการเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและเป็นคนที่สาธารณชนรู้จักย่อมเป็นผลดีอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยแห่งชัยชนะเสมอไป ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างในอดีตที่มีนักกีฬาชื่อดังระดับฮีโร่ของชาติมากมายที่สอบตกในสนามเลือกตั้ง 

ยกตัวอย่าง “เขาทราย แกแล็คซี่” ที่เคยแพ้การเลือกตั้งถึง 3 ครั้ง หนแรกลงแบบระบบสัดส่วน สังกัดพรรคเพื่อแผ่นดิน 

ส่วนอีก 2 ครั้งหลังลงสมัคร “ส.ส.” ให้กับพรรคชาติไทยพัฒนา ในเขตพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์บ้านเกิด ที่ประชาชนมีความนิยมชมชอบในตัวของ “แชมป์โลกตลอดกาล” ผู้นี้ แต่ เขาทราย กลับสอบตกทั้งการเลือกตั้ง ปี 2554 และปี 2562 

เช่นเดียวกับ “น.ต.วิชัย ราชานนท์” อดีตฮีโร่เหรียญทองแดงโอลิมปิก ที่เคยลงสมัครถึง 3 รอบ ที่ขอนแก่น 2 ครั้ง และกรุงเทพฯ 1 ครั้ง ในสังกัด 3 พรรค ทั้งพรรคไทยรักไทย, พรรคชาติไทย และพรรคเพื่อแผ่นดิน แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จเลย

รวมถึง สมรักษ์ คำสิงห์, มนัส บุญจำนงค์, ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน, เขาค้อ แกแล็คซี่, เยาวภา บุรพลชัย ก็ล้วนไปไม่ถึงฝันในการชนะการเลือกตั้ง

แม้แต่ตัวอย่างของอดีตนักกีฬาดังที่ประสบความสำเร็จในสนามการเลือกตั้งอย่าง “พเยาว์ พูลธรัตน์” ฮีโร่เหรียญโอลิมปิกคนแรกของไทย และแชมเปี้ยนโลกชาวไทยคนที่ 7 ที่ก่อนหน้านั้นเจ้าตัวก็เคยอกหักผิดหวังสอบตกมาถึง 2 ครั้ง ก่อนสมหวังได้เป็น ส.ส. ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในปี 2544  

รวมถึงเคสต่างประเทศอย่าง จอร์จ เวอาห์ อดีตนักฟุตบอลระดับโลกขวัญใจชาวไลบีเรีย และ อิมรอน ข่าน อดีตกัปตันทีมคริกเกตปากีสถาน ก็เคยลิ้มรสชาติการสอบตกมาก่อนจะได้เป็นประธานธิบดีในเวลาต่อมา (รายหลังพ้นจากตำแหน่งแล้วในปัจจุบัน) ส่วน แมนนี่ ปาเกียว ก็เพิ่งอกหักจากการลงสมัครเป็นประธานธิบดีฟิลิปปินส์มาหมาดๆ

พรรคที่ลงสมัครมีส่วน ? 

อีกเหตุผลหนึ่งที่นักกีฬาดังระดับฮีโร่ชองชาติมักโดนน็อกในสนามเลือกตั้ง มีส่วนมาจากพรรคการเมืองที่ตนเองสังกัดด้วย


Photo : facebook.com/PPRPThailand

เพราะพรรคการเมืองที่เปิดโอกาสและพื้นที่ให้ “นักกีฬา” ได้มาเป็นผู้สมัครของพรรค ส่วนมากนักเป็นพรรคขนาดกลางซึ่งต้องการสร้างความนิยมในตัวพรรค หรือไม่ก็ผู้บริหารมีความรู้จักคุ้นเคยกับเหล่านักกีฬา

อาทิ พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรคชาติพัฒนา, พรรคเพื่อแผ่นดิน ดังนั้นโอกาสที่จะเป็นผู้ชนะจึงมีไม่สูงมาก ยิ่งถ้าลงสมัครในพื้นที่ที่ไม่ใช่ฐานเสียงของพรรคก็ยิ่งเหนื่อยหนักในการเลือกตั้ง

ส่วนพรรคการเมืองใหญ่ก็ล้วนมีผู้สมัครที่จับจองพื้นที่กันอยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นนักการเมืองอาชีพในพื้นที่นั้น ๆ อยู่แล้ว 

จึงมีน้อยครั้งที่พรรคใหญ่จะเลือก “นักกีฬาดังมาเป็นตัวแทนของพรรค” ลงสนามเลือกตั้ง เหมือนอย่างเช่นกรณีล่าสุดที่ สมรักษ์ คำสิงห์ ได้รับโอกาสจากพรรคพลังประชารัฐ 

รศ.ตระกูล มีชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยวิเคราะห์ถึงเรื่องนี้ผ่านบทความของเว็บไซต์ MGR Online ไว้ว่า 


Photo : facebook.com/PPRPThailand

“ผมเชื่อว่าการเอาคนจากวงการกีฬาเข้ามานั้น ก็เป็นการหวังที่จะดึงคะแนนจากกลุ่มที่ชื่นชอบกีฬา แต่ถ้ามองในแง่ของพรรคการเมืองก็เป็นการนำเอาชื่อเสียงของนักกีฬามาเสริมแบรนด์ของพรรคด้วย และหวังจะได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์เป็นหลัก”

“จริง ๆ ถ้าพรรคการเมืองใดจะเอานักกีฬามาลงสมัครหลาย ๆ คน ผมคิดว่านโยบายด้านการกีฬาของพรรคนั้น ๆ ก็ควรจะชัดเจน ซึ่งมันต้องไม่ใช่นโยบายที่พูดขึ้นมาลอย ๆ อย่างจะทำให้ไทยได้ไปบอลโลก คือมันต้องเป็นนโยบายที่ไม่ทำให้ประชาชนมีคำถามในใจ นั่นจึงจะดึงคะแนนจากคนที่ชื่นชอบเรื่องกีฬามาได้” 

“ยกตัวอย่างพรรคกรีนของเยอรมนีที่เน้นนโยบายเรื่องของสิ่งแวดล้อมโดยตรงจนทำให้คนที่สนใจสิ่งแวดล้อมลงคะแนนให้แก่พรรค แต่เท่าที่ผมเห็นปรากฏการณ์นักกีฬาในบ้านเรามันเป็นเพียงแค่สีสัน”

อย่างไรก็ดีในเมืองไทยก็เคยมีพรรคที่พยายามนำเสนอนโยบายเกี่ยวกับกีฬา โดยเน้นใช้กีฬาเพื่อสร้างความปรองดองสมานฉันท์ นั่นคือ “พรรคพลังคนกีฬา” ของ นายวนัสธนา สัจจกุล อดีตผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทยยุคดรีมทีม

และมีการเปิดตัวลงสนามเลือกตั้ง ปี 2554 ปรากฏว่าไม่ได้ ส.ส.เลยแม้แต่คนเดียว ก่อนพ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง เมื่อปี 2563

โอกาสแห่งชัยชนะ

อย่างไรก็ดีพรรคใหญ่ก็อาจไม่ได้ช่วยให้อดีตนักกีฬาระดับฮีโร่ของชาติไปเป็นแชมป์เสมอไป ดั่งเช่นกรณีของ เมืองชัย กิตติเกษม อดีตแชมป์โลกชาวไทยคนที่ 14  ที่ลงสมัคร ส.ข. และ ส.ก. ในสังกัดพรรคเพื่อไทย แต่กลับแพ้ไปทั้งสองครั้งสองครา แม้ในรอบล่าสุดพรรคเพื่อไทยจะกวาดที่นั่ง ส.ก. ได้มากสุดในกรุงเทพฯ ก็ตาม 


Photo : facebook.com/PPRPThailand

แม้ในการเลือกตั้งปี 2554 “สมรักษ์ คำสิงห์” เคยอกหักแพ้ เมื่อครั้งลงเป็นผู้สมัคร ส.ส.เขต 10 จ.ขอนแก่น ในสังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา แต่กลับเข้าป้ายจบที่อันดับ 4 ได้มาเพียง 1,961 คะแนน … แต่ก็ใช่ว่าประตูสำหรับชัยชนะของสมรักษ์จะปิดเสมอไปในการเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึงในอนาคต

อ.ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มองว่าสิ่งสำคัญที่นักกีฬาชื่อดังต้องเปลี่ยนความคิดและลงมือทำยามลงสนามเลือกตั้งคือ ต้องเลิกยึดติดกับชื่อเสียงของตัวเองสมัยเล่นกีฬา

ในทางตรงข้ามพวกเขาจะต้องปฏิบัติและทำให้เหมือนนักการเมืองคนหนึ่ง ทั้งการลงพื้นที่ไปรับฟังปัญหา, การเข้าถึงประชาชน และสามารถเป็นปากเสียงและที่พึ่งพาให้กับพี่น้องในพื้นที่ได้ ไม่ใช่หวังแค่ว่าตนเองเป็นบุคคลที่ทุกคนรู้จักแล้วจะเอาชนะเลือกตั้งได้ไม่ยาก 


Photo : Wikipedia

ณัฐกร ยกตัวอย่างของ พเยาว์ พูลธรัตน์ ว่าเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจของนักกีฬาดังในไทย เพราะกว่า พเยาว์ จะได้รับเลือกตั้ง เขาเองก็ต้องพยายามอย่างหนัก ไม่ยอมแพ้ถอดใจ ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง แม้สอบตกมาถึง 2 ครั้ง ก่อนที่สุดท้ายจะมาสำเร็จในครั้งที่ 3 

“เมื่อนักกีฬาดังจะเล่นการเมือง ทุกคนก็ต้องเปลี่ยนตัวให้เป็นนักการเมืองอาชีพให้ได้ และปฏิบัติทุกอย่างแบบนักการเมืองจริง ๆ ไม่ใช่หวังความดังจากตอนเล่นกีฬามาใช้ เพื่อหวังว่าประชาชนจะเทคะแนนให้ตอนเล่นการเมือง” อ.ณัฐกร กล่าวทิ้งท้าย

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook