เน้นเข้าร่วมไม่เน้นเข้ารอบ : มองความหวังของ ติมอร์-เลสเต ในซีเกมส์ ผ่านมุมของแพทย์ทีมชาติ

เน้นเข้าร่วมไม่เน้นเข้ารอบ : มองความหวังของ ติมอร์-เลสเต ในซีเกมส์ ผ่านมุมของแพทย์ทีมชาติ

เน้นเข้าร่วมไม่เน้นเข้ารอบ : มองความหวังของ ติมอร์-เลสเต ในซีเกมส์ ผ่านมุมของแพทย์ทีมชาติ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“เรามาที่นี่เน้นเข้าร่วม ไม่ได้เน้นเข้ารอบ” อาจเป็นประโยคที่เหมือนหลุดมาจากมีมในโลกออนไลน์ แต่ก็เป็นนิยามเดียวกันกับที่ ดร.นิลตอน ทิลมัน แพทย์ผู้ดูแลนักกีฬาทีมชาติติมอร์-เลสเต กล่าวไว้กับผู้เขียนในระหว่างกำลังพูดคุย

ด้วยความเป็นชาติน้องใหม่ล่าสุดในระแวกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เพิ่งได้รับอิสรภาพจากอินโดนีเซีย เมื่อปี 2002 กอปรกับการอยู่ในสถานะ “ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด” ของสหประชาชาติ จึงไม่แปลกว่าทำไมพวกเขายังห่างไกลจากการก้าวขึ้นมาคว้าเหรียญรางวัลได้เป็นกอบเป็นกำ แม้แต่ในมหกรรมกีฬาอย่างซีเกมส์ก็ตาม

ถึงจะมาเพื่อ “เน้นเข้าร่วม” เป็นหลัก แต่ ดร.ทิลมัน ก็ได้เปิดเผยการทำงานในฐานะแพทย์ทีมชาติติมอร์-เลสเต ที่ต้องดูแลสวัสดิภาพของนักกีฬาทั้ง 69 คน จนเป็นเบื้องหลังที่ทำให้พวกเขาก้าวขึ้นไปคว้าเหรียญรางวัลแรกในการแข่งขันกรีฑาประเภทลู่ และยังต่อสู้จนมีเหรียญจากมวยสากลกับเทควันโดกลับบ้านไปได้อีกเช่นกัน

 

และนี่คือเรื่องราวทั้งหมดของคุณหมอท่านนี้ ที่ผู้เขียนได้ไปเจอเข้าโดยบังเอิญ (อีกแล้ว)...

ผมเป็นแพทย์ทุกอย่างของพวกเขา

“ผมคอยดูแลสุขภาพและสวัสดิภาพให้กับนักกีฬาติมอร์-เลสเต ในทุกการแข่งขันเลย” นี่คือประโยคเริ่มบทสนทนา หลังจากผู้เขียนได้พบกับศัลยแพทย์อาวุโสรายนี้ระหว่างเดินอยู่บริเวณด้านหน้าสนามหมี่ ดิ่งห์ ที่มีการแข่งขันกรีฑาอยู่พอดี

ดร.ทิลมัน เล่าต่อว่า “พอมาถึงที่นี่แล้วเราต้องคอยดูแลกันและกัน ซึ่งโชคดีที่ผู้คนในเวียดนามค่อนข้างเป็นมิตรกับเรา อาหารก็ดี โดยรวมแล้วเราทุกคนอยู่ในสถานะที่ค่อนข้างสบายเลยนะ”

 

“แต่น่าเสียดายที่เรายังไม่ได้เหรียญรางวัล” เจ้าตัวเปลี่ยนโหมดแทบจะในทันทีหลังสิ้นสุดประโยคข้างต้น ที่กล่าวเช่นนี้เพราะครั้งแรกที่ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับเขานั้นเกิดขึ้นก่อนที่ เฟลิสเบอร์โต้ เดอ ดูส จะคว้าเหรียญเงินแรกในรายการวิ่ง 5,000 เมตรมาครองได้

ติมอร์-เลสเต ร่วมแข่งขันในมหกรรมกีฬาซีเกมส์ครั้งแรกเมื่อปี 2003 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เวียดนามได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเช่นกัน โดยพวกเขาคว้าเหรียญทองแดงเป็นเหรียญรางวัลแรกได้ในปี 2005 จากการแข่งขันกีฬา “อาร์นิส” ก่อนจะได้เหรียญทองแรกในปี 2011 จากกีฬาเคมโป้ และได้รับเหรียญรางวัลมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

กลับมาที่เรื่องการดูแลนักกีฬาอีกครั้ง ดร.ทิลมัน เปิดเผยกับผู้เขียนว่า “ผมดูแลทั้งในเรื่องการฟื้นฟูสภาพร่างกาย รักษาอาการบาดเจ็บ กายภาพบำบัด และเรื่องของโภชนาการที่จำเป็นต่อร่างกายนักกีฬา…” ก่อนจะตบท้ายประโยคหลังจากหยุดนึกไปสักพักว่า “แต่ผมก็ไม่สามารถดูแลพวกเขาได้ดีเลิศเลอขนาดนั้นนะ เราทำเท่าที่ทำได้จริง ๆ”

นั่นเพราะ ติมอร์-เลสเต ยังคงเป็นประเทศที่เผชิญกับปัญหาความขัดสนอย่างรุนแรงอยู่ แต่ต่างจากชาติอื่น ๆ ในเอเชียตรงที่สาเหตุของปัญหาดังกล่าวนั้นไม่ได้มาจากการมีประชากรมากเกินไปแต่เป็นเพราะพวกเขามีคุณภาพที่ดินที่แย่กว่าส่วนอื่นของภูมิภาค และการทำงานอย่างไม่โปร่งใสของรัฐบาลกลางทำให้ยังไม่อาจแก้ไขปัญหาภายในประเทศได้อย่างที่ควรเป็น แถมยังต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างประเทศเป็นหลักเสียอีก

โดยข้อมูลล่าสุดจากธนาคารโลก ระบุว่าประชากรของ ติมอร์-เลสเต มากกว่า 41.8% ใช้ชีวิตโดยมีรายได้น้อยกว่า 65 บาท/วัน ซึ่งถือว่าอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ของเส้นแบ่งความยากจนโดยธนาคารโลกที่กำหนดเกณฑ์ดังกล่าวไว้เมื่อปี 2015 จึงไม่แปลกที่ ดร.ทิลมัน จะต้องทำงานอยู่ภายใต้ข้อจำกัดต่าง ๆ ในขณะที่ชาติอื่น ๆ สามารถยกทีมวิทยาศาสตร์การกีฬาไปประจำการอยู่ที่กรุงฮานอย เพื่อคอยสนับสนุนนักกีฬาตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

“รอบนี้เรามีนักกีฬาลงแข่งกัน 7 ชนิดกีฬา แต่ฟุตบอล มวยสากล คาราเต้ กับเทควันโด คือพวกที่เราต้องดูแลเป็นพิเศษ” โดยเจ้าตัวระบุว่าเขามักใช้เวลาส่วนมากประจำอยู่ที่สนามของกีฬาชนิดต่อสู้เป็นหลัก เพราะมีความเสี่ยงที่นักกีฬาจะได้รับบาดเจ็บ ทำให้ต้องดูแลเป็นพิเศษกว่าชนิดอื่น ๆ ซึ่งโชคดีมากที่ผู้เขียนมาพบกับเจ้าตัว เนื่องจากในวันนั้น ดร.ทิลมัน ต้องมาดูแลนักวิ่งชาว ติมอร์ตะวันออก ที่มีคิวลงสนามรายการ 1,500 เมตรพอดี

ความหวังและความสุข

ชื่อของ เฟลิสเบอร์โต้ เดอ ดูส โผล่ขึ้นมาเป็นครั้งแรกในระหว่างที่ผู้เขียนเตรียมตัวเดินทางไปเวียดนาม เนื่องจากไปสะดุดตาจากสองสิ่ง เรื่องแรกคือเจ้าตัวเคยคว้าอันดับ 4 ในการวิ่ง 1,500 เมตร ที่ซีเกมส์ปี 2019 กับสองคือเขาได้โควตาไวลด์การ์ดไปวิ่งในโอลิมปิกปี 2020 มาแล้วด้วย นั่นจึงทำให้เจ้าตัวเป็นหนึ่งในบุคคลที่เราจับตามองกันไว้พอสมควร

 

น่าเสียดายที่เจ้าตัวทำเวลาได้ไม่ดีตามที่ควรจะเป็นจนหลุดจากอันดับคว้าเหรียญไปอย่างน่าเสียดาย แต่ ดร.ทิลมัน ก็ยังแอบบอกกับผู้เขียนว่าเขาผู้นี้ถือว่าเป็นตัวเต็งลุ้นเหรียญอยู่เช่นกัน กับการลงวิ่งในประเภท 5,000 เมตร กับ 10,000 เมตร ก่อนจะปิดท้ายด้วยวาทะเด็ดว่า

“ในความเป็นจริงไม่ว่าใครก็อยากได้ชัยชนะกันหมดแหละ ทุกคนต่างอยากคว้าเหรียญกลับมาให้ได้ แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าการพลาดการคว้าชัยชนะจะพรากความสุขไปจากคุณ”

“ยกตัวอย่างในกีฬาฟุตบอล ที่เป็นรายการโปรดของชาวติมอร์-เลสเต มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เราจะมีลุ้นถึงคว้าเหรียญเพราะต้องเจอกับทีมเก่ง ๆ อย่าง เวียดนาม หรือ ไทย แต่มันก็สนุกดี แค่เราได้เข้าร่วมการแข่งขันก็เป็นอะไรที่สุดยอดแล้ว ไม่จำเป็นต้องไปลุ้นถึงเข้ารอบหรอก”

แต่หลังจากนั้นเพียงแค่สองวัน เดอ ดูส ก็กลายเป็นนักกีฬาติมอร์-เลสเต คนแรกในประวัติศาสตร์ที่สามารถคว้าเหรียญรางวัลจากการวิ่งทั้งระยะ 5,000 กับ 10,000 เมตรมาครองได้สำเร็จ ด้วยการเข้าป้ายเป็นอันดับสอง ตามหลังเพียงแค่ เหงียน วัน ไล นักวิ่งของเจ้าภาพเท่านั้น


Photo : baophapluat.vn

 


Photo : newsvn.net

ความสำคัญของเหรียญรางวัลทั้งสองคือนี่เป็นครั้งแรกที่นักกีฬาติมอร์-เลสเต ได้ขึ้นโพเดียมจากการแข่งขันกีฬาที่ไม่ใช่ศิลปะการต่อสู้ และอาจเป็นไอดอลให้กับเยาวชนในประเทศที่อาจใช้ข้อได้เปรียบในด้านสภาพร่างกายเพื่อพัฒนาตัวเองขึ้นมาตามรอยรุ่นพี่อย่าง เดอ ดูส ก็เป็นได้

เดอ ดูส เปิดเผยหลังแข่งขันจบว่า “ผมมาวิ่งที่นี่ (เวียดนาม) เป็นครั้งที่สอง แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ผมคว้าเหรียญรางวัลกลับบ้านได้”

“ผมมีความสุขมาก ๆ เลย กองเชียร์ที่นี่สนับสนุนดีมาก แม้แต่ชาวเวียดนามก็คอยให้กำลังใจผมอยู่ตลอดเวลา ผมดีใจจริง ๆ ขอบคุณนะครับ” นักวิ่งวัย 23 ปีกล่าวปิดท้ายด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มเปี่ยมไปด้วยความสุข

ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า เดอ ดูส จะได้รับรางวัลใด ๆ เพิ่มเติมจากรัฐบาลกลางหรือไม่ แต่เจ้าตัวได้กลายเป็นข่าวดังในประเทศไปแล้ว และยังมีลุ้นกลับมาทวงคืนเหรียญทองในซีเกมส์ครั้งถัดไปที่ประเทศกัมพูชาอีกด้วย

 

หลังจากนั้นผู้เขียนก็ยังได้มีบทสนทนากับ ดร.ทิลมัน ผ่านโซเชียลมีเดียอยู่บ้าง ซึ่งเจ้าตัวก็ยอมรับว่านั่นคือช่วงเวลาที่เขามีความสุขอย่างยิ่ง เมื่อได้เห็นนักกีฬาของชาติตนเองสามารถคว้าเหรียญรางวัลจากกรีฑามาครอง

“เรามีคาดคิดไว้นะ (ว่าเขาจะได้เหรียญรางวัล) แต่มันน่าภูมิใจมากที่เขาทำได้จริง ๆ และดีใจที่ผมได้มีส่วนคอยดูแลให้เขาก้าวขึ้นไปประสบความสำเร็จได้”

แต่ ดร.ทิลมัน ก็ยังได้ถ่ายทอดแนวคิดจากในแคมป์นักกีฬาของติมอร์-เลสเต  มาฝากผู้เขียนอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งนั่นคือบทต่อยอดจากการ “เน้นเข้าร่วม ไม่เน้นเข้ารอบ” อย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้นว่า…

“เราเตือนกันเสมอว่าให้มีความสุขในการแข่งขัน มีความหวังได้แต่ไม่ต้องไปกดดันตัวเอง เรามาพบเจอผู้คนใหม่ ๆ ในชีวิต ได้สัมผัสมุมมองและประสบการณ์ใหม่จากชาติอื่น ๆ ทั้งหมด แค่นี้ก็มีคุณค่ามากพอแล้ว”

ในการแข่งขันที่เราอาจคุ้นชินกับการ “กวาด” เหรียญรางวัลมาครองของชาติขนาดใหญ่ที่อาจมีรายการประจำให้นักกีฬาไปลงเก็บอันดับกลับมา มันยากที่จะนึกภาพถึงความรู้สึกของชาติในอีกมุมหนึ่งที่ไม่อาจก้าวขึ้นมาลุ้นเหรียญกับประเทศอื่น ๆ ในหัวตารางได้ แต่การได้พูดคุยกับ ดร.ทิลมัน ก็ทำให้ผู้เขียนได้เข้าใจว่าแท้จริงแล้วความสุขทั้งหมดมันก็ไม่ได้มาจากการต้องบดบี้ขึ้นไปคว้าที่หนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่มันมาจากระหว่างทางของการแข่งขันต่างหาก

เหมือนกับคำพูดของ บารอน ปีแยร์ เดอ กูแบร์แต็ง ผู้ก่อตั้งคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ที่เคยกล่าวไว้ว่า “สิ่งสำคัญที่สุดในการแข่งขันโอลิมปิกไม่ใช่การเอาชนะแต่เป็นการมีส่วนร่วมแข่งขัน และสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตไม่ใช่การพิชิตศึกแต่เป็นการต่อสู้ให้ดีที่สุด”

แด่ทุกคนในทุกเวทีการแข่งขัน…

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook